1.
คืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1974 แพทริเซีย เฮิร์ส (Patricia Hearst) อาศัยอยู่ในบ้านกับสตีเวน วีด (Steven Weed) คู่หมั้นที่อายุมากกว่า ช่วงสามทุ่มมีเสียงคนเคาะประตูเรียก สตีเวนเปิดประตูออกไป หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่า รถของเธอประสบอุบัติเหตุ ขอใช้โทรศัพท์หน่อย
เมื่อวีดยินยอมให้หญิงสาวเข้ามา ชายอีก 2 คนได้พุ่งเข้ามาด้วยพร้อมอาวุธปืน สั่งให้วีดหมอบลงกับพื้นก่อนจะโดนเตะกระทืบ ตอนนั้นวีดคิดว่ามันคือการปล้น แต่ปรากฏว่า กลุ่มคนร้ายตรงเข้ามัดมือปิดตาเฮิร์สแฟนสาวเขาแล้วพาตัวลากขึ้นรถขับออกไปในไม่กี่นาที
มันคือการลักพาตัวหญิงสาววัยเพียง 19 ปีคนหนึ่ง ซึ่งจะกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติในเวลาต่อมา
2.
แพทริเซีย เฮิร์สเป็นคุณหนู ลูกอภิมหาเศรษฐี ตระกูลของเธอคือ ‘เฮิร์ส’ ซึ่งในคนทั้งโลกต่างรู้ดีว่า มันเป็นนามสกุลของวิลเลี่ยม แรนดอล์ฟ เฮิร์ส (William Randolph Hearst) เจ้าของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ อภิมหาเศรษฐี ชายที่แพทริเซียไม่เคยพบหน้า เขาคือผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสื่อมวลชน มีสื่อในมือหลายฉบับ เป็นผู้ชายที่เรื่องราวถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อมตะอย่าง Citizen Kane โดยตามศักดิ์แล้วแพทริเซียคือหลานปู่ของเจ้าพ่อสื่อคนนี้นี่เอง
ความร่ำรวยอย่างมหาศาลนี้เอง ทำให้ชีวิตของแพทริเซียเหมือนอยู่ในนิทานเจ้าหญิงอันสวยงาม ครอบครัวเธอมีทรัพย์สินที่ดินปราสาทอันหรูหราในรัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อของแพทริเซียซึ่งเป็นลูกเจ้าพ่อสื่อ แต่งงานกับหญิงสาวผู้ดีจากรัฐจอร์เจีย ชีวิตของแพทริเซียอยู่ในฟองสบู่แห่งความร่ำรวย ขี่ม้า วิ่งเล่นในท้องทุ่งสีเขียวสุดลูกหูลูกตา ว่ายน้ำไปสโมสรคลับเจอผู้ดีพวกเดียวกัน ชีวิตสุขสบายอย่างยิ่ง
กิจกรรมหนึ่งที่พ่อชอบสอนแพทริเซียนั่นก็คือการยิงปืน มันเป็นสิ่งที่เธอทำยามว่างอยู่เสมอ 4 ปีก่อนการลักพาตัวในปี ค.ศ.1970 หญิงสาววัย 15 ปีเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนหญิงล้วน ที่นี่เธอพบรักกับสตีเวน วีด ซึ่งเป็นครูป้ายแดงวัย 23 ปี และตกลงใจหมั้นหมายก่อนย้ายมาอยู่อพาร์ทเมนท์ของวีด ซึ่งจะเป็นสถานที่เกิดเหตุในเวลาต่อมานั่นเอง
ข่าวการหมั้นหมายของแพทริเซียถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์เมืองซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเป็นสื่อในมือของตระกูลเธอเอง ภาพของเธอกับคู่หมั้นสะดุดใจองค์กรฝ่ายซ้ายก่อการร้ายหัวรุนแรงแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อไม่คุ้นหูในตอนนั้นว่า Symbionese Liberation Army (SLA) พวกเขาสนใจเรื่องราวของหญิงทายาทตระกูลสื่อขึ้นมาอย่างจับใจ
3.
ขบวนการ SLA นั้นเกิดขึ้นในยุคที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในกระแสขบถเต็มรูปแบบภายใต้สงครามเวียดนามที่แสนวุ่นวาย การต่อต้านและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นทั่วโลก ขบวนการทางการเมืองที่จะผลักดันประเด็นก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่นเดียวกับเพราะกระแสไฟแห่งการปฏิวัติมันจึงมีองค์กรบ้าๆ บอๆ อย่าง SLA เกิดขึ้นมา
จุดเริ่มต้นของขบวนการนี้เกิดจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ระดมความคิดการปฏิวัติ ดึงดูดนักศึกษามาพูดคุยกัน การถกเถียงพูดคุยกันว่า เราจะปฏิวัติไปสู่สังคมที่ดีกว่าได้อย่างไร มีคนบอกให้ใช้ความรุนแรงกับสันติวิถี ทั้งสองฝ่ายต่างยกเหตุผลมาถกมาเถียงกันอย่างเคร่งเครียด
โดยการถกเถียงนี้นำไปสู่การทำกิจกรรมออกแสวงหาของคนหนุ่มสาว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย อาจารย์หลายคนส่งนักศึกษาเข้าไปสอนคนดำที่ติดคุกในเรือนจำ ทั้งหลักรัฐศาสตร์ หลักคุณค่าเชื้อชาติ ปลุกระดมคนดำ นักศึกษาในยุคนั้นหลายคนไม่ได้มองนักโทษคนดำเป็นผู้กระทำผิด แต่มองเป็นคนที่ถูกโครงสร้างสังคมบิดเบี้ยวให้กลายเป็นแบบนี้ นักโทษบางคนถูกมองเป็นวีรชนในสายตาของคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำไป
โดนัลด์ ดีฟรีซ (Donald DeFreeze) เป็นนักโทษคนดำที่ติดคุกเพราะไปปล้นธนาคาร เขาเลื่อมใสกับการพูดคุยกับคนหนุ่มสาวปัญญาชนมาก และได้เริ่มก่อตั้งขบวนการ SLA ขึ้นมา จนเมื่อเขาแหกคุกหลบหนีก็ได้ไปนัดพบปะคนหนุ่มสาวคนขาวที่เคยพูดคุยในเรือนจำ พวกเขามุ่งหวังการปฏิวัติถึงสังคมที่ดีกว่า โดยมีสมาชิกขบวนการเป็นพวกคนขาวที่ครอบครัวมีฐานะ ทุกคนตั้งเป้าใช้แนวทางมาร์กซิสม์ โค่นล้มสถาบันทางสังคมที่ค้ำจุนระบบทุนนิยม งานแรกของพวกเขาคือการฆ่าครูใหญ่ผิวดำที่พยายามให้มีระบบระบุตัวตนนักเรียนในโรงเรียน
การฆาตกรรมครั้งนี้ทำให้ SLA โดนแบนจากขบวนการฝ่ายซ้ายอื่นๆ เพราะดันไปฆ่าคนดำที่ซึ่งขบวนการฝ่ายซ้ายพยายามดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นพวก เมื่อตำรวจไล่ล่าจับกุม กลุ่มSLA แตกฉาน แต่ก็ตกลงกันว่าจะก่อเหตุอีกครั้ง และงานนี้จะต้องปังเปรี้ยง พวกเขาเห็นรูปถ่ายของแพทริเซียในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ดีฟรีซที่ตั้งตัวเองเป็นจอมพลทำการปฏิวัติจึงตกลงวางแผนก่อเหตุครั้งนี้
4.
ในช่วงแรกของการลักพาตัว แพทริเซียถูกปิดตา ไม่ให้เห็นหน้าคนในกลุ่ม SLA เธอเล่าว่าถูกทารุณกรรมทั้งทางเพศและทางกาย โดยเมื่อเป็นข่าวว่าหลานของตระกูลเฮิร์สโดนลักพาตัวไป ทางคนร้ายได้เรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงินถึง 400 ล้านเหรียญยูเอสดอลลาร์ เพื่อเอาไปเป็นกองทุนมอบอาหารให้กับคนยากไร้
ซึ่งเงินระดับนั้นตระกูลเฮิร์สมีแน่ แต่เพราะคำสั่งเสียของวิลเลี่ยม แรนดอล์ฟ เฮิร์ส ผู้ยิ่งใหญ่ที่ต้องการให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอดสืบไป เขาจึงให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตระกูลผูกพันอยู่กับธุรกิจสื่อมวลชน ไม่ใช่แบ่งให้กับลูก ๆ ของตัวเอง พ่อของแพทริเซียจึงไม่มีเงินมหาศาลขนาดนั้น เขามีเงินสดแค่ 5 แสนยูเอสดอลลาร์ และต้องขอเงินจากมูลนิธิเฮิร์ส 1.5 ล้านยูเอสดอลลาร์เพื่อแจกอาหารแก่คนจน ซึ่งลงท้ายกลายเป็นเหตุการณ์หายนะ เพราะคนแย่งอาหารกันจนเกิดความวุ่นวายเป็นการจลาจล
ทางกลุ่มลักพาตัวได้กล่อมพูดบอกกับแพทริเซียว่า การที่โดนขังนานแบบนี้ เป็นเพราะคนในตระกูลไม่แคร์เธอแม้แต่น้อย ทั้งที่พวกเขาร่ำรวย จ่ายเงินค่าไถ่ก็จบ พูดซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน 58 วันหลังการลักพาตัว หญิงสาวก็ช็อกโลกด้วยการปรากฏตัวในกล้องวงจรปิดของธนาคาร เปลี่ยนสภาพจากลูกคุณหนู จากเหยื่อแห่งการลักพาตัว กลายเป็นนักปฏิวัติกองโจรเต็มรูปแบบ เธอถือปืนปล้นธนาคารร่วมกับกลุ่ม สร้างความตระหนกตกใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก
พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ปล้นธนาคาร
ได้ยินหญิงสาวพูดเสียงดุดันขณะทำการปล้นว่า
“คนแรกที่เงยหัวออกมา กูจะยิงแม่งให้หัวกระจุยเลย”
ทั้งนี้เมื่อเป็นคดีปล้นธนาคาร หน่วยงานสอบสวนกลางอย่างเอฟบีไอจึงได้เข้ามาดูคดีนี้ ทำให้ภาพถ่ายของแพทริเซียปรากฏหราในหมายจับทั่วประเทศทันที
ข่าวคราวของเธอยังมีต่อเนื่อง เมื่อมีกระแสข่าวรายงานว่าหญิงสาวพบรักสุดแสนโรแมนติกกับชายหนุ่มจากครอบครัวหมอแสนร่ำรวยที่อยากเป็นนักโบราณคดี แต่ก็เลิกเรียนดรอปมาเป็นนักปฏิวัติในองค์กร SLA เหตุการณ์ตรงนี้แพทริเซียยืนยันในเวลาต่อมาว่ามันไม่ใช่ความรัก แต่เธอถูกข่มขืนโดยเขาต่างหาก
อย่างไรก็ดีทางอัยการได้แย้งว่า ถ้าไม่รักกันจริง ถ้าเธอถูกย่ำยีจริง ทำไมถึงยังเก็บสร้อยคอที่ชายหนุ่มมอบให้เธอไว้กับตัวอยู่ตลอดเวลาเล่า
เมื่อแพทริเซียกลายเป็นผู้ต้องหามีหมายจับแล้ว เธอเดินทางไปกับกลุ่มคนร้ายที่ลักพาตัวเธอมาโดยไม่มีใครปิดตามัดแขนเหมือนตอนจับตัวมาอีก เธอไม่แม้แต่พยายามจะหลบหนี มิหนำซ้ำในการก่อเหตุหลายครั้ง เธอยังช่วยเพื่อนร่วมองค์กรยิงต่อสู้โดยการควงปืนสองกระบอกกระหน่ำยิงด้วย ซึ่งทักษะการยิงปืนนี้มาจากการสอนของพ่อเธอสมัยยังเป็นลูกคุณหนูอยู่นั่นเอง
ตลอด 591 วันตั้งแต่การลักพาตัว แพทริเซียยังคงหนีรอดการจับกุมของเอฟบีไออย่างต่อเนื่อง แม้หัวหน้าแก๊งหรือลูกทีมจะโดนวิสามัญจากการก่อเหตุปล้นร้านค้าไปเกือบหมดแล้ว แต่หญิงสาวก็ยังหนีรอดได้อยู่เสมอ
จนในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1975 เอฟบีไอก็บุกเข้าจับกุมเธอในบ้านซึ่งพักกบดานอยู่กับพวกสุดโต่งทางการเมืองได้สำเร็จ ปิดฉากการไล่ล่าอย่างยาวนานเสียที
5.
ที่จริงแล้วในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1973 ไม่กี่เดือนก่อนจะเกิดเหตุกับแพทริเซียนั้น มีการลักพาตัวลูกคนรวยอย่าง จอห์น พอล เก็ตตี้ที่ 3 (John Paul Getty III) ทายาทหลานปู่ของเจ พอล เกตตี้ (J. Paul Getty) เจ้าของธุรกิจน้ำมันระดับอภิมหาเศรษฐี ซึ่งการลักพาตัวครั้งนั้นจบลงที่การจ่ายค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 3.2 ล้านยูเอสดอลลาร์ แต่ก็ต้องแลกมากับการเฉือนหูข้างขวาบางส่วนของจอห์นไป
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็เกิดเหตุจับตัวประกันธนาคารแห่งหนึ่งในสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงสวีเดน การจับกุมตัวประกันเกิดขึ้น 6 วัน จนตำรวจได้บุกเข้าไปแล้วพบว่าพนักงาน 4 คนของธนาคารกลับต่อต้านตำรวจเห็นใจกลุ่มคนร้าย ถึงขั้นว่าเมื่อจับกุมคนร้ายได้แล้ว เหล่าตัวประกันต่างสวมกอด หอมแก้ม จับมือคนร้าย สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมอย่างมาก
นั่นจึงนำไปสู่การเรียกขานปรากฏการณ์นี้ในเวลาต่อมาว่า
สต็อกโฮล์ม ซินโดรม
ซึ่งอธิบายผลตอบรับทางจิตวิทยาที่ตัวประกันหรือผู้ถูกลักพาตัวจะมีความผูกพันกับคนร้าย เป็นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของคนโดนจับที่จะเครียดและกลัวสุดขีด ร่างกายจึงมีการปรับสมดุลให้ค่อยๆ ผูกมัดกับคนร้ายจนรู้สึกดีด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้ร่างกายลดความเครียด งานวิจัยของเอฟบีไอบอกว่า เหยื่อที่เจอกับเหตุลักพาตัวโดนจับเป็นตัวประกันนั้น จะมีถึง 8% ที่เกิดอาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรม
อย่างไรก็ดีในเคสของแพทริเซียนั้น สังคมยังใหม่มากกับเรื่องนี้ อัยการแจ้งข้อหาปล้นธนาคารโดยใช้อาวุธแก่เธอหลายกระทง (เรื่องตลกคือธนาคารที่กลุ่มSLA ปล้นโดยมีแพทริเซียร่วมก่อเหตุนั้น เป็นธนาคารของเพื่อนซี้พ่อของเธอเอง) ทางครอบครัวเธอได้จ้างทนายความมือดีมาแก้ต่าง พวกเขาอ้างว่าเธอถูกล้างสมองระหว่างจับกุมและต้องยอมทำตามคำสั่งพวกคนร้ายไม่อย่างนั้นจะถูกฆ่าหากไม่ให้ความร่วมมือ
แต่อัยการแย้งว่าแพทริเซียไม่ได้โดนล้างสมองหรือถูกบังคับให้ต้องกระทำความผิด เพราะมีหลายครั้งที่เธอสบโอกาสหนีได้ หรือขอความช่วยเหลือได้ แต่ก็ไม่ทำ หลักฐานหลายชิ้นและความใหม่ของการรับรู้เรื่องสต็อกโฮล์ม ซินโดรมนี่เอง ทำให้ลูกขุนทั้ง 12 คนตัดสินว่าเธอมีความผิดต้องโทษ 7 ปี ต้องถูกจองจำกักขังอีกครั้งในวัยเพียง 22 ปี
อย่างไรก็ดี นี่คือแพทริเซีย เฮิร์ส ทายาทของธุรกิจสื่ออันยิ่งใหญ่ เพียงแค่ 22 เดือนแห่งการจองจำ ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ก็ลดหย่อนโทษเธอจนได้รับอิสรภาพ ส่วนผู้ร่วมขบวนการ SLA ต่างติดคุกข้อหาลักพาตัวเธอ ปิดฉากขบวนการปฏิวัติสุดโหดที่มีระยะเวลาปฏิบัติการแสนสั้น แต่สะเทือนขวัญไปทั้งประเทศ
ตัวแพทริเซียเองได้แต่งงานจริงๆ หลังออกจากคุกกับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งครอบครัวจ้างมาดูแลในช่วงการไต่สวนคดี ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 2 คน ย้ายไปอยู่ต่างเมือง ในเวลาต่อมาหญิงสาวจะเขียนบันทึกความทรงจำเล่าเรื่องราวช่วงลักพาตัว ไปแสดงหนัง โดยเธอไม่เคยสนใจกับภาพควงปืนปล้นธนาคารที่กลายเป็นสัญลักษณ์ให้คนนิยมจนถึงปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย
ปี ค.ศ.2001 วันสุดท้ายในการทำงานของประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) เขาได้นิรโทษกรรมความผิดในอดีตของแพทริเซียจนหมด ประวัติเธอขาวสะอาดในทันที ชีวิตวันนี้เธอทำงานการกุศลอยู่เงียบๆ บ้าง โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวในอดีตว่า
“มันมีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นกับฉันเสมอ ฉันต้องพยายามดีลกับมันให้ได้ บางเวลาฉันไม่สามารถเดินบนถนนโดยปราศจากคน 50 คนหันมามองได้”
นี่คือเรื่องราวของหญิงสาวที่มีชีวิตสุดโลดโผนที่สุด เกิดในครอบครัวร่ำรวยเป็นคุณหนูสู่เหยื่อการลักพาตัว เริ่มใหม่เป็นนักปฏิวัติ ถูกจับเป็นอาชญากร เป็นนักโทษ เป็นพลเรือน แต่งงาน มีลูก กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นนักเขียน เป็นดารา เป็นสัญลักษณ์อันตราตรึงของคนหนุ่มสาวยุคหนึ่ง