มีคนถามว่า ทำไมคนที่แลดูเป็น ‘คอการเมือง’ ในปัจจุบัน ถึงได้ดูมีลักษณะ (ขออภัยนะครับ แต่นี่เป็นคำที่ผู้ถามใช้จริงๆ) ‘ประสาทแดก’ เสียเหลือเกิน
ผมถามกลับไปว่า คำว่า ‘ประสาทแดก’ ที่เขาว่านั้น เขาหมายความว่าอย่างไร และในอีกด้านก็คือ เขารู้ใช่ไหมว่าหลายคนมองว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ PC หรือ Politically Correct สักเท่าไหร่
เขาไม่ตอบคำถามหลัง และอธิบายต่อไปราวไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำถามหลังเลยว่า คำว่า ‘ประสาทแดก’ ของเขาหมายถึงการที่ต่างฝ่ายต่างมีลักษณะ ‘แบก’ ฝักฝ่ายของตัวเองเอาไว้จนหลังแอ่น จนทำให้ทนรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอื่นๆ ไม่ได้ หรือหากมีคนฝั่งเดียวกันหรือที่คิดคล้ายๆ กันวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ก็อาจถูกผลักให้ไปเป็นอีกฝั่งหนึ่งได้โดยง่าย เป็นต้น
ผมบอกเขาว่า – รู้ใช่ไหม ว่าการตั้งคำถามแบบนี้ก็มีโอกาสถูก ‘จัดประเภท’ ไปอีกแบบ คืออาจกลายเป็นพวก ‘ฉลาดเหลือเกิน’ ‘เก่งกว่าใคร’ หรือ ‘รู้ทันไปหมด’ อะไรทำนองนั้นได้ แต่เขาไม่ได้ตอบคำถามนี้
เขียนมาถึงตรงนี้ ต้องมีหลายคนคิดว่าผมแต่งเรื่องขึ้นมา ผู้ถามไม่มีตัวตนจริงหรอก แล้วก็อาจอยากพารถทัวร์มาลงที่หน้าบ้านเพราะคิดว่าผมคงเป็น ‘ฝ่ายไหนสักฝ่าย’ ที่ไม่ใช่ฝ่ายกรูก็ได้ – แต่เรื่องนั้นไม่สำคัญมากเท่ากับการที่ ‘คำถาม’ ข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงคำคำหนึ่งขึ้นมา
คำนั้นคือ Tribalism
ในหนังสือ The Nineties ของ ชัค คลอสเตอร์แมน (Chuck Klosterman) ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าถึงยุค 1990s ที่หลายคนบอกว่าเป็นทศวรรษแสนดี หอมหวาน ดีงามไปหมด (ซึ่งผู้ที่ผ่านยุค 90s มาด้วยตัวเองอย่างผม คงต้องยืนยันว่าไม่จริงเสมอไปหรอกนะครับ ยุค 90s นี่ ทั่วโลกมีการก่อการร้ายและสงครามกลางเมืองเยอะทีเดียว) มีประโยคหนึ่งที่ชวนคิดอย่างมาก ประโยคนั้นบอกว่า ยุค 90s นั้น น่าจะเป็น ‘ยุคสุดท้าย’ ในประวัติศาสตร์คนอเมริกัน ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับความสนใจทางการเมือง ยังถูกมองว่าเป็นเรื่อง Optional คือใครจะ ‘เลือก’ อะไรก็ได้
เพราะหลังจากนั้น ชัค คลอสเตอร์แมนบอกว่า คนอเมริกันเกิดอาการ ‘แบ่งขั้ว’ (Polarized) กันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู จนทำให้ประเด็นที่เกิดจากการแบ่งขั้วแบ่งข้างนั้นมันมาครอบงำ ‘การสนทนา’ ต่างๆ ในแทบทุกเรื่องของสังคมไปหมดจนคนที่คิดต่างกันเกิดอาการ ‘คุยกันไม่ได้’ ขึ้นมา
ผมจำได้ว่า เคยมีเรื่องสั้นของนักเขียนอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ พูดถึงการที่พ่อตาผู้รักชอบพรรครีพับลิกัน กับลูกเขยที่รักชอบพรรคเดโมแครต สามารถอยู่ร่วมบ้านกันได้ และถกเรื่องการเมืองกันได้โดยอาจจะเถียงกันบ้าง แต่ไม่ได้ทะเลาะกันถึงขั้น ‘เอาเป็นเอาตาย’ จะต้องพยายาม ‘แบก’ ฝั่งฝ่ายของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด นั่นก็เพราะในยุคโน้น ผู้คนมองความรักชอบในพรรคการเมืองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นคือ ‘เลือกได้’ ไม่ใช่เรื่องบังคับหรือต้องถูก ‘บังคับเลือก’ (ซึ่งพอเขียนมาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกไว้อีก ว่าไม่ได้เห็นว่าอดีตดีหรือแย่กว่าปัจจุบัน แต่เป็นเพียงการเล่าถึงปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก็เท่านั้น)
คำพูดของชัค คลอสเตอร์แมนและเรื่องเล่าที่ว่า ทำให้ผมนึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ The Red and the Blue ของ สตีฟ คอร์นาคกี้ (Steve Kornacki) หนังสือเล่มนี้เล่าแนวคิดคล้ายๆ ชัค คลอสเตอร์แมน นั่นคือเขาบอกว่า หลังยุค 1990s มาแล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Political Tribalism ขึ้นมาในสังคมอเมริกัน
ใช่ครับ Tribalism ที่แปลว่า ‘ชนเผ่านิยม’ นั่นแหละ!
ที่จริงแล้ว คำว่า Tribalism ไม่ได้เป็นคำที่มีนัยในแง่ลบเสมอไปนะครับ คำนี้มาจากคำว่า Tribe ซึ่งหมายถึง ‘ชนเผ่า’ ซึ่งชนเผ่าทั้งหลายต่างมีวิธี ‘นิยามตัวเอง’ กันได้สองแบบใหญ่ๆ
แบบแรกก็คือการดูว่า คนที่อยู่ในเผ่าเดียวกัน มีอะไร ‘เหมือน’ กันบ้าง สิ่งนี้เริ่มต้นจากวิถีชีวิตก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมร่วมของชนเผ่า เช่นคนเผ่าเดียวกันชอบกินอาหารเหมือนกัน เนื่องจากถูกกำหนดโดยภูมิประเทศเดียวกัน เช่น คนที่อยู่ในป่าอาจคุ้นกับการกินแมลง แต่คนที่อยู่ริมน้ำคุ้นกับการกินปลาแต่ไม่กินแมลง พอเป็นคนกินแมลงก็อาจจะอี๋แหวะได้ เรื่องทำนองนี้กลายมาเป็น ‘ไลฟ์สไตล์’ และ ‘วัฒนธรรม’ เดียวกันที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของเผ่า ทำให้เผ่ารวมตัวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าแบบนักล่าหาอาหารหรือชนเผ่าแบบเพาะปลูกทำเกษตร
แต่แค่การ ‘เหมือน’ กัน มันยังไม่พอที่จะ ‘บีบ’ ให้คนชนเผ่านั้นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างเหนียวแน่นจนมีลักษณะ ‘ชนเผ่านิยม’ หรือ Tribalism ขึ้นมาได้หรอกนะครับ ยังมีอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้นิยมเผ่าของตัวเองจนเกิดอาการ ‘นิยม’ หรือถึงขั้น ‘แบก’ เผ่าของตัวเองขึ้นมา
สิ่งนั้นก็คือศัตรูร่วม!
ศัตรูร่วมที่เห็นชัดที่สุด ปรากฏอยู่พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม กับเรื่องเล่าว่าด้วยชนเผ่าต่างๆ ในทะเลทรายที่มีความเชื่อต่างกัน เคารพบูชาเทพต่างองค์กัน และสู้รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับชนเผ่าของตัวเอง
โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า Triblaism นั้นสำคัญมากต่อกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีมนุษย์น้อยรายมากที่จะ ‘อยู่รอด’ ได้ในแบบ ‘หมาป่าเดียวดาย’ จริงๆ คือถ้าอยู่ลำพังแล้วละก็ มีโอกาสที่จะเกิดความฉิบหายต่อชีวิตตัวเองได้ง่ายมาก มนุษย์จึงมีวิวัฒนการหลายอย่างเพื่อให้เกิดกลไกลึกลงไปถึงระบบประสาทในสมอง สร้างอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาทำให้ตัวเองต้อง ‘อยาก’ เป็นส่วนหนึ่งของเผ่า
เช่นเรามักมี ‘ความเหงา’ เกิดขึ้นตอนเย็นๆ เมื่อพระอาทิตย์ตกหรือใกล้ค่ำ นั่นก็เพราะถ้าเข้ากลางคืนมืดมิดแล้ว เราอาจถูกสัตว์อื่นล่า หรือไม่ก็เดินมะงุมมะงาหรามืดๆ ตกเหวตายได้ แต่คนที่มี ‘กลไกความเหงา’ จะรีบกลับเข้าฝูงหรือเข้าเผ่าในตอนเย็นๆ จึงมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เป็นต้น กลไกเช่นนี้ยิ่งทำให้เผ่าหรือสังคมมีความสำคัญกับเรามากขึ้น และทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
แต่เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งของความเป็นเผ่าก็คือ เผ่านั้นไม่สามารถที่จะใหญ่โตเกินไปได้ เคยมีการศึกษาของโรเบิร์ต ดันบาร์ (Robert Dunbar) จนเกิดตัวเลขหนึ่งที่เรียกว่า ‘ตัวเลขดันบาร์’ (Dunbar’s Number) ขึ้นมา การศึกษานี้บอกว่า ‘กลุ่มสังคม’ ที่แวดล้อมเราอยู่นั้น จะถูกกำหนดโดย ‘ขนาดสมอง’ ของเรา นั่นคือโดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับมนุษย์อื่นอย่างมีความหมายได้มากถึงราว 150 คนเท่านั้น มากเกินกว่านี้ไปเราจะจำไม่ได้หรือไม่ก็ไม่รู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นมีความหมายอีกต่อไปแล้ว (แม้จะมีข้อโต้แย้งจากการศึกษาในภายหลังว่าตัวเลขนี้น่าจะมากกว่านี้ แต่ก็พบว่าตัวเลขนี้ขยับไปได้อีกไม่มากนัก เช่นราว 231-290 คน ซึ่งก็ยังไม่มากเกินความสามารถของสมองอยู่นั่นเอง)
ดังนั้น คำว่า ‘เผ่า’ จึงหมายถึงกลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนเรา มีศัตรูร่วมกับเรา และต้องมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่มากเกินไปด้วย ถ้าเล็กเกินไปก็ไร้พลัง แต่ถ้าใหญ่เกินไปเราจะไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเผ่านั้นๆ แต่ไม่ได้แปลว่าหนึ่งเผ่าจะต้องมีคนไม่เกินตัวเลขดันบาร์ มันอาจจะมากกว่านั้นได้หลายเท่าเลย เพียงแต่ความสัมพันธ์ที่มีความหมายของคน ‘แต่ละคน’ จะจำกัดเท่านั้น การเกิด Tribalism จึงมีองค์ประกอบหลายอย่าง และมนุษย์เราก็ผ่านความบังเอิญทางประวัติศาสตร์หลายอย่างมาจนถึงปัจจุบันจนทำให้เกิด ‘ชนเผ่านิยมทางการเมือง’ หรือ Political Tribalism ขึ้นมา
ในอเมริกา ชนเผ่านิยมทางการเมืองมีสาเหตุใหญ่มาจากการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ และสถานภาพทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาได้ เคยมีบทความใน L.A. Times เรื่อง The Year Political Tribalism Proved Toxic ที่เป็นคล้ายๆ การสรุปช่วงเวลาสองทศวรรษแรก (หลังผ่านยุคเก้าศูนย์มา) ว่าความเป็นชนเผ่านิยมทางการเมืองมันค่อยๆ พัฒนามาจนมีลักษณะท็อกซิกได้อย่างไร
ในไทย สภาวะ Tribalism อาจซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เชื้อชาติ หรือสถานภาพทางสังคมเท่านั้น
แต่เรื่องสำคัญและ ‘ลึก’ ลงไปถึงตัวตนของเรา
เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม
ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในสังคมที่คุ้นชินกับ ‘การแบก’ แบบ ‘ชาวชนเผ่า’ มายาวนานตลอดประวัติศาสตร์ เราให้ความสำคัญกับ ‘ความจงรักภักดี’ ต่อเผ่าเป็นอันมากผ่านระบบอุปถัมภ์อันซับซ้อน ดังนั้นเมื่อต้องประยุกต์การแบกนั้นมาสู่ ‘ชนเผ่าทางการเมือง’ เราจึงทำได้โดยง่ายไม่ขัดเขิน การขนานนามฝ่ายอื่นๆ ด้วยคำต่างๆ เช่น สลิ่ม, นางแบก, สามกีบ, ควายแดง ฯลฯ จึงเกิดขึ้น
ในเบื้องต้นเพื่อสร้างความเจ็บช้ำให้ฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด แล้วอีกฝ่ายก็ตอบโต้กลับมาด้วยคำใหม่ๆ ต่างๆ ถัดจากนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ค่อยๆ พัฒนาความหมายของคำ เพื่อ ‘พลิก’ ความหมายนั้นให้กลายเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของฝั่งตัวเอง จนในที่สุดก็สามารถสร้างความภาคภูมิใจในชนเผ่าของตัวเองขึ้นมาได้จากคำที่เคยมีความหมายลบเหล่านั้น
หลายคนมองว่า ปัญหาของ Tribalism ก็คือ ข้อจำกัดของมันอาจอยู่ที่ ‘ตัวเลขดันบาร์’ นั่นคือเราไม่สามารถ ‘เปิดรับ’ คนเข้าเผ่า (ในความคิดและกรอบการมองโลกของเรา ไม่ได้แปลว่าต้องมีการสมัครสมาชิกเข้าเผ่าจริงๆ) ให้มีจำนวนได้มากเกิน ‘ขนาดสมอง’ ของสัตว์ประเภทไพรเมตอย่างมนุษย์ เพราะสมองของเรามีการประมวลผลที่มีขีดจำกัด แม้โซเชียลมีเดียอาจทำให้ตัวเลขความสัมพันธ์ที่มีความหมายของเราเพิ่มขึ้นกว่าสมัยที่ดันบาร์ศึกษา แต่ก็เป็นไปได้ว่ายังมีขีดจำกัดหนึ่ง ซึ่งถ้าเกินขีดจำกัดนั้นไปแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดการ ‘ผลัก’ คนที่เกินจะรองรับได้ออกไปจากเผ่า
นั่นจึงทำให้เกิดข้อวิจารณ์สำคัญขึ้นมาว่า Political Tribalism มีลักษณะกีดกันคนที่มีลักษณะ ‘เป็นอื่น’ (แม้เพียงเล็กน้อย) มากกว่าจะโอบรับ
ซึ่งขัดกับการทำงานทางการเมือง
และระบบการเลือกตั้งที่ต้องการ ‘เสียงสนับสนุน’ ให้ได้มากที่สุด
ในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้เลยว่าสังคมไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับฐานราก การเปลี่ยนแปลงใหญ่เหล่านี้ยิ่งทำให้สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเกิดสภาวะ Tribalism ได้ซับซ้อนมากโดยไม่รู้ตัว สถานการณ์และจังหวะเวลาอาจก่อให้เกิดการผลักกันไปมา แม้แต่เผ่าที่มีเป้าหมายเดียวกันแต่ต่างวิธี ก็อาจปะทะกันทางความคิดและคำด่าได้อย่างรุนแรง จนบางทีก็เห็นศัตรูของศัตรูเป็นเพื่อน หรือผลักกัลยาณมิตรไปเป็นศัตรู หลายฝ่ายจึงวิตกกังวลว่า ชนเผ่านิยมทางการเมืองอาจนำไปสู่สภาวะท็อกซิกทางสังคมได้เหมือนที่ L.A. Times เคยวิพากษ์สังคมอเมริกันเอาไว้
อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนมองว่า Politcal Tribalism เป็นปัญหา แต่ผมมองว่าในปัญหานั้นยังมี ‘ข้อดี’ อยู่ด้วยไม่น้อย ตัวอย่างเช่น การตระหนักว่าตัวเองเป็นชนเผ่าทางการเมืองหนึ่งๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นสลิ่ม นางแบก สามกีบ ควายแดง หรืออะไรก็ตาม ก็ยังมีข้อดีอยู่ตรงที่เราตระหนักถึง ‘ตัวตนทางการเมือง’ ของเรา การสังกัดเผ่าจะช่วยให้เรา ‘ชัด’ กับตัวเองได้ว่าเรามีจุดยืนอยู่ตรงไหน อุดมการณ์ของเราเป็นอย่างไร ต้องการขับเคลื่อนสังคมอย่างไร โดยมี ‘พวก’ ที่เห็นพ้องกันมากพอสมควร และยิ่งถูกปะทะจากฝ่ายอื่นๆ ก็เหมือนก้อนหินที่ถูกคลื่นลมขัดเกลาให้ค่อยๆ เรียบลื่นกลมมนมากขึ้น ‘ข้อเสนอ’ ทางการเมืองที่เรามีจึงมีโอกาสที่จะ ‘รัดกุม’ ได้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่พยายาม ‘ตะแบงแบก’ ฝ่ายของตัวเองมากจนเกินไป
ที่สำคัญก็คือ เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และระบอบนี้มีหน้าที่สำคัญอันหนึ่งคือ มี ‘การเลือกตั้ง’ เป็นกลไกคอยซับความรุนแรงที่อาจเกิดจากสำนึกแบกเผ่าแบบล้นเกิน นั่นคือถ้าเผ่าไหนชนะการเลือกตั้ง เผ่าที่เหลือก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ยอมให้เผ่าที่ชนะครองอำนาจในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ แน่นอนว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปได้ แต่ก็ต้องปล่อยให้เผ่าที่ชนะการเลือกตั้งได้ทำงานด้วยวิธีของตัวเองตาม ‘มติ’ ของสังคมที่เป็นผู้เลือกมาด้วย
ในท่ามกลางมรสุมชนเผ่าของปีที่ผ่านมา จึงน่าสนใจอย่างมากว่าหากเกิดการเลือกตั้งใหญ่ขึ้นจริงในปีหน้า สภาวะ Tribalism ในไทยจะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหน
เป็นอีกหนึ่งหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญจริงๆ