ในปี 2005 โทนี่ แบลร์ เคยกล่าวสุนทรพจน์ตอนพรรคแรงงานได้ชัยชนะจากการเลือกต้ังติดต่อกันเป็นครั้งที่สามมีใจความว่า
โลกที่กำลังเปลี่ยนไปนี้ มีลักษณะของการไม่เลือกปฏิบัติต่อขนบธรรมเนียมแล้ว ไม่เปราะบาง ไม่มีใครเคารพชื่อเสียงแห่งอดีต ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติ ทว่าอุดมไปด้วยโอกาส โอกาสที่จะมุ่งไปหาคนที่ปรับตัวได้ว่องไว ไม่บ่น เปิดกว้าง มุ่งมั่นและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง
จะว่าไป-นี่เป็นคำพูดที่ออกไปทาง ‘ซ้าย’ ชัดๆ-เพราะมันโปรการเปลี่ยนแปลง!
ฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยมหลายคนได้ยินแล้วอาจไม่สบายใจ เพราะนี่คือคำพูดของผู้นำประเทศที่ฟังดูคล้ายไม่เหลือที่ยืนให้กับคนที่ยังรักชอบในธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกตินะครับที่ฝ่ายขวาจะคิดแบบนั้น
แต่ยังมีอีกคนหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยคล้ายๆ กัน เขาไม่ใช่ฝ่ายขวา แต่เขาไม่คิดว่า ‘โลกที่กำลังเปลี่ยนไป’ ของโทนี่ แบลร์ จะมีลักษณะอย่างที่ว่าทั้งหมด
เขาคือ จอห์น แฮร์ริส
จอห์น แฮร์ริส เป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ของเดอะการ์เดียน หนังสือพิมพ์อังกฤษที่มีอุดมการณ์ค่อนไปทางเสรีนิยม แต่เมื่อได้ฟังคำพูดของโทนี แบลร์ เขากลับเกิดคิดขึ้นมาว่า-เอ…คนอังกฤษ ‘ส่วนใหญ่’ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียหน่อย เขาคิดว่าถ้ามีการทดสอบว่าคนอังกฤษเป็น ‘คนที่ปรับตัวได้ว่องไว ไม่บ่น เปิดกว้าง มุ่งมั่นและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง’ หรือเปล่า ก็มีโอกาสไม่น้อยที่คนหลายล้านคนจะไม่ผ่านการทดสอบที่ว่า
แล้วอีกแค่ไม่กี่ปีถัดจากนั้น บททดสอบสำคัญก็เกิดขึ้น ไม่ใช่บททดสอบคนอังกฤษนะครับ แต่เป็นบททดสอบคำพูดของ โทนี่ แบลร์ นี่แหละ!
เพราะความ ‘ซ้าย’ ที่เคย ‘ดูเหมือน’ จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูใหญ่หลวงในยุโรปจนแบลร์กล้านำมาใช้เป็นฐานคิดในสุนทรพจน์ของเขา-กลับตกต่ำลงอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง พรรคอย่างสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือ Social Democratic Party ในเยอรมนี ซึ่งเคยเป็นพรรคยักษ์ใหญ่ในรัฐบาล ความนิยมหดลงต่ำกว่า 20% ในฝรั่งเศส ความนิยมในตัวฟรังซัวส์ ออลลองด์ ลดลงเหลือราว 15% ส่วนในสเปน พรรค Socialist Workers ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย ก็มีแรงสนับสนุนลดลงเกือบครึ่งหนึ่งภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ
ที่จริงผมเคยเขียนถึงไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวากำลัง ‘มาแรง’ ในยุโรป ทั้งในโปแลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน ออสเตรีย โดยแนวคิดขวานิยมนั้นมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือการ ‘ต่อต้านความเป็นอื่น’ ซึ่งในปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดในการต่อต้านคลื่นผู้อพยพจากดินแดนที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นซีเรียหรืออัฟกานิสถาน ที่หลั่งไหลไปสู่ยุโรป คลื่นผู้อพยพยเหล่านี้จำนวนมากเป็นชาวมุสลิม นั่นทำให้ชาวยุโรปขวานิยมไม่น้อยลุกขึ้นมาบอกว่าต้องมีการปกป้อง ‘วัฒนธรรมคริสเตียน’ ของตน โดยเห็นว่าการปกป้องตัวเองให้พ้นจากภัยร้ายเหล่านี้ คือ ‘สิทธิ’ ที่คนในแต่ละประเทศจะสามารถตัดสินใจได้ และสิทธินี้สำคัญกว่าการเปิดประเทศต้อนรับผู้อพยพอย่างเสรี โดย Brexit ก็เป็นผลพวงอย่างหนึ่งของ ‘ความขวา’ ที่ว่า
แต่กระนั้น ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ให้ ‘ไกล’ กว่าแค่คลื่นของผู้อพยพ เราจะพบว่าการ ‘เอียงขวา’ (ซึ่งมีผลให้ซ้ายลดความนิยมลง) นั้น, ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจนก็ในปี 2010 เมื่อพบว่าพรรคซ้ายๆอย่างพรรคแรงงานของ โทนี่ แบลร์ ในอังกฤษ ความนิยมลดต่ำลงเหลือเพียง 29% เรียกว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา และหลังจากนั้น แม้ผู้นำพรรคอย่าง เอ็ด มิลลิแบนด์ จะพยายามเพิ่มคะแนนนิยม แต่ก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมามากมายนัก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา The Economist เคยตีพิมพ์บทความชื่อ Rose Thou Art Sick (แปลว่ากุหลาบป่วย เป็นการอ้างอิงกลับไปถึงบทกวีของวิลเลียม เบลค) พูดถึงการที่ ‘ฝ่ายซ้าย’ ทั่วยุโรปกำลังตกต่ำเสื่อมถอย โดยเขาบอกว่าถ้าย้อนกลับไปดูแค่เมื่อต้นศตวรรษ (ที่ 21 นะครับ) ที่ผ่านมา (คือราวสิบกว่าปีที่แล้ว) ถ้าขับรถจากสก็อตแลนด์ไปลิธัวเนีย เราจะพบว่าไม่มีประเทศไหนเลยที่ปกครองด้วยรัฐบาลฝ่ายขวา เพราะพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือ Social Democrats ซึ่งถือว่าเป็น ‘ซ้าย’ ได้รับความนิยมอย่างสูง
แต่กระนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจกันด้วยนะครับ ว่าความ ‘ซ้าย’ ที่ว่านั้น ไม่ใช่ซ้ายแบบเอียงข้างกะเท่เร่ ทว่าเป็นซ้ายที่มีลักษณะ ‘กลางๆ’ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาจะเรียกว่า Centre-Left Politics หรือ Moderate Left Politics คือเป็นซ้ายที่เชื่อในการทำงานเพื่อผลักดันนโยบายอยู่ภายใน ‘ระบบ’ (Established System) เพื่อสร้างความยุติธรรมหรือความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม โดยพยายามสร้างความเสมอภาคของผู้คนในด้านโอกาส โดยมากจึงมักมีระบบเศรษฐกิจแบบผสม สร้างสังคมสวัสดิการ สนับสนุนสิทธิแรงงาน มีภาษีแบบก้าวหน้า หรืออะไรทำนองนี้
แม้ฟังดูดี แต่ก็เป็นซ้ายแบบ Centre-Left เหล่านี้แหละครับ-ที่กำลังเสื่อมความนิยมลง!
จอห์น แฮร์ริส วิเคราะห์ว่า ที่พรรคซ้ายกลางๆ เหล่านี้เสื่อมความนิยมลง เป็นเพราะ ‘โลกกำลังเปลี่ยนไป’ (ตามคำของ โทนี่ แบลร์ นั่นแหละ) คือในสมัยก่อน พรรคแบบนี้จะมีฐานคิดจากความเป็นพรรคแรงงานที่ต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมต่างๆ ในโครงสร้างสังคมแนวดิ่ง จึงมักนำไปสู่สังคมสวัสดิการเพื่อเกลี่ยกระจาย ‘โอกาส’ ให้คนได้อย่างทั่วถึง
แต่เป็นแนวคิดแบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อย ‘ซื้อ’ กันเท่าไหร่!
แม้ในปัจจุบัน พรรคแรงงานของอังกฤษก็ยังคงยึดถือแนวคิดแบบเดิม คือการดูแลแรงงานในยุคที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งแบ่งคนออกเป็นกลุ่มต่างๆตามโครงสร้างแนวดิ่ง เช่น คนชั้นกลาง คนชั้นแรงงาน แต่ปรากฏว่าในโลกออนไลน์ดิจิตอลสมัยใหม่ ‘งาน’ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คือเป็นงานที่มีลักษณะ ‘แนวราบ’ มากขึ้น คนมี ‘โอกาส’ ที่จะทำงานเพื่อหาเงินกันได้โดยมีโอกาสพอๆ กันมากขึ้น โลกดิจิตอลทำให้คนตัวเล็กตัวน้อย (อย่างน้อยก็ในอังกฤษหรือยุโรป) สามารถลุกขึ้นมาสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจได้ สามารถต่อกรกับ ‘ยักษ์ใหญ่’ ในทางเศรษฐกิจ เช่นเจ้าของทุนใหญ่ต่างๆ ได้ (ดังที่เราจะเห็นว่ามีธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมากล้มและปิดกิจการไป)
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมที่เปลี่ยนไปกลายเป็นแนวราบมากขึ้น แต่การเปลี่ยนเป็นแนวราบ กลับส่งผลที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือมัน ‘เหวี่ยง’ โลกไปทางขวามากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะดูเหมือนการเมืองฝ่ายขวาจะสามารถ ‘ปรับตัว’ รับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยใช้ประโยชน์จากทุนนิยมเสรีได้ดีกว่า
พรรคแบบพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายซ้าย ถูกมองว่ามีนโยบายเอาใจพวกว่างงาน (Skivers) ด้วยสวัสดิการต่างๆ (ซึ่งเกิดจากโครงสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม) แต่ฝ่ายขวาปักหลักอยู่กับแนวคิดที่ว่า‘ต้องทำ’ ถึงจะได้เงิน (Strivers) มากกว่า ดังนั้นเมื่ออยู่ในโลกสมัยใหม่ที่เป็นแนวราบมากขึ้น อุดมการณ์แบบขวาจึงได้รับความนิยมมากขึ้น จอห์น แฮร์ริส บอกว่ามีคนไม่น้อยที่ไม่โหวตให้พรรคแรงงานด้วยเหตุผลที่ว่า-เพราะฉันทำงาน ฉันจึงไม่ควรต้องเอาเงินที่ฉันหาได้ไปเลี้ยงไอ้พวกที่ไม่ทำงาน (ซึ่งก็รวมถึงผู้อพยพทั้งหลายด้วย) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคแรงงานที่เคยเป็น Party of Workers หรือพรรคของเหล่าคนทำงาน (โดยใช้แรงงาน) กลับถูกมองว่าไม่ใช่ Party of Work หรือพรรคแห่งการทำงาน-อีกแล้ว
อาการ ‘สวิง’ จึงเกิดขึ้นอย่างซับซ้อน พันลึก และฉับพลันทันทีอย่างที่แทบไม่มีใครตั้งตัวติด!
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ ‘ขวา’ เท่านั้นหรอกนะครับที่ได้ประโยชน์จากการที่ ‘ซ้ายกลาง’ เสื่อมความนิยมลง บทความของ The Economist บอกว่า คนยุโรปที่เคยนิยมการเมืองแบบ ‘ซ้ายกลาง’ นั้น จำนวนมากถูก ‘ดูด’ (เขาใช้คำตลกดีว่า hoovered คือเหมือนเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อฮูเวอร์ดูด) ไปหานโยบายแบบ ‘ประชานิยมกว่า’ คือเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ลงคะแนนเสียงมากกว่า ซึ่งน่าแปลกนะครับ ที่ไม่ใช่แค่ถูกดึงดูดเข้าสู่ ‘ฝ่ายขวา’ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดความนิยมทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาในอีกฟากฝั่งด้วย
ฝั่งหนึ่งคือฝั่งขวา ซึ่งต่อต้านผู้อพยพ (Anti-Immigrant) อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งต่อต้านตลาด (Anti-Market) ซึ่งก็คือฝ่ายซ้ายที่ ‘สุดขั้ว’ กว่า แต่ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งขวาสุดและซ้ายสุดเหล่านี้ มีดีกรีต่อต้านอุดมการณ์เสรีนิยมอยู่ในตัวทั้งคู่
ตัวอย่างสำคัญคือในกรีซ เมื่อพรรคการเมืองอย่าง PASOK (Panhellenic Socialist Movement) ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองสำคัญของกรีซมาตั้งแต่ปี 1977 ได้รับความนิยมน้อยลงอย่างฮวบฮาบในการเลือกตั้งปี 2012 หลังจากกรีซเกิดเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง
พรรคที่ได้ประโยชน์จากการที่ PASOK เสื่อมความนิยมก็คือพรรค Syriza หรือ The Coalition of the Radical Left ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเป็นพรรค ‘ซ้ายจัด’ นั่นเอง การเลือกตั้งในปี 2015 แสดงให้เห็นว่าคนกรีซนิยมพรรคซ้ายจัดเพิ่มมขึ้นมากอย่างที่เรียกได้ว่าถล่มทลาย จนทำให้เกิด ‘ศัพท์ใหม่’ ในทางการเมือง ที่กลายเป็นศัพท์สามัญประจำบ้านไปแล้ว (แม้จะเรียกยาก) คือ Pasokification ซึ่งมีความหมายเฉพาะ หมายถึงการที่พรรคการเมืองแบบ ‘ซ้ายกลาง’ สูญเสียความนิยมไปให้กับพรรคการเมืองแบบ ‘ซ้ายจัด’ เช่นเดี๋ยวนี้เวลานักวิเคราะห์จะวิเคราะห์กันให้เก๋ๆ ก็ต้องบอกว่ากำลังเกิดกระบวนการ Pasokification ข้ึนกับพรรคแรงงานของอังกฤษ อะไรแบบนี้เป็นต้น
Posokification นี่ มีคนวิเคราะห์กันเยอะนะครับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของยุโรป (และที่จริงก็ของโลกด้วย) เพราะมันทำให้เราตระหนักว่า ในเวลาที่โลกมุ่งหน้าไปสู่อนุรักษ์นิยมขวาจัด เกิดอาการ ‘ขวาหัน’ ขึ้นนั้น ก็เกิดกระแสต้านจากอีกฝั่งหนึ่งขึ้นด้วย นั่นคือการกลายไปเป็น ‘ซ้ายจัด’ ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ซ้ายจัดธรรมดาๆ กระทั่งถึงซ้ายจั๊ดจัด (คือ Ultra-Leftism) ซึ่งจะมีอุดมการณ์และนโยบายในรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อประชันขันแข่งในทางอุดมการณ์กับฝ่ายขวา
ข้อกังวลสำคัญอย่างหนึ่งของนักวิเคราะห์การเมืองในยุโรปก็คือ ถ้าโลกด้านหนึ่งหันขวา โลกอีกด้านหนึ่งหันซ้าย และเป็นขวาซ้ายแบบจัดจ้านถึงพริกถึงขิงทั้งคู่โดยกำจัดพวกซ้ายกลางให้ตกเวทีไป ก็แล้วสังคมในอนาคตจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เป็นไปได้ไหมว่า-ทั้งหมดนี้จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่โตขึ้น
ในเว็บบอร์ดของ The Guardian มีคอมเมนต์จากผู้อ่านต่อเรื่องซ้ายๆ ขวาๆ นี้ บอกว่า
โดยสรุปแล้ว ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต้องมีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์มากขึ้น จำเป็นต้องครุ่นคิดคาดการณ์และมีวิญญาณที่เปิดกว้าง ต้องเลิกยึดมั่นในลัทธิความเชื่อของตัวเอง สร้างพันธมิตร และต้องตระหนักเรื่องนี้ให้เร่งด่วนที่สุดด้วย อย่าเอาแต่สัญญิงสัญญา
ก็ใช่-นี่เป็นคอมเมนต์ที่กำปั้นทุบดินพูดอีกก็ถูกอีก
แต่ผมคิดว่า-นี่เป็นความเห็นที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม
Does the Left have a future? โดย John Harris
Rose thou art sick โดย Ludwigshafen, Piraeus และ Valletta
5 Things you need to know about ‘Pasokification’ โดย James Doran