ให้ไปศึกษาประวัติมาใหม่ แต่ประวัติศาสตร์ใหม่ๆ คุณพี่ได้ลองศึกษารึยัง! นี่เลยจัดไปแบบหนักๆ กับงานเขียนทางประวัติศาสตร์ 12 เล่ม ผลงานจากนักวิชาการทางประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ชั้นแนวหน้าที่อาจทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหาจากความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลง ที่กระทั่งคำว่าประวัติศาสตร์ยังมีหลายเวอร์ชั่น หลายแง่มุม และศึกษาต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ
คำว่าประวัติศาสตร์ในความคิดแบบเดิมๆ อาจจะค่อนข้างแน่นิ่งและตายตัว มีเรื่องทางประวัติศาสตร์เล่ากันแบบเดิมๆ ตามหนังสือมัธยมศึกษา แต่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ แล้ว เรายังมีมุมมองและประเด็นอื่นๆ ในการศึกษา ‘มิติทางประวัติศาสตร์’ ที่ทำให้เราเห็นแง่มุมอื่นๆ ที่ถักสานเรียงร้อยจนกลายเป็นตัวตนและห้วงเวลาปัจจุบัน และที่สำคัญประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องห้วงเวลาอันแสนไกลตัว เป็นภาพอดีตเพียงไกลๆ แต่อันที่จริงประวัติศาสตร์ไทยในยุคหลัง ก็เป็นห้วงประวัติศาสตร์ที่แสนสำคัญ และส่งผลกับปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระนั้นแล้ว การไล่ให้ไปเรียนประวัติศาสตร์ใหม่ จึงเป็นการไล่ที่ใช้ได้ แต่คำว่าการไปศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ ไม่ได้หมายถึงการไปอ่านหนังสือเรียน หรือตำราประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรมพระนริศ ไปอ่านหนังสือเล่มเดิมๆ แต่น่าจะหมายถึงการไปอ่านหนังสือที่กำลังทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ ข้อโต้แย้ง และข้อค้นพบใหม่ๆ ที่อาจจะพอเรียกคร่าวๆ ตามกระแสศึกษาประวัติศาสต์ที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ใหม่ (new historicism) รวมถึงการอ่านประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่คืองานประวัติศาสตร์ยุคหลัง และประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคใกล้ ประวัติศาสตร์และมุมมองที่อาจทำให้คนไล่เองกลับมาเข้าใจภาวะ และการต่อสู้ของสังคมร่วมสมัย ของโบว์สีขาวและนิ้วทั้งสามที่ยืนหยัดรับมือกับเผด็จการกันอยู่ในทุกวันนี้
The MATTER จึงสนับสนุนการอ่านประวัติศาสตร์ใหม่ในความดังกล่าว จึงอยากของเสนอหนังสือชุดใหญ่ 12 เล่มเพื่อการทบทวนและเช่าใจสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่งทั้ง 12 นั้นเป็นผลงานเขียนจากนักวิชาการชั้นแนวหน้าจากหลายสาขา เป็นงานเขียนที่ชวนให้เรานอกจากจะเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ยังอาจเข้าใจตัวตนร่วมสมัย และอาจทำให้เราเข้าใจกระทั่งความเป็นประวัติศาสตร์ที่เราเคยยึดติดจนต้องไล่คนให้ไปศึกษาอย่างถ่องแท้ ว่าถ่องแท้นั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามการตีความ มุมมอง และห้วงเวลาในการเขียนประวัติศาสตร์หรือกระทั่งการใช้งานประวัติศาสตร์นั้นๆ
เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์
จะบอกว่าอ่านประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย แล้วไม่เคยอ่านงานของอาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริสคงไม่ได้ งานเขียนชิ้นนี้เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ว่าด้วยการก่อร่างสร้างตัวของกรุงเทพในห้วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา
งานเขียนทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ไม่ได้พูดแค่ตัวเรื่อง แต่ยังรุ่มรวยไปด้วยประเด็นและมิติทางวัฒนธรรมที่ทำให้เราเห็นความซับซ้อน รวมถึงบริบทของกรุงเทพที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นกรุงเทพปัจจุบัน เห็นผู้คน เห็นความขัดแย้งในหลายระดับซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่อง แต่มีมิติของการอพยพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มคน การต่อสู้ เป็นมิติของกรุงเทพ ของสังคมไทยร่วมสมัยที่ค่อนข้างลุ่มลึกและรอบด้าน แถมยังอ่านสนุก
ปากไก่และใบเรือ, นิธิ เอียวศรีวงศ์
ปากไก่และใบเรือถือเป็นงานกึ่งประวัติศาสตร์ กึ่งวัฒนธรรม และกึ่งวรรณกรรมศึกษาที่อาจารย์นิธิใช้ตัวบทวรรณกรรมและตัวบทอื่นๆ เพื่ออธิบายการก่อตัวของสยามยุคก่อร่างสร้างตัวใหม่หลังจากอยุธยาล่มสลายลง แม้ว่างานชิ้นนี้ของจะเน้นพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์และบางส่วนเป็นช่วงกลางๆ แถวๆ ที่เราเริ่มรับอิทธิพลแบบตะวันตก
สิ่งที่อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นคือ ความซับซ้อนของบริบททางวัฒนธรรมที่อาจห่างไปหนึ่ง หรือสองศตวรรษ แต่บางประเด็นนั้นก็ยังคงหยั่งรากลึกลงสู่สังคมไทย ประเด็นที่เชื่อมโยงได้จนถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งสัมพันธ์การก่อตัวขึ้นของระบบทุนนิยมสยาม ความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์และรับบศักดินาเดิม การเกิดขึ้นกลุ่มทุนจีนและทุนไทย บางส่วนว่าด้วยเรื่องชนชั้นกลาง ไปจนถึงการเริ่มปรับตัวเองไปสู่ความเป็นสยามใหม่ในช่วงโมเดิร์นไนซ์
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล
เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ เรามักพูดถึงหลักฐานชั้นต่างๆ สำหรับประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยก็ย่อมต้องสัมพันธ์กับการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ.2475 กระนั้นแล้วในประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น จึงน่าจะนับเป็นงานเขียนบันทึกทางประวัติศาสตร์ในทางหนึ่งได้
งานเขียนชิ้นนี้ผู้นิพนธ์เล่าถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยบันทึกเป็นคล้ายๆ บันทึกส่วนตัว บันทึกเหตุการณ์ ประเด็นสำคัญของการอ่านงานประเภทบันทึกคือ แน่นอนว่าบันทึกเหล่านั้นเป็นมุมมองหนึ่ง บันทึกหนึ่งที่ถูกมองโดยมีมุม ประสบการณ์ส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในแง่ของเกร็ดประวัติศาสตร์และ สำนวนภาษาและเรื่องซุบซิบนั้นก็ถือเป็นรสชาติที่อ่านแล้วสนุกชวนติดตาม ในที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเขียนในครัวเรือนของสมาชิกสถาบันเดิมนี้ ย่อมเป็นหลักฐานและมุมมองทางประวัติศาสตร์หนึ่ง
สถาปัตยกรรมคณะราษฎร, ชาตรี ประกิตนนทการ
ในห้วงเวลาที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บนถนนราชดำเนิน ประวัติศาสตร์และการสร้างชุดความคิดใหม่ๆ ในยุคคณะราษฎรเป็นสมัยที่มักถูกละเลยไปในเรื่องเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลักตามตำราเรียนของไทย คณะราษฎรมักถูกพูดถึงอย่างคร่าวๆ มีประเด็นเรื่องชิงสุกก่อนห่าม ผู้นำบางคนเช่นจอมพล ป ก็ถูกเน้นในส่วนที่น่าขบขัน
ซึ่งแท้จริงแล้วแผนการและความพยายามเปลี่ยนประเทศของคณะราษฎร ในฐานะการเปลี่ยนประเทศไปสู่โลกทัศน์แบบใหม่นั้น คณะราษฎรได้มีการเปลี่ยนในระดับวัฒนธรรม ในระดับสถาปัตยกรรม คือตัวตึกรามสมัยใหม่บนถนนราชดำเนินนั้นเป็นความตั้งใจในการให้ภาพกรุงเทพและกรุงสยามที่ทันสมัยผ่านสถาปัตยกรรมที่ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ผ่านสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ ไปจนถึงการเปลี่ยนราชดำเนินและท้องสนามหลวงให้กลายเป็นพื้นที่ของปวงชน
ถ้าเรามองยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคสมัยอันสำคัญที่ประเทศต้องเจอกับสถานการณ์สำคัญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลก สงครามเย็น คณะราษฎรก็ได้มอบนโยบายและมรดกบางอย่างไว้ให้ตั้งแต่การจัดตลาดการเกษตร การปรับทุ่งพระเมรุไปสู่การใช้งานของเมืองและสาธารณประโยชน์ ไปจนถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ต่างๆ เช่นศาลาเฉลิมไทยอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบประชานิยม
การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
ไม่น่าเชื่อว่าจนถึงทุกวันนี้เราเองก็ยังมีผู้ปกครองเป็นทหาร และตอนนี้นักเรียนเองที่ก่อม็อบกันก็ชูการต่อต้านเผด็จการในหลายระดับของสังคมไทย ถ้าเป็นช่วงปี พ.ศ.2540 หนังสือการเมืองพ่อขุนเล่มนี้อาจอธิบายสังคมไทยได้ไม่แจ่มแจ้งนัก อาจอธิบายในระดับวัฒนธรรม ระดับสังคม แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่ารากเหง้าที่ดูเป็นอดีตจะฝังรากลึกและบงการอยู่ในวิธีคิดและวิถีปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นเองแค่ชื่อก็พอให้ภาพได้ว่า จริงๆ แล้ววิถีปฏิบัติ แก่นแกนของสภาพสังคมร่วมสมัยอาจเป็นสิ่งที่อาจารย์ทักษ์เรียกว่าระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ แหม่พูดออกมาแบบนี้ก็รู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งพบเห็นและสัมผัสได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี, ณัฐพล ใจจริง
หนังสือเล่มนี้ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เป็นปรากฏการณ์ของวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ของไทย ตัวงานสัมพันธ์วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนที่แค่ตัวผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกนั้นก็มีประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่นำไปสู่การเซ็นเซอร์ ในเล่มมีคำนำเสนอของอาจารย์ธงชัยที่ทำให้ปัญหาของวงวิชาการไทยที่อาจสะท้อนได้ไปถึงสภาพการจัดการความขัดแย้งและความเห็นต่างอื่นๆ ในทุกหย่อมย่านของบ้านเราได้อย่างไม่ห่างไกลนั้น
กระนั้นผลงานชิ้นนี้พูดถึงความขัดแย้งที่อยู่ในสังคมไทยยุคหลังจอมพล ป ที่มีความคิดสองขั้วคืออนุรักษ์นิยมและขั้วฝ่ายสังคมนิยม หรือฝ่ายซายที่ต่อสู้ขับเคี่ยมโดยมีสหรัฐอเมริกาและระบบศักดินาเดิมเข้ามาคัดง้างสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจทำให้เราพอมองเห็นความขัดแย้งของขั้วความคิดและความพยายามช่วงชิงอำนาจและบ่อนทำลายขั้นตรงข้ามที่ในที่สุดอาจอธิบายภาวการณ์ร่วมสมัยของเราได้
6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519, ธงชัย วินิจจะกูล
ด้วยความที่ The MATTER พูดถึงงานของอ. ธงชัยหลายครั้ง และแน่นอนว่าถ้าพูดถึงความเข้าใจทั้งประวัติศาสตร์และตัวตนความเป็นไทยร่วมสมัยผลงานเราจะขาดทั้งสยามแม็พ คนไทย/คนอื่น หรือเมื่อสยามพลิกผันได้ แต่ในครั้งนี้จึงเสนองานเขียน ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้จำไม่ลง’
เนื่องด้วยว่าอาจารย์ธงชัยเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยึดมั่นในการวิพากษ์วิจารณ์และใช้ผลงานชี้ให้เห็นปัญหาและความยอกย้อน ตลอดจนความอยุติธรรมในสังคมไทยมาตลอดชีวิตการทำงาน ส่วนหนึ่งนั้นก็อาจด้วยว่าตัวอาจารย์เองเป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์เดือนตุลาดังนั้นอาจารย์เองจึงเป็นทั้งผู้นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ และเป็นผู้ร่วมบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น
งานเขียนชุดนี้จึงเป็นงานที่เป็นทั้งเสียง เป็นการทบทวน หรืออาจเป็นกระทั่งการเยียวยาที่หนึ่งในเหยื่อของการกระทำออกมาพยายามฝ่าและทำความเข้าใจความเงียบของสังคมไทยที่มีต่อการฆ่าหมู่ผู้บริสุทธิ์เยาว์วัยได้อย่างเลือดเย็น และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
บ้านเมืองของเราลงแดง, เบเนดิก แอนเดอร์สัน
เบน แอนเดอร์สันเป็นอีกหนึ่งนักวิชาการไทยศึกษาที่แม้ว่าจะเป็นฝรั่ง แต่ก็สร้างความเข้าใจให้กับสังคมในหลายมิติตั้งแต่ชุมชนจินตนกรรม และบทวิเคราะห์วรรณกรรมและสังคมไทยยุคสงครามเย็น สำหรับบ้านเมืองของเราลงแดงถือเป็นอีกหนึ่งงานวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ
บ้านเมืองของเราลงแดงเป็นบทวิเคราะห์บริบทและผลพวงของเหตุการณ์เดือนตุลา โดยเฉพาะความรุนแรงช่วง 6 ตุลา โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติในช่วงทศวรรษ 2490 โดยอธิบายเข้ากับบริบทต่างๆ เช่นการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ประด็นทางอุดมการณ์ยังไม่แข็งแรงและปั่นป่วน ประเด็นสำคัญคือเบน แอนเดอสันพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่น่าสยดสยองไปจนถึงท่าของสังคมที่มีต่อการล่าสังหารอย่างอำมหิตผิดมนุษย์ในปี พ.ศ.2519 นั้น
ปั้นอดีตเป็นตัว, ไชยันต์ รัชชกูล
จากงานเชิงประวัติศาสตร์ มาสู่งานเขียนที่เป็นการรวบรวมบทความของ ไชยันต์ รัชชกูล ที่อาจจะไม่ได้เจาะจงลงไปที่เพียงประวัติศาสตร์ไทย หรือประวัติศาสตร์ยุคใดป็นการเฉพาะ แต่หนังสือเล่มนี้ด้วยการรวมเอางานเขียนว่าด้วยประวัติศาสตร์จากแหล่งและห้วงเวลาต่างๆ กันของผู้เขียนทั้งสุโขทัย อิสาน ฝ่ายใน ไปจนถึงค่ายกักกันช่วงสงครามโลก ประเด็นร่วมของงานทั้งหมดในฐานะอาจารย์และนักวิชาการทางประวัติศาสตร์คือ การทวนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นมีการสร้างขึ้น หรือปั้นอดีตขึ้นให้กลายเป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์
กระนั้นแล้วคำว่าประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เรายอกย้อนได้ ตีความ อ่าน หรือกระทั่งเขียนใหม่ได้อยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ไม่เชิงว่าเป็นสัจธรรมหรือเรื่องปั้นแต่งอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งซะทีเดียว แต่เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลและต้องการการศึกษาค้นคว้า ตีความทำความเข้าใจอยู่เสมอ
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
แน่นอนว่าอาจารย์สมศักดิ์อาจจะมีภาพจำหรือมีความหมายสำหรับหลายคนไปคนละอย่าง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าโดยพื้นฐานแล้ว สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่มีจุดยืน มีการศึกษาค้นคว้า มีหลักคิดและการโต้แย้งที่แข็งแรงที่สุดคนหนึ่งของโลกวิชาการไทย และแน่นอนว่าผลงานวิชาการของแกก็เป็นที่ยอมรับ ซึ่งตัวอาจารย์สมศักดิ์เองก็คล้ายกับอาจารยธงชัยคือ เป็นผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลา และใช้ความสามารถทางวิชาการและการเป็นนักประวัติศาสตร์เข้าชำระทำความเข้าใจประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยด้วย
หนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างกล่าวโดยสรุปคือการชำระประวัติศาสตร์โดยมีเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาเป็นแกนกลาง เป็นสิ่งที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเพิ่งสร้างขึ้นเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดนั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น
คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย”, สายชล สัตยานุรักษ์
คำว่าวัฒนธรรม ความหมายอย่างกว้างๆ นั้นก็คือสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้น ตรงข้ามกับธรรมชาติในแง่ของการปลูกฝังขัดเกลา กระนั้นแล้วคำว่าความเป็นไทยที่มาพร้อมๆ กับความเป็นชาติ อันเป็นสิ่งที่เราถูกคาดหวังให้ดำรงรักษานั้น ความเป็นไทยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ถูกสร้าง สืบทอด หรือกระทั่งมีความยอกย้อนลักลั่นในตัวเองบ้างหรือไม่
สายชล สัตยานุรักษ์เป็นนักวิชาการที่สนใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา หรือประวัติศาสตร์ทางความคิด ในแง่นี้อาจารย์สายชลจึงทำหน้าที่เป็นนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีกลับไปขุดค้นการสร้างนิยามความหมายของความเป็นไทยจากปัญญาชนสยามในยุคก่อร่างสร้างตัวตน
โดยคึกฤทธิ์ก็เป็นหนึ่งในปัญญาชนไทยชั้นแนวหน้าที่ใช้ฝีมือเพื่อร่วมสร้างภาพของความเป็นไทยขึ้นอย่างแข็งขัน ซึ่งแน่ล่ะงานเช่นสี่แผ่นดิน ไปจนถึงข้อเขียนต่างๆ ที่เราต่างฝันถึงความเรืองรองของความเป็นไทยนั้นย่อมสัมพันธ์กับปัญญาชนและอนุรักษ์นิยมคนสำคัญท่านนี้
ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, สุเนตร ชุตินธรานนท์
เวลาเราถูกไล่ให้ไป ‘อ่านประวัติศาสตร์’ ความหมายนัยหนึ่งก็จะหมายถึงการให้กลับไปอ่านตำราเรียน อันเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมักใช้อ้างอิง แต่แน่นอนว่าตำราเรียนเองก็เป็นตัวบท เป็นงานเขียนหนึ่งที่มีบริบททางการเมือง มีเป้าประสงค์ในการหล่อหลอม ขัดเกลา และหลายครั้งติดเอาความคิด ทัศนคติ หรืออาจรวมถึงอคติบางประการของรัฐในฐานะผู้เขียนตำราเรียนนี้ขึ้นติดเข้าไปในแบบเรียนที่ดูเป็น ‘เรื่องของความรู้’ ซึ่งประเด็นสำคัญหนึ่งใน
ชาตินิยมในแบบเรียนไทยของ สุเนตร ชุตินธรานนท์คือ การศึกษาการเกิดขึ้นของรัฐชาติ การรับมือ และสร้างตัวตนผ่านแนวคิดชาตินิยม รวมถึงการสร้างศัตรู หรืออคติลงไปยังภาพแทนของประเทศเพื่อนบ้าน ในวันที่เรายังคงพูดคำว่ารักชาติอย่างซ้ำไปซ้ำมา หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้เราเห็นที่มาที่ไป และอาจเห็นถึงปัญหาของชาตินิยมที่อาจเป็นรากฐานของความคิดประการที่ฉุดรั้งสังคมไทยเอาไว้