อีกไม่ถึงสองเดือนข้างหน้า ชินโซ อาเบะ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดยอยู่ในเก้าอี้ยาวนานถึงแปดปี คือเทอมแรกระหว่างปี ค.ศ. 2006-2007 และเทอมหลังตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ถึงปัจจุบัน
อาเบะเพิ่งประกาศไม่นานนี้ว่า เขาจะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเทอมสุดท้าย และจะไม่ลงเลือกตั้งอีกในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าในปี ค.ศ. 2021 เพราะฉะนั้น หากไม่มีอุบัติเหตุใดเกิดขึ้นระหว่างนี้ เขาจะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ยาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
แน่นอน ในทางการเมืองอาเบะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เขาเกิดปี ค.ศ. 1954 (ปีเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในกรุงโตเกียว ปัจจุบันเขาอายุ 64 ปี หรืออยู่ในวัยที่ต้องเกษียณอายุแล้ว แต่หากเทียบกับมาตรฐานผู้นำประเทศทั่วโลก ก็ยังคงอยู่ในค่าเฉลี่ย หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย
อาเบะไม่ได้อยู่ในตระกูลปากกัดตีนถีบ คนรอบตัวของเขาล้วนอยู่ในแวดวง ‘อีลิต’ ญี่ปุ่น แม้ปู่ของเขา คิชิ โนบุสุเกะ จะเคยติดคุกในข้อหา ‘อาชญากรสงคราม’ แต่ในเวลาต่อมาก็ดำรงตำแหน่งนายกฯ ระหว่างปี ค.ศ. 1957-1960 เช่นเดียวกับลุงของเขา ไอซากุ ซาโตะ ก็ดำรงตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่นยาวนานถึงแปดปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964-1972 เพราะฉะนั้น สถิติที่อาเบะอยู่ในตำแหน่งยาวนานนั้น ก็ไม่ได้ชนะใครอื่น หากคือชนะ ‘ลุง’ ของเขานั่นเอง
ประวัติทางการเมืองของอาเบะเองก็ไม่ได้ซับซ้อนหรือหวือหวาอะไร
อาเบะไม่ได้ทำธุรกิจหรือเป็นผู้บริหารในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เพียงแต่อยู่ในบริษัท ‘เหล็ก’ หลังจบปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ที่ University of Southern California อาเบะก็ไปเป็นเลขานุการส่วนตัวให้พ่อที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็น ส.ส. ในเขตยามากุจิของโตเกียวทันที และหลังจากพ่อเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1991 อาเบะก็ไปเป็น ส.ส.แทนพ่อ
ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นเปิดเกมรุกกับเกาหลีเหนือ อาเบะเป็นตัวแทนของพรรค LDP หรือ เสรีนิยมญี่ปุ่น เพื่อขอให้ประธานาธิบดีคิมจองอิลปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นที่ถูก ‘ลักพาตัว’ ไปอยู่ในเกาหลีเหนือจนประสบความสำเร็จ สามารถปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นกลับมา 5 คน จาก 17 คน รวมถึงสร้างบทบาทให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการ ‘ปลดอาวุธนิวเคลียร์’ ในคาบสมุทรเกาหลี
หลังนายกฯ จุนอิชิโร โคอิซูมิ ประกาศวางมือทางการเมืองในปี ค.ศ. 2006 ก็เป็นโอกาสให้อาเบะขึ้นเป็นนายกฯ แทน ณ เวลานั้น อาเบะอายุเพียง 52 ปี กลายเป็นนายกฯ ช่วงหลังสงครามที่อายุน้อยที่สุด แต่แม้จะเป็น ‘หน้าใหม่’ แต่แนวคิดของเขากลับ ‘ขวา’ ใช่เล่น
เป็นต้นว่า การสนับสนุนแบบเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นฉบับใหม่ ซึ่งถูกวิพากษ์ว่า ‘คลั่งชาติ’ โจมตีบทบาทของเกาหลีและจีนอย่างรุนแรง รวมถึงกล่าวแต่ด้านดีของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และละเลยเรื่องการสังหารหมู่ที่นานกิง หรือการรุกรานชาติอื่นในทวีปเอเชีย ขณะเดียวกัน อาเบะก็โต้แย้งการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการ ‘สืบราชสันตติวงศ์’ โดยให้ ‘ผู้หญิง’ ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ
ปัญหาก็คือ การเมืองญี่ปุ่นนั้น ‘เปราะบาง’ ไม่น้อย ตั้งแต่ญี่ปุ่นมีนายกฯ คนแรกในปี ค.ศ. 1885 หรือเมื่อ 134 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นใช้นายกรัฐมนตรีมากกว่า 94 คน หรือเฉลี่ยอยู่ในตำแหน่งได้คนละไม่เกิน 2 ปี เท่านั้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าการเมืองญี่ปุ่นไม่ได้มั่นคงอะไร และดูจะมีปัญหาหนักมากกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลก
เมื่อถึงเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2007 อาเบะก็เจอมรสุมหนัก เมื่อรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลของเขาดันเกี่ยวพันกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไปจนถึงเรื่องการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสืบทอดราชบัลลังก์ของราชวงศ์ ทำให้พรรค LDP สูญเสียเก้าอี้ในการเลือกตั้งวุฒิสภาอย่างหนัก
ในที่สุดเมื่อรู้ว่าไปต่อไม่ไหว นายกฯ คนหนุ่มก็ตัดสินใจลาออกท่ามกลางการบีบคั้นอย่างหนักจากพรรค เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจนเกินไป พรรคแถลงว่า เขาตัดสินใจลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ และอาเบะก็ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า เป็นเพราะโรค ‘ลำไส้อักเสบ’ เรื้อรัง
ในเวลานั้น ทุกคนต่างก็คิดว่าจุดสูงสุดของอาเบะได้ผ่านไปแล้ว
เขาอ่อนแอ ไม่มีจุดยืนชัดเจน ซ้ำยังคุมพรรคไม่อยู่ ขณะเดียวกัน จุดแข็งที่นายกฯ ญี่ปุ่นคนอื่นของญี่ปุ่นมี อย่างเรื่องการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่ชัด ซ้ำความรู้เรื่องเศรษฐกิจก็อ่อนด้อย ที่สำคัญคือยังไปมีปัญหากับ ‘ราชวงศ์’ อีก
อย่างไรก็ตาม ความทะเยอะทะยานทำให้เขากลับมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อในปี ค.ศ. 2012 รอบนี้เขา ‘เกิดใหม่’ อีกครั้งผ่านการเป็นผู้นำฝ่ายค้านในช่วงที่รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือพรรค DPJ กำลังง่อนแง่น การเลือกตั้งในปลายปีนั้นส่งให้อาเบะกลับมาเป็นนายกฯ ญี่ปุ่น สมัยที่สองซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
สิ่งที่รอบนี้เขาพกมาเต็มที่คือนโยบาย ‘สามศร’ หรือที่สื่อญี่ปุ่นเรียกกันว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ ในเวลานั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังชะลอตัว ญี่ปุ่นจากที่เคยเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมล้ำๆ กลายเป็นประเทศผู้ตาม มานานนับ 10 ปี นโยบายการเงินและการคลังเริ่มทำให้เงินเยนอ่อนลง มีการเพิ่มเงินลงทุนจากภาครัฐอัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
หนึ่งในดอกผลของ ‘อาเบะโนมิกส์’ ก็คือการท่องเที่ยว ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และหากจะขอวีซ่าท่องเที่ยวต้องเป็นไปอย่างยากเย็น ก็เปลี่ยนเป็นประเทศที่อ้าแขนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างเต็มที่ คนไทยเองก็ได้อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า’ พร้อมๆ กับมาเลเซียในยุคอาเบะ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013
ในปีนั้น ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวมาเยือนราว 11 ล้านคน และอาเบะคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มราวหนึ่งเท่าตัว นั่นคือ 20 ล้านคน แต่ในปี ค.ศ.2018 หรือสองปีก่อนหน้า ตัวเลขนักท่องเที่ยว ปาเข้าไป 31 ล้านคนแล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวมี ‘สีสัน’ มาก
ไม่ใช่แค่เท่านั้น ความ ‘แข็งกร้าว’ ของญี่ปุ่นในการปลดแอก ‘กองกำลังป้องกันตัวเอง’ ของญี่ปุ่นจากอิทธิพลของรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ โดยอาเบะอ้างถึงปัญหาความไม่สงบในเกาหลีเหนือหรือข้อพิพาทกับจีน ก็ ‘ได้ใจ’ ชาวญี่ปุ่น ไปไม่น้อย
สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) อดีตหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวชื่นชมอาเบะว่าเป็น Trump before Trump ในฐานะที่ปลุกความเป็น ‘ชาตินิยม’ จนสามารถชนะเลือกตั้งได้ต่อเนื่องยาวนาน ซ้ำยังเปลี่ยนระบบการเมืองญี่ปุ่นจากที่เคยง่อนแง่น กลายเป็นมั่นคง ส่งให้อาเบะสืบทอดอำนาจได้ยืนยาว กลายเป็นระบบ ‘อำนาจนิยม’ คล้ายกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
แต่การ ‘อยู่ยาว’ และความเข้มแข็งของรัฐบาลก็แลกมาด้วย ‘เสรีภาพสื่อ’ ที่หายไป
ปี ค.ศ. 2010 สื่อญี่ปุ่นเคยมีเสรีภาพมากที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลก ปัจจุบันสื่อญี่ปุ่นมีเสรีภาพเป็นอันดับที่ 67 จากการออกกฎหมาย ‘สอดแนม’ ในรัฐบาลชุดนี้ ไปจนถึงการพยายาม ‘บูลลี่’ สื่อมวลชนจากคนในรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากทั้งนโยบายระหว่างประเทศหรืออาเบะโนมิกส์ ส่งให้อาเบะกลายเป็น ‘มาริโอ้’ ที่ได้รับเห็ดแล้วตัวใหญ่ขึ้น แบบเดียวกับที่เขาปรากฏตัวในพิธีปิดโอลิมปิก เมื่อปี ค.ศ.2016 ที่บราซิล และหลังจากจีนกับสหรัฐอเมริกาเปิดสงครามทางการค้าระหว่างกัน ชาวอาทิตย์อุทัยยิ่งต้องการผู้นำที่แข็งแกร่งแบบเขา ใช้ความ ‘อยู่ยาว’ ให้เป็นประโยชน์ในการดึงบรรดานักลงทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะจาก ‘จีน’ คู่ขัดแย้งเก่าดั้งเดิมให้หันมาใช้เงินที่ญี่ปุ่นแทน
เพราะฉะนั้น ยิ่งผู้นำมีความสามารถในการเจรจาทางการค้าเท่าไหร่ ยิ่งมีประสบการณ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ และการเมืองภายในมากเท่าไหร่ หรือยิ่ง ‘เก๋า’ เท่าไหร่ คนญี่ปุ่นก็ยิ่งถูกใจ
ปลายปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา อาเบะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค LDP ด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 80% และในเดือนกรกฎาที่ผ่านมา การเลือกตั้งวุฒิสภาก็มีเสียงจากพรรค LDP ที่ได้รับคะแนนสูงสุด (แม้จะมีผู้มาลงคะแนนต่ำเตี้ยเพียง 27.3% เท่านั้น) นั่นทำให้อำนาจของนายกฯ สี่เทอมไม่มีอะไรสั่นคลอนอีกต่อไป
‘อาเบะโนมิกส์’ ได้ถูกพัฒนากลายเป็น ‘ระบอบอาเบะ’ ที่ส่งให้เขาได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่อาจมีผู้นำญี่ปุ่นคนไหนสามารถเทียบบารมีได้สำเร็จ และแม้จะเปลี่ยนผ่านรัชสมัยแล้ว อาเบะก็ยังอยู่ยาว
แม้จะมีปัญหาใหญ่รออยู่ทั้ง ‘สังคมผู้สูงอายุ’ หรือที่ถูกวิพากษ์ว่า แท้จริงแล้วอาเบะโนมิกส์คือการสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ขึ้นมาใหม่ แต่ในทางปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าอาเบะสามารถ ‘ขี่กระแส’ จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
การอยู่ยาวของอาเบะไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยกติกาพิสดาร ไม่ต้องอาศัยอำนาจพิเศษใดมาหนุนหลัง ผู้นำ ‘ขวา’ ที่ชาญฉลาดอย่างอาเบะก็สามารถชนะเลือกตั้งได้ครั้งแล้วครั้งเล่าได้ เพียงแค่ใช้ ‘ประชาธิปไตย’ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
แต่สิ่งที่รออยู่ในระบบการเมืองญี่ปุ่น ก็คือ พอจากความเป็นขวาในสภาพที่ผู้คนเคยชิน ไปจนถึง ‘เสพติด’ ผู้นำอำนาจนิยมแข็งแกร่งแล้ว การเมืองญี่ปุ่นจะไปทางไหนต่อ จะขวาหนักขึ้นหรือกลับสู่ปกติ และในเวลาที่ปัญหาทั้งหลายยังคงอยู่เสมือนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ญี่ปุ่นจะออกจากความเป็นอาเบะที่อยู่ยงคงกระพันมาถึง 10 ปี ได้อย่างไร เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องวางมือ
ข้อดีของการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็คือ ในที่สุด คนญี่ปุ่นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 103 ล้านคน จะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกเอง