ใช่ๆ อ่านไม่ผิด ‘เมียเดียวหลายผัว’ ไม่ใช่ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ หรือ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ อย่างที่เราๆ คุ้นชิน ได้เห็นได้ยินกันตามละคร ข่าวดารา ข้าราชการคนดัง บุคคลสำคัญ เน็ตไอดอล
‘เมียเดียวหลายผัว’ หรือ ‘polyandry” คือการที่ผู้หญิงหนึ่งคนมีสามีจำนวน 2 คนขึ้นไปได้ ลูกที่เป็นผลผลิตออกมาเป็นสมบัติร่วมของครอบครัว เป็นอีกเพศวิถีและวัฒนธรรมการแต่งงานที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่พบน้อยมากและกระจัดกระจายตามชุมชนท้องถิ่นสังคมชนเผ่าที่ยังคงรักษาโครงสร้างสังคมดั้งเดิม ก่อนภาวะสมัยใหม่ที่มาพร้อมวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวของชาวตะวันตกคริสเตียนผิวขาว
ความสัมพันธ์แบบเมียเดียวหลายผัวถูกอธิบายว่ามี 4 ลักษณะคือ
1.ความสัมพันธ์ที่บรรดาผัวทั้งหลายเป็นพี่น้องหรือเป็นญาติกัน
2.ความสัมพันธ์ที่บรรดาผัวทั้งหลายต่างมาจากหลายๆ ครอบครัว
3.มีการจัดงานสมรสเป็นเรื่องราว
4.ไม่มีงานแต่งงาน แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า พวกผู้ชายกลุ่มนี้ร่วมกันเป็นคนรับผิดชอบครอบครัวและหญิงนางนี้[1]
ความสัมพันธ์แบบเมียเดียวหลายผัวถูกอธิบายว่า เป็นกลไกในการควบคุมประชากรในชุมชนที่มีอัตราประชากรชายหญิงไม่สมดุลกัน และทรัพยากรก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ซึ่งพบหนาแน่นที่สุดในชุมชนท้องถิ่นแถบเทือกเขาหิมาลายา และเป็นตัวอย่างที่ถูกนักมานุษยวิทยายกมากล่าวถึงและศึกษาบ่อยๆ ที่พี่น้องชายจะแต่งงานกับหญิงคนเดียวกัน เป็นทรัพยากรร่วมกันระหว่างพี่น้องเป็น Fraternal polyandry และลูกคนนึงก็สามารถมีพ่อหลายคนได้
จากการศึกษาครอบครัวเมียเดียวหลายผัวชุมชนหลายชาติพันธุ์ในเทือกเขาหิมาลายา ผู้ชายเป็นเพศที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเพราะเป็นผู้นำทรัพยากรที่จำเป็นเข้าในครัวเรือน ภายใต้สภาพแวดล้อมอันแร้นแค้น ขาดแคลนที่ดินที่อยู่อาศัยทำมาหากิน เป็นคนผลิตมากกว่าผู้หญิง ทำงานนอกบ้าน และต้องออกเดินทางเพื่อหาหาเลี้ยงครอบครัวบ่อยครั้งหรือเป็นเวลานาน อาจตายหรือหายสาบสูญบ่อย ขณะที่ผู้หญิงรับผิดชอบกิจการภายในครัวเรือนอยู่ติดบ้าน (ซึ่งก็เป็นงานหนักไม่แพ้กัน) การแต่งงานแบบนี้จะช่วยให้ครอบครัวอยู่รอด มั่นคงได้ นอกจากนี้ยังอาจจะมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากมรดกที่ตกทอดกันมาจากฝ่ายชาย การเอาสมาชิกมาเพิ่มในครอบครัวช่วยให้มีแรงงานในการผลิตให้กับครอบครัว ผู้หญิงจะแต่งงานกับผัวหลายคน เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงชีพอยู่ไปได้แม้ว่าทรัพยากรมันจะมีจำกัด[2]
อย่างไรก็ตาม ไม่มีทฤษฎีอะไรที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้หมดทุกกรณี เพราะความสัมพันธ์เช่นนี้มีอยู่ทั่วโลก โดยมีเงื่อนไขปัจจัยที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่เกิดในสังคมเพาะปลูกทำไร่เลื่อนลอยแต่ทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายได้มากที่สุดคือ เพื่อตอบสนองต่ออัตราส่วนชายหญิงที่ไม่เท่ากัน
และเนื่องจากเป็นรูปแบบครอบครัวและการแต่งงานของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ห่างไกลตัวเมือง นักมานุษยวิทยาตะวันตกจึงมักศึกษาอธิบายด้วยการเอาชาติพันธุ์ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นกรอบและใช้กรอบแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมตะวันตก[3] ทำให้การแต่งงานแบบนี้จึงไม่เพียงถูกจัดวางให้เป็นของแปลกประหลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่คุ้นชินกับสังคมชายเป็นใหญ่ที่มักจะโตมากับระบบผัวเดียวหลายเมียและผัวเดียวเมียเดียวอย่างเป็นทางการ ที่ผู้ชายเป็นศูนย์กลางหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าของตระกูล ลูกที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าเมียคนเดียวหรือกับเมียคนใดก็สืบสายตระกูลผ่านผู้ชาย ด้วยเหตุนี้เมียเดียวหลายผัวจึงมักถูกตั้งคำถามว่า อ้าว! ถ้าแม่มีหลายผัว เด็กจะรู้มั๊ยว่าใครเป็นพ่อ? และผัวจะรู้ได้ไงว่าใครเป็นลูก? ซึ่งเป็นคำถามแบบปิตาธิปไตยมากๆ ที่จะต้องรู้ให้ชัดเจนว่าเด็กที่เกิดเป็นลูกของชายคนใด
อย่างไรก็ตามทุกครอบครัวเมียเดียวหลายผัว ผู้ชายไม่ได้เป็นศูนย์กลางครอบครัว ผู้ชายเป็นแต่เพียงคนหาเลี้ยงลูกเมีย แม่ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางเมื่อมีทารกเกิดมา ผู้ชายทุกคนจะช่วยดูแล เช่นครอบครัวเมียเดียวหลายผัวในกลุ่มเกษตรกรแบบถางโค่นและเผาป่าแถบโคลอมเบียกับเวเนซูเอล่า เชื่อกันว่า เด็กคนนึงอาจมีพ่อทางสายเลือด หรือ ‘พ่อแท้ๆ’ หลายคนได้ บทบาทสำคัญของผู้ชายคือปกป้องคุ้มครอง ออกแรงทำงาน หาอาหารและทรัพยากรอื่นๆ มาป้อนให้กับครอบครัว เพราะงั้นการมีผู้ชายเยอะๆ ช่วยทำให้ครอบครัวหนึ่งมีหลักประกันได้ว่า ถ้าผู้ชายคนนึงตายไป ก็ยังมีอีกหลายคนคอยเลี้ยงคนที่เหลือทั้งหมดในครอบครัว[4]
ครอบครัวเมียเดียวหลายผัวจึงไม่มานั่งให้ความสำคัญว่าจะต้องคำนึงว่าเด็กที่เกิดออกมานั้นมาจากสเปิร์มใคร หรือสงสัยพิสูจน์การเป็นพ่อ หากแต่มีสำนึกของการเป็นพ่อร่วมกันแต่เมียเดียวหลายผัวก็อาจจะไม่ใช่โครงสร้างสังคมหญิงเป็นใหญ่ หรือมาตาธิปไตย (Matriarchy)
เพราะผู้หญิงถูกมองว่ามีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย แต่สถานะเมียหรือหน้าที่แบบของผู้หญิงนี้มันหาอะไรมาแทนไม่ได้ ในขณะที่แม้ผู้ชายจะมีสถานะทางสังคมสูงกว่า แต่ก็หาคนมาเปลี่ยนได้ง่ายๆ เพราะผู้หญิงเป็นคนดูแลงานต่างๆในบ้านกับดูแลลูก ในขณะเดียวกันเป็นคนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผัวทุกคนทั้งหมดเข้าด้วยกัน จัดการปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดในครอบครัวได้ เช่นผัวทะเลาะกันหรือหึงกัน เมียจะจัดการให้แต่ถ้าเมียไม่สามารถจัดการได้หรือทำหน้าภายในครัวเรือนหรือระหว่างผัวๆ ได้ ครอบครัวก็จะแตกสลายไป ส่วนใหญ่ครอบครัวที่ยังอยู่รอด ผู้หญิงมักจะมีความสามารถในการรวบอำนาจได้เท่ากับหรือมากกว่าผัว
ขณะที่ผัวเดียวหลายเมียเกิดจากการประกาศความสะสมทรัพยากรได้มากของผู้ชายบนพื้นฐานของชายเป็นใหญ่ สามารถเลี้ยงดูมีบริวารสนองความต้องการทางเพศได้อย่างฟุ่มเฟือย เมียเดียวหลายผัวต่างกันตรงที่เป็นผลจากการดำรงเผ่าพันธุ์ให้รอดภายใต้ความบีบบังคับของทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ บนพื้นฐานความคิดที่ผู้ชายก็ยังมีคุณค่าเหนือกว่า
ขณะเดียวกัน ในบางกรณี เมียเดียวหลายผัวยังเป็นผลผลิตของชายเป็นใหญ่เช่นในรัฐสปาร์ตาชนเผ่าที่สำคัญของกรีกในยุคโบราณที่ทำสงครามตลอดเวลา ผู้ชายก็ไม่ค่อยอยู่และตายจำนวนมาก
ไลเคอกัส (Lycurgus of Sparta ,820–730 ก่อนคริสตกาล) นักปราชญ์ชาวสปาร์ตา ก็ได้เขียนไว้ว่า ผู้ชายจะแบ่งผู้หญิงคนเดียวกันให้เพื่อนของตัวเองได้ หรือถ้าตัวเองมีลูกกับเมียจนพอแล้วก็สามารถส่งต่อเมียให้เพื่อนได้ หรือชาว Lacedaemonian ที่ผู้ชาย 3-4 คนก็จะมีเมียคนเดียวกัน ส่วนใหญ่พวกผู้ชายก็มักจะเป็นพี่น้องกัน หรือ ผู้หญิงอาจจะเลือกเอาผู้ชายที่ดูทรงแล้วงานดีที่สุดมาช่วยทำลูกให้ อาจจะเป็นคนในเมืองหรือคนจากต่างบ้านต่างเมืองก็ได้ แม้ว่าบางกรณีผู้หญิงจะเลือกผู้ชายมาทำลูก แต่ก็จะต้องให้สามีอนุญาตก่อนเหมือนกัน
ผัวเดียวหลายเมียในกรีกยังถูกอธิบายหลายแบบว่าเป็นเพราะความสำส่อนทางเพศของผู้หญิง มีปกรณัม (myth) หลายเรื่องเขียนถึงผู้หญิงที่ลักพาตัวหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ชายเอาไว้บำบัดความใคร่ของตัวเองไม่ว่าจะโสดหรือแต่งงานแล้ว ผู้หญิงมีอิสรภาพทางเพศมากพอที่จะจัดให้เซ็กส์เป็นกิจกรรมบันเทิง หาความสุขได้โดยไม่มีใครมาหึงหวงกันในกรณีที่ผัวหายไปนานๆ พวกเธอมีสิทธิชอบธรรมที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่นหรือชายอื่นๆ หลายคน ที่ไม่ใช่ผัวตัวเองก็ได้ โดยที่ไม่ทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ เพราะผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีสิทธิเปลี่ยนผัวได้ ไปหาคนที่ตัวเองรักมากกว่าคนที่หนุ่มกว่า แข็งแรงกว่า หล่อกว่า หรือผัวตายโดยอาจเป็นเพราะผัวหายไปนาน ป่วย มีเซ็กส์ด้วยไม่ได้ หรือเป็นหมันพวกเธอยังสามารถ ‘ยืมผัว’ ได้คล้ายๆ ที่พวกสปาร์ตาให้เพื่อนๆ ยืมเมียได้[5]
อิจนะ…ทว่าทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงมีลูกที่ดี
แม้จะยังคงอยู่ในโครงสร้างชายเป็นใหญ่ แต่นั่นทำให้เห็นว่าอันที่จริงในหลายพื้นที่และเขตวัฒนธรรม เมียเดียวหลายผัวไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากแต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากไปกว่านั้นก็ไม่ได้ไกลไปจากวัฒนธรรมไทย
ในมหากาพย์อินเดียคลาสสิคอย่างมหาภารตะ ตัวละครสำคัญของเรื่องจะเรียกว่านางเอกก็ว่าได้ นางก็แต่งงานกับสามีถึง 5 คน นางเทราปตี (อ่านว่า เทรา-ปะ-ตี) เป็นลูกของท้าวทรุปัทแห่งแคว้นปัญจาละมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘กฤษณา’ นางมีสิริโฉมงดงาม พ่อของเธอจัดงานเลือกคู่ให้ด้วยการประกวดยิงธนูแม่น ผู้ชนะจะได้แต่งงานกับเทราปตีสาวงาม ปรากฏว่าอรชุนแห่งพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 คน เป็นผู้ชนะการประลองและได้เทราปตีกลับบ้านไป เมื่อพี่น้องทั้ง 5 กลับถึงบ้านพร้อมนางเทราปตี นางกุนตีซึ่งเป็นแม่ของพี่น้องปาณฑพ บอกกับลูกๆ โดยไม่ทันมองว่าอรชุนพกเมียมาด้วยว่า “มีอะไรกลับมาก็แบ่งๆ กันนะลูกๆ” เนื่องจากพี่น้องปาณฑพเชื่อฟังคำแม่ถือว่าเป็นประกาศิต อรชุนจึงแบ่งเทราปตีให้เป็นเมียพี่น้องอีก 4 คน ซึ่งนางก็รักและปรนนิบัติสามีทั้ง 5 อย่างเสมอภาค แบ่งเวลาปีละคน จนมีด้วยกันลูก 5 คน
วรรณกรรมคลาสสิคเรื่องนี้เองก็ยังส่งอิทธิพลต่อครอบครัวและหลักปฏิบัติในการครองเรือนไทยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรณคดีสอนหญิงกลุ่ม ‘กฤษณาสอนน้อง’ ที่มีหลายสำนวน เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ไม่เพียงเอาเค้าโครงมหาภารตะมาทำให้เป็นไทยมากขึ้น ยังเป็นกระบวนการทำให้ปิตาธิปไตยแข็งแรงมากขึ้น
กฤษณาสอนน้องเป็นหนังสือ self help ว่าจะทำอย่างไรให้ผัวรักผัวหลง ต่อให้มีผัวกี่คนก็สามารถทำได้ ถ้าปฏิบัติตามคู่มือนี้ ซึ่งก็แต่งโดยผู้ชายซึ่งก็เป็นพระในกฤษณาสอนน้องฉบับธนบุรีหรือกฤษณาสอนน้องคำฉันท์เล่าว่า
พระราชาพรหมทัต เจ้ากรุงพาราณสี มีเจ้าหญิง 2 นาง ชื่อนางกฤษณาและนางจิรประภา นางกฤษณามีพระสวามีในคราวเดียวกันถึง 5 คน กฤษณามีผัวทั้ง 5 ของกฤษณาอยู่ด้วยกันอย่างรักใคร่สามัคคี ส่วนนางจิรประภามีเพียง 1 คน แต่กลับระหองระแหงมีปัญหา ผัวไม่ปลื้ม ต่างจากกฤษณาที่ผัวทั้ง 5 ทั้งรักทั้งหลง น้องจิรประภาเสียใจกลัดกลุ้มจนซูบผอมและมาปรึกษาพี่กฤษณา ขอเคล็ดลับว่าพี่สาวมีอะไรเด็ด มัดใจสามี นำไปสู่คำสอนหญิงในการเป็นเมียที่ดี การวางตัวกิริยามารยาทกุลสตรีและการปรนนิบัติพระเจ้าผัว
กฤษณาสอนน้องจึงทำหน้าที่ลดความเป็นศูนย์กลางของผู้หญิงลงในครอบครัวเมียเดียวหลายผัว กลายเป็นแต่เพียงทรัพยากรหนึ่งเพื่ออำนวยความสบายความสำราญผู้ชายในบ้านในยุคสมัยที่ผัวเดียวหลายเมียเฟื่องฟู ประกาศถึงบารมีความมั่งคั่งของชนชั้นนำสยามก่อนสมัยใหม่
และเมื่อหลังสมัยใหม่มาแล้ว การมีอยู่ของเมียเดียวหลายผัว ผัวเดียวหลายเมีย ก็ไม่ใช่เรื่องเจ๋ง เฟียสหี หรือแปลกประหลาดจนต้องเอามาโชว์ราวกับ freak show และก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาแข่งกันว่าเพศไหนควรสะสมผัวหรือเมียได้มากกว่ากันหรือแม้แต่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ในเมื่อมีผัวเดียวหลายเมียก็ต้องมีเมียเดียวหลายผัวบ้าง สังคมเปิดโอกาสให้ผู้ชายมีเมียน้อยได้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีผัวน้อยได้บ้างสิ ซึ่งก็เป็นความตื้นเขินเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และไม่ได้แสวงหาทางออกอะไรในการเลือกปฏิบัติทางเพศนอกจากจะดูเกรียน
และก็ห่างไกลไปจากเฟมินิสต์ โดยไม่ต้องพาดพิงถึง
ขณะเดียวกันไม่ว่าจะกี่เมียกี่ผัว อันที่จริงมันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเจ้าของความสัมพันธ์นั้นจะมาตกลงออกแบบกันเองเป็นการส่วนตัว ที่สังคมไม่น่าเข้าไปเผือก หรือทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรมเอาชุดความคิดตนเองไปตัดสินลงโทษ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Starkweather, KE, and Hames, 2012, ‘A Survey of Non-Classical Polyandry’, Human Nature 23.2 (2012): pp. 149-172.
[2] Starkweather, KE 2010, ‘Exploration into Human Polyandry: An Evolutionary Examination of the Non-Classical Cases’, Master of Arts thesis, University of Nebraska-Lincoln, Lincoln. 2010.
[3] Cassidy, Margaret L. “The Study of Polyandry: A Critique and Synthesis.” Journal of Comparative Family Studies 20.1 (1989): 1-11.
[4] Ibid.
[5] Zolotnikova, Olga. “Πολυάνωρ γυνή” (“Wife of many husbands”): Ancient Greek polyandry as reflected in the mythic/epic tradition. In Proceedings of the Danish Institute at Athens VI. Athens: The Danish Institute at Athens, 2009.