คำว่า ‘ฮาเร็ม’ (harem) ซึ่งเชื่อกันว่ามีรากศัพท์จากคำว่า ḥarīm ในภาษาอาราบิกนั้น ได้กลายเป็นคำหนึ่งซึ่งติดตลาดไปทั่ว ทั้งในวัฒนธรรมตะวันตกและในวัฒนธรรมป็อบต่างๆ ของโลกตะวันออก อย่างในมังงะ อะนิเมะ เกม หรือไลท์โนเวล ที่มีหมวด (genre) ที่เรียกว่า ‘harem’ เป็นการเฉพาะด้วย โดยหลักแล้ว ภาพซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาผ่านคำว่าฮาเร็มนั้น มักจะสะท้อนถึงพื้นที่หรือเครือข่ายความสัมพันธ์ของชายที่มีคู่ครองจำนวนมาก (polygamous man) แต่ไม่ได้เสมอไปนะครับ ฮาเร็มยังถูกใช้ในการสื่อถึงคู่ครองแบบหลากหลายเพศมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยทั้งในวัฒนธรรมป็อบและคำอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์จริงๆ ฉะนั้นแล้วอาจกล่าวได้ว่า ภาพของการใช้คำว่าฮาเร็มในปัจจุบันจึงมีลักษณะของความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างปัจเจกหนึ่งกับอีกหลายๆ ปัจเจก แต่ไม่ใช่ ‘หลายๆ ปัจเจกร่วมอลเวงพร้อมกันไปหมด’ นั่นเอง
อย่างไรก็ตามโดยรากศัพท์และวัตรปฏิบัติในวัฒนธรรมอิสลามแลว ฮาเร็มนั้นไม่ได้มีขึ้นเพื่อเรื่องทางเพศและการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ผ่านทางกามแต่อย่างเดียว คำว่า ḥarīm อันเป็นรากศัพท์ของฮาเร็มนั้น จริงๆ แล้วมันแปลว่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันมิอาจล่วงละเมิดได้ (a sacred inviolable place) ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่กันไว้ให้กับผู้หญิง ทั้งเหล่าภรรยาและนางสนมต่างๆ รวมไปจนถึงสาวรับใช้ หรือกระทั่งบุตรชายที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ และมักจะได้รับการดูแลโดยขัณที ซึ่งได้รับอนุญาติให้เข้าออกพื้นที่ของฮาเร็มกับโลกภายนอกได้ (นอกเหนือไปจากเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นเจ้าของฮาเร็มนั้นๆ) ในแง่นี้จะมองว่าโครงสร้างดังที่อยู่ในวัฒนธรรมป็อปอย่างที่เรารับรู้กันเมื่อแรกได้ยินคำว่าฮาเร็มนั้นถูกต้อง ก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะมันก่อรูปความสัมพันธ์แบบ one to many หรือหนึ่งคนกับหลายคน
แน่นอนว่าด้วยมุมมองของสิทธิมนุษยชนแบบยุคสมัยใหม่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมุมมองแบบใดต่อพื้นที่อย่างฮาเร็มนั้น ย่อมเป็นพื้นที่ในการกดขี่ทางเพศแบบใดแบบหนึ่งในตัวมันเอง ซึ่งผมเองก็รับทราบดีถึงสภาวะดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ดีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นไม่ใช่จุดเน้นหลักที่บทความในวันนี้ต้องการจะอภิปรายถึงนะครับ จึงขอข้ามประเด็นนี้ไปก่อน (เราจะเน้นถึงบทบาทในฐานะการสะท้อนสถานะทางอำนาจ มากกว่าอำนาจเชิงลำดับชั้น ‘ภายใน’ ตัวฮาเร็มเอง)
อย่างไรก็ดี แม้คำว่า ฮาเร็ม ในความเข้าใจโดยทั่วไปของสากลอาจจะไม่ตรงเป๊ะกับรากเหง้าความหมายดั้งเดิมอันเป็นที่มาของคำคำนี้ แต่จะบอกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ก็พูดไม่ได้ เพราะหนึ่งในต้นรากที่ทำให้คำนี้ถูกรับรู้ในบริบทดังกล่าวนั้น ก็คือ Ottoman Imperial Harem หรือฮาเร็มหลวงแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมันครับ ซึ่งก็คือ พื้นที่สำหรับภรรยาและนางสนม นางในต่างๆ ของจักรพรรดิและราชนิกูลของจักรรดิอ็อตโตมันนั่นแหละ และเมื่อคำว่าฮาเร็มจากบริบทดังกล่าวนี้เข้าไปแพร่หลายในโลกภาษาอังกฤษหรือแองโกลแซ็กซอนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพการรับรู้หลักของคำว่า ‘ฮาเร็ม’ จะเป็นพื้นที่ในการปะทะสังสรรค์ทางกามารมณ์เป็นหลัก โดยเฉพาะกับขุนนางหรือราชาผู้มีอำนาจ
คำว่าฮาเร็มนี้เองเมื่อเข้าไปในโลกภาษาอังกฤษแล้ว
ก็ไม่ได้ใช้เพื่อเรียกพื้นที่ดังกล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงลงมา
ที่จักรวรรดิอ็อตโตมันด้วย แต่ปรับใช้กับลักษณะเดียวกันนี้
ซึ่งปรากฏในแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก
ทั้งจีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงไทยด้วย (ซึ่งในจุดนี้เองผมควรจะระบุให้ชัดเจนไว้ด้วยว่า การใช้คำว่าฮาเร็มในลักษณะที่เป็นสากลนี้ หมายรวมถึงพื้นที่ของการฮาเร็มชายหรือลูกผสมด้วย อย่างในกรณีของขุนศึกชื่อดังของญี่ปุ่น อย่าง อุเอสึกิ เคนชิน เองก็มี ‘ฮาเร็ม(เด็ก)ชาย’ เป็นต้น ในแง่นี้ คำว่าฮาเร็มในการรับรู้ทางสากลจึงขยายออกจากการเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงด้วย)
กลับมาที่ Ottoman Imperial Harem อีกสักนิดครับ เพราะฮาเร็มหลวงของจักรวรรดิอ็อตโตมันนั้นมีโครงสร้างทางการเมืองที่น่าสนใจมาก เพราะในทางหนึ่งมันเป็นพื้นที่ของการกดทับและจำกัดอำนาจของสตรี ‘ในการครอบครอง’ ของสุลต่านแห่งอ็อตโตมัน แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ได้กลายเป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายทางอำนาจภายในตัวฮาเร็มนั้นเองด้วย และบ่อยๆ ครั้งที่อำนาจของฮาเร็มนี้มีผลโดยตรงกับการเมืองและการปกครองทั้งจักรวรรดิเลยทีเดียว ไม่ได้จำกัดอยู่จำเพาะแค่ในพื้นที่ของฮาเร็มเท่านั้น (ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ก็พบได้ในพื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วย อย่างกรณีของจีนเองก็มีหลายช่วงที่มีลักษณะดังกล่าว)
อิทธิพลของฮาเร็มหลวงแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมันนั้น ทรงพลังถึงขีดสุดในช่วง ค.ศ. 1533 – 1656 ซึ่งถึงขนาดถูกขนานนามว่าเป็นยุคของ Sultanate of Women เลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของ Valide sultan (หรือ mother sultan/legal mother ก็เรียก) หรือ ‘แม่ของสุลต่าน’ นั่นเอง (จริงๆ ก็มีความพล็อตเดียวกับกรณี ซูสีไทเฮา ของราชวงศ์ชิงไม่น้อยนั่นแหละครับ)
อำนาจของ Valide sultan นั้นมีสูงมากในฮาเร็มนะครับ
เพราะตัว ‘ไทเฮาแห่งอ็อตโตมัน’ นั้น มีสถานะเป็นผู้ปกครองและบริหารสูงสุดในพื้นที่ฮาเร็มที่จะได้รับการจัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เสมอเมื่อลูกชายของนางได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสุลต่าน ไม่เพียงเท่านั้น แม้โดยหลักการแล้วพื้นที่ฮาเร็มนั้นจะเป็นพื้นที่ ‘ในครอบครอง’ ของสุลต่าน คือ เป็นที่ที่เหล่าภรรยาและสนมต่างๆ ของสุลต่านอยู่และต้องทำตามคำสั่งของสุลต่านต้องการทุกอย่างอะไรนั้น แต่ตัวสุลต่านเอง บ่อยๆ ครั้งก็กลับถูกควบคุมและบงการโดย ‘แม่ของเขา’ หรือ Valide sultan นี้อีกทีหนึ่งนี่แหละครับ ว่าจะให้แต่งกับใคร
หรือกระทั่งจัดสรรให้กับลูกๆ ของเขาอย่างไร ในแง่นี้เราจึงกล่าวได้ด้วยว่า เกิดสภาวะของอำนาจสูงสุดซ้อนอำนาจสูงสุดขึ้นอีกทีหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงศตวรรษที่ 17 อำนาจ valide sultan นั้นยังนับว่าสูงมากเป็นพิเศษด้วย เพราะทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนสุลต่านด้วยในหลายช่วง นำมาซึ่งการสั่งสมอำนาจอย่างมากมหาศาล[1]
อย่างไรก็ตามที่เขียนมานี้ไม่ได้จะอภิปรายว่าฮาเร็มมันกลายเป็นพื้นที่ในการเสริมอำนาจ (empowering) ให้เพศหญิงแต่อย่างใดนะครับ เพราะตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจของ Valide sultan นั้นนับได้ว่าเป็นลักษณะจำเพาะมากๆ เฉพาะคนไป แต่หญิงในฮาเร็มนั้น โดยหลักๆ แล้วก็คือ สาวงาม (และฉลาด) ที่เป็นเชลยศึกบ้าง หรือที่คนของสุลต่านไปเที่ยวเป็นแมวมองสอดส่อง และนำตัวมาบ้าง
ในแง่นี้เองมันจึงยังเป็นพื้นที่ของการกดขี่ทางอำนาจอยู่ดี และในระดับหนึ่ง เราจะบอกว่าการกันเขตพื้นที่นี้ให้มีเฉพาะผู้หญิง ขัณฑี และตัวสุลต่านเองเข้าออกได้ด้วยข้ออ้างของความเป็นพื้นที่ศักสิทธิ์นั้น อีกแง่หนึ่งจะบอกว่ามันก็คือความเป็นแมวหวงก้างของตัวสุลต่านเอง ที่ไม่ชอบและไม่ยินยอมให้ชายอื่นใดได้มาเข้าใกล้หรือกระทั่งได้ชำเลืองมองหญิงของตนได้แต่โดยง่ายนั่นเอง
ไม่เพียงแต่โครงสร้างอำนาจแบบ ‘รัฏฐาธิปัตย์ซ้อนรัฏฐาธิปัตย์’ ที่ฮาเร็มสร้างขึ้นจากอำนาจของ Valide sultan จะมีอิทธิพลต่อโลกทางการเมืองการปกครองดยตรงแล้ว กลไกหรือหน้าที่หลักอันเป็นเหตุผลแห่งการมีอยู่ของตัวฮาเร็มเองก็สัมพันธ์โดยตรงกับอำนาจทางการเมืองด้วย กล่าวคือ ฮาเร็มนั้นทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจ หรือ Symbol of Power ของตัวสุลต่านโดยตัวมันเองครับ ฮาเร็มทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสามารถในการครอบครองผู้หญิงและไพร่ทาสของตัวสุลต่าน รวมไปถึงสถานะทางการเงิน อำนาจในการปกครอง และความแข็งแรงทางร่างกายของตัวสุลต่าน ผ่าน ‘พลังทางเพศ’ (sexual prowess) ด้วยนั่นเอง
เพราะฉะนั้นตัวตนและขนาดของฮาเร็มจึงเป็นเสมือน
เครื่องบ่งชี้ ‘อำนาจแห่งองค์อธิปัตย์ของผู้ปกครอง’
เป็น จุดศูนย์กลางของการปกครอง ด้วย
ผมคิดว่าจุดนี้อาจจะต้องขยายความเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ คือ ก่อนที่จะเกิดการแบ่งเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1648 ตามสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเวสต์ฟาเลียนั้น “ขอบเขตของจักรวรรดิ หรืออาณาจักรหนึ่งๆ ไม่เคยแน่นิ่งอยู่กับที่” แต่มันขยับเพิ่มลดตามแต่อำนาจหรือบารมีของผู้ปกครองแต่ละคน หรือกระทั่งในตัวผู้ปกครองคนเดียวกัน แต่คนละช่วงเวลาก็อาจจะมีขอบเขตอำนาจที่แตกต่างกันไปได้ จะเรียกว่าเป็น ‘อำนาจเขตขัณฑสีมา’ ก็คงจะพอได้
จนกระทั่งเกิดเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการขึ้นโน่นแหละครับ ที่เกิดการเปลี่ยนวิธีการรับรู้ทางอำนาจขนานใหญ่ ว่า ‘อำนาจของผู้ปกครองนั้นไม่ได้ถูกสะท้อนผ่านขนาดของ ‘ราชอาณาจักร’ ในปกครองของกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว’ จะเปลี่ยนกี่ผู้ปกครอง หรือกี่ราชวงศ์ พื้นที่ทางอำนาจก็ ‘เท่าเดิม’ คือ เท่าที่ได้ถูกขีดเส้นเขตแดนโดยชัดเจนไว้ (เว้นแต่จะเกิดการแพ้ชนะสงครามต่างๆ ก็อาจจะทำให้เส้นเขตแดนเปลี่ยนไปได้บ้าง แต่ต่อให้เปลี่ยนก็เป็นการเปลี่ยนแบบมีเส้นเขตแดนคงที่อยู่ดี)
ในแง่นี้ ‘ชายขอบของอำนาจ’ หรือตัวเส้นเขตแดนที่ขยับเข้าๆ ออกๆ นี้เองจึงเป็นเครื่องสะท้อนอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครอง รวมถึงสุลต่านด้วย แต่อะไรกันเล่าที่จะเป็นสิ่งซึ่งยึดโยงหรือแสดงให้ ‘พื้นที่ศูนย์กลาง’ เห็นและรับรู้ได้ถึงพื้นที่ของพระราชอำนาจของสุลต่านที่มากขึ้น ขยายตัวมากกว่าเดิมได้? นั่นก็แสดงออกผ่านกำลังไพร่พลของเชลยศึกสงครามจากดินแดนปลายขอบต่างๆ ที่เที่ยวรบชนะมาได้นั่นเอง ในแง่นี้แรงงานทาสของดินแดนชายขอบการปกครองจึงทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย คือ ขับเน้นอำนาจ ณ ชายขอบ ให้ศูนย์กลางได้มองเห็นและรับรู้
หญิงเชลยศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีจากครอบครัวสูงศักดิ์จากพื้นที่ที่แพ้สงครามนั้น จึงกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการถูกคัดเข้ามาอยู่ในฮาเร็มหลวง เพื่อเป็นตัวแสดงที่สะท้อนอำนาจในการปกครองให้แก่ส่วนกลางได้เห็นโดยชัดเจนว่า “พื้นที่เหล่านี้นั้นอยู่ใต้อำนาจของสุลต่านคนนี้นะ” นอกจากนั้น ภรรยาและสนมต่างๆ (ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นทาสอย่างเชลยศึกสตรีส่วนใหญ่ในฮาเร็ม) ที่มาจากครอบครัวสูงศักดิ์ภายในตัวจักรวรรดิหรืออาณาจักรนั้นๆ เอง นอกจากจะเป็นความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวขุนนางและชนชั้นสูงกับตัวสุลต่าน/กษัตริย์แล้ว มันยังเป็นตัวแสดงของ “การยอมรับในอำนาจที่เหนือกว่า” (submission of power) ของตัวกษัตริย์หรือสุลต่านอีกด้วย
และลักษณะการจัดสรรทางอำนาจแบบนี้
ก็ดำรงอยู่ในฮาเร็มหลวงอย่างน้อยที่สุด
ก็จนกระทั่ง ค.ศ. 1908 เลยทีเดียวครับ
กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่แค่อำนาจ ณ ชายขอบของอาณาจักรก่อนจะเกิดการมีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนเท่านั้นที่จะมีการยืดๆ หดๆ ตามปริมาณของพระราชอำนาจ แต่ระดับความเข้มข้นของอำนาจกษัตริย์ ณ พื้นที่ศูนย์กลางเอง ก็มีระดับความเข้มข้นที่ต่างกันออกไป บางช่วงอาจจะเจือจาง บางช่วงก็อาจจะเข้มข้น ซึ่งระดับของปริมาณอำนาจ ณ พื้นที่ส่วนกลางนั้นก็พอจะสามารถดูได้จากตัวฮาเร็มนี้เอง
ในแง่นี้ หากเรามองว่าทหารที่ออกไปทำสงครามให้กับราชอาณาจักร หรือจักรวรรดินั้นๆ เป็นตัวแทนของอำนาจในการต่อสู้หรือป้องกันพื้นที่ของตนแล้ว เหล่าสตรีในฮาเร็ม ก็คงไม่ผิดที่จะเรียกว่าเป็น sex soldier แบบหนึ่ง ซึ่งตัวสะท้อนอำนาจในแง่ของ ‘บารมี ความสามารถทางร่างกาย และอิทธิพลการครอบงำทางการเมือง’ ที่เจ้าผู้ปกครอง ณ เวลานั้นๆ ถือครองอยู่นั่นเองครับ
ทั้งนี้ แม้ว่ากระแสคิดแบบประชาธิปไตยเสรีและหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะได้กระจายตัวไปทั่วโลก และโดยรวมแล้วพอจะถือได้ว่า รีตปฏิบัติแบบฮาเร็มหลวงแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมันนี้จะแทบสูญสลายไปแล้ว (แน่นอนว่ายังไม่หมดสิ้นไปเสียทีเดียว) แต่วิธีคิดดังกล่าวในฐานะแฟนตาซีที่อยากจะทำห้เป็นจริงได้ ก็ดูจะมีให้เห็นอยู่ได้โดยทั่วไป อย่างที่กล่าวแต่ต้นว่า ‘ฮาเร็ม’ เข้าไปอยู่กระทั่งในกระแสคิดแบบวัฒนธรรมป็อป ว่าสักวันหากฉันมีอำนาจก็อยากจะมีฮาเร็มแบบนี้บ้าง
ฉะนั้นในแง่หนึ่งคงไม่แปลกหรอกครับหากสักวันหนึ่งเราจะเห็นผู้มีอำนาจล้นฟ้าในสังคมหนึ่งๆ สร้างฮาเร็มของตนขึ้นมา ตามโมเดลแฟนตาซีนี้ เพียงแค่ว่ากระแสวัฒนธรรมการเมืองโลกมันไม่ได้เหมือนศตวรรษที่ 16 – 17 อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เป็นตัวแทนของอำนาจและความยิ่งใหญ่ในเวลานั้น หากมาทำแบบเดียวกันในเวลานี้ ก็เป็นได้แต่เพียงการสำแดงอำนาจบาตรใหญ่ ความคลั่งกามอย่างผิดแปลกพิศดาร และการใช้อำนาจอย่างล้นเกินหลักการแถมยังในทางที่ผิดๆ อีกต่างหาก (abuse of excessive power) ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู Leslie P. Peirce (1993). The Imperial Harem: Women and Sovereignty in Ottoman Empire. Oxford University Press. p.258.