ไม่เชยเลย หากจะยังคงอธิบายอะไรแบบโครงสร้างนิยม (structuralism) นิยามความแตกต่างออกเป็น 2 กล่องใหญ่ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นคู่ตรงข้าม (binary opposition) ‘คนดี’-‘คนเลว’, สมัยใหม่-ดั้งเดิม, พวกเขา-พวกเรา, เมืองหลวง-บ้านนอก, สีขาว-สีดำ, ฉลาด-โง่, ไปจนถึง ‘ความเป็นชาย’ ในผู้ชาย-‘ความเป็นหญิง’ ในผู้หญิง แล้วซุกความหลากหลายซับซ้อนไว้ใต้พรม แกล้งมองไม่เห็นไปซะ
เหมือนกับการแบ่งเพศ (sex) ของมนุษย์โดยทั่วไปออกเป็น 2 เพศสรีระ ระหว่างชายกับหญิง ตามกายภาพชีวภาพ แล้วแกล้งๆ ลืม intersex ไป เพราะไม่เพียงมีประชากรน้อยกว่า แต่ยังมีบรรดา โครโมโซม ฮอร์โมน ต่อมและอวัยวะเพศอะไรต่อมิอะไรคลุมเครือหรือมีมากจนไม่สามารถจับใส่กล่องผู้ชายหรือผู้หญิงได้
ทว่าความแตกต่างทางสรีระระหว่างชายหญิง ก็นำมาซึ่งชุดอธิบายความแตกต่างระหว่างหญิงชายด้านกำลัง สติปัญญา ทักษะ ความสามารถ จิตใจ พฤติกรรมการควบคุมอารมณ์ การมีเหตุมีผล กลายเป็นเพศสภาพ (gender) ที่ต่างกันแบบขั้วตรงข้าม เหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน ผู้ชายแข็งแรงมีพละกำลังกว่า มีเหตุผลมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงอ่อนแอ อ่อนไหว อ่อนโยน อารมณ์แปรปรวน ดราม่าง่าย บ่อน้ำตาตื้นกว่า แม้จะเป็นชุดอธิบายที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมา แต่ก็มีความพยายามจะบอกว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ ซึ่งโดยไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ก็พวกหมอบ้าง นักวิทย์บ้าง หรือแม้แต่พระบ้าง เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศสภาพมันชอบธรรม เป็นความจริงแท้แน่นอนและสากล ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชายเป็นเรื่องธรรมชาติเหมือนกับสิวของวัยรุ่น เหมือนดวงอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันออก และตกที่ทิศตะวันตกเสมอ
แต่เราจะเชื่อใจธรรมชาติได้แค่ไหนเชียว?
ในเมื่อโลกแบนก็เคยเป็นธรรมชาติยุคนึงก่อนจะเพิ่งมารู้ว่าโลกกลม วันดีคืนดีพระราหูอมพระจันทร์ก็เคยเป็นธรรมชาติของจันทรุปราคามาแล้ว แม้แต่ดาวพลูโตที่เริ่มบรรจุอยู่ในระบบสุริยะตั้งแต่ ค.ศ. 1930 ก็ถูก International Astronomical Union ลดสถานะจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) อย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 2006[1]
กรณีเดียวกันกับ Kahun Papyrus ตำราว่าด้วยการแพทย์, คณิตศาสตร์, และการบริหารราชการ ของชาวอียิปต์ เมื่อ 1900 BC กล่าวว่าผู้หญิงมักมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ดราม่าบ้าบอ ขี้แย เป็นเพราะมดลูกของนางไม่สบาย วิ่งพล่านไปทั่วทุกหนทุกแห่งในร่างกาย นักฟิสิกส์ Hippocrates แห่งกรีกเมื่อ 5 BC เองก็เชื่อเช่นนี้เหมือนกัน นอกจากนี้เขายังยืนยันอีกว่า ซ้ำร้ายกายภาพของพวกผู้หญิงยังเย็นและชื้นแฉะโดยธรรมชาติ ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่แห้งและอบอุ่น ซึ่งก็เป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้สารของเหลวในร่างกายเน่าเปื่อย มดลูกกร่อนบุบสลาย และถ้ามดลูกเคลื่อนที่ผิดปรกติ เร่ร่อนไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้พวกผู้หญิงเจ็บป่วยทางอารมณ์ เฉื่อยชา เซื่องซึม ตายด้าน ยิ่งไม่ค่อยได้ปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศอย่างเพียงพอเช่นสาวบริสุทธิ์ คนโสด แม่หม้ายหรือเป็นหมัน มดลูกยิ่งเสื่อมโทรม เพราะการคลอดลูกและเพศสัมพันธ์จะขยายหลอดเลือดลมให้สมบูรณ์ดี ช่วยให้ชำระล้างทำความสะอาดอวัยวะภายในง่ายขึ้น จนนำมาสู่การนิยามอาการโรคชื่อ hysteria[2]
ฟังแล้วตลกดี แต่ที่ตลกร้ายกว่านั้น มันถูกอธิบายมายาวนานหลายศตวรรษ จนต้องรอถึงหลังศตวรรษที่ 18 ที่นักภายวิภาค หมอและนักปรัชญาในยุโรปจะทยอยเลิกกันเชื่อตามกันมาว่า พลังงานและระบบเผาผลาญภายในร่างกายผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย เนื่องจากพวกผู้หญิงเป็นเพศที่พัฒนาอวัยวะของตนเองไม่เท่าของพวกผู้ชายที่สมบูรณ์แบบแล้ว โมเดลร่างกายมนุษย์ที่เพอร์เฟกต์ก็เห็นได้จากของผู้ชาย มีกระโปกและประปู๋ยื่นออกมาเป็นงวงอยู่ด้านนอก ไม่เหมือนพวกผู้หญิงที่กระปี๋ของพวกหล่อน นอกจากจะไม่ยื่นออกมา ซ้ำยังด้วนและมุดหุบเข้าไปอยู่ข้างในร่างกาย ด้วยเหตุนี้ นักฟิสิกส์อีกคนใน Galen ในศตวรรษที่ 2 อธิบายว่าผู้หญิงกับผู้ชายสามารถผลิตน้ำเชื้อ (semen) ได้เหมือนกันจากการกลั่นเลือดที่เป็นของเหลวสำคัญในร่างกาย เพียงแต่ระบบเผาผลาญที่ต่างกัน น้ำกามของผู้หญิงที่ออกมาจึงมีน้อยกว่า เย็นกว่าและสีเข้ม ไม่ใสบริสุทธิ์เท่าผู้ชาย นั่นเพราะอวัยวะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์พอ[3]
กลายเป็นธรรมชาติและความเป็นสากลของมนุษยชาติที่มีกระปู๋เป็นศูนย์กลาง
Phallocentrism ก็คือ แนวคิดทฤษฎีชุด ‘คิด วิเคราะห์ แยกแยะ’ ที่เอะอะอะไรก็ให้คุณค่าความสำคัญแต่จู๋ เชิดชูพลังเพศชาย ความมหึมามลังเมลืองของเครื่องเพศ การโด่การแข็ง การ ‘ฟัน’ หรือสอดใส่ ทะลุทะลวง ไปจนถึงทำความฟินของผู้ชายเท่านั้น[4] เหมือนที่สนใจว่า ‘แตกใน’ หรือ ‘แตกนอก’ ที่เป็นการแตกของผู้ชายเท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเองก็แตกได้เช่นกัน
ผู้หญิงมีอุณหภูมิต่ำกว่า ตัวเย็นกว่าผู้ชายก็เป็นส่วนหนึ่งของ Phallocentrism แม้ว่าปัจจุบันเป็นที่รู้กันจนกลายเป็นความรู้รอบตัวขั้นพื้นฐานแล้วว่า อุณหภูมิร่างกายมนุษย์ซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปอยู่ที่ 36.1C (97F) – 37.2C (99F) และก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนวัดกันตอนไหน มนุษย์อายุอยู่ในช่วงวัยใด, สภาวะของแต่ละปัจเจกบุคคล, อุณหภูมิห้องในขณะนั้น, กิจกรรมที่กำลังทำ, และส่วนไหนของร่างกายที่โดนวัดอุณหภูมิ ซอกรักแร้หนีบ ใต้ลิ้น ร่องตูด รูหู และรู ‘หู’
แต่ในส่วนของมิติทางสังคมวัฒนธรรมนั้น เนื้อตัวร่างกายและเพศวิถีผู้หญิงก็ยังโดนปลูกฝังให้คอยรองรับพวกผู้ชาย ไม่ได้เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของตัวเธอเอง วันดีคืนดีเกิดจะเร่าร้อน hotฉ่า ขึ้นมาเองก็ไม่ได้ พวกเธอจึงกลายเป็น ‘แม่เนื้อเย็น’ ที่แปลว่า ‘น. คำเรียกหญิงสาวที่รัก’ [5] สำหรับผู้ชาย
และไม่ว่าจะผ่านมากี่ศตวรรษ ผู้หญิงก็ยังคงเป็น ‘แม่เนื้อเย็น’ อยู่เช่นนั้นเสมอ ตั้งแต่สุนทรภู่ยังไม่ตาย แต่งเรื่อง ‘พระอภัยมณี’
แม่เนื้อเย็นเป็นไฉนที่ไข้เจ็บ ให้เมื่อยเหน็บในกายสายสมร
กระทั่งมีมหา’ลัย ที่ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเสมอหน้ากับผู้ชาย ก็ยังมีเพลงในวงเหล้าเอาฮา สันทนาการของนิสิตอย่าง ‘กินเหล้าเมาพับ’ ที่แปลงมาจาก ‘กินเหล้าเมากับ’ ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
กินเหล้า เมาพับ เราไม่นับ ว่าลูกเกษตร กินเหล้า เมาไม่ขาด ลูกเกษตร ร้อยเปอร์เซ็นต์
โซดา ก็ไม่ต้องการ ของหวาน ก็ไม่จำเป็น โอแม่เนื้อเย็น ขอเพียงน้ำเย็น ก็พอ
และจนกระทั่งแทบทุกซอกทุกมุมของถนน ทุกภูมิภาค มีร้านสะดวกซื้อบริการโต้รุ่ง 24 ชั่วโมง ผู้หญิงก็ยังคงเป็น ‘แม่เนื้อเย็น’ จนรุ่ง สุริยาเอามาร้องเป็นเพลง ‘รักหนีที่เซเว่น’
ด้วยรอเนื้อเย็น เสียจนเป็นไข้ ไม่รักไม่ว่า หลอกมาทำไม ผู้หญิงอะไร หัวใจโลเล
(นี่ยกตัวอย่างอะไรมาวะ?)
แม้ว่ามันจะฟังดูดีกว่า แม่เนื้อเค็ม เนื้อเยื่อ เนื้อเปื่อย แต่ก็เพราะสำนึกคิดแบบนี้แหละ มันจึงมี hashtag ประเภท #นิ้วเย็นๆหรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ ซึ่งเอาเข้าจริง มันไม่ขำ ซ้ำยังอีเดียต รกหูรำคาญตา พาลอยากจะ report รัวๆ เพราะเป็นอีก sexual harassment ที่ไม่เพียงเสร่อยกระดับให้ใครก็ได้มีสถานภาพเหนือกว่าคนอื่นๆ เพียงเพราะเขามีจู๋ ราวกับเอ็นดุ้นนั้นชนะทุกสิ่ง
เหมือนที่เรียกไอ้จ้อนว่า ‘เจ้าโลก’ แต่ยังดูถูกดูแคลนเพศวิถีหญิงรักหญิงไปพร้อมกับเยาะเย้ยการช่วยตัวเองพวกเธอไปพร้อมๆ กัน ด้วยความคิดที่ว่าทุกเพศสัมพันธ์ต้องมีไอ้นั่นของผู้ชายเป็นองค์ประกอบหลัก
Illustration by Namsai Supavong
[1] International Astronomical Union, http://www.iau.org/public/themes/pluto/
[2]Cecilia Tasca, Mariangela Rapetti, Mauro Giovanni Carta, Bianca Fadda. (2012). Women And Hysteria In The History Of Mental Health. Clinical Practice & Epidemiology in Mental Health, 8, pp. 110-119.
[3] Stephanie E. Libbon. (2007, May). Pathologizing the Female Body: Phallocentrism in Western Science. Journal of International Women’s Studies. Vol. 8 (4), Pp. 79-92.
[4] Sibyl Kleiner, Phallocentrism. Encyclopedia of Gender and Society. Online Publication Date: January 26, 2008
[5] สำนักพจนานุกรม มติชน. (2547). พจนานุกรมฉบับมติชน. กรุงเทพฯ : มติชน, น. 692.