1
เคยมีพระรูปหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระหัวก้าวหน้าปัญญาชน ท่านศึกษาปรัชญา มีทีท่าว่าสนใจการเมือง ชอบการถกเถียงโดยใช้เหตุผล สนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และเคยวิพากษ์อำนาจใหญ่ๆ ประเภทที่ ‘ถูกทำให้เป็นสถาบัน’ ให้ฟังหลายเรื่อง
ในสมัยที่ได้พบกับท่านอยู่บ่อยๆ นั้น เวลาสัมภาษณ์หรือนั่งสนทนากับพระรูปนี้ ผมกับท่านจะนั่ง ‘เสมอ’ กัน คือนั่งอยู่บนพื้นกระดานในกุฏินั่นแหละครับ ไม่มีใครเหนือกว่าหรือต่ำกว่าใคร และต่างก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ ทั้งคู่ เพราะท่านเป็นพุทธ ส่วนผมเป็นคริสต์ จึงมีเรื่องให้แลกเปลี่ยนในทางศาสนาและความคิดอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมต้องไปพูดบนเวทีร่วมกับท่านในงานอะไรสักอย่าง ทั้งผมและพระรูปนั้นไปถึงก่อนเวลา ผู้จัดให้นั่งอยู่ด้านล่างเวที เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องนั้น ผมนึกประหลาดใจเล็กน้อย เพราะผมพบว่าพระท่านนั่งอยู่บนโซฟา โดยมีผู้จัดงานนั่งพนมมือรายล้อมอยู่กับพื้นเต็มไปหมด ผมจึงยกมือไหว้ท่าน แต่แล้วก็เกิดความลังเลว่าจะนั่งที่ไหนดี ระหว่างนั่งลงไปกับพื้นหรือนั่งที่โซฟา
ผมรู้ว่าชาวพุทธทั่วไปคงบอกให้ผมนั่งพื้นแน่ๆ ใช่ไหมครับ และเผลอๆ ก็อาจบอกให้ผมพนมมือเวลาคุยกับท่านด้วย แต่อย่างที่เล่าถึงคุณลักษณะข้างต้นของท่าน ตอนนั้นผมค่อนข้างเชื่อโดยสนิทใจว่าท่านเชื่อในความเสมอภาค ไม่เชื่อใน ‘ยศช้างขุนนางพระ’ อันเป็นสิ่งที่ใช้ ‘จัดลำดับ’ สิ่งต่างๆ ในสังคม ซึ่งรวมไปถึงพระหรือสมณศักดิ์ต่างๆ ด้วย บทสนทนาของท่านหลักแหลม คมคาย เต็มไปด้วยการวิพากษ์กรอบคิดเก่าๆเหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผมลงไปนั่งกับพื้น ก็อาจเป็นได้ว่านี่คือการ offend ความเชื่อของพระรูปนั้น ทั้งที่พอรู้ถึงความคิดของท่านอยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน การนั่งบนโซฟาเสมอกันกับพระ ก็เท่ากับผมอาจ offend ผู้คนที่กำลังนั่งบนพื้นรายล้อมพระอยู่
ดูเหมือนไม่ว่าจะนั่งตรงไหน อย่างไร ก็คล้ายสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับใครบางคนบางฝ่ายอยู่เสมอ
ชั่วแวบนั้น ผมตระหนักถึงการทำงานของ ‘อำนาจ’ ที่มองไม่เห็น,
และดังนั้น-ผมจึงอิหลักอิเหลื่อลังเล
แต่ทันใดนั้น เมื่อพระรูปนั้นเห็นผม ท่านก็เรียกให้ผมไปนั่งบนโซฟาข้างๆ ท่าน อาศัย ‘อำนาจ’ จากถ้อยคำของพระ ผมจึงทำตาม แล้วทรุดตัวนั่งลงบนโซฟาที่ ‘เสมอ’ กับพระอย่างตะขิดตะขวงใจ เพราะเป็นการนั่งท่ามกลางรายล้อมของผู้คนบนพื้น โดยผู้จัดงานบางคนก็อายุมากกว่าผม (เห็นการทำงานของอำนาจทางวัยวุฒิไหมครับ) แต่คนเหล่านั้นก็ยังอยู่กับพื้นพลางพนมมือสนทนากับพระอยู่ ในขณะที่ผมไม่ได้พนมมือในเวลาพูดคุย
คลื่นลมแห่งความอิหลักเหลื่อค่อยๆ ราบเรียบลง ดูเหมือนทุกคนจะยอมรับให้อะไรๆ เป็นไปอย่างนั้น แต่แล้วจู่ๆ ผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น
เธอไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป!
ตามฐานะทางสังคม เป็นที่รู้กันว่าเธอเป็นคุณหญิงคนหนึ่ง ไม่ใช่คุณหญิงธรรมดาๆ แต่เป็นคุณหญิงที่เป็นคนดังในแวดวงสังคมด้วย ดังนั้น การปรากฏตัวของเธอจึงไม่ธรรมดา ผมไม่รู้ว่าคุณเคยเห็นการปรากฏตัวแบบ Grand Entrance ของคนที่ไม่ธรรมดาไหม คุณหญิงคนนี้ปรากฏตัวแบบนั้น ยิ่งใหญ่ มีสง่าราศี ผู้คนเข้าไปกลุ้มรุมต้อนรับ เชื้อเชิญแห่ห้อมพาเธอเข้ามาในงาน ออร่าบางอย่างจับประกายที่ตัวเธอเปล่งปลั่งยิ่งใหญ่
แล้วเมื่อเห็นพระรูปนั้นที่กำลังนั่งอยู่บนโซฟา คุณหญิงก็ปรี่เข้ามาที่พระ พลางทรุดตัวลงกราบสามหนใกล้กับเท้าของพระ เป็นการกราบที่งดงามประณีตเยี่ยงผู้ที่ฝึกฝนตนมาแล้วเป็นอย่างดี ผมของคุณหญิงที่เซ็ตมาจนมีขนาดใหญ่น้ันวางระลงกับพื้นขณะหมอบราบเอาหน้าผากแตะพื้น แต่คุณหญิงก็ไม่ยี่หระ เพราะการกราบพระตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าทรงผม
ในตอนนั้น ผมน่าจะได้ชื่นชมยินดีและอนุโมทนาไปกับคุณหญิงอย่างจริงใจ แต่ให้บังเอิญเหลือเกินว่า โซฟาที่ผมนั่งอยู่ติดกับโซฟาของพระ และให้บังเอิญอีกเช่นกัน ที่ทรงผมของคุณหญิงมีขนาดโอฬารเกินไป ผมของคุณหญิงยามก้มกราบและตกระพื้นนั้น จึงแทบจะก่ายเกยมาถึงปลายเท้าของผมไปด้วย หากนี่เป็นละครแล้วช่างภาพถ่ายจากมุมไกล ดูเผินๆ หลายคนอาจคิดว่าผมกับพระรูปนั้นนั่งอยู่บนที่สูง โดยมีคุณหญิงกำลังกราบทั้งพระทั้งผม พร้อมกับมีบ่าวไพร่บริวารนั่งพนมมือรายล้อมอยู่
นี่ไม่ใช่ภาพอันพึงปรารถนาสำหรับผมเลย!
คุณอาจจะถามว่า แล้วทำไมถึงไม่ลุกขึ้นเสียก่อนเล่า แต่อยากบอกคุณว่า การปรี่เข้ามากราบพระของคุณหญิงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วจนผมตั้งตัวไม่ทัน จึงไม่ได้ขยับตัวหนีทันที แต่เมื่อเห็นวงทรงผมของคุณหญิงอยู่ใกล้กับเท้าผม ผมจึงค่อยๆ กระถดตัวห่างออกมาทีละนิดละหน่อย จนเท้าพ้นวงรัศมีของทรงผมนั่น
แรกทีเดียว ผมคิดว่าเมื่อกราบเสร็จ คุณหญิงคงลุกขึ้นมานั่งบนโซฟาอีกตัวที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อสนทนากับพระ แต่เปล่าเลยครับ คุณหญิงยังคงนั่งอยู่กับพื้น พนมมือ แล้วเงยหน้าขึ้นสนทนากับพระเหมือนที่คนดีๆ ผู้ผ่านการอบรมสั่งสอนมาเป็นอย่างดีตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเขาทำกัน
นาทีนั้นผมได้แต่เงยหน้าขึ้นมองเพดาน กระถดตัวออกไปอีกนิด แต่ก็ไม่ได้ลุกไปไหน เพราะพระยังคงชวนผมคุยอยู่ ผมจึงต้องนั่งคุยกับพระอยู่บนโซฟา โดยมีคุณหญิงและคนจัดงานอื่นๆ นั่งพนมมือแต้อยู่ที่พื้น
มันคือภาพที่แปลกประหลาดและติดฝังอยู่ในความทรงจำอย่างยิ่งจนเกือบเรียกได้ว่าเป็น Trauma!
ผมไม่รู้ว่าคุณคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนอาจประณามผมก็ได้ที่ ‘บังอาจ’ ไปนั่ง ‘เสมอ’ กับพระ เพราะขนาดจะใส่บาตร คนไทยยังต้องถอดรองเท้าด้วยสำนึกว่าตัวเอง ‘ต่ำ’ กว่าพระเลย แต่ความย้อนแย้งก็คือ พระรูปนั้นประกาศว่าตนหัวก้าวหน้า ท่านเคยพูดถึงเรื่องการยกเลิกการหมอบกราบในรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำ แถมยังเปรียบเทียบวัตรปฏิบัติของศาสนาพุทธกับศาสนาอื่นๆ ให้ฟังด้วย และเพราะดังนั้น ผมจึงคิดว่าการนั่งอยู่ตรงนั้นสอดคล้องต้องกันกับ ‘จริต’ ของตัวผมเอง (โดยเข้าใจว่าพระรูปนั้นก็เข้าใจอย่างเดียวกัน) แต่เมื่อมี ‘อำนาจ’ อื่นซ้อนทับเข้ามา คืออำนาจอย่างเป็นทางการของความเป็น ‘คุณหญิง’ อันเปี่ยมออร่าและสมาทานวิธีคิดดั้งเดิมแบบไทยๆ คือการหมอบกราบพระ นั่งกับพื้น และยกมือพนมเวลาพูดคุยกับพระ ผมจึงไม่คิดว่าทั้งผมและพระรูปนั้นจะทำอะไรได้ นอกจากต้องยอมรับกันไป
อย่างไรก็ตาม กับฉากที่เกิดขึ้น ผมอยากรู้ว่า-คุณพอเห็นการทำงานอันซับซ้อนและย้อนแย้งของอำนาจไหม?
2
การเมืองเรื่องหมอบกราบพนมมือ ทำให้ผมนึกถึงการเมืองเรื่องที่นั่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้น สมัยยังไร้เดียงสา ผมเคยไปงานอะไรสักอย่างในเดือนตุลาคม
เป็นที่รู้กันนะครับ ว่าเวลาพูดถึงคำว่าการต่อสู้ในเดือนตุลาคม เราจะหมายถึง 14 กับ 6 ตุลาฯ ซึ่งทั้งสองครั้งมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย มีชัยชนะและพ่ายแพ้ แต่จะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองครั้งคือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อความ ‘เสมอภาค’ บางอย่าง
งานที่ผมไปก็เป็นแบบนั้นแหละครับ มันคืองาน ‘รำลึก’ ถึงการต่อสู้ที่ว่า ผมคิดของผมเองอยู่ในใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดในงานนี้ น่าจะเป็นการเชิดชูความเสมอภาคของผู้คน เพราะความเสมอภาค (ร่วมกันกับเสรีภาพและภราดรภาพ) คือแก่นแกนหลักอันเป็นฐานของประชาธิปไตย และการต่อสู้ในเดือนตุลาคม ก็เป็นไปเพื่อสลัดตัวเองให้หลุดจากแอกของอำนาจนิยมและเผด็จการ ดังนั้น งานนี้จึงน่าจะอวลไอไปด้วยบรรยากาศแห่งความเท่าเทียมกันของผู้คน
(ฟังดูช่างน่าขนลุกยิ่งนัก!)
เมื่อไปถึงงาน ผมพบว่าที่งานมีเวที บนเวทีมีพิธีกรรมและการแสดงต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปตามปกติ แต่ที่ผมรู้สึกไม่ปกติก็คือ-ที่หน้าเวทีมีเก้าอี้
เปล่าครับ-การมีเก้าอี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ต่อให้ด้านหลังของเก้าอี้ที่วางเรียงเป็นแถวนั่นจะมี ‘เสื่อ’ ปูอยู่กับพื้น ซึ่งแปลว่าจะมีคนที่ได้นั่งเก้าอี้กับคนที่ได้นั่งพื้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะเก้าอี้ย่อมไม่ได้มีเพียงพอกับจำนวนคน หากคนล้นหลามและมาสายก็ต้องนั่งบนเสื่อ หรือจะยืนรายล้อมอยู่รอบๆ ตามอัธยาศัยก็ยังได้
ทว่าสิ่งที่ทำให้ประหลาดในความรู้สึกก็คือ-เก้าอี้เหล่านั้นไม่ได้มีแบบเดียว
ชุดเก้าอี้ที่อยู่ด้านหลังติดกับเสื่อ เป็นเก้าอี้พลาสติกราคาถูกสีแปร๋น จัดวางไว้จำนวนมาก น่าจะราวๆสิบกว่าแถว แต่ถัดขึ้นไปข้างหน้าของเก้าอี้พลาสติก เป็นเก้าอี้เหล็กพับ ตรงที่นั่งมีการบุนวมด้วยหนังเทียม ชุดเก้าอี้เหล็กพับนี้มีอยู่สองแถวด้วยกัน (คือมีจำนวนน้อยกว่าเก้าอี้พลาสติก) ส่วนตรงบริเวณหน้าเวที ถัดจากเหล่าเก้าอี้เหล็กพับไปอีกชั้นหนึ่งคือเก้าอี้นวม
คำถามที่เกิดขึ้นในหัวผมตอนนั้นก็คือ-เอาไว้ให้ใครนั่ง?
ถูกแล้วครับ-เสื่อสาดนั้นมีไว้ให้ชาวบ้านนั่ง ชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัดนั้นเลือกเองที่จะนั่งบนเสื่อ ในขณะที่ ‘แขกผู้มีเกียรติ’ ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานก็จะ ‘จัดลำดับสถานะ’ ของตัวเองกันเอง บางคนนั่งเก้าอี้พลาสติกสีแปร๋นนั้นที่แถวท้ายสุด บางคนเลือกนั่งแถวกลางๆ แต่บางคนที่ดู ‘มีเกียรติ’ มากกว่าคนอื่นๆ หน่อยก็จะเลือกนั่งแถวหน้าๆ ส่วนคนที่ไปนั่งเก้าอี้เหล็กพับบุหนังเทียมนั่น จะเป็นกลุ่มที่ผู้จัดงานต้องเชื้อเชิญคะยั้นคะยอให้ไปนั่ง เพราะการ ‘บังอาจ’ ไปนั่งเองถือเป็นเรื่องไม่สมควร และแน่นอนที่สุด เก้าอี้โซฟาหน้าเวทีย่อมเป็นของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่มาเปิดงาน
บอกตรงๆ ว่า-ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่ผมไม่เข้าใจเอาเสียเลย!
จริงๆ แล้ว ผมจะเข้าใจได้นะครับ ถ้าหากเดินเข้าไปในสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยสำนึกแบบมีลำดับชั้นทางสังคมซึ่งมีอยู่แทบจะทุกหัวระแหงในสังคมไทย เพราะเราถูกอบรมสั่งสอนกันมาแบบนั้น ตั้งแต่หมอบกราบครูขณะยกพานไหว้ครูในโรงเรียน กระทั่งถึงการยืนกุมเป้าในบริษัท หรือคุกเข่าให้บริการในร้านอาหารหรูๆ
แต่ในงานนี้ ผมเข้าใจไม่ได้เลยว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถจัดให้ผู้คนสามารถ ‘นั่ง’ เหมือนๆ กันได้ ทั้งที่เป้าหมายในการต่อสู้เป็นไปเพื่อการนี้
ตอนนั้นเกิดคำถามขึ้นในหัวสองคำถาม คำถามแรกก็คือ-เป็นไปได้ไหมว่า ในสังคมไทย ‘สำนึก’ แบบที่ต้องจัดการให้คนที่มี ‘ฐานานุรูป’ แตกต่างกันมี ‘ที่นั่ง’ ต่างกันนั้น มีความเข้มข้นรุนแรงกว่า ‘สำนึก’ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม มันจึงแทรกซอนเข้าไปสู่วิธีจัดเก้าอี้เหล่านี้
และคำถามที่สองก็คือ-ผมไร้เดียงสาเกินไปใช่ไหม?
3
ที่จริงแล้ว การเมืองเรื่องที่นั่งไม่ได้มีแค่ในสังคมไทยเท่านั้นนะครับ ในสังคมตะวันตกก็มีเหมือนกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในสังคมไทย การเมืองเรื่องที่นั่งจะเป็นการจัดที่นั่งในลักษณะ ‘สูง-ต่ำ’ คืออาจจะมีคนหมอบราบนั่งกับพื้น พนมมือไหว้ตัวแทนอำนาจบางอย่าง (เช่นพระเป็นตัวแทนของอำนาจทางศาสนา ฯลฯ) มีคนนั่งเสื่อ มีคนนั่งโซฟา มีคนนั่งเก้าอี้ราคาถูกแพงแตกต่างกันไปตามฐานานุรูป แต่ในสังคมตะวันตกนั้น การเมืองเรื่องที่นั่งมักเกิดขึ้นในงานเลี้ยงหรือในที่ทำงาน โดยจะมีความหลากหลายต่างกันไป แล้วแต่ว่าจะยึดตามหลักการไหน
ในการจัดที่นั่งบนโต๊ะงานเลี้ยงแบบดั้งเดิม อาจจัดให้หญิงกับชายนั่งสลับกันไป (เป็นการเมืองเรื่องเพศ) หรือถ้าเจ้าภาพรู้ว่าใครไม่ถูกกับใครก็จัดให้นั่งห่างกันไปหน่อย (เป็นการเมืองเรื่องเพื่อน) อะไรทำนองนั้น หรือหากเป็นการจัดที่นั่งในที่ทำงาน ก็จะดูว่าใครควรนั่งอยู่ใกล้กันหรือห่างกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าทำงานแบบต่างๆ ขึ้น เช่น อยากให้ที่ทำงานมีความสงบผ่อนคลายก็จัดแบบหนึ่ง อยากให้กระตือรือร้นหรือมีพลังงานสูงก็จัดอีกแบบหนึ่ง ถึงขั้นมีการคิดค้น ‘ศาสตร์’ ของการจัดโต๊ะทำงานเพื่อไม่ให้เกิดความติดขัดเกียจคร้านต่างๆขึ้นมาเลยทีเดียว แต่โดยรวมๆ เราจะเห็นได้ว่าเป็น ‘การเมืองแนวระนาบ’ คือผู้คน (ค่อนข้าง) เสมอกัน การเมืองเรื่องที่นั่งจึงเป็นการต่อสู้ต่อรองเรื่องที่นั่งของกลุ่มคนที่มี ‘อำนาจ’ พอๆกัน แต่การเมืองเรื่องที่นั่งในสังคมไทยนั้น เห็นได้ชัดเจนในแทบทุกหนแห่งทุกหัวระแหงนะครับ ว่าเป็น ‘การเมืองแนวดิ่ง’ คือมีการจัดลำดับที่นั่งสูงต่ำแบบที่เรียกได้ว่า by default คือเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึก และเป็นสำนึกที่ ‘ปล่อยไม่ไป’ เสียด้วย