เช้าวันที่ 29 เดือนเมษายน ก่อนจะถึงตีห้าไม่นานนัก คนขับรถบัสที่วิ่งรถหลายรอบเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว เผลองีบหลับไปขณะที่กำลังขับรถบัสอยู่ และรถก็เบี่ยงไปทางซ้าย ก่อนที่จะพุ่งเข้าใส่แผงกั้นเสียงข้างทางโดยไม่มีการชะลอแม้แต่น้อย แรงปะทะทำให้แผงกั้นทะลุเข้ามาในรถ และพรากชีวิตคนในรถไป 6 คนโดยทันที ก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิตอีกคนที่เสียชีวิตหลังจากช่วยลูกสาวออกจากรถก่อน รวมเป็น 7 ราย กลายเป็นอุบัติเหตุสะเทือนขวัญสังคมไป
ผมเขียนมาขนาดนี้แล้ว ถ้าคอลัมน์นี้ไม่ได้มีหัวข้อว่า เจแปนนิด ท่านผู้อ่านก็คงจะคิดไปโดยอัตโนมัติว่า นี่คืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศของเราซ้ำไปซ้ำมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ที่ถนนถูกใช้จนโอเวอร์โหลดเกินความสามารถของมัน ซึ่งทำให้ทั้งรถติดและคนขับเพลียจนเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก จนสองเทศกาลที่ว่า มาพร้อมกับรายชื่อผู้เสียชีวิตจำนวนมากทุกปีจนเราแทบจะชินชาไปแล้ว และเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ก็มีเหตุรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัดเกิดอุบัติเหตุจนพรากชีวิตไป 23 รายในครั้งเดียว ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
แต่ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า ปลอดภัย มีมาตรฐานดี (ในความเชื่อของเรา) อย่างประเทศญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่า อุบัติเหตุ มันก็เกิดขึ้นได้เสมอนั่นล่ะครับ
แต่จุดที่ต่างกัน ก็คงเป็นจุดที่ว่าเมื่อเกิดเหตุแล้ว เขาจะทำอะไรกันต่อไป
อุบัติเหตุที่ผมเขียนในย่อหน้าแรก คืออุบัติเหตุครั้งสำคัญที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของการคมนาคมอีกครั้ง และได้ชื่อว่า “อุบัติเหตุคนขับรถบัสทางหลวงหลับในคังเอ็ตซึ” ซึ่ง คังเอ็ตซึ ย่อมาจาก คันโต และ เอะจิโกะ หมายความว่า บริษัทรถบัสนี้ เดินรถระหว่างสองเขต ซึ่งคันโตคือ โตเกียวและปริมณฑล ส่วนเอะจิโกะคือเขตของจังหวัดอิชิคาวะและโทะยามะ และอุบัติเหตุครั้งนี้ก็เกิดขึ้นในปี 2012 นี่เองครับ
รายละเอียดของเหตุการณ์คือ วันที่ 29 เมษายน 2012 ที่รถบัสของบริษัท ริคุเอ็นไต ที่วิ่งในเส้นทางระหว่างเมืองคานาซาวะ ในจังหวัดอิชิคาวะ แล้วไปรับผู้โดยสารต่อที่จังหวัดโทะยามะ แล้วค่อยตรงไปชินจุกุและสถานีโตเกียว ก่อนจะไปเป้าหมายสุดท้ายที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ ซึ่งรถจะออกเดินทางหลังสี่ทุ่ม และถึงโตเกียวในตอนเช้า เป็นรถชนิดที่ถูกเรียกว่า ยะโคบัส หรือ รถวิ่งรอบดึก คล้ายกับบ้านเรานั่นเอง โดยแม้รถจะเป็นของบริษัทริคุเอ็นไต แต่การบริหารเส้นทางต่างๆ ก็อยู่ภายใต้บริษัท Harvest Holding อีกที คล้ายๆ กับเจ้าของรถบัสเอารถบัสมาวิ่งโดยมีคนช่วยบริหารเส้นทางแล้วแบ่งกำไรกัน
ในวันดังกล่าว คนขับรถบัสก็รับผู้โดยสารที่คานาซาวะและโทะยามะรวม 45 ราย และมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่โตเกียว แต่เมื่อขับรถไปถึงจังหวัดกุนมะ ก็เกิดเหตุดังกล่าว คนขับรถหลับในขณะขับรถอยู่บนทางด่วนระหว่างจังหวัด ก่อนที่รถจะเบี่ยงไปด้านซ้าย ไถลชนเข้ากับแผงกันรถข้างถนน และครูดไปจนไปถึงช่องว่างระหว่างแผงกั้นรถและแผงกั้นเสียง จนรถหลุดออกจากถนน และพุ่งเข้าจนแผงกับแผงกันเสียงที่สูง 3 เมตร หนา 12 เซนติเมตร โดยไม่มีการเบรกเลยแม้แต่น้อย ทำให้แผงกันเสียงแทงเข้ามาในรถ เกือบตลอดความยาวของรถที่ยาว 12 เมตร มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 7 ราย และผู้โดยสารรายอื่นก็ได้รับบาดเจ็บหนักเบาต่างกันไปทุกคน รวมถึงคนขับรถด้วย
ในประเทศญี่ปุ่น จัดว่าการคมนาคมล้ำหน้าและสะดวกกว่าหลายประเทศ
แต่ก็ยังเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นได้ สาเหตุก็มาจากหลายสิ่งหลายอย่างทับซ้อนกัน
สิ่งแรกคือ เส้นทางที่ว่ามานั้น ถ้าเป็นปัจจุบัน ที่รถไฟชิงคันเซนสายโฮคุริคุเริ่มวิ่งแล้ว ก็สามารถเดินทางได้ด้วยเวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นทางเลือกที่สะดวกสบายกว่าเดิม แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็คงจะยังเลือกเดินทางด้วยรถบัสวิ่งรอบดึกเช่นเคย ด้วยสาเหตุที่ราคาต่างกันหลายเท่าตัวครับ จึงเลือกสละความสบายหน่อย เพื่อเซฟเงินไว้เที่ยวได้เพลิน (เอาจริงๆ ผมก็เคยทำนะครับ เหมาะสำหรับนักศึกษาจนๆ แบบผมมาก)
สาเหตุที่ราคาค่าโดยสารรถบัสถูกกว่ามาก ก็เพราะหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นแก้กฎหมายให้การบริหารธุรกิจรสบัสโดยสารทำได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้มีบริษัทต่างๆ เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น จากที่ในปี 2005 มีผู้ใช้บริการรถบัสแค่ปีละประมาณ 2.1 แสนคนเท่านั้น แต่ 5 ปีถัดมา ผู้ใช้บริการก็เพิ่มเป็น 6 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นตลาดที่ต้องแข่งกันทำราคา โดยเฉพาะเมื่อถูกบริษัทนำเที่ยวต่างๆ จี้ให้ลดราคาลงไม่อย่างนั้นก็จะไปใช้บริการเจ้าอื่น ก็ทำให้บริษัทเจ้าของรถบัสก็ค่อยๆ ละเลยเรื่องความปลอดภัยลงเรื่อยๆ
ตัวอย่างของบริษัทริคุเอ็นไต เจ้าของรถบัสที่เกิดอุบัติเหตุก็เช่นกัน แต่เดิมก็เป็นบริษัททำรถบัสท่องเที่ยวให้กับลูกค้าชาวจีน แต่พอเกิดเหตุการณ์สารกัมมันตรังสีรั่วไหล นักท่องเที่ยวลดน้อยลง ก็ทำให้ต้องเอารถบัสที่มีมาใช้เป็นรถบัสวิ่งระหว่างจังหวัดในเวลากลางคืนแทน และเมื่อค่าเดินทางถูก บริษัทก็ต้องพยายามวิ่งรถให้ได้หลายๆ เที่ยว เท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของอุบัติเหตุในครั้งนี้ครับ
จากรายงานข่าว พบว่า ในวันที่ 27 คนขับรถก็ขับพาผู้โดยสารจากโตเกียว ไปส่งที่คานาซาวะ ถึงตอนเช้าวันที่ 28 ก่อนจะเข้าเช็กอินที่โรงแรมตอน 8 โมงเช้า แล้วเช็กเอาต์ตอน บ่ายสี่โมงโดยประมาณ ก่อนจะไปเตรียมรถ และรับผู้โดยสารออกเดินทางในเวลาหลังสี่ทุ่มเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะเกิดเหตุในเช้าวันที่ 29 เมษายน คิดดูแล้ว มันไม่ใช่สภาพการทำงานที่เหมาะกับการที่ต้องขับรถระยะทางไกลเลยใช่ไหมครับ แถมในรถยังมีคนขับรถเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ไม่มีคนคอยเปลี่ยนตัว หรือพนักงานคนอื่นคอยดูแลความเรียบร้อยเลย
และเมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้น ทุกคนก็พุ่งเป้าไปที่ตัวคนขับรถก่อน ซึ่งก็พบว่า คนขับรถ ขับไปมาแทบไม่ได้พักตามสภาพที่รายงานไป และยังขับรถเกิน 670 กิโลเมตร หรือระยะที่อนุญาตต่อคนขับรถ 1 คน และเมื่อสืบไปอีก ก็พบว่า คนขับรถ คือเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ที่ประเทศจีนหลังสงครามจบลง ก่อนจะย้ายมาประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ไม่สามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ดีนัก ทำให้แม้ตอนถูกดำเนินคดี ก็ต้องใช้ล่ามช่วยแปล ซึ่งเขาก็ถูกบริษัทริคุเอ็นไต จ้างแบบรายวัน ในช่วงเทศกาลโกลเด้นวีค เพราะคนขับรถไม่พอ
นั่นก็ทำให้ตัวบริษัทริคุเอ็นไตถูกตรวจสอบอย่างหนักเช่นกัน จนพบว่านอกจากจ้างพนักงานขับรถรายวัน และการให้พนักงานขับรถเกินระยะที่กำหนดแล้ว บริษัทยังทำผิดระเบียบหลายต่อหลายข้อ เช่น ไม่มีการบันทึกการขับรถที่ชัดเจน เปลี่ยนจุดพักรถโดยไม่ได้แจ้ง วิ่งรถนอกเส้นทางที่กำหนด และอื่นๆ รวมถึง 28 เรื่อง รวมแต้มที่ถูกตัดถึง 242 แต้ม เกินขีดที่กำหนดไว้ว่า 81 แต้มไปไกล ทำให้ถูกริบใบอนุญาตทำธุรกิจทันที
ที่หนักเข้าไปอีกคือ เมื่อสืบลงไปอีก พบกว่า ตัวคนขับรถก็เป็นเจ้าของรถบัส 4 คัน ซึ่งขอป้ายทะเบียนในนามบริษัทริคุเอ็นไต แล้วนำออกมาวิ่งรถเถื่อนอีก ทำให้ปฏิเสธความสัมพันธ์ของทั้งคนขับและบริษัทไม่ได้แน่ๆ ผลก็คือ ตัวคนขับรถถูกศาลสั่งจำคุกจากความผิดรวมทั้งหมดเป็นเวลา 9 ปีครึ่ง ส่วนประธานบริษัทริคุเอ็นไต ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี ภาคทัณฑ์ 5 ปี และปรับ 1.6 ล้านเยน เช่นเดียวกับตัวบริษัทที่ถูกปรับเงินอีก 1.6 ล้านเยน
แม้จะเกิดความเสียหายที่ย้อนกลับไม่ได้ขึ้นมา แต่อย่างน้อย อุบัติเหตุในครั้งนั้น ก็เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมญี่ปุ่น ทำให้ กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง ต้องออกมาตรการสารพัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกครั้ง ตั้งแต่การตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทรถบัสต่าง ๆ อย่างเข้มงวด การบังคับการตรวจสุขภาพของคนขับรถ ตรวจประวัติของคนขับรถให้ละเอียดก่อนเข้าทำงาน การลดระยะที่คนขับหนึ่งคนสามารถขับได้ในแต่ละครั้งลงเหลือ 400 กิโลเมตร และที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การกำหนดค่าโดยสารขั้นต่ำต่อระยะทาง ทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งกันด้วยการลดราคาลงอย่างเดียวอีกต่อไป
ส่วนของตัวรถ ก็ได้มีการออกมาตรการใหม่ๆ เช่นการใช้เบาะนั่งที่สามารถรับแรงกระแทกได้มากกว่าเดิม เพื่อป้องกันศีรษะของผู้โดยสาร ทำให้บริษัทผลิตรถทั้งหลายต้องมีการปรับเปลี่ยนการผลิตเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเสนอให้บังคับใช้ระบบเบรกอัตโนมัติ หรือ Collision avoidance system ในตัวรถ ซึ่งจะมีเซนเซอร์ตรวจเช็คและจะเบรกอัตโนมัติโดยคำนวณระยะห่างกับรถอีกคันและความเร็วของรถที่วิ่งอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการรถบัสต่างก็มาหารือกันเพื่อหาแนวทางเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ไม่อย่างนั้นคงเป็นธุรกิจที่ล่มสลายไปในวันหนึ่งแน่นอนครับ
ฟังดูแล้ว ก็ดูมีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมชัดเจนดีนะครับ แต่ถึงจะพยายามแค่ไหน ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทประสบปัญหา พนักงานขับรถไม่พอกับจำนวนรอบที่ต้องการวิ่ง และอีกปัญหาใหญ่คือ พนักงานขับรถมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานที่หนักแบบนี้อีก
ซึ่งก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุน่าเศร้าอีกครั้ง เมื่อ 15 มกราคมปีที่แล้ว ที่รถบัสนำเที่ยวไปเล่นสกีที่จังหวัดนาคาโนะ เกิดอุบัติเหตุ หลุดออกจากถนนระหว่างกำลังลงเขา จนตกลงไปข้างทาง จนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย จนผู้คนก็ต้องตั้งคำถามอีกครั้ง ว่าทำไมระบบเบรกอัตโนมัติถึงไม่ทำงาน ก่อนจะพบว่า คนขับรถอาจจะเผลอเข้าเกียร์ว่าง หรือ N ระหว่างขับรถ ซึ่งระบบเบรกอัตโนมัติจะไม่ทำงานเมื่อรถเข้าเกียร์ว่างอยู่ ซึ่งคนขับรถก็เสียชีวิตไปในอุบัติเหตุครั้งนั้นด้วย อายุของเขาในตอนนั้นคือ 65 ปี ขณะที่คนขับผู้ช่วย อายุ 57 ปี ก็ทำให้เกิดคำถามถึงความปลอดภัย เมื่อคนขับอายุมากขึ้นและมีปฏิกริยาตอบสนองช้าลง
ฟังดูแล้วก็เหนื่อยใจนะครับ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน อุบัติเหตุก็ไม่มีทางหายไปได้ง่ายๆ เพราะมันคือ อุบัติเหตุ นั่นล่ะครับ แต่ เมื่อเกิดเรื่องแล้ว เราจะเอามันมาขบคิดและหาทางลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลงแค่ไหน นั่นล่ะครับที่สำคัญกว่า หรือจะปล่อยให้เป็นไฟไหม้ฟาง ฮือฮา ขายดราม่า พอผ่านไปได้เดือนนึง ก็ลืมแล้วไปสนใจเรื่องอื่นๆ จนมีอุบัติเหตุหรือคดีน่ากลัวๆ เกิดขึ้นอีกสักครั้ง ค่อยหันกลับไปสนใจอีก แล้วก็วนลูปแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
แบบไหน ที่จะปลอดภัยต่อตัวเรามากกว่ากันครับ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://japandailypress.com/stringent-law -now -onwards-two-drivers-for-long-haul-bus-journeys-237188/
http://japandailypress.com/investigation -finds-countless-violations-by-bus-company-after-accident-041715/
http:// mainichi.jp/english/articles/20160116/ p2a/00m/0na/012000c
http://www.japantimes .co.jp/news/2016/01/20/national/deadly-nagano-ski-bus-crash-points-need-safety-standards-rethink/#.WG56x5IXyRs
http://www.japantimes .co.jp/news/2016/01/22/national/ski-bus-running-downhill-neutral-time-deadly-nagano-crash-investigators/#.WG56yJIXyRs
http://mainichi .jp/english/articles/20160115/p2a/00m/0na/001000c
http://news.livedoor .com/article/detail/6568343/