สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้ติดเชื้อหลักล้านและเสียชีวิตจำนวนมาก แทบทุกประเทศในโลกต่างออกมาตรการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้และได้รับผลกระทบกันหมด
คาดกันว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะดำเนินไปต่อไปจนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ วิกฤตนี้จึงจะคลายตัวลงไป โดยตอนนี้ก็ยังยากจะจินตนาการถึงโลกหลัง COVID-19 ว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ จนกว่าเราจะเดินไปถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ
บทความชิ้นนี้เป็นความพยายามสำรวจความคิดเห็นและการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญถึงโลกใหม่หลัง COVID-19 ซึ่งต่างสันนิษฐานทั้งในทางเลวร้ายและในทางที่สดใส เป็นได้ทั้งฝันร้ายและความหวัง เริ่มแรกจึงขอเริ่มต้นด้วยฝันร้ายก่อน เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักและลืมตาพานพบกับความจริงที่จะมาถึงในไม่ช้านี้
1. ฝันร้ายที่ไม่มีวันตื่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่โรคระบาด COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ขนาดนี้ เป็นเพราะแนวคิดโลกาภิวัตน์ซึ่งเบ่งบานในโลกใบนี้นับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นเมื่อราว 30 ปีก่อน
โลกาภิวัตน์มีรากฐานจากแนวคิดเสรีนิยม ที่ไม่เพียงจะทำให้เส้นพรมแดนของรัฐชาติเจือจางลงเท่านั้น มันยังเน้นให้ผู้คนเดินทางไปทั่วโลก พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งแนวคิด ไอเดียการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเจริญงอกงามมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
แต่โลกาภิวัตน์ก็มีเหรียญอีกด้านที่น่ากลัวไม่แพ้กัน เมื่อเส้นพรมแดนจางลง ความร่วมมือของผู้คนทั่วทั้งโลกไม่ได้หมายถึงการร่วมมือกันสร้างสรรค์ทำให้โลกน่าอยู่เสมอไป ภายใต้โลกาภิวัตน์นี้เองที่ทำให้ลัทธิก่อการร้ายแพร่ขยายตัวไป ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารล้ำสมัยเท่าไหร่ ความร่วมมือในการก่อเหตุ เกณฑ์คนก็มากยิ่งขึ้นไปด้วย ยังไม่นับอาชญากรรมข้ามชาติ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนที่ทำธุรกิจสีเทา
นอกจากนี้โลกาภิวัตน์เองยังทำให้การแพร่ของโรคระบาดไปไวกว่าในอดีตด้วย เพราะมันสนับสนุนการเดินทางของผู้คน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ มนุษย์ 1 คนที่ติดเชื้อ COVID-19 จึงกระจายเชื้อได้รวดเร็ว ส่งต่อเชื้อเป็นทอดๆ ผลของโรคระบาดนี่เอง ทำให้โลกาภิวัตน์เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะเมื่อประเทศต่างๆ ต้องรับมือกับ COVID-19 มาตรการปิดประเทศถูกนำมาใช้ เมื่อทุกประเทศต่างปิดล็อกดาวน์ตัวเอง แนวคิดโลกาภิวัตน์ก็สะดุด สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบทางธุรกิจ ที่กระทบไปยังระบบเศรษฐกิจและชีวิตคนธรรมดาด้วย
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าตอนโรคซาร์สระบาดในปี ค.ศ.2003 หรือเมื่อ 17 ปีก่อนนั้น ผลกระทบจากจีนประเทศต้นตอของโรคต่อโลกใบนี้มีแค่ 4% เท่านั้น แต่พอถึงการระบาด COVID-19 ผลกระทบกลับสูงขึ้น 4 เท่าเป็น 16% ทันที เพราะตอนนี้ระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงการผลิตต่างโยงใยกันไปมากกว่าเดิม
เมื่อสินค้าจากต่างประเทศไม่สามารถส่งจำหน่ายซื้อขายกันได้เหมือนก่อนวิกฤต COVID-19 นั่นทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศหายไป ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินว่าวิกฤตรอบนี้จะสาหัสอย่างมาก อาจจะหนักพอๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยด้วยซ้ำ เพราะผลพวงจากการปิดประเทศ ชัตดาวน์ทุกกิจกรรมของมนุษย์ ยิ่งทำให้มีระบบเศรษฐกิจพังพินาศ และด้วยระบบโลกาภิวัตน์นี่เอง จะทำให้ปัญหามันกระทบชิ่งในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า หลังจากนี้ผู้ผลิตสินค้าอาจจะต้องมองหาวัตถุดิบในประเทศตัวเองมากกว่าจะหันไปมองต่างประเทศ ถึงแม้ราคาจะแพงกว่าปกติ แต่ก็ต้องยอม เพราะความเสี่ยงจาก COVID-19 ส่งผลให้ต้องตัดสินใจแบบนี้
นั่นเท่ากับความร่วมมือทางธุรกิจ
ในแต่ละประเทศจะหดหายลงไป
อย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาเมื่อโลกเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่อย่างเช่น สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เราจะเห็นชาติมหาอำนาจออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงโลกใบนี้ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม แต่วิกฤตรอบนี้กระทบกันทุกประเทศ ชาติมหาอำนาจไม่อาจหันไปช่วยใครอื่นได้ นอกจากต้องช่วยตัวเองก่อน
บทเรียนในอดีตชี้ว่า ต่อให้มีวิกฤตครั้งใหญ่ๆ มันก็ไม่ได้ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจเลย บางทีอาจจะขัดแย้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะสายเหยี่ยวทั้งหลายคงจะก้าวเข้ามาควบคุมกำกับทิศทางการเมืองระหว่างประเทศให้เดินไปสู่จุดขัดแย้งอย่างต่อเนื่องยิ่งขึ้น
เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า หลัง COVID-19 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป วิกฤตครั้งนี้สหรัฐอเมริกาสอบตกในฐานะมหาอำนาจของโลก ไม่มีการขยับแก้ปัญหาอะไรเลยในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ มีคนคาดการณ์ว่านี่จะเป็นโอกาสของจีนที่จะขยับตัวเองเป็นมหาอำนาจแทนอเมริกาหรือไม่ ซึ่งก็ยังไม่มีใครจะคาดการณ์ได้จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง
แต่บางทีโลกอาจจะลุกเป็นไฟ
หรืออาจขยายวงเป็นสงครามเย็นรอบใหม่
ก็เป็นได้
ดังนั้นเมื่อความร่วมมือกันในระหว่างประเทศตามแนวคิดของโลกาภิวัตน์มีปัญหาแล้ว ผลจากการปิดประเทศได้ทำให้เส้นพรมแดนที่เคยจางไปภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ กลับมาเข้มชัดขึ้นกว่าเดิม เมื่อทุกประเทศต้องพึ่งพาตัวเอง มีโอกาสที่คนจะหันเข้าหาลัทธิชาตินิยมอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นลัทธิคลั่งชาติในที่สุด
ที่ผ่านมากระแสฝ่ายขวาจัด มีมาก่อนโรคระบาดแล้ว เราจะเห็นความพยายามเชิดชูประเทศตัวเองมากกว่าจะไปร่วมมือกับประเทศอื่น สิ่งที่ต้องน่าจับตาคือสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไร จะถึงจุดจบหรือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติจะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่น่าจะอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อกระแสชาตินิยมได้รับความนิยมขึ้นมา
นี่จึงเป็นโอกาสทองของฝ่ายขวาคลั่งชาติและเชื้อชาติที่จะได้ปลุกฮือกระแสนี้ขึ้นในสังคมตัวเอง รวมถึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยในประเทศด้วย
มันเลยเป็นฝันร้าย
สำหรับความหลากหลายทางความเชื่อ
และเชื้อชาติบนโลกนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้คาดว่าหลังวิกฤต จะมีประเทศที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวช้าหรืออาจฟื้นตัวไม่ได้จนกลายเป็นรัฐที่อ่อนแอไปถึงรัฐล้มเหลวเพิ่มมากขึ้นด้วย นั่นหมายถึงความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศที่จะยากลำบากมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว และประเทศเหล่านี้อาจปูทางไปสู่การขึ้นมาของผู้นำขวาจัดด้วย เพราะปัจจุบันนี้ หลายประเทศในโลกก็เต็มไปด้วยผู้นำอำนาจนิยม เผด็จการ ขวาจัดมากมายอยู่แล้ว ซึ่งอาจกลายเป็นโมเดลให้ชาติอื่นๆ ทำตามได้
หากเป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ ก็คงต้องสรุปสั้นๆ ว่าวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้จะทำให้โลกกลมๆ ใบนี้เปิดตัวเองน้อยลง รวยน้อยลงและเสรีแย่ลง
บรรทัดนี้ก็อยากเรียนว่ามันอาจไม่ใช่ฝันร้ายอีกต่อไป แต่มันอาจเป็นความจริงที่น่าหดหู่แสนน่ากลัวที่จะมาถึงเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
2. ความหวังที่อยากให้มันเป็นจริง
อย่างไรก็ดีก็มีผู้เชี่ยวชาญมองโลกในอีกมุมว่า โลกในอนาคตหลัง COVID-19 เราอาจจะได้เห็นโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมเกิดขึ้น
โลกหลังจากนี้ แม้อาจเผชิญกับกระแสชาตินิยมที่สูงขึ้น แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศจะยังมีอยู่อย่างแน่นอน ที่ผ่านมามนุษยชาติแสดงให้เห็นว่าหลังวิกฤต ความร่วมมือระหว่างประเทศยังคงอยู่ ไม่ได้ล่มสลายจากหายไปไหน
ดังนั้นแม้ระบบโลกาภิวัตน์จะถูกสั่นคลอนจากโรคระบาด แต่มีความเป็นได้ว่า รูปแบบโลกาภิวัตน์ก่อน COVID-19 กับหลัง COVID-19 นั้นจะแตกต่างกัน และคงมีความเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อความร่วมมือระหว่างประเทศยังคงอยู่ นั่นก็เท่ากับว่ารูปแบบความร่วมมือภายใต้กรอบของโลกาภิวัตน์ก็จะยังคงอยู่ แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้น นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่อาจหาคำตอบได้ในตอนนี้
สำหรับวิธีการดำเนินการทางธุรกิจคงจะถึงคราวเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน การมุ่งหวังกำไรมหาศาลอาจถูกตั้งคำถาม การกอบโกยภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่จะต้องถูกพิจารณาอีกครั้ง
เพราะหากวิกฤตครั้งต่อไปมาถึง การกอบโกยแต่กำไรจะนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาลต่อธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง มีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจหลังวิกฤต จะมุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการพยายามสำรองวัตถุดิบ การหาทางป้องกันเมื่อเจอวิกฤติอื่นๆ ที่อาจจะรุนแรง เทียบเท่า COVID-19
กำไรจึงอาจกลายเป็นเรื่องรอง
ไม่เท่าความยั่งยืนที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินสืบไปได้
ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา มีกระแสเรียกร้องตีแผ่ความจริงตรงหน้าว่า COVID-19 ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับมนุษย์ทุกคนดังที่เชื่อกัน แต่เป็นคนยากไร้ที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงระบบประกันสุขภาพต่างหากที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย บางเมืองในอเมริกา มีคนผิวสีอยู่เป็นคนส่วนน้อย แต่กลับเป็นกลุ่มชนที่ติดเชื้อ COVID-19 สูงมากกว่าใครเขา
มันจึงเกิดความพยายามเรียกร้องระบบเศรษฐกิจและความคุ้มครองประชาชนในประเทศให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้กระทั่งการเรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือนเหมือนกับไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยดำเนินการมาแล้ว
หลังจากนี้เราจึงน่าจะได้เห็นความคิดก้าวหน้าเกิดขึ้นเพื่อขยับโลกให้ดีกว่าเดิม ดูแลคนที่เสียเปรียบ นี่ไม่ใช่อุดมการณ์ แต่มีความพยายามจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องมาแล้ว
โดยกระแสความเรียกร้องนี้
น่าจะส่งผลบางอย่างต่อการเลือกตั้ง
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ในเดือนพฤศจิกายนนี้
เราจึงอาจจะได้เห็นความก้าวหน้าของอเมริกันชนที่อาจเป็นแนวทางที่ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ และหากการผลักดันของอเมริกันชนสำเร็จ เราคงจะได้เห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกาหลัง COVID-19 ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แม้หลายคนจะมองว่าอาจถึงคราวที่มหาอำนาจจากตะวันตกจะเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออกหลังวิกฤตหรือไม่ ซึ่งก็ยังมองได้ยากอยู่
ปัจจุบันนี้ แต่ละประเทศต่างพยายามร่วมมือเพื่อสร้างวัคซีนมาจัดการ COVID-19 กันอยู่ ความร่วมมือในวงการแพทย์ ยิ่งแสดงให้เห็นการจับมือกันทำงานโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นชาติ ความเป็นพรมแดนแต่อย่างใด
เพราะทุกคนล้วนคิดได้ว่า
พวกเราคือมนุษย์ คือคน
ที่ไม่สามารถแยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ในโลกกลมๆ ใบนี้ได้
นั่นจึงนำไปสู่ความหวังที่ว่า จิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเอง ที่จะทำให้โลกใหม่ใบนี้น่าอยู่กว่าเดิม เพราะผ่านมาเราได้เห็นคนจำนวนมากที่ร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือเพื่อมุ่งหวังจะเอาชนะเชื้อโรคที่ท้าทายนี้ให้จงได้
จากทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโลกหลัง COVID-19 อาจจะไม่ได้เดินไปในทิศทางที่เลวร้ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปี่ยมความหวังที่ชีวิตมนุษย์จะดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
สรุป
วิกฤต COVID-19 ถือเป็นวิกฤตครั้งประวัติศาสตร์ที่กระทบชีวิตมนุษย์ ประเทศ ระบบต่างๆ และแน่นอนโลกใบนี้ ข้อเขียนทั้งหมดนำมาจากการวิเคราะห์ คาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่รวบรวมจากข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำนายโลกหลัง COVID-19 ได้อย่างถูกต้องแน่นอน
เพราะมันเป็นอนาคต
จึงไม่มีใครหยั่งรู้ยากคาดถึง
แต่ไม่ว่าเราจะเห็นการกำเริบเติบโตของอันตราย ฝันร้าย กระแสคลั่งชาติใกล้เข้ามาเพียงใด เราก็ยังคงเห็นความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ความหวังที่ยังรอคอย ดังนั้นโลกใหม่ที่อาจจะดูวุ่นวาย อาจจะดูน่ากลัว แต่มันก็อาจจะดีขึ้นกว่าเดิม และไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราจะได้เห็นโลกใบใหม่ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
นั่นทำให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคปราศรัยในสภาของวินสตัน เชอร์ชิลด์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระบุว่า
“ด้วยพลังและอำนาจของโลกใบใหม่ มันจะก้าวเข้ามาช่วยเหลือและปลดปล่อยโลกใบเก่าออกไป”
หวังว่าถ้อยคำจากรัฐบุรุษคนนี้จะเป็นความจริง