‘อัจฉริยภาพ’ สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ค่อยๆ กลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย
ตั้งแต่เด็ก เราได้ยินเรื่องราวชีวประวัติของคนดังและอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น Leonardo da Vinci, Albert Einstein, Isaac Newton หรืออัจฉริยภาพทางศิลปะและดนตรีแบบ Pablo Picasso หรือ Ludwig van Beethoven พวกเขาดูเป็นมนุษย์พิเศษคนละสายพันธุ์กับเรา
บุคคลสำคัญเหล่านี้กลายเป็นนักบุญแห่งยุคสมัยใหม่ให้บูชา สถานะความศักดิ์สิทธิ์พิเศษอันเกิดจากสิ่งที่เขาทำ คิดค้น ประดิษฐ์ หรือแนวคิดอันลํ้าหน้ามาทดแทนความเชื่อเก่าๆ เกิด Cult of Genius คือกลุ่มก้อนคนฉลาดมีพรสวรรค์ที่อยู่คนละกลุ่มก้อนกับสามัญชนคนทั่วไป แต่ในยุคปัจจุบัน คนอัจฉริยะได้เปลี่ยนแปลงไป
ความชื่นชมหลงใหลในอัจฉริยภาพของมนุษย์
ถัดจากยุคกลาง โลกเข้าสู่ยุคตื่นรู้ (Enlightenment) มนุษย์ค้นพบความรู้ใหม่ๆ เช่น โลกกลม ทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่มาท้าทายศาสนจักร แม้เราจะไม่ได้เอาพวงมาลัยไปไหว้ครูรูปปั้นบีโทเฟน ชิ้นส่วนร่างกายของคนฉลาดผู้เปลี่ยนโลกถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ของโลก
ในปี 1727 ร่างกายของ Sir Isaac Newton ได้ถูกฝังในโบสถ์ Westminster Abbey ที่ฝังร่างของนักบุญอันศักดิ์สิทธิ์ ในปี 1778 หัวใจของ Voltaire ถูกตัดออกมาดองเก็บไว้ ส่วนอวัยวะที่ระลึกชิ้นสำคัญคงจะหนีไม่พ้นสมองของ Albert Einstein ตัวแทนอัจฉริยภาพแห่งศตวรรษที่ 20 ก็ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อนำมาศึกษาว่าสมองเขาแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร มีของที่ระลึกจากร่างกายของบุคคลสำคัญถูกตัดเก็บไว้มากมาย ให้เราเดินทางไปแสวงบุญ ชื่นชมในตัวแทนร่างกายและพันธุกรรมแห่งความฉลาด ตัวแทนของเผ่าของคนอัจฉริยะ (Cult of Genius)
Sir Francis Galton ได้เขียนหนังสือเรื่อง Hereditary Genius ในปี 1869 เขาคือคนแรกๆ ที่เสนอแนวคิดว่ามนุษย์ฉลาดตามพันธุกรรมที่มีมาแต่เกิด เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ Charles Darwin และได้อิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการ Galton ได้เสนอลักษณะของอัจฉริยะหลายๆ อย่าง ซึ่งอาจจะล้าสมัยไปแล้ว
Genius คืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไรในประวัติศาสตร์
ในภาษาอังกฤษ คำว่า ‘Genius’ ในยุคโรมันหมายถึงจิตวิญญาณที่มีติดตัวมาแต่เกิด เริ่มมีใช้แพร่หลายในความหมายทางปัจจุบันในศตวรรษที่ 18 แปลงมาจากรากภาษาละติน gignere อันหมายถึง สิ่งที่มีตั้งแต่กำเนิด ความสามารถที่มีตามธรรมชาติ ดังนั้น ‘อัจฉริยภาพ’ จึงสื่อถึงความสามารถแต่กำเนิดที่เป็นธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
“คนอัจฉริยะ…ผู้ถูกเชื่อศรัทธาว่าครอบครองอำนาจอันพิเศษหายาก มีพลังในการสร้าง ไถ่ถอน ทำลาย และมีอำนาจทะลวงเข้าไปในโครงสร้างสายใยของจักรวาล อำนาจที่จะมองเห็นอนาคต และมองเห็นจิตวิญญาณของเรา” – Darrin M. McMahon
Darrin M. McMahon นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องอัจฉริยภาพ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Divine Fury: A History of Genius ย้อนกลับไป 2,000 ปีที่แล้ว คำว่า Genius ถูกบันทึกโดยชาวโรมันนาม Plautus คำๆ นี้เป็นคำที่ทรงพลังและเย้ายวน แสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์ และทำลาย ‘คนอัจฉริยะ’ คือผู้ได้รับสิทธิ์ได้เข้าถึงกลไกของโลก แต่เวลานี้ โลกมาถึงยุคที่ใครๆ ก็ถูกขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะได้ ไม่ว่าจะนักฟุตบอลหรือโค้ชฟุตบอล แม้กระทั่งแรปเปอร์ คำที่เคยถูกสงวนไว้สำหรับความชาญฉลาดอันสูงส่งแห่งแพนธีออน ค่อยๆ จางสลายหายไปตามเวลา
แนวคิดความเชื่อในความฉลาดแต่กำเนิดของบุคคลจำนวนหยิบมือดูจะถูกสั่นคลอนลงเรื่อยๆ Alexis de Tocqueville นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ ได้คาดคะเนไว้ว่า ในอนาคตที่มีความเท่าเทียมกัน ภาวะกลุ่มคนคนอัจฉริยะจำนวนหยิบมือจะค่อยๆ หายไป ในโลกที่การตื่นรู้ได้กระจายไปสู่มวลชนหมู่มากได้กว้างขวางมากขึ้น
และเมื่อได้ส่อง Google N-Gram View เครื่องมือส่องความนิยมในการใช้คำต่างๆ พบว่า คำว่า Genius ในหนังสือทั้งโลกพบว่าคำนี้ได้ถูกใช้ลดลงเรื่อยๆ ในช่วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา อาจสื่อถึงแนวคิดอัจฉริยภาพและความฉลาดแบบที่เราคุ้นเคยอาจจะค่อยๆ ล้าสมัยลงเรื่อยๆ
ถัดจากยุคที่เชื่อว่า’ อัจฉริยภาพ’ เป็นคุณสมบัติพิเศษของคนพิเศษตามธรรมชาติ เกิดมาแล้วเป็นเลย สถานะความพิเศษของอัจฉริยภาพเป็นที่ต้องการของพ่อแม่ ใครๆ อยากให้ลูกเกิดมาฉลาดและเป็นอัจฉริยะ เรากรอกหูทารกแรกเกิดด้วยเพลงบีโทเฟน เพื่อหวังว่าลูกจะกลายเป็นอัจฉริยภาพในวันหน้า พาลูกไปทำกิจกรรมทุกอย่างจนกลายเป็นความกดดัน
ในเวลานี้ โลกเข้าสู่ยุคที่อัจฉริยะสร้างได้กลายเป็นจุดขายสำคัญทางการตลาด ในเว็บไซต์ Amazon.com มีหนังสือว่า 200 เล่มที่ขายแนวคิดเกี่ยวกับ ‘อัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวคุณ’ (Your Inner Genius) ใครๆ ก็อยากเป็นคนฉลาด และบางครั้ง คนจำนวนมากสับสนอัจฉริยภาพกับความโด่งดังมีชื่อเสียง แต่มนุษย์ก็อดไม่ได้ที่จะส่องดูความสำเร็จของคนสำคัญและคนดัง
ผู้เขียนเคยเจอโฆษณานี้ในหนังสือพิมพ์ที่กัวลาลัมเปอร์ ขายบริการติวเตอร์โค้ชขั้นเทพทำให้ลูกฉลาดฉับพลัน การันตีว่าเห็นผลทันตาใน 2 ชม. เพิ่มสมาธิ แรงจูงใจ ความมั่นใจในตัวเอง ด้วยเทคนิคลํ้าหน้าที่ทำให้สามารถเข้าใจ text ทุกอย่างกระจ่างชัด ราวกับความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งที่อัดฉีดกันได้ ไม่ใช่ผ่านการสงสัย สอบถาม และพยายามเข้าใจสิ่งรอบตัวในระยะเวลายาวนานของชีวิต
หนังสือ Everybody Lies โดย Seth Stephens-Davidowitz ยังนำเสนอสถิติจากการสืบค้น Google พบว่ามีการสืบค้นคำว่าลูกของตัวเองเป็นอัจฉริยะรึเปล่า ความสงสัยนี้เริ่มลูกตั้งแต่ 2 ขวบ พ่อแม่พิมพ์คำถามในกูเกิลว่า “ลูกสองขวบของฉันมีพรสวรรค์หรือเปล่า?” (Is my 2 years old gifted?) แสดงให้เห็นถึงอคติ เพราะโดยคำถามที่ว่า ‘Is my son genius?’ มีสถิติการถามสูงกว่า ‘Is my daughter genius?’ แสดงให้เห็นว่าคนเราหวังลึกๆ ว่า พันธุกรรมของเราอาจมียีนบางตัวซ่อนความฉลาดที่อาจส่งต่อไปถึงลูกหลาน
ช้าๆ ก็ยังทัน : ความฉลาดไม่ได้สร้างเสร็จตอนปฏิสนธิ
