1. อาทิตย์ที่ผ่านมาถือเป็นอาทิตย์ที่มีหนังฉายรอบ sneak preview อยู่หลายเรื่องทีเดียวครับ ทั้ง Moanna แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของดิสนีย์ที่ได้ดาราแม่เหล็กอย่างเดอะร็อคมาภาคเสียง A Monster Calls ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนที่กวาดคำชมมาแล้วมากมาย และ Nocturnal Animals ผลงานกำกับของ ทอม ฟอร์ด ผู้กำกับสไตล์จัดที่แม้เรื่องนี้จะเป็นเพียงผลงานภาพยนตร์ชิ้นที่สองของเขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฟอร์ดจะเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อหรอกนะครับ กลับกันเลยต่างหาก เพราะคำชื่นชมที่เขาเคยได้รับจาก The Single Man (ผลงานกำกับชิ้นแรกของฟอร์ดที่แจ้งเกิดให้กับเขา และยังส่งให้ โคลิน เฟิร์ธ ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอมเยี่ยมบนเวทีออสการ์เป็นครั้งแรก ก่อนที่เขาจะคว้ารางวัลนี้มาได้ในปีถัดมาจากเรื่อง The King’s Speech) ก็ส่งให้เขากลายเป็นผู้กำกับฝีมือดีที่น่าจับตาที่สุดของวงการภาพยนตร์ไปแล้ว
การกลับมาครั้งนี้ของฟอร์ดกับภาพยนตร์เรื่อง Nocturnal Animals ยังคงยืนยันถึงความเก่งกาจของเขาได้อย่างชัดเจน และดูเขาเองก็ดูจะบ้าบิ่นขึ้นด้วยซ้ำ ฟอร์ดตีแสกหน้าประเด็นต่างๆ อย่างการเปิดเปลือยชีวิตหรูหรา วิพากษ์วิจารณ์วงการศิลปะ รวมถึงนำเสนอประเด็นเรื่องเพศอย่างไม่บันยะบันยัง และแม้ผลงานก่อนๆ ของฟอร์ดเองจะเคยถูกโจมตีว่านำเสนอทัศนคติแบบ Sexist อย่างโจ๋งครึ่ม แต่ถึงกระนั้น Nocturnal Animals ก็ยังคงนำเสนอทัศนคติที่ว่าอย่างโจ่งแจ้งจนไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวหนังจะได้รับคำวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาที่ด่าว่าผู้หญิง
2. หนังเล่าเรื่องของซูซาน มอร์โรว์ (เอมี่ อดัม) สาวสังคมชั้นสูงที่ทำงานอยู่ในวงการศิลปะ ที่จู่ๆ เธอก็ได้รับพัสดุจากอดีตสามีนักเขียน เอดเวิร์ด เชฟฟิลด์ (เจค จิลเลนฮาล) เมื่อซูซานแกะห่อออก เธอก็พบว่าข้างในเป็นนวนิยายเรื่องใหม่ของเอดเวิร์ดที่เขาระบุบนโน้ตว่า กำลังจะได้รับการตีพิมพ์เร็วๆ นี้ แต่เขาอยากให้เธอได้อ่านก่อนเป็นคนแรก เขาตั้งชื่องานเขียนเล่มนี้ว่า Nocturnal Animals ตามฉายาที่เขาเรียกซูซานเพราะการไม่ชอบนอนของเธอ
ค่ำนั้น ซูซานเปิดหนังสืออ่านโดยไม่รู้ชัดถึงจุดประสงค์ที่แฝงไว้ของเอดเวิร์ด มันเล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่ง พ่อ แม่ และลูกสาว เดินทางล่องใต้ไปยังเท็กซัส แต่แล้วขณะที่ความมืดของวันเริ่มห่มคลุมท้องถนนอันเวิ้งว้างว่างเปล่า จู่ๆ พวกเขาก็พบกับรถที่ขับด้วยกลุ่มวัยรุ่นท่าทางคุกคาม ส่ายไปส่ายมาไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งพอพวกเขาพยายามจะขับแซงแต่ก็กลับโดนวัยรุ่นพวกนั้นขับเบียดจนทำเอารถพลัดตกไหล่ทางไปเสียอีก พวกเขาถูกบังคับให้ลงจากรถ ถูกขู่กรรโชกสารพัด และเป็นนับแต่นั้นเองที่สถานการณ์ของครอบครัวนี้ก็มีแต่จะดิ่งลงเรื่อยๆ สู่ความมืดอันไร้ที่สิ้นสุด
ฟอร์ด ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ตัดสลับระหว่างเรื่องราวในนวนิยาย และโลกแห่งความจริงที่ซูซานกำลังอ่านมันอยู่ โดยเขาได้สร้างภาพยนตร์ซ้อนภาพยนตร์ขึ้นในหนังเรื่องนี้ที่ สลับกันไปมาระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นนอกนวนิยาย กับเรื่องที่เกิดขึ้นในนวนิยาย ลำดับเรื่องราวด้วยกลเม็ดอันแพรวพราวและแม่นยำที่ค่อยๆ ไล่เรียงอารมณ์ความกดดันขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่องแต่งที่ทวีความเข้มขนขึ้น จนเมื่อมันเกือบจะปะทุถึงจุดเดือด ก็เป็นจังหวะนั้นเองที่ฟอร์ดได้ตัดกลับมาให้เราเห็นอาการของตัวซูซานที่ได้รับผลกระทบจากฉากนั้นๆ กล่าวคือ ทั้งเราที่เป็นคนดู และตัวซูซานเองต่างก็ตกอยู่ในสภาวะคล้ายๆ กัน คือเป็นประหนึ่งเบี้ยตัวหนึ่งที่ตกอยู่ในการควบคุมและการยั่วหลอกทางอารมณ์ของ เอ็ดเวิร์ด ผู้เขียนนวนิยาย และของ ฟอร์ด ผู้กำกับภาพยนตร์
จุดนี้เองที่เราได้เห็นว่าอำนาจของเอ็ดเวิร์ด หรือในทางหนึ่งคืออำนาจของเพศชายนั้น ได้เข้ามามีอำนาจเหนือตัวซูซานจนเธอไม่อาจผละออกจากหนังสือเล่มนั้นได้ และจำต้องอ่านต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าในหลายครั้ง เราจะเห็นว่าเธอถึงกับปัดหนังสือทิ้ง ทำหนังสือร่วงหล่น หรือแสดงท่าทางหวาดกลัว แต่จนแล้วก็ต้องหยิบกลับมาอ่านซ้ำๆ อย่างเสียไม่ได้
3. ในฉากหนึ่งของหนัง ซูซานได้เล่าให้เลขาฯ ส่วนตัวของเธอฟังว่าเธอได้ทำร้ายเอ็ดเวิร์ด คนรักเก่าของเธอด้วยวิธีการอันไม่น่าไม่อภัย แน่นอนว่าเธอก็ยังรู้สึกผิด แต่จะให้ทำอย่างไรได้เล่าเพราะสิ่งที่ซูซานต้องการนั้นคืออนาคตที่มั่นคง ซึ่งเอ็ดเวิร์ดที่มุ่งมั่นจะเป็นนักเขียนในตอนนั้นไม่อาจสร้างความมั่นใจนี้กับเธอได้ และในที่สุดเธอจึงเลือกจะทิ้งเขาไป โดยไม่สนใจว่าเอ็ดเวิร์ดจะยังรักเธออยู่มากเพียงใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากอาการทุรนทุรายที่ซูซานต้องเผชิญขณะที่อ่าน Nocturnal Animals จึงเท่ากับว่านวนิยายเล่มนี้ และเจตนาที่เอ็ดเวิร์ดส่งมันมาถึงมือเธอก็เพื่อที่ว่าเขาจะได้แก้แค้นต่อบาดแผลที่ซูซานเคยได้ฝากไว้ให้กับเขา ครั้งหนึ่งเธอเคยดูถูกงานเขียนของเอ็ดเวิร์ด เช่นนั้นแล้ว นวนิยาย จึงเป็นเครื่องมือที่จะโต้กลับคำสบประมาทในอดีตนั้นได้ดีที่สุด
4. “Do you ever feel like your life has turned into something you intended?”
เป็นไปได้ไหมที่แท้จริงแล้วเส้นทางชีวิตไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นไปจากความตั้งใจของเราเอง ?
ซูซานถามคำถามนี้กับเลขาฯ ของเธอด้วยท่าทีอันเคลือบแคลงสงสัย และมันเป็นคำถามเดียวกันนี้เองที่ได้สรุปประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจทั้งนั้น
เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้จัดวางตัวเองไว้อย่างแม่นยำ และในทางหนึ่งมันก็สะท้อนถึงสถานะนักเขียนของเอ็ดเวิร์ดเอง นั่นเพราะนวนิยายเองก็คือสิ่งซึ่งนักเขียนสรรสร้างขึ้น เป็นผลผลิตที่อยู่ใต้บงการที่ตัวนักเขียนมีอำนาจในการจะปั้นแต่งเรื่องราวได้อย่างที่ตั้งใจ เฉกเช่นเดียวกับชีวิตที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตอันเป็นผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล และไม่ว่าในท้ายที่สุดมันจะส่งผลดีหรือร้าย มนุษย์ก็ทำได้แต่ต้องยอมรับในผลลัพธ์นั่นเพราะมันเกิดจากความตั้งใจของเราเองทั้งนั้น หาใช่ความบังเอิญหรือโชคชะตาแต่อย่างใด