Sally Rooney น่าจะเป็นชื่อของนักเขียนหน้าใหม่ที่โด่งดังสุดๆ ในตอนนี้ วัดง่ายๆ จากการที่หนังสือเล่มล่าสุดของเธอ ‘Normal People’ ติดโผ Longlist ของ The Man Booker Prize ในปีนี้ครับ แน่นอน การที่หนังสือสักเล่มจะติด Longlist ของรางวัลวรรณกรรมอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรหากคุณเป็นนักเขียนเบอร์ใหญ่ๆ ที่คลอดผลงานแต่ละเล่มก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการนักอ่าน หรือในกรณีที่คุณผลิตงานเขียนมาอย่างโชกโชน ใครๆ ก็อาจพูดกับคุณว่า ‘สมควรแก่เวลาแล้ว’ แต่กับ Sally Rooney เรื่องราวของเธอดูจะต่างออกไปสักหน่อยครับ
ไม่เพียงแต่ Normal People จะเป็นผลงานเล่มที่สองในชีวิตของเธอ ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่ Conversations with Friends หนังสือเล่มแรกเพิ่งจะวางแผงไปได้ปีเดียวเท่านั้น แต่ Rooney เพิ่งจะมีอายุแค่ 27 ปี! ทั้งจากอายุที่เพิ่งจะยี่สิบปลายๆ จากนวนิยายที่อาจเรียกได้ว่าใหม่หมาด และจากชื่อชั้นของรางวัลที่เข้าชิง จึงไม่แปลกที่ Rooney จะเป็นนักเขียนที่น่าสนใจที่สุด ณ ช่วงเวลานี้
ก่อนจะได้อ่าน Normal People ผมไม่เคยอ่านผลงานเล่มก่อนหน้า หรือเรื่องสั้นใดๆ ของเธอมาก่อน ได้ยินเพียงคำสรรเสริญเยินยอในความสามารถที่พิเศษสะดุดตาของนักเขียนสาวที่แจ้งเกิดให้กับตัวเองผ่านงานเขียนชิ้นแรก ใน Conversations with Friends เธอถ่ายทอดเรื่องราวอันสลับซับซ้อนของมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่พาดเกี่ยวอยู่กับความกำหนัด ความรัก และแรงริษยา อาจฟังดูไม่แปลกใหม่อะไร แต่คำชื่นชมมากมายจากนักวิจารณ์ต่างชี้ให้เห็นถึงความสดใหม่ของนวนิยายเรื่องนี้ อย่างที่นักเขียนท่านหนึ่งเอ่ยชื่นชม Conversations with Frineds ว่าคือการนำวัตถุดิบเก่าๆ เดิมๆ วรรณกรรมโรแมนติกที่ใครๆ ก็คุ้นเคยมาปัดเป่าให้สดใหม่ ดังว่า ตัวเอกในเรื่องเป็นนักศึกษาที่เป็นไบเซ็กซ์ชวลที่ฝักใฝ่แนวคิดคอมมิวนิสต์ ซึ่งอยู่ดีๆ ก็เกิดไปตกหลุมรักชายคนหนึ่งที่มีคู่รักอยู่แล้ว
ทว่า Rooney ก็ไม่ได้ตัดสินพฤติกรรม หรือการกระทำของตัวละครผ่านกรอบคิดทางศีลธรรมใดๆ เช่นกันที่เธอก็ไม่ได้จัดวางว่าการลอบคบชู้เป็นเรื่องที่ผิด Rooney ไม่ได้ตัดสินตัวละครของเธอ ไม่ได้โบยตีตัวละครของเธอเพียงเพราะว่าพวกเขาทำในสิ่งที่สังคมบอกว่าไม่ถูกต้อง เป็นเพราะการไม่พยายามจัดวางอะไรใดๆ ในนวนิยายเล่มนี้เองที่ส่งให้ชื่อของ Rooney พุ่งขึ้นมาเป็นที่สนใจในหมู่นักอ่าน และนักวิจารณ์วรรณกรรม แต่ก็เช่นกันที่แรงคาดหวังต่อนวนิยายเล่มที่สองของเธอก็ย่อมเพิ่มสูงตามๆ กันไป
ผมหยิบ Normal People มาอ่านอย่างไม่ค่อยจะรู้อะไรมาก เลยไม่ได้คาดหวังนัก และอาจเพราะไม่ได้คาดหวัง นวนิยายเล่มนี้จึงมอบความสดใหม่ให้กับผมอย่างน่าพอใจ ถ้าว่ากันอย่างง่ายๆ Normal People คือเรื่องราวของความรักระหว่างหนุ่ม-สาวที่เติบโตขึ้นพร้อมกันในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง Cornell คือเด็กหนุ่มที่มีพื้นฐานครอบครัวไม่ค่อยจะดีนัก เขาอาศัยอยู่กับคุณแม่ยังสาวที่เลี้ยงดูเขาโดยลำพัง ที่ไม่เพียงจะสร้างความอับอายให้เขาเท่านั้น แต่อาชีพที่เธอทำยังไม่พอจะป้อนปากท้องอีกด้วย
แม่ของ Cornell ทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ในบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่ง และซึ่งเจ้าของบ้านหลังนี้ก็ดันไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ Marianne เด็กสาวที่ Cornell หลงรัก ฟังดูน้ำเน่าเหลือเกินนะครับ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของตัวละครทั้งสอง เมื่อฝั่งหนึ่งคือลูกคนใช้จนๆ แต่อีกฝั่งคือคุณหนูผู้ร่ำรวย มีชาติตระกูล ถึงแม้ Marianne จะเติบโตขึ้นอย่างมั่งมี ก็ใช่ว่าเธอมีความสุขแต่อย่างใด พ่อของเธอนิยมใช้ความรุนแรง หรือทั้งแม่และพี่ชายก็ไม่ได้แสดงว่ารักใคร่ หรือสนใจเธอมากนัก ด้วยเหตุนี้ Marianne จึงรู้สึกว่าถูกทำร้ายอยู่เสมอ จากผู้คนรอบตัวที่ไม่เคยจะใส่ใจเธอเลยสักครั้ง หรือเมื่ออยู่โรงเรียน Marianne ก็ถูกตีตราว่าเป็นยัยเฉิ่ม ตรงกันข้ามกับ Cornell ที่แม้จะเติบโตมาอย่างยากลำบาก ทว่าด้วยใบหน้าที่หล่อเหลา แถมยังเป็นนักกีฬา ทำให้เขากลายเป็นที่ชื่นชอบของใครๆ ในโรงเรียน
ในช่วงหนึ่งของนิยาย ความสัมพันธ์ระหว่าง Cornell กับ Marianne ดำเนินไปในลักษณะของวัยรุ่นที่ยังกังวลเรื่องสถานะของตนในโรงเรียน นั่นคือ Cornell เลือกจะปกปิดความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไว้ไม่ให้มีใครรู้ เพราะไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของตัวเองต้องสั่นคลอนหากมีใครรู้ว่าเขาคบกับ Marianne ทว่าความน่าสนใจของนวนิยายเล่มนี้อยู่ตรงที่ Rooney เลือกจะติดตามชีวิตของตัวละครทั้งสองต่อไปเรื่อยๆ ภายใต้การรักๆ เลิกๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ชีวิตไฮสกูล แต่ยาวไกลไปในระดับมหาลัย ซึ่งสถานะระหว่าง Cornell และ Marianne ที่ปรากฎในสายตาสาธารณะกลับหัวกลับหางกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ Marianne เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ใครๆ ต่างชื่นชมเธอ ในขณะที่ Cornell ถูกมองว่าเป็นไอ้หนุ่มบ้านนอกเชยๆ คนหนึ่งแทน
ไม่ต่างจาก Conversations with Friends ที่พล็อตเรื่องของ Normal People ไม่ได้ฟังดูแปลกใหม่ หรือหวือหวาอะไร ทว่าเป็นภายใต้ความเรียบง่ายนี่เอง ที่ Rooney ได้เสกมนตร์เปลี่ยนให้ความธรรมดาๆ กลับมีความสลับซับซ้อนขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง ภายใต้หัวข้อง่ายๆ ของความรักในวัยเรียน Rooney แสดงให้เห็นถึงความคิดอันเปราะบาง และสลับซับซ้อนของวัยรุ่นได้อย่างไม่คิดตัดสิน แถมยังเข้าอกเข้าใจ ความมีเหตุมีผลที่ดำเนินไปภายใต้ตรรกะชุดหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไปตามความเข้าใจของผู้ใหญ่ หรือวิธีคิดของสังคมเสมอไป ทว่าภายใต้ตรรกะชุดนี้วัยรุ่นก็มองว่า ในชั่วขณะหนึ่งมันมีเหตุมีผลมากพอ เข้าใจได้มากพอที่จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และการตัดสินใจใดๆ ของเขา
เป็นความละเอียดอ่อนในชั่วขณะหนึ่งของชีวิตนั่นเองที่ Rooney แสดงให้เห็นผ่านหนังสือเล่มนี้ ความละเอียดอ่อนที่ไม่คงทนถาวร และสักวันหนึ่งก็จะเปลี่ยนไปเป็นความละเอียดอ่อนอีกชุดหนึ่งเมื่อเราเติบโตขึ้น ในอนาคตสักวัน Cornell หรือ Marianne อาจมองย้อนกลับมาในอดีต และไม่เข้าใจอีกต่อไปว่าทำไมในวัยแค่นั้น เขาหรือเธอถึงทำในสิ่งนั้นๆ หรือเลือกในสิ่งนี้ๆ แต่ก็นั่นแหละครับ ชีวิตหรือการตัดสินใจใดๆ ของเราในช่วงเวลาหนึ่ง ก็ไม่อาจใช้มาตรฐานของตัวเราเองในช่วงเวลาอื่นมาเปรียบเทียบ หรือวัดค่าได้แต่อย่างใด เราไม่อาจใช้ปัจจุบันที่เป็น ไปตัดสินคุณค่า และความถูกผิดของตัวเองในอดีตได้ เช่นเดียวกับ Cornell และMarianne พวกเขาไม่ได้ทำอะไรถูก และพวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ภายใต้การยื้อยุดฉุดกระชากอยู่ในความสัมพันธ์ติดๆ ดับๆ นี้ สิ่งที่คนอ่านอย่างเรามองเห็น คือความพยายามของมนุษย์สองคนในขวบวัยหนึ่ง ที่พยายามจะเป็นคนปกติอย่างที่ใครก็ไม่รู้เลือกจะนิยามอย่างที่ชื่อหนังสือบอกไว้ก็เท่านั้น