แต่เมื่อไปส่องสถิติ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล มีอายุเฉลี่ยที่ 50 ปี ผู้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ พบมากสุดที่อายุช่วงปลาย 40 ปี ด้านสถิติของสิทธิบัตรที่มีคุณค่าสูง อายุเฉลี่ยของนักประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกามีอายุ 47 ปี ผู้จดสิทธิบัตรมีอายุเฉลี่ย 55 ปี จนมีคนเล่นมุกว่า มีผู้สูงอายุมาจดสิทธิบัตรเยอะอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้ น่าจะมีส่วนลดค่าจดให้
Yoshinori Ohsumi ได้รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ เขาจบปริญญาเอกในวัย 29 ปีด้วยธีสิสไม่น่าประทับใจนัก ทำใหแทบหางานทำไม่ได้ เปลี่ยน field บ้างอะไรบ้าง ทำวิจัยมาเรื่อยๆ จนมาพบเรื่องกลไกของเซลล์ที่กินตัวเอง หรือ autophagy ซึ่งมีศักยภาพจะนำไปสู่การศึกษาโรคร้ายที่รักษาไม่หายหลายๆ โรคได้ในอนาคต กลายเป็นการค้นพบที่สำคัญของชีววิทยา ทำให้เขาได้รางวัลโนเบล
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล John Goodenough ย้อนกลับไปในปี 1946 เขาเริ่มเรียนฟิสิกส์ตอนอายุ 23 ปีหลังปลดประจำการทหาร อาจารย์เตือนเขาว่า อาจช้าเกินไปแล้วที่จะเริ่มอายุปูนนี้และสำเร็จในสายงานนี้ แต่ 70 กว่าปีต่อมา เขาในวัย 94 ปีได้จดสิทธิบัตรแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่จะถูกลง และนํ้าหนักเบาลง และปลอดภัยกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมที่เราใช้กันมาแสนนาน และจริงๆ เขาเองนี่แหละ คือผู้คิดค้นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ในปี 1980 ขณะที่อายุ 57 ปี
John ได้ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า เขาเชื่อว่าคนเราจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแก่ขึ้น ต่างจากแนวคิดเดิมที่เชื่อว่าอัจฉริยภาพเป็นเรื่องลี้ลับ เป็นสิ่งพรสวรรค์ เกิดมาแล้วเป็นเลย และมีวันหมดอายุเมื่อไม่สดใหม่วัยหนุ่มสาว จอห์นคิดว่าแค่ทำไปเรื่อยๆ และลองไปทุก ๆ ทางจนพบสิ่งใหม่ เขาเปรียบตัวเองเป็นเต่าที่เชื่องช้าแต่ค่อยๆ เดินไป และยังมีอีกหลายอย่างที่เขายังอยากทำก่อนจะจากโลกนี้ไป เพื่อพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในวงการเขียนได้มีการรวบรวมสถิติของนักเขียน หนังสือเล่มแรกที่ออกและหนังสือที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักก็จะเห็นว่ามีหลากหลายรูปแบบ บางคนอาจเริ่มช้า บางคนอาจเริ่มไว บางคนอาจจะใช้เวลา และบางคนอาจไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งหลังเสียชีวิตไป เช่น Franz Kafka ผู้เขียน Metamorphosis
หากขุดค้นชีวิตของบุคคลที่หลากหลาย เราก็จะพบคนมากมายที่อาจไม่ได้โด่งดังเป็นคนที่คุ้นหน้า จนนำใบหน้ามาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการค้าได้ ฮีโร่อาจไม่ได้มาในรูปภาพพลังคนหนุ่มสาวที่สดใหม่ไฟแรงเสมอไป และใครที่ยังไม่พบหนทางของตัวเองก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะยังมีเวลาทั้งชีวิตที่จะสร้างสรรค์และผลิตผลงานที่มีความหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าให้ใครมากำหนดและผูกขาดความฉลาดและอัจฉริยภาพจนทำให้ไม่กล้าลองอะไร หรือทำในสิ่งที่ต้องการเพราะขัดกับความฉลาดแบบภาพเดิมๆ
เลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะโดยไม่ต้องทำอะไร : แค่ให้ความสนับสนุนแต่ไม่กดดัน
งานศึกษายาวนาน 45 ปีโดย Camilla Benbow และ David Lubinski แห่ง Vanderbilt University โครงการสำหรับเด็กผู้มีความสามารถทางคณิตศาสตร์กว่า 5,000 คน เก็บข้อมูลวิจัยหาเคล็ดลับการสร้างเด็กที่มีพรสวรรค์ (gifted) ผลพบว่า ไม่ได้มีการเลี้ยงดูแบบไหนที่ทำให้เด็กฉลาดขึ้นเป็นพิเศษ พ่อแม่ไม่ต้องทำอะไร ไม่ได้บังคับอะไร ไม่ได้ห้ามดูทีวีอย่างที่หลายคนเชื่อ พ่อแม่บางคนไม่ได้เรียนสูง และแม้จะฟังลูกพูดเรื่องวิทย์คณิตยากๆ ไม่รู้เรื่องก็ตาม สิ่งสำคัญคือ
พ่อแม่ควรรับฟังไป ไม่ปิดกั้น สนับสนุนยามที่เด็กต้องการ และเปิดโอกาส และไม่บังคับขู่เข็ญเพราะเด็กอยากเรียนรู้เองได้ และไม่ควรนิยามลูกว่าเป็น gifted หรือเด็กมีพรสวรรค์เพราะจะทำให้รู้สึกกดดัน กลายเป็นภาระทางจิตใจ
เธอยํ้าว่า “การที่พ่อแม่และโรงเรียนให้โอกาสที่จะตอบสนองและสนับสนุนในสิ่งที่เด็กประสงค์และต้องการนั้นสำคัญมาก แต่การบังคับกดดันโดยที่เด็กไม่อยากทำนั้นเป็นคนละเรื่องกัน”
นอกจากนี้ Benbow ได้สรุประบุลักษณะนิสัยของเด็กฉลาดไว้ว่า “แค่ชอบเรียนรู้แบบหยุดไม่ได้ พวกเขาอาจเบื่อการเรียนในคลาสปกติที่ง่ายเกินไปสำหรับคนรุ่นเดียวกัน เพราะไม่ตื่นเต้น ยิ่งถูกท้าทายพวกเขาจะเก่งขึ้น และใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ และเป็นกำลังสำคัญในสาขาอาชีพ STEM ในอนาคต” หนึ่งในเด็กที่ถูกศึกษาในโปรแกรมคือ Mark Zuckerberg ผู้ที่เติบโตมาแล้วประสบความสำเร็จ สร้างอาณาจักร Facebook อันยิ่งใหญ่
สัญญาณของเด็กฉลาดคือ ชอบคลุกคลีกับคนฉลาดเสมอกัน หากหาไม่ได้พวกเขาจะหาเพื่อนที่แก่กว่าและคุยรู้เรื่อง เมื่อเด็กฉลาดมาพบกัน พวกเขาจะเบ่งบานเติบโต ไม่ต้องพยายามลดความยากของคำศัพท์ที่ใช้หรือหัวข้อสนทนา ไม่ต้องพยายามซ่อนความสนใจตัวเองให้เท่าเพื่อนร่วมวัยเพื่อไม่ให้แปลกแยก และไม่ได้เป็นไปตามคำกล่าวหาว่าเด็กที่ฉลาดจะโตมาไม่มีสังคม คนส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จดี และมีชีวิตสังคมที่พึงพอใจ
ถึงเวลามองความฉลาดและอัจฉริยภาพใหม่
ถึงเวลาที่อัจฉริยภาพแบบเก่าที่คุ้นเคยจะถูกชำระล้างใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ถูกท้าทายด้วยความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ สังคมควรจะกลับมามองความฉลาดกันใหม่ว่าทักษะและสติปัญญาของมนุษย์ในสมัยนี้คือควรเข้าใจอะไรและควรมีฟังก์ชั่นอย่างไร
ความเป็นอัจฉริยะไม่ควรถูกจำกัดอีกต่อไป ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และคิดแนวคิดใหม่ๆ ไม่ควรถูกจำกัดอยู่โดยคนกลุ่มน้อยของสังคมอีกต่อไป และควรจะถูกกระจายโอกาสไปให้มากขึ้นไปอีก ความศักดิ์สิทธิ์ของอัจฉริยภาพอาจจะหายไปแต่ได้ความตื่นรู้ในวงกว้าง
แม้เราอาจได้ยินเรื่องเล่าของเด็กฉลาดที่โตเร็วเกินไปจนไม่มีสังคม ล้มเหลวแม้ตอนเด็กจะไอคิวทะลุเพดาน แต่จริงๆ แล้วส่วนมากก็จะเติบโตสำเร็จดีกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของประเทศ หรือสำเร็จดีในอาชีพต่างๆ เราไม่จำเป็นต้องดูแคลนเด็กที่ฉลาด กล่าวหาว่าจะต้องเป็นคนฉลาดที่ไม่สามารถ collaborate หรืออยู่ร่วมกับสังคม ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้
Raj Chetty ศาสตราจารย์จาก Stanford Universty ผู้สร้างโครงการ the Equality of Opportunity Project กล่าวถึงการเสียโอกาสของการพบเด็กที่มีความสามารถและสนับสนุนเด็กที่มีความสามารถแต่ด้อยโอกาส โดยเขาพบว่าเด็กที่มีพื้นฐานฐานะไม่ดีแต่เรียนดี มีแนวโน้มโอกาสจะได้เป็นนักประดิษฐ์หรือผู้คิดค้นน้อยกว่าเด็กที่มีฐานะดีแต่เรียนไม่เก่งเท่า
เขาเรียกเด็กผู้มีความสามารถแต่ไร้โอกาสเหล่านี้ที่มีจำนวนมาก ว่าเป็น ‘Lost Einstein’ และเป็นค่าเสียโอกาสของมนุษยชาติที่จะได้บุคลากรอันเหมาะสมมาค้นพบวิทยาการและสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ และมีอีกหลายปัญหาที่ต้องการสติปัญญาของมนุษย์ในการแก้ไข ไม่ว่าจะความเหลื่อมลํ้า หรือปัญหา climate change
ประวัติศาสตร์มีรายละเอียดและลึกซึ้งมากกว่าจะมาแข่งกันว่าใครเป็นที่ 1 2 3 ของศตวรรษ ใครคืออัจฉริยะแห่งยุคสมัยในเมื่อความรู้และข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมา โลกมีที่สำหรับทุกคนที่จะสำเร็จและขุดค้นสำรวจ สนองความต้องการในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่มีการผูกขาดคำว่าอัจฉริยะอีกต่อไป
เรามักมีภาพจำความอัจฉริยภาพว่าเกิดขึ้นตอนยังหนุ่มสาวและมีวันหมดอายุ หากเลยอายุก็ไม่สามารถมองโลกและมีแนวคิดสดใหม่ได้อีก ข่าวเด็กไอคิว 270 ฟังดู ฟู่ฟ่า น่าตื่นเต้น เป็นความหวังของโลก เราเคยพบกับพ่อแม่ผู้มีความหวัง อยากจะผลักดันและกวดขันให้ลูกเฉิดฉายความฉลาดและอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่จนกลายเป็นคนกดดัน พาให้ลูกลองทุกกิจกรรมอย่างตั้งแต่วิทยาศาสตร์ เล่นกีฬา เต้นบัลเลต์ วาดภาพ จนร้องเพลง เล่นเปียโน บางคนเชื่อจริงๆ ว่า หากลูกไม่ฉายแววตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น ชีวิตก็คงจะหมดหวัง เป็นคนที่ไม่สำเร็จ ไม่เอาไหน ไม่ใช่บุคคลสำคัญของโลกและสังคม ไม่มีใครรู้จัก
ขอให้หลุดจากกับดักของความฉลาดและอัจฉริยภาพแบบเก่าๆ ก้าวไปสู่ความเพลิดเพลินแห่งความเป็นไปได้และการตื่นรู้ใหม่ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- From Isaac Newton to the Genius Bar: Why it’s time to retire the concept of genius.
nautil.us/issue/18/Genius/from-isaac-newton-to-the-genius-bar-rd
- A History of Genius
www.farnamstreetblog.com/2013/11/a-history-of-genius/
- Hereditary Genius by Francis Galton (1893)
galton.org/books/hereditary-genius/text/pdf/galton-1869-genius-v3.pdf
- The problem with Nobel prizes and the myth of the lone genius
- Lost Einsteins: The Innovations We’re Missing
www.nytimes.com/2017/12/03/opinion/lost-einsteins-innovation-inequality.html
- The Heart of Voltaire
www.atlasobscura.com/places/the-heart-of-voltaire
- Who Becomes an Inventor in America? The Importance of Exposure to Innovation
www.equality-of-opportunity.org/assets/documents/inventors_summary.pdf
- How to raise a genius: lessons from a 45-year study of super-smart children