1
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ อยู่ข่าวหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้าม
มันคือข่าวการตายของวาฬเพชฌฆาตตัวหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ‘ทิลิคัม’ (Tilikum)
หลายคนคงคุ้นเคยดีกับวาฬเพชฌฆาตที่มีสีขาวดำ แม้จะมีร่างใหญ่มหึมา แต่ก็แลดูน่ารัก โดยเฉพาะเวลาที่มันอยู่ในสวนน้ำ และเปิดการแสดงโน่นนั่นนี่ให้คนได้ดูกัน
ทิลิคัมก็เป็นอย่างนั้น มัน ‘ทำงาน’ ด้วยการเปิดการแสดงในสวนน้ำ Seaworld มานาน 33 ปี และตายลงในวัย 36 ปี ด้วยอาการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นอาการป่วยที่พบได้มากในวาฬเพชฌฆาตที่ถูกจับมาขังเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ทิลิคัมไม่ได้เป็นแค่วาฬเพชฌฆาตธรรมดาๆ มันเป็นวาฬเพชฌฆาตที่เคยปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Blackfish อันลือลั่นในงานเทศกาลซันแดนซ์ และน่าจะเป็นวาฬเพชฌฆาตตัวเดียวที่เคยมีคดีความฟ้องร้องกับบริษัท Seaworld ที่ซื้อมันมาด้วยมูลค่ามหาศาล
ที่สำคัญ มันยังเป็นวาฬเพชฌฆาตที่เคยก่อคดี ‘ฆ่าคนตาย’ มาแล้วถึงสามครั้งด้วย!
2
เชื่อกันว่า ทิลิคัมเกิดในราวเดือนธันวาคม ปี 1981 มันอาศัยอยู่ในทะเลแถบไอซ์แลนด์ เป็นวาฬเพชฌฆาตในฝูง แต่แล้วเมื่ออายุได้ราวสองขวบ ทิลิคัมก็ถูกจับโดยใช้อวนล้อม อันเป็นวิธีจับวาฬเพชฌฆาตเพื่อเอามาขายต่อให้สวนสัตว์ ทิลิคัมถูกจับพร้อมสมาชิกอื่นในฝูงอีกสองตัว ตอนนั้นมันมีขนาดราวๆ 13 ฟุต เรียกได้ว่ายังเป็นเด็ก แต่ก็ถูกพรากจากฝูงและจากมหาสมุทรกว้างใหญ่
ทิลิคัมถูกพาตัวมาขังอยู่ในบ่อซีเมนต์ปิดที่สวนสัตว์น้ำแห่งหนึ่งใกล้เมืองเรคยาวิค เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ มันถูกขังอยู่ในนั้นนานราวหนึ่งปี เพื่อ ‘ดัดสันดาน’ ของสัตว์ที่เป็น Wild Animals ให้กลายเป็น ‘สัตว์เชื่อง’ ทั้งหมดที่มันทำได้ ก็คือการว่ายเป็นวงกลมและลอยตัวอย่างไร้เป้าหมายอยู่บนผิวน้ำ แม้มีทะเลเปิดขนาดใหญ่ที่มันเคยว่ายน้ำวันละหลายร้อยกิโลเมตรอยู่ไม่ห่าง แต่ทิลิคัมก็ทำอย่างนั้นไม่ได้
หลังจากนั้น สวนสัตว์ Sealand ในแคนาดาก็ ‘ซื้อต่อ’ ทิลิคัมมา ทิลิคัมต้องมาอยู่ร่วมกับวาฬเพชฌฆาตที่ไม่รู้จักกันมาก่อนสองตัว เป็นวาฬตัวเมียที่มีชื่อว่า ไฮดา (Haida) กับ นูทก้า (Nootka) ซึ่งแน่นอน-ในตอนแรกๆ วาฬสองตัวนี้ที่แก่กว่าย่อมโจมตีมัน ต้องอาศัยเวลาไม่น้อยกว่าทิลิคัมจะปรับตัวให้เข้ากับ ‘บ้าน’ ใหม่ได้ บ้านที่เป็นสระน้ำขนาดแค่ร้อยฟุตคูณห้าสิบฟุต
ทิลิคัมถูกฝึกให้แสดง มันต้องแสดงถึงวันละแปดรอบด้วยกันโดยไม่มีวันหยุด ความเครียดค่อยๆ สะสม มันอ่อนล้า ป่วยเป็นโรคกระเพาะ,
และแล้ววันหนึ่ง-ก็เกิดเหตุร้ายกาจขึ้น!
ก่อนหน้านั้น มนุษย์ทั่วไปเชื่อว่าวาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์ที่ไม่ทำร้ายมนุษย์ เพราะแทบไม่มีบันทึกการทำร้ายมนุษย์ในธรรมชาติเกิดขึ้น
แต่กับวาฬเพชฌฆาตที่ ‘ถูกขัง’ อยู่ในที่แคบๆ ชั่วชีวิตนั้น-ต่างออกไป
ในปี 1971 พนักงานหญิงคนหนึ่งของ Seaworld เอง ถูกพูดจาหว่านล้อมให้ขึ้นขี่หลังวาฬเพชฌฆาตตัวหนึ่งชื่อชามู (Shamu) ขณะเปิดการแสดง ปรากฏว่าชามูเหวี่ยงพนักงานคนนี้ลงน้ำ แล้วพยายามจะกดเธอให้จมน้ำ คนอื่นๆ ต้องช่วยกันพาเธอขึ้นมา แต่การบันทึกภาพแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า-ชามูกัดขาของเธอเอาไว้ แม้จะช่วยให้ขึ้นมาได้ เธอก็ต้องเย็บถึงสองร้อยกว่าเข็ม
เหตุการณ์นี้รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายครั้ง ทำให้เทรนเนอร์บางคนออกมาเตือนสวนน้ำว่า วาฬเพชฌฆาตอาจเป็นอันตราย แต่สวนน้ำและพนักงานคนอื่นๆ กลับบอยคอตต์เทรนเนอร์ที่ออกมาเตือน โดยเห็นว่านั่นเป็นการกระทำที่ไม่หวังดีและทำลายธุรกิจ
จนกระทั่งถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1991 เมื่อนักศึกษาชีววิทยาทางทะเลที่เป็นนักว่ายน้ำด้วย ชื่อ เคลที ไบร์น (Keltie Byrne) มาทำงานเป็นเทรนเนอร์ล่วงเวลาที่สวนน้ำ Seaworld เธอเกิดพลัดตกลงไปในสระที่มีทิลิคัม ไฮดา และนูทก้าอยู่ วาฬทั้งสามตัวตรงรี่เข้าไปกดเธอลงน้ำ พวกมันผลัดกันลากเธอลงไปด้านล่าง แล้วก็ปล่อย ลาก-แล้วก็ปล่อย เคลทีเป็นคนที่ว่ายน้ำเก่ง เธอจึงพยายามว่ายมาที่ขอบสระ มีครั้งหนึ่งเธอมาถึงขอบสระได้แล้วและกำลังจะพยุงตัวขึ้น แต่ทิลิคัมเข้าจู่โจมมากกว่าแค่การกดน้ำ มันกัดขาของเธอแล้วลากเธอลงน้ำ เทรนเนอร์คนอื่นๆ พยายามช่วยเธอ แต่ก็ไม่สำเร็จ ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะกู้ร่างของเธอขึ้นมาจากสระน้ำได้
แน่นอน-เธอเสียชีวิต, นั่นทำให้สวนน้ำปิดกิจการ ส่วนทิลิคัมถูกย้ายไปอยู่ที่สวนน้ำ Seaworld ในออร์แลนโด ฟลอริดา
อีกแปดปีต่อมา ในปี 1999 ชายคนหนึ่งชื่อแดเนียล ดุคส์ ลอบเข้าไปในสวนน้ำที่ฟลอริดา มีบันทึกมาหลายครั้งแล้วว่าเขาชอบแอบเข้าไปในสวนน้ำเพื่อไปเล่นกับสัตว์น้ำต่างๆ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เขาเข้าไปในสวนน้ำแล้วรอให้สวนน้ำปิด แต่ในครั้งนี้ มีคนพบศพเขาในสระที่ทิลิคัมอยู่ ร่างของเขามีร่องรอยบาดแผล ถูกลาก ถูกครูด เป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นจากทิลิคัม การชันสูตรพบว่าเขาจมน้ำตาย ซึ่งก็น่าจะเป็นฝีมือของทิลิคัมอีกเช่นกัน
ถัดจากนั้นอีก 11 ปี ในปี 2010 ทิลิคัมก่อเหตุสยองอีกครั้ง คราวนี้มันสังหารดอว์น แบรนโช (Dawn Brancheau) ซึ่งเป็นเทรนเนอร์หญิงวัย 40 ปี ผู้ทำงานนี้มานานและระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี แทบไม่มีใครเชื่อเลยว่า ดอว์นจะถูกทิลิคัมจู่โจม ตอนนั้นเป็นหลังการแสดงแล้ว ทิลิคัมลากเธอลงไปในน้ำ มันไม่ยอมปล่อยจนกระทั่งเธอจมน้ำตายโดยเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ช่วยเหลืออะไรเธอไม่ได้
ทิลิคัมเป็นปีศาจร้ายใช่ไหม?
หลังเหตุการณ์นี้ ทิลิคัมถูกขังไว้ในบ่อเล็กๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันเพียงนิดเดียว มันแทบขยับตัวไปไหนไม่ได้ ว่ายน้ำไม่ได้ สื่อสารกับวาฬเพชฌฆาตอื่นๆ ไม่ได้ แทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เลย มีรายงานว่า สิ่งเดียวที่ทิลิคัมทำก็คือการลอยตัวอยู่นิ่งๆในน้ำนานครั้งละหลายชั่วโมงโดยไม่ขยับตัวเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พบในวาฬเพชฌฆาตตามธรรมชาติ
ทิลิคัมนั้นถือเป็น ‘สมบัติ’ ที่มีมูลค่ามหาศาลของสวนน้ำ มันคือวาฬเพชฌฆาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกจับมาเลี้ยง ด้วยน้ำหนักถึง 12,500 ปอนด์ และมีความยาวถึง 22 ฟุต แถมยังเป็นพ่อพันธุ์ชั้นดี เพราะมันให้กำเนิดลูกวาฬเพชฌฆาตมากถึง 21 ตัว โดยในปัจจุบันยังมีลูกของมันเหลืออยู่ถึง 11 ตัว และแต่ละตัวก็มีมูลค่ามหาศาล
หลายคนเชื่อว่า การที่ทิลิคัมถูกกักตัวอยู่ในที่แคบมาชั่วชีวิต ทำให้มันเกิดความก้าวร้าวต่อมนุษย์ มีรายงานหนาหลายร้อยหน้าบันทึกถึงความก้าวร้าวที่วาฬเพชฌฆาตที่ถูกขังกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระแทกตัวกับลูกกรงเหล็ก การลากตัวเทรนเนอร์ลงไปในน้ำ และกระทั่งการที่วาฬเพชฌฆาตบางตัวกัดลูกกรงเหล็กซ้ำๆ จนฟันของมันหักและร่วงหมดปาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ‘ความเครียด’ อย่างชัดเจน
ทิลิคัมไม่ใช่วาฬเพชฌฆาต (ที่ถูกจับมาเลี้ยง) ตัวเดียวที่ทำร้ายคน ในระหว่างปี 1988-2009 มีรายงานว่าวาฬเพชฌฆาตทำร้ายเทรนเนอร์ 12 ครั้ง มีคนเสียชีวิตหนึ่งครั้งที่สเปน แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนจะบอกว่าไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าวาฬเพชฌฆาตที่ถูกจับมาเลี้ยงจะสุขภาพจิตเสีย แต่อีกบางคนก็บอกว่า วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคม ครอบครัวและการสื่อสารของพวกมันเป็นส่วนสำคัญของชีวิต การต้องแยกห่างจากครอบครัวและฝูงก่อปัญหาให้มันอย่างมากทั้งในด้านอารมณ์ จิตวิทยา และกระทั่งทางกายภาพ
อาจด้วยเหตุนี้ หลังเกิดโศกนาฏกรรมครั้งที่สามได้หนึ่งปี องค์กร People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA ซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิของสัตว์มาหลายเรื่อง เช่นต่อต้านการใช้เฟอร์หรือสนับสนุนการกินมังสวิรัต (ซึ่งในหลายเรื่องก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำอะไรเกินเลยอยู่เหมือนกัน) จึงได้ลุกขึ้น ‘ฟ้อง’ Seaworld ในนามของทิลิคัม โดยการยื่นฟ้องนั้นบอกว่า-สวนน้ำทำผิดรัฐธรรมนูญอเมริกันข้อที่ 13
รัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ระบุไว้ว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่มีทาสหรือการบังคับใช้แรงงานโดยไม่เต็มใจ (เว้นแต่จะเป็นการลงโทษเพราะก่ออาชญากรรม-ซึ่งข้อยกเว้นนี้ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงที่ซับซ้อนและสำคัญในมนุษย์ขึ้นภายหลัง ดูได้จากสารคดีเรื่อง 13th ที่เข้าชิงออสการ์ในปีนี้)
PETA บอกว่า วาฬเพชฌฆาตอย่างทิลิคัมนั้น เกิดมาอย่างอิสระในธรรมชาติ มันได้ ‘ลิ้มรส’ เสรีภาพในมหาสมุทรกว้างใหญ่อยู่นานสองปีร่วมกับครอบครัวของมัน เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ แต่ต้องกลายมาเป็น ‘นักโทษ’ เกือบชั่วชีวิตที่เหลือ มันจึงเผชิญความเครียดทางจิตอย่างรุนแรง
และหากเทียบกับอายุขัยของมันแล้ว การถูกขังนาน 8.5 ปี จะเทียบเท่ากับการได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเสรีนานถึง 65 ปี ดังนั้นการที่ทิลิคัมถูกจับมาขังไว้เช่นนี้ จึงเป็นการบังคับใช้แรงงานโดยที่มันไม่ได้สมัครใจ และเป็นการ ‘ทำลาย’ ชีวิตทั้งชีวิตของทิลิคัม
อย่างไรก็ตาม ไต่สวนดำเนินไปแค่สองวัน ผู้พิพากษาชื่อ เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ (Jeffrey Miller) ก็ยกคำร้อง โดยระบุเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่า การเป็นทาสหรือการบังคับใช้แรงงานโดยไม่ได้สมัครใจนั้น-จำกัดเฉพาะกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น รัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ไม่ใช่กฎหมายที่มีไว้ใช้กับสิ่งมีชีวิตที่เป็น non-humans
และดังนั้น ทิลิคัมจึงไม่ได้เป็นอย่างอื่น นอกเหนือไปจาก ‘สมบัติ’ ของสวนน้ำ Seaworld รัฐธรรมนูญใช้อะไรกับมันไม่ได้ มันจึงกลับมา ‘เปิดการแสดง’ อีกครั้งในปี 2011 โดยมีการระแวดระวังอย่างดี เช่น ใช้รั้วล้อม หรือใช้วิธีฉีดน้ำนวดตัวให้แทนการนวดด้วยมือ เป็นต้น
เมื่อปีที่แล้ว ทิลิคัมติดเชื้อในปอด อาการของมันดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง แต่แล้วในเช้าวันที่ 6 มกราคม 2017 ทิลิคัมก็จากไปด้วยวัย 36 ปี
ปกติแล้ว วาฬเพชฌฆาตตัวผู้ในธรรมชาติสามารถมีอายุยืนยาวได้มากถึง 50-60 ปี (ตัวเมียอาจอายุยืนได้ถึง 70-80 ปี) แต่วาฬเพชฌฆาตที่ถูกจับมาเลี้ยงจะมีอายุขัยสั้นลงมาก Whale and Dolphin Conservation Society ประมาณว่าโลมาที่ถูกจับมาเลี้ยงจะมีอายุขัยสั้นลงถึง 60-90% (วาฬเพชฌฆาตถึงจะมีชื่อว่าวาฬ แต่จริงๆ เป็นสัตว์จำพวกโลมา) แต่กระนั้นก็มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่ว่าเพราะอะไรวาฬเพชฌฆาตถึงอายุสั้นลง
เรื่องของทิลิคัมนำเราไปสู่การถกเถียงที่เกิดขึ้นมานานแล้วและน่าจะต้องถกเถียงกันต่อไป ว่าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เราควรมี ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ระหว่างกันอย่างไรและหรือไม่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยรู้สึกเลยว่าสัตว์ควรมี ‘อำนาจต่อรอง’ ใดๆ กับมนุษย์ นักบุญในศาสนาคริสต์บางองค์ที่เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างยิ่ง-เคยสอนด้วยซ้ำไปว่าสัตว์เป็นข้ารับใช้ของมนุษย์ พระเจ้าสร้างสัตว์มาให้มนุษย์ใช้ เราจึงทำอะไรกับมันก็ได้ รวมทั้งฆ่ากิน แต่ในอนาคต ถ้าเราหาวิธีศึกษา ‘สติปัญญา’ (cognition) ของสัตว์ได้มากขึ้น เราอาจเผชิญปัญหาใหม่ก็ได้ว่าสัตว์ประเภทไหนบ้างที่มนุษย์ควรมอบอำนาจต่อรองบางอย่างให้พวกมัน เพราะสัตว์หลายชนิดดูเหมือนจะมีสติปัญญาอยู่ไม่น้อย เช่น ชิมแปนซี สุนัข หรือแมว ที่ดูเหมือนจะรับรู้และสื่อสารกับมนุษย์ได้ แต่ต่อให้เป็นอย่างนั้น ก็ยังเป็นมนุษย์เองที่ถือว่าตัวเองมีสิทธิขาดในการพิพากษา-ว่าสัตว์อะไรควรได้รับการยอมรับให้มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน
ชะตากรรมของทิลิคัมแสดงให้เห็นว่าในมิติของ ‘อำนาจ’ มนุษย์คือสัตว์ประเสริฐที่สุดที่สามารถจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสัตว์อย่างไรก็ได้
ตลกดี-ที่นั่นอาจสะท้อนโต้ตอบให้เราเห็นการจัดการโครงสร้างอำนาจในสังคมมนุษย์ด้วย