1
คุณรู้จักหนังเรื่อง 小时代 ไหมครับ?
จริงๆ ผมก็ไม่รู้จักหรอก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าออกเสียงอย่างไร (ออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า xiaoshi dai) แต่คำแปลของชื่อหนังเรื่องนี้แปลว่า Tiny Time (หรือ Little Time) เป็นหนังปี 2013
แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขาบอกว่านี่คือ Sex and the City และ The Devil Wears Prada ในภาคจีน!
หนังเรื่องนี้สร้างจากนิยายที่ตัวผู้กำกับเอง (คือ Guo Jingming) เป็นคนเขียนขึ้น และในหนังก็สะท้อนให้เห็นภาพชีวิตคนจีนรุ่นใหม่ ที่ไม่มีอะไรเหมือนภาพของความเป็นจีนแบบเก่าอย่างที่เราเคยคุ้นเลยแม้แต่นิดเดียว
นี่คือหนังที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขนาดใหญ่ เพราะในขณะที่คนจีนรุ่นใหม่ชอบกันมาก (ทำลายสถิติยอดจำหน่ายตั๋ววันแรกไปที่ 11.9 ล้านเหรียญ) เนื่องจากเป็นหนังที่หรูหราฟู่ฟ่า พูดถึงการใช้ของแบรนด์เนมต่างๆ นานา แต่คนรุ่นเก่ากลับมองว่าหนังเรื่องนี้คือการเฉลิมฉลอง ‘ความป่วย’ ของสังคมจีนยุคใหม่ เพราะนี่เป็นหนังที่ไร้ศีลธรรม ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม แถมยังสร้างความไม่เท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นอีกต่างหาก บางคนถึงกับบอกว่าเป็นอาการ Pathological Greed หรือพยาธิสภาพแห่งความโลภโมโทสันกันเลยทีเดียว
อะไรจะวิจารณ์กันแรงขนาดนั้น!
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จีนนะครับ เขาบอกว่าคนจีนรุ่นเก่านั้นโตมาคนละแบบกับคนจีนรุ่นใหม่ มีคนแบ่ง Generation ของคนจีนแบบหยาบๆ (ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าหยาบมาก) ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มคนรุ่นเก่าที่เติบโตมาในยุคของท่านประธานเหมาหรือเหมาเซตุง (Mao Zedong) ซึ่งเป็นยุคคอมมิวนิสต์เต็มขั้น คือในช่วงปี 1949 ถึง 1976 แต่คนรุ่นใหม่ที่เกิดตั้งแต่ทศวรรษแปดศูนย์เป็นต้นมา จะอยู่ใต้นโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiao Ping) ทำให้คนจีนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนจีนรุ่นเก่าอย่างถึงรากถึงโคน
คุณอาจจะสงสัยว่า มันจะแตกต่างกันได้ขนาดไหนเชียว เรื่องนี้ Zhang Jun ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอายุ 26 ปี เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ ChinaFile ว่าความต่างนี้ไม่ใช่แค่ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ เท่านั้น แต่มันคือช่องว่างของหลายเรื่อง ที่สำคัญที่สุดก็คือช่องว่างของ ‘ระบบคุณค่า’ (Value System) ช่องว่างของฐานะ ช่องว่างของการศึกษา ช่องว่างของการรับรู้ข้อมูล ช่องว่างของความสัมพันธ์ รวมไปถึงช่องว่างระหว่างเพศด้วย
ช่องว่างทางวัฒนธรรมของคนสองกลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะมันนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างกัน จึงทำให้เกิดความ ‘เกลียดชัง’ (Resentment) ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และในระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองและอำนาจด้วย
แม้ช่องว่างที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน ก็คือนโยบายลูกคนเดียวหรือ One-Child Policy ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1978 และเพิ่งมายุติลงในราวต้นปี 2016 นี่เอง
หลายคนคงรู้ว่านโยบายนี้เกิดขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนประชากร โดยครอบครัวไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน จะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ
ประมาณกันว่า นโยบายนี้ป้องกันการเกิดของคนจีนได้ราว 250-300 ล้านคน และลดอัตราการเกิดจากที่ผู้หญิงหนึ่งคนเคยมีลูก 5.7 คน (ในปี 1970) มาเหลือแค่ 1.7 คน ในช่วงปี 2000-2005 ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะประชากรล้นเกินย่อมแย่งกันกินแย่งกันใช้
แต่นั่นคือวิธีมองปัญหาเฉพาะในเรื่องประชากรศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้มองถึงผลกระทบในเชิงสังคมและวัฒนธรรมด้วย เขาบอกว่า พอครอบครัวหนึ่งๆ มีลูกได้เพียงคนเดียว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 小皇帝 หรือ 小公主 หมายถึงจักรพรรดิหรือจักรพรรดินีน้อย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเกิดเด็กที่เป็น Spoiled Children หรือเด็กที่พ่อแม่ตามใจอย่างมากขึ้นมา
การเป็น ‘ลูกคนเดียว’ สร้างนิสัยแบบใหม่ให้เกิดขึ้นกับคนจีนรุ่นใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเผ่าพันธุ์ชาวจีนด้วย ลักษณะที่ว่าก็คือ ‘ความเป็นปัจเจก’ (Individualism) ซึ่งตรงข้ามกับวิธีคิดแบบมวลรวมหรือ Collectivism ที่ถูกปลูกฝังโดยคำสอนของขงจื๊อในคนจีนรุ่นก่อนอย่างมาก เพราะเมื่อเป็นลูกคนเดียวก็ต้องอยู่กับตัวเองมากกว่าอยู่ร่วมกับคนอื่น ยิ่งถูกตามใจก็ยิ่งคุ้นเคยกับความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเป็น ‘ลูกคนเดียว’ ย่อมเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ ที่จะให้ลูกต้องประพฤติปฏิบัติตัวตาม ‘แบบและเบ้า’ เดิมๆ ของตัวเอง แต่ปัญหาก็คือ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ (ที่เกิดในยุคประธานเหมา) ย่อมบรรทุกเอา ‘ระบบคุณค่า’ อีกแบบหนึ่งไว้ในตัว (โดยเฉพาะระบบคุณค่าแบบ Collectivism) จึงแตกต่างจากระบบคุณค่าของคนรุ่นใหม่โดยสิ้นเชิง นั่นทำให้คนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มเกิดสำนึก ‘ขบถ’ ต่อระบบคุณค่าแบบเก่า
อย่างไรก็ตาม มีคนวิเคราะห์ว่า ที่จริงแล้ว คนจีนไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ต่างก็ให้ความสำคัญกับ ‘เงิน’ เป็นอันมากทั้งนั้น แต่คนจีนรุ่นเก่าจะโฟกัสกับเงินเพราะตัวเองโตมาในสภาพที่ยากลำบาก จึงมองว่าการหาเงินและการอดออมควรเป็นไปเพื่อความมั่นคงในอนาคต แต่คนจีนรุ่นใหม่มีมุมมองเกี่ยวกับเงินต่างออกไป พวกเขาเกิดมาในหลายเงื่อนไขที่พ้องพานกัน เช่น เป็นเด็กที่มักถูกตามใจ (เพราะเป็นลูกคนเดียว) มีสำนึกขบถ แต่ในเวลาเดียวกันก็อยู่ในภาวะที่หาเงินง่าย ประเทศเปิดตัวสู่ทุนนิยม สินค้าและบริการต่างๆ ไหลมาเทมา ทำให้คนจีนรุ่นใหม่มีลักษณะ ‘วัตถุนิยม’ (Materialistic) มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
Gil Hizi บล็อกเกอร์จีนคนหนึ่งเคยเขียนไว้ว่าคนที่ทำงานหนักหรือเป็น Workaholics นั้น เป็นคนจีนในยุคเจ็ดศูนย์ พอมายุคแปดศูนย์ คนเริ่มปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา แล้วพอมาถึงยุคเก้าศูนย์ คนจีนรุ่นใหม่ก็ปฏิเสธการทำงานทั้งหมดเลย เขาบอกว่าคนสมัยก่อนนั้น ที่มาของเงินมีแหล่งเดียว คือผ่านการทำงานหนัก แต่คนรุ่นใหม่มีที่มาของเงินจากหลายแหล่ง บล็อกเกอร์คนนี้บอกด้วยว่า คนจีนยุคเจ็ดศูนย์จะภูมิใจที่มีเงินในบัญชีเยอะๆ คนในยุคแปดศูนย์เป็นพวกที่เผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่คนยุคเก้าศูนย์จนถึงปัจจุบันจะรู้สึกว่าพ่อแม่ควรต้องเป็นคนจ่ายเงินเลี้ยงดูลูกไปตลอด หรืออย่างน้อยก็ใช้เงินของพ่อแม่นำไปลงทุนในที่ต่างๆ (เช่น ตลาดหุ้น) แล้วปล่อยให้เงินทำงาน จึงมีชีวิตที่สุขสบายที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวที่น่าสนใจที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องเชิงเศรษฐกิจ ทว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ
มีตัวเลขบอกว่าบอกว่า นโยบายลูกคนเดียวทำให้เกิดปัญหาการเอาเด็กไปทิ้งและการทำแท้งมหาศาลมาก แน่นอน เด็กที่ถูกทิ้งย่อมเป็นเด็กหญิง ไม่ใช่เด็กชาย เพราะเป็นไปตามการให้คุณค่าของจีนแบบโบราณ ตามสำนวนที่ว่า 重男轻女 แปลว่า Heavy Boy, Light Girl แสดงให้เห็นความสำคัญของเพศสภาวะในเด็ก คือเพศชายจะ ‘หนัก’ หรือ ‘สำคัญ’ กว่าเพศหญิง
มีการศึกษาโดย เคย์ จอห์นสัน (Kay Johnson) แห่งมหาวิทยาลัย Hampshire ในอเมริกา ซึ่งสนใจเอเชียและการเมืองในเอเชีย รวมทั้งสนใจเรื่องผู้หญิงและนโยบายประชากรของจีน พบว่าหลังเกิดนโยบายลูกคนเดียวในจีนแล้ว เด็กที่ถูกนำไปทิ้งนั้น 90% เป็นผู้หญิง
เด็กผู้ชายที่ถูกนำไปทิ้งก็มีเหมือนกัน แต่มักเป็นเด็กชายพิการ โดยพ่อแม่มักเอาเด็กไปทิ้งในพื้นที่เมืองที่มีคนหนาแน่น 79% เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่าสองเดือน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีลูกคนใหม่ได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียค่าปรับ คาดกันว่า เด็กที่ถูกทิ้งเหล่านี้น่าจะเสียชีวิตไปไม่น้อย
ที่จริงมีรายละเอียดในเรื่องนี้อีกมาก เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างการอุลตร้าซาวด์ที่ทำให้รู้เพศของลูกในท้อง หรือนโยบายลูกคนเดียวในชนบทที่จริงๆ แล้วอนุญาตให้มีลูกได้สองคน ก็ทำให้เกิดความผันแปรในทางสถิติอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วทำให้ ‘คนจีนรุ่นใหม่’ ในปัจจุบัน มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณกันว่า ตอนนี้มีประชากรชาย 120 คน ต่อประชากรหญิง 100 คน และเมื่อถึงปี 2030 ผู้ชายจีนกว่า 25% จะหาผู้หญิงมาแต่งงานด้วยไม่ได้
ที่น่าสนใจมากก็คือ เขาบอกว่าการที่มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จะส่งผลทางสังคมรุนแรงอย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง
ร็อบ บรูคส์ (Rob Brooks) ซึ่งศึกษาเรื่องวิวัฒนาการและพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ในออสเตรเลีย บอกว่าถ้าสังคมจีนมีผู้ชายล้นเกิน จะก่อให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงขึ้นมา เพราะผู้ชายจีนมีหน้าที่ต้องสืบทอดแซ่ของตัวