นับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เราคงจะได้ยินคำธรรมดาๆ คำหนึ่งอย่าง ‘กล้ามาก’ อย่างถี่และบ่อยครั้งขึ้นไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อม็อบราษฎรเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมานี้เองก็ได้หยิบเอาคำนี้ไปใช้กันด้วย คำนี้นับได้ว่ากลายเป็นกระแสทางการเมืองที่เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของการเมืองไทยร่วมสมัยก็ว่าได้ วันนี้ผมจึงอยากจะลองพามาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความกล้า’ ดูว่ามันคืออะไร มันสะท้อนถึงความดีความเก่งเสมอไปไหม? หากไม่ใช่แล้ว มันบอกอะไรกับเราได้บ้าง?
คำว่าความกล้า หรือความกล้าหาญ นั้นถูกใช้ในภาษาอังกฤษอยู่หลายคำ ตั้งแต่ courage, bravery ไปจนถึง valour ซึ่งหากลงลึกในรายละเอียดแล้วอาจจะมีความแตกต่างในการใช้งานและความหมายอยู่บ้าง แต่ในที่นี้ ผมขออนุญาตใช้ในความหมายหลวมๆ และจัดเป็นอย่างเดียวกันไปก่อนเลยนะครับ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ‘ความกล้า’ นั้นหมายถึงความเต็มใจในการจะเผชิญกับความยากลำบาก (hardship) ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ความทรมาณ (agony), ความเจ็บปวด, อันตราย, ความไม่แน่นอน หรือการข่มขู่ต่างๆ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการแบ่งความกล้าออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ นั่นคือ ความกล้าทางกายภาพ (physical courage) และ ความกล้าทางจริยธรรม (moral courage) โดยอย่างแรกนั้นหมายถึงความกล้าที่จะต้องเผชิญกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายในทางใดทางหนึ่งได้ ในขณะที่อย่างหลังนั้นหมายถึงความกล้าที่จะยืนยันและประพฤติตนในสิ่งที่ตนเชื่อว่า ‘ถูกต้อง’ แม้ว่ามันจะขัดกับคุณค่าหรือความเชื่อหลักของสังคม/ชุมชนนั้นๆ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการถูกประณาม ว่าร้าย การบั่นทอนต่างๆ รวมไปถึงการสูญเสียในทางใดทางหนึ่งส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกแขนงหนึ่งของความกล้าซึ่งปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมและปรัชญาคลาสสิกครับ นั่นก็คือ fortitude ซึ่งหมายถึงความกล้าในการพยายามอย่างไม่ท้อถอย (perseverance) และความอดทน (patience) ประกอบอยู่ด้วยนั่นเอง
และใช่ครับการที่ผมพูดถึงงานคลาสสิกในย่อหน้าก่อนนั้น นั่นหมายความว่า การศึกษาหรือพยายามให้คำอธิบายเรื่อง ‘ความกล้า(หาญ)’ นี้มีมานานแล้ว ในโลกตะวันตกนั้นอย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคของโสคราตีส เรื่อยมาเลย ในโลกตะวันออกเองก็พบคำอธิบายเรื่องเดียวกันนี้ได้ในหลายวัฒนธรรม ทั้งผ่านคำอธิบายแบบศาสนา (religious courage) ซึ่งก็ปรากฏทั้งในศาสนาคริสต์ ฮินดู และอื่นๆ หรือในแง่ของตำราที่กึ่งมาทางปรัชญาเองก็จะพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะ เต้าเต๋อจิง โดยเล่าจื๊อ เป็นต้น กล่าวอีกอย่างก็คงจะพอได้ว่า ‘คุณสมบัติของความกล้าหาญ’ ในลักษณะที่พูดถึงนี้ มีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นสากลพอสมควร แม้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีการตีความและให้ความหมายต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่โครงสร้างหลักของการเป็น ‘ความเต็มใจในการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก’ นั้นดูจะต้องตรงกัน ชนิดข้ามพื้นที่และกาลเวลาด้วย
จากโครงสร้างที่ว่ามานี้เอง เราจะเห็นได้ว่า ความกล้าหาญ
สัมพันธ์โดยตรงกับ ‘ความเสี่ยง’ (risk) และต้องการการบริหาร
จัดการทางอารมณ์ที่สำคัญระหว่างความมั่นใจและความกลัวเป็นสำคัญ
เดเนียล พุตแมน (Daniel Putman) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน อธิบายในบทความของเขา ที่ชื่อ The Emotion of Courage (ค.ศ.2001) โดยอ้างอิงการตีความ ‘ความกล้าหาญ’ ของอริสโตเติลอีกทีหนึ่ง โดยพุตแมนอธิบายว่า เมื่อความกล้าหาญนั้นหมายรวมถึงการเลือกจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะต้องเจ็บปวดหรือน่าหวาดกลัวโดยจงใจเพื่อเป้าหมายอันควรค่า (worthy goal) แล้วนั้น การจะได้มาซึ่งความกล้าหาญนั้นจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างความมั่นใจ (ในตัวเอง) และความกลัวนั่นเอง
คำว่า ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ หรือ self-confident ที่พุตแมนใช้ในที่นี้ มีความหมายที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงสักหน่อย นั่นคือ เขาหมายถึง ‘ความมั่นใจในความรู้/การประเมินความสามารถและศักยภาพของตน/พวกพ้องในการต่อสู้หรือในการต้องเลือกถอยหนี (flight) กับเรื่องที่เผชิญอยู่’ นั่นเอง ซึ่ง ‘ความมั่นใจ’ นั้นสามารถแบ่งเพิ่มเติมได้เป็นอีก 2 ประเด็นสำคัญนั่นคือ (1) ความมั่นใจที่อิงกับความเป็นจริง (realistic confidence) ต่อการประเมินคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังสู้เพื่อมันว่า และ (2) ความมั่นใจในศักยภาพและความสามารถของตน ที่กล่าวไปก่อนหน้า ซึ่งพุตแมนบอกว่าส่วนนี้เองที่นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้ต่อตน’ (Self-knowledge) อีกต่อหนึ่ง ภายใต้คำจำกัดความแบบนี้ พุตแมนจึงกล่าวต่อไปว่า ถึงสภาวะในอุดมคติของความกล้าหาญในฐานะจุดพอดิบพอดีของการบริหารจัดการความมั่นใจและความกลัวนี้ว่า
“ความกล้าหาญในอุดมคตินั้นไม่ใช่เพียงความสามารถในการควบคุมความกลัวได้อย่างอยู่หมัด หรือการปราศจากซึ่งอารมณ์ความรู้สึก แต่สภาวะตามอุดมคตินั้นคือการตัดสินสถานการณ์ต่างๆ, การยอมรับอารมณ์ความรู้สึกในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์, และการใช้ลักษณะที่พัฒนามาอย่างดีนี้ในการเผชิญหน้ากับความกลัว และอนุญาตให้เหตุผลเป็นเครื่องชี้นำเราไปสู่เป้าหมายที่ควรค่าได้”
เมื่อความสัมพันธ์ของความมั่นใจและความกลัวสัมพันธ์กันในลักษณะดังกล่าว สำหรับพุตแมนแล้ว ในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญนั้น หากความสัมพันธ์ของอารมณ์ทั้งสองไม่ได้ดุลย์ที่พอเหมาะแล้ว ‘ความกล้าหาญ’ ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่จะกลายเป็น การขาดความกลัวจนเกินไป การมั่นใจในตัวเองจนเกินไป การกลัวอย่างล้นเกิน หรือการขาดความมั่นใจมากเกิน เป็นต้น ฉะนั้นโดยสรุปแล้วพุตแมนจึงอธิบายว่า องค์ประกอบสำคัญที่ประกอบสร้างความกล้าหาญและความกลัวนั้นมีด้วยกัน 3 อย่าง นั่นคือ (1) ความน่ากลัวของสถานการณ์, (2) ความสมคุณค่าของสิ่งซึ่งพยายามจะสู้เพื่อให้ได้มา และ (3) การรับรู้และประเมินความสามารถของตนเองอย่างชัดเจนมากพอ
แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วยกับคำอธิบายของพุตแมนนะครับ ดังที่บอกไปว่าการศึกษาและคำอธิบายเรื่องความกล้าหาญนั้นมีมากมาย กระทั่งการปฏิเสธ ‘คุณค่า’ ของความกล้าหาญไปเลย อย่างกรณีของ โธมัส ฮอบส์ ที่มองว่าความกล้าหาญคือความโง่เขลาที่ถูกบังตาด้วยคำลวงต่างๆ และให้คุณค่ากับความขี้ขลาดแทนในฐานะคุณค่าของยุคสมัยใหม่ (virtue of cowardice) เองก็มี อย่างไรก็ดีในชิ้นนี้ ผมขออภิปรายตามที่พุตแมนอภิปรายไว้ก่อนนะครับ
กลับมาตอบคำถามที่เราตั้งไว้แต่ต้นในย่อหน้าแรกว่า
ความกล้าหาญนั้นมันเป็นสิ่งที่เมื่อทำแล้วจะได้รับ
‘คำชมหรือคำขอบคุณ’ เสมอไปมั้ย? คำตอบคือ ไม่ครับ
เพราะหลายๆ ครั้งโดยเฉพาะในกรณีของ moral courage (ความกล้าหาญทางจริยธรรม) นั้น เป็นการยืนยันในจุดยืนซึ่ง ‘สวนกับทิศทางการยอมรับหลัก/ทางการของสังคม’ ในแง่นี้การประณาม ก่นด่า ลดทอนคุณค่าต่างๆ นั้นกลับเป็นสิ่งที่จะได้รับเสียมาก และก็เป็นความยากลำบาก (hardship) ที่ต้องเผชิญ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะของ ‘ความกล้าหาญ’ ด้วย กล่าวอีกอย่างก็คือ ความกล้าหาญที่เมื่อทำแล้วได้รับคำชมเลยนั้น มักจะมาจากฝั่งพวกพ้องของตนเป็นสำคัญ หรือเป็นการกระทำความกล้าในเรื่องที่ยอมรับกันอยู่ก่อนแล้ว อย่างการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทางร่างกายต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในกรณีที่เกิดขึ้นกับจุดเริ่มต้นของวลี “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” นั้น จึงไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่ ‘เป็นสากล’ ว่าเมื่อทำแล้วจะเป็นใครทำเมื่อไหร่ที่ไหนก็จะได้รับคำชมนั่นเอง แต่เป็นการเห็นคุณค่าของความกล้าแบบที่จำเพาะเจาะจงอย่างชัดเจน
ทีนี้ เรามามองต่อกันอย่างลึกลงไปอีกสักนิดหนึ่งว่า ในกรณีของชายชูรูปที่ได้รับคำชมเรื่องความกล้าหาญ นับว่าเป็น ‘ความกล้า’ จริงๆ ได้หรือไม่?
ผมคิดว่าเรื่องนี้ค่อนข้างจะถกเถียงได้แล้ว แต่หากยึดตามคำอธิบายของพุตแมนอย่างแม่นมั่นแล้ว ผมคิดว่าคงจะไม่สามารถนับเช่นนั้นได้ จากองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่พุตแมนว่าไว้ ในข้อแรกเรื่องความอันตรายของสถานการณ์ แม้ผมจะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้นับว่าอันตรายอะไรมากเป็นพิเศษ แต่การประเมินเรื่องความอันตรายนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากพอสมควร ฉะนั้นจึงขอละไว้และให้ว่าผ่านเข้าเกณฑ์ เช่นเดียวกับข้อที่สาม หรือการประเมินขีดความสามารถของตนอย่างอิงกับความจริง ปัญหานั้นอยู่ที่ข้อ 2 ที่ว่า ‘ความสมคุณค่าของสิ่งซึ่งพยายามต่อสู้ให้ได้มา’ นี่แหละครับ
ผมคิดว่าเราทราบกันดีว่าในกรณีนี้ ชายชูรูปคนนั้น ‘ต้องการสู้เพื่อให้ได้สิ่งใดมา’ เพียงแต่ว่าในประเทศที่มีกฎกติกา ข้อบังคับ และข้อห้ามมากมายที่บังคับให้เราไม่สามารถพูดคุย ค้นคว้า เข้าถึง หรือถกเถียงถึงความสมคุณค่า ของสิ่งที่ชายผู้นี้พยายามสู้เพื่อให้ได้มาได้เลยนั้น เราจะสามารถพูดได้จริงๆ หรือว่าเขารับรู้ซึ่งความสมคุณค่าของสิ่งที่เขาพยายามจะต่อสู้เพื่อให้ได้มา
จริงๆ กรณีนี้มันแตกต่างจากการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย เพราะกรณีหลังนั้นถูกพูดถึงและอภิปรายมาเป็นพันๆ ปีแล้วหากนับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ หรือหากเอาที่เหมาะสมกับบริบทของโลกสมัยใหม่จริงๆ อย่างน้อยๆ ก็หลายร้อยปีแล้ว ที่พูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มันอย่างถึงพริกถึงขิง ไม่ต้องนับว่าประเทศไทยเอง อาจจะนับได้ว่าเป็นประเทศที่ขยันขันแข็งในการสร้างคำอธิบายถึง ‘ด้านเลวร้าย’ ของประชาธิปไตยมากที่สุดประเทศหนึ่งมาโดยตลอดเวลาอยู่แล้ว ฉะนั้นจะบอกว่าขาดความเข้าใจถึง ‘ความสมคุณค่า’ อย่างทั่วถ้วนรอบด้านคงจะไม่ได้ ซึ่งกรณีแบบเดียวกันนี้ คงไม่สามารถพูดได้กับสิ่งที่ชายชูรูปผู้นั้นพยายามจะต่อสู้เพื่อให้ได้มา
จากฐานคิดนี้เอง หากยึดตามคำอธิบายของพุตแมนแล้ว
ผมคิดว่าเราควรจะต้องบอกเสียด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณี
ของชายชูรูปนั้น ไม่อาจจะนับได้เสียด้วยซ้ำว่าคือ ‘ความกล้า’ อะไรใดๆ
แต่เมื่อมันไม่ใช่ความกล้าอะไรแต่แรกแล้ว ใยจึงจงใจเรียกมันว่าความกล้า ทั้งยังเกิดการชื่นชมและขอบคุณในความกล้าที่ไม่ใช่ความกล้านี้อีก? ผมคิดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มีความสำคัญ เพราะสิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยในฐานะความสำเร็จหรือ impact ที่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในรอบนี้ได้สร้างขึ้นนั้นก็คือการสร้างเงื่อนไขให้ทุกฝั่งต้องหันมาพูดภาษาชุดเดียวกับพวกเขา โดยเฉพาะตั้งแต่ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ และม็อบที่ธรรมศาสตร์อันนำมาสู่ข้อเสนอ 10 ข้อ นั้น มันทำให้ทุกฝั่ง ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง กล่าวคือ ต่อให้เห็นต่าง ก็ต้องหันมาพูดด้วยภาษาแบบเดียวกับที่นักศึกษาประชาชนที่ออกมาเรียกร้องได้นำเสนอไปแล้วว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอะไรยังไง ล่าสุดนี่ผมเพิ่งจะเห็นการพยายามบิดเบือนคำอธิบายเรื่องรัฐพันลึก (deep state) จากกลุ่มไลน์ เพื่อจะมาแย้งด้วยภาษาชุดเดียวกับที่ขบวนการเคลื่อนไหวตอนนี้ใช้กันอยู่ เงื่อนไขที่ว่านี้เองที่ผมเห็นว่าทรงพลังมากๆ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะบีบให้คนทุกฝั่งหันมาศึกษาและพูดคุยเรื่องนี้แบบจริงจังมากขึ้นทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและเห็นต่างๆ
แต่การชื่นชมความกล้า (ที่ไม่ใช่ความกล้า) ของชายชูรูปนั้นสำหรับผมแล้วเป็นการพยายามทำลายเงื่อนไขที่ขบวนการประชาชนสร้างขึ้นมา มากกว่าเป็นเรื่องความกล้าในตัวมันเอง กล่าวคือ มันคือสารที่บอกว่า ‘หยุดสนับสนุนตนด้วยการพูดภาษาชุดเดียวกับที่ฝั่งนักศึกษาใช้ได้แล้ว หากคิดจะสนับสนุนตนแล้วก็จงสนับสนุนโดยไม่ต้องสนใจไยดีกับภาษาชุดนั้น ไม่ต้องผลิตซ้ำภาษาชุดนั้นของนักศึกษาอีก เฉกเช่นเดียวกับชายที่ชูรูปคนนี้’ จงดูคนนี้เป็นตัวอย่าง
ผมคิดว่า นี่คือ ‘ความกล้าที่ถูกเข้ารหัส’ อยู่ และมันน่ากลัวทีเดียว เพราะหากมันทำให้ผู้ซึ่งเห็นต่างกับฝั่งนักศึกษาประชาชนเสรียุติการพูดด้วยภาษาชุดเดียวกันได้ ด้วยการสร้าง ‘ความกล้าปลอมๆ’ นี้ขึ้นมา การพูดคุยและทำความเข้าใจกันในระยะยาวย่อมไม่เกิด และนั่นย่อมหมายถึงความเป็นไปได้หลักอย่างเดียว นั่นคือ การเข้าห้ำหั่นกันด้วยกำลัง
ผมจึงอยากเขียนถึงเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝั่งไม่ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2563 อย่างต่ำเกินไป หรือเป็นเพียงปัจจัยแห่งการตาสว่างเท่านั้น แต่มองมันในฐานะ ‘สาร’ แห่งการทำลายเงื่อนไขของการพูดคุย ในคราบของ ‘ความกล้า’ ด้วยน่ะครับ