ความถูกต้องทางการเมือง หรือ Political Correctness (เรียกย่อๆ ว่า ‘พีซี’) กลายเป็นคำท็อปฮิตในช่วงหลายปีมานี้ และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมก็เห็นประเด็นเรื่องพีซีนี้ถูกยกมาพูดถึงอีก (ซึ่งมันก็มีการถูกยกมาพูดเรื่อยๆ แทบตลอดอยู่แล้ว) หน้าที่หลักของพีซีคือการอุดปาก หรือยุติ “คำพูดเหยียด หรือการแสดงออกที่นำมาซึ่งความเกลียดชัง (Hate Speech) ต่างๆ”
ทีนี้พอมันเกิดการ ‘ห้าม’ การเหยียดหรือเฮตสปีชเนี่ย มันก็เป็นปัญหาขึ้นมาสิว่า อะไรคือเฮตสปีช และการเหยียดขนาดไหนที่เป็นปัญหา หรือเรื่องอะไรบ้างไม่นับเป็นการเหยียด ไม่นับด้วยว่าปัญหาที่เกิดจากการไปเหยียดใครๆ นั้นถูกหยิบยกมาพูดจนเกร่อแล้ว พูดไปก็จำเจน่าเบื่อ ผมเลยจะพูดข้อเสียของการห้ามเหยียดบ้าง เพราะอยากให้เข้าใจว่าไม่มีอะไรที่มันจะดีไปเสียทุกอย่าง การห้ามเหยียดเองก็เช่นกัน
เฮตสปีช หากยึดตาม Encyclopedia of American Constitution แล้ว อาจสรุปความได้ว่า มันคือการแสดงออกที่โจมตีปัจเจกหรือกลุ่มบุคคลด้วยลักษณะพื้นฐาน เช่น เพศสภาพ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, เชื้อชาติ, ความพิการ หรือรสนิยมทางเพศ[1] แน่นอนว่าการเหยียดอย่างสุดขั้วจนนำไปสู่การโจมตีหรือทำร้ายในทางกายภาพย่อมเป็นปัญหา อย่างกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะโฮโลคอสต์ หรือโคโซโว และอื่นๆ แต่หากคิดในอีกแง่หนึ่ง แท้จริงแล้วความผิดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันมาจากการเหยียดอาจจะแยกออกได้เป็นสองส่วนหลักๆ คือ ‘ตัวการเหยียดเอง’ กับ ‘การฆ่าหรือการสังหารหมู่’ ซึ่งส่วนหลังนั้นเป็นความผิดทางอาญาฐานก่ออาชญากรรมอย่างแน่นอน แต่การเหยียดแม้แต่ในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘ในฐานะตัวความคิด’ นั้นล่ะ เราจะนับว่ามันเป็นความผิดในตัวเองด้วยหรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้วความผิดจริงๆ ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มันอยู่เฉพาะที่ส่วน ‘การสังหารหมู่’ ส่วนของความคิด หากไม่เกิดการสังหารหมู่ขึ้น ก็ไม่อาจนับเป็นความผิดได้หรือไม่? อันนี้อาจจะต้องลองกลับไปคิดกันต่อดู ผมเองก็คงไม่มีคำตอบอะไรให้
อย่างไรก็ดีในฐานะมนุษย์ผู้ไม่พีซี ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องพีซีมันมีปัญหาโดยตัวเองของมันมากๆ อยู่ ปัญหาที่เราเห็นกันบ่อยมากแล้ว ก็คือข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายที่นิยมเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) กับฝ่ายนิยมในพหุนิยมวัฒนธรรม (Multiculturalism) และนิยมในความมั่นคงในฐานะมนุษย์ (Human Security) ว่าจริงๆ แล้วต้องถือว่าเฮตสปีชเป็นฟรีสปีชแบบหนึ่งไหม ฝ่าย Freedom ก็ว่าใช่ ฝ่าย Multiculturalism + Human Security ก็บอกว่าเฮตสปีชไม่ใช่เสรีภาพแต่เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ เถียงกันมันหลายปีดีดักจนวนลูปเดิมๆ ผมก็จะไม่ขอไปวนลูปต่อด้วยอีกคน เพราะซ้ำจนน่าเบื่อแล้ว
ปัญหาจากการ ‘ห้าม’ เหยียด ด้วยอำนาจมนตราของพีซีที่ผมอยากพูดถึงนั้น มันมี 3 เรื่อง
คือ (1) ขอบเขตที่ล้นฟ้าของมัน, (2) สิ่งที่เรียกว่าลักษณะพื้นฐาน (ซึ่งถูกนำมาใช้ในการเหยียด) กับความไม่พื้นฐานของพวกมัน และ (3) ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ การห้ามเหยียดที่กลายเป็นกระบวนการสร้างความเหยียด (ที่ตัวเองคัดค้าน) โดยตัวเอง ซึ่งว่ากันตรงๆ มันเป็นปัญหาทางตรรกะที่ผมคิดว่าตื้นเขินมาก และเหล่าผู้นิยมพีซี ควรจะลดราวาศอกกันบ้างได้แล้ว
ประเด็นที่ 1 กับ 2 นั้นค่อนข้างจะต่อเนื่องกัน และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกันพอสมควร แต่แยกออกมาเพื่อให้ง่ายต่อการเห็นภาพและเป็นความดัดจริตที่ทำให้ดูมีเรื่องพูดคุยเยอะแยะมากมายของผมเอง หลักๆ ของปัญหาก็คือ คำว่า ‘ลักษณะพื้นฐาน’ อันเป็นลักษณะซึ่งอ้างกันว่า ‘มิพึงเหยียด’ นั้น มันกินความอย่างไร้ขอบเขตทั้งโดยตัวนิยามของคำว่า ‘พื้นฐาน’ เอง และความไร้ขอบเขตของคำย่อยที่เป็น subset ของคำว่า ‘พื้นฐาน’ ด้วย เพราะคำย่อยเหล่านี้ทุกคำก็เป็นคำทางการเมืองอีก อย่างคำว่า ‘เพศสภาพ’ ก็มีขอบเขตตั้งแต่ 2–30 เพศสภาพ ตามแต่การตีความ ไปจนถึง ‘ไร้ซึ่งเพศสภาพโดยสิ้นเชิง’ ไปเลยก็มี (ผมเคยพูดถึงเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน) ฉะนั้นคำถามง่ายๆ แรกเริ่มก่อนเลยก็คือ “ขนาดไหนเราเรียกว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน”? ร้อยคนก็ร้อยคำตอบ พันคนก็พันคำตอบ คำย่อยทุกคำก็มีลักษณะดังที่ว่านี้ ว่า ขนาดไหนคือเพศสภาพที่กำลังพูดถึง, ขนาดไหนคือรสนิยมทางเพศ, ขนาดไหนคือชาติพันธุ์, ฯลฯ
สภาวะไร้ขอบเขต (แหมะ! ยังกะชื่อวิชายุทธ์นิยายจีน) ของนิยามนี้เองมันนำมาซึ่งปัญหาที่เรียกว่า Liberalization of Political Correctness หรือผมชอบเรียกว่า PC Inflation ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ‘อาการพีซีเฟ้อ’ นั่นเอง ด้วยลักษณะไร้นิยามที่ว่ามา มันทำให้ทุกเรื่อง ทุกสิ่งสามารถจับมาโยง และอุดปากโดยพีซีได้หมด เพราะทุกเรื่องสามารถอ้างว่าเป็นลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ได้ทั้งสิ้น อย่างเรื่องรสนิยมทางเพศ ที่มีเอนกอนันต์โดยตัวมันเอง และไม่รู้จบที่ไหนนั้น มันก็นำมาสู่คำถามต่อไปว่า รสนิยมอื่นๆ นับด้วยไหม? ถ้าไม่นับ ก็ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมนับเฉพาะรสนิยมทางเพศว่าเป็นลักษณะพื้นฐานล่ะ? แต่หากบอกว่ารสนิยมแบบอื่นๆ ก็นับด้วยได้ (มีเพจดังเพจหนึ่งแชร์ภาพประเด็นนี้ว่อนไปทั่ว) แบบนี้ก็ยิ่งหนักใหญ่ เพราะต่อไป รสนิยมการกิน, การแต่งตัว, การพูด, ฯลฯ ก็สามารถโดนอุดปากได้โดยพีซีทั้งหมด เพราะหากไปด่ารสนิยมที่เราเห็นว่าเห่ย คือ “คุณเหยียดนะ คุณเลวนะ” ไปทันที เพราะคุณไป “โจมตี” ลักษณะพื้นฐานของคนๆ นั้น
มีกรณีหนึ่งที่ผมคิดขึ้นมาได้แบบเร็วๆ อยากขอยกเป็นตัวอย่างคือ มีมนุษย์เพศทางเลือกคนหนึ่งตอนนี้ลี้ภัยอยู่ต่างแดน คนๆ นี้นิยมเรียกตัวเองว่า ‘อีแมว’ (นามสมมติ) และคาดหวังให้คนอื่นทุกคนเรียกชื่อแทนตัวของเธอว่า ‘อีแมว’ ด้วย บางคนก็เรียกเธออย่างนั้น แต่บางคนยังเรียกตามชื่อทางการที่ระบุในบัตรประชาชนของอีแมวนี้อยู่ว่า ‘นายที่พึ่ง กรีดกราย’ (นามสมมติ) แต่เมื่อเรียกตามชื่อจริงที่ถูกต้องอย่างนั้นอีแมวกลับบอกว่าคนที่เรียกแทนนางว่า ‘นายที่พึ่ง กรีดกราย’ นั้นเหยียดนาง ไม่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของนาง ฯลฯ ผมคิดว่านี่น่าจะพอเป็นตัวอย่างหนึ่งให้พอเห็นภาพได้ถึงสภาวะ ‘พีซีเฟ้อ’ คือ อ้างวิธีคิดแบบพีซีจนเฟ้อไปหมด ใครทำอะไรไม่ถูกใจก็อุดปากคนที่แสดงความคิดเห็นแบบที่ไม่พึงใจด้วยการบอกว่า ‘แกเลวแกเหยียด’ ไปเสีย
ภาพข้างต้นนี้ มาจากเพจดังเพจหนึ่งซึ่งมีคนไลค์และแชร์ต่อกันหลักหมื่น ซึ่งเอาจริงๆ 8 ข้อในรูปนี้ก็ใกล้เคียงกับนิยามของ Encyclopedia of American Constitution ที่ผมยกมาให้ดูตอนแรกเลยทีเดียว แต่อย่างที่บอก การอ้างอิงกับลักษณะพื้นฐานแบบนี้ ทำให้การห้ามเหยียดขยายวงกว้างออกไปมากจนไม่มีที่สิ้นสุด และสุดท้ายเราก็จะพูดวิจารณ์อะไรไม่ได้เลย การทำแบบนี้เองมันทำให้เกิดผลที่น่ากลัว 2 ประการเป็นอย่างน้อยคือ การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนกลายเป็น “establishment (สถาบันสถาปนา?) ทางการเมืองที่ไม่อาจแตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้” ไป เพราะมันคือการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวสามารถพูดได้เพียงด้านเดียว หากพูดลบ พูดวิจารณ์ พูดด่าสิ่งเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นการดูถูก เหยียดหยาม และ/หรือโจมตีไป ประการที่สองก็คือ การที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นปัญหาซึ่งสามารถอุดปากได้ด้วยพีซีหมดนั้น มันเป็นการทำให้พีซีที่พวกท่านสนับสนุนหมดความหมายลงเองในท้ายที่สุด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นก็เพราะด้วยฐานคิดแบบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) แล้ว การมีตัวตนของ ‘คำเรียก/ชื่อเรียก’ แทนตัวตนหรือสิ่งใดๆ นั้นวางฐานอยู่บน ‘ความต่าง’ (Difference) โดยความต่างนี้เองเป็นกลไกที่ “มอบตัวตน หรือความจำเป็นต้องมีคำเรียกเฉพาะแทนตัวตนนั้นๆ” เพื่อให้เราสามารถแบ่งแยกสิ่งหนึ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่งได้ อย่างการที่มีคำเรียกแทนมนุษย์ที่มีลักษณะทางกายภาพที่มีลึงค์ว่า ‘ชาย’ ก็เพราะมันมีความต่างเกิดขึ้น คือ มันมีมนุษย์ที่มีลักษณะทางกายภาพคนละแบบด้วย คือ มีโยนีแทนที่จะมีลึงค์ เราจึงต้องมีคำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เพื่อเป็นคำเรียก เรียกตัวตนที่ ‘ต่างกัน’ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากโลกนี้มีแต่มนุษย์ที่มีแต่ลึงก์ห้อยอยู่ตรงหว่างขา เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีคำว่า ‘ชายหรือหญิง’ อีกต่อไป เพราะแค่คำว่า ‘มนุษย์’ คำเดียวก็เพียงพอแล้ว คำว่าชายกับหญิงไม่มีความจำเป็นต้องมีตัวตนเลย เพราะไม่มีความต่างอะไรที่ต้องการ ‘คำเรียกแทนตัว’ เพื่อแสดงออกถึงความต่างนั้น
ถึงตรงนี้ท่านพอจะเริ่มเห็นปัญหาที่ผมอยากจะชี้หรือยังครับ? ประเด็นที่ผมอยากจะพูดก็คือ
เมื่อเราทำให้พีซีกลายเป็นสิ่งซึ่งแทนทุกสิ่งได้ อุดปากทุกความคิดที่เราเห็นต่างไปได้ (จากสภาพไร้ขอบเขตของมัน) มันคือการทำให้สภาพ ‘ความต่าง’ อันเป็นเงื่อนไขในการ ‘มีตัวตนอยู่’ ของคำๆ นั้นหมดสิ้นลง
หรือก็คือการทำให้คำๆ นี้หมดซึ่งความจำเป็นในการมีตัวตนเพื่อของมันเองในฐานะคำเพื่อบ่งบอกลักษณะจำเพาะบางอย่าง ซึ่งไปแตกต่างกับสภาวะจำเพาะอีกอย่างหนึ่ง (หากงง ลองกลับไปอ่านย่อหน้าก่อนตรงส่วน ‘ชาย-หญิง’ กับมนุษย์ ให้งงเพิ่มอีกที) นั่นย่อมทำกับท่านกำลังทำลายเหตุผลในการมีตัวตนอยู่ของพีซีเองโดยปริยาย เพราะมันไม่มีเหตุผลในการมีอยู่อีกต่อไป หรือก็คือ ท่านกำลังเรียกร้องพีซี เพื่อนำมาซึ่งความล่มสลายของพีซีเอง (หากฝันท่านเป็นจริง) ผมคิดว่ามันออกจะประหลาดพิกล
นอกจากนี้ปัญหาที่ตามมาก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ลักษณะพื้นฐาน’ (อันมิพึงเหยียด) นั้น แท้จริงแล้วมันไม่มีอะไรเลยที่เรียกได้ว่าพื้นฐาน เพราะการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งหรือลักษณะพื้นฐาน หรือแม้แต่อะไรคือความหมายของคำว่าพื้นฐาน (สมมติว่าเราสามารถมีข้อสรุปร่วมกันได้) มันก็เป็นเพียง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ (Social Innovation) ที่ถูกเพิ่ม หรือ add เข้ามาให้กับมนุษย์ต่อจากการมีสภาพตั้งต้นในฐานะมนุษย์ของตนเองเท่านั้น ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ‘พีซี’ เองนี่แหละ ที่ไม่ได้เป็น ‘ลักษณะพื้นฐาน’ ของมนุษย์เลย แต่เป็นเพียงสิ่งที่เสริมขึ้นมาทีหลัง หลังจากกำหนดเงื่อนไขอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ได้แล้ว
ตรงนี้มันเป็นปัญหาที่น่ารำคาญทางวิชาการพอสมควร และหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการเล่นโวหารเพื่อการโต้เถียง (ซึ่งก็เชิญว่าไป) แต่ในทางตรรกะมันเป็นแบบนี้จริงๆ คือ แค่ “เงื่อนไขว่าลักษณะอะไรคือลักษณะพื้นฐานของมนุษย์” ที่เราจะจับยัดให้กับมวลสารตั้งต้นที่เรียกว่ามนุษย์อีกที มันก็ไม่ใช่ ‘พื้นฐาน’ โดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงการปลูกสร้างทางสังคมเพื่อใส่ให้กับตัวมนุษย์ แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าพีซีเนี่ย ยังเป็นแค่กลไกที่ ‘เพิ่มเติมต่อเนื่อง’ มาจากลักษณะพื้นฐาน (ซึ่งไม่พื้นฐาน) อีกที หรือก็คือเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมที่เกิดมาเพื่อสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมอีกต่อหนึ่ง มันไม่ได้มีความ ‘พื้นฐาน’ อะไรอย่างที่สมอ้างเลย และหากจะนับตามลักษณะ ‘อันเป็นพื้นฐาน’ ของมนุษย์อันพึงเชิดชูไว้จริงๆ นี่ผมพาลนึกไปถึงเงื่อนไขที่หากไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์อยู่ไม่ได้ ตายกันหมดแน่ๆ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายความมั่นคงของมนุษย์ด้วย ผมก็คิดว่าพีซีไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้เป็นแน่แท้
ประการสุดท้ายที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด ที่ต่อให้ท่านไม่เห็นด้วยกับ 2 ประการแรกที่ผมว่ามาเลย ก็อยากให้พิจารณาข้อนี้ให้ดี คือ ‘การห้ามเหยียด’ ด้วยแนวคิดพีซีเอง แท้จริงแล้วมันคือการผลิตซ้ำการเหยียดแบบรัวๆ
และอาจจะรุนแรงกว่าการเหยียดแบบตรงไปตรงมาเสียอีกในความคิดของผม ผมยกตัวอย่างง่ายๆ หากผม ‘ด่า’ (ในเครื่องหมายคำพูด) คนนิโกรคนหนึ่งว่า ‘ไอ้ดำ’ ก็จะมีมนุษย์สายพีซีจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงพวก Anti-Racism จำนวนหนึ่งออกมาประณามผมว่า ผมนั้นเลว ผมนั้นเหยียด ลักษณะเดียวกัน หากผม ‘ด่า’ ใครว่า อีตุ๊ด, ไอ้ลาว, อีทอม, ไอ้โง่, อีกะหรี่, ไอ้เด็กราชภัฏ, ฯลฯ
การที่ฝ่ายนิยมพีซีมองว่าผม ‘พูด’ เช่นนี้ใส่อีกฝ่ายเป็นการด่า การโจมตี เป็นการเหยียดนั้นหมายความว่าอะไรครับ? มันหมายความว่า เหล่าผู้นิยมพีซีเหล่านั้น ก็มองเหมือนกันไงครับว่าคำว่า “ดำ, ตุ๊ด, กระเทย, กะหรี่, ราชภัฏ, ลาว, ฯลฯ” เป็นคำด่า หรือเป็นคำที่ ‘ต่ำ’ กว่าคำเรียกแบบอื่นๆ พูดอีกอย่างก็คือ การที่คุณบอกว่าคนด่าคนนิโกรว่า ‘ไอ้ดำ’ นั้นเป็นการเหยียด มันก็เท่ากับคุณเองก็เห็นว่าคำว่าดำ หรือความดำ เป็นคำที่ ‘ต่ำ’ กว่าคำที่แสดงตัวตนแบบอื่นๆ หรือคุณเองก็กำลังเหยียดอยู่ แต่มันเป็นการเหยียดที่น่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าคนที่พูดออกมาตรงๆ เสียอีก เพราะคุณกำลังเหยียด ‘คนดำ’ (หรืออีตุ๊ด อีกะหรี่ ไอ้แมงดา ฯลฯ) แบบซ่อนแอบอยู่ด้านหลังม่านแห่งคุณธรรมความดีนามพีซีของคุณ คุณกำลังเที่ยวอุดปากคนอื่นว่าเหยียดทั้งที่ตัวคุณเองก็กำลังเหยียดอยู่ด้วย
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ‘เหยียด’ หรือไม่เหยียดนั้น หลักๆ มันเกิดขึ้นมาจากการกำหนดมาตรฐานโดนพวกท่านเหล่ามนุษย์พีซีเอง ว่าการพูดแบบนี้เป็นการเหยียด หรือก็คือ การเหยียดถูกกำหนดขึ้นจากสิ่งที่ผู้ไม่นิยมการเหยียดทั้งหลายเหยียดอยู่นั่นเอง อินเซ็ปชั่นซ้ำซ้อน และน่าขยะแขยงไม่น้อยทีเดียว
นี่แหละครับ คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกกับท่าน ว่าการเต้นแง้วๆๆๆ แล้วอ้างแต่คำว่า ‘อย่าเหยียดๆ’ มันแฝงอยู่ด้วยเงื่อนไขที่ซ้อนทับกันมากมาย การห้ามการเหยียดเอง มันก็คือการเหยียดในตัวเองแบบหนึ่ง (แบบที่น่าเกลียดด้วย) ว่าง่ายๆ ก็คือ เราไม่อาจหลีกหนีจากการเหยียดทางใดทางหนึ่งพ้น ฉะนั้นผมอยากจะเสนอแนวทางของสลาวอย ชิเช็ก นักปรัชญาชื่อดังชาวสโลวีเนียมากกว่า คือ ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะ ‘ไม่เหยียด’ ก็ควรเปลี่ยนมาเป็น “เหยียดทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน” ดีกว่า จะไอ้คนดำ ไอ้คนขาว ไอ้โจรแคระ ไอ้ลิงเหลือง ก็เหยียดมันให้หมดอย่าให้เหลือไปครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู Nockleby, John T. (2000), “Hate Speech” in Encyclopedia of the American Constitution, ed. Leonard W. Levy and Kenneth L. Karst, vol. 3. (2nd ed.), Detroit: Macmillan Reference US, pp. 1277–79. Cited in “Library 2.0 and the Problem of Hate Speech,” by Margaret Brown-Sica and Jeffrey Beall, Electronic Journal of Academic and Special Librarianship, vol. 9 no. 2 (Summer 2008)