อันเนื่องมาจากคืนวันศุกร์ที่แล้ว ไปปาร์ตี้ Trasher ธีม ‘นพมาศหน้าฮ้าน’ กันมา ที่ไม่เพียงดีเจจะเล่นเพลงลูกทุ่งหมอลำซิ่ง ยังได้อัญเชิญนางพญาตัวแม่ ‘ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์’ มาแสดงอภินิหารเชพบ๊ะ จัดมินิคอนเสิร์ต ทำเอาเก้งกวางกะเทยขี้เมา เซิ้งดีดกันเอาเป็นเอาตายล้มงัวล้มควาย
แล้วภาพก็ตัดไป…
นับตั้งแต่ ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา วัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นมาและกลายเป็นสัญลักษณ์ภาพตัวแทนของชีวิตชนบท คนยากคนจน บ้านนอกคอกนา การดิ้นรนเป็นแรงงานย้ายถิ่นในเมืองหลวง สะท้อนถึงโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น ‘การพัฒนา’ ของภาคเศรษฐกิจในกรงเทพฯ ปริมณฑลและเมืองใหญ่ๆ มากกว่าคน โดยเฉพาะประชาชนในชนบทจน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายมากขึ้น งานของคนชนบทมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ นำไปสู่การเดินทางมาแสวงหางานทำในเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ [1]
ดนตรีลูกทุ่งเติบโตไปพร้อมกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานย้ายถิ่น โครงสร้างเศรษฐกิจสังคม วิวัฒนาการสื่อสารมวลชนและวัฒนธรรมดนตรีสากล ไม่ใช่ ‘ความเป็นไทยเดิม’ หรือ ‘ไทยแท้’ ที่ไหน
พอเริ่มมีคาเฟ่ (คาเฟ่ที่หมายถึงสถานบันเทิงยามค่ำคืน ไม่ใช่ร้านกาแฟนะยะ) ราวๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ก็เป็นเป็นแหล่งรองรับแรงงานย้ายถิ่น รวมไปถึงแรงงานผู้หญิงหลายคนหันมาเป็นนักร้องคาเฟ่ และพื้นที่ให้นักร้องลูกทุ่งได้โชว์ สร้างชื่อเสียงรายได้[2] และบทเพลงลูกทุ่งก็ให้บรรยากาศคาเฟ่ๆ อีกด้วย
การที่แรงงานย้ายถิ่นหญิงเดินทางออกจากบ้านและการผลิตภาคการเกษตรที่ครอบครัวประกอบอยู่ทำให้พวกเธอรู้สึกมีอิสระมากขึ้น สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น พวกเธอมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เพลงของนักร้องลูกทุ่งหญิงจึงไม่ได้โอดครวญเล่าเรื่องสาวชนบทต้องดิ้นรนชีวิตปากกัดตีนถีบอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน ยอมจำนนต่อโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมในนามของ ‘โชคชะตา’ แต่พวกนางยังเริ่มเป็นปากเป็นเสียงให้ตนเอง ต่อรอง ล้อเลียนโครงสร้างอำนาจชายเป็นใหญ่ ไปพร้อมกับสถาปนาอำนาจตนเองผ่านความสวยเซ็กซี่ อย่างที่ชายเป็นใหญ่
โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งที่ตอบสนองชีวิตสาวคาเฟ่ ให้ร้องเพลงเกี้ยวแขก
โลกดนตรีลูกทุ่งจึงมีนักร้องหญิงก๋ากั่น ออดอ้อน ออเซาะเฉาะเลอะ ให้บรรยากาศอยู่ในคาเฟ่ อย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ร้องเพลง ‘ไก่ตื่น’ ‘ห่างหน่อยถอยนิด’ ยุ้ย ญาติเยอะกับเพลง ‘หนูช้อบชอบ’ ‘พกเมียมาด้วยหรอ’ และอาภาพร นครสวรรค์ในเพลง ‘ชอบไหม’ ‘กลัวเมียไหม’ ซึ่งต่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุ่มพวง และมีความเย้ายวนขี้เล่น ชี้นำผู้ชาย ใช้เสน่ห์ของผู้หญิงให้เป็นอำนาจ และพูดเรื่องเพศแบบมีอารมณ์ขัน
อาภาพร นครสวรรค์ เป็นศิลปินลูกทุ่งภาคกลางที่ถือว่าเป็นอีกตัวแม่แห่งวงการเพลงลูกทุ่ง แต่ใช่ว่านางพญาจะอวตารลงมาจากสวรรค์แล้วเป็นนางพญาเลย นางล้มลุกคลุกคลาน
เริ่มตั้งแต่โตมาในครอบครัวเกษตรกรฐานะยากจน ด้วยใจรักอยากร้องเพลงเมื่อโตเป็นสาวก็สมัครเข้าวงดนตรี เป็นนักร้องคั่นเวลาและหางเครื่อง พร้อมกับอาชีพเสริมและขายอาหารหลังเวที เริ่มออกเทปด้วยชื่อ ‘น้องนิด ศิษย์บุญโทน’ ตลอดทศวรรษ 2530 เธอออก 4 อัลบั้ม ร้องเพลงแปลงแนวตลกโปกฮาด้วยคอนเซ็ปต์ ‘อีสาวเพลงแปลงมาแรงทั่วสารทิศ’ อีก 3 อัลบั้มด้วยชื่อ อาภาพร นครสรรค์แต่ก็ไม่ปัง ยิ่งในปี 2535 วงการเพลงลูกทุ่งก็ซบเซาลง เพราะพลังขับเคลื่อนสำคัญอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตลง นางเริ่มถอดใจจะไปเปิดร้านขายอาหารแทน
ในที่สุดทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา เพลง ‘เลิกแล้วค่ะ’ ก็ทำให้นางปัง ปังชนิดที่ว่าติดลมและไปสูงขึ้นเรื่อยๆ แทบอวกาศและอาว็อง-การ์ด เนื่องจากนางเริ่มขนเอาศิลปะการแสดงเสื้อผ้าหน้าผมพร็อพแบบนางโชว์มาใส่ในงาน ประดังประเดทั้งขนนกอู้ฟู่ ทางหัว งปีก ทั้งหาง โหมประโคมด้วยเพชรเลื่อมพรายระยิบระยับไปจนถึงชุดหุ่นยนต์นักบินอวกาศ และในปี 2551 นางก็ได้ตั้งวงดนตรี บริษัท ฮายโชว์ ของเธอเองเพื่อผลิตงานเพลงและจัดการแสดงโชว์
ความปังเมื่อวัย 30 ของอาภาพรทำให้คนจดจำเธอในภาพลักษณ์ตัวแม่ มีน้ำมีนวล ในชุดเซ็กซี่โชว์อึ๋ม ร้องเพลงทะลึ่งตึงตังอุปมาอุปไมยเรื่องเพศอย่างมีอารมณ์ขัน แถมมีจริตจะก้านยั่วเย้าส่ายสะบัด และด้วยลีลาท่าทางถึงลูกถึงคน ถึงพริกถึงขิงของนางทำให้เพลงโดนแบน โดยเฉพาะเพลงที่ประกาศความปรารถนาความอยากของผู้หญิงในเรื่องเพศ อำนาจในการเลือกผู้เอง ท้าทายปิตาธิปไตย อย่าง ‘โคตรหล่อ’ และ ‘น้องนอนไม่หลับ’
แม้ว่าคาแรคเตอร์จะเพื่อเอาใจหนุ่มๆ ทว่าถูกใจลูกสาวมากกว่า เพราะไม่เพียงมีคาริสม่ามาดนางพญา แก่นเฟี้ยวเปรี้ยวซ่า ชวนให้ cover เพื่อประกาศความเป็นตัวเอง นางยังมีบุคลิก fag hag เป็นเพื่อนสาวที่ชาวเกย์รัก แถมการเปลี่ยนเวทีลูกทุ่งเป็นเวทีนางโชว์ ก็เป็นความใกล้ชิดวัฒนธรรมย่อยของคนข้ามเพศ
มากไปกว่านั้นบทเพลงของนางยังนำทัศนคติ อารมณ์ขัน บทสนทนา ภาษาและสำนวนภาษาเก้งกวางกะเทยที่นิยมมาใส่ในบทเพลง เช่นเพลง ‘อารมณ์เสีย’ เพลง ‘อีกดอก’ ที่แปลงมาจาก ‘อีดอก’ ไปจนถึงเพลง ‘กะเทยท้อง’ แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการพิจารณาได้ว่าสร้าง stereotype ให้กับ LGBT เพราะการนำตัวตน วัฒนธรรมย่อยเก้งกวางกะเทยมานำเสนอเป็นภาพตัวแทนในเวลาที่จำกัดของเพลงและ MV ไม่เกิน 5 นาที ก็เป็นเรื่องท้าทายของคนทำสื่อ
แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ชาวเก้งกวางกะเทยที่ไม่ว่าจะคอเพลงลูกทุ่งหรือไม่ก็ตาม เรียกนางว่า ‘ตัวแม่’
แม้ว่าเส้นแบ่งระหว่าง ‘เพลงลูกทุ่ง’ กับ ‘เพลงลูกกรุง’ หรือแม้แต่ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ จะเบลอๆ ตั้งแต่เริ่มมีการนิยาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยคุณูปการของเพลงลูกทุ่งที่ส่องสปอร์ตไลท์ไปยังคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นคนชนบท แรงงานย้ายถิ่น สาวโรงงาน สก๊อย นักร้องคาเฟ่ คนหาเช้ากินค่ำ ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยังได้ส่องสปอร์ตไลท์ไปยังยังคนชายขอบอย่าง LGBTQ และบางครั้งบางคราวก็ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง และหอบเอาวัฒนธรรมที่ถูกมองข้ามขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมมวลชนเหมือนกับที่เพลง ‘ลามู ลามู’ ของ ปราง ปรางทิพย์ ก็เป็นการนำภาษาลูที่เป็นไวยกรณ์ภาษาที่บรรดา LGBTQ นิยมใช้กันเป็นวัฒนธรรมย่อย
ขณะที่หมอลำก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งสำหรับคนอีสานได้ปลดปล่อย ผ่อนคลายจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อย และพื้นที่สำหรับเกย์กะเทยในท้องที่ได้สร้างตัวตน
ในงานศึกษาของพรเทพ แพรขาว เรื่อง ‘ผู้สาวหน้าฮ้านหมอลำ ความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยและผู้ชายในคอนเสิร์ตหมอลำอีสาน’[3] คอนเสิร์ตหมอลำไม่เพียงเป็นพื้นที่พักผ่อนของชาวอีสาน สำหรับกะเทยอีสานแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมกะเทยจากหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะหน้าฮ้านหมอลำ เพราะเป็นพื้นที่แสดงตัวตนทางเพศ ปลดปล่อยเพศสภาพอย่างที่ทำไม่ได้ในวันอื่นๆ พวกนางจากหลายๆ หมู่บ้านมาสนุกสนานพบปะสังสรรค์กับเพื่อนสาว แต่งตัวอวด เต้นโชว์ประชัน เป็นเวทีประชันท่าเต้น ตัวตน และพรมแดงประกวดแฟชั่น
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ให้พวกนางทำความรู้จักผู้ๆ ทั้งหลาย เพราะคอนเสิร์ตหมอลำนี้เป็นพื้นที่และช่วงเวลาอันพิเศษที่เกย์กะเทยเป็น ‘ผู้สาว’ ทำความรู้จักกับผู้ชายผู้บ่าวในเวลาปรกติจะไม่สามารถทำความรู้จักกันได้ ผู้บ่าวบางคนทำความรู้จักกันถึงขั้น ‘จัดเจ้’ ให้และพวกเธอก็ได้ ‘แล่นไม้’ นอกเหนือจากเต้นหน้าฮ้าน[4]
ในอีกความหมายหนึ่งวัฒนธรรมเกย์กะเทยที่ก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ใช่แต่แรงงานการผลิต ภูมิลำเนา วัฒนธรรมย่อย รสนิยมทั้งทางดนตรีและอื่นๆ จึงรวบรวมวัฒนธรรมรสนิยมมากมายเพราะการย้ายถิ่นของเกย์กะเทยมายังเมืองใหญ่เพื่อความเป็นอิสระและหลีกหนีแรงกกดดันจากครอบครัวที่เป็นรักต่างเพศนิยม
ขณะเดียวกันก็ได้หอบวัฒนธรรมท้องถิ่นจากภูมิลำเนามาแลกเปลี่ยนกันในเมืองใหญ่ ซึ่งรสนิยมทางดนตรีและท่าเต้นก็คืออีกผลผลิตของการผสมผสานนั้นในวัฒนธรรมเกย์ ไม่ว่า Kpop หมอลำ Taylor Swift อุ๊ยๆๆๆๆ Katy Perry ก็เต้นได้หมด
ดังนั้น ไม่ว่าประกอบอาชีพอะไรเป็นแรงงานย้ายถิ่นหรือไม่ก็ตาม อยู่ในภาคการผลิตแบบใด หรือมีภูมิลำเนาที่ใด ก็สามารถยกขาบึ้ม ตีลังกาม้วนเสื่อ ตามเพลงจินตรา พูนลาภ ตั๊กแตน ชลดา และถ้าหากดีเจเล่นเพลง ‘ชอบไหม’ อาภาพร นครสวรรค์ ตามมาด้วยเพลงของ Nicki Minaj ก็ยังคงเต้นกระเด้งเป้ากระเด้าฟ้า ฉีกขา ดิ้นอยู่ท่าสะพานโค้งต่อได้อยู่
เช่นเดียวกับปาร์ตี้ Trasher ด้วยเนื้อหาไวยกรณ์ของปาร์ตี้ สันทนาการบนเวทีต่างๆ ที่กลายเป็นการสร้างพื้นที่พิเศษให้กับ LGBTQ เมืองกรุง และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกย์ ไม่เพียงเผยให้เห็นว่าเกย์กะเทยกระฎุมพีเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่รันวัฒนธรรมมวลชน pop culture ยังนำวัฒนธรรมเกย์กะเทยอีสานแรงงานย้ายถิ่น มาประดิษฐานใจกลางเมืองหลวงที่รวมศูนย์อำนาจที่กระจุกไปด้วยทรัพยากรของประเทศ
ในค่ำคืนนั้น บรรดา LGBTกระฎุมพีชาวกรุงหลายนางนั่ง BTS เดิน sky walk มาเต้นหน้าฮ้านกลางห้างหรู เสร็จก็ม้วนเสื่อเรียก Grab กลับบ้าน
และขณะที่ LGBT ชาวกรุงสบัดกันไหง่ง่องในปาร์ตี้ที่ CTW นั้น จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามมันก็เป็นการปลุกชีวิตคนอีสาน คนต่างจังหวัดและแรงงานย้ายถิ่นได้มีตัวตน ทำให้เสียงพวกเขาได้ดังขึ้นมาอีกครั้งจนคนกรุงกระฎุมพีต้องร้องต้องเต้นตาม สมาทานความสนุกสนานของพวกเขา ในพื้นที่เดียวกันกับที่ครั้งหนึ่งในปี 2553 พวกเขาต่างเดินทางมาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่สามารถปลดแอกพวกเขาจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันได้ ทว่าถูกสลายการชุมนุมอย่างป่าเถื่อนกลายเป็นการสังหารหมู่กลางกรุงที่มีคนตายบาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับถูกคนกรุงแสร้งดูดายมองไม่เห็น ซ้ำร้ายยังเหยียดหยามสมน้ำหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] “เราไม่ได้เห็นแค่การบริโภคสื่อ แต่เราเห็นการใช้สื่อของพวกเขา”:บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. ใน จดหมายข่าวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, ปีที่ 16 ฉบับพิเศษ (สิงหาคม 2557), น.14-21.
[2] ดุสิต พงศาพิพัฒน์. การเข้าสู่อาชีพและชีวิตการทำงานของนักร้องคาเฟ่. กรุเทพฯ: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.
[3] พรเทพ แพรขาว. ผู้สาวหน้าฮ้านหมอลำ ความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยและผู้ชายในคอนเสิร์ตหมอลำอีสานเพศ. ใน “หลากเฉดสี พหุวัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทย” ,นฤพน์ ด้วงวิเศษ. ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน. (บรรณาธิการ).กรุงทเทพ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, 2556, น. 60-82.
[4] เรื่องเดียวกัน.