ริสต์แบนด์สีโรงเรียน สติกเกอร์แปะรถ การลดราคาสินค้าให้คนร่วมสถาบัน
ความภาคภูมิใจที่เรียนในกลุ่มโรงเรียนหนึ่ง การพ่นสีกำแพงเพื่อข่มสถาบันอริ การช่วยเหลือเพื่อนร่วมสถาบันโดยไม่มีข้อแม้ ฯลฯ ความสัมพันธ์พิเศษในสถาบันการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยหรือคนคนนั้นจะเติบโตขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบันเหล่านั้น โดยเฉพาะกับสถาบันที่ถูกยกให้เป็นสถาบันมีชื่อ มักไม่หายไปโดยปลิดทิ้ง แต่ทำไมกัน?
คำตอบอาจมาจากสัญชาตญาณที่ติดมาจากการวิวัฒนาการของมนุษย์เรียกว่า Tribalism หรือเผ่าพันธุ์นิยม ที่หมายความถึงการที่มนุษย์มักเลือกจะผูกมิตรกับคนที่อยู่ใน ‘เผ่า’ เดียวกันกับตัวเอง ในหนังสือ The Idols of Tribe โดยนักรัฐศาสตร์และนักข่าวชาวอเมริกัน แฮโรล์ด โรเบิร์ต ไอแซค (Harold Robert Isaac) เขาเล่าว่าเหตุผลที่มนุษย์ต้องเป็นสัตว์สังคมนั้นก็เพราะว่ามนุษย์ไม่มีความสามารถในการอยู่ด้วยตัวเองได้ ไม่มีเขี้ยวเล็บ เชื่องช้า เปราะบาง สิ่งเดียวที่มนุษย์มีคือการสร้างสังคมและความช่วยเหลือ และนั่นนำไปสู่การวิวัฒนาการที่ทำให้มนุษย์ต้องสร้างกลุ่มก้อนเพื่อความอยู่รอด
โดย ‘เผ่า’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงชนเผ่าเพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปและโลกาภิวัตน์มาถึง การเป็นชนเผ่านั้นหายออกไปจากพื้นที่ส่วนมากของโลก ความเป็นเผ่ายังไม่หายไป แต่มันอาจหมายถึงคนที่มีความสนใจร่วมกัน แนวคิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน มีความชอบคล้ายกัน มีเป้าหมายเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการเอาชีวิตรอดเท่านั้น ฉะนั้นตามความหมายนี้ ศาสนา กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง แฟนด้อม สถาบันการศึกษา ฯลฯ ก็อาจถูกเรียกว่าเป็นเผ่าชนิดหนึ่งได้เช่นกัน
ลักษณะของเผ่าพันธุ์นิยมนั้นคือการมีวัฒนธรรม ค่านิยม และตัวตนภายในกลุ่มที่ชัดเจน เพื่อเป็นเส้นแบ่งระหว่างคนในเผ่า คนนอกเผ่า และคนต่างเผ่า เช่น การอยู่ในเผ่าของโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งเราอาจต้องปฏิบัติตามคอนเซ็ปต์ความเป็นสุภาพบุรุษตามความหมายโรงเรียนนั้นๆ การจะเป็นส่วนหนึ่งของเผ่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเราอาจต้องเคารพในบุคคลที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ เคารพ และความเข้มข้นของลักษณะนั้นๆ ยังเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมโยงต่อสมาชิกเผ่าคนหนึ่งต่อเผ่าอีกด้วย ความเชื่อมโยงต่อเขาและเผ่ายิ่งเข้มแข็งเขายิ่งทำตามค่านิยมของเผ่ามาก
หากเอาความเป็นเผ่านี้ไปจับเข้ากับความหลงใหลและความภาคภูมิใจในสถานศึกษา กลุ่มที่อาจเห็นความเป็นเผ่าได้ชัดเจนที่สุดอาจเป็นมหาวิทยาลัย Ivy League
แม้ตอนแรกจะเป็นเพียงชื่อเรียกการรวมกลุ่มแข่งกีฬาของ 8 มหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐอเมริกา แต่ในปัจจุบัน Ivy League เป็นที่รู้จักกันโดยกว้างขวางว่ามันคือกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ‘อีลีต’ ของโลก ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยบราวน์, มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย, มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาธ์, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียร์, มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเยล
แม้ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีค่านิยมของแต่ละที่แตกต่างกันออกไป เผ่าของ Ivy League โดยรวมนั้นมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ซึ่งสะท้อนมันออกมาสู่โลกภายนอก ทั้งเครือข่ายผู้มีอำนาจที่กว้างขวาง โดยนักศึกษาเฉพาะผู้เป็นหัวกะทิเท่านั้นถึงเรียนได้ ‘พวกเขากินพื้นที่อย่างมากในกลุ่มซีอีโอ รัฐสภา ในวงการนักวิชาการ และในสื่อ…นับเป็นทศวรรษแล้วที่ศาลสูงของสหรัฐมีเพียงผู้สำเร็จการศึกษาจาก Ivy League’ สตีเฟน มาร์ช (Stephen Marche) นักเขียนจากนิตยสาร The Atlantic เขียนในบทความของเขา
ความเชื่อมโยงของเครือข่ายศิษย์เก่าที่อยู่ในชนชั้นแนวหน้าของโลก ความสำเร็จของศิษย์เก่าจำนวนมากเป็นข้อการันตีคุณภาพการศึกษาที่สถาบันเหล่านี้สามารถให้แก่พวกเขาได้ ค่านิยมที่ Ivy League ให้แก่คนในเผ่าคือภาพของความเป็นหัวกะทิของประเทศ อาจจะของโลกเลยก็พูดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่าภาพดังกล่าวเป็นบวก
ในระหว่างการเขียนบทความ The Organization Kid นักเขียนเดวิด บรูคส์ (David Brooks) สัมภาษณ์นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 1 ใน 8 มหาวิทยาลัย Ivy League จำนวนมาก เขาพบว่าในการแบกรับภาระของค่านิยมความเป็นยอดของโลก นักศึกษาและคณาจารย์ของพรินซ์ตันมีเวลาการนอนที่แปลกประหลาด ไร้เวลาว่าง ไม่มีเวลาสำหรับการมีความสัมพันธ์ ‘บางครั้งพวกเรารู้สึกว่าเราเป็นเครื่องมือประมวลข้อมูล’ นักศึกษาคนหนึ่งพูดติดตลก
เดวิดให้ความเห็นว่าสิ่งที่ผลักดันให้นักศึกษายอมศึกษาในตารางเทียบเท่าการใช้แรงงานทาสนี้คือโอกาสที่พวกเขาสามารถหยิบฉวยได้หลังจากผ่านมันไปได้ในตลาดงานชั้นดีสำหรับคนหัวกะทิในระดับพวกเขา และนั่นคือปลายทางของการแบกรับภาระของค่านิยมที่เผ่าเผ่านี้สร้างขึ้น ‘พวกเขาไม่ต้องการจะเปลี่ยนระบบ พวกเขาต้องการไต่มันมากกว่า และพวกเขาตัดทุกอย่างออกเพื่อให้การปีนไวขึ้น’ เขาพูด
แต่การเป็นเผ่าไม่ได้แย่เสมอไป การตีกลุ่มและเผ่าให้แตกออกไม่ใช่ทิศทางที่จะการันตีว่าสังคมจะเดินทางไปยังที่ที่ดีขึ้น เพราะเมื่อลองคิดจากความหมายแล้ว มูลนิธิเพื่อสังคม กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงแง่บวกให้กับประเทศหรือสังคมก็เป็นเผ่าประเภทหนึ่งเช่นกัน ฉะนั้นอาจต้องมองไปยังค่านิยมของเผ่านั้นๆ เสียมากกว่าที่ตัวตนเผ่าเอง
อย่างที่เรากล่าวไปตอนต้น ความเชื่อมโยงต่อบุคคลและเผ่ายิ่งเข้มแข็ง เขาก็ยิ่งทำตามค่านิยมของเผ่ามากขึ้น และหากค่านิยมของเผ่าคือการช่วยเหลือผู้คน ความต้องการอันแรงกล้าในการทำตามค่านิยมกลุ่มนั้นๆ ก็ยิ่งสูง ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงความเป็นเผ่าแล้วการยุบทิ้งอาจไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นการมองไปยังค่านิยมที่เผ่าสร้างเสียมากกว่า
เราต้องเกลียดเผ่าอื่นหรือไม่? ค่านิยมที่เผ่ามีมาแต่เนิ่นนานนั้นใช้ได้กับสังคมปัจจุบันหรือเปล่า? นี่อาจเป็นคำถามที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก