เมื่อเราพูดถึงการทำให้เชื่อง หรือ domestication แล้ว สิ่งแรกๆ ที่เรามักจะนึกถึงกันก็คือ ‘สัตว์’ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคน อย่างหมา หรือแมว และรวมไปถึงปศุสัตว์ต่างๆ อย่าง วัว ควาย แกะ หมู ม้า ฯลฯ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสุนัขบ้านที่นับว่าเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ถูกกระบวนการทำให้เชื่องและกลายเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อนรักกับมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี กระบวนการทำให้เชื่องอย่างที่ทำกับสัตว์นี้ กลับไม่ถูกพูดถึงหรือนึกถึงมากนักในกรณีของมนุษย์ ซึ่งผมอยากจะชวนลองนำมาขบคิดกันดูในครั้งนี้
ประการแรกก่อน ผมอยากจะลองย้อนกลับไปที่กระบวนการทำให้เชื่องก่อนนะครับ ว่ามันคืออะไร ความเข้าใจผิดพื้นฐานอย่างหนึ่งของการทำให้เชื่อง (domestication) นี้คือ คนมักจะนำมันไปผสมรวมกันกับการฝึกสัตว์ให้เชื่อฟัง (taming) ซึ่งแม้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง แต่เป็นคนละอย่างกันครับ นั่นแปลต่อว่า เมื่อวันนี้เราพูดถึงการทำให้เชื่อง ในกรณีของสังคมมนุษย์ที่จะพูดถึงต่อไปนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการพูดถึง tamed citizen/human ด้วย ซึ่งมีการพูดถึงกันไปมากมายแล้ว ทั้งผ่านระบบการศึกษา, การฝึกทหาร, ระบบโซตัส, ฯลฯ ว่าแต่ความแตกต่างระหว่าง domestication กับ taming มันคืออะไร?
การฝึกสัตว์ให้เชื่อฟัง(taming) นั้น ใช้อธิบายถึงการฝึกสัตว์ป่า (wild animal) ให้เชื่อฟังกฎระเบียบแบบที่มนุษย์ผู้ฝึกนั้นต้องการครับ หากจะเรียกว่าเป็นการปราบพยศสัตว์ป่าก็อาจจะเรียกได้ หรือหากจะนำมาเทียบกับกรณีของสังคมมนุษย์แล้ว จะมองว่าเป็นการกล่อมเกลาทางสังคมแบบหนึ่งก็อาจจะไม่ผิดนัก
ส่วนในกรณีของการทำให้เชื่อง (domestication) นั้น มันคือ ‘การคัดเลือกพันธุ์’ อย่างจำเพาะเจาะจงของมนุษย์ เพื่อให้ได้ลักษณะ (trait) แบบที่มนุษย์นั้นต้องการ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนส์ในตัวสัตว์นั้นๆ (อย่างที่สุนัขบ้านมีหลากหลายนานาพันธุ์) นั่นเองครับ แน่นอนว่าย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการ taming และ domestication คือ เราต้อง tamed สัตว์ที่ว่ามาได้ก่อนอย่างน้อยในรุ่นแรก แล้วก็มาคัดเอาลักษณะของตัวที่เราคิดว่ามีคุณลักษณะนั้น ผสมกัน เช่น ตัวที่เชื่องที่สุดผสมกัน รุ่นลูก รุ่นหลาน ก็คัดลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อได้ลักษณะพันธุ์ที่ตรงตามความต้องการของเรา
ในแง่นี้เราพูดได้อีกว่า ‘ความเชื่อฟัง’ (tameness) เองนั้น
ก็เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่ใช้ในการคัดเลือกพันธุ์
สำหรับกระบวนการทำให้เชื่อง (domestication) ด้วย
กล่าวอย่างถึงที่สุด การ taming คือ การจัดการกับ ‘ตัวปัจเจกหนึ่งๆ/กลุ่มหนึ่ง’ (ในกรณีนี้คือสัตว์) ในขณะที่การ domestication นั้นคือการกระทำที่หวังผลในระดับเผ่านพันธุ์ (species) นั่นเอง
คงต้องสารภาพตามตรงว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง animal domestication อะไร จึงขอนำมะพร้าวห้าวมาขายสวนแต่เพียงเท่านี้นะครับ แต่นั่นแหละครับ คือ ผมบังเอิญได้อ่านถึงกระบวนการทำสัตว์ให้เชื่องที่ว่ามานี้ แล้วก็เกิดสะกิดใจขึ้นมาว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว สังคมมนุษย์เองนั้น ก็ไม่ได้อยู่แค่ในโครงสร้างของการ taming แบบที่เรามักจะอภิปรายกันต่างๆ นานานี่หว่า แต่ด้วยรูปแบบฟังก์ชั่นทางสังคมมนุษย์เองนั้น ดูจะมีระเบียบโครงสร้างของการ domestication แบบหลวมๆ อยู่ด้วย
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า กระบวนการทางสังคมหลักๆ ของมนุษย์นั้น โดยตัวมันเองแล้วคือ ‘การรวมความเหมือน และแยกห่างออกจากความต่าง’ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชาติ ศาสนา ชุมชน อุดมการณ์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ฯลฯ ต่างๆ ซึ่งในแง่หนึ่งนั้นแน่นอนว่ามันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการ taming ทางสังคมที่เกริ่นๆ ไปแล้ว แต่ในอีกทางหนึ่ง เรากล่าวได้ด้วยหรือไม่ว่ามันคือ ‘การคัดเลือกคุณสมบัติอันต้องตามความประสงค์’ ของสังคมมนุษย์ชุดนั้นๆ
ว่ากันอีกอย่างก็คือ โครงสร้างทางสังคมของมนุษย์ คือ
กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ขนานใหญ่ของตัวมนุษย์เองที่นำรวม
เอาคนซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เป็นไปในทางเดียวกันมากองอยู่ด้วยกัน
และหลักๆ แล้วก็เกิดการผสมพันธุ์กันภายในเงื่อนไขทางคุณลักษณะอันต้องประสงค์นี้ และการผสมพันธุ์ในลักษณะนี้แบบซ้ำๆ หลายๆ รุ่นนั้น ย่อมจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและกรอบวิธีคิดแบบฝังรากลึกยิ่งกว่าความเข้าใจในเรื่องการกล่อมเกลาทางสังคมทั่วๆ ไปหรือไม่?
ยิ่งหากเรานับย้อนกลับไปดูวิธีคิดของคนจำนวนมากในรุ่นก่อนๆ เราจะพบวิธีคิดของคนจีนโพ้นทะเลในไทย ที่อยากให้ทายาทของตนแต่งงานกับคนจีนด้วยกันเท่านั้น กลุ่มคริสเตียนคลั่งศาสนาที่มีแนวโน้มจะเกี้ยวพาราสีกันเองในโบสถ์ที่พวกตนไปเข้าร่วมพิธีในวันอาทิตย์ และอื่นๆ ที่ยิ่งขับเน้นคุณลักษณะให้จำเพาะเจาะจงเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกจากโครงสร้างคุณลักษณะแบบกว้างๆ ที่มีมาแต่แรก
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ครับว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้ว่า taming กับ domestication จะเป็นคนละอย่างกัน แต่ก็สัมพันธ์กันอย่างมากด้วย โดยเฉพาะในกรณีของมนุษย์นั้น ยิ่งดูจะสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในโครงสร้างของการ domesticate ตัวเองแบบหลวมๆ แต่โครงสร้างทางสังคมของมนุษย์เองนั้นก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดการ domesticate อย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีของสัตว์ได้เช่นเดียวกัน
เพราะสิ่งที่เรียกว่าเป็นคุณลักษณะหลักของสังคมมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมากและตลอดเวลา ในแง่นี้การจะมีคุณสมบัติซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน นั้นก็ยากจะเห็นได้ มีคำอธิบายว่าการ domestication ในสัตว์นั้น จะสมบูรณ์ได้ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นสิบรุ่น หรือมากกว่านั้นเสียอีก (ตามแต่ชนิดของสัตว์) ในการจะคัดเลือกคุณสมบัติแบบซ้ำๆ เดิมๆ ขึ้นมา และให้เกิดการผสมพันธุ์กัน จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับยีนส์ ในแง่นี้การ domesticate มนุษย์ด้วยกันเอง ‘ในแง่ของอุดมการณ์’ นั้น จึงค่อนข้างยากที่จะสมบูรณ์ได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีผลใดๆ กับเราเลย
พร้อมๆ กันไป ในภาพรวมกรอบใหญ่ เราก็พอจะเห็นผลของความสำเร็จของการ domesticate มนุษย์ด้วยกันเองในทางกายภาพมากด้วย หน้าตา รูปร่าง และลักษณะทางกายภาพของมนุษย์นั้น เปลี่ยนแปลงไปจากมนุษย์ในรุ่นบรรพบุรุษมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงสร้างของการ domestication ตัวสังคมมนุษย์เองที่ว่านี้ ซึ่งลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนไปในแต่ละรุ่น อันเกิดจากการผสมพันธุ์ในรุ่นก่อนนั้น ก็สัมพันธ์โดยตรงกับ ‘คุณค่า/คุณลักษณะที่สังคมรุ่นก่อนหน้านั้นต้องการ’
พัฒนาการทางร่างกายของมนุษย์นี้เอง เป็นเครื่องพิสูจน์
ให้เราเห็นชัดๆ ว่าการคัดเลือกพันธุ์และทำให้เชื่องด้วย
โครงสร้างทางธรรมชาติของสังคมมนุษย์เองนั้นมันเกิดขึ้นจริง
เมื่อระบบโครงสร้างทางสังคมมนุษย์ ที่รวมกันภายใต้ความเหมือนและแยกห่างกันด้วยความต่างนั้น มันนำมาซึ่งการ domesticate ในสังคมมนุษย์มวลรวมจริง เราก็คงพอจะพูดได้ด้วยว่าการเกิดขึ้นที่ว่านี้ไม่มีทางจะจำกัดอยู่แค่ที่ตัวร่างกายหรอก แต่อิทธิพลดังกล่าวนี้ก็ควรจะส่งผลถึงระบบการทำงานทางความคิด (cognitive system) รวมไปถึงระบบการทำงานของโครงข่ายประสาทและสมอง (neuron system) ด้วย ทั้งนี้เพราะว่านักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาทและสมอง (neuroscientist) สมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่า ‘โครงข่ายประสาท’ หรือ neuron network ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบพฤติกรรมและขีดความสามารถทางความคิดและการกระทำของเรานั้น สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้แม้จะอยู่ในมนุษย์ที่โตเต็มวัยแล้ว และพร้อมๆ กันไปนิวรอนเดิมที่เคยมีอยู่ก็สามารถหายหรือตายจากไปได้ด้วย[1]
โครงข่ายระบบประสาทที่ว่านี้มันมาเกี่ยวพันกับเรื่อง domestication ที่ดูจะเชื่อมโยงกับการ ‘ข้ามรุ่น’ ที่เราอภิปรายมาก่อนหน้านี้อย่างไร? เพราะหากเป็นเพียงแค่ที่ว่ามานี้ นิวรอนก็ดูน่าจะเชื่อมโยงกับเรื่องของการ taming หรือการกล่อมเกลา อันจะนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของนิวรอนชุดใหม่ๆ ในคนที่ถูกกล่อมเกลาหรือเปล่า?
ส่วนนั้นก็ถูกครับ กล่าวคือ นิวรอนหรือโครงข่ายประสาทและสมองที่เกิดขึ้นใหม่นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับเงื่อนไขของสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือเงื่อนไขชีวิตที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ ต้องพบเจอ ในแง่นี้นิวรอนมันจึงดูจะสัมพันธ์กับการกล่อมเกลาเป็นครั้งๆ ไป ในลักษณะของการ Taming มากกว่า (ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเห็นได้ชัด คือ กรณีของนาซี เยอรมนี ในช่วงของการโฮโลคอส ที่สร้างเงื่อนไขการกล่อมเกลาคนอารยันเยอรมันจนนำมาซึ่งรูปแบบความคิดและพฤติกรรมใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน) แต่พร้อมๆ กันไป บทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของนิวรอนคือ มันไม่ได้ฝากผลงานไว้เฉพาะกับ ‘รุ่นนี้/ตัวเรา’ เท่านั้นครับ แต่มันสามารถส่งผลถึง ‘รุ่นถัดๆ ไป/รุ่นลูกรุ่นหลาน’ เราได้ด้วย
ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะว่านักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อบกิ้นส์ ได้ค้นพบว่าตัวโครงข่ายนิวรอนเองมีการปรับปรุงแก้ไข หรืออัพเดตเวอร์ชั่น DNA ของตัวมันเองอยู่เรื่อยๆ ด้วยครับ[2] และเมื่อนิวรอนมันปรับตัวเองอิงตามพฤติกรรมหรือคุณลักษณะที่จำเป็นหรือเหมาะสมของสังคมนั้นๆ ลงใน DNA แล้ว นั่นก็ย่อมแปลว่า มันมีอำนาจในการส่งต่อไปยังรุ่นถัดไปได้ด้วย[3]
นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบการนึกคิดและโครงข่ายประสาท (cognitive and neuro- scientist) ชื่อดังอย่าง โรเบิร์ต ซาโปลสกี (Robert Sapolsky) เองได้อภิปรายไว้ในหนังสือเล่มดังของเขาอย่าง Behave: The Biology of Human at Our Best and Worst ว่าพฤติกรรมและการตัดสินใจหนึ่งๆ ของมนุษย์เองนั้น เป็นผลลัพธ์รวมของอิทธิพลตั้งแต่เสี้ยววินาทีก่อนที่จะเกิดการตัดสินใจ เรื่อยไปจนถึงประสบการณ์จากเมื่อเป็นล้านปีก่อนได้
ซึ่งเรายากจะรู้ได้ว่า ณ ขณะหนึ่งๆ นั้นอิทธิพลของปัจจัยไหน
จะกลายเป็นตัวตัดสินชี้วัดหลักให้เกิดการกระทำ
แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ก็คือ ทุกอย่างมันมีอิทธิพลกับเราทั้งสิ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การบังคับทางความประพฤติหรือเรื่องเล่าต่างๆ ในสังคมมนุษย์ที่ทำหน้าที่ในการ taming ตัวมนุษย์เองในแต่ละรุ่นนั้น มันจึงดูจะมีแนวโน้มที่จะส่งผลในลักษณะ ‘ข้ามรุ่น’ แบบการ domestication หรือทำให้เชื่องด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้นนะครับ แนวคิดเรื่องการพัฒนาและคัดเลือกพันธุ์มนุษย์ในลักษณะเดียวกับสัตว์นี้ มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเลย เราเรียกมันว่า eugenics ครับ ซึ่งก็คือ การจงใจพยายามคัดเลือกมนุษย์ที่มีคุณสมบัติเหนือกว่า สูงกว่าคนอื่นๆ มาผสมพันธุ์กัน เพื่อให้ได้เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ดีขึ้นนั่นเอง ในแง่นี้เราจะกล่าวว่าแนวคิดของการคลุมถุงชนในสมัยก่อนเอง ที่จัดคู่ตามความเหมาะสมจงใจของคนรุ่นก่อนนั้นเป็น eugenics แบบหนึ่งก็คงจะไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ตามที่ผมอภิปรายมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้พูดบนเงื่อนไขแบบ eugenics ที่ว่ามานี้ด้วย เพราะ eugenics นั้น ต้องอาศัยความจงใจในการคัดเลือกพันธุ์ แต่เงื่อนไขที่ผมกำลังอภิปรายนี้มันอยู่บน ‘ความไม่รู้ตัว’ ของสังคมมนุษย์เองด้วย มันคือสภาพโครงสร้างที่เราคิดกันเอาเองว่าคือสภาพทั่วไปตามธรรมชาติ แต่เพราะสภาพทางธรรมชาติของมนุษย์นั้นมันคือสภาพของการรวมกันด้วยการ ‘คัดเลือกคุณสมบัติที่ต้องการอย่างหลวมๆ’ ดังได้กล่าวไป ในแง่นี้เรื่องเล่าทรงอิทธิพลต่างๆ ที่สืบทอดกันมานาน จึงฝากฝังผลงานในโครงข่ายนิวรอนของมนุษย์ และดูจะหนีไม่พ้นที่จะมีผลชนิดข้ามรุ่นตามไปด้วย
เรื่องเล่าของศาสนา เทวราชา การกิน รีตปฏิบัติต่างๆ ที่เล่าและ taming สังคมมาเป็นเวลาช้านาน แม้หลายอย่างอาจจะเริ่มตายลงไปแล้ว อย่างแนวคิดแบบเทวราชานั้น ในสากลโลกก็ต้องนับว่าหายไปมากแล้ว แต่กระนั้นแฟนตาซีที่ทำให้เราหวนกลับไปคิดถึงโลกในลักษณะดังกล่าวก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ และไม่เพียงแค่เรื่องเล่าเหล่านี้มาช่วยยืดอายุให้กับรหัส DNA ที่อยู่ในโครงข่ายนิวรอนในแต่ละรุ่นเพื่อจะสืบไปให้รุ่นถัดๆ ไปเท่านั้น แต่ ‘ความเชื่อง’ ที่ถูกส่งต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้เอง ก็ส่งให้เรื่องเล่าที่ตีกรอบขีดความสามารถในการคิดและพฤติกรรมของเราอยู่ยั้งยืนยงยิ่งขึ้นด้วย
ในปี ค.ศ.2016 วารสาร Scientific American
ได้อธิบายชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลของ ‘ยีนส์’
ต่ออิทธิพลแนวคิดทางการเมือง
ซึ่งเรามักจะมองข้ามมันไปนั้น มีไม่น้อยเลยนะครับ คือ ในปี ค.ศ.2014 มีการทดลองทางพฤติกรรมศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง จากการทดสอบฝาแฝดที่มี DNA ชุดเดียวกันนี่แหละ จำนวน 12,000 คู่ นั้นพบว่าจุดยืน/แนวคิดทางการเมืองนั้น 60% ถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของตนเอง ในขณะที่อีก 40% ถูกกำหนดโดยยีนส์ (โดยเฉลี่ย)[4] นั่นหมายความว่า แทบจะตลอดมา นักรัฐศาสตร์บ้านเรามักจะพูดถึงแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง โดยละเลยอิทธิพลของ 40% นี้ไปแทบจะโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย
แต่โชคยังดีครับที่ 60% นั้น มันอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมนั้นๆ ด้วย และโครงข่ายนิวรอนเองมันยังอัพเดตแพ็ตช์ตัวเองใหม่ได้เรื่อยๆ นั่นแปลว่าอิทธิพลของยีนส์แบบนี้ มันเปลี่ยนได้ในระยะยาว อย่างกรณีของประเทศไทยตอนนี้ ส่วนหนึ่งคงต้องนับว่าโชคดีที่เงื่อนไขทางวัตถุอย่างเทคโนโลยีนั้นมันเปลี่ยนอย่างรุนแรง (สิ่งแวดล้อม) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดและพฤติกรรมหมู่ทางสังคมแบบที่ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้เห็นมาก่อน อิทธิพลของการ domestication จากรุ่นสู่รุ่นดูจะพ่ายแพ้ไป ในบริบทนี้ก็ได้แต่หวังว่าโครงข่ายนิวรอนในหมู่คนรุ่นใหม่จะทำการอัพเดตแพ็ตช์ตัวเองด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องฝังพฤติกรรมไพร่ทาสหมอบกราบอะไรส่งต่อไปในยีนส์รุ่นถัดๆ ไปอีก
อย่างไรก็ดี เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ผมคิดว่าก็อาจจะต้องระวังตัวเพิ่มด้วยเช่นเดียวกันครับ เพราะเงื่อนไขทางเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลที่ว่านี้เองด้วย ที่อาจจะทำให้การ ‘คัดเลือกพันธุ์แบบไม่รู้ตัว’ เข้มข้นขึ้นไปอีก เพราะมันคือโลกที่คัดเลือกความเหมือนมานำเสนอให้กับเราด้วยอัลกอริธึม และสร้างเอ่คโค่แชมเบอร์ห้องเบ้อเร่อให้เราได้เห็นแต่โลกแบบที่เราอยากจะเห็นด้วย ในโลกของเงื่อนไขทางวัตถุแบบนี้ ในระยะยาวมากๆ แล้ว ผมเองก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันครับว่าเราจะได้เห็น domesticated human หรือมนุษย์ผู้ถูกทำให้เชื่องลักษณะไหนอีก
แต่นั่นแหละครับ ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เพื่อจะให้เข้าใจความยิ่งใหญ่และความยากของสิ่งที่นักศึกษาและขบวนการภาคประชาชนในตอนนี้กำลังต่อสู้อยู่ด้วย เพราะเขาไม่ได้ต่อสู้อยู่เฉพาะกับ ‘อำนาจสถาปนาของการเมืองในปัจจุบัน’ เท่านั้น แต่เขากำลังต่อสู้กับเรื่องเล่าของกษัตริย์สมัยใหม่แบบไทยๆ ซึ่งก่อร่างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และวิธีคิดแบบเทวราชาที่มีมาหลายพันปีแล้ว ซึ่งคู่ต่อสู้ของพวกเขานั้นไม่ได้อยู่ไหนไกลเลย มันอยู่ในตัวในยีนส์พวกเราทุกคนด้วย รวมถึงตัวพวกเขาเอง…นี่แหละครับ คู่ต่อสู้ที่พวกเขากำลังชกด้วยอยู่ เพื่อให้เราไม่ต้องรักเพราะคุก กราบเพราะปืนกันอีกต่อไป แล้วท่านจะไม่ให้ผมชื่นชม ยกยอพวกเขาได้อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Life-and-Death-Neuron
[2] โปรดดู https://www.hopkinsmedicine.org/news/media/releases/neurons_constantly_rewrite_their_dna
[3] โปรดดู https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Genes-Work-Brain
[4] โปรดดู https://www.scientificamerican.com/article/the-genes-of-left-and-right/