ทุกวันนี้ ในไทยเกิดบ้านพักคนชราหรือ nursing home สำหรับผู้สูงวัยขึ้นมามากมาย หลายแห่งมีลักษณะเป็นหมู่บ้านที่มีผู้ดูแล โดยมีราคาที่แตกต่างลดหลั่นกันไปตามฐานะ
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะเป็นสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นจากเทรนด์ Aging Society (ที่กำลังกลายเป็น Super-Ageing Society ในอัตราเร็วขึ้นเรื่อยๆ) นั่นเอง แต่เรื่องน่ากังวลคือปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา เมื่อ COVIC-19 แพร่เข้าไปถึงที่นั่น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา กระโจนไปอยู่ที่ 9 คนแล้ว
คุณรู้ไหมครับ ว่าทั้งเก้าคนเป็นใครบ้าง?
ผู้เสียชีวิตทั้งหมดอาศัยอยู่ในซีแอตเทิล โดย 7 ใน 9 อาศัยอยู่ในที่เดียวกัน ที่แห่งนั้นก็คือบ้านพักคนชราหรือศูนย์ดูแลผู้สูงวัยที่ชื่อ Life Care Center ที่ตั้งอยู่ในย่านเคิร์กแลนด์ของซีแอตเทิล
ที่นี่เป็นบ้านพักคนชราที่มีอยู่ราว 200 เตียง และมีรายงานว่า คนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้อีกจำนวนมาก ตั้งแต่พนักงานจนถึงผู้มาเยี่ยมมาเยือนได้ติดโรค COVID-19 ไปแล้ว
ที่จริงต้องบอกว่า ผู้สูงวัยนั้นมีโอกาสรับเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นๆ มากนะครับ โรบิน เกอร์ชอน (Robyn Gershon) ซึ่งเป็นนักวิชาการอยู่ที่ School of Global Public Health ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค บอกกับ The Atlantic ว่าเรื่องนี้น่าเป็นกังวลมากๆ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
เราอาจพอรู้กันว่า อัตราการตายจาก COVID-19 ไม่ได้สูงมาก แรกทีเดียวคิดว่าอยู่ที่ไม่เกิน 2% แม้ตอนนี้จะมีหลักฐานมายืนยันว่าอาจสูงกว่านั้น คืออยู่ที่มากกว่า 3% แต่ก็ยังถือว่าไม่มากเท่าไหร่
แต่ถ้าไปดูคนที่อยู่ในวัย 70-79 ปี จะพบว่า
อัตราการตายของคนกลุ่มนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3.5 เท่า
แล้วถ้าเป็นกลุ่มคนที่อายุ 80 ปี ขึ้นไป อัตราการตายจะพุ่งขึ้นไปที่ 6.5 เท่าของอัตราการตายโดยรวมทั้งหมด
แน่นอนว่าอย่างแรกสุด ผู้สูงวัยย่อมมีร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยลง หลายคนมีอาการเจ็บป่วยโน่นนี่อยู่ก่อนแล้ว เมื่อพบกับโรคร้ายเข้าไปจึงมีอาการรุนแรงมากขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้
แต่บ้านพักคนชรามีอีกปัญหาหนึ่งเพิ่มเสริมเข้ามา นั่นคือผู้สูงวัยทั้งหลายมาอาศัยอยู่รวมกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ปัญหาการติดต่อของโรคจึงยิ่งมากองสุมทับกันมากขึ้นไปอีก เกอร์ชอนใช้คำว่า บ้านพักคนชราเป็นเหมือน ‘หม้อซุป’ ของโรคและการติดเชื้อเลยทีเดียว นี่ไม่ใช่การพูดลอยๆ แต่มีหลักฐานการศึกษาจากไข้หวัดใหญ่และโรคอื่นๆ มาเป็นเวลายาวนาน ถ้ายังไม่คิดถึง COVID-19 ก็ยังพบว่าในแต่ละปี คนที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราแบบระยะยาวนั้น เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อมากถึงราว 380,000 คนอยู่แล้ว แต่ถ้าเพิ่ม COVID-19 เข้าไปอีก ก็คาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะเลวร้ายลง
เกอร์ชอนบอกด้วยว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้ต้องการคนดูแล นั่นแปลว่าคนดูแล (หรือ caregiver) ต้องเข้าไปสัมผัสติดต่อกับผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะไปแต่งตัวให้ อาบน้ำให้ ป้อนอาหาร หรือแม้กระทั่งช่วยขับถ่ายและทำความสะอาดต่างๆ สิ่งเหล่านี้เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการติดเชื้อ เพราะต่อให้ผู้ดูแลใส่หน้ากาก ล้างมือ ใส่ถุงมือ หรือมีมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ แต่ก็ยังต้องอยู่ใกล้ชิดเป็นเวลานานอยู่ดี จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
ที่สำคัญ ผู้ดูแลหนึ่งคนไม่ได้ดูแลผู้สูงวัยคนเดียว แต่ต้องผลัดเปลี่ยนไปดูคนโน้นคนนี้ จึงมีโอกาสที่จะเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดต่อกับผู้สูงวัยอื่นได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจติดต่อไปถึงคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คนที่บ้านได้ด้วย เพราะผู้ดูแลส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีร่างกายแข็งแรง จึงอาจไม่มีอาการหรือแสดงอาการแต่เพียงเล็กน้อย ทำให้คิดว่าตัวเองสามารถทำงานต่อไปได้
เกอร์สันบอกว่า ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีบ้านพักคนชราหรือศูนย์ดูแลผู้สูงวัยมากกว่า 15,000 แห่ง และเป็นไปได้ว่าพวกเขาไม่ได้เตรียมตัวเลยสำหรับการรับมือกับโรคระบาด ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับซีแอตเทิลเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญาที่เรื้อรังมานาน และปัญหาหนึ่งๆ ก็ส่งผลกระทบย้อนกลับ เช่น การขาดแคลนพนักงาน การไม่มีทรัพยากรหรือทุนมากเพียงพอในการดูแลจัดการ การบริหารจัดการที่ไม่ถูกวิธี พนักงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือปัญหางูกินหางที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม และโรคระบาดอย่าง COVID-19 ก็จะมาเปิดโปงให้เราได้เห็น
ผู้สูงวัยจำนวนมากอาจมีอาการของโรคสมองเสื่อมหรือ dementia ทำให้จดจำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อตรวจพบว่าได้รับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องถูกกักตัวแยกจากคนอื่น นั่นยิ่งไปซ้ำเติมอาการทางใจมากขึ้นไปอีก เพราะผู้สูงวัยเหล่านี้จะไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ ต้องอยู่ลำพัง และไม่อาจเข้าใจอะไรได้เลยว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ทำไมถึงต้องอยู่ที่นี่ ลำพังอาการป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมก็แย่พออยู่แล้ว
แต่เมื่อมี COVID-19 ร่วมด้วย สุดท้ายสองอย่างนี้ก็จะกระหน่ำซ้ำเติม
ให้ร่างกายอ่อนแอ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น
ในกรณีของผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 ผู้ดูแลต้องทำหน้าที่สองอย่างพร้อมกันไป คือดูแลผู้สูงวัยด้วย และดูแลผู้ป่วยที่ต้องกักกันตัวด้วย ซึ่งทักษะในการดูแลสองเรื่องนี้เป็นคนละทักษะ ทำให้หาผู้ดูแลที่มีทั้งสองทักษะพร้อมกันได้ยากเย็นยิ่งขึ้น ถ้าไวรัสเริ่มแพร่ในบ้านพักคนชรา เหตุการณ์จึงอาจลุกลามบานปลายได้มากกว่าที่คิด
คำแนะนำของเกอร์ชอนก็คือ ต้องป้องกันการระเบิดให้ได้มากที่สุดด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันทุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากาก ชุดต่างๆ และต้องล้างมือ ทำความสะอาดร่างกายให้มากที่สุดด้วย คำที่ใช้ก็คือ – ต้องทำความสะอาดจนแทบจะเป็นบ้า (cleaning like mad) วันละหลายๆ ครั้ง รวมถึงการแยกตัวผู้สูงวัยที่แสดงอาการป่วยออกมาเพื่อรอดูอาการ
ในไทย เรายังไม่เห็นใครพูดถึงประเด็นนี้กันมากนัก แต่นี่คือเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เพราะผู้สูงวัยนั้นอ่อนแอต่อโรคนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
แต่เราก็รู้และเห็นกันอยู่ว่า รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง