กาลเวลาทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในสัปดาห์นี้เองกาลเวลาก็พัดพาเอาข่าวชวนน่าตกใจเกี่ยวกับนิตยสารถึงสามหัว สามแนวที่ประกาศปิดตัวไป หนึ่งคือนิตยสารที่อยู่คู่แม่บ้านไทยมาอย่างยาวนานอย่าง ‘สกุลไทย’ เล่มที่สองคือนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ในรูปแบบกระดาษเล่มสุดท้ายในประเทศไทยอย่าง CKids Express ที่แม้จะยังไม่มีประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ทิศทางการนำเสนอข่าวในช่วงนี้รวมถึงหลักฐานอีกหลายประการก็ชี้ชัดแล้วว่าพวกเขาคงอยู่ให้อุดหนุนกันอีกไม่นานนัก
และเล่มสุดท้ายคือนิตยสาร Twilight ในเครือ I Like นิตยสารที่เน้นเรื่องสยองขวัญเจาะกลุ่มนักอ่านวัยรุ่น ก็ประกาศปิดตัวลงอย่างกะทันหัน
อย่างที่บอกว่าเวลาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังสือเหล่านั้นต้องปิดตัวเองลง แต่จะมีวิธีใดบ้างไหมที่จะยับยั้งให้นิตยสารเหล่านี้ไม่จากไปกัน
ปรับตัวตามยุค
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในช่วงฝืดเคือง กับปัญหาของวงการสิ่งพิมพ์ที่ถดถอยกันทั่วทั้งโลก ปัจจัยภายนอกส่วนแรกที่ทำให้นิตยสารในประเทศไทยต้องปิดตัวลงไปก็คือการที่นิตยสารหลายเล่มปรับตัวตามยุคไม่ทันนั่นเอง
ในส่วนนี้ นิตยสารสกุลไทยกล่าวไว้อย่างชัดเจนในแถลงการปิดนิตยสารว่าปัญหาที่พวกเขาพบเจอก็คือ “พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเย่นต์จัดจำหน่ายลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆ ลดบทบาทลงในในยุคของสื่อดิจิตอลเช่นทุกวันนี้” แต่ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าใน Gen X และ Y ที่ถือว่าเป็นคนหมู่มากในปัจจุบันเกิดความรู้สึกว่าหนังสือไม่ยอมปรับรูปเล่มหรือขนาดฟอนต์ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้อ่านง่ายและน่าพกพามากขึ้น
ส่วนนิตยสาร Twilight นั้นอาจไม่เหมือนอีกสองหัว เพราะพวกเขาแตกตัวจากนิตยสารวัยรุ่นเป็นหลักซึ่งถือว่าทันยุคทันสมัยอยู่แล้ว รูปเล่มอาจดูวินเทจนิดนึงแต่ถ้าหากมองว่าเรื่องผีที่ฮิตๆ กันในบ้านเรามักจะมีบรรยาการ Retro เป็นทุนเดิมก็ดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอยู่
ส่วนนิตยสารการ์ตูนอย่าง CKids ก็ถูกลูกค้ากลุ่มหนึ่งค่อนขอดอยู่นานว่า ทำไมทำตัวเหมือนกับหนังสือยุคเก่า แม้ปัญหาส่วนนี้จะติดขัดอยู่เพราะนิตยสารต้องอ้างอิงการทำงานจากญี่ปุ่น แต่ CKids ก็พยายามปรับเนื้อหาข้างใน
ปรับเปลี่ยนเนื้อหา
พอยท์หนึ่งที่นิตยสารการ์ตูน CKids ปรับเปลี่ยนตัวเองใน CKids Express ก็คือการปรับเนื้อหาด้านใน แม้ว่าแก่นหลักยังเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์เหมือนที่ผ่านมา ที่เปลี่ยนไปก็คือการปรับจากการ์ตูนที่ลงเว้นช่วงห่างจากญี่ปุ่นพอสมควร ให้เป็นเนื้อหาออกมาพร้อมกันต้นฉบับญี่ปุ่นคือ Shonen Jump เลย
พูดถึง Shonen Jump แล้ว ญี่ปุ่นเองก็มีการปรับเนื้อหาด้วยเช่นกัน เดิมทีที่การ์ตูนในเล่มออกมารองรับเด็กในวัย Shonen หรือวัยประมาณประถมจนถึงวัยมัธยม ในช่วงหลังปรับมาเป็นการ์ตูนตัวละครหลักวัยเด็กที่กำลังตามหาความฝัน แต่เนื้อเรื่องก็เริ่มไม่ได้มาแนว Simple อย่าวที่เด็กยุค 90s คุ้นเคย เพราะผู้อ่านจากยุคนั้นหลายคนที่โตเข้าวัยทำงานกันแล้วก็ยังคงอ่านนิตยสารหัวนี้อยู่ จึงมีการ์ตูนที่พล็อต ‘ไม่เด็ก’ แทรกเข้ามามากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นอย่างชัดเจนก็อย่าง Death Note กับ Bakuman เรื่องแรกนั้นถึงกับฉีกเรื่องให้ตัวเอกเป็นคนชั่วหลงอำนาจเต็มขั้น ส่วนเรื่องหลังแม้จะมีการทะยานสู่ฝันให้สำเร็จแต่ก็แฝงไปด้วยรสขมขื่นของการทำงาน
ส่วนทาง Twilight อาจปรับเปลี่ยนตัวเองค่อนข้างยากอยู่เล็กน้อย เพราะทิศทางตั้งแต่เปิดตัวมาก็เป็นการปรับเนื้อหาให้เข้าสู่คนสมัยใหม่อยู่แล้ว หรือหากสกุลไทยจะยกเครื่องตัวเองใหม่ให้มีรูปสไตล์หวือหวาเร้าใจเพื่อดึงคนอ่านผู้ชายเข้ามาก็ออกจะชวนงงอยู่เล็กน้อยเช่นกัน
จริงอยู่ว่าการปรับเปลี่ยนอาจกระทบถึงแก่นแท้ดั้งเดิมของนิตยสารนั้นๆ ทำให้นิตยสารบางเล่มไม่กล้าปรับแนวตัวเองจนปิดตัวไปแล้วหลายเล่ม ถึงกระนั้นการที่ไม่ปรับอะไรเลยคงไม่เกิดผลดีใดๆ แน่ๆ เพราะคงมีแต่สายหนังสือหวยเท่านั้นล่ะที่สามารถขายได้อย่างยืนยงโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาใดๆ เลย
ปรับเปลี่ยนการขาย
ปัญหาใหญ่ที่สำนักพิมพ์หลายเจ้ากำลังพบเจอคือ การหายไปของทั้งร้านขายหนังสือ และสายส่งที่แรงหนุนทางการเงินไม่มากหายไป หรือแม้แต่ร้านหนังสือแบบแฟรนไชส์ก็ขอกินค่าหัวคิวมากขึ้น แถมนิตยสารเองก็ไม่สามารถนำมารวมพลังเพื่อขายแบบลดราคาในงานหนังสือต่างๆ ได้ แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรให้หนังสือขายได้
วิธีหนึ่งที่นิยมทำกันก็คือการจัดทำร้านค้าออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อให้เงินเข้าทีมงานโดยตรง กับอีกวิธีหนึ่งคือการปรับตัวเข้านุคแล้วกระโดดลงสู่ตลาด E-Book ไปเลย เพื่อไล่ตามลูกค้าที่กระโดดไปเล่น Smart Device บ้างก็อาจจะลงเป็นตัวอย่างให้ดูเล็กน้อยเพื่อยั่วน้ำลายให้ไปซื้อเล่มจริง หรืออีกส่วนก็ยกทั้งเล่มไปขายในโลกออนไลน์พร้อมเสริมฟีเจอร์พิเศษเฉพาะกิจไว้ในนั้นด้วย
หรืออีกอย่างที่ในไทยกระโดดลงไปทำหลายเจ้าแล้วก็คือ การผันตัวเป็น Free Magazine ซึ่งถ้าเป็นนิตยสารที่ซื้อคอนเทนต์มาจากที่อื่นอย่าง Ckids อาจยากนิดนึงที่จะปล่อยให้อ่านกันฟรีๆ
อีกรูปแบบที่หลายๆ ประเทศทำเพื่อกระตุ้นยอดขาย คือการมีของแถมแบบจับต้องหรือใช้งานได้มาขายคู่กับหนังสือมากขึ้น อย่างการแถมสินค้าตัวอย่างแบบที่นิตยสารแนวรักสวยรักงามทำเป็นประจำ (ถึงจะเป็น tie-in ก็เถอะ) หรือบางเจ้าก็แถม CD / DVD พิเศษมากับนิตยสาร
หรือแนวสร้างสรรค์ชวนให้มือไม่ว่างหน่อยก็แถมอุปกรณ์ทำจากกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นพัดกระดาษ หมวกกระดาษ หรือแม้แต่ตุ๊กตากระดาษ ก็ทำให้คนมาซื้อหนังสือมากขึ้น
พฤติกรรมการอ่านล่ะ เกี่ยวมั้ย?
ข้อสุดท้ายคงไม่สามารถแก้ไขจากทางฝั่งผู้จัดทำเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับกันว่า หลายครั้งเนื้อหาในนิตยสารเหล่านี้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งแบบโดยตรง (สแกนหนังสือทั้งเล่มไปลง) หรือโดยอ้อม (หยิบยกข้อความท่อนใดท่อนหนึ่งไปพิมพ์ต่อ) จนถึงจุดหนึ่งเราก็คุ้นเคยตัวกับการกระทำเหล่านี้ จนดูเหมืนว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ และเล่มที่โดนกระทำเช่นนี้ไม่ใช่แค่ 3 หัวนี้เท่านั้น (ผู้เขียนเองก็อ่านคอลัมน์ดูดวงที่ถูกลอกมาจากนิตยสารชื่อดังอยู่)
อีกส่วนหนึ่งคือนักอ่านรุ่นเก่าก็ยังมีความรู้สึกว่า ‘หนังสือ’ จะต้องมาพร้อมกับรูปเล่มกระดาษและกลิ่นหมึกพิมพ์เท่านั้น ไม่ควรจะมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีของแถมอื่นใดมาเบี่ยงเบนความสนใจจากเนื้อหาของตัวหนังสือ ทำให้คนเหล่านี้ไม่กระโดดไปอุดหนุนในตลาดใหม่อย่าง E-Book และพาลจะทิ้งนิตยสารกระดาษไปเสียด้วย