ทุกวันนี้คุณออนไลน์วันละกี่ชั่วโมง?
ปลายปีที่แล้ว ผมเคยผ่านตาเว็บไซต์เว็บหนึ่ง ที่คุณต้องออฟไลน์ หรือตัดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เนต เพื่อเข้าไปอ่านบทความ เว็บไซต์เว็บนั้นอยู่ที่ https://chris.bolin.co/offline/ หากคุณออนไลน์เข้าไปอ่าน มันจะแจ้งเตือนไว้อย่างชัดเจนว่า “You Must Go Offline to view this page.” หรือ “คุณต้องออฟไลน์เพื่ออ่านหน้านี้” “ให้ตัดการเชื่อมต่อ เพื่อไปต่อ”
เมื่อคุณตัดการเชื่อมต่อและเข้าหน้าเดิม (จะด้วยการรีเฟรช หรือรอให้เว็บมัน ‘รู้ตัว’ ว่าคุณไม่ได้ต่อเนตแล้วก็ตามแต่) เว็บดังกล่าวก็จะแสดงบทความเกี่ยวกับการ ‘อยู่ห่างๆ เนต’ ที่ใช้ความยาวในการอ่านสองนาทีขึ้นมา (ลองดูได้นะครับ)
คริส โบลิน ผู้ทำเว็บดังกล่าวบอกว่าเขาใช้เทคนิคการทำเว็บเช่นนี้ ผ่านทางอีเวนท์ของเบราเซอร์ที่จะรู้ตัวว่าอุปกรณ์นั้นกำลังออฟไลน์หรือออนไลน์อยู่ แล้วฝังคอนเทนต์เข้าไป เมื่อตรวจพบว่าอุปกรณ์อยู่ในสถานะออฟไลน์
ในตอนนั้น โบลินได้แจกโค้ดของเขาไว้บน GitHub เผื่อว่าจะมีใครสนใจนำไปพัฒนาต่อด้วย (เบราเซอร์บางยี่ห้อจะใช้ไม่ได้)
ทำไมโบลินจึงทำเว็บดังกล่าวขึ้นมา? เขาเชื่อว่าการออฟไลน์ (บ้าง) จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เขาเขียนไว้ในบทความว่า “ผมได้ยินเสียงบ่นเลยแหละ ว่าบางคนต้องโวยวายขึ้นมาแน่ๆ ว่า ชั้นต้องออนไลน์เพื่อทำงาน ผมไม่แคร์หรอก หาเวลาออฟไลน์เสียบ้าง ผมเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้คุณมีคุณค่า ไม่่ใช่ความสามารถของคุณในการหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ลหรอก แต่คือความสามารถในการประมวลผลข้อมุลของคุณต่างหาก” เขาสรุปไว้อย่างคมคายว่า “จงค้นคว้าขณะออนไลน์ แต่สรรสร้างขณะออฟไลน์” (Do your research online, but create offline.)
ในตอนนั้นผมยังคิดอยู่เลยว่าน่าจะมีคนนำแนวคิดของโบลินเพื่อไปพัฒนาเว็บไซต์แนวเดียวกันต่อ
ปรากฏว่า ไม่ต้องรอใครที่ไหน คริส โบลิน เองนี่แหละ ที่นำแนวคิดของเขามาพัฒนาจนเป็นนิตยสารออนไลน์ (ที่คุณต้องออฟไลน์เพื่ออ่าน) ชื่อ The Disconnect
เมื่อคุณเข้าเว็บ The Disconnect (https://thedisconnect.co/one/) คุณจะเห็นหน้าปกของเล่ม (หนึ่ง) เป็นรูปนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ มีข้อความเตือนคล้ายกันกับเว็บเดิมของโบลินว่า “โปรดตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เนต นี่เป็นนิตยสารออฟไลน์เท่านั้น มันบรรจุบทความความเห็น เรื่องแต่ง และบทกวี เพียงตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เนตคุณก็จะได้อ่านฟรีๆ” นี่เป็นการร่วมมือระหว่างโบลินกับบรรณาธิการชื่อ Clayton d’Arnault
เว็บไซต์ FastCoDesign บอกว่า จริงๆ แล้วเทคนิคที่โบลินใช้สร้างเว็บก็ไม่ได้วิลิศมาหราอะไร แต่การได้อ่านบทความขนาดยาวในแบบที่ไม่มีข้อความเด้งขึ้นมากวนใจ ไม่ว่าจะเป็นบนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ก็ช่างน่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน
โบลินพูดไว้คล้ายกับที่เคยเขียนใน Manifesto ในปีก่อนหน้าว่า “ผมคิดว่าเราชอบคิดว่าการเชื่อมต่อตลอดเวลาเป็นสิทธิที่ควรจะได้ แต่เราไม่ค่อยคิดนอกกรอบกันเลย“ สิ่งที่โบลินเสนอไม่ใช่การตัดการเชื่อมต่อแบบสุดโต่ง แต่เป็นการรู้จักมีเวลา ‘ออน’ และ ‘ออฟ’ อย่างเหมาะสม ซึ่งเขาก็หวังว่านิตยสารของเขาจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของห้วงเวลาออฟไลน์เล็กๆ ในชีวิตผู้อ่าน
อันที่จริง นิตยสารของโบลินอาจแสดงให้เราเห็นเทรนด์ที่ใหญ่กว่า ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามันคือการ ‘พิจารณาความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี’ ในรูปแบบใหม่
คอลัมนิสต์ของ The Guardian ใช้คำว่า neo-luddite (ซึ่งผมคิดว่าเป็นการใช้คำที่รุนแรงพอสมควร เมื่อคิดว่ามันเคยถูกใช้เรียกพวกปฏิเสธเทคโนโลยียุคเครื่องจักรทอผ้า ประท้วงและเผาเครื่องจักรเหล่านั้นมาก่อน) เพื่ออธิบายเทรนด์นี้
Jamie Bartlett อธิบายว่าในปัจจุบัน หลังกระแสตื่นตูมทางเทคโนโลยี ผู้คนเริ่มหันมามองเทคโนโลยีด้วยสายตาระแวงระวังมากขึ้น ทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงนโยบาย พวกเขารู้ว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อาจไม่ได้มีภารกิจเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค เท่ากับที่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไร
การกลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ Bartlett ก็กังวลว่า เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่คุกคามความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คน (เช่น หุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์) เมื่อนั้นความรุนแรงก็อาจปะทุ
นิตยสารออนไลน์ The Disconnect ที่คุณต้องอ่านขณะออฟไลน์ จึงอาจเป็นเครื่องแสดงเแนวโน้มที่ใหญ่กว่าเช่นนี้เอง
อ้างอิง / ที่มา
https://motherboard.vice.com/en_us/article/kzzgjn/this-website-only-works-when-youre-offline
https://www.fastcodesign.com/90163617/we-can-redesign-the-internet-to-help-us-disconnect-from-it
https://www.theguardian.com/technology/2018/mar/04/will-2018-be-the-year-of-the-neo-luddite