เมื่อคนที่อยู่อาศัยในคอนโดฯ ร้องเรียนเรื่องเสียงระฆังวัด พวกเขาพบว่าเกิดเสียงสะท้อนกลับที่ดังกว่าระฆังวัดหลายหมื่นหลายพันเท่า
เสียงที่ว่าคือเสียงก่นด่าผู้ร้องเรียน บางเสียงไปไกลถึงขั้นบอกว่าถ้าตายก็อย่าเอาศพเข้าวัด หรือมีแต่หมาวัดเท่านั้นที่เดือดร้อนกับเสียงระฆังจนต้องเห่าหอน หรือกระทั่งตั้งข้อสงสัยและพยายามสืบเสาะหามาให้ได้ ว่าผู้ร้องเรียนเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร
แต่ที่น่าสนใจอย่างมาก ก็คือมีผู้ออกมาให้ความเห็นว่า ผู้ร้องเรียนอาจโดนโทษหนัก ถึงระดับ ‘หมิ่นศาสนา’ กันเลยทีเดียว และโทษของการหมิ่นศาสนาก็คือติดคุกนาน 7 ปี
หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นการพูดเล่น แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมานี้ เคยมีคนถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาคล้ายๆ กันมาแล้ว แต่ไม่ใช่ในเมืองไทย เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย
เรื่องของเรื่องก็คือ ผู้หญิงอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธคนหนึ่ง เกิดความรำคาญเสียงจากมัสยิดใกล้บ้าน เธอจึงไปร้องเรียนว่าเสียงจากมัสยิดนั้นรบกวนเธอ ผลของเรื่องนี้ลุกลามใหญ่โต เพราะมีคนไม่พอใจเธออย่างมาก ทำให้มีการรวมตัวกันบุกเข้าไปเผาและปล้นวัดพุทธ 14 แห่ง ทั่วเมืองตันจงบาไล (Tanjung Balai) ซึ่งเป็นเมืองท่าบนเกาะสุมาตรา สุดท้าย ผู้หญิงคนนี้ก็ถูกตัดสินจำคุกนาน 18 เดือน ด้วยข้อหา ‘หมิ่นศาสนา’ หรือ Blasphemy ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรง และเธอกำลังยื่นอุทธรณ์
คำถามก็คือ – ในท่ามกลางความขัดเคืองขุ่นข้องของผู้ที่ได้รับฟังข่าวนี้, เราอยากให้กรณีเสียงระฆังใหญ่โตไปไกลถึงระดับ Blasphemy ด้วยไหม?
เสียงระฆังโบสถ์รบกวนการนอนของคนหรือเปล่า
เราอาจไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้กันเท่าไหร่ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ศาสนสถานมีส่วนสำคัญในการสร้าง ‘เมือง’ ขึ้นมา
งานวิจัยเรื่อง The Place and Role of Religious Architecture in the Formation of Urban Space ของคุณ Joanna Gil-Mastalerczyk บอกว่า ในทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมนั้น สถาปัตยกรรมทางศาสนา (ซึ่งก็คือโบสถ์วิหารต่างๆ นั่นแหละครับ) ถือว่าเป็น ‘มรดก’ อย่างหนึ่งของชุมชนนั้นๆ เพราะในสมัยโบราณ โบสถ์วิหารเป็นเหมือนศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชน ไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่คือศูนย์รวมความคิด ความเชื่อ และคุณค่าต่างๆ ที่ส่งต่อกันมาเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมด้วย
ถ้าเราไปดูหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อย อย่างเช่นในชนบทยุโรป เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า แต่ละหมู่บ้าน (หรือเมืองเล็กๆ) จะมีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน ชนบทของไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน คือมีวัดอยู่ตรงกลาง ชาวบ้านปลูกบ้านรายล้อมรอบวัด แล้วค่อยๆ แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ จนในบางคราวก็ต้องมีวัดเพิ่มเป็นวัดบ้านเหนือ วัดบ้านใต้
ในแต่ละสังคม ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และอะไรต่อมิอะไรที่มีลักษณะเป็นนามธรรมนั้นคือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ตัว ‘ศาสนสถาน’ หรือโบสถ์วิหาร คือการ Materialize คือทำให้คุณค่าเชิงนามธรรมที่มองไม่เห็นพวกนั้น ‘แปลงร่าง’ ออกมาเป็น ‘วัตถุ’ ขึ้นมา ดังนั้น วัดจึงเป็นสิ่งสำคัญของชุมชนโบราณ เพราะวัดมีหน้าที่หลายอย่าง และหน้าที่ต่างๆ ของวัด ก็ส่งผลต่อพัฒนาการของชุมชนด้วย ถ้าวัดดี แปลว่าชุมชนนั้นมีแหล่งการศึกษา วัฒนธรรม และมาตรฐานศีลธรรมที่ดี ชุมชนก็จะดีตามไปด้วย แล้วเมื่อชุมชนดี ก็จะตอบแทนกลับมาที่วัด ทำให้ชุมชนและวัด Shape กันไปมาจนชุมชนนั้นเติบใหญ่กลายเป็นเมือง
เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น เรื่องหนึ่งที่ชุมชนต้องมีก็คือการจัดระเบียบความสัมพันธ์ โดยเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ ก็คือ ‘รูปแบบ’ (Pattern) ของเวลา
ดังนั้น หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัด โบสถ์วิหาร หรือมัสยิดทั่วโลก ก็คือการทำตัวเป็น ‘นาฬิกา’ ให้ชาวบ้าน ด้วยการ ‘ส่งเสียง’ ออกมาเป็นระยะๆ หอระฆังที่อยู่ในศาสนสถานแทบทุกรูปแบบ ก็คือการทำหน้าที่นาฬิกาให้ชุมชน ในศาสนาคริสต์มีการตีระฆังเพื่อเรียกคนเข้าโบสถ์ ในศาสนาอิสลามมีการส่งเสียงเรียกผู้คนให้มาทำพิธีละหมาดวันละห้าครั้ง ศาสนาพุทธก็เช่นกัน มีการตีระฆังเพื่อบอกเวลาทำวัตรเช้าเย็นและอื่นๆ
มีผู้วิเคราะห์ว่า ความถี่ของการตีระฆังบอกเวลาในแต่ละชุมชนบอกได้ด้วยว่าชุมชนนั้นๆ มีค่านิยมอย่างไร เช่น ชุมชนที่เคร่งครัดเรื่องเวลามาก (อย่างโบสถ์ในสวิตเซอร์แลนด์บางแห่ง) จะตีระฆังทุกๆ 15 นาที โดยมีจำนวนครั้งหรือวิธีตีที่แตกต่างกันไปเพื่อบอกเวลาที่ละเอียดยิบ แต่บางสังคมที่ไม่เคร่งเรื่องเวลามาก (เช่นในสังคมไทย) วัดจะไม่ได้ตีระฆังบ่อยหนขนาดนั้น
ด้วยเหตุนี้ ในแง่หนึ่ง วัดจึง ‘รวบอำนาจ’ ในการเป็น ‘ผู้ผูกขาดเวลา’ ของชุมชนไปโดยปริยาย เพราะไม่มีองค์กรอื่นใดอีกแล้วที่ทำหน้าที่นี้แข่งขันกับวัด นาฬิกาข้อมือของผู้คนในสมัยก่อนก็ยังไม่มี วิทยุเทียบเวลาก็ไม่มี วัดจึงเป็นผู้ทำหน้าที่ปลุกคนให้ตื่นตามเวลา ลุกขึ้นมาทำงาน บอกเวลากินข้าวเที่ยง บอกเวลานัดหมาย บอกเวลากลับบ้าน เวลาสวดภาวนา บอกเวลามาโบสถ์ บอกเวลานอน ฯลฯ
แต่คำถามก็คือ – ถ้าเป็นสมัยนี้, วัดยังควรทำหน้าที่เป็นผู้ผูกขาดเวลาของชุมชนแบบเดิมอยู่หรือเปล่า?
กับคำถามนี้ มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากจากซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ Awakening effects of church bell noise: Geographical extrapolation of the results of a polysomnographic field study
งานวิจัยนี้ไม่ได้ตอบคำถามโดยตรงว่าวัดควรทำหน้าที่เคาะระฆังบอกเวลาเหมือนในสมัยก่อนหรือเปล่า แต่เขาไปดูว่า – เสียงระฆังของโบสถ์นั้น ‘รบกวน’ การนอนของชาวบ้านขนาดไหน
ด้วยความที่สวิตเซอร์แลนด์คุ้นเคย เคร่งครัด และบ้าคลั่งเรื่องเวลาและความตรงต่อเวลามาก โบสถ์ในสวิตเซอร์แลนด์จึงตีกันถี่มาก แม้ตอนกลางค่ำกลางคืนก็ไม่เว้น งานวิจัยนี้ทำกับโบสถ์ในแคว้นซูริค (Canton of Zurich) กับหลายโบสถ์ โดยวัดคลื่นไฟฟ้าสมองของชาวบ้านที่นอนหลับอยู่ แล้วดูว่า ชาวบ้านตอบสนองด้วยการตื่น (คือมี Awakening Reactions) ในตอนกลางคืนอย่างไรบ้าง โดยคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกไว้จะคอยให้ข้อมูลว่าตอนไหนคนเราตื่นหรือนอนหลับอยู่ และตื่นโดยสอดคล้องกับเสียงระฆังโบสถ์หรือเปล่า
ผลที่ได้ก็คือ พบว่าชาวบ้านที่อยู่ในระยะ 120-150 เมตร จากโบสถ์ จะมีคน 2.5-3.5% ที่ตื่นขึ้นในตอนกลางคืนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เนื่องจากเสียงระฆังของโบสถ์ไปรบกวนการนอนของพวกเขา
ถามว่าทำวิจัยนี้ไปทำไม ไม่ ‘หมิ่นศาสนา’ หรือ คำตอบก็คือ งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ข้อมูลและเป็น ‘เครื่องมือในการตัดสินใจ’ สำหรับรัฐว่าจะต้อง ‘จำกัด’ เสียงระฆังโบสถ์ในตอนกลางคืนอย่างไรหรือไม่ และถ้าจะจำกัด ต้องทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นละเอียดละออมากนะครับ เพราะเสียงระฆังในฤดูต่างๆ ให้ผลไม่เหมือนกัน และเขาก็บอกไว้ด้วยว่าการทดลองนี้มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ทว่าก็เปิดช่องให้ ‘คิดต่อ’ ได้ว่า จะร่วมกันตัดสินใจอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะต่อให้รบกวนคนส่วนน้อยแค่ 2.5-3.5% ก็ถือว่าคนส่วนน้อยนั้นเป็นคนเหมือนกัน
แพทเทิร์นเวลาที่เปลี่ยนไป
ในสมัยก่อน การตีระฆังทำหน้าที่บอกเวลาได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพราะวิถีชีวิตของคนทั้งชุมชนแทบจะเหมือนกันทั้งหมด คนส่วนใหญ่ตื่นพร้อมกัน หุงหาอาหารเวลาเดียวกัน กินข้าวเช้าพร้อมกัน ไปทำงาน เล่น เรียน ไปโบสถ์ ฯลฯ ตามเวลา
แพทเทิร์นเวลาที่พร้อมเพรียงนี้ ยังช่วยให้ชุมชนนั้นๆ สังเกตเห็นได้ง่ายหากมีอะไรผิดปกติ เช่น มีคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนแล้วมีพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับแพทเทิร์นเวลา ใครบางคนป่วยไข้จนหายหน้าไปจากแพทเทิร์นเวลา ใครไปโบสถ์ไม่ไปโบสถ์ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินของชุมชนโดยใช้มาตรฐานศีลธรรมร่วม ฯลฯ
แต่กระนั้น เมื่อชุมชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โลกก้าวเข้าสู่ ‘ความเป็นเมือง’ ที่ใหญ่โตและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ‘แพทเทิร์นเวลา’ ของผู้คนก็เปลี่ยนไป
เราไม่ได้ตื่นพร้อมกัน ทำกิจวัตรเหมือนๆ กันอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในโลกปัจจุบัน คนบางคนอาจไม่ได้ทำงานตามเวลาท้องถิ่นก็ได้ เพราะต้องทำงานให้สอดคล้องกับเวลาของคู่ค้าหรือผู้ว่าจ้างที่อาจอยู่ที่นิวยอร์ก ปารีส หรือที่อื่นๆ ฟรีแลนซ์ก็เลือกเวลาทำงานได้เอง แพทเทิร์นเวลาของผู้คนจึงไม่ได้มีแบบเดียว แต่หลากหลายซับซ้อนมากพอๆ กับวิถีชีวิต
คำถามก็คือ เสียงระฆังที่ตีตามจังหวะเวลาเดิมๆ คอยรักษา ‘อำนาจ’ ในการควบคุมวิถีชีวิตผู้คนแบบเดิมๆ นั้น สอดคล้องกับแพทเทิร์นเวลาของผู้คนที่ซับซ้อนขึ้นหรือเปล่า
แล้วถ้าไม่สอดคล้อง – เราควรทำอย่างไรดี?
คำตอบที่เป็นไปได้นั้นหลากหลายมาก ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็คือใช้หลักนิติรัฐ โดยทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไปเลยว่าเสียงต้องดังไม่เกินกี่เดซิเบล (เช่นไม่เกิน 85 เดซิเบล) ซึ่งต้องไม่ได้หมายถึงแค่เสียงระฆังวัดเท่านั้น แต่ต้องเคร่งครัดในทุกระดับ เช่นในกรณีคอนโดฯ ก็ต้องรวมไปถึงการก่อสร้าง การตอกเสาเข็ม และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยมลพิษด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเสียง เช่น ฝุ่น เศษวัสดุ ความกว้างของถนน รวมทั้งต้องเป็นไปตามกฎหมายผังเมือง เช่น ความสูงของอาคาร ฯลฯ ที่ ‘ต้อง’ ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากชุมชน (ซึ่งอยู่มาก่อน) ด้วย
ตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่น่าสนใจและละมุนละม่อม เกิดขึ้นที่เมืองเพิร์ธของออสเตรเลียตะวันตก
เพิร์ธมีส่วนเก๋ไก๋ของเมืองที่เรียกว่า เอลิซาเบธ คีย์ (Elizabeth Quay) ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาแบบผสมผสาน (Mixed Use) จึงมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้น ซึ่งก็เหมือนกับกรณีของระฆังวัดและคอนโดฯ ในไทย นั่นคือมีอพาร์ตเมนต์ที่อยู่อาศัยอยู่ติดกับหอระฆัง (Bell Tower)
หอระฆังนี้เก่าแก่ และตีระฆังทุกครึ่งชั่วโมง โดยทางการ คือ Metropolitan Redevelopment Authority ได้มาสำรวจแล้วพบว่า เสียงระฆังของหอระฆังแห่งนี้ดังเกินมาตรฐานปกติ นั่นคือถ้าระฆัง 16 ใบของหอระฆังนี้ลั่นพร้อมกัน จะทำให้เกิดเสียงดังได้ถึง 76 เดซิเบล ซึ่งปกติแล้วไม่อนุญาตให้เสียงดังขนาดนี้อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย
แต่หอระฆังอยู่มาก่อน และต่อให้มีอพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ โรงแรมเก๋ๆ หรูๆ ระดับริตซ์ คาร์ลตัน มาเปิดอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าหอระฆังจะต้องหยุดตีระฆัง แล้วจะทำอย่างไร?
อย่างแรกสุดก็คือ แม้อพาร์ตเมนต์ตรงนั้นจะหรูหราราคาแพง คือตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านสองแสนเหรียญ แต่ผู้ขายก็ต้องประกาศเตือนไว้ล่วงหน้าว่าอพาร์ตเมนต์นี้อยู่ใกล้หอระฆัง ดังนั้นจึงอาจได้รับผลกระทบทางเสียงได้ ผู้ที่จะซื้ออพาร์ตเมนต์นี้จึง ‘รับรู้’ (Consent) ล่วงหน้า ว่าจะเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน
แต่เหนือไปกว่านั้นอีกขั้นหนึ่งก็คือ หน่วยงานรัฐอย่าง Metropolitan Redevelopment Authority ได้วางแผนการออกแบบอาคารทั้งหลายในแถบนั้นโดยคำนึงถึง ‘อะคูสติกของเสียง’ ด้วย เช่น ใช้วัสดุดูดซับเสียงในทิศทางที่พุ่งตรงไปยังผู้อยู่อาศัย ไม่ทำให้เสียงสะท้อนกลับมาบาดหูคน ฯลฯ
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ‘อะคูสติกของเสียง’ มาก ออสเตรเลียมีสมาคมชื่อ The Australian Acoustical Society ที่มีเป้าหมายจะส่งเสริมเรื่อง ‘วิทยาศาสตร์ของเสียง’ ในการออกแบบเมือง ออกแบบอาคารบ้านเรือน เพื่อไม่ให้เสียงไปรบกวนความเป็นอยู่ของผู้คน โดยคำว่า ‘เสียง’ ที่ว่านี้ มีทั้ง Sound คือเสียงแบบดีๆ Noise คือเสียงรบกวน และ Vibration หรือคลื่นเสียงที่อาจไม่ได้ยิน แต่ทำให้เกิดความสั่นสะเทือน ส่งผลต่อสุขภาวะโดยไม่รู้ตัว
การออกแบบ ‘อะคูสติก’ ให้เมืองไม่ใช่เรื่องเก่าแต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีงานวิจัยเรื่องนี้มากมายที่ตระหนักว่า โลกในปัจจุบันนี้กำลัง ‘กลายเป็นเมือง’ อย่างรวดเร็ว และกระบวนการกลายเป็นเมืองนี่เองที่จะทำให้มรดกเก่าแก่ล้ำค่ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ๆ มาปะทะกัน โดยเรื่องของ ‘เสียง’ ก็เป็นเรื่องสำคัญหนึ่ง ทว่านักออกแบบเมืองจำนวนมากยังไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ ว่าเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการออกแบบเมือง
เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า คอนโดฯ กับวัดนั้นอยู่ใกล้กันในแบบที่ขาดการออกแบบที่ดี ทั้งคอนโดฯ และวัด ต่างอยู่กันไปตามยถากรรม ไม่มี ‘แผนใหญ่’ (Masterplan) ที่ผ่านการแบ่งปันรับรู้และตรวจสอบของผู้คนในชุมชนมาคอยกำกับ คนเก่ากับคนใหม่จึงไหลทะลักมาปะทะกันจนเกิดปัญหา
ความขัดแย้งเรื่องเสียงระฆังวัดกับคอนโดฯ ในสังคมไทย คือหลักฐานแสดงให้เราเห็นว่า ‘ข้อถกเถียง’ (Debate) ของคนในสังคมนี้ยังไปไม่พ้นจากการนำ ‘อำนาจ’ ในมิติที่แตกต่างกันมาต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีหลักเกณฑ์กติกาที่ควรถูกนำมาใช้กำกับควบคุมทั้งสองฝ่าย (ไม่ว่าจะเป็นความดังของเสียงหรือที่ตั้งของคอนโดฯ) หรือเปล่า เมื่อเกิดปัญหา เราจึงไม่มี ‘หลัก’ ที่จะใช้พิจารณา แต่ใช้ ‘อำนาจ’ มาคัดง้างกัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอย่างเป็นทางการจากภาครัฐหรืออำนาจที่มองไม่เห็นอย่างอำนาจทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา
วิธีที่ที่ดีกว่านั้น คือการตระหนักว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเดี่ยว แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความบิดเบี้ยวของโครงสร้างใหญ่ การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การโยนบาปผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือพยายามทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหุบปากนิ่งเงียบยอมจำนน แต่คือการหันหน้าเข้าหากัน สร้างบทสนทนาที่สร้างสรรค์ เพื่อทำความเข้าใจถึงโลก แพทเทิร์นเวลา และการใช้งานพื้นที่เมืองที่เปลี่ยนไป เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ไม่ได้เป็นแบ่งเป็นฝ่ายที่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์แบบดำขาว อันเป็นวิธีคิดที่ไม่ดีนักต่อการอยู่ร่วมกัน
ถ้าเราเข้าใจได้ทั้งด้านมรดกทางวัฒนธรรม รากเหง้าของชุมชน และเข้าใจได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่ซับซ้อน หลากหลาย และจำเป็น เราก็อาจแสวงหาทางออกร่วมกันได้ในหลายมิติ ตั้งแต่ใช้กฎหมาย ใช้เทคโนโลยี ใช้วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงใช้การออกแบบเมืองล่วงหน้าร่วมกัน เพื่อไม่ให้โครงสร้างอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังคงดำรงอยู่ อันจะสร้างปัญหาคล้ายๆ เดิมแบบนี้ให้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คำถามก็คือ – เราเป็นสังคมที่มีความสามารถในการหาทางออก ‘ร่วมกัน’ หรือเปล่า?