โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคต่างงัดไม้เด็ดกันออกมา แต่หนึ่งในคำที่ได้ยินกันบ่อยในโลกออนไลน์คือคำว่า ‘Strategic Vote’ หรือการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ บางคนบอกว่าต้อง strategic vote บางคนบอกว่าไม่ต้องหรอก แล้วก็อ้างโพลนั้นโพลนี้กันอุตลุต สรุปมันอะไรยังไงกันแน่ วางความชอบพรรคการเมืองแต่ละพรรคลงก่อน แล้วเรามาคุยเรื่องนี้อย่างเป็นคณิตศาสตร์กัน
ก่อนอื่น ทบทวนกติกาการเลือกตั้งรอบนี้กันก่อน เรามีบัตรสองใบ สีเขียวเลือกปาร์ตี้ลิสท์ คิดคะแนนรวมทั้งประเทศ พรรคไหนได้อัตราส่วนเท่าไร ก็ได้เก้าอี้ไปเท่านั้น ใบนี้ง่ายฮะ ไม่ต้องใช้ยุทธศาสตร์อะไรทั้งนั้น เพราะเลือกพรรคไหนคะแนนก็จะพุ่งตรงไปหาพรรคนั้นเลย
ปัญหาอยู่ที่ใบที่สอง ใบลงคะแนนสีม่วงสำหรับ ส.ส. เขต ซึ่งใช้ระบบนับแยกเป็นเขต เขตไหนพรรคไหนชนะ เก้าอี้ก็จะตกเป็นของพรรคนั้น ไม่ว่าจะชนะมากชนะน้อยก็ไม่ต่างกัน ทีนี้ ถ้าสถานการณ์ของเราคือทั้งประเทศมีพรรคอยู่สองพรรค สิ่งนี้ก็จะไม่มีอะไรต้องใช้ยุทธศาสตร์อีกเช่นกัน เมื่อก็แค่วัดกันไปเลยว่าเขตไหนใครได้คะแนนเยอะกว่า ปัญหาคือ ถ้าสถานการณ์มันกลายเป็นว่า มีหลายพรรค ทุกคนมีพรรคที่ชอบ พรรคที่รับได้ และพรรคที่ไม่ชอบไปเลย นึกภาพง่ายๆ ว่ามีสามพรรค พรรค A B และ C โดยสถานการณ์คือ พรรค A กับ B เนี่ย มีจุดยืนใกล้เคียงกัน ในขณะที่พรรค C ฉีกออกไปเลย ดังนั้นคนที่ชอบพรรค A ก็จะรับได้กับ B แต่ไม่เอา C แน่นอน ส่วนคนที่ชอบพรรค B ก็เช่นกัน คือพอรับได้กับ A แต่ไม่เอา C แน่นอน
คนที่เชียร์ strategic vote ก็จะบอกว่า แบบนี้แย่แน่ เพราะถ้าทุกคนโหวตตามที่ชอบ เสียงของพรรค A และ B จะแตก แล้วกลายเป็นแพ้พรรค C เฉยเลย เช่น ถ้าเป็น 35% 25% 40% ซึ่งถ้า A กับ B จับมือกันแล้วเทไปที่เดียว มันก็จะชนะ C ได้ ดังนั้นเราจึงควร strategic vote เทไปที่เดียว
แต่ปัญหาคือ แล้วควรเทไปทางไหนดี?
ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ ก็น่าจะตอบว่า ก็ควรเทไปที่พรรคที่มีคนที่ชอบเยอะกว่า ซึ่งในที่นี้ก็คือ A แต่ปัญหาคือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ณ วินาทีนี้ พรรค A หรือพรรค B กันแน่ที่กำลังนำอยู่ บางคนบอกว่า ก็ดูโพลสิ ไอเดียนี้น่าสนใจ แต่คำถามคือ ถ้าจะทำ strategic vote จริงๆ โพลบอกได้จริงไหมว่าเราควรเทคะแนนไปทางไหนกันแน่
คำตอบก็คือ ทั้งได้และไม่ได้ เอาส่วนที่ไม่ได้ก่อน ประเด็นแรก โพลอาจจะไม่แม่น มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้โพลไม่แม่น ตั้งแต่อคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้กระจายตัวเหมือนประชากร คำถามที่อาจจะชี้นำ คนที่ไม่ตอบตามจริง เรื่องนี้เขียนได้เป็นอีกบทความด้วยซ้ำ ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่อาจจะทำให้โพลไม่แม่น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่เรากำลังคุยกันอยู่ ดังนั้นขอสมมติไปก่อนว่าโพลนั้นแม่นยำมาก แต่การตีความผลโพลผิดๆ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี
การตีความผลโพลผิดๆ นั้นแบ่งได้เป็นสองระดับ ระดับแรกคือระดับพื้นฐาน ระดับที่ผิดแบบไม่สนใจอะไรทั้งนั้น สมมติเขาสำรวจในเพจการศึกษา ก็ไปสรุปว่าครูทั้งประเทศคิดแบบนี้ กรณีแบบนี้มีตั้งแต่คนทำโพลเองจงใจสรุปมั่ว เพื่อเรียกยอดไลก์ยอดแชร์ หรืออาจจะสรุปผิดเพราะความไม่รู้ จนถึงกรณีที่คนทำโพลน่ะเขารู้ดี และเขาอธิบายไว้แล้วอย่างชัดเจน ว่าเขาเก็บข้อมูลอะไร ตีความได้อย่างไร แต่บางคนอาจอ่านไม่ดี เอาไปตีความผิด ยิ่งแชร์ก็ยิ่งผิด รู้ตัวอีกทีก็ไปโผล่ในกลุ่มไลน์ครอบครัวแบบผิดๆ ก็มีให้เห็นทั่วไป
กับอีกกรณีซึ่งซับซ้อนกว่า คือการสรุปผิดเพราะไม่เข้าใจกลไก เช่นถ้าโพลถามว่าคุณอยากให้ใครเป็นนายก สมมติว่ากลุ่มตัวอย่างนี้ถูกสุ่มมาอย่างดีสุดๆ ไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น กระจายตัวดีมาก สิ่งที่เราสรุปได้จากโพลนี้ก็มีเพียงแค่ว่า คนส่วนใหญ่อยากให้ใครเป็นนายก ไม่ใช่ใครจะได้เป็นนายก เพราะเราไม่ได้เลือกนายกกันทางตรง เราไม่ได้เข้าคูหาไปกาว่าอยากได้ใครเป็นนายก แต่เราเลือกผ่าน ส.ส. แม้แต่ละพรรคจะมีรายชื่อแคนดิเดตนายกอยู่แล้ว แต่ก็มีเหตุผลอีกล้านข้อที่ใครสักคนจะไม่ได้เลือก ส.ส. พรรคเดียวกับคนที่เราอยากให้เป็นนายก ไปดูผลโพลบางสำนักก็ได้ ที่คนที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกสูงสุด ไม่ได้มาจากพรรคที่ผลโพลบอกว่าจะได้เก้าอี้ในสภาสูงสุด แบบนี้เป็นต้น
กลับมาที่เรื่อง strategic vote สิ่งที่ต้องตั้งเอาไว้ในใจคือ เรากำลังต้องการทำนายอะไร ในกรณีนี้คือ เรากำลังอยากรู้ว่า ในเขตเลือกตั้งของเรานั้น พรรค A หรือ B กันแน่ที่กำลังนำอยู่ ฉะนั้นแม้ว่ากระแสนายกคนไหนกำลังมา หรือคนส่วนใหญ่ที่ตอบโพลบอกว่าจะเลือกพรรคไหน ถึงโพลจะแม่นแสนแม่น สิ่งนี้ก็เอามาใช้ช่วยเราตัดสินใจไม่ได้ เพราะการที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีคะแนนทั้งประเทศมากกว่า ไม่ได้การันตีว่าคะแนนในเขตบ้านเราของพรรคนี้จะมากกว่าอีกพรรค หรือแม้แต่การสำรวจระดับภาค ระดับจังหวัด ก็อาจจะไม่ได้บอกอะไรได้แม่นยำมากนัก เพราะจากบทความเรื่องการเปลี่ยนผลการเลือกตั้งด้วยการแบ่งเขต ก็เห็นชัดเจนแล้วว่า อัตราส่วนของคนที่ชอบพรรคนั้นๆ ในจังหวัด ก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับอัตราส่วนของเก้าอี้แบบเขตที่ได้ก็ได้
ถ้างั้นแล้วส่วนที่ใช่คืออะไร? ส่วนที่ใช่ก็คือ หากโพลที่เราใช้อ้างอิงอยู่นั้นบอกเลยชัดเจนว่า เก็บข้อมูลแยกตามเขต เขตละเท่านี้คน มีวิธีการเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โพลแบบนั้นต่างหากที่พอจะเป็นแนวทางให้เราได้ ว่าตอนนี้พรรคไหนกันแน่ที่คะแนนนำ เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้โพลประเภทที่กลุ่มตัวอย่างหลักพันคนทั่วประเทศมาช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับการ strategic vote เพื่อเลือก ส.ส. เขต ซึ่งก็ต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ว่าโพลที่สำรวจคนหลักพันทั่วประเทศนั้นจะไม่มีประโยชน์ มันก็มีประโยชน์ของมันในแง่ของการดูความนิยมภาพรวม ทำนายจำนวนปาร์ตี้ลิสท์ที่จะได้ แต่ไม่ใช่ในระดับเขตแน่ๆ
โพลที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดตอนนี้ก็เลยตกเป็นของเนชั่น ที่บอกว่าสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 114,457 ตัวอย่าง กระจายไปในทุกเขตเลือกตั้ง และแจกแจงออกมาเลยเป็นรายเขตว่าเขตไหนใครได้คะแนนเท่าไรกันแน่ นี่น่าจะเป็นโพลที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เรามีตอนนี้
ถามว่าแล้วข้อมูลนี้จะนำไปสู่อะไร อย่างแรกสำหรับคนที่ไม่เชื่อในเรื่องการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ และยืนยันจะเลือกพรรคที่ตนชอบอย่างแน่นอน ข้อมูลนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเขาอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ยังลังเลว่าจะโหวตเชิงยุทธศาสตร์ดีไหม ข้อมูลรายเขตอย่างนี้ก็พอจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ถ้าอันดับ 1 กับ 2 ในเขตบ้านเราเป็นพรรค A หรือ B ทั้งคู่อยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหา เพราะแข่งกันเอง อยากเลือกพรรคไหนก็เลือก แต่ถ้าอันดับคะแนนกลายเป็น C ขึ้นนำ แบบนี้ไม่ได้เลย ยังไงก็ต้องรวมเสียงกัน หรือแม้แต่กรณีที่อันดับเป็น A C B แบบนี้ ก็มองได้ว่าน่าจะเทโหวตไปทาง A มากกว่า เพื่อป้องกัน C ตีตื้นขึ้นมา แบบนี้เป็นต้น
แต่สิ่งที่อันตรายมากๆ เกี่ยวกับการโหวตเชิงยุทธศาสตร์มีสามประการ
หนึ่ง โพลนี้เชื่อถือได้จริงใช่ไหม แม้จะสำรวจหลักแสนคน แต่พอกระจายไปใน 400 เขตก็ตกเขตละหลักร้อย แน่นอน ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ทางเนชั่นซึ่งเป็นคนทำโพลเองก็ยังบอกว่า มีค่าความคลาดเคลื่อนได้ 3% ใน 33 เขตของกทม. 5% ในเขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต และ 7% ในเขตเลือกตั้งอื่น ถ้าเลือกที่จะโหวตเชิงยุทธศาสตร์ไปแล้วคนอื่นไม่เอาด้วย แพ้อยู่ดีขึ้นมา สุดท้ายอาจจะต้องเสียใจที่ไม่ได้แสดงเจตจำนงเลือกพรรคที่ตัวเองอยากเลือกจริงๆ
สอง ที่เราบอกว่าชอบพรรคนี้นะ แต่ก็รับอีกพรรคหนึ่งได้ เรารับได้จริงไหม เพราะถ้าสองพรรคนี้เขาคิดเหมือนกัน เขาก็คงรวมกันเป็นพรรคเดียวกันไปแล้ว ถ้าเราเลือกแค่พรรคที่เรารับได้เพื่อจะให้ชนะ คิดให้ดีว่าสุดท้ายเราจะรู้สึกผิดกับตัวเองไปตลอด 4 ปีหรือเปล่า
และสาม อย่าลืมว่าไม่ได้มีแค่ฝั่งเราที่ใช้ยุทธศาสตร์ได้ เพราะความจริงแล้วสถานการณ์มันไม่ได้มีแค่พรรค A B และ C แต่อาจจะมี D E F G ด้วย ซึ่งถ้าเรามีข้อมูลชุดนี้ คนอื่นเขาก็มีเหมือนกัน เรารวมเสียงได้ เขาก็รวมเสียงได้ ดังนั้น อย่าไปมั่นใจว่าทุกอย่างจะออกมาเป็นแบบที่เราคิดว่ามันจะเป็น
เพราะสุดท้ายแล้วโพลก็คือสถิติ และสถิติมาพร้อมกับความผิดพลาดเสมอ การทำความเข้าใจความผิดพลาดของโพลที่อาจเกิดขึ้นได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะได้เอาไว้ใช้ประกอบการบวกลบคูณหารกับตัวเองว่า เรารับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ไหม และจะตัดสินใจอย่างไร