1.
หากพูดถึงเยาวชนผู้ปลุกกระแสให้คนตระหนักวิกฤตสภาพอากาศ หลายคนอาจจะนึกถึงเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) วัย 17 ปีจากสวีเดนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้โลกตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้กัน โดยเกรตาโด่งดังจากการโดดเรียนไปนั่งประท้วงหน้าสภาผู้แทนราษฎรของสวีเดน เพื่อให้นักการเมืองรับรู้ว่าโลกของเรากำลังเสี่ยงอันตรายจากภัยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแค่ไหน และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเยาวชนรักษ์โลกที่กลายเป็นกระแสไปทั่วทุกสารทิศ
ข้ามฟากมาที่ประเทศจีน ดินแดนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนและมีส่วนในการทำให้โลกเจอวิกฤตโลกร้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ข่าวคราวของความตื่นตัวเรื่องนี้กลับเงียบไปมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีเยาวชนรักษ์โลกเหมือนเกรตา เพราะยังมีหญิงสาวเยาวชนชื่อ ‘โอว หงอี้ (Ou HongYi)’ ที่พยายามเรียกร้องให้คนจีนตระหนักถึงวิกฤตนี้ จนได้รับการขนานนามว่าเกรตา ธันเบิร์กแห่งเมืองจีน โดยทั้งสองคนมีจุดร่วมเหมือนกันคือเป็นเยาวชนหญิง อายุไล่เลี่ยกัน โดยโอว หงอี้พึ่งอายุครบ 18 ปีในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา แก่กว่าเกรตาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
แต่นั่นคือความเหมือนเพียงอย่างเดียว เพราะขณะที่เกรตานั่งประท้วงหน้าสภาอยู่หลายวันโดยไม่ถูกจับกุม โอว หงอี้กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่จับกุม ทำกิจกรรมอย่างเดียวดาย แม้กระทั่งหน่วยงานเอกชนที่ทำเรื่องโลกร้อนก็ไม่สนใจเธอเลย
ขณะที่คนหนึ่งเป็นเยาวชนค้างฟ้าสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนนับล้านทั่วโลก อีกคนหนึ่งกลับเป็นได้เพียงนักเรียนเลวในสายตาของรัฐบาลเท่านั้น
นี่คือความแตกต่างที่เจ็บปวดรวดร้าวเป็นอย่างยิ่ง
2.
พ่อแม่ของโอว หงอี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครอบครัวนี้อาศัยในเมืองกุ้ยหลิน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน บ้านของเธออยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม จุดเริ่มต้นที่ทำให้หญิงสาวสนใจปัญหาโลกร้อนและวิกฤตสภาพอากาศเริ่มขึ้นในวันเกิดอายุ 16 ปีของเธอ ที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Inconvenient Truth ซึ่งมีอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสมัยบิล คลินตัน (Bill Clinton) มาให้คำบรรยายในสารคดีนี้ เมื่อดูจบ โอว หงอี้ตัดสินใจเลิกไปโรงเรียนในทันที
“ฉันมีคำถามในใจว่าประเทศที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน
แต่ดันไม่มีใครเลยสักคนที่จะกล้าพอ
ลุกขึ้นพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่
ที่เกิดขึ้นในประเทศเลย”
โอว หงอี้เริ่มศึกษาปัญหาโลกร้อนรวมถึงเรียนรู้วิธีการรณรงค์ให้คนจำนวนมากตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้ โดยเธอประทับใจวิธีการประท้วงของเกรตากอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ 26 พฤษภาคมปี ค.ศ.2019 เธอจึงออกไปทำการประท้วงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่หน้าที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่น โดยในช่วงแรกมีคนให้ความสนใจแวะพูดคุย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ยังแนะนำวิธีการว่าเธอควรมีข้อเรียกร้องที่จะยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง
โอว หงอี้กลับไปทำการบ้านหาวิธีการเรียกร้องให้ดียิ่งขึ้น เธออัพทวีต เขียนข่าว บอกเล่าเรื่องราว โดยทุกวันเธอจะไปยืนอยู่หน้าที่ทำการ 3-4 ชั่วโมง ทวิตเตอร์ของเธอได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ทางเกรตา ธันเบิร์กถึงกับรีทวีตข้อความของเธอ มีผู้ติดตามทวิตเตอร์มากยิ่งขึ้น คนทั่วไปเริ่มสนใจกิจกรรมดังกล่าว
แต่ผ่านไป 6 วันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาพบเธอ พร้อมให้ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ 2 ข้อ คือ 1. กลับบ้านไปหรือ 2. ไปโรงพัก โอว หงอี้มองว่าหากกลับบ้านไปเสีย การเรียกร้องข้อเสนอของเธอคงจะล้มเหลวเป็นแน่แท้ จึงตัดสินใจด้วยความกล้าหาญว่าจะไปโรงพัก
เมื่อถึงสถานีตำรวจ คำถามมากมายจากเจ้าหน้าที่ยิงตรงใส่เธออย่างเหลือเชื่อ ตอนนั้นเองโอว หงอี้รู้แล้วว่า คนที่สอบปากคำเธอไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงมาสอบเอง พวกเขามีข้อมูลของเธอจำนวนหนึ่ง พวกเขาถามถึงคนที่แวะมาคุยกับเธอระหว่างการประท้วง พวกเขาย้ำว่าจงให้ความร่วมมือและอย่าโกหกเด็ดขาด
การสอบปากคำจบลงที่เจ้าหน้าที่บอกว่าสิ่งที่เธอมันผิดกฎหมาย พวกเขาขู่ให้โอว หงอี้หยุดทำแบบนี้ รวมถึงหยุดเขียนข้อความให้ร้ายรัฐบาลและประเทศชาติ ตอนนั้นเธอเข้าใจแล้วว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ห่วงเรื่องอะไรเลยนอกจากความมั่นคงและอำนาจนิยม พวกเขาไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์หรือการช่วยเหลือโลกใบนี้ทั้งสิ้น
การสอบปากคำกินเวลาหลายชั่วโมง เธอได้รับการปล่อยตัวตอนเที่ยงคืน พ่อกับแม่มารอรับด้วยความกังวล เจ้าหน้าที่ย้ำว่าไม่อนุญาตให้เขียนอะไรลงไปในทวิตเตอร์ พร้อมกับห้ามคุยกับคนต่างชาติและสื่อมวลชนโดยเด็ดขาด
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้านของเธอ 3 วัน พร้อมห้ามใช้มือถือ ตำรวจจะคอยโทรศัพท์มาหาพ่อแม่เธอ ณ ที่ทำงานแทบทุกวันเพื่อสร้างความตึงเครียดระหว่างเธอกับครอบครัว แน่นอนว่าพ่อของเธอกังวลกับกิจกรรมที่ทำไปอย่างมาก เขากลัวว่าสุดท้ายมันจะทำลายอนาคตของลูก
“พ่อแม่ฉันไม่รู้สึกว่าการออกไปประท้วงเป็นเรื่องที่ฉลาดนัก ตอนนี้ควรจะมุ่งกับการเรียนมากกว่า แต่สิ่งที่เกิดกับฉันนี้ มันทำให้เกิดความขัดแย้งที่บ้าน ถึงจุดหนึ่งพวกเขาเอามือถือฉันไปและไม่เห็นยุ่งเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ ฉันจึงออกจากบ้านตะลอนไปทั่วประเทศพบนักวิจัยและสานต่อกิจกรรมเรื่องสภาพภูมิอากาศ”
โอว หง อี้บอกว่าด้วยบรรยากาศตึงเครียดจากพ่อแม่ ทำให้เธอไม่อาจทำกิจกรรมรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงเลือกหนทางชีวิตลิขิตด้วยตัวเอง โดยไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันจะนำไปสู่อะไรกันแน่
3.
ตอนเจ้าหน้าที่คุมโอว หงอี้ไปโรงพักนั้น มันกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก ทางตัวเกรตาออกมายกย่องว่าโอว หงอี้เป็นวีรชนที่พยายามรณรงค์ปัญหาสภาพภูมิอากาศในจีน ซึ่งแทบจะเป็นคำปลอบโยนให้กำลังใจเพียงน้อยนิด เพราะไม่ว่าโอว หงอี้จะทำกิจกรรมเรื่องนี้มากแค่ไหน เธอกลับยิ่งต้องเผชิญกับการเย้ยหยัน หัวเราะเยาะไปถึงขั้นสมน้ำหน้ากับกิจกรรมที่เธอทำแทบทุกครั้งไปจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนหน่วยงานองค์กรเอกชนของจีนนั้น แม้จะมีหน่วยงานที่ทำเรื่องสภาพภูมิอากาศ แต่หน่วยงานพวกนี้รับเงินทุนจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน พวกเขาไม่เคยยอมให้โอว หงอี้ไปร่วมเสวนาหรือจัดกิจกรรมใดๆ โดยอ้างว่าสิ่งที่นักกิจกรรมคนนี้ทำนั้นเป็นการดำเนินการที่สุดโต่งเกินไป ไม่เข้ากับนโยบายของหน่วยงานที่ไม่ต้องการมีปัญหากับรัฐบาลจีน
ดังนั้นกำลังใจจากการดำเนินงานทั้งหมดจึงมาจากนักกิจกรรมนอกประเทศที่แนะนำเธอถึงแนวทางในการประท้วงพร้อมเหลาเกลาประเด็นนี้ให้แหลมคมยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าการต่อสู้ของเธอนั้นเดียวดายยิ่งกว่าจอมยุทธ์ในหนังกำลังภายในฝึกวิชาเสียอีก
ล่าสุดในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เธอจัดกิจกรรมประท้วงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดกัน 3,500 จุดทั่วทุกมุมโลก โดยในจีนกิจกรรมถูกจัดที่หน้าศูนย์กลางแสดงนิทรรศการของเมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นการประท้วงแบบสันติวิธี มีเธอและเพื่อนนักกิจกรรมเพียง 3 คน ผลที่ได้รับก็คือเธอโดนตำรวจจับกุมตัวคุมไปสอบปากคำอยู่หลายชั่วโมง พร้อมกันโดนตะคอกข่มขู่ว่าสิ่งที่เธอทำไปอยู่นี้ เป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ๆ
ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังบังคับให้เธอเขียนจดหมายวิจารณ์ตนเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ตำรวจจีนนิยมใช้ข่มขู่นักกิจกรรมให้รับสารภาพผิดในสิ่งที่ก่ออีกด้วย
“รัฐบาลที่ควรเป็นสถาบันปกป้องประชาชน
กลับล้มเหลวในการทำเรื่องนี้”
นี่คือสิ่งที่เธอเขียนลงในทวิตเตอร์ของตัวเอง
ความรุนแรงดังกล่าวนี้รับรู้ไปทั่วโลกและทางเกรตา ธันเบิร์กถึงกับออกโรงประณามเรียกร้องว่านักกิจกรรมไม่ใช่อาชญากร การประท้วงโดยสันติที่เรียกร้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เรื่องตลกร้ายที่สุดคือการประท้วงของโอว หงอี้ในครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xí Jìnpíng) ของจีนไปพูดที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือ 0% ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2060
นักวิชาการระบุว่า การกระทำของโอว หงอี้นั้น หากเป็นรัฐบาลจีนยุคก่อน คงไม่มีใครว่าอะไร แต่ภายใต้รัฐบาลของสี จิ้นผิง ที่ยกเลิกวาระจำกัดการครองอำนาจของประธานาธิบดีเปิดทางให้ตัวเองเป็นผู้นำได้ตลอดชีวิตนั้น สังคมจีนเหลือพื้นที่ในการเรียกร้องในประเด็นต่างๆ น้อยมาก และการกดขี่ไม่ให้แสดงความคิดเห็นในยุคของสี จิ้นผิงก็มีสูงมากกว่ายุคสมัยไหน
ยิ่งปัญหาสภาวะอากาศในจีนนั้น ก็เข้าขั้นวิกฤตอย่างรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้จีนแทบจะกลายเป็นประเทศที่ก่อมลพิษสูงจนส่งผลต่อสุขภาพการล้มป่วยของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมากด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนย้ำกับโลกว่า จะแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศอย่างจริง แต่สิ่งที่โอว หงอี้พบคือ บริษัททุนจีนต่างเข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสนุกมือ การทำลายล้างธรรมชาติกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะนายทุนจีนต่างมุ่งหวังกอบโกยเพียงกำไรในรูปเงินทองเป็นเรื่องหลักและไม่สนใจว่าธรรมชาติจะถูกทำลายไปมากแค่ไหน
ซึ่งโอว หงอี้บอกว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ คนที่กระทบหนักสุด ก็คือคนจน เพราะเมื่อฤดูกาลผันแปร พวกเขาไม่อาจทำการเกษตรได้ เมื่อไม่มีผลผลิตก็ไม่มีรายได้ต้องเจอความยากลำบาก มิหนำซ้ำยังเสี่ยงต่อการเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันหรือพายุฝนที่รุนแรงมากกว่าเดิม แถมหนักสุดก็อาจต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปเลย
เธอได้อ้างอิงเอกสารจากการวิจัยว่า หากจีนไม่ทำอะไรมากไปกว่านี้เพื่อจัดการปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ อีกไม่ถึง 30 ปี หายนะครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นกับประเทศนี้อย่างแน่นอน
4.
สื่อมวลชนเคยถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้รับการเรียกว่าเป็นธันเบิร์กแห่งเมืองจีน โอว หงอี้บอกว่าเป็นเกียรติมาก เพราะเธอก็ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากเกรตาที่กล้าออกมาเรียกร้องให้โลกตระหนักถึงปัญหานี้ เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวจำนวนนับล้านที่กล้าก้าวออกมา นั่นทำให้เธอตระหนักว่าหากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง อีก 30 ปีจากนี้เมื่อตัวเองหันกลับมามองอดีต ก็คงจะเสียใจที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องในเรื่องนี้เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น
ยิ่งโอว หงอี้ตระหนักว่าไม่มีคนลุกมาต่อสู้เรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศในจีนแม้แต่คนเดียว ยิ่งทำให้หญิงสาวย้ำเพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเองว่า “นี่คือสิ่งที่เธอต้องทำ”
แม้จะเดียวดายกับการต่อสู้อยู่คนเดียว แต่เธอก็ยังมีศรัทธามุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะหยัดยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของโลกใบนี้ แม้ชะตากรรมเธอจะแตกต่างจากเกรตา ธันเบิร์กอย่างเห็นได้ชัด แต่อุดมการณ์ที่ทั้งสองมีร่วมกันน่าจะส่งต่อพลังให้กับคนจำนวนมากได้ร่วมกันฝันและลงมือทำให้โลกใบนี้อยู่รอดไปให้ถึงมือคนรุ่นหลัง คนรุ่นต่อไปอย่างงดงามกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มันช่างเป็นความฝันและความหวังที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง จนต้องใช้หัวใจที่แข็งแกร่งเท่านั้นถึงจะมีโอกาสไปให้ถึงปลายทางแห่งความสำเร็จในสักวัน