ก่อนจะเริ่มเขียนถึงเนื้อหาอะไร ผมเองอยากออกตัวแรงๆ ก่อนว่าตัวผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญงานของ Noam Chomsky (ซึ่งมีคนออกเสียงชื่อหลายแบบมากทั้ง นอม โนม โนอาม และโนแอม…ขอเรียก ‘นอม’ ละกันตามกระแสนิยม) อะไร แค่ว่าเป็นนักเรียนสายรัฐศาสตร์มาตลอดระดับชั้นอุดมศึกษาจนตอนนี้ ทำให้เคยอ่านงานของปู่แกบ้าง 5 – 6 ชิ้น (จากงานร้อยกว่าชิ้นของแก ฉะนั้นผมอ่านงานแกน่าจะไม่ถึง 4% ของทั้งหมดน่ะนะครับ) แต่ที่วันนี้ต้องมาเขียนถึงปู่แกก็เพราะ จู่ๆ ปู่แกก็กลายเป็นคนดังในสมรภูมิความเกรียนของไทยในชั่วข้ามคืนเพราะส่งอีเมล์มาให้กำลังใจและสนับสนุน แฟรงค์ เนติวิทย์ ในกรณีที่โดนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบสวน
อย่างที่รู้กันดีว่าเนติวิทย์นั้นมีความเป็น ‘ดราม่าแม็กเน็ต’ ในสายตาสังคมไทยอยู่แล้ว ใครที่ออกปากว่ายืนข้างเนติวิทย์ก็มักจะโดนร่างแหไปตามๆ กัน ซึ่งกลายเป็น ‘ความปกติแบบใหม่’ (New Normal) ของสังคมเราไปเสียแล้ว และเมื่อปู่แกส่งอีเมล์มาให้กำลังใจปู่นอมเองก็เลยตกไปอยู่ในวังวนของสมรภูมินี้โดยปริยาย[1] อย่างไรก็ดี ผมเกริ่นมาขนาดนี้ ไม่ได้บอกว่า ‘ห้ามด่าปู่นอมแก’ หรือ “เพราะปู่นอมแกเป็นนักวิชาการคนสำคัญ จึงควรให้การเคารพมากกว่าคนที่สนับสนุนจุดยืนของเนติวิทย์คนอื่นๆ” … เปล่าเลยครับ ไม่ได้หมายความแบบนั้นแม้แต่น้อย เพราะ (1) ปู่แกไม่ได้มาแคร์เกรียนไทยใจอินเตอร์เหล่านี้อยู่แล้ว, (2) หากใครเคยรู้จักประวัติของปู่แกมาบ้าง ก็คงจะพอเข้าใจได้ว่าแกผ่านสมรภูมิความเกรียนมาหลายทศวรรษแล้ว before it was cool กันเลยทีเดียว (and, actually, it will never be cool) และ (3) เมื่อคนอื่นๆ ที่สนับสนุนเนติวิทย์โดนด่าได้ ปู่แกก็ต้องโดนด่าได้เหมือนกัน ว่าง่ายๆ คือ ผมไม่ได้มีปัญหากับการ ‘ด่าปู่แก’ เองนัก
การไม่รู้จักนอม ชอมสกี้ ไม่ใช่เรื่องผิด
การรู้จักนอม ชอมสกี้ แต่ไม่เคยอ่าน ก็ไม่ใช่เรื่องผิด
การรู้จักนอม ชอมสกี้ เคยอ่านแล้ว แต่ไม่เห็นด้วย ก็ยังคงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรครับ
แต่การไม่รู้จักนอม ชอมสกี้อะไรใดๆ เลย ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ด่ากราดปานรู้จักถึงรากเหง้าเถาตระกูลของปู่แกนั้น ผมคิดว่าผิด และจะทำแบบนี้กับใครก็ผิด จะด่าจะวิจารณ์นั้นด่าไปเถอะ แต่อย่างน้อยก็พึงทำความเข้าใจถึงตัวบุคคลนั้น หรือเนื้อหาของสิ่งที่เขากำลังพูดถึงอยู่ด้วย ที่ทำกันอยู่มันคือการด่าเอามันเอาสะใจ ไม่สนอะไรทั้งนั้นล้วนๆ เลย ฉะนั้นแม้ผมจะไม่ใช่ผู้ชำนาญอะไรเกี่ยวกับชอมสกี้นักอย่างที่ออกตัวไว้ ผมก็จะขอพยายามช่วยพวกท่านนักรบแห่งสมรภูมิเกรียนสยามเท่าที่ผมจะพอมีปัญญาแล้วกันนะครับ โดยผมจะแนะนำให้รู้จักกับปู่นอมโดยสังเขป เผื่อท่านอ่านเป็นไกด์ไลน์ต่อแล้ว จะได้ไปหางานปู่แกอ่านได้ แล้วทีนี้จะมาด่า จะมาฟัดอะไรปู่แกในเนื้อหา ผมก็จะได้ช่วยสนับสนุนการถกเถียงให้งอกงามข้างๆ เวทีต่อไปครับ
ผมคิดว่าการทำความเข้าใจงานของชอมสกี้นั้น อย่างน้อยที่สุดน่าจะแบ่งได้เป็น 3 หมวดกว้างๆ คือ 1. ในฐานะนักภาษาศาสตร์ (ซึ่งอาจจะต้องถือว่ารวมเอาความเป็น Cognitive Scientist ไว้ในหมวดนี้ด้วย), 2. ในฐานะนักรัฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3. ในฐานะนักปรัชญา ซึ่งว่ากันตามตรง การแยกปู่แกออกเป็น 3 หมวดแบบนี้ก็นับได้ว่าผมกระทำการอะไรที่ดิบเถื่อนไม่น้อยอยู่ เพราะความเป็นนักสารพัดนักของแกนี้ มันก็เชื่อมโยงกันอยู่ อย่างยากจะแยกหมวดได้ไปพร้อมๆ กันด้วย
ผมขอเริ่มจากหมวดที่ตัวผมเองรู้จักกับปู่นอมแกน้อยที่สุดก่อนแล้วกันครับ นั่นคือการเป็นนักภาษาศาสตร์ของปู่แก ซึ่งหมวดที่ผมชำนาญน้อยที่สุดนี้จะว่าเป็นหมวดที่สำคัญที่สุดในฐานะการวางรากฐานทางวิชาการให้ปู่แกก็ว่าได้ เพราะปู่แกเองได้รับสมญานามว่า ‘บิดาแห่งภาษาศาสตร์สมัยใหม่’ (The Father of Modern Linguistics) ซึ่งแนวคิดสำคัญๆ ของชอมสกี้ที่ทำให้เค้าได้สมญานี้ก็คือ Generative Grammar ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสำนักความรู้ทางภาษาศาสตร์ที่เริ่มโดยชอมสกี้เลยทีเดียว ต่อมาแนวคิดของ Generative Grammar นั้นก็นำไปสู่คำอธิบายทางภาษาศาสตร์ที่อาจจะนับได้ว่าอยู่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเครดิตหลักอยู่ชอมสกี้อยู่ดี นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง Universal Grammar นั่นเอง
แนวคิดที่ว่านี้คืออะไร? คือ มันเริ่มต้นมาจากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของชอมกี้ครับที่มีชื่อว่า Transformational Grammar ซึ่งตอนนี้มันก็ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Generative Grammar นั่นแหละ คือ คำอธิบายระดับพื้นฐานมากๆ
ก็คือ แนวคิดนี้มองไวยากรณ์ (Grammar) ในฐานะ ‘ระบบของกฎเกณฑ์’ ที่สร้างส่วนผสมของคำต่างๆ ให้อยู่ในรูปของประโยคในภาษาต่างๆ ได้ ซึ่งมักจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติด้วย โดยในระบบไวยากรณ์นั้นๆ จะมีการใช้กระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า Transformation ซึ่งเป็นกฎใหม่ในการทำความเข้าใจทางภาษาซึ่งคิดค้นโดยชอมสกี้เอง มันวางฐานแนวคิดอยู่บนแนวคิดอีกอันหนึ่งที่เรียกว่า Phrase Structure Rules (ซึ่งคิดค้นโดยตัวปู่แกเองอีกครือกัน) ซึ่งเป็นกฎว่าด้วยการ ‘เขียนใหม่’ (rewrite rule) คือ Phase structure rules นี้มันทำหน้าที่ในการ ‘แยก’ ส่วนประกอบของภาษาธรรมชาติออกเป็นส่วนต่างๆ ซึ่งส่วนต่างๆ นี้มีชื่อเรียกว่า Syntactic categories ครับ ซึ่งมันแบ่งเป็นสองส่วนคือ ‘วจีวิภาค’ (Parts of speech หรือพวก คำนาม กริยา สันธาน ฯลฯ นั่นแหละครับ) กับ ‘วลีวิภาค’ (Phrasal category หรือก็คือส่วนที่เป็น ‘วลี’) โดยส่วนวลีนี่แหละครับที่ถูกนำมาแยกส่วนต่อไป
ผมลองพยายามอธิบายเท่าที่มีปัญญาและความเข้าใจนะครับ คือ สมมติว่าคุณมีประโยคหนึ่งขึ้นมา เราอาจจะแยกมันออกได้ตามนี้
ประโยค à นามวลี (Noun Phrase/NP) + กริยาวลี (Verb Phrase/VP)
NP à (ลักษณนาม/ตัวบ่งจำนวน) คำนาม1 (Noun 1/N1)
N1 à (วิเศษณ์วลี/Adjective Phrase/AP) N1 (บุพบทวลี/Prepositional Phrase/PP)
กับ
VP à คำกริยา (V1) + คำกริยาวิเศษณ์ (Adverb/ADV)
เมื่อแยกประโยคออกมาด้วย Phrase structure rules แบบนี้แล้ว นั่นแปลว่า หากสามารถแต่งประโยคตามการแยกส่วนนี้ได้ ไม่ว่าแต่งประโยคออกมาอย่างไร ก็จะต้องถูกไวยากรณ์ไม่ว่าจะเป็นประโยคใดๆ หรือภาษาใดก็ตามที่ใช้ระบบแบบนี้ อย่างไรก็ดีชอมสกี้อภิปรายต่อว่ามันอาจจะถูกโครงสร้างทางไวยากรณ์ แต่อาจจะไม่เมกเซนส์อะไรเลยก็ได้ อย่างประโยคดังที่เขาใช้อธิบายก็คือ Colourless green ideas sleep furiously (ความคิดเขียวไร้สีนอนหลับอย่างฉุนเฉียว) ประโยคนี้แบ่งได้เป็นสองส่วนคือ Colourless green ideas (NP) และ sleep furiously (VP) ตามโครงสร้างด้านบนเลย และถูกไวยากรณ์ แต่มันไม่เมกเซนส์ในทางความหมาย (semantically nonsensical sentence) นั่นเอง
โฮ่ย เหนื่อย นี่ทำไมต้องมาเขียนอะไรที่มึนทั้งคนเขียนคนอ่านปานนี้เนี่ย (555) คือ เอาเป็นว่าจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่อง Phrase structure rules นี้ ชอมสกี้พัฒนาแนวคิดต่อมาสู่ Transformational Grammar ที่ทำงานกับโครงสร้างทางไวยากรณ์ที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้กลายเป็นประโยคใหม่ขึ้นมาได้ (อย่างกระบวนการทำให้กลายเป็นประโยค Passive หรือ Passivization) ทีนี้ไอ้กระบวนการ ‘การกลายร่าง’ ของประโยคนี้มันแสดงถึงความสัมพันธ์ของโครงสร้างไวยากรณ์ประโยคในวงที่กว้างขึ้นจากความเข้าใจเดิมมาก จนสุดท้ายมันนำมาสู่แนวคิดเรื่อง (ขอสรุปแบบนี้เลยละกัน ลดทอนความซับซ้อนอย่างมาก เพราะบอกตามตรงว่าไม่ใช่หมวดที่ผมเองรู้เรื่องมากนัก แฮ่ๆ) คำอธิบายเรื่อง Generative Grammar เพราะโครงสร้างไวยากรณ์ของประโยคในหลายระบบภาษาดูจะมีลักษณะร่วมกัน หรือแชร์กันได้อยู่ไปหมดนั่นเอง หรือว่าง่ายๆ ภาษาที่ดูจะมีจุดกำเนิด ช่วงเวลาอะไรที่ต่างกันไปหมด ดูจะไร้ความสัมพันธ์กันในเชิงที่มาหรือจุดกำเนิด ก็ยังมีชุดโครงสร้างไวยากรณ์ที่ร่วมกันอยู่ ฉะนั้นระบบโครงสร้างภาษาร่วมนี้ดูจะ ‘อยู่คู่กับมนุษย์เราแต่กำเนิด’ (innate to humans) นั่นเองครับ
เอาประมาณนี้แล้วกัน เพราะคิดว่างงงวยกันมากพอแล้ว หมวดที่สองนี้ คิดว่าเป็นหมวดที่ผมมีความใกล้ชิดกับงานของปู่นอมที่สุด นั่นคือในฐานะนักคิดนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าปู่นอมจะเริ่มอ่านงานทางการเมืองและปรัชญาตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น (คือ อายุ 14 – 15 ปีแกก็เริ่มอ่านแล้ว ปัจจุบันนี่แก 88 ปีแล้ว) แต่หากจะพูดถึงผลงานหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองจริงๆ จังๆ ของปู่นอม ผมคิดว่าไม่ผิดหากจะเริ่มนับที่ช่วงสงครามเวียดนาม ที่ชอมสกี้มองว่าเป็นสงครามที่มีขึ้นเพื่อขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมใหม่ของสหรัฐอเมริกา และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง นอกจากนี้เขายังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายความมั่นคงของอิสราเอลในตะวันออกกลางอย่างรุนแรงด้วย (แม้เขาจะเป็นยิวก็ตาม) ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 จนปัจจุบันนี้ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา (ก่อนหน้านี้อยู่ MIT มาโดยตลอด) โดนแบนไม่ให้เข้าประเทศอิสราเอลมาโดยตลอด และหนังสือแกก็โดนแบนจากหลายประเทศเพราะการกล้าวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของผู้มีอำนาจในสังคมนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาครับ
นี่แหละครับ ผมถึงบอกว่าปู่แกชินกับสมรภูมิความเกรียนมานานแล้ว before it was cool. หลังจากนั้นชอมสกี้ก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายสงครามต่อต้านการยาเสพติดในอเมริกาใต้อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งหากสนใจงานเขียนของชอมสกี้จริงๆ ผมคิดว่าเล่มที่พูดถึงเรื่องนี้อย่าง What’s Uncle Sam Really Wants (แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ในชื่อ ‘อเมริกาอเมริกาอเมริกา’) เหมาะมากที่จะอ่านเป็นเล่มเริ่มต้นสำหรับการอ่านงานชอมสกี้ในสายนี้ครับ
นอกจากนี้ชอมสกี้ยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายมาตั้งแต่ยุคโรนัลด์ เรแกนกันเลยทีเดียว เขาเป็นคนแรกที่ให้คำอธิบายเรื่อง Retail Terror (ความหวาดกลัวแบบค้าปลีก) กับ Wholesale Terror (ความหวาดกลัวแบบค้าส่ง) ที่พูดถึงความเลวร้ายของความรุนแรงและการสร้างความหวาดกลัวที่รัฐสร้าง ที่มากกว่ากลุ่มก่อการร้ายใดๆ มากนัก คำอธิบายด้านก่อการร้ายของชอมสกี้นี้เป็นฐานสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของสำนักคิดที่เรียกว่า Critical Terrorism School และ State Terrorism เลยทีเดียว (ปู่แกพูดเรื่องนี้มาก่อนลุงชิเช็ก หรือโบรดิยาร์ดจะมาพูดนี่หลายทศวรรษทีเดียว) หากสนใจเรื่องนี้ ผมแนะนำหนังสือของปู่แกที่ชื่อ Pirates and Emperors, Old and New ครับ ดีมากๆ อ่านไม่ยากมากด้วย (ง่ายกว่างานสายภาษาศาสตร์ปู่แกเยอะ)
อีกชิ้นหนึ่งที่ผมอยากแนะนำคือ 4 (Non-)Key Thinkers in International Relations โดยสรวิศ ชัยนามครับ เราจะได้เห็นภาพแนวคิดโดยรวม รวมถึงปรัชญาเบื้องหลังของสหรัฐอเมริกา และแนวคิดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
แนวคิดในทางปรัชญาของปู่นอมนั้น ผมคิดว่าถอดออกมาอธิบายแยกได้ลำบากที่สุด เพราะมันเชื่อมโยงหรืออยู่เบื้องหลังผลงานอื่นๆ ของปู่แก มากกว่าจะเป็นงานเขียนอย่างตรงไปตรงมา งานในด้านปรัชญาของปู่นอมนี้โดยมากผูกโยงกับแนวคิดในหมวดภาษาศาสตร์ของปู่แก เพราะการมองว่าระบบความคิดทางภาษา ที่ความคุ้นชินดั้งเดิมมองว่าเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ เป็นผลงานทางวัฒนธรรม กลับถูกปู่แกแย้งว่าไม่ใช่แบบนั้นอย่างเดียว แต่มันแฝงอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์แต่กำเนิดเลย (ส่วนนี้นำมาซึ่งดีเบตครั้งสำคัญระหว่างชอมกี้ กับฟูโกต์เลย หาดูได้ในยูทูบด้วยครับ[2]) ฉะนั้นมันเลยทำให้งานปรัชญาของปู่นอมก้าวเข้าไปสู่โลกของปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดมี ‘สมการทางคณิตศาสตร์’ ที่อธิบายแนวคิดทางภาษาศาสตร์ของปู่แกด้วย ที่เรียกว่า Chomsky–Schützenberger enumeration theorem (หรือรู้จักกันในชื่อ Chomsky–Schützenberger Equation)
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อโครงสร้างทางภาษาศาสตร์ผูกติดกับมนุษย์แต่แรกเกิด คำอธิบายของชอมสกี้จึงผูกโยงอยู่กับปรัชญาของโลก Cognitive Studies หรือการศึกษาว่าด้วยการรับรู้ทางสมองของมนุษย์ด้วยครับ อย่างที่บอกว่าปู่แกซับซ้อนและหลากหลายมากจริงๆ และนี่คือการพูดแบบเสี้ยวของเสี้ยวของงานแก แบบลดทอนความซับซ้อนสุดแล้วนะครับ
ผมคิดว่าผมคงพอจะมีความสามารถแนะนำให้รู้จักปู่แกได้ประมาณเท่านี้ อย่างที่ว่า จะด่าอะไรปู่แกนี่ตามสบายเลยครับ แต่ “ศึกษาเนื้อหาของปู่แก ก่อนจะด่าปานว่ารู้จักสักนิดเถอะ”…ผมพอช่วยท่านในการจะด่าปู่แกได้เพียงเท่านี้จริงๆ ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู ตัวอย่างส่วนหนึ่งของ ‘สมรภูมิความเกรียน’ ที่ปู่นอมโดน www.tnews.co.th
[2] โปรดดู www.youtube.com