ผมทำใจอยู่นานพอสมควรในการเขียนหัวข้อนี้ (ซึ่งหลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่า “ก็เรื่องของมึงสิ” ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร) ทั้งนี้เพราะผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เราไม่ควรต้องพูดอะไรกันแล้ว ควรจะเอาเวลาและพลังงานไปเขียนถึงเรื่องอื่นได้แล้ว แต่ปรากฏว่าผมดูจะเข้าใจผิดไปเอง ว่าเรื่องนี้ควรจะเป็นเสมือนสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์เสรีนิยมสมัยใหม่แล้ว เมื่อผู้กำกับชื่อดังท่านหนึ่งประกาศขอบริจาคเพื่อสร้างภาพยนตร์ประชาธิปไตย แต่พร้อมๆ กันไปกลับดูจะไม่อนุญาตให้เกิดการตั้งคำถามต่อตัวกระบวนการและความโปร่งใสในขั้นตอนการจัดทำและรับบริจาคนัก ทั้งยังมีกรณีที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้บริจาคมาเปิดเผยอีก ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อมีคนไปแย้ง ก็ยังไปกล่าวหาว่าคนที่แย้งหรือใครก็ตามที่ท้วงติงตนนั้น “ถือเป็นสลิ่ม” ทั้งหมดไปเสีย เหล่าแฟนคลับของผู้กำกับท่านที่ว่านี้ก็ดูจะเฮโลเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย เช่นนี้เองผมจึงตัดสินใจว่า เขียนเรื่องที่ไม่ควรจะต้องเขียนถึงอีกต่อไปแล้วนี่ก็แล้วกัน
ประชาธิปไตยนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับความโปร่งใส ความตรวจสอบได้ และความรับผิดชอบ ผมคิดว่าเรื่องนี้ถูกเขียนและอธิบายถึงมามากแล้ว เพราะฉะนั้นคงจะไม่ขอลงรายละเอียดให้มากความอีกนะครับ ฉะนั้นผมเลยจะขอพูดไล่เรียงจากแนวคิดของการบริจาคและอะไรต่างๆ ก่อน เพื่อเข้ามาถึงเรื่องระบบการตรวจสอบได้ ตั้งคำถามได้ และการต้องประกันความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้บริจาค
หากกล่าวอย่างสายยูโทเปียแล้ว ผมคิดว่าเราพอจะพูดได้ครับว่า การบริจาค การเรียกร้องเพื่อการกุศลใดๆ นั้น มันไม่ควรจะมีอยู่ เพราะโครงสร้างทางความคิดของการบริจาคนั้น (เอาแบบอุดมคติมากๆ อย่าง for the good cause หรือเพื่ออยากให้สังคมมันดีขึ้นจริงๆ เลยนะครับ ไม่ต้องเอาแบบการบริจาคเพื่อแอบสร้างเครือข่ายและระบบอุปถัมภ์ต่างๆ เลย) มันอยู่บนการยอมรับ ‘ความเลวร้ายและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของทุนนิยมเสรี’ ที่ท้ายที่สุดแล้วได้สร้างกลุ่มผู้มีอันจะกิน (the fortunate) และผู้ด้อยโอกาสกว่าขึ้นมา และโครงสร้างนี้เองมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการจะ ‘พลิกผัน หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างถอนรากถอนโคน’ (และเพราะเหตุนี้เองแนวคิดคอมมิวนิสม์จึงทรงพลัง เพราะเป็นข้อเสนอชัดๆ อย่างเดียวที่นำเสนอวิธีการในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้แบบถึงราก)
เมื่อเรายอมรับกันไปว่า เออ โลกมันเปลี่ยนไม่ได้หรอก โครงสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจการเมืองนี้สุดท้ายก็จะดำรงอยู่ต่อไปชั่วกัลป์ชั่วกัลแล้วนั้น เราจึงหาทางออกด้วยหนทางที่เรารู้สึกว่ามันพอจะเป็นจริงได้กว่า นั่นคือ การวิงวอนบ้าง การทำความเข้าใจ หรือชี้ให้ผู้มีอันจะกินทั้งหลายเห็นได้บ้างว่า ที่พวกเขามีอันจะกินอยู่ได้อย่างทุกวันนี้นั้น มันเกิดจากการได้เปรียบในการได้เข้าถึงและจัดการทรัพยากร(ส่วนเกิน)ต่างๆ อย่างที่คนอื่นๆ ในสังคมส่วนมากไม่มีโอกาสต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงควรที่จะมอบ ‘ส่วนเกิน’ ที่หามาได้นั้นกลับคืนสู่สังคมด้วย
อย่างไรก็ตามต่อให้เราบอกว่าเป็นการชี้ให้เห็น
หรืออธิบายให้เข้าใจมากกว่าการวิงวอนขอร้อง
แต่ถึงท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจจะให้หรือไม่
ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลของ ‘ผู้มีอันจะกินแต่ละคน’ อยู่ดี
ฉะนั้นไม่ว่าจะฉาบ ‘ภาษา’ ให้ดูดีหรือ empower สังคมอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วโดยเนื้อแท้มันก็คือการเรียกร้องหาความเมตตากรุณาส่วนบุคคลจากผู้มีอันจะกิน เพราะระบบตั้งต้นอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเสรีอย่าง Individual self-ownership หรือสิทธิในการมีกรรมสิทธิส่วนบุคคลนั้นไม่อนุญาตให้การทำงานเชิงโครงสร้างเข้าไปทำอะไรกับ ‘ความไม่เท่าเทียมได้มากนัก เว้นแต่ระบบภาษี (ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้เป็นธรรมนัก) กล่าวอีกแบบก็คือ ภายใต้วิธีคิดแบบยูโทเปียสังคมนิยมแล้ว โครงสร้างของการบริจาคนั้นเป็น defeated system หรือระบบที่สะท้อนและยอมรับความพ่ายแพ้ในตัวมันเองอย่างหนึ่งนั่นเอง
ต่อมาระบบอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันก็ถูกนำมาใช้บ้างอย่าง ‘การระดมทุน’ (crowd funding) ซึ่งแม้จะเรียกให้ต่างกันไป และอาจจะกล่าวได้ว่ามี ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ที่ขยายกว้างขึ้นมาก จากกลุ่มผู้มีอันจะกิน เป็นสังคมโดยภาพรวมสามารถมีส่วนในการร่วมอยู่ในการระดมทุนนี้ได้ ซึ่งก็จริงครับว่าฐานมันกว้างขึ้นจริง และในหลายๆ ครั้งก็เกิดจากการที่ภาพรวมของ ‘ฐานะ’ ประชากรมวลรวมในสังคมนั้นๆ ขยับขึ้นด้วย นั่นทำให้คนที่มีกำลังในการจะร่วมช่วยเหลือ ได้นั้นมีเพิ่มมากขึ้น แม้ยอดที่แต่ละคนช่วยได้จะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักหากเทียบกับเวลาเหล่าผู้มีอันจะกินบริจาค แต่อาศัยฐานผู้เข้าร่วมที่มากขึ้นมาก ก็ทำให้ได้ยอดผลลัพธ์ที่มากได้ อย่างไรดีโดยโครงสร้างก็เหมือนเดิมนั่นแหละครับ คือ ขอความกรุณาจากทุกคนที่พอจะมีส่วนเกินทางทรัพยากรในระบบ/การดำรงชีวิตส่วนตัว มาช่วยเหลือในการทำเป้าหมายที่ตน ‘อิน’ ให้สำเร็จลุล่วงไป
กล่าวอีกอย่างก็คือ กับผู้ซึ่งไม่มีอันจะกินจริงๆ ทุกบาททุกสตางค์ในกระเป๋าคือความจำเป็นทั้งสิ้น ชีวิตไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกว่าส่วนเกินทางทรัพยากร มีก็แต่ส่วนขาด พวกเขาไม่เคยอยู่ในสมการของการระดมทุนอยู่แล้ว ในแง่นี้โครงสร้างของการระดมทุนเอง มันจึงไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก และหากจะมองอีกมุมหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่ามันยิ่งโหดร้ายยิ่งขึ้นด้วย ที่การเรียกร้อง/ขอร้องความช่วยเหลือนี้ ขยับพื้นที่จากที่จำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่ส่วนเกินเยอะๆ มาสู่คนที่มีส่วนเกินแต่เพียงน้อยนิดในชีวิตด้วยแล้ว ว่าอีกอย่างก็คือ โลกของทุนนิยมเสรีดูจะบีบเค้นความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนร่วมเราขนาดที่ว่า พอเกิด luxury บางอย่างในชีวิตได้ ก็จะรู้สึกต้องอยากมีส่วนร่วมในการ ‘คืน’ ให้กับสังคมในทันทีตามมานั่นเอง
ฉะนั้นเราจึงเห็นภาพอย่าง “ใครไหวเท่าไหร ก็ช่วยๆ กันเท่านั้นนะครับ”
หลักหน่วยบ้าง หลักสิบบ้าง หลักร้อยบาทบ้าง เป็นต้น ทั้งๆ ที่ในสังคมซึ่ง ‘ไม่เลวทรามจนเกินไปนัก’ ส่วนเกินในปริมาณที่ว่านี้ มันควรจะเป็นพื้นที่ให้แต่ละคนได้เอามาใช้หายใจหายคอ ให้รางวัลตัวเองนิดๆ หน่อยๆ บ้าง แทนที่จะต้องเอามาจุนเจือสังคมองค์รวมไม่ใช่หรือ? แต่นั่นแหละครับ เมื่อมันเป็น defeated system มันก็บีบเราให้ทำแบบนี้
ด้วยความที่ผมเป็นเพียงซ้ายปลอมๆ คือซ้ายแต่แบบปากดีเข้าว่า แต่เอาเข้าจริงๆ ในชีวิตจริงก็ใช้ชีวิตและมีความสุขบนความได้เปรียบส่วนเกินทางเศรษฐกิจหลายๆ ประการอยู่ ผมคงไม่กล้าหาญหน้าด้านขนาดจะบอกว่า ผมเห็นด้วยกับการลุกขึ้นมาปฏิวัติล้มล้างระบบทุนนิยมอะไรหรอกนะครับ ผมใจไม่ถึงพอ ไม่เพียงเท่านี้ แม้ผมจะเขียนวิจารณ์ระบบการบริจาค หรือระดมทุนมานานสองนาน แต่ท้ายที่สุดแล้วผมเองก็ยอมรับการมีอยู่ของมัน และเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซ้ำและสร้างมันด้วย ผมเองก็ร่วมในกระบวนการบริจาคต่างๆ หรือระดมทุนท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ มาไม่น้อยเช่นกัน
แต่ที่ผมเขียนมาอย่างยาวเหยียดนั้นก็เพื่อจะบอกว่า ภายใต้ defeated system ที่เรายากเหลือแสนที่จะหลุดออกไปจากมันได้ จนสุดท้ายต้องจำยอมอยู่กับมันต่อไปนั้น ทรัพยากรที่แต่ละคนยอมจ่ายคืนให้กับสังคม (ภายใต้ชื่อการระดมทุน) นั้น ไม่ว่าจะยอดเล็กยอดใหญ่ มันมีมูลค่าโดยสัมพัทธ์มากกว่าแค่มูลค่าของมันในรูปของตัวเลขเสมอ’
คนซึ่งอยากช่วยขบวนการเคลื่อนไหวเหลือจิตเหลือใจ แต่สามารถเจียดมาช่วยได้ 50 บาท 100 บาท นั้นมีให้เห็นได้เต็มไปหมด และยอดนี้โดยมูลค่าเชิงตัวเลขแล้วมันอาจจะดูไม่ได้มากมายนัก
แต่มูลค่าโดยสัมพัทธ์กับทรัพยากรที่ผู้บริจาครายนั้นๆ
ถือครองอยู่และจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันนั้น
‘มากกว่า’ ตัวเลขที่แสดงอยู่เสมอ
เพราะเหตุนี้เอง เมื่อเรายอมรับหรือจำยอมในการจะอยู่ใน defeated system แบบที่เป็นอยู่นี้แล้ว เราจึงต้อง ‘รู้ตัว’ (aware) กับมูลค่าของสิ่งเหล่านี้เสมอด้วย เพราะฉะนั้นการบริจาค รับระดมทุนต่างๆ ที่ยิ่งเกี่ยวพันกับคนที่มากมายหลากหลายแบบนี้เท่าไหร่ ยิ่งต้องการความโปร่งใส ความตรวจสอบได้ที่มากเท่านั้น หรืออย่างน้อยๆ ต้องมีการแสดงให้ผู้มาร่วมสละทรัพยากรส่วนเกิน (ที่มีแต่เพียงน้อยนิด) ในชีวิตของเขา ได้เห็นจริงๆ ว่าส่วนที่เค้าสละไปนั้นมันก่อเป็นผลงอกเงยออกมา
เช่นนี้แหละครับ ความรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้มันจึงสำคัญมาก ฉะนั้นผมจึงหงุดหงิดมากเมื่อเห็นพฤติกรรมของผู้กำกับชื่อดัง ที่อ้างการระดมทุน แถมในนามประชาธิปไตยอีกต่างหาก แต่ดันก้าวร้าวกับคำถามและการตรวจสอบเสียเหลือเกิน เราเรียกได้จริงๆ หรือว่านี่คือฐานคิด เหตุผลแบบประชาธิปไตย? การจะมีจุดยืนแบบประชาธิปไตยนั้นเพียงแค่ไม่นิยมชมชอบเผด็จการก็เป็นได้เลยหรือ? การไม่เห็นถึงน้ำหนัก คุณค่า ราคาของ ‘ส่วนเกิน’ ที่แต่ละปัจเจกในโครงสร้างที่บีบกดนี้ต้องสละให้ และต้องการแต่ ‘การตรวจสอบได้’ นั้น มันถูกต้องแล้วหรือ?
ไม่ต้องพูดถึงในหลายกรณีที่ สิ่งที่แต่ละปัจเจก ‘อิน’ และอยากมีส่วนร่วมด้วยนั้น จะเป็นเรื่องที่อาจจะขัดกับคุณค่าหลักของชุมชนหรือโครงสร้างหัวโขนที่ครอบพวกเขาอยู่ด้วยเลยนะครับ ซึ่งมีหมดทุกที่ทั้งในโลกตะวันตกด้วย แต่ในประเทศอย่างไทยที่โครงสร้างความต้องห้าม นั้นมีมากมายล้านแปดเหลือเกิน ข้อจำกัดของปัจเจกแต่ละคนจึงยิ่งมากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นหลายๆ ครั้ง ‘ราคา’ ของที่แต่ละคนช่วยบริจาคนั้น มันจึงมากยิ่งกว่าแค่เรื่องมูลค่าเชิงสัมพัทธ์ที่ว่าไปด้วย แต่เป็นเรื่องของ ‘ความเสี่ยงในชีวิตจริง’ จากชุมชนและโครงสร้างรอบตัว สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งทำให้มูลค่าของส่วนเกินทางทรัพยากรที่แต่ละคนบริจาคหรือช่วยเหลือนั้นมันยิ่งมีราคาขึ้นมาอีก เช่นนี้เอง การปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริจาคเอง จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งพื้นฐานเสียมากๆ จนไม่ควรจะต้องมีพูดถึงกันแล้ว
ทั้งมวลนี้ ผมคิดว่า เป็นเรื่องของ ‘คนซึ่งไม่เห็นราคาของคนด้วยกันเอง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต่างล้วนอยู่ใน defeated system ด้วยกันหมดอย่างที่เป็นอยู่ ผมไม่แน่ใจว่าลักษณะแบบนี้มันมีอะไรที่ดีกว่า ‘สลิ่ม’ ที่ตัวเขาปรามาสนักหนานัก