1
คุณคงรู้จักชื่อ – มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Margaret Atwood)
นิยายเรื่องดังที่สุดของเธอได้รับการตีพิมพ์เป็นไทยแล้ว คือ The Handmaid’s Tale หรือ ‘เรื่องเล่าของสาวรับใช้’
นิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นในยุคแปดศูนย์ มันเป็นเรื่องราวแบบดิสโทเปีย ว่าด้วยโลกอนาคตที่ ‘ผู้หญิง’ ถูกลดรูปลงเหลือเพียง ‘ทาส’ ของผู้ชาย ผู้หญิงไม่ได้เป็นตัวของเธอเอง แต่เป็นอะไรบางอย่าง ‘ของ’ ใครบางคน มีหลายฉากที่กดขี่และโหดร้ายตรงไปตรงมา เป็นงานต่อสู้เรียกร้องเพื่อผู้หญิงที่โด่งดัง จนกระทั่งทุกคนนำชื่อ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ไปผูกติดกับแบรนด์ ‘เฟมินิสต์’
แต่แล้วจู่ๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด (เมื่อมองจากที่ไกล) ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง นั่นคือ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ถูกคนกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘มิลเลนเนียลเฟมินิสต์’ (พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเฟมินิสต์ยุคใหม่ ซึ่งมีศัพท์เรียกเฟมินิสต์เหล่านี้ว่าเป็น ‘เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สี่’ หรือ Fourth Wave Faminists) โจมตีอย่างรุนแรง
คุณอาจอยากรู้ว่า ทำไม มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเฟมินิสต์รุ่นเก๋า ถึงถูกเหล่าเฟมินิสต์รุ่นใหม่เล่นงานจนเรียกได้ว่างอมพระราม
แต่ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในเรื่องนั้น อยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับ ‘เฟมินิสม์คลื่นลูกที่สี่’ กันก่อน
2
อะไรคือ ‘เฟมินิสม์คลื่นลูกที่สี่’ ?
ต้องบอกคุณก่อนนะครับ ว่า ‘กระแสเฟมินิสม์’ นี่ มันก็มีลักษณะเป็นอิทัปปัจยตาเหมือนเรื่องอื่นๆ นั่นแหละ คือมันก็มีเกิดมีดับมีขึ้นมีลง พอมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มากระทบหน่อยก็ดังขึ้นมา พอนานไปก็ซา ทำให้กระแสเฟมินิสต์มีลักษณะเหมือน ‘คลื่น’ คือขึ้นแล้วก็ลง ซึ่งในประวัติศาสตร์เฟมินิสม์แบบคลื่นนี้ ขบวนการเฟมินิสม์มีอาการขึ้นๆ ลงๆ มาแล้วหลายรอบ คลื่นลูกแรกเขาบอกว่าอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ที่สนใจการต่อสู้ในเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของ ‘สิทธิที่จะได้ออกเสียงเลือกตั้ง’ (Women’s Suffrage) ซึ่งเอาเข้าจริงก็น่าน้อยใจแทนผู้หญิงอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะอย่างในอเมริกา – ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งหลังคนผิวดำด้วยซ้ำไป กระแสเฟมินิสม์คลื่นลูกแรกนี้ พอประสบความสำเร็จ (ในการได้สิทธิเลือกตั้ง) แล้ว ก็ค่อยๆ ซาไป ประกอบกับโลกเจอเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง เช่น สงครามโลก เศรษฐกิจตกต่ำ คลื่นลูกแรกก็เลยจางหายไปนาน
เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองที่เริ่มขึ้นแถวๆ ยุคหกศูนย์ เฟมินิสต์ยุคนี้มีข้อเสนอที่ ‘กว้าง’ ขึ้นกว่าเดิม คือไม่ได้เป็นเรื่องสิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่ขยายไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น เพศวิถี การทำงาน ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน การหย่าร้าง ฯลฯ ก่อนจะจางหายไปในราวยุคแปดศูนย์
ที่เฟมินิสม์คลื่นลูกที่สองจางหายไป เป็นเพราะเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สองมีความ ‘หลากหลาย’ มากนั่นเองครับ มีทั้งเฟมินิสต์แบบเสรีนิยมที่เรียกร้องความเสมอภาคของ ‘จำนวน’ หรือ ‘สัดส่วน’ เช่น รัฐสภาหรือที่ทำงานต่างๆ ต้องมีผู้หญิงครึ่งหนึ่ง, เฟมินิสต์เชิงวัฒนธรรมที่เห็นว่าควรไปต่อสู้ที่ฐานทางวัฒนธรรมเลย (โดยเฉพาะเรื่องภาษา) หรือกระทั่งเฟมินิสต์ที่สิ้นหวังกับการต่อสู้กับผู้ชาย จนอยากแยกผู้หญิงไปอยู่รวมกันเพื่อตัดขาดจากผู้ชาย กลายเป็น Political Lesbianism ก็มี
ความหลากหลายทำให้เฟมินิสต์ยุคนี้ขัดแย้งกันเองหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘เพศวิถี’ (Sexuality) และความขัดแย้งกันเรื่องสื่อ Pornography (เช่น บางกลุ่มก็บอกว่าการสอดใส่เป็นการกดขี่ แต่บางกลุ่มก็สนับสนุน Pornography ในฐานะเครื่องมือสร้างอำนาจให้ผู้หญิงและการศึกษาเรื่องเพศของมนุษย์ ฯลฯ) จึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง ‘เฟมินิสต์ที่ดี’ (Good Girl Feminist) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเฟมินิสต์ประเภท Liberal Feminsit ที่มุ่งเน้นไปยังข้อเรียกร้องในสิทธิทางการเมืองอย่างเป็นทางการทั้งหลาย (คำว่า Liberal Feminism นั้นไม่ใช่ ‘เสรีนิยม’ ในแบบที่เข้าใจกันทั่วไปในปัจจุบันนะครับ แต่มีความหมายเฉพาะของมัน) กับเฟมินิสต์อื่นๆ
ถัดมา เกิดเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สามขึ้นในยุคเก้าศูนย์ ยุคนี้เฟมินิสม์ผสานรวมกับวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘ความหลากหลาย’ ยิ่งมีมิติต่างๆ ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สองมีจุดเด่นอยู่ตรงความเท่าเทียมทางการเมืองอย่างเป็นทางการ เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามก็พุ่งเป้าไปที่ความเป็นปัจเจกและความหลากหลายนี่แหละครับ
แต่ความหลากหลายไม่สามารถอยู่ของมันโดดๆ ได้ เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามได้เรียนรู้ว่า เมื่อหลากหลายย่อมมีความขัดแย้ง การอยู่กับความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้ ต้องมีความอดทนอดกลั้น (Toleration) และต้องมีคุณสมบัติ ‘ยืดหยุ่น ฟื้นตัวกลับได้’ (Resilience) อยู่ด้วย
คลื่นลูกที่สามยังให้ความสำคัญอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลายด้วย คือไม่ได้กระจุกอยู่แค่กับความเป็นหญิงผิวขาวเท่านั้น ทำให้เกิดเฟมินิสม์ใหม่ๆ เต็มไปหมด เช่น Transfemeinism, Postmodern Feminism, Ecofeminism ฯลฯ โดยมีปรัชญาหลักอยู่ที่การ ‘ตัดกัน’ ของแนวคิดทั้งหลาย (เรียกว่า Intersectionality) ที่ทำให้เห็น ‘การกดขี่’ ที่ซับซ้อนเป็นชั้นๆ
แต่แล้วเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามที่สลับซับซ้อนเกินไป ก็เริ่มคลายมนต์ขลังเสื่อมความนิยม เพราะมันคือความคิดที่ซับซ้อนถกเถียงย้อนแย้งไปมา (ลองนึกถึงโพสต์โมเดิร์นดูก็ได้) ผลลัพธ์ก็คือคนเห็นว่ามัน ‘ไม่มีประโยชน์’ คือไม่ได้เป็นรูปธรรมออกมา มีแต่ ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’ (Identity Politics) ที่พอนานๆ เข้า ก็ละเลยการเมืองเชิงโครงสร้างหรือการเมืองอย่างเป็นทางการ คนเลยเห็นว่า ‘มีประโยชน์’ สู้เฟมินิสต์คลื่นลูกที่หนึ่งหรือสองไม่ได้ สุดท้ายเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สามก็ค่อยๆ หายไปเมื่อขึ้นสหัสวรรษใหม่
เฟมินิสม์กลับมาอีกหนในคราบของ ‘เฟมินิสม์คลื่นลูกที่สี่’ ซึ่งคือการ ‘ฟื้นตัว’ ของเหล่า ‘เฟมินิสต์ยุคใหม่’ หรือ Millennial Feminists ที่เกิดขึ้นในราวปี 2012 อันเป็นยุคที่เชื่อมโยงพอดีกับการเกิดขึ้นของ ‘โซเชียลมีเดีย’
ดังนั้น แกนหลักในการก่อกำเนิดของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สี่ จึงไม่ใช่เรื่องของ ‘การต่อสู้’ (แบบคลื่นลูกที่หนึ่งหรือสอง) หรือ ‘ความคิด’ (แบบคลื่นลูกที่สาม) มากเท่ากับ ‘วิธีการสื่อสาร’ ที่ทั่วถึงแบบออนไลน์
หลายคนมองว่า ‘จุดโฟกัส’ ของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สี่ ไม่ได้มีอะไรใหม่เท่าไหร่ เพราะเป็นการโปรโมทเรื่องเก่าๆ ที่พูดกันมาตั้งแต่คลื่นลูกที่สองแล้ว นั่นคือเรื่องความยุติธรรมต่อผู้หญิง โดยเน้นไปที่การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงเดิมๆ ที่เคยถูกพูดถึงมาแล้วในอดีต เช่น ความต่างของรายได้ระหว่างหญิงชาย หรือแท็กอย่าง Me Too ที่พูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งกลายมาเป็น ‘เรื่องสำคัญ’ ในการถกเถียงของคนรุ่นใหม่แบบเอาเป็นเอาตาย ในแง่หนึ่ง การถกเถียงเรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์ เพราะมันทำให้เห็นว่าปัญหา ‘พื้นๆ’ พวกนี้ยังคงอยู่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การถกเถียงเรื่อง ‘พื้นๆ’ พวกนี้ ก็อาจเป็นผลมาจากบรรยากาศทางสังคมการเมืองที่ ‘ย้อนยุค’ ไปสู่ความอนุรักษ์นิยมขวาจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้
เป็นเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สี่นี้เอง ที่โจมตี มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ถูกโจมตีอย่างหนัก ถึงขั้นบอกว่าเธอเป็นพวกขวาจัด อนุรักษ์นิยม อยู่ในลัทธิชายเป็นใหญ่ และบางคนก็ถึงขั้นขับเธอพ้นจากความเป็นเฟมินิสต์
เกิดอะไรขึ้นกับ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด กันแน่
3
เรื่องของเรื่องก็คือ ในมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ในแคนาดา (เรียกย่อๆ ว่า UBC) มีอาจารย์คนหนึ่งชื่อ สตีเวน แกลโลเวย์ (Steven Galloway) ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกศิษย์ของตัวเอง จนเกิดเป็นคดีความ ต้องสืบสาวราวเรื่องกันขนานใหญ่
ที่สุด แกลโลเวย์ก็ถูกมหาวิทยาลัยไล่ออก โดยผู้พิพากษาหญิงคนหนึ่งบอกเหตุผลเพียงคร่าวๆ ว่าแกลโลเวย์ประพฤติผิด แต่ไม่มีรายละเอียด และไม่มีการเปิดเผยรายงานใดๆ ทั้งสิ้น โดยทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ให้ความเห็นอะไรด้วยเหมือนกันต่อการไล่แกลโลเวย์ออก คดีนี้จึงแลดูคลุมเครือ ไม่โปร่งใส ทั้งที่มีความซับซ้อนหลายอย่าง มีคำให้การมากมายจากหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายก็อ้างอิงตามความคิดความเชื่อของตัวเอง (ใครสนใจความซับซ้อนของคดีนี้สามารถไปหาอ่านกันได้นะครับ มีให้อ่านเยอะมาก) แถมยังมีการส่งแกลโลเวย์ไปบำบัดจิตด้วย
เมื่อปลายปีที่แล้ว มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ได้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยระงับกระบวนการทั้งหลายเอาไว้ก่อน โดยเธอคัดค้านการลงโทษคนที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเธอเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีนั้นไม่เป็นไปตาม Due Process of Law คำนี้หมายถึง ‘หลักกระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย’ พูดง่ายๆ ก็คือแม้จะมีการตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่ตัว ‘กระบวนการ’ ที่นำไปสู่การตัดสินนั้น ไม่ได้รับการเปิดเผยออกมาให้เห็นว่าเพราะอะไรจึงเกิดการตัดสินแบบนั้น และความคลุมเครือซับซ้อนก็อาจส่อความเป็นไปได้ – ว่าจะมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลัง
พูดอีกอย่างก็คือ สิ่งที่ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ทำ คือการ ‘ข้ามพ้น’ การ ‘ปกป้องเพศหญิง’ เพื่อหันไปปกป้อง ‘หลักการ’ ทางกฎหมายที่เป็นหลักพื้นฐาน แต่ผลลัพธ์ก็คือ เธอถูก ‘เฟมินิสต์รุ่นใหม่’ ด่าทอเธออย่างสาดเสียเทเสีย หลักๆ แล้ว เป็นการด่าที่ไม่ค่อยมีหลักการเท่าไหร่ โดยมากเป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึก ประมาณว่าเธอหันไปเข้าข้างผู้ชาย โดยเฉพาะ ‘การด่าออนไลน์’ ไม่ว่าจะทางทวิตเตอร์ การเขียนบล็อก หรือการเขียนจดหมายและบทความไปลงในที่ต่างๆ เช่นบอกว่า มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เป็นเฟมินิสต์ที่มีปัญหา (Problematic Feminist) หรือกระทั่งโจมตีว่าเธอเป็นสัตว์ร้ายกระหายเลือด เธอเปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่ ‘โปรลัทธิชายเป็นใหญ่’ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ต้องออกมาเขียนบทความชื่อ Am I a Bad Feminist? คือถามคนอื่นๆว่า – เธอเป็นเฟมินิสต์ที่ ‘เลว’ ขนาดนั้นเลยหรือ
เธอเขียนอธิบายเอาไว้ในบทความว่า สิ่งที่เธอทำอยู่ก็คือการต่อต้านวิธีคิดแบบที่เกิดในโลกออนไลน์นี่แหละ กระบวนการนี้เธอบอกว่ามันเข้าข่าย ‘ล่าแม่มด’ แบบหนึ่ง เพราะเป็นวิธีตัดสินบนหลัก Guilty Because Accused คือ ‘ผิดเพราะถูกกล่าวหา’ ซึ่งในกรณีของแกลโลเวย์มีลักษณะแบบนี้ชัดเจน เนื่องจากมันขาด Due Process แต่เธอก็ถูกโต้กลับอย่างรุนแรงเข้าไปอีก เกิดข้อโต้แย้งว่า เป็นเพราะเธอเป็นพวก ‘เฟมินิสต์แก่’ ที่ ‘ไม่ทันโลก’ ไม่รู้อีกต่อไปว่าโลกใบนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว เธอจึงไม่เข้าใจในสิ่งที่เฟมินิสต์ยุคใหม่เรียกร้องกัน บางคนบอกว่ายอมกินคอมพิวเตอร์ของตัวเองดีกว่าจะอ่านบทความนี้ของแอ็ตวูด
จดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนด่ามาร์กาเร็ต แอ็ตวูด ถึงกับเขียนอธิบายมาด้วยว่า ‘Revolution isn’t about justice, It’s about change’ หรือ ‘การปฏิวัติไม่เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรม มันคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง’
เห็นได้ชัดเลยว่า – นี่คือคำพูดของคนที่กำลัง ‘หัวร้อน’ โดยแท้!
เรื่องที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราคิดว่า ‘วิธีการ’ (Method) (ซึ่งในที่นี้ก็คือการสื่อสารโดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค) คือ ‘อุดมการณ์’ (Ideology) (ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรที่แข็งแรงเป็นฐานรองรับเลย) หรือมีแต่ ‘วิธีการ’ แต่ไม่มี ‘ฐานคิด’ ก็จะก่อให้เกิดการพูดตามๆ กันไป อวยกันไปตามเพลง โดยได้รับแรงเสริมหนุนจากโลกออนไลน์ กระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘เสียงก้อง’ (Echo Chamber) และพานคิดว่าสิ่งที่กลุ่มของตัวเองคิดและพูดส่งต่อๆ กันไปนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกเห็นพ้องด้วย
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
4
ผมประหลาดใจมาพักหนึ่งแล้ว ว่าทำไมคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์รุ่นใหม่ในคลื่นลูกที่สี่หลายคน จึงมักแสดงความคิดเห็นคล้ายๆ เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองสายเสรีนิยมที่ยังไม่รู้จักเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม ไม่รู้จัก Queer Theory หรือไม่รู้จัก Intersectionality
ผมคิดว่ามีคำอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายอย่าง
อย่างแรกก็คือ เป็นไปได้ไหมว่าเฟมินิสต์รุ่นใหม่จะไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เพราะในห้วงเวลาราวสิบปีที่กระแสเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามเลือนหายไปนั้น ‘ความทรงจำ’ เกี่ยวกับการต่อสู้ ความคิด และองค์ความรู้ที่ซับซ้อนของขบวนการเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สาม ก็คล้ายระเหยหายไปจาก ‘คนรุ่นใหม่’ ด้วย อาจด้วยคุณสมบัติ ‘เชื่อมั่นในตัวเอง’ แบบคนรุ่นใหม่ พวกเขาจึงมักดิ้นรนสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ข้ึนมาด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ก็คือ คนเหล่านี้ก็ต้องกลับมาตั้งต้นที่จุดเริ่มต้นแบบเฟมินิสต์คลื่นลูกที่หนึ่งหรือสอง เหมือนชื่อเพลง Right Back We Started From ไม่มีผิด
อย่างที่สองก็คือ เป็นไปได้ไหมที่คนรุ่นใหม่ยุคหลังมิลเลนเนียมส่วนใหญ่เติบโตมากับ ‘ความเก่า’ หลายอย่างโดยไม่รู้ตัว เพราะโลกหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้หมุนย้อนกลับไปสู่สภาวะขวาจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องลุกขึ้นต่อต้านความเก่าไดโนเสาร์เหล่านั้น เมื่อต้องต่อสู้กับความเก่า ก็เลยต้องใช้ Arguments ที่ ‘เก่า’ ไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะผิดฝาผิดตัวหรือสื่อสารกันไม่เข้าใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็คล้ายถูกขังอยู่ในความคับแคบของโลกอดีต ถูกฝ่ายขวาฉุดรั้งเอาไว้กับวันวาน ไม่มีโอกาสได้ย้อนกลับไปศึกษาว่าก่อนหน้านี้โลกเคยไปไกลถึงไหนมาแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่หลายคนเห็นว่า ‘ใหม่’ ในบรรยากาศเก่าๆ จึงไม่ได้ ‘ใหม่’ ในความหมายของการปลอดพ้นไปจากกรอบเก่า (หรือ Preconceptions) ที่ครอบงำตัวเองอยู่ในหลายมิติโดยไม่รู้ตัว
อย่างที่สาม ทุกวันนี้ เรายอมรับกันแน่ๆ ใช่ไหมครับ ว่าคำว่า Diversity หรือความหลากหลายเป็นคำสำคัญ แต่ในยุคเก้าศูนย์ ความหลากหลายถูกทดสอบมาแล้วมากมายหลายครั้ง จนเรารู้แล้วว่า ความหลากหลายจะยั่งยืนได้ ต้องมีการเปิดกว้างและอดทน (Tolerations) ยอมรับความขัดแย้งต่างๆ ได้ด้วย เพราะเมื่อมีความหลากหลายย่อมมีความขัดแย้งเป็นฐาน เมื่อมีความขัดแย้ง สิ่งที่จะยุติความขัดแย้งได้ดีที่สุดก็คือการตรวจสอบเพื่อหาจุดลงตัวและสมดุล ไม่ใช่อาศัย ‘จำนวน’ คนที่เห็นด้วยกับเรา – อย่างที่มักเกิดขึ้นกับดราม่าต่างๆ ในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย แต่ทีนี้ถ้า ‘หลัก’ ของการตรวจสอบไม่มั่นคง เอาแต่มุ่งหน้าเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามจำนวนของ ‘เสียง’ ในฝั่งตัวเอง ที่สุดก็อาจไม่เหลืออะไรอยู่ในมือเลย
อย่างที่สี่ ด้วยความเร็วและหลากหลายของโลกออนไลน์ที่มีการปะทะสังสรรค์กันอย่างเข้มข้น คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง – โดยเฉพาะที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำทางความคิด จึงต้องพยายาม ‘ยึด’ ความคิดของตัวเองเอาไว้ให้มั่น เพราะพวกเขาเห็นว่า โลกนี้มีความหลากหลายมาก ยิ่งหลากหลายมากก็ยิ่งต้องปะทะแข่งขันกันมาก การยึดความคิดของตัวเองให้มั่นทำให้เวลาปะทะแล้วไม่เสียหลักของตัวเองไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่เห็น ‘ความหลากหลาย’ แน่ๆ แต่ถ้าไม่ได้มี Tolerations หรือการยอมรับฟังคนอื่น แถมยังไม่ได้เริ่มต้นที่ ‘หลักคิด’ แต่ไปยึดอยู่กับ ‘วิธีการ’ โดยเผลอเห็น ‘วิธีการ’ เป็น ‘อุดมการณ์’ ด้วยแล้ว บางครั้งการยึดอยู่กับความหลากหลายของตัวเองก็อาจก่อให้เกิดอาการ ‘หลากหลายแต่ใจแคบ’ ขึ้นมาได้ เพราะเป็นความหลากหลายที่ไม่ Inclusive
ยิ่งในโลกที่ต้องตอบโต้กันอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งต้อง ‘รีบเถียง’ รีบเอาชนะคะคาน รีบก่อวอร์ บางครั้งจึงเกิดอาการหลุดจากหลักไป ‘โจมตีตัวบุคคล’ แบบเดียวกับที่ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เจอกับหลายๆ ความเห็นที่ต่อต้าน ‘หลักการ’ ของเธอ แต่ยิ่งมีพวกมาก หรือมี ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ (Echo Chamber) มากเท่าไหร่ อาการ ‘หลากหลายแต่ใจแคบ’ ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเท่านั้น และเป็นความเข้มข้นแบบไม่รู้ตัวด้วย
(เขียนแบบนี้ แอบเดาว่าคงต้องมีคอมเมนต์ทำนองนี้ปรากฏท้ายบทความให้เห็นเป็นหลักฐานแน่ๆ ซึ่งถ้ามี – ก็ต้องขอบคุณที่ช่วยมาสาธิต)
ที่จริงแล้ว การต่อสู้เรื่องเก่าๆ อย่างค่าแรงหรือ ‘สัดส่วน’ จำนวนผู้หญิงต่อผู้ชาย หรือความรุนแรงที่ ‘ผู้ชาย’ กระทำกับ ‘ผู้หญิง’ อะไรทำนองนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะการที่ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่ อาจแปลว่าโลกยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากสักเท่าไหร่ หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ โลกได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ ‘ซับซ้อน’ และ ‘แนบเนียน’ มากขึ้นก็ได้ จนทำให้ปัญหา ‘พื้นๆ’ พวกนี้ยังคงดำรงอยู่ได้ คำถามก็คือ – เราจะแก้ปัญหานี้ด้วย ‘แว่น’ แบบไหน
ด้วยแว่นที่หลากหลายแต่ใจแคบ ด้วยแว่นที่ไม่ข้ามพ้นเรื่องกล่องทางเพศ หรือด้วยแว่นเฟมินิสต์แบบหนึ่ง – ที่เห็นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางเสียจนไม่อาจข้ามพ้นความเป็นผู้หญิงไปสู่ความเป็นมนุษย์
ในโลกที่ฝั่งเผด็จการก็พยายามใช้ถ้อยคำของประชาธิปไตยมาลวงคนอื่น ก็อย่าลืมว่าอาจมีฝ่ายประชาธิปไตยที่ใจแคบ และฝังรูปรอยความเป็นเผด็จการเอาไว้ลึกๆ ในตัวอยู่ด้วยเหมือนกัน
สิ่งที่ต้องทำสม่ำเสมอจึงคือการ ‘ตรวจสอบตัวเอง’ นั่นเอง