หลังจากขึ้นปีใหม่ 2561 ได้หมาดๆ ก็มีคำประกาศตัวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ทำให้เกิดกระแสฮือฮาในระดับหนึ่งขึ้นมาในโลกโซเชี่ยล นั่นก็คือ การประกาศตัวยอมรับว่าตนเองคือ ‘นักการเมือง’ หรือเอาให้ถูกต้องชัดๆ ก็คือเป็น ‘นักการเมืองที่เคยเป็นทหาร’[1] นี่นับเป็นครั้งแรกที่พลเอกประยุทธ์ยอมรับออกมาว่า “เออ สรุปฉันเป็นนักการเมืองแหละ” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธความเป็นนักการเมืองของตนมาโดยตลอด
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ‘ความเป็นทหาร กับนักการเมือง’ ในประเทศไทยในประวัติศาสตร์แล้วก็ดูจะแยกไม่ออกสักเท่าไหร่ เพราะอำนาจของกองทัพ และ/หรือคนของกองทัพมีอิทธิพลต่อโลกทางการเมืองเรื่อยมา ด้วยความที่รัฐบาลพลเรือนไม่ได้เคยสามารถมีอำนาจในการควบคุมเหนือกองทัพได้อย่างเต็มไม้เต็มมือจริงๆ จังๆ เสียที (ฉะนั้นการปฏิรูปกองทัพจึงเป็นข้อเสนอที่สำคัญอย่างยิ่งและต้องเน้นย้ำเรื่อยๆ ในประเทศนี้) เมื่อรัฐบาลพลเรือนควบคุมไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ กองทัพก็มีตัวตนอยู่ในฐานะ ‘สถาบันการเมืองภายนอกกลไกทางการเมืองหลักของพลเรือน’ และก็อย่างที่รู้กัน นำมาซึ่งการรัฐประหาร 12 – 13 ครั้ง (แล้วแต่วิธีนับ) นำมาซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งจากการแต่งตั้ง อย่างพลเอกเปรม ไปจนถึงนายกรัฐตรีจากการเลือกตั้งอย่างพลเอกชวลิต เป็นต้น
โลกของการทหารในไทยว่ากันแบบตรงๆ แล้ว จึงไม่เคยเป็นโลกที่ตัดขาดจากความเป็น ‘นักการเมือง’ โดยตัวมันเองอยู่แล้ว ฉะนั้นในแง่นี้การที่พลเอกประยุทธ์จะออกมายอมรับว่าตนเองเป็นนักการเมืองด้วยก็ดูจะเป็นอะไรที่สำหรับผมแล้วเป็นการพูดที่ดูจะกำปั้นทุบดินมาก เหมือนการบอกว่า H2O คือ น้ำ อะไรแบบนี้ คือ “เออ โอเค แล้วไง?” ไม่ได้มีอะไรใหม่ให้แปลกใจนัก ถ้าพลเอกประยุทธ์ออกมาบอกว่า “ผมไม่ใช่ทหาร แต่ผมคือนางฟ้า” อันนี้อาจจะตกใจกว่า ไม่เพียงเท่านั้น การตีความเรื่องทหารกับความเป็นนักการเมืองนั้น มันก็มีดีเบตในตัวมันเองอยู่
ด้วยความที่กองทัพคือสถาบันทางการเมืองแบบหนึ่ง ฉะนั้นหากตีความแบบกว้างๆ ทหารทุกคนก็คือนักการเมืองแบบหนึ่งอยู่แล้วหรือเปล่าล่ะ? แน่นอน ข้อคัดค้านก็มีว่า หากตีความแบบนั้นทุกคนทุกอย่างก็คือนักการเมืองหมดนั่นแหละ ซึ่งในแง่นี้หากทุกอย่างและทุกสิ่งคือนักการเมือง ความเป็นการเมืองก็จะไร้ซึ่งความหมายในตัวมันเองไปโดยปริยาย ฉะนั้นโดยทั่วไปเราจึงจำกัดความหมายของนักการเมืองไว้ที่คนที่ประกอบอาชีพหรือเลี้ยงชีพด้วยเงินค่าตอบแทนในฐานะคนในตำแหน่งทางการเมืองแบบโดยตรง
ซึ่งพลเอกประยุทธ์ที่รับทั้งเงินเดือนในฐานะนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) และหัวหน้า คสช. (ฝ่ายความมั่นคง/กองทัพ) นี่ก็เอาตรงๆ ว่า เป็นทั้งนักการเมืองและทหารพร้อมๆ กันในตัวอย่างไม่จำเป็นจะต้องมาบอกอะไรกันอยู่แล้ว
เอาจริงๆ ความแปลกประการเดียวคือกล้าบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมาก่อนหน้านี้เสียมากกว่า
อย่างไรก็ตามท่าทีที่ปฏิเสธความเป็นนักการเมือง หรือเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาของพลเอกประยุทธ์นั้น นอกเหนือจากการขาดอุปทานยางอายอย่างหนัก ไม่ก็มีอุปสงค์ผิวหน้าที่หนาเกินไปมากแล้ว ผมคิดว่าปัจจัยหลักในเชิงโครงสร้างที่เราต้องมาพิจารณากันด้วยก็คือ สถานะของกองทัพในฐานะ ‘ตัวตนทางการเมืองที่แยกตัวออกจากกลไกเชิงการเมืองหลักของพลเรือน’ ที่ว่ามานั่นแหละครับ
การอธิบายว่านักการเมืองเลว นักการเมืองโกง นักการเมืองฉ้อฉลอะไรต่างๆ นั้น ไม่ใช่วาทกรรมที่ใหม่อะไร ฉะนั้นในมุมนี้ทุกคนก็คงคิดกันอยู่แล้วว่า มันก็เป็นเรื่องปกติที่จะไม่อย่างเคลมว่าตัวเองเป็นนักการเมือง เพราะถ้าเคลมไป ก็เท่ากับเข้าไปร่วมเกลือกกลั้วในฐานะส่วนหนึ่งของความเลวทรามต่ำช้าที่ว่ามา กรณีพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมรับก็เช่นเดียวกันหรือเปล่า? ก็อาจจะมีส่วนครับ อย่างไรก็ตามในความไม่ใหม่ของวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ นี้ มันมีความ ‘ไม่โดดเดี่ยว’ อยู่ด้วยในมุมมองของผม คือ ในสภาวะปกติ ไม่ได้มีแต่นักการเมืองหรอกที่ถูกมองว่าเลว ว่าโกง นอกจากนักการเมืองแล้ว ก็เห็นก่นด่ากันอยู่ตลอดไม่ใช่หรือครับ? ระบบราชการเลว นายทุนเลว ตำรวจเลว ทหารเลว ฯลฯ (หลักๆ คือ อะไรที่ไม่ใช่ตัวกูก็ดูจะเลวไปเสียเกือบหมดแหละ)
ลองดูอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์, จอมพลถนอม, ฯลฯ สิครับ แต่ละคนระดับท็อปทั้งนั้นทั้งทางตำแหน่ง และความเลวร้าย ฉะนั้นในสภาวะทั่วๆ ไปแล้วความเป็นทหาร ตำรวจก็ไม่ได้มีภาพที่ดีเด่อะไรนักหรอก
ฉะนั้นในแง่นี้ที่ ‘ความเลว’ ของนักการเมืองที่ในสภาวะปกตินั้นไม่ได้แยกตัวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจาก ‘วาทกรรมความเลวต่ออาชีพอื่นๆ’ นั้น แต่กลับถูกปฏิเสธไม่อยากเข้าไปเกลือกกลั้วด้วย เพื่อให้ตัวเองดูไม่เลวนั้น ดูจะไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองนัก ว่าง่ายๆ ก็คือ ในสภาวะปกติ การบอกว่าตัวเองเป็นทหาร หรือเป็นตำรวจ หรือเป็นนายทุน ก็ดูจะมีชะนักของความเลวเชิงวาทกรรมติดตัวอยู่ไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองนัก แล้วอะไรกันเล่าที่เป็นปัจจัยให้จู่ๆ อาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นคนของกองทัพ เป็นทหาร ที่เคยเลวร่วมกันกับนักการเมือง (ในเชิงวาทกรรม) ผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ (1) สถานะของกองทัพที่แยกตัวหรือพยายามแยกตัวจากกลไกทางการเมืองหลักโดยพลเรือนที่กล่าวถึงไปบ้างแล้ว และ (2) สภาวะการแบ่งขั้วทางการเมืองของตัวพลเรือนเอง
ปัจจัยสองประการที่ว่านี้เองมีความสำคัญมากครับในการ ‘ลบภาพเลวร้าย’ ของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ อย่างทหารหรือกองทัพ เพราะเมื่อกองทัพวางตนในฐานะสถาบันที่แยกตัวออกมาจากกลไกหลักของการเมืองฝั่งพลเรือนแล้ว ในสภาวะแยกขั้วในฝั่งพลเรือนขึ้นมา กองทัพจะมีสถานะใหม่ในการเป็น ‘ทางเลือกที่สาม’ ในการมาเป็นฮีโร่เข้าแก้ปัญหาในทันที
ที่ว่ามานี่ไม่ใช่ผมพูดลอยๆ อะไรมาเองนะครับ แนวคิดที่ว่านี้เรียกว่า Third Position หรือ ‘ตำแหน่งที่สาม’ ครับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดเรื่อง Political Soldier หรือ ‘นายทหารการเมือง’ ที่เราจะพูดถึงอีกทีหนึ่ง แนวคิดเรื่อง Third Position นี้ แม้จะมีมานานแล้วเวลาโลกทางการเมืองเข้าสู่วิกฤติและการแบ่งขั้ว แต่โดยทั่วๆ ไปถือว่าลงหลักปักฐานก็ในช่วงศตวรรษที่ 20 ราวๆ ทศวรรษ 1930s นี่แหละครับ เมื่อกระแสแนวคิดของ ‘ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา’ ในโลกการเมืองพลเรือนเกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนและรุนแรง
แนวคิดหลักเรื่อง Third Position จึงเป็นการเคลมตัวเองในฐานะแนวคิดหรือฝั่งทางการเมืองซึ่ง “ไม่เป็นทั้งฝ่ายซ้าย ไม่เป็นทั้งฝ่ายขวา แต่ก้าวล้ำ (go beyond) ทั้งสองฝั่งไป”
คำพูดดูคุ้นๆ มั้ยครับ เอาจริงๆ เราจะได้ยินพลเอกประยุทธ์พูดคำอะไรในลักษณะนี้บ่อยมากครับ คือ ไม่อยู่ฝั่งไหน แต่ตนเป็นของประชาชนทุกคน ล่าสุดก็ครั้งที่ประกาศตัวว่าเป็นนักการเมืองที่เพิ่งอ้างถึงนี้เลย แกว่าไว้งี้ครับ “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม ประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน”
วิธีการเคลมในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามของขั้วตรงข้ามที่กำลังตีกันอยู่ และบอกว่าตัวเองนั้นแยกขาดจากกลุ่มเหล่านั้นด้วยการ Go beyond หรือไปไกลกว่า นี้เองที่เป็นวิธีการให้คำอธิบายหลักของวิธีคิดแบบ Third Position ที่ว่ามานี้ ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือมีเฉพาะประเทศไทยอะไร พรรค Terza Posizione ในอิตาลี หรือ Third Way ในฝรั่งเศสเองอะไรแบบนี้อยู่
ทีนี้ จากวิธีคิดแบบ Third Position ในช่วงทศวรรษ 1930s นี้เอง ก็ได้เริ่มพัฒนามาเป็นรูปแบบที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1960s – 1970s โดยกลุ่ม Britain’s National Front และ Official National Front ครับ โดยเฉพาะกลุ่มขวาสุดโต่งหน้าใหม่ของพรรคในสมัยนั้นอย่าง Nick Griffin, Patrick Harrington และ Derek Holland ข้อเสนอของกลุ่มนี้เรียกว่า ‘Political Soldier หรือนายทหารการเมือง’ นั่นเอง
ว่าง่ายๆ ก็คือ ด้วยเงื่อนไข 2 ประการที่ผมอธิบายไว้ก่อนหน้านี้นั้น มันทำให้กลุ่มขวาสุดโต่งอย่าง Official National Front มองว่าการเมืองมันจะ “ยุติความขัดแย้งได้ ก็ด้วยการมีฮีโร่ทางการเมืองผู้ซึ่งสละสิ้นทุกหยาดเหงื่อแรงกายของตนเพื่อชาติ” …เห็นมั้ยครับ อีกหนึ่งคำพูดสุดคลาสสิคของพลเอกประยุทธ์เลย
แนวคิดหลักของ Political Soldier นี้ก็คือ การมองหา ‘คนใหม่’ หรือ New Man ซึ่งไม่ใด้แปลว่า ‘คนใหม่’ ตามตัวอักษรนะครับ แต่ New Man นี้เป็นคอนเซ็ปต์ของบุคคลในอุดมคติที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางมวลมนุษย์ทั่วไปที่ ‘ไม่สมบูรณ์ตามอุดมคติ’
ซึ่งในกรณีของ Political Soldier นี้ New Man ของพวกเขาก็คือ ผู้ซึ่งละทิ้งตัวตนหรือความต้องการในทางวัตถุ และอุทิศตนเพื่อชาติภายใต้คุณธรรมความดีในฐานะตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า (Religious zeal หรือ Zealot)
โอโหยยยย เห็นมั้ยครับ คลาสสิกรัฐประหารไทยมากๆ เลย ไม่ได้มีความต้องการทางวัตถุใดๆ (ขนาดจะใส่นาฬิกาแพง ยังเป็นแค่นาฬิกายืมเพื่อนมาเลย ไม่ได้มีเป็นของตนเอง) และตนอุทิศเหงื่อทุกหยาด พลังงานทุกหยด เหนื่อยจนสายตัวแทบขาดเพื่อแก้ปัญหาของชาติ …ซึ่ง New Man ที่เรียกว่า Political Soldier ที่เป็นฮีโร่คนสำคัญยิ่งของฝ่ายขวาสุดขั้วนั้น จะเกิดหรือผุดขึ้นมาจาก ‘พวกซึ่งไม่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติ’ จากขั้วต่างๆ ที่ทะเลาะกันอยู่ไม่ได้หรอกครับ มันก็ต้องมาจากพวกที่แยกตัวออกมาจากวังวนของการทะเลาะกันนั้น และวางตัวอยู่ ‘เหนือขึ้นไปจากพลเรือนผู้ไม่สมบูรณ์แบบที่ตีตบกันอยู่’ อย่างเหล่า Third Position ทั้งหลายนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ตลอดมาพลเอกประยุทธ์ปฏิเสธใน ‘ความไม่เป็นนักการเมือง’ ของตนเองนั้น แน่นอนว่าในเบื้องต้นที่สุดมันอาจจะเป็นการไม่ต้องการไปเกลื้อกกลั้วกับวาทกรรมเปื้อนบาปที่ ‘นักการเมืองพลเรือน’ ต้องเจอ แต่ภายใต้ความไม่ปนเปื้อนต่อความเลวร้ายนั้น มันวางอยู่บนเงื่อนไขที่สำคัญมากๆ ในเชิงโครงสร้างทางการเมืองและอิทธิพลทางความคิดแบบฝ่ายขวาหัวรุนแรงด้วยครับ นั่นก็คือ การรักษาสถานะของตนเองในฐานะ New Man หรือ Political Soldier ให้อยู่ต่อไป เพราะว่าเฉพาะในสถานะของการเป็นฮีโร่ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้เท่านั้น ที่การอ้างว่าตนคือทหารถึงจะมีค่าเท่ากับตนคือคนดี ผู้ซึ่งอุทิศตนเพื่อชาติ ไม่เลวเหมือนกับนักการเมืองที่ตบกันอยู่นั้น หากกลับไปสู่สภาวะปกติที่ไม่แยกขั้วอะไร การอ้างที่ว่าก็แลดูจะหมดประโยชน์แบบที่ว่าไปมาก
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่าเราต้องพิจารณากันก็คือ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกครับที่ความเห็นจะไม่ตรงกันบ้าง ไม่ลงรอยกันบ้าง และต้องทะเลาะแบ่งฝั่งกันบ้าง มันเรื่องปกติมากๆ แต่ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ การที่กองทัพแยกตัวตนของตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมโดยกลไกทางการเมืองของพลเรือนชนิดเกือบสมบูรณ์แบบนั้น มันทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา กองทัพที่ปกติก็โดนคนก่นด่า (ถามพวกที่ไปเรียน รด. ได้ครับ บ่นทหารแทบทุกคน) จะเปลี่ยนสถานะเป็น New Man ของ Political Soldier ขึ้นมาได้ตลอด และก็จะถูกเรียกร้องในฐานะ “ฮีโร่ของฝ่ายขวาในการมาหยุดวิกฤติความขัดแย้งอันเป็นเรื่องปกติมากๆ ในทางระบอบลงเสียให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใด” แบบที่ กปปส. ทำมาแล้ว และหากเป็นแบบนี้ก็คงจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อีก
วิธีการเดียวคงจะหนีไม่พ้นการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้มีขึ้นมากมายครับ อย่างข้อเสนอที่คลาสสิกที่สุดของ Samuel P. Huntington ในงานชื่อดังของเค้า The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations (1957) ที่อธิบายประวัติศาสตร์รวมถึงปัญหาของกองทัพในรูปแบบเก่าของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1789 – 1955 พร้อมทั้งอภิปรายข้อเสนอเรื่องการทำสถาบันทหารให้เป็นมืออาชีพ หรือ Professionalization of Military อย่างละเอียดละออด้วย ค่อนข้างอยากลองให้อ่านดูครับในฐานะข้อเสนอเริ่มต้นของการจัดการกับกองทัพ
ผมคิดว่าการจะมาคาดหวังที่จะอยู่ในโลกของฮีโร่ฝ่ายขวา ลงมากู้วิกฤติที่ไม่ควรจะถูกนับว่าเป็นวิกฤติตลอดเวลา และพบกับความฉิบหายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่เคยจำนี้ (นับสิครับ กี่รอบแล้วกับรัฐประหาร และ Political Soldier กู้วิกฤติในประวัติศาสตร์การเมืองไทย) มันควรยุติลงได้แล้ว ไม่งั้นสักวันหนึ่งเราอาจจะได้ New Man ในอุดมคติจริงๆ แบบเกาหลีเหนือ ที่ชื่อว่า คิมจองอึน เอานะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.posttoday.com