ถ้าคุณมีชีวิตอยู่เพื่อใช้โซเชียลมีเดียในปี 2017 (ซึ่งก็แปลว่าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่นั่นแหละ) คุณคงคุ้นเคยกับการ ‘ดักควาย’ และเข้าใจดีว่าผมกำลังพูดถึงอะไรอยู่
การ ‘ดักควาย’ (ซึ่งตัวคำเองก็อาจจะทำให้เกิดดราม่าได้เพราะมันเป็นคำที่เรียกคนอื่นว่า ‘ควาย’ ด้วย และการจะ ‘ดัก’ หรือไม่ ‘ดัก’ ก็ขึ้นกับแรงจูงใจของผู้สื่อสารเป็นหลัก) ดูเหมือนจะอยู่คู่โซเชียลมีเดียไทยมาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม คุณอาจเห็นอวตารของมันเพื่อใช้เสียดสีทางการเมือง โดยเฉพาะใช้เสียดสี ‘อีกฝั่ง’ ที่ตรงข้ามกับผู้ดัก โดยดึงคาแรกเตอร์บางอย่างของขั้วการเมืองหนึ่งมาทำให้เกินจริงไปมากๆ เพื่อสื่อว่า ‘ใครเชื่อก็โง่แล้ว’ (และเมื่อมีอีกฝ่ายเชื่อ ก็จะถือเป็นความตลกขบขัน) หรืออาจดักโดยไม่เกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองเชิงสถาบันเลยก็ได้
เมื่อครั้งที่คุณตัน อิชิตัน ใช้วิธีการโปรโมตสินค้าผ่านทางโปรโมชั่นแจกทอง แจกไอโฟน ก็มีผู้ทำเพจดักเพื่อประชด เสียดสีวิธีการทำการตลาดเช่นนี้ (และที่สำคัญกว่าสำหรับผู้ดัก คือประชดผู้ที่เขาคิดว่าหลงเชื่อเป็นทาสการตลาด) โดยเพจดักเหล่านี้อาจมีการใส่คีย์เวิร์ดบางอย่างเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เนต ให้เป็นที่รู้กันว่านี่ไม่ใช่การตั้งใจหลอกลวง แต่เป็นเพียงการเล่นมุกเท่านั้น (เช่น บอกว่า “แจกไอโฟน.jpg” – ตรง “.jpg” นี้เอง ที่เป็นตัวบอกผู้ที่รู้เท่าทันเรื่องคอมพิวเตอร์ ว่า ‘นี่เป็นมุก ไม่ได้ตั้งใจหลอกให้เชื่อจริงๆ’) หรืออาจไม่ใส่คีย์เวิร์ดใดๆ เลย แต่ใช้วิธีการเขียนที่โอเว่อร์เกินจริง เพื่อให้ผู้รับสารส่วนใหญ่เกิดตงิดใจ และรู้ว่าทั้งหมดนี้คือการเล่นมุกในที่สุด
การ ‘บอกให้รู้โดยที่ไม่บอกให้รู้’ นี้ต้องทำอย่างระมัดระวังมาก เพราะถ้าตั้งใจบอกให้รู้อย่างชัดเจนมากๆ มุกตลกนั้นก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ (หรือ ‘ตลก’ น้อยลง ในมุมมองของคนที่รู้เท่าทัน) แต่ถ้าไม่บอกไว้เลย ก็จะเป็นเพียงการหลอกลวงเท่านั้น (เช่น การทำเพจคุณตันปลอม โดยที่ทำทุกอย่างให้เหมือนเพจจริง และไม่ใส่เงื่อนงำไว้เลย ก็เป็นเพียงการหลอกลวง ไม่ใช่การเล่นมุก) การรักษาสมดุลระหว่างการบอก-ไม่บอก จึงเป็นคล้ายกับการไต่เส้นลวดบางๆ ที่ถ้าโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ก็จะเป็น ‘การแสดง’ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น การทำคลิปไวรัลที่หลอกให้คนเชื่อว่าความจริงเป็นอย่างหนึ่งโดยไม่เฉลย แล้วเมื่อถูกตั้งคำถาม (เพราะมีคนจำนวนมากดูออกว่าเป็นการเซ็ตอัพ) ก็ออกมาอธิบายว่าคิดว่าคนดูจะรู้เช่นนั้นอยู่แล้ว แต่นี่ก็อาจเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับบางคน เพราะตัวงานต้นทางไม่ได้ใส่ ‘เงื่อนงำ’ ที่เป็นเหมือนการขยิบตาบอกคนดูว่า ‘เราก็รู้ว่าคุณรู้’ ไว้เพียงพอ
ในสภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันสุดขั้ว การเล่นมุกแบบ ‘ดัก’ ก็ถูกจับตามองมากขึ้น เช่น ครั้งที่เกมโปเกมอนโด่งดังมากๆ มีผู้ที่เชื่อว่าเกมโปเกมอนโกเป็นความตั้งใจที่จะสอดแนมของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเขาเชื่อเช่นนั้นจริงๆ) แต่เมื่อมีผู้นำความจริงข้อนี้มาขยายให้เป็นมุกตลก เช่น (ข้าพเจ้าเอง) ขยายผลออกมาว่า “โปเกมอนโกเป็นประดิษฐธรรมของอเมริกาเพื่อสอดแนมศาลพระภูมิของไทย จะปล่อยภาพแบบ submilinal ทุกๆ 1/25 วินาที เพื่อให้คนต่อต้านบ้านเกิด และการอัพเกรดมอนสเตอร์อย่าง Eevee จะทำให้ไทยประสบวิกฤติพลังงาน” (นี่เป็นมุกตลกที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะเข้าข่ายเหลวไหลไม่น่าเชื่อแล้ว) แต่หลังจากที่มุกตลกนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ยังมีคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงอีก (ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีคนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าอเมริกาจะสอดแนมประเทศอื่นๆ ทุกวิถีทาง)
Enter Poe’s Law
การ ‘ดัก’ เหล่านี้ มีฐานอยู่บนข้อสังเกตที่มีชื่อว่า Poe’s Law (กฎของโพ) ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่ถูกตั้งขึ้นโดย นาธาน โพ (Nathan Poe) ในปี 2005 (แต่แน่นอนแหละครับ การดักมีมาก่อนหน้านั้น) ในเว็บบอร์ดชาวคริสเตียน บนกระทู้เกี่ยวกับความเชื่อแบบ Creationism (เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง) มีคนคอมเมนต์บอกโพว่า “ดีนะ ที่คุณใส่อีโมติคอนขยิบตามาเป็นสัญลักษณ์ ไม่อย่างนั้น คนอื่นคงไม่รู้ว่าเล่นมุก แล้วคิดว่าคุณพูดจริง”
นาธาน โพ จึงตอบว่า “ถ้าผมไม่ได้ใส่อีโมติคอนขยิบตา 😉 หรือไม่ใส่สัญลักษณ์ที่แสดงว่านี่เป็นมุกตลกอื่นๆ ไว้เลย ก็คงเป็นไปไม่ได้เลยอะครับ ที่คนอื่นจะรู้ว่าผมคิดว่าพระเจ้าสร้างโลกจริงๆ หรือเปล่า เพราะจะต้องมีบางคนเชื่อว่าผมคิดอย่างนั้นจริงๆ แน่”
อันที่จริงแล้ว ก่อนที่โพจะตั้งข้อสังเกตดังกล่าวไว้ในปี 2005 ก็มีการตั้งข้อสังเกตในจุดเดียวกันตั้งแต่ปี 1983 โดย เจอร์รี่ ชวาตซ์ (Jery Schwarz) ในเครือข่าย Usenet โดยเขาเตือนว่าการแสดงอารมณ์ขันแบบเสียดสี (sarcasm) บนอินเทอร์เนตนั้นจะทำให้ถูกเข้าใจผิดได้ง่ายมาก เขาบอกว่า “เนื่องจากอินเทอร์เนตไม่มีเสียง ไม่มีภาษากาย ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณเล่นมุกหรือคุณพูดจริง การเล่นมุกจึงถูกเข้าใจผิดได้ง่ายมาก อีโมติคอนยิ้ม 🙂 จึงควรถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่าคุณเล่นมุก ถ้าคุณเล่นมุกโดยไม่มีสัญลักษณ์นี้ ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่ามุกนั้นเป็นการเสียดสีอย่างชัดเจนเท่าไหร่ก็ตาม ก็อย่าประหลาดใจ ถ้าจะมีคนเชื่อว่าคุณคิดเช่นนั้นจริงๆ” แปลง่ายๆ ว่า ไม่เห็นหน้า มีแต่ตัวหนังสือ คนจะรู้ได้ไงว่าเล่นมุก
แต่ถึงแม้เห็นหน้า และมีภาษากายแล้ว การเล่นมุกเสียดสีที่ ‘สมจริงเกินไป’ (ซึ่งอาจตลกสำหรับคนที่รู้ทัน) ก็ยังไม่พ้นจะถูกมองว่าเป็นเรื่องจริงด้วย เช่น ในการทดลองครั้งหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วม 332 คน ผู้เข้าร่วมได้ดูรายการ Colbert’s Report ซ่ึ่งเป็นรายการเสียดสี โดย Stephen Colbert ซึ่งเป็นฝ่ายลิเบอรัลนั้นเสียดสีฝั่งคอนเซอร์เวทีฟด้วยการโชว์ว่าตัวเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟแบบเกินจริง (เพื่อให้ตลก) เมื่อดูคลิปจบ ผู้ชมที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟดันกลับตอบแบบสอบถามว่า พวกเขาเชื่อว่า Stephen Colbert เป็นคอนเซอร์เวทีฟจริงๆ (ไม่ได้แกล้งทำ) ในขณะที่ผู้ชมฝั่งลิเบอรัล (ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ Colbert) นั้นมองอย่างถูกต้องว่า Colbert นั้นเพียงเล่นมุกเสียดสีเฉยๆ เขาไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ปัจจุบัน กฎของโพ (ซึ่งจริงๆ เป็นข้อสังเกตมากกว่า) ก็ถูกนำไปขยายความหมายให้ไม่จำกัดเพียงเรื่องพระเจ้าสร้างโลก หรือเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่ยังสามารถถูกนำไปใช้กับกรณีความเชื่อใดๆ ที่มีลักษณะสุดขั้ว (extermism) ได้ด้วย เพราะเมื่อมีใครคนหน่ึงหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีความคิดแบบสุดขั้วแล้ว การที่คุณจะแยกว่า คนคนนั้นเชื่อแบบนั้นจริงๆ หรือเป็นการเล่นตลกที่ ‘เกินจริง’ นั้นเป็นเรื่องยากมากจนแทบทำไม่ได้เลย
ต่อมา Poe’s Law ยังถูกพัฒนาเป็น Poe’s Corollary ซึ่งหมายถึง ‘การที่มีคนเชื่อในความคิดสุดโต่ง แต่คนคิดว่าเขาไม่ได้เชื่ออย่างนั้นจริง และคิดว่าเขาเล่นมุก’ และ Poe’s Paradox ซึ่งหมายถึง ‘การที่ไม่ว่าจะแสดงออกอย่างไร ก็มีคนคิดว่าคุณอยู่ฝ่ายตรงข้าม เพราะถ้าคุณแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน คนก็จะคิดว่าคุณไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับเขาอยู่แล้ว ในขณะที่ในทางกลับกัน ถ้าคุณแสดงออกว่าเห็นด้วยอย่างชัดเจนเกินไป คนก็จะคิดว่าคุณล้อเขาอีก’
โลกนี้มันซับซ้อน!