ล่าสุดเรามีการชุมนุมบนสกายวอร์ก พื้นที่ทางเดินเชื่อมต่อใจกลางสยามสแควร์ คำว่าสกายวอร์คเกอร์ก็เท่ดีอยู่ แต่ในการชุมนุมกลางสยามนี้ก็มีข้อสังเกตว่า หรือเราไม่มีพื้นที่สำหรับการชุมนุม เราไม่มีสวนสาธารณะ ไม่มีลานที่จุคนได้เยอะๆ ไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมทางการเมือง
และแน่นอนว่า การรวมตัวเพื่อแสดงออกทางการเมือง ย่อมเป็นองค์ประกอบหลักของการเป็นประชาธิปไตย
ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องแสนบังเอิญ ที่เราเองก็เพิ่งผ่านวันรัฐธรรมนูญมา และคำสัญญาว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตย อำนาจจะมาจากปวงชนดู—ประชาธิปไตยของเราอาจจะไม่ค่อยเต็มใบเท่าไหร่ การตัดสินใจสำคัญๆ ทั้งหลายดูจะไม่ค่อยไปด้วยกันกับความต้องการของประชาชน ไม่นับเสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นประชาธิปไตยของไทยจึงดูจะมีความเป็นรูปธรรมแค่เพียงพานสถิตอยู่ในอนุสาวรีย์แถวๆ ราชดำเนิน มากกว่าจะปรากฏอยู่ในภาคปฏิบัติ
คำว่าประชาธิปไตยเลยดูเป็นอะไรที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ฝังรากลงไปในความคิด การขาดพื้นที่สาธารณะ การขาดสวน ก็ดูจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่าเรายังขาดพื้นที่ของความเป็นประชาธิปไตย พื้นที่ที่ส่งเสริมให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน ในการบรรยายชื่อ ‘The Spaces of Democracy’ ในปี ค.ศ.1998 เองก็พูดถึงว่ากิจกรรมในเมืองที่ได้รับการออกแบบไว้ตั้งแต่ในสมัยกรีก เช่น การมีจัตุรัส มีลานกว้าง จากยุคกรีกเราจึงเริ่มเห็นว่าพื้นที่เช่นสวนสาธารณะเป็นพื้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตย เช่นการไฮด์ปาร์ก ไปจนถึงการปรับปรุงรูปแบบเช่นจัตุรัสกวางฮวามุนในเกาหลีใต้
กลับไปที่รากของประชาธิปไตย
คำว่าประชาธิปไตยเป็นคำที่ซับซ้อนในตัวเอง แต่ถ้าเรามองว่าประชาธิปไตยคือการที่เราขับเคลื่อนหรือตัดสินใจใดๆ ผ่านเสียงส่วนใหญ่ของผู้คน ซึ่งประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่แค่เรื่องของพวกมากลากไป แต่เรามีกระบวนการพูดคุย ถกเถียง เพื่อหาข้อสรุปและการตัดสินใจร่วมกัน
ในการบรรยายชื่อ ‘The Spaces of Democracy’ ของ Richard Sennett ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดขึ้นหิ้ง ในการบรรยายนั้นแกพูดถึงว่าความเป็นประชาธิปไตยนั้นสัมพันธ์กับพื้นที่ สถาปัตยกรรม และการออกแบบเมือง โดยเฉพาะการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะ
พูดถึงประชาธิปไตยก็ต้องย้อนกลับไปที่ยุคกรีก อาจารย์แกพูดถึงพื้นที่สองพื้นที่ของกรีกโบราณที่เรียกว่า แอกอร่า (Agora) และ นิกซ์ (Pnyx) ตัวแอกอร่า โดยเผินๆ ตัวมันเองเป็นเหมือนตลาดที่พ่อค้าและสินค้าจากทั่วสารทิศมารวมตัวกัน เป็นพื้นที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน แต่ว่าสังคมกรีกเป็นสังคมประชาธิปไตย การรวมตัวกันที่แอกอร่าจึงไม่ได้มีแค่การค้าขาย แต่เป็นพื้นที่ที่กวี พ่อค้า นักปรัชญา และนักการเมืองมารวมตัวแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน ในยุคนั้นการเข้าถกเถียงในแอกอร่า แม้ว่าจะเป็นสิทธิของผู้ชายเท่านั้น แต่แอกอร่านั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่ที่นำไปสู่ความงอกเงยทางปัญญา
Sennett อธิบายว่าการมีพื้นที่สาธารณะแบบนี้เป็นการส่งเสริมให้คนหลุดออกจาก ‘เรื่องส่วนตัว’ (private) เดินออกจากบ้าน เข้ามารับฟังเรื่องราวความเป็นไป มาขบคิด ถกเถียงกิจของสาธารณะ การมีพื้นที่สาธารณะจึงเป็นการสร้างพลเมือง ที่มีความเป็นพลเมืองได้โดยปริยาย
นอกจากลานและจัตุรัสที่ส่งเสริมการพบปะ-ถกเถียงพูดคุยของผู้คนแล้ว สถาปัตยกรรมเช่นโรงละครกลางแจ้ง ตัวอัฒจันทร์ทรงโค้งที่มีผู้แสดงหรือผู้พูดอยู่ตรงกลางก็นำไปสู่กิจกรรมการดีเบตกันต่อไป สมัยกรีกโบราณจึงมีอีกสถานที่เรียกว่า นิกซ์ เป็นเหมือนโรงละครกลางแจ้งที่อยู่นอกตัวเมือง เป็นพื้นที่ที่เมื่อคนถกเถียง รับฟัง อัพเดตเรื่องราวแล้ว จะไปรวมตัวกัน มีการประชุม รับฟังและเสนอความคิด เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเมืองต่อไป
สู่พื้นที่ประชาธิปไตยสมัยใหม่
แน่นอนว่าการออกแบบ และการวางผังเมืองแบบตะวันตกย่อมได้รับอิทธิพลจากการวางผังของยุคกรีก มีการให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ การออกแบบเพื่อรองรับกับการรวมตัวของมวลชน ถนนหนทาง สวน และลานกว้างอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง- ผังเมืองที่ดี ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนประชาธิปไตย
กรณีคลาสสิกๆ ก็เช่นการเปลี่ยนสวน ไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) ที่เคยเป็นสวนส่วนพระองค์ ตอนหลังกลายมาเป็นสวนสาธารณะกลางลอนดอน และสวนไฮด์ปาร์กนี้ก็กลายเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง มีกิจกรรมไฮด์ปาร์กที่ให้ประชาชนมายืนพูด วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไปจนถึงความเป็นไปของสังคม การไฮปาร์กนี้ ดูเป็นกิจกรรมที่เวรี่การเมือง บ้านเราเองในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเองก็มีการเปิดเวทีไฮปาร์กขึ้นที่สนามหลวง จากการปราศรัยบนลัง เลยกลายเป็นการปราศรัยใหญ่โต มีเวที มีเครื่องเสียงกลางท้องสนามหลวง แม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีประเด็นทางการเมืองในการเปิดเวทีไฮด์ปาร์ก แต่ก็ถือเป็นกิจกรรมทางประชาธิปไตย ที่ทำให้สังคมไทยคุ้นเคยกับกิจกรรมการปราศรัยมากขึ้น
เลื่อนเวลากลับมาที่ยุคใกล้หน่อย ถ้าเราเคยไปหรือฟังข่าวเกี่ยวกับเกาหลีใต้ เราอาจจะเคยได้ยินชื่อจัตุรัสกวางฮวามุน จัตุรัสสำคัญกลางกรุงโซล ตัวจัตุรัสนี้เป็นพื้นที่สำคัญ คือเวลามีการประท้วงครั้งไหนๆ ก็ต้องมาประท้วงที่ลานนี้ ล่าสุดทางกรุงโซลก็เลยจัดการประกวดแบบเพื่อทำการปรับปรุงจัตุรัสนี้ให้ได้เรื่องได้ราวขึ้น
ไม่ว่าจะเพราะตัวจัตุรัสที่คับคั่ง ทำให้กลางเมืองแออัด แต่แบบกวางฮวามุนใหม่ที่เพิ่งชนะการประกวดนี้ กลายเป็นลานโล่งๆ มีการนำเอาพื้นที่ใช้งานสำคัญๆ ลงไปอยู่ใต้ดิน ยุบถนนให้กลายเป็นลาน มีการย้ายรูปปั้นพระเจ้าเซจงออกไป ในการปรับปรุงแม้ว่าทางการจะไม่ได้บอกว่าต้องการปรับปรุงโดยเกี่ยวข้องกับการประท้วง แต่หนึ่งในไอเดียสำคัญคือการปรับปรุงลานที่เป็นลานของประชาชน
สุดท้ายเราก็กลับมาที่คำที่ดูจะเชยๆ ซ้ำๆ เช่น ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘พื้นที่สาธารณะ’ อันเป็นสิ่งที่เราดูจะขาดไปทั้งสองอย่าง และทั้งสองอย่างนี้ก็ดูจะส่งเสริมกันทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม คำว่าประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ทุกอย่าง แต่แกนความคิดของการถกเถียง พูดคุยและหาข้อสรุปร่วมกันไม่ว่าเราจะเรียกว่าประชาธิปไตยหรือชื่ออะไร การมีแนวคิดดังกล่าวอยู่ในการออกแบบ อยู่ในความคิดและนำไปสู่ภาคปฏิบัติต่างๆ ก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสังคมเพื่อส่วนรวม
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.theguardian.com
www.whatitmeanstobeamerican.org