ทุกวันนี้ทุกคนคงคุ้นชินกับคำว่า ‘ซอมบี้’ กันดีอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าภาพแรกๆ ที่เรานึกถึงซอมบี้หรือ The Living Dead นั้นก็คงหนีไม่พ้นศพเดินได้ที่มีความ ‘วิ่งเข้าใส่ และฆ่าไม่ตาย (เพราะมันตายอยู่แล้ว)’ อย่างที่เราเห็นในซีรีส์อย่าง Walking Dead, Game of Thrones หรือภาพยนตร์อย่าง Train to Busan, World War Z ฯลฯ ไปจนถึงรุ่นคลาสสิกหน่อยอย่างผีดิบจีนกับซูสีไทเฮา หรือพวกมัมมี่อียิปต์ไป (ถ้าจำไม่ผิดในเรื่อง The Big Bang Theory เคยมีการถกเถียงกันระหว่างราจกับเลียวนาร์ดด้วยว่ามัมมี่เป็นซอมบี้หรือไม่ โดยราจมองว่าพวกมันเป็นซอมบี้ เพียงแค่มี choice of fashion ของตัวเอง คือ การพันผ้า 555)
อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ ‘ซอมบี้’ ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ ด้วยคำว่า Zombie นั้นมันมีความหมายโดยทั่วไปว่า Living Dead ซึ่งเป็นคำสองคำที่เป็นขั้วตรงข้ามกันแบบสุดมาประกอบกันอยู่ ‘มีชีวิต + ตาย’ โดยเฉพาะเป็นสภาพของขั้วตรงข้ามที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ ‘ชีวิต’ ฉะนั้นในทางการเมืองเองจึงมีการนำคำว่า ‘ซอมบี้’ มาใช้งานเพื่อเปรียบเทียบสังคมแบบที่เราเป็นอยู่ว่า Zombie Politics ครับ โดยคำว่า Zombie Politics นี้ถูกใช้ในหลายความหมาย หลายรูปแบบ ผมคงจะอภิปรายได้ไม่หมดทุกรูปแบบ แต่อยากจะยกให้เห็นภาพบางรูปแบบพอสังเขปก่อน
รูปแบบที่อาจจะนับได้ว่าใกล้เคียงภาพของ ‘ซอมบี้’ ในหนังที่เราคุ้นชินที่สุดคงหนีไม่พ้น การใช้ความรุนแรงอย่างที่ดูแล้วปัจเจกนั้นๆ หรือเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมสติ ตัวตน หรือความนึกคิดของตนเองได้เลย เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อสนองระบบหรือกลไกอันไร้ความคิดของตนเองล้วนๆ เสมือนฝูงซอมบี้ที่เข้าทำร้ายสิ่งมีชีวิตอย่างไร้ความคิด แต่เป็นไปตามแรงขับของความบ้าคลั่ง (Madness Appetite) นั่นเอง ตัวอย่างนี้ ก็อาจจะเห็นได้ตั้งแต่นาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ส่งคนไปรมแก๊ส และจากนั้นหลายคนก็บอกว่าตนไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าทำไมถึงทำแบบนั้นไป หรือแม้แต่เหตุการณ์การล่าแม่มดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 – 24 ตุลาคม 2559 ที่เริ่มต้นจากร้านน้ำเต้าหู้แห่งหนึ่งในภูเก็ตเอง ก็เป็นลักษณะเดียวกันครับ การใช้ความรุนแรงอย่างไร้ความสามารถในการเป็นเจ้าของความคิดของตนนี้เองที่นำมาซึ่งเพลง Zombie ของ The Cranberries ที่บอกว่าสุดท้ายแล้ว “ซอมบี้มันก็อยู่ในหัวของเราเอง” … “In your head, in your head. Zombie, zombie, zombie. Hey, hey. What’s in your head, in your head? Zombie, zombie, zombie.”[1]
อีกกรณีหนึ่งของคำว่า Zombie Politics ที่ใช้การมากในทางวิชาการ อันนี้จะเป็นภาพกว้างเลยครับ คือ การที่บอกว่าสังคมเราตอนนี้ (เอาจริงๆ หลักๆ ผมคิดว่าหมายถึงสังคมโลกตะวันตกเองเป็นหลัก) ได้ทำให้เรากลายเป็นซอมบี้กันหมดแล้ว เพราะเรากลายเป็นก้อนเนื้อมีชีวิตที่ขยับขับเคลื่อนตามกลไกของระบบทุนนิยม ที่หลอกให้เราท่องคาถาของเสรีภาพ ว่า “We are free.” (โปรดดูตามรูป) แต่สุดท้ายแล้วเราก็เป็นเพียงก้อนเนื้อเดินได้ที่ความต้องการของตนเอง ถูกแทนที่ด้วยความต้องการของระบบทุนเอง ฉะนั้นเราจึงเป็นเพียงซอมบี้ฝูงหนึ่งเท่านั้น ดังที่ John Sides รองศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ George Washington University ได้บอกไว้ว่า Zombie Politics มันคือความคิดทางการเมืองที่เชื่อมติดกับวิถีคิดหลักของเราชนิดที่เราไม่มีทางสลัดมันหลุดได้ (แม้จะอยากทำก็ตาม)[2] รศ. สรวิศ ชัยนาม เองก็เคยรีวิวหนังเรื่อง Train to Busan ผ่านแนวคิดของ Zombie Politics of Late-Capitalism Society หรือการเมืองของซอมบี้ในยุคทุนนิยมตอนปลายด้วยเช่นกัน ใครสนใจลองอ่านดูได้ที่เพจ Kafe Lumier นะครับ[3]
อย่างไรก็ตาม หากเราสังเกตดูจะพบว่าทั้งรูปแบบแรกที่จำกัดวงลงมาที่การใช้ความรุนแรงทางกายภาพอย่างไร้การควบคุมทางสติ หรือในแบบหลังที่เรากลายเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยมนั้น มันเป็นการพูดถึง Zombie Politics บนฐานที่ ‘ควบคุมไม่ได้’ คือ เราควบคุมตัวเราเองไม่ได้ (ในกรณีแรก) หรือ เราเข้าไปทำอะไรกับมันก็ดูจะเหนือความสามารถ (กรณีหลัง) เพราะ ณ โมเมนต์นั้นๆ ความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีสติหรือตามที่เราต้องการเอง ‘มันไม่ได้อยู่ที่เรา’
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ผมเป็นห่วงเป็นพิเศษคือ มันมีกรณีที่ “ความสามารถในการคิดและตัดสินใจตามความต้องการของเรานั้นยังมีอยู่โดยครบถ้วน แต่มันเป็นเพราะกลไกหรือเงื่อนไขของรัฐต่างหากที่ไม่อนุญาตให้เราทำอย่างที่รู้ตัวและอยากทำได้” นั่นคือ ‘สิทธิในการตาย’ หรือ Right to Die ครับ
คนเรามีอายุยืนขึ้นเยอะมากครับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อศตวรรษก่อน ไม่ต้องย้อนไปถึงยุคกรีกโรมันโบราณอะไรเลย ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สูงขึ้นมาก แม้เราจะบ่นกันมากมายว่าเดี๋ยวนี้โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ แปลกๆ เต็มไปหมด รวมไปถึงสังคมก็อันตราย ทั้งโจรฆ่า ข่มขืน ทำร้าย อาชญากรรม และก่อการร้าย โลกน่ากลัวจริงๆ สังคมในสมัยปู่ย่าตาทวดเราที่อากาศดี น้ำใส หินสวย ฟ้าครามดูจะดีกว่าเยอะ…บลาๆ แหมะ ดีกว่ากับผีน่ะสิครับ
ความโหยหาแฟนตาซีอดีตแบบไม่ดูตาม้าตาเรือนี้เป็นอะไรที่น่าละเหี่ยใจอยู่ไม่น้อย (แต่ผมบ่นไปคงโดนดราม่าอีกมั้งเนี่ย) แต่แฟนตาซีที่ว่านั่นมันผิดจริงๆ ครับ โลกยุคที่วัณโรคมาทีตายกันทั้งหมู่บ้าน ยุคที่กาฬโรคกับอหิวาตกโรคมาทีคนตายไปค่อนยุโรป ยุคที่โจรสามารถปล้นฆ่าเราได้อย่างเถื่อนถ่อยไปทั่ว เพราะกฎหมายของรัฐไม่ได้มีไว้ปกป้องดูแลประชากร แต่มีไว้ปกป้องเจ้าผู้ปกครอง โลกที่การทำคลอดอยู่ในมือหมอตำแยและการรักษาอยู่ในมือของพระผู้เป็นเจ้า คนทรงและสกิลการอ้อนวอนต่อสวรรค์…ผมบอกตรงๆ อย่ามาโลกสวยกับ hipster’s dream of the past เลยครับ
สวรรค์ของอดีตที่พากันโหยหานั้น จริงๆ แล้วมันคือ นรกของเชื้อโรค ความตาย อาชญากรรม และการฆ่าฟันที่ไร้เหตุผล แค่เรารู้สึกว่าสมัยนี้มันน่ากลัวเหลือเกิน เพราะขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมันสูงมาก มีอะไรหน่อยก็เป็นข่าวแล้ว (และผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีนะครับ ดีแล้ว) ในขณะที่ในยุคที่ยังไม่มีสื่อสารมวลชนหรืออินเตอร์เน็ตนี่ ใครจะเป็นอะไรตาย โรคใหม่เกิด โดนข่มขืน หรือเตะแมวตายที่ไหน มันไม่มีใครรู้เรื่องนะครับ ก็คิดว่าสงบสุขชีวิตดีอ่ะดิ แต่การสงบสุขจาก ‘การไม่รู้อะไรเลย’ มันคนละเรื่องกับการ ‘ไม่มีอยู่จริง’…มันมีความชิบหายวายวอดหนักหน่วงครับ แค่ปู่ย่าตาทวดเราอาจจะไม่ได้รับรู้ (แต่เอาจริงๆ อากงอาม่าผมนี่ก็โล้สำเภาหนีสงครามมาอะนะ ก็คงจะเห็นความชิบหายบ้างอยู่)
อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในที่ต่างๆ ของโลกดีดสูงขึ้นด้วย 2 เงื่อนไขที่สำคัญมากๆ ครับ นั่นคือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ารุนแรง และกรอบวิธีคิดของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่มีกลไกในการปกป้องคุ้มครองประชากรให้ห่างไกลจากความตายมากที่สุด (ซึ่งมีฐานมาจาก ‘สิทธิในการมีชีวิต’ นั่นเอง) ในปี ค.ศ. 1588 คนอังกฤษมีอายุเฉลี่ย 22.38 ปี เมื่อร้อยปีก่อน คือ ค.ศ. 1917 มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 50 ปี ในขณะที่ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยล่อไปที่ประมาณ 80 ปีแล้ว[4] และทุกประเทศในโลกมีแนวโน้มแบบเดียวกัน[5]
การมีชีวิตที่ยืนยาวมากมายนี้กลายเป็นข้อโฆษณาเสียด้วยซ้ำครับ มีการจัดอันดับกันทุกปีว่าประเทศไหนมีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุด (ซึ่งหลังๆ มาญี่ป่นครองแชมป์อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น) อย่างไรก็ตามการที่ประชากรอายุยืนเสียเหลือเกินนี้ มันก็นำมาซึ่งปัญหาใหญ่หนักหัวของหลายประเทศเช่นกัน นั่นคือปัญหาสังคมผู้สูงอายุล้น หรือ Aging Society ที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่คนแต่งงานก็ลดลง มีลูกก็ลดลง (ในญี่ปุ่นนี่ เอากันยังลดลงเลย) ว่าง่ายๆ ก็คือ เกิดปัญหาความไม่สมดุลของประชากรวัยทำงาน และวัยเกษียณนั่นเอง ซึ่งก็นำมาสู่ปัญหาอีกหลากรูปแบบ เช่น การขาดแคลนแรงงาน ที่หลายประเทศก็แก้ด้วยการใช้เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์มากขึ้น หรือโอนพวกงานค่าแรงต่ำพวกนี้ไปประเทศโลกที่สามให้ทำแทนไปเป็นต้น หรือปัญหาสวัสดิการและการหาคนดูแล ที่ทำให้หลายประเทศตอนนี้ อาชีพ ‘พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ’ เป็นที่ต้องการเหลือเกิน มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ฯลฯ
แต่แต่แต่…ไม่ใช่ทุกคนจะอยากอยู่จนหงำเหงือกปานนั้น คนแก่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้อยากจะฝืนสังขารที่จะอยู่ ไม่เฉพาะแค่คนแก่ หากใครได้ดูหนังเรื่อง Me Before You ก็จะเห็นว่ามีอีกหลายเงื่อนไขที่นำมาสู่การตัดสินใจที่จะ ‘จบชีวิตตนเอง’ ได้ทั้งนั้น หรือแค่คนที่อยากตายเพราะไม่อยากแก่แล้วเป็นภาระครอบครัวก็ยังมี แต่จะให้ฆ่าตัวตายก็ไม่ไหวอะ กลัวเจ็บเหมือนกันเว้ย เหล่านี้แหละครับนำมาซึ่งคำถามเรื่อง ‘สิทธิในการตาย’ หรือ Right to Die
Right to Die นั้นเอาแบบง่ายๆ ก็คือ การเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิในการมี Voluntary Euthanasia หรือการการุณยฆาตโดยสมัครใจครับ
เพราะชีวิตมันเป็นของเราเองและสภาพความเป็นเจ้าของนั้นจะไม่มีทางสมบูรณ์หากเราไม่ได้มีสิทธิเหนือมันทั้งในแง่การเริ่มต้น การดำเนินชีวิต ไปจนถึงการจบมันลง ซึ่งว่ากันตรงๆ ตอนเกิดนี่ก็ไม่ได้ขึ้นกับเรานักน่ะนะ และเติบโตมา ก็อายุ 18 ปีโน่นถึงให้เราเป็นเจ้าของการตัดสินใจได้จริงๆ (ถ้าอยู่อังกฤษปี ค.ศ. 1588 คือ อีกประมาณ 4 ปีนิดๆ ตายเลย) แต่สิทธิในการตายนี้คือการดึงอำนาจในการตัดสินใจเหนือชีวิตของตนเอง ‘ในการจบมัน’ ให้อยู่ที่ตัวเราโดยตรงอีกครั้ง ไม่ได้ขึ้นกับลิขิตฟ้า หรือเทพเทพีองค์ไหน
ผู้ที่เรียกร้อง Right to Die นี้เองจึงเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายที่อนุญาตให้มี Voluntary Euthanasia ได้ และมีการฆ่าตัวตายที่ได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ (Physician-Assisted Suicide/PAS) ด้วย เพราะสิทธิในการเลือกตายได้เองนั้น ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่จะให้ฆ่าตัวตายเอาเองก็น่ากลัวเกิน ฉะนั้นรัฐควรเข้ามาเอื้ออำนวยความสะดวกบ้าง เพื่อให้ได้ไปแบบสบายๆ ไม่ทรมาน และทางรัฐเองก็ไม่เสียประโยชน์อะไร โดยเฉพาะกับกรณีผู้สูงอายุ ที่ในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นประโยชน์กับการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงแก้ปัญหา Aging Society ได้ส่วนหนึ่งด้วย (อันนี้เราพูดเฉพาะกรณีที่สมัครใจอยากจะไปเองนะครับ ไม่ได้บอกให้รัฐไปไล่รมควันคนแก่ เพราะ counter-productive แบบนาซี เดี๋ยวจะหาว่าผมไล่คนแก่ไปรมแก๊สอีก)
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน มีประเทศที่อนุญาตให้มี Voluntary Euthanasia หรือการุณยฆาตโดยสมัครใจ โดยมีแพทย์ให้การช่วยเหลือเพียง 6 ประเทศคือ เบลเยียม[6], โคลอมเบีย[7], ลักซ์เซมเบิร์ก[8], เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, และแคนาดา[9] นอกเหนือจากประเทศเหล่านี้แล้ว โดยมากการุณยฆาตยังอยู่ในพื้นที่สีเทา ที่จะทำได้ก็อยู่ในเงื่อนไขเฉพาะมากๆ เท่านั้น หรือในบางประเทศไม่อนุญาตเลยก็มี (อย่างใน ออสเตรเลีย หรือลิธัวเนีย เป็นต้น)
แม้ในหลายรัฐจะให้เหตุผลที่น่าฟังพอสมควร เช่น การอ้างว่าเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือชีวิต แต่การตัดสินใจของมนุษย์มันสามารถผิดพลาดได้ ซึ่งในสภาพปกติแล้วการตัดสินใจเมื่อผิดพลาดไปนั้นอย่างมากก็รับผลกระทบที่ตามมาบ้าง แต่ก็มีโอกาสเปลี่ยนการตัดสินใจหรือกลับตัวกลับใจ (คิดเสียว่าคือ Cancellation Policy ของชีวิตนั่นแหละครับ) แต่การตัดสินใจที่จะการุณยฆาตนั้น มันเป็นการตัดสินใจแบบ ‘เส้นทางเดียว’ คือ ต่อให้คิดว่าตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว ก็หวนกลับมาแก้อะไรไม่ได้อีก หรือการให้เหตุผลว่าทางฝ่ายแพทย์เองก็ไม่อยากจะทำ เพราะแทนที่จะการุณยฆาตก็มีหลายคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเพชรฆาตไปด้วย ถ้าไปบังคับแพทย์ให้ทำ ก็เท่ากับลิดรอนสิทธิของแพทย์อีก เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ข้ออ้างเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงว่า มันเป็นเครื่องมือที่รัฐริบเอาสิทธิในการตัดสินใจเหนือชีวิตของตัวเราเองไปจากเราเลย สุดท้ายแล้วมันคือการใช้การอ้าง “การริบอำนาจของปัจเจกเพื่อปฏิเสธหน้าที่ของตนในการจัดการบริการขั้นพื้นฐานที่พึงมีให้กับสังคม” รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันรัฐกว่า 200 รัฐทั่วโลกกำลังสร้างซอมบี้ขึ้นจากระบบกฎหมายของตนเองอยู่ ที่ไม่อนุญาตให้มี Voluntary Euthanasia ได้
สำหรับผมนี่คือกรณีของ Zombie Politics ที่น่ากลัวที่สุด เพราะปัจเจกที่ถูกทำให้กลายเป็น Living Dead นั้น “ถูกบังคับให้เป็นซอมบี้ทั้งที่ตัวเขาเองยังมีสติและความคิดเป็นของตนเองอย่างครบครันอยู่” แต่จบชีวิตของตนในแบบที่ตนอยากจะจบไม่ได้ หรือพูดอีกอย่างกว่าคือ ระบบกฎหมายของรัฐสมัยใหม่กว่า 200 รัฐนั้น กำลังผลิต ‘ซอมบี้เชิงกลไก’ (Functional Zombie) ขึ้นอยู่ตลอดเวลา ได้แต่รอวันที่ตัวเองโรยราไปเอง หายใจทิ้งไปวันๆ เป็นการบังคับให้เกิดสภาพ Living Dead ในหมู่ประชากรโดยแท้จริง…
ผมว่าคงจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดการกับปัญหาดังกล่าวนี้ อย่าให้ Voluntary Euthanasia กลายเป็นข้อจำกัดมากๆ ที่กลายเป็นว่า เฉพาะคนที่รวยมากพอจะมีเงินบินไป 6 ประเทศนั้น และจ่ายค่า ‘การุณยฆาต’ ราคาแพงๆ ได้จึงจะมีสิทธินี้เลย
ชีวิตเป็นของเรา จงกำหนดมันเองถึงหยดสุดท้ายเถอะ… อย่าเป็นซอมบี้ของยุคสมัยเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] เผื่อใครไม่เคยฟัง เพลงในตำนานนะครับเพลงนี้ www.youtube.com
[2] โปรดดู prospect.org, นอกจากนี้ยังอ่านเพิ่มเติมได้จากวิชาการเมืองว่าด้วยซอมบี้อีกหลายเล่ม เช่น International Politics and Zombie โดย Daniel W. Drezner (ผมเข้าใจว่ามีแปลไทยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตีพิมพ์นะครับ) หรือ Zombie Politics and Culture in the Age of Casino Capitalism โดย Henry A. Giroux เป็นต้น
[3] โปรดดู www.facebook.com/Kafelme
[4] โปรดดู ourworldindata.org
[5] ลองดูเพิ่มเติมได้ใน www.cdc.gov
[6] โปรดดู news.bbc.co.uk
[7] โปรดดู www.pri.org
[8] โปรดดู www.dailymail.co.uk
[9] โปรดดู nationalpost.com