ปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าในถ้ำหลวงสิ้นสุดลงแล้ว ด้วยความช่วยเหลือของคนมากมายจากทั่วสารทิศในโลกและในประเทศเอง แทบทุกคนที่มาช่วยเหลือนั้น ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าเป็นการทำด้วยใจจริงๆ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน และผมอยากปรบมือให้มากเป็นพิเศษกับทั้งทีมนักดำน้ำในถ้ำอาสาสมัคร หน่วยซีล และชาวบ้านชาวนาบริเวณนั้นที่ยอมสละที่นาของตนเองเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำที่ระบายออกมาจากถ้ำด้วย
และอีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะต้องยอมรับก็คือ ครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงไม่กี่ครั้งของรัฐบาลทหารนี้ที่ตัดสินใจอะไรได้ดี คือ ‘ไม่เข้าไปยุ่งย่ามจนเกินไปนัก’ และทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นมาได้ด้วยดี (นี่ชมอยู่แบบจริงจังนะครับ)
เมื่อเรื่องราวของถ้ำผ่านพ้นไป เลยอยากหยิบยกเอาเรื่องของถ้ำกับนักปรัชญาชื่อดังของโลกอย่างเพลโตมาเล่าให้ฟังพอสังเขปหน่อยครับ เรื่องราวเกี่ยวกับถ้ำของเพลโตนี้ปรากฏอยู่ในงานชิ้นสำคัญของเขาที่ชื่อว่า The Republic ครับ อายุอานามก็ไม่น้อยทีเดียว เขียนขึ้นตั้งแต่ราวๆ 380 ปี ก่อนคริสตกาล หรือสองพันกว่าปีมาแล้ว โดยเรื่องของถ้ำที่จริงๆ มีชื่อว่า ‘อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ’ (Allegory of the cave) แต่เรามักเรียกกันแบบสั้นๆ ว่า ‘ถ้ำของเพลโต’ (Plato’s cave) เป็นหนึ่งในเนื้อหาส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดของผลงานชิ้นสำคัญนี้ครับ
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำของเพลโตนี้ก็อย่างที่ชื่อมันบอกแหละครับ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเหตุการณ์ที่เพลโตอุปมา (สมมติเปรียบเปรย) ขึ้นจากจินตนาการ แต่เป็นจินตนาการที่สร้างขึ้นเพื่อนำมาอธิบายความเป็นจริงในโลกจริงอีกทีหนึ่ง จะบอกว่าเป็นการใช้ความไม่จริงมาทำความเข้าใจความจริงก็คงจะพอได้ครับ โดยเนื้อหาอาจจะถือว่าแบ่งหลักๆ ได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนในถ้ำ ส่วนออกจากถ้ำ และส่วนกลับเข้าถ้ำ ครับ ผมจะเล่าแต่พอคร่าวๆ ให้เห็นภาพนะครับ และด้วยความที่อุปมานิทัศน์นี้มันดังมากและซ่อนสัญญะต่างๆ ไว้เยอะมาก หากเขียนถึงหมดจะกลายเป็นตำราวิชาการเอา และมันมีคนตีความรวมถึง ‘อ่าน’ เนื้อหากับสัญญะของอุปมานิทัศน์นี้หลากหลายแบบมากจนไม่สามารถพูดได้เต็มๆ ว่าแบบไหนคือการตีความที่เวิร์คที่สุด ฉะนั้นก็เลยจะทอนเรื่องลงเหลือเฉพาะแก่นเรื่องหลักๆ ของปู่เพลโตแกเลยละกัน
สมมติว่ามันมีถ้ำที่มืดโคตรๆ แห่งหนึ่งนะครับ และในถ้ำนั้นมีนักโทษ (หรือจะเป็นคนที่เกิดและโตมาในถ้ำนั้นเลยก็ยิ่งดี) ถูกตรวนตึงเท้าไว้ไม่ให้หนีไปไหนได้ และถูกบังคับให้หันหน้าเข้าหาฝาด้านหนึ่งของตัวกำแพง ว่าง่ายๆ ก็คือ โดนบังคับให้มองกำแพงไปเรื่อยๆ ในถ้ำมืดๆ ไปไหนไม่ได้ตั้งแต่เกิด และทุกวันก็จะมีการนำของต่างๆ มาฉายภาพให้สะท้อนเงาลงไปบนกำแพงฝั่งที่นักโทษหรือชาวถ้ำนั้นมองอยู่ตลอดเวลา (คิดว่าฉายหนังตะลุงก็ได้ครับ) สิ่งเดียวที่คนถ้ำเหล่านั้นเห็นก็คือ ภาพสะท้อนเงาของวัตถุต่างๆ เหล่านี้นี่เอง (ดูตามรูปได้ครับ)
คำถามก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งที่ชาวถ้ำเห็นตลอดเวลามันคือ ‘เงา’ ของของบางอย่าง หรือวัตถุบางอย่างที่สะท้อนแสงไปลงฝาถ้ำเฉยๆ? เพลโต้บอกว่า พวกชาวถ้ำเหล่านั้นจะเขาใจว่า “เงาเหล่านั้นคือความเป็นจริงยังไงเล่า” เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นวัตถุจริงๆ หรือของจริงๆ แต่ได้เห็นเพียงแค่ ‘เงา’ เพราะฉะนั้นเงาของความจริง จึงกลายเป็นความจริงแท้ในสายตาของพวกเขาไป
แต่หากวันหนึ่ง มีนักโทษหรือคนถ้ำที่ปกติถูกตรวนไว้นี้หลบหนีออกไปได้สักคนหนึ่งล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
หากพูดจากมุมมองของเราเองในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์ภายนอก แรกสุดเลยเขาก็น่าจะเห็นตัววัตถุของจริงที่ถูกนำมาใช้ฉายเงาให้พวกเขาดูตลอดเวลาที่ผ่านมา และรู้ว่าเงานั้นมันไม่ใช่ความจริง แต่มันเป็นเพียง The shadow of the real. หรือเงาของความจริงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วหากเอาตามเวอร์ชั่นของเพลโตเป๊ะๆ เลยคือ นักโทษที่หลุดออกมาได้นี้จะต้องแสบตาเมื่อมองเห็นกองไฟที่ใช้ฉายเงาให้กับตัววัตถุ และสายตาพร่ามัวเกินกว่าจะตัดสินได้ชัดเจนได้ว่าอะไรคือความจริงความปลอม แต่ด้วยความเจ็บแปลบจากแสงกองไฟที่แยงตานั้นเอง เขาจะเลือกกลับไปนั่งจ้องมองความจริงแบบที่คุ้นตา นั่นก็คือ เงาต่อไปก่อน เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเจ็บปวด แม้ว่าเขาจะ ‘ตงิดๆ ใจ’ บ้างแล้วก็ตามกับ ‘สถานะของความจริง’ ที่เงานั้นฉายออกมา เพราะเขาได้เห็น ‘ตัวตนของวัตถุที่ใช้ฉายเงาแล้ว’ เพียงแต่พร่าเลือนเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจมันจริงๆ ได้
อย่างไรก็ดี ความสั่นคลอนต่อความจริงดูจะเกิดขึ้นบ้างแล้วนะครับ แล้วหากเขาออกไปจากถ้ำได้ล่ะ (ถ้าตามเพลโตก็คือ ต้องมีคนมาฉุดกระชากลากถูตานี่ออกไป) ไปสู่โลกภายนอกล่ะ เขาจะเจออะไร? เพลโตว่า ตอนแรกเขาจะแสบตาหนักมาก ปวดเหลือเกิน ปานว่าตาจะมืดบอด และจะก่นด่าคนที่ฉุดกระชากลากถูเขาออกมาจากถ้ำ แต่เมื่อตาของเขาเริ่มชินกับแสงอาทิตย์แล้ว เขาจะเห็นผืนแผ่นดิน ต้นไม้ ใบหญ้า หรืออะไรก็ว่าไป มองเห็นการทอดเงา ตอนกลางคืนเห็นดวงจันทร์ และดวงดาวบนฟ้าสีดำมืด เขาจะเริ่มเข้าใจว่า ‘เงา’ ที่เขาเคยเชื่อมาตลอดว่าคือความจริงนั้น มันไม่ใช่ความจริง แต่เขาจะเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงตรงหน้าได้จริงๆ ก็เฉพาะเมื่อเขาพร้อมพอที่จะมองตรงไปยังดวงอาทิตย์ที่เคยทำให้เขาเจ็บปวดลูกตาโดยตรงเท่านั้น และมองว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร ไม่ใช่เพียงแค่การมองไปยังสิ่งซึ่งแสงอาทิตย์ทอดแสงมาถึงอย่างต้นไม้ใบหญ้าอีกทอดหนึ่ง
การอุปมาในส่วนนี้ของเพลโตมันสำคัญและยิ่งใหญ่มากนะครับ มันเกินกว่าการทำความเข้าใจแค่เรื่องถ้ำไปมาก เพราะหลายๆ ครั้งเรามีเรื่องที่เราคุ้นเคย เราเคยชิน เราเชื่อ เรารัก เราหลง หรือรู้สึกสะดวกใจที่จะเชื่อมัน แต่มันอาจจะไม่จริง มันอาจจะเป็นเพียงแค่ ‘เงาของความจริง’ ที่ถูกซัดทอดแสงมาให้เราเห็นโดยจงใจก็เป็นได้ ในบางครั้งเราเหมือนจะหลุดไปเจอความจริง (วัตถุที่ฉายเงา) บ้าง เจอข้อมูลใหม่ๆ บ้างที่มาแย้งกับความเชื่อที่เราเคยชิน แต่เราจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันเจ็บปวดเกินกว่าที่จะยอมรับได้ (หรือก็คือเจ็บตาเมื่อเห็นกองไฟในเรื่องของเพลโต) เราก็จะทำใจหันกลับไปมองที่เงาที่เราเคยชินและอุ่นใจอีกครั้ง แม้เราจะรู้ว่ามันอาจจะไม่จริงอย่างที่เคยเชื่อก็ได้
แต่จนกระทั่ง เรากล้ามองอย่างตรงไปตรงมา สู่สิ่งที่สร้าง ‘เงา’ ที่เราคุ้นชิน และสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวเรา (เจ็บตา) ที่สุดอย่างดวงอาทิตย์เท่านั้น ที่เราจะเห็นและเข้าใจว่า แท้จริงแล้วความจริงมันคืออะไร การเห็นหรือเข้าใจเพียงผลพวงของการสาดแสงอาทิตย์ หรือบริวารของต้นตอแห่งแสงเงานั้นมันไม่เพียงพอที่จะเข้าใจความจริงได้นั่นเองครับ
และนี่คือสิ่งที่เพลโตพยายามจะเปรียบเปรยไปถึงสถานะของการศึกษาเข้าใจธรรมชาติ และการเป็นปราชญ์ด้วย แต่ผมคิดว่ามันสะท้อนความเข้าใจต่อการเมืองและสังคมไทยไม่น้อยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อนักโทษผู้คุ้นชินกับแสง เข้าใจในสิ่งที่เป็นแล้ว และมองว่าโลกภายนอกนั้นดีกว่าในถ้ำ เขาพยายามกลับไปยังถ้ำเพื่อจะชักชวน ช่วยเหลือเพื่อนนักโทษผู้ยังคงเห็นแต่เงาให้ได้ออกมาเห็นแสงและความจริงบ้าง เขาจึงกลับไปยังถ้ำมืดนั่นอีกครั้ง แต่ด้วยดวงตาที่ชินแสงของเขา เมื่อไปถึงถ้ำมืด เขาจึงเสมือนตาบอดอีกครั้ง เหล่านักโทษในถ้ำคนอื่นๆ เมื่อเห็นนักโทษที่กลับมาตาเหมือนจะบอด ก็จะมองว่า “โห การออกไปนอกถ้ำนั้นมันช่างเป็นอันตราย เป็นเรื่องเลวร้าย ขนาดทำให้ไอ้นั่นตาบอดเลย” เมื่อเห็นเช่นนั้น คนเหล่านี้จะไม่ยอมออกไปจากถ้ำโดยเด็ดขาด และถึงขนาดว่า หากมีใครมาพยายามลากพวกเขาออกไปจากถ้ำ พวกเขาอาจจะถึงขั้นรุมทำร้ายหรือฆ่าคนที่คิดจะมาลากพวกเขาออกจากถ้ำเลยก็ได้
แน่นอนครับ ว่ามันก็คือการเปรียบเปรยความพยายามของนักปราชญ์ที่พอเข้าถึงความรู้แล้ว หันกลับมาพยายามจะสนทนาหรือ ‘นำทาง’ เหล่าเพื่อนมนุษย์ให้หลุดออกจากกรอบความคิดความเข้าใจแบบเดิม (อาจดูน่าหมั่นไส้นะครับ แต่มันก็เป็นความจริงของโลกวิชาการสายหอคอยอยู่) แล้วพวกเขาก็มักจะพบกับความงุนงงใหม่ หรือความเจ็บปวดชุดใหม่ว่า ทำไมพวกมึงถึงยังโง่กันอยู่ปานนี้ ทำไมแค่นี้ไม่เก็ตกันวะ หรือการโดนตัดสัมพันธ์เพราะคนเหล่านั้นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเสนอและมองว่าสิ่งที่เสนอนั้นคือความชั่วร้าย แน่นอนหลายๆ ครั้งหากดึงดันจะพาคนเหล่านี้ออกจากถ้ำให้ได้ก็อาจโดนทำร้ายเองจริงๆ อย่างที่หลายคนถึงกับต้องหนีตายไปอยู่ที่อื่น และไม่อาจกลับมาอยู่ในสังคมถ้ำที่ไม่ต้อนรับเขาได้อีกต่อไปแล้ว เป็นต้น สิ่งที่เพลโตเขียนเมื่อราวๆ 2300 กว่าปีที่แล้วนี่มันดูสดใหม่จริงๆ นะครับ
แต่คำถามต่อเนื่องจากอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำนี้มันไม่ได้จบแค่นี้ครับ เพราะมันไปโยงกับแนวคิดเรื่องทฤษฎีแห่งแบบ หรือ Theory of Form ของเพลโตด้วย เพราะเพลโตนำพาเราไปสู่คำถามของความจริงที่ซ้อนอยู่ในความจริงอีกชั้นหนึ่งครับว่า หาก ‘เงา’ ที่คนถ้ำเคยถูกบังคับให้มองนั้น มันเป็นเพียงแค่ “เงาของความจริง ที่มาจากการฉายเงาของวัตถุแท้จริงแล้ว” ไอ้ตัววัตถุที่แท้จริงต่างๆ ที่เราเห็นนั้น มันก็เป็นเพียงแค่ ‘สิ่งที่ฉายทอดต่อมา’ ของอะไรบางอย่างที่จริงแท้ยิ่งกว่าหรือเปล่า? เพลโตเชื่อเช่นนั้นครับ และนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘แบบ’ หรือ form นั่นเอง
อย่างก่อนที่เราจะสลักรูปปั้น หรือสร้างบ้านขึ้นมาสักหลัง เราต้องมีภาพของแบบในหัวของเราขึ้นมาก่อนในฐานะความจริงสูงสุดที่เราอยากจะไปถึงและทำให้ได้อย่างนั้น และเราก็สร้างวัตถุแท้จริง ‘ตามรอยแบบสูงสุดที่เราคิดไว้ขึ้นมา’ เพราะฉะนั้นวัตถุที่เป็นความเป็นจริงที่เราเห็นนั้น ก็อาจจะเป็นเพียง ‘เงาของแบบ’ อีกทีหนึ่งก็ได้เช่นกัน และของที่เป็นจริงอยู่ในตอนนี้ก็อาจจะไม่ได้สวยสมบูรณ์ตาม ‘แบบ’ ที่อยากให้เป็น ผมคิดว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็เช่นกันครับ มันไม่มีประเทศชั้นนำ ก้าวหน้าพัฒนาแล้วที่ไหนหรอกที่ ‘มีความเป็นจริงที่เป็นอยู่’ สมบูรณ์ไร้ที่ติแล้ว ไม่มีเลย แต่อย่างน้อยมันก็พยายามวิ่งตามรอย ‘แบบ’ หรือหลักการที่วาดฝันไว้ว่าอยากจะเป็นนะครับ อย่างน้อยๆ ก็มีการลงมือพยายามสร้างของจริงเพื่อตามรอยแบบแล้ว ไม่ได้เลือกจะนั่งจมปลักอยู่กับที่ในถ้ำ และเลือกอย่างมุ่งมั่นว่า ‘จะเพียงจ้องมองแต่เงาของวัตถุจริง’ กันต่อไป
มันก็อย่างงี้แหละครับ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’….’ประชาธิปไตย 99.9%’