จู่ๆ นายกฯ ก็ออกคำสั่งมาว่า “นักข่าวต้องอยู่ห่างผมอย่างน้อย 5 เมตร” และตอนแรกบอกให้แสดงความเคารพด้วย แต่ตอนหลังมาบอกว่า เออ ไม่ต้องทำความเคารพก็ได้ แต่ต่อให้เหลือแค่เรื่องการ “เว้นระยะห่าง 5 เมตร” เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอยู่ดี ทั้งฝั่งที่วิจารณ์เรื่องการบังคับสร้างพื้นที่ และฝั่งที่พยายามออกมาปกป้องลุงตู่ว่า “โถ มึงจะอะไรกันนักหนา แค่ 5 เมตรเอง”
เรื่องของระยะ 5 เมตรจึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา และผมก็เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะนำมาสู่การได้ลองพูดถึง ‘การเมืองของระยะห่าง’ หรือ Politics of Distance ดูบ้าง เพราะ ‘ระยะห่าง/ระยะทาง’ (Distance) นั้น เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับเราอยู่ตลอดเวลา แต่มักจะถูกละเลยไม่พูดถึงไป โดยเฉพาะในยุคที่ถูกเรียกว่า ‘โลกาภิวัตน์’ ที่มักจะมีความหมายหลักๆ ว่า ‘การหดตัวสั้นลงของพื้นที่และเวลา (Space-Time compression)ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน’ โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น ทำให้พื้นที่หรือระยะทางมักจะถูกลดความสำคัญลงไปอีก ในขณะที่เวลา แม้จะถูกบีบอัดให้ ‘หดเล็กลง’ เช่นเดียวกันนั้น กลับกลายเป็นประเด็นแกนกลางของความสนใจอยู่ เพราะการทำให้การ ‘ปฏิสัมพันธ์กัน’ เกิดขึ้นได้ในเวลาที่ ‘สั้นที่สุด’ นั้นดูจะยังคงเป็นหัวใจหลักของวิธีคิดในโลกร่วมสมัยนี้ และนั่นทำให้การพูดและคิดถึง ‘ระยะทาง’ ในฐานะประเด็นแกนกลางจริงๆ ถูกลดทอนความสำคัญลง
อย่างไรก็ดี เมื่อในตอนนี้ ‘ระยะทาง 5 เมตร’ กลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็บ่งชี้ให้เราเห็นว่า ‘ความสำคัญของระยะทาง’ ยังไม่ตายจากหายไปเสียทีเดียว น่าจะยังพอมีโอกาสชักชวนให้ขบคิดถึงมันอย่างจริงจังได้อยู่ ผมเลยอยากจะลองชวนให้มาขบคิดกันต่อดูครับ ว่า ‘5 เมตร’ นั้นมันใกล้มันไกลอย่างไรกันแน่?
งานที่ผมจะใช้อ้างอิงเป็นแกนหลักในวันนี้ คืองานที่ดีมากๆ ของ Ariel Handel ครับ ที่มีชื่อว่า Distance Matters: Mobilities and the Politics of Distance[1]โดยงานของ Handel วางฐานอยู่บนแนวคิดที่เรียกว่า Territoriality ซึ่งผมคิดว่าน่าจะแปลความได้ใกล้เคียงที่สุดว่า ‘อาณานุภาพ’ (ไม่ได้พิมพ์ผิดจาก อานุภาพ นะครับ) โดยไอ้อาณานุภาพนี้เป็นแนวคิดของ Claude Raffestin อีกที โดยมีความหมายหลักๆ ว่า “การเปลี่ยนจากพื้นที่ (space) กลายมาเป็นอาณาเขต (territory) ด้วยการกระทำของมนุษย์” นั่นเอง โดยการกระทำต่างๆ นี้ ถูกกระทำผ่าน ‘ตัวกลางของพื้นที่’ หรือ Mediators อีกทีหนึ่ง
คือ ระยะทางหรือระยะห่างนั้น มันไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าจากจุด A ไปหาจุด B แบบโดดๆ ลอยตัวอยู่โดยตัวมันเอง เป็นเพียงพื้นที่ที่ “วัดได้ แปะหน่วยกำกับระยะทางให้ได้ (เป็นเมตร เป็นไมล์) หรือที่เรียกกันว่า Abstract Distance” เท่านั้น อย่างที่คนซึ่งมองว่าพื้นที่นั้นก็แค่ ‘ระยะ 5 เมตร’ มองน่ะครับ แต่ตัวพื้นที่ การอยู่ในพื้นที่ หรือการเคลื่อนผ่านพื้นที่ทุกอย่างนั้น มันเกิดการแลกเปลี่ยนหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสัญญะบางอย่างอยู่เสมอ
เพราะตัวเราเองไม่สามารถไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง หรือไม่อยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยตัวเองได้แบบล้วนๆ มันมาจากผลของ ‘ตัวกลางบางอย่าง’ (และตัวเราเองก็เป็น ‘ตัวกลาง’ ให้กับบางอย่าง) ในการไปสู่พื้นที่หนึ่งเสมอๆ ฉะนั้นในแง่นี้ ระยะทางมันจึงเป็นพื้นที่แห่งการประกอบสร้างร่วมกันตลอดเวลาครับ ไม่มีระยะทางที่เป็นเพียงแค่พื้นที่เปล่าเปลือยอะไร
การที่จะเข้าใจที่ผมพล่ามๆ มานี้ได้ ผมคิดว่าเราต้องกลับไปทำความเข้าใจรากฐานเรื่องพลวัตรของความรับรู้ที่มนุษย์เรามีต่อ ‘ระยะทาง’ เสียก่อนครับ คือ ระยะทางมันเป็สิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว แต่การรับรู้ระยะทางในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้อิงอยู่กับการมองระยะแบบกำกับโดยหน่วยวัดที่มีค่าชี้วัดที่ชัดเจนแน่นอนแบบตอนนี้ ที่มีการวัดระยะทางเป็นเมตร หรือกิโลเมตร แต่อิงอยู่กับเงื่อนไขที่สัมพันธ์กับชีวิตของเราที่เข้าไปผูกติดอยู่กับระยะทางนั้น เช่น ระยะ 2 วันเดิน ระยะ 8 ชั่วโมงขับรถ ระยะที่จะเสียค่าน้ำมันประมาณ 300 บาท เป็นต้น หรือก็คือ โดยทั่วไปแล้วการคิดถึงระยะทางนั้นจะถูกนึกถึงจากระยะเวลา ต้นทุน หรือความสะดวกสบายต่างๆ ที่ผูกตัวเราเองเข้ากับตัวระยะทางนั้นๆ มากกว่าแค่ ‘หน่วยของการวัด’ แต่เวลาพูดถึงระยะทางในทางทั่วไปแล้ว ตัวตนของมนุษย์ที่สัมพันธ์โดยตรงกับตัวระยะทางนี้มักจะถูกกลบทิ้งให้เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่ากับหน่วยวัดไป
เอาเข้าจริงๆ มีการทดลองโดย Lindeกับ Labov ในปี 1975 ด้วยนะครับ เขาให้ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง อธิบายตำแหน่งของห้องหับในอพาร์ทเมนต์ตัวเอง เพื่อดูว่าวิธีการเลือกคำอธิบายหรือการผูกตัวเองเข้ากับระยะทางและพื้นที่นั้นมีลักษณะแบบไหนเป็นหลัก วิธีการบอกทางนั้นแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบ Mapping กับแบบ Touring แบบแรกก็คือ การระบุตำแหน่งของห้องที่จะบอก เช่น การบอกว่า “ห้องน้ำอยู่ถัดจากห้องครัว” ในขณะที่อย่างหลังหรือแบบ Touring นั้นก็คือการบอกโดยอิงว่า หากเป็นตัวเราเดิน เราจะต้องเดินอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้นได้ เช่น “เดินออกประตูไป ตรงไปตามโถงทางเดินเรื่อยๆ ถึงประตูที่สองทางขวามือจะเป็นห้องน้ำ” ผลการทดลองออกมาค่อนข้างน่าสนใจครับว่า มีเพียงแค่ 3% เท่านั้นที่บอกระยะทางแบบ Mapping ที่เหลือทั้งหมดเลยกลับบอกระยะทางด้วยวิธีการแบบ Touring
แต่กระนั้น รูปแบบวิธีคิดที่เรามักใช้ประเมินพื้นที่หรือระยะทางหลักๆ ในโลก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มักอิงอยู่กับคำอธิบายแบบ Mapping ที่ตัดทอนตัวประสบการณ์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ออกจากการเข้าถึงพื้นที่ไป และทำให้มันเป็นเพียงตำแหน่งอย่างหนึ่งโล้นๆ (Abstract space) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ Abstract space นั้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการใช้อธิบาย ‘ระยะทางและพื้นที่’ ทั้งยังเป็นวิธีการที่ห่างไกลธรรมชาติที่สุดด้วย (เพราะทุกอย่างถูกปลูกสร้างขึ้นมาหมด เพื่อสนองกลไกการทำงานของระบบทุนและให้ง่ายต่อการประเมิน) แต่กลับได้รับความนิยมมากกว่าวิธีมองแบบอื่นๆ จนหลายครั้งคนมักจะเผลอคิดว่าเป็นวิธีการมองระยะทางและพื้นที่แบบเดียวไปเสีย
ที่พูดมาเสียยาวยืดนี้เพื่อจะให้นึกออกกันน่ะครับว่า ระยะทางนั้นมันไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ว่างโล้นๆ จากจุด A ไปสู่จุด B ที่แค่ใส่ระยะให้มันได้ก็จบ แต่มันมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มากมายอยู่ในนั้น รวมถึงความเป็นมนุษย์ที่ผูกติดกับพื้นที่ด้วย ถึงจุดนี้น่าจะพอนึกภาพแบบพื้นฐานๆ ออกแล้วนะครับ ทีนี้ เข้าสู่ประเด็นหลักกัน คือ คำอธิบายเรื่องระยะทางของ Handel นั้นน่าสนใจหลายจุดมากครับ แต่ผมคงไม่มีเวลายกมาอภิปรายได้หมด ผมอยากจะยกมาอภิปราย 2 ประเด็นหลักๆ ที่คิดว่าเชื่อมโยงกับกรณี ‘5 เมตร’ ของพี่ตู่เราได้ชัดเจน นั่นคือ แนวคิดเรื่อง Distanciation และ Human-phenomenological Distance ครับ (ชื่ออาจจะยากสักหน่อย และไม่รู้จะแปลยังไงด้วย)
Distanciation นั้นก็คือ การผลิตพื้นที่ที่สร้างความแบ่งแยกต่างๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองในฐานะกลไกเพื่อการบริหารจัดการและควบคุมพื้นที่ครับ
พูดแค่นี้อาจจะงง แต่ที่ตะกี้ผมได้เกริ่นไว้ก็คือ การนึกคิดถึงระยะทางนั้น โดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์และการใช้งานของเราที่ผูกติดอยู่กับตัวระยะทางนั้นๆ มากกว่าแค่ตัวเลขระยะในหน่วยเมตริกใช่มั้ยครับ นั่นก็คือ ระยะทางและความใกล้ไกล การตัดสินว่าจะไปหรือไม่ไป จะไปด้วยวิธีการแบบไหนนั้นมันขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดจากการ ‘ใช้จริงของตัวมนุษย์ที่ผูกกับระยะทางนั้นๆ’ เช่น ต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ต้นทุนในการเดินทางเท่าไหร่ จะเหนื่อยมากน้อยแค่ไหน หรือจะได้พบกับประสบการณ์แบบใดบ้างในเส้นทางนั้นๆ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกำหนด ‘ระยะใกล้ไกล’ ทั้งสิ้นครับ ฉะนั้นการมีเพียงตัวเลขกำกับว่า 5 เมตร 10 เมตร หรือ 2,000 กิโลเมตร ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ความใกล้ความไกลในตัวมันเองได้ และไอ้ Distanciation ที่ว่านี้เอง ก็คือการผลิตพื้นที่ที่สร้างการแบ่งแยกต่างๆ ขึ้นมา จาก ‘ปัจจัย’ ทั้งหลายที่ว่ามานี้เอง
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากของ Distanciation ก็เช่นการสร้างถนนครับ การสร้างถนนนั้นแน่นอนว่าทุกคนก็พูดได้เหมือนๆ กันหมดว่ามันคือ การใช้เทคโนโลยี หรือตัวกลางของพื้นที่ (Mediator) เข้าไปร่นระยะเวลาการเดินทาง เพิ่มความสะดวกสบายต่างๆ ให้มากขึ้น แต่นอกจากมุมมองที่มันชัดแสนจะชัดจนพูดยังไงก็ถูกนี่แล้ว ตัวถนนเองมันยังมีมิติอื่นๆ อยู่ด้วย คือ มันมีอำนาจและทำหน้าที่ในการ ‘แบ่งแยกกลุ่มประชากร’ ฉะนั้นในเซนส์นี้ถนนและระยะทางที่มากับถนนมันมีความเป็นการเมืองแฝงอยู่ด้วยเสมอ
งานศึกษาเกี่ยวกับการเมืองของถนนในระยะหลังมานี้หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ถนนนั้นถูกใช้ในฐานะเครื่องมืองในการสร้าง ‘อาณานุภาพ’ ของรัฐ ที่กุมอำนาจในการเลือกพื้นที่ที่จะอนุญาตให้เกิดการเคลื่อนไหวของมนุษย์ในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดพื้นที่ของความมีอภิสิทธิ์ของคนในพื้นที่หนึ่งเหนืออีกพื้นที่หนึ่งไปในตัว
การทำงานของถนนนี้เองจะแสดงให้เห็นการทำงานของ Distanciation โดยสังเขปได้ว่า มันทำการแบ่งแยกคนยังไง และมันกลายมาเป็นเหตุปัจจัยที่กำหนดความ ‘ใกล้ ความไกล’ ต่างๆ ต่อมุมมองของเรา (ในฐานะผู้ที่ผูกติดตัวเองเข้ากับระยะทาง) ด้วย
คือ ในขณะที่ถนนมันทำหน้าที่ในการ ‘เร่งความเร็ว’ ให้การเดินทางจาก จุด A ไปยังจุด B นั้นทำได้เร็วขึ้นแล้ว แต่เมื่อมันทำให้พื้นที่ของตัวมันเองมีความเร็วมากขึ้น พร้อมๆ กันไป มันก็ไปทำให้พื้นที่รอบตัวของมัน ‘ช้าลง’ โดยเปรียบเทียบด้วย และตัวถนนเองยังกลายเป็นพื้นที่ที่ทำการแบ่งแยก คนซึ่งสามารถใช้ถนนได้ด้วยตัวเอง (คือ มีรถขับเอง) กับคนที่จำเป็นต้องอาศัยระบบขนส่งมวลชน เพื่อการใช้ถนนเส้นเดียวกันนี้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่กับคนที่มีรถยนต์ส่วนตัวเอง ก็ยังถูกแบ่งแยกในพื้นที่ของถนนต่อไปอีกทอด ด้วยช่องทางจราจร หรือเลนที่มีเลนรถที่วิ่งช้า กับรถที่ขับเร็วกว่า อย่างกรณีไทย ขับช้าก็พึงอยู่ซ้ายไว้ ขับเร็วกว่าก็อยู่ชิดขวา ซึ่งเป็นการแบ่งแยกขีดความสามารถของการใช้ความเร็วได้อีกทอดหนึ่ง (เพราะงี้แหละครับ ถึงบอกแต่แรกว่า “(การเข้าสู่) ระยะทางคือพื้นที่แห่งการประกอบสร้างร่วมกันตลอดเวลา มันคือการเคลื่อนผ่านและมีปฏิสัมพันธ์กับสัญญะต่างๆ มากมาย”)
อย่างกรณีศึกษาในอิสราเอล พบว่า ในจำนวนครัวเรือนทั้งหมด มีอยู่ราว 42% ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว และอีก 43% มีรถยนต์เพียงแค่คันเดียว (แปลว่าที่มีรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า 1 คัน มีแค่ 15%) ทีนี้ในเคสมีรถคันเดียวที่เขาค้นพบก็คือ โดยปกติแล้วการใช้งานรถยนต์ไปทำงานนั้น ในภาวะปกติก็ใช้รถยนต์แค่ 1 คน ต่อ 1 คันนั่นแหละครับ ซึ่งคนที่มีสิทธิใช้รถ (เพื่อไปใช้บนถนนต่ออีกที) ก็คือสมาชิกผู้ชายของบ้าน แล้วมันก็ส่งผลพ่วงต่อมาว่า จากการสร้างถนนต่างๆ นั้น ทำให้เกิดการพัฒนาระดับความสามารถในการทำงานของเพศชายมากขึ้น และได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นราวๆ 10-14% หลังจากมีถนนแล้ว ในขณะที่ผู้หญิงกลับได้รับเงินเดือนเท่าเดิม เพราะการเกิดขึ้นของถนน ไม่ได้ทำให้ชีวิตในการทำงานของเขาง่ายขึ้นนัก ถนนจึงสร้างความแบ่งแยกไปถึงเศรษฐกิจที่ผูกกับเพศด้วย
นอกจากถนนจะทำหน้าที่ให้การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเร็วขึ้นแล้ว ในหลายๆ กรณี มันก็ไปลดหรือกลายเป็นอุปสรรคให้การเคลื่อนที่ช้าลงหรือเป็นไปไม่ได้ขึ้นมาด้วย นั่นคือการเคลื่อนที่ในทิศทางที่ ‘ขวางทิศทางของตัวถนน’ ในเคสที่เบาที่สุดก็อาจจะแค่เสียเวลามากขึ้น อย่างการต้องข้ามถนน รอรถ รอสัญญาณไฟจราจร หนักขึ้นมาก็อาจจะเจอเคสที่จำเป็นต้องบังคับให้เราเดินอ้อมไกลขึ้น เพื่อไปถึงสะพานข้าม หรือทางเชื่อมที่ถนนกำหนดไว้เท่านั้น หนักที่สุดก็อาจจะทำให้การข้ามนั้นเป็นไปไม่ได้ขึ้นมาเลย อย่างถนนที่ตัดผ่านย่านเวสต์แบงค์ที่แบ่งอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้น แม้มันจะอยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือ แต่มันคือแสนไกลสำหรับคนปาเลสไตน์ เพราะเขาไม่อาจข้ามเข้าไปในพื้นที่นั้นที่ถนนตัดผ่านได้ เป็นต้น
Human-phenomenological Distance เองก็มีความเชื่อมโยงอย่างมากต่อจากคำอธิบายเรื่อง Distanciation ครับ แต่ตัว Human-phenomenological Distance นี้ จะไม่สนเรื่อง ‘ตัวระยะทางเพียวๆ’ หรือ abstract distance แล้ว (Distanciation ยังให้น้ำหนักอยู่บ้าง เช่น ทำให้การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งเร็วขึ้น ช้าลง ฯลฯ) แต่จะสนใจที่ตัวประสบการณ์ เงื่อนไข และการร่วมเป็นส่วนหนึ่ง (Involvement) ของคนหรือกลุ่มประชากรเป็นหลักครับ ส่วนนี้ว่าง่ายๆ ก็คือ ไม่สนหรอกว่าจะห่างกันกี่ร้อยหรือกี่พันกี่กิโลเมตร หรือจะอยู่แนบชิดติดตัวแค่ไหน แต่ความรู้สึกใกล้ไกลนั้น มันเกิดจากความรับรู้ของเราที่สัมพันธ์กับ ‘อาณานุภาพ’ (Territoriality) นั้นๆ ต่างหาก
อย่างอาจารย์ที่ผมรู้จักท่านหนึ่ง เพิ่งเดินทางไปซัวเถาบ้านเกิดบรรพชนไม่นาน และได้พบกับพี่น้องต่างมารดาที่นั่น ที่ทั้งชีวิตไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีตัวตนอยู่ แต่เมื่อไปที่ซัวเถาแล้ว พบกับพี่น้องแล้วกลับรู้สึกใกล้ชิดผูกพันธ์ แม้จะกลับมาที่ไทยแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า ‘ใกล้กับคนและชุมชน’ ที่ซัวเถา มากเสียยิ่งกว่าคนและชุมชนบางกลุ่มในกรุงเทพมหานคร ที่หากนับระยะทางจริงๆ ในหน่วยเมตริกแล้วก็ต้องนับว่าใกล้กว่าซัวเถามาก ที่เป็นแบบนี้เพราะระดับของความผูกพันธ์ แนบชิด (Proximity) มันมีผลต่อการรับรู้ถึงความใกล้ไกลได้ ฉะนั้นระยะทางมันจึงสัมพันธ์กับ proximity ที่เรามีกับ ‘อาณานุภาพ’ นั้นๆ ด้วยนั่นเองครับ
ในทำนองเดียวกัน ในพื้นที่กลางเมืองเราก็อาจจะพบกับชุมชนซึ่งไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับเมืองที่เขาอยู่เลยได้ อย่างชุมชนสลัมกลางเมืองใหญ่ ที่แม้จะอยู่กลางเมือง แต่เขาก็รู้สึกถูกตัดขาดและ ‘ห่างไกล’ จากตัวเมืองใหญ่ที่ใกล้เขาเพียงนิดเดียวนั้นได้ หรือแม้แต่กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ซึ่งความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่เป็นส่วนหนึ่ง หรือ Proximity นี้เอง ส่วนหนึ่งมันก็เป็นผลมาจากการถูกแบ่งแยกด้วย Distanciation ที่ว่ามานี้เอง Distanciation นำมาสู่การแบ่งแยก และการรวมกลุ่ม และการแบ่งแยกและรวมกลุ่มที่ว่านี้ ก็ส่งผลให้เกิดการพิจารณาความใกล้-ไกลในลักษณะ Human-phenomenological distance ขึ้นด้วย พูดโดยสรุปก็คือ การสร้างอาณานุภาพ หรือ Territoriality นั้น คือการสร้างอาณาเขตพื้นที่แห่งอำนาจของตนเองขึ้นมาเพื่อกำหนดระยะ ‘ใกล้-ไกล’ ต่อสิ่งที่มามีปฏิสัมพันธ์กับมัน โดยที่อาจจะไม่ต้องยึดโยงอยู่กับพื้นที่ตรงตัวตามระยะที่กำกับด้วยมาตรวัดระบบเมตริกก็ได้
เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของพื้นที่ 5 เมตรของบิ๊กตู่นั้น จึงไม่ใช่แค่ระยะทาง 5 เมตรเป็นรัศมีโดยยึดตัวแกเป็นจุดศูนย์กลาง แต่มันคือการสร้าง ‘อาณานุภาพ’ ของลุงแกขึ้น เพื่อกำหนดว่า ตัวแกนั้นต้องการจะอยู่ไกลจากนักข่าว ไกลจากอิสระในการยื่นไมค์ถาม ไกลจากการถูกตรวจสอบต่างๆ ฉะนั้นสำหรับนักข่าวแล้ว พื้นที่ 5 เมตรนั้นมันจึงไกล เพราะมันคืออาณานุภาพที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจมาเพื่อการแบ่งแยก เหมือนกับที่ชาวปาเลสไตน์เห็นถนนตัดผ่านอยู่ตรงหน้า แต่ไม่สามารถจะเข้าไปมีส่วนหนึ่งในตัวพื้นที่นั้นได้ เรื่องระยะที่ไกลนั้นผมคิดว่าเป็นอะไรที่เห็นได้ไม่ยากนักนะครับ มันคือ 5 เมตรที่ไกลแสนไกลเลยทีเดียวล่ะ
แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าก็คือ Distanciation และ Human-phenomenological ของลุงตู่ที่เกิดขึ้นจาก ‘5 เมตร’ นั้น ทำให้ลุงตู่รู้สึกว่า “ได้ใกล้กับใครมากขึ้นหนอ?”
แต่ส่วนตัวผมนั้น แม้จะมีอาณานุภาพ 5 เมตรนี้ขึ้นมา ผมก็ยังรักเคารพลุงตู่เสมอนะครับ เพราะผมนั้นรักเพราะคุก กราบเพราะปืนอยู่แล้วคุณเอ้ย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู Ariel Handel (2017). “Distance Matters: Mobilities and the Politics of Distance”in Mobilities. London, UK: Routledge. เข้าถึงได้จาก dx.doi.org