เช่นเดียวกับความเป็น ‘ชาติ’ และ ‘ศาสนา’ บทนิยามว่าด้วย ‘ประชาชน’ นั้นดูจะสร้างปัญหาและความยุ่งยากใจสำหรับนักคิดตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเพราะการบัญญัติความหมายนั้นมักแปรผันไปตามสถานที่กำเนิดและกาลเวลา เพียงแต่คำว่า ‘ประชาชน’ หรือ people นั้นมีส่วนผูกโยงเกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นคนส่วนใหญ่’ หรือเป็นกลุ่มชนที่มีพลังอำนาจ ไม่เฉพาะแต่สถิติตัวเลข
หากกระทั่งสามารถสร้างความปั่นป่วนต่อชนชั้นปกครองได้ด้วย ‘กำลัง’ ยามที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านท้าทาย แต่ครั้นเมื่อเราพิจารณาจากประวัติศาสตร์ช่วงยาว (longue durée) แล้ว ‘คนส่วนใหญ่’ ต่างก็ประสบวิบากกรรมมากมายกว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ประชาชน’ หรือเป็น ‘สุรเสียงแห่งพระเจ้า’ ดังคำกล่าวที่ว่า
“Vox Populi, Vox Dei”
ซึ่งการเมืองในภาวะสมัยใหม่พยายามเน้นย้ำความสำคัญนี้
ด้วยการสถาปนาให้
‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’
‘On People หรือ ว่าด้วยประชาชน: อะไรคือ ‘ประชาชน’ จากโรมันโบราณ จนถึง เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส’ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักเขียน-นักวิชาการที่ ณ ปัจจุบันแทบไม่ต้องแนะนำอะไรกันแล้ว เป็นผลงานเล่มบางๆ ทว่าหนักแน่นด้วยเนื้อหา ที่สามารถนำพาพาเราย้อนกลับไปสำรวจความคิดเกี่ยวกับ ‘ประชาชน’ ซึ่งในสังคมตะวันตกนั้นดูจะมีความหมายสลับซับซ้อนและยอกย้อนแตกต่างกันไปตามแต่ยุคสมัย
เฉกเช่นเดียวกับผลงานของธเนศทั้งหลาย ‘คำนำ’ ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญ ซึ่งในหลายครั้งก็เป็นมากกว่าคำอธิบายโครงเรื่องของสิ่งที่ประกอบเป็นเนื้อหาภายใน และเพราะ On People ได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกปี พ.ศ.2558 ครั้งที่สองปี พ.ศ.2563) ในเล่มจึงมีถึง 2 คำนำด้วยกัน
โดยคำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งแรก ธเนศได้ชี้ชวนให้เราเห็นว่า นอกเหนือจากความเป็นการเมืองในโลกปัจจุบันที่กำหนดให้เสียงของประชาชนกลายเป็นเสียงของพระเจ้าแล้ว ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ‘อำนาจ’ แท้จริงของประชาชนเหมือนจะตั้งวางอยู่ที่ ‘ความยากจน’ หรือการมีทรัพย์สินน้อยกว่าคนส่วนน้อย และยิ่งชัดเจนมากเข้าเมื่อระบบเศรษฐกิจโลกอ้าแขนรับนโยบายเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากให้คนส่วนน้อยดังกล่าวร่ำรวยมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนช่องว่างระหว่างความยากจนกับความร่ำรวยนั้นเกือบจะเข้าใกล้ระยะอนันต์
คำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งที่สอง มีความยาวน้อยกว่าคำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกมาก หากก็เป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึง ‘วิบากกรรม’ ความยอกย้อนกำกวมในความเป็น ‘ประชาชน’ (อย่างน้อยก็ในมุมมองของธเนศเอง) ที่เห็นว่าการก้าวมามีอำนาจของประชาชนไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอำนาจของผู้ปกครอง และถึงแม้ผู้ปกครองเหล่านั้นจะมาจากประชาชน (หรือได้ชื่อว่ามาจากประชาชน) แต่ผู้ปกครองและประชาชนก็ไม่เคยสามารถจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดั่งอำนาจอธิปไตยที่ต้องเป็นเอกพันธ์ (homogenous) คงเป็นเช่นนี้เรื่อยมาไม่ว่าจะเป็นระบอบการเมืองทั้งซ้ายทั้งขวา
โดยธเนศได้เน้นย้ำถึง ‘โครงเรื่องเดิม’ ก็คือการปะทะกันของผลประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่า ‘ประชาชน’ แต่ละทุกห้วงเวลามักถูกจำกัด หรือควบคุมไว้ ไม่ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ ก็ด้วยความเป็นชนชั้น โดยมิพักต้องกล่าวถึงความมีเสรีภาพ ซึ่งสำหรับผู้ปกครองแล้วเสรีภาพของประชาชนคือความวุ่นวาย ที่แม้แต่ชนชั้นนักรบ หรือเผด็จการยังต้องหวาดกลัว
นโยบายประชานิยม (populism) แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของประชาชน จากการเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดี หรือเมื่อนโยบายดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติจริงก็มักจะสร้างปัญหาระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘ชนชั้นนำ’ ที่ไม่ค่อยจะยอมรับในความเป็นประชาชนของตนเอง
On People แบ่งออกเป็น 5 ตอน โดยไล่เรียงตั้งแต่ ‘ประชาชน’ ในสายตาชนชั้นปกครองที่ไม่ต่างจากความโกลาหลวุ่นวาย เป็นความบ้าคลั่งที่พร้อมจะเป็นอะไรก็ได้ โดยธเนศได้ยกเอาข้อเขียนของอัลคูอิน (Alcuin) มหากวีชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 8 ที่เขียนถึงกษัตริย์ชาร์ลมาญว่า
“และประชาชนเหล่านั้นแหละเป็นพวกที่ไม่ควรจะฟังเสียงของมัน
ถึงแม้พวกมันมักจะกล่าวว่าเสียงของ
‘ประชาชน’ หรือ ‘populi’ เป็นเสียงของพระผู้เป็นเจ้า”
(On People, น.3.)
ความเป็นประชาชนเป็นความวิตกกังวลของชนชั้นปกครองมาโดยตลอด คำว่า populus ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า people ไม่ได้สะท้อนถึงความสูงส่งแต่อย่างใด ตรงข้ามเมื่อแรกที่คำนี้ถูกเอ่ยอ้างออกมา (แน่นอนว่าโดยชนชั้นปกครอง) มันหมายถึง ‘พวกคนชั้นต่ำ’ ไม่มีหัวนอนปลายเท้า หรือกระทั่งเป็นฝูงชนที่ต่ำทรามและสามานย์
ในบทถัดมา ‘จาก Provocatio สู่ Civitas’ ธเนศได้เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับรากฐานความคิดแบบ ‘สาธารณรัฐ’ ในยุคโรมันโบราณที่เกิดมาจากการเรียกร้องกลไกบางอย่างของกลุ่มชนภายใต้การปกครอง
“การเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างของ ‘ประชาชน’ หรือ ‘Populi’ แสดงถึงการเป็นรีพับลิก (res republica) กล่าวคือ การที่ไม่ต้องการอยู่ในระบอบการปกครองโดยกษัตริย์” (น.20)
ไม่เพียงเท่านั้น สิทธิความเป็นพลเมืองยุคโบราณที่เรียกว่า Provocatio เกิดขึ้นจากที่ผู้ถูกตัดสินโทษตะโกนให้คนที่อยู่รายรอบเข้ามาช่วย (ไม่ว่าจะในสถานที่ตัดสินคดี หรือลานประหาร) ด้วยจำนวนของคนที่เข้ามานั้นเองทำให้เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่นายทหารที่รับผิดชอบในคดีต่างๆ ต้องหวาดกลัวต่อการถูกรุมประชาทัณฑ์
การรวมตัวของฝูงชนนี้เองที่ได้กลายมาเป็นสิทธิ์ในการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำตัดสินที่ไม่เป็นธรรม หรือขาดการไต่สวน สิทธิ์ดังกล่าวตอกย้ำว่าความเป็นประชาชนยังคงเป็นอันตรายต่อชนชั้นปกครอง และแม้กระทั่งโรมันกลายเป็นระบอบสาธารณรัฐไปแล้ว ก็ยังมีความพยายามในการร่างกฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิดังกล่าว หรือทำการยกเลิกไป ในห้วงเวลาที่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
อาจกล่าวได้ว่า populi ในยุคโรมันโบราณเกิดมาจากการต่อสู้ของ ‘ประชาชน’ หรือ ‘ชนชั้นต่ำ’ ในสายตาชนชั้นปกครอง
ซึ่งในมุมมองของ ‘ประชาชน’ ชนชั้นปกครองเหล่านี้
สามารถที่จะเป็น ‘เผด็จการ’ หรือ ‘magister populi’
ได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
ภาพของความเป็น ‘ประชาชน’ ซึ่งพร้อมจะกลายเป็นความโกลาหลมาเปลี่ยนแปลงไปก็ในยุคของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาทางการเมืองผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 17 ผู้ที่พยายามดึงเอา ‘ประชาชน’ มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของรัฐประชาติ (ซึ่งปรากฏอยู่ในบทที่ 3 ‘จากโรเบิร์ต ฟิลเมอร์ ถึง โทมัส ฮอบส์ กับความเลวร้ายของประชาชน’) โดยสิ่งที่ฮอบส์เสนอก็คือ ประชาชนที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียง กลุ่มคน (multitude) จำเป็นต้องมีระเบียบและเอกภาพ ไม่ใช่เพื่อสังคมอุดมคติอันดีงาม ความรัก และสันติภาพ แต่มาจากภัยร้ายรอบตัว
“ดังนั้นเพื่อการมีชีวิตรอดจากการตายโหงที่เกิดจากความรุนแรง ประชาชนจะต้องมีการจัดระเบียบทางการเมือง (…) การจะเป็นประชาชนได้ก็ต้องการรัฐ ประชาชนจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีรัฐ ดังนั้นประชาชนและรัฐจึงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เป็นเหรียญคนละด้านที่แยกจากกันไม่ได้” (น.51)
ด้วยกรอบอธิบายนี้เอง ‘ประชาชน’ จึงถูกนำไปผูกติดกับรัฐประชาชาติ (Nation-State) และการก่อเกิด ‘อำนาจอธิปัตย์’ ขึ้นมา ซึ่งแม้จะทำให้ ‘ประชาชน’ เป็นที่รังเกียจในสายตาของชนชั้นปกครองน้อยลง แต่ก็ใช่ว่า ‘ประชาชน’ จะมีสิทธิ์ในการปกครอง หรือแม้แต่ครอบครองทรัพย์สินต่างๆ เพราะก็ต้องรอจนถึงยุคของจอห์น ลอค (John Locke) ปัญหาในเรื่องนี้จึงได้ถูกยกขึ้นมาพิจารณา
ประชาชนก้าวพ้นจากความเป็นชนชั้นต่ำก็เมื่อล่วงเข้าสู่ปลายของศตวรรษที่ 18 หรือเมื่อเอ็มมานูแอ็ล โฌแซฟ ซีแยส (Emmanuel Joseph Sieyès) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้เขียน What is the Third Estate? ขึ้นมา
ผลงานที่เป็นเอกสารชิ้นสำคัญทางการเมืองในโลกสมัยใหม่นี้ได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประชาชนที่เป็นอะไรที่เลวร้ายให้การเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้าม
“การเป็นฐานันดรที่สามหรือการเป็นคนธรรมดา กลับกลายเป็น ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ เปรียบประหนึ่งฐานันดรที่สามคือ ‘เทพเจ้าที่แปลงร่างเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้’ ทำนองเดียวกับที่พวกอภิสิทธิ์ชน (aritocrat) เคยเป็น ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ มาก่อน” (น.75)
แน่นอนว่า การยกระดับผู้ไร้อภิสิทธิ์ของซีแยสนั้น
เป็นไปในเงื่อนไขที่ว่า
‘ชาติคือประชาชน’ และ ‘ประชาชนคือชาติ’
ประชาชนจึงถูกเหวี่ยงลงมาบนโลกที่ต้องมีพันธกิจการเมือง ต้องมีการแสดงออกทางจุดยืน และแน่นอนเสรีภาพในการแสดงออกนั้น ดังนั้นความเป็นท้องถิ่น หรือชุมชนแยกย่อยทั้งหลายจึงถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว อะไรที่เคยแตกต่างและมีคุณลักษณะเฉพาะก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงไม่แปลกที่ ‘ชาติ’ ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสทั้งหลาย และประชาชนในความเป็นชาติก็จะต้องมีหน้าที่ หรือภาระที่ต้องแบกรับ คือจะมีลมหายใจไปวันๆ ไม่ได้
ใน ‘บทส่งท้ายของ ‘รัฐ/ประชาชน’ กับความเปราะบางของมนุษย์’ เป็นบทที่ธเนศพยายามแสดงให้เห็นกรอบคิดทางศาสนากับความเป็นรัฐประชาชาติที่แสวงหาความอมตะ ซึ่งเขาเห็นว่า การสละชีพเพื่อรัฐประชาชาติเป็นดั่งการบูชายัญในทางศาสนา ความตายนี้เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของคนอื่นๆ ซึ่งก็คือการแสวงหาความเป็นอมตะของรัฐจากชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นข้อความสำคัญที่เรามักจะได้ธเนศยินกล่าวถึงอยู่เสมอๆ ในเรื่องของความเป็นสัตว์ประหลาดไร้หัวใจของรัฐที่ต้องการประชาชนเพื่อเซ่นสังเวย หรือสูบกินชีวิตอยู่ร่ำไป
การเป็น ‘ประชาชน’ ถึงที่สุด ไม่ว่าจะภายใต้ชื่อ ‘ราษฎร’ หรือชื่อใดๆ ก็ตาม เมื่ออยู่ภายใต้ความเป็นรัฐแล้วก็มักจะต้องตกเป็นเครื่องมืออยู่ร่ำไป “ประชาชนในการเมืองภายใต้โครงสร้างของรัฐประชาชาติ ทำให้ประชาชนกลายเป็นรากฐานของอำนาจรัฐ” (น.66) ดังนั้นสิ่งที่ธเนศมักชวนเชิญเราให้กลับไปพิจารณาก็คือความเป็นไปได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้สำหรับใครหลายคน ก็คือการปฏิเสธรัฐ และสถาปนาความเป็น ‘กลุ่มชน’ หรือ multitude ขึ้นมาใหม่