เมื่อถามว่าในอนาคตจะสามารถควบคุม ส.ว.ได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เราตั้ง เราก็ต้องคุมเขาให้ได้”
รายงานข่าวจาก mgronline
และรายงานข่าวคล้ายๆ กันจากอีกหลายสื่อ เช่น
รายงานข่าวจาก mthai
รายงานข่าวจากโพสต์ทูเดย์
สมัยก่อน เขาบอกกันว่า หมากการเมืองเป็นเรื่องที่ต้อง ‘วาง’ เอาไว้อย่างน้อยสามสี่ชั้น ประมาณว่าทุกคนที่ริจะเล่นการเมือง ต้องเป็นขงเบ้งที่อ่านสามก๊กจบไปสามรอบ (ถึงได้คบไม่ได้สักคน – แต่คบกันเองเพื่อเป็นมิตรไม่แท้ศัตรูไม่ถาวร, อย่างถาวร)
ไม่แน่ใจว่าเพราะสมัยก่อนเป็นเด็กหรือเปล่า ผมจึงรู้สึกว่าหมากการเมืองยุคโน้นมันดูลึก เวลาขุดหลุมพรางก็ขุดกันอย่างประณีต วางใบไม้ไว้ข้างบนแบบกลมกลืน อีกฝ่ายก็ระแวดระวังทุกย่างก้าว หรือถ้าพลาดพลั้ง ก็จะมีการตอบโต้หลากหลายแบบตามที่คาดคิดวางแผนเอาไว้ก่อนแล้ว พวก ‘คอการเมือง’ จึงสูดปากกันซี้ดซ้าดตามร้านกาแฟยามเช้า
แน่นอน ข้อเสียของการเมืองแบบนี้ก็คือ มันคือการสู้กันของจอมยุทธ์แบบ ‘คนชั้นสูง’ แนบเนียน สูงส่งไปด้วยท่าทีลีลาต่างๆ จนคนทั่วไปมองไม่ค่อยออก นักวิเคราะห์ตามหนังสือพิมพ์จึงสำคัญมาก เพราะต้องคอยแกะแคะไค้ออกมาว่า คนนั้นวางแผนแบบนี้ ‘คนชั้นล่าง’ ทั้งหลายก็ได้แต่อู้หูอ้าหา แล้วก็พยายามใช้ชีวิตให้ปรับรับไปกับการชนกันของ ‘ช้างสาร’ ทั้งหลาย เพื่อประคองหญ้าแพรกไม่ให้แหลกลาญไปวันๆ
แต่ทุกวันนี้ แผนการต่างๆ ดูเหมือนไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการอ่าน ‘สามก๊ก’ สักเท่าไหร่ ดูไปดูมา เหมือนคนเล่นคล้ายเห็นว่าโลกนี้มีอยู่ ‘ก๊กเดียว’
คือเหมือนเล่นอยู่กลุ่มเดียว มองไม่ค่อยเห็นคนกลุ่มอื่นเท่าไหร่ เหมือนอาศัยอยู่ใน ‘ฟองสบู่’ ที่โอบอุ้มตัวเองอยู่ ส่วนใหญ่จึงเห็นโลกเหมือนภาพมายา ซึ่งในที่สุด ก็นำไปสู่วิธีการเล่นเกมที่ ‘ง่าย’ และ ‘โจ๋งครึ่ม’ อย่างมาก
ถ้าเปรียบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น ‘เกม’ หรือเป็น ‘การแข่งขัน’ อย่างหนึ่ง ลองมาถอดรื้อดูทีละเปลาะดีไหมครับ ว่ามีการ ‘วางหมาก’ แบบ ‘โลกก๊กเดียว’ เอาไว้อย่างไรบ้าง
เรื่องของ กกต.
อย่างแรก มาเริ่มกันที่การ ‘เลือกกรรมการ’ มาเป็นผู้ตัดสินก่อน
ถ้าเป็นกีฬา กรรมการจะได้รับคัดเลือกมาจากหน่วยงานที่เป็นกลาง ตัวอย่างเช่น กีฬาชกมวยระดับนานาชาติ โดยมากจะไม่เลือกกรรมการที่มาจากประเทศตัวเอง เพราะเกรงจะมีข้อครหาได้ว่า กรรมการหรือผู้ตัดสินไม่เป็นกลาง เข้าข้างประเทศของตัวเอง ต่อให้ชนะ ก็เป็นการชนะแบบไม่ค่อยมีสง่าราศีสักเท่าไหร่
ในการเลือกตั้ง กรรมการที่จะมาเป็นทั้งผู้จัดและผู้จัดจ์ (คือผู้ตัดสิน) คือดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และยุติธรรม ก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ Election Commission ซึ่งถ้าหากว่าเป็นประเทศไทย ก็จะมีคำว่า of Thailand ห้อยท้ายมาอีกหน่อย และเรามักเรียกกันด้วยชื่อย่อว่า กกต. ซึ่งไปดูหน้าที่ของ กกต. ได้จากหลายแหล่งนะครับ ง่ายที่สุดก็ไปดูในวิกิพีเดียก็ได้
คำถามก็คือ แล้ว กกต. เป็นใคร กกต. มาจากไหน ใครเป็นคนคัดเลือก กกต. มา?
คำถามนี้ก็เหมือนนักมวย (หรือค่ายมวย) ลุกขึ้นมาถามนั่นแหละครับ ว่ากรรมการหรือผู้ตัดสินทั้งบนเวทีและกรรมการให้คะแนนนั้น เป็นใครมาจากไหน จะตัดสินได้แบบโปร่งใส สุจริต และยุติธรรมจริงหรือไม่ – ซึ่งก็เป็นคำถามธรรมดาๆ เพราะเราก็ย่อมต้องการตรวจสอบกรรมการที่จะมาตัดสินเราด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าถามว่า กกต. มาจากไหน คำตอบที่ไม่ซับซ้อนเลยก็คือ มีคนเลือกมา และคนที่เลือกมาก็คือ ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ หรือ สนช. นั่นเอง
เอ่อ – ไหนว่าไม่ซับซ้อนไง, ว่าแต่ว่า – แล้ว สนช. คือใครกันล่ะนี่?
เรื่องของ สนช.
สนช. นี่ พูดให้ง่ายที่สุด ก็คือ ‘สภา’ นี่แหละครับ เหมือนกับก่อนหน้านี้เรามีรัฐสภา ก็จะมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้นมาปุ๊บ ก็มีการ ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ ปั๊บ (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรัฐประหารทุกครั้ง ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญกันแบบที่เรียกได้ว่า ‘ฉีกทิ้ง’ เสมอเลย ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ร่างกันมาจากการรัฐประหารครั้งก่อนหน้าของทหารรุ่นพี่นั่นแหละ – สงสัยว่าคงจะยังไม่ ‘ดีพอ’)
ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับมาดูรัฐสภา ซึ่งก็คือทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เราจะเห็นว่า สภาพวกนี้มีหน้าที่ในการ ‘ออกกฎหมาย’ ถ้าอย่างที่เราท่องๆ กันมาสมัยเรียน ก็คือเป็นผู้ที่มีอำนาจในทาง ‘นิติบัญญัติ’ นั่นแหละครับ
แต่พอไม่มีสภาแล้ว คณะรัฐประหาร (ที่เปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ National Council for Peace and Order (NCPO) หรือเรียกย่อๆ ว่า คสช.) ก็ต้องหาอะไรมา ‘ทำหน้าที่’ แทนสภาแบบเดิม ไม่งั้นจะไม่มีใครเป็นผู้ออกกฎหมาย
หลายคนบอกว่า สภาแบบเดิมนั้นมันสุดแสนจะวุ่นวาย มีการถกเถียงตบตีกัน ลากไส้ไปถึงชื่อแซ่ของพ่อมาตั้งคำถามก็เคยมี ชกหน้ากันก็ยังเคยมีมาแล้ว เรียกได้ว่าไม่มีความ ‘สงบเรียบร้อย’ เอาเสียเลย ดังนั้นเมื่อ คสช. ที่เข้ามาทำหน้าที่ตามชื่อของตัวเอง คือ ‘รักษาความสงบแห่งชาติ’ ก็น่าจะอยากได้สภาที่ไม่ ‘วุ่นวะวุ่นวาย’ เหมือนสมัยก่อน
แล้วจะตั้ง ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ หรือ สนช. ที่ไม่ ‘วุ่นวะวุ่นวาย’ ขึ้นมายังไงดีล่ะครับ
คำตอบง่ายมาก – นั่นคือก็ต้องเลือกคนที่ ‘รู้จักอยู่ในความสงบ’ หรือเชื่อว่าเป็นคนดีมีวุฒิภาวะและไม่หัวแข็งหัวรุนแรงไงครับ ประจักษ์พยานของคำพูดนี้ก็คือ เราคงเห็นจากกฎหมายหลายฉบับที่ออกมา – ว่านอกจากจะออกกฎหมายกันได้อย่างรวดเร็วทันใจมากมายมหาศาลขยันยิ่งแล้ว กฎหมายหลายฉบับยังมีการออกเสียงประเภท ‘เห็นด้วย’ 100% คือไม่มีเสียงค้านเลยด้วย (แต่อาจจะมีงดออกเสียงอยู่บ้างนะครับ) ล่าสุดก็คือ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ นั่นปะไร การออกกฎหมายได้รวดเร็วและมากมายมีประสิทธิภาพขนาดนี้ ต้องถือว่ามหัศจรรย์จริงๆ เพราะน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถออกกฎหมายสำคัญๆ โดยใช้เวลาน้อยนิด และสำแดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวสมานฉันท์ไม่ ‘วุ่นวะวุ่นวาย’ ได้ขนาดนี้
แล้ว ‘คนคุณภาพ’ แบบนี้มาจากไหน?
ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สนช. นั้นไซร้ ก็คือกลุ่มคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมานั่นแหละครับ มีการแต่งตั้ง สนช. กันอยู่สองระลอกในปี 2557 (ดูได้ที่เว็บของราชกิจจานุเบกษา 1 และ 2) โดยระลอกแรก 200 คน เป็นทหาร 105 คน ตำรวจ 10 คน พลเรือน 85 คน ส่วนระลอกที่สองตั้งเพิ่มอีก 28 คน เป็นทหาร 17 คน พลเรือน 11 คน ซึ่งตอนหลังก็มีคนลาออกไปบ้างนะครับ แต่ถ้าดูเฉพาะที่แต่งตั้งสองระลอกนี้ จะเป็นทหาร 122 คน คิดเป็นราวๆ 53.5% คือเป็นทหารกว่าครึ่งหนึ่ง มีทหารทั้งในและนอกราชการ ซึ่งก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทหารนั้นมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจริงๆ โดยมีพลเรือนเป็นประธาน ใครสนใจ สนช. อยากรู้รายละเอียดว่ามีใครบ้าง ได้เงินเดือนกันเท่าไหร่ เข้าไปดูได้ที่เว็บเพจของ iLaw นะครับ
เป็น สนช. นี่แหละครับ ที่เป็นผู้เลือก กกต. แต่ไม่ได้หมายความว่าไปชี้นิ้วเลือกใครมาก็ได้นะครับ เพราะจริงๆ แล้วขั้นตอนกระบวนการซับซ้อนกว่านั้น คือต้องมีกรรมการสรรหาเสนอชื่อมาให้ สนช. เลือกก่อน โดยกรรมการสรรหาส่วนใหญ่เป็นตุลาการ แต่ที่เก๋มาก ก็คือกรรมการที่ทำหน้าที่สรรหา กกต. คนหนึ่ง ก็คือประธาน สนช. นั่นเอง
พูดง่ายๆ ก็คือคณะกรรมการสรรหา กกต. จะต้องสรรหารายชื่อ กกต. แล้วส่งไปให้ สนช. เป็นคนพิจารณาขั้นสุดท้าย ดังนั้น ประธาน สนช. จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก กกต. ด้วย เพื่อเอารายชื่อนี้ไปเสนอให้ สนช. (ซึ่งก็คือตัวเอง) เป็นคนพิจารณานั่นเอง
แต่กระนั้น สนช. ก็ยัง ‘ตีตก’ รายชื่อ กกต. ไปตั้งสองครั้ง กว่าจะได้รายชื่อ กกต. ชุดปัจจุบันมา ก็ตั้งครั้งที่สามแน่ะครับ นี่แสดงให้เห็นเลยว่า มีการคัดเลือกกันอย่างพิถีพิถันถี่ถ้วนเหลือเกิน ขนาดมีส่วนเสนอเองก็ยังคัดค้านเองด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด สงบเรียบร้อยที่สุด ที่สำคัญ ทุกครั้งยังเป็นการพิจารณาแบบ ‘ปิดลับ’ ด้วย ซึ่งก็มีข้อสังเกตต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่นว่า บางคนถูกตีตกไปตั้งแต่ต้น แต่ก็ได้เสนอชื่อกลับมาใหม่ พร้อมกับได้รับเลือกแบบท่วมท้น ฯลฯ ซึ่งถ้าใครสนใจในรายละเอียด ก็สามารถไปดูได้ที่เว็บเพจของ iLaw
เอาเป็นว่า สรุปสุดท้ายแล้ว เราก็ได้ ‘กรรมการ’ ที่จะมาตัดสิน ‘เกม’ คือ กกต. ที่มาจาก สนช. โดย สนช. ก็มาจาก คสช. นั่นเอง
เรื่องของ ส.ว.
อีกประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ก็คือเรื่องของ ส.ว. 250 เสียง ว่ามีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา (ในบทเฉพาะกาล) ‘เอื้อ’ ประโยชน์ให้คุณประยุทธ์กันแบบเต็มเหนี่ยว นั่นคือ ส.ว. 250 เสียง จะมีโอกาส ‘โหวตนายกฯ’ ร่วมกับ ส.ส. ด้วย แล้วก็คาดการณ์กันว่า ส.ว. คงจะโหวตให้คุณประยุทธ์แน่
เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กำเนิด สนช. นั่นแหละครับ คือเขาคงเห็นว่า พวกในสภา (โดยเฉพาะ ส.ส.) ชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน จิกตีกันเป็นสามารถ แล้วประเด็นสำคัญที่ทะเลาะกันก็ไม่พ้นเรื่องจะตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรีนี่แหละ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามหากลไกอะไรบางอย่างมาช่วยทำให้คนไทยไม่ทะเลาะกัน จะได้เกิดความสงบเรียบร้อยเอาไว้ก่อน
มีผู้พยายามอธิบายว่า ที่รัฐธรรมนูญเขียนให้ ส.ว. มีสิทธิมาช่วยเลือกนายกฯ ได้ด้วยนั้น เนื่องจากเคยเกิดความ ‘วุ่นวะวุ่นวาย’ พวกนี้มาแล้ว อย่างเช่นเคยมีการพยายามตีความรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 7 เพื่อให้สามารถเสนอนายกฯ คนนอก หรือ นายกฯ พระราชทานได้ ถึงขั้นเกิดฉายา ‘มาร์ค ม.7’ กันเลยทีเดียว
ผู้ที่อธิบายความเรื่องนี้บอกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เลย ‘หวังดี’ เขียนบทเฉพาะกาลเอาไว้ ‘เผื่อ’ มีความขัดแย้งอีก โดยอธิบาย ‘บทเฉพาะกาล’ มาตรา 272 เอาไว้ว่า ‘ถ้า’ เกิดมีความไม่ลงรอยในสภาผู้แทนราษฎร และไม่อาจหาข้อยุติได้ กฎหมายก็เปิดทางแก้ให้ คือเอาสมาชิกของทั้งสองสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. มารวมกัน แล้วเสนอชื่อนายกฯ คนนอก โดยให้มีเสียง 376 เสียงขึ้นไป จากนั้นก็มีอีกสองขั้นตอน คือมติต้องได้รับเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา และหลังจากนั้นก็ต้องให้ทั้งสองสภาฯ โหวตเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง นายกฯ คนนอกถึงจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอ่านบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ดีๆ ก็จะพบว่าคำอธิบายที่ว่ามันไม่จริง (สักหน่อย!)
บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเขาหวังดีและออกแบบมาแล้วอย่างรัดกุมกว่านั้นตั้งเยอะ เพราะรัฐธรรมนูญอนุญาตให้นายกฯ เป็น ‘คนนอก’ ได้ตั้งแต่การเสนอชื่อของพรรคการเมืองมาเป็นแคนดิเดต (อย่างที่พรรคพลังประชารัฐเสนอคุณประยุทธ์นี่ไงครับ) แล้วการเอาสมาชิกของสองสภาฯ มารวมกัน แล้วเสนอชื่อนายกฯ (ซึ่งอาจเป็นคนนอก แต่อยู่ในแคนดิเดตพรรค) ก็เป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ตามมาตรา 272 กันเลยแบบ default แถมยังต้องทำกันไปอีก 5 ปี – อีกต่างหาก
นั่นก็แปลว่า ส.ว. 250 คนที่ว่า – มีโอกาสโหวตเลือกนายกฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เกิดประโยคที่ว่า ‘ถ้า’ เกิดมีความไม่ลงรอยในสภาผู้แทนราษฎร อะไรขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้คนค่อนขอดกันไงครับ ว่าคุณประยุทธ์มี ‘เสียงตุน’ เอาไว้อยู่แล้ว 250 เสียง
แล้วถ้าถามว่า เอ…แล้ว ส.ว. มาจากไหน คำตอบก็ชัดมากเลยนะครับ เพราะคุณประวิตรบอกเอาไว้ในคำพูดที่ยกมาตอนต้นบทความนี้ดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อมากมายหลายสำนัก – ว่า, “เราตั้ง เราก็ต้องคุมเขาให้ได้”
หมดจดไร้ข้อสงสัยกันเลยทีเดียว
***
ถ้าเปรียบการเลือกตั้งเป็นการแข่งขัน กกต. ก็คือผู้จัดการแข่งขันและเป็นกรรมการผู้ตัดสิน
สนช. คือผู้ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ว่าด้วยการตัดสิน (แม้จะไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็คือผู้ออกกฎหมายลูกต่างๆ)
ส่วน ส.ว. โดยชื่อเป็นเสมือนผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้อาวุโส ที่เป็นผู้คอยกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็อาจส่งเสียงเตือนถ้าเห็นว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล โดยกฎหมายมักจะเขียนไว้ให้ ส.ว. มีกลไกในการตักเตือนกันอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว และในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ถึงขั้นเขียนให้ ส.ว. กระโดดลงมา ‘เล่น’ ด้วยตัวเองกันเลยทีเดียว
แล้ว กกต. สนช. และ ส.ว. มีที่มาจากไหน?
จากที่เล่ามาทั้งหมด – ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทั้ง กกต. สนช. และ ส.ว. ต่างมีต้นธารที่มาเดียวกัน – นั่นคือมาจาก คสช.
ทีนี้ถ้าเราเชื่อว่า เป้าหมายใหญ่ของ คสช. ไม่ใช่ความพยายามสืบทอดอำนาจของตัวเอง แต่คือการพยายาม ‘รักษาความสงบเรียบร้อย’ อย่างที่หลายฝ่ายชื่นชอบว่าที่ผ่านมาหลายปี บ้านเมืองสงบ ไม่มีชุมนุม ไม่มี ‘เผาบ้านเผาเมือง’ เราก็อาจไม่รู้สึกว่า ‘ที่มา’ ของทั้งกรรมการ ผู้ออกกฎ และผู้อาวุโสในสนามทั้งหลายนี้มีปัญหาอะไร
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอีกหลายคน ก็คือ – นี่เป็น ‘เกม’ นี่เป็น ‘การแข่งขัน’ ที่ดันมีคุณประยุทธ์เข้ามาแข่งด้วย แล้วคุณประยุทธ์ก็เป็นทั้งตัวแทนและหัวหน้าของ คสช. น่ะสิครับ
สำหรับหลายคน มันจึงเหมือนการ ‘ชงเอง – กินเอง’ คือจัดสนามแข่งเอง ตัดสินเอง แล้วก็แข่งเอง
ถ้าทั้งหมดนี้คือหนังสือเล่มหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่หน้าปกทำท่าเหมือนจะเป็น ‘สามก๊ก’ แต่พออ่านจริงๆ ปรากฏว่าทั้งเล่มมีอยู่ก๊กเดียวที่รับบทโดดเด่น เล่นเองชงมุกเองตบมุกเอง ไม่เหลือที่ไว้ให้ตัวละครอื่นเลย ไม่ว่าตัวละครอื่นจะพยายาม ‘แย่งซีน’ ขนาดไหน ก็ดูเหมือนไม่มีซีนให้แย่ง มันจึงเป็นหนังสือที่วางพล็อตเอาไว้ ‘ง่าย’ ไปหน่อย ตื้นเขิน และเห็นชัดเจนถึงเป้าหมายปลายทางโจ่งแจ้งโจ๋งครึ่มมากเกินไป ซึ่งถ้ามองในแง่วรรณกรรมแล้ว ต้องบอกว่าเขียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่
แต่กระนั้น ถ้ามองในแง่การเมือง บางทีนี่อาจเป็นเรื่อง ‘ดี’ ก็ได้นะครับ เพราะมันไม่ซับซ้อนเหมือนการเมืองสมัยหลายสิบปีก่อนที่วางหมากกันแนบเนียนจนดูอะไรไม่ออกเลย ทว่ามันคือการ ‘เล่นกันตรงๆ’ โดยมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึงซึ่ง ‘ความสงบเรียบร้อย’ ของบ้านเมือง (ไม่ใช่สืบทอดอำนาจเสียหน่อย!)
ดังนั้น ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ความเชื่อ’ และ ‘รสนิยม’ ในการ ‘อ่าน’ ของแต่ละคนแล้วละครับ ว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคุณชอบหรือไม่ชอบอย่างไร,
และเพราะอะไร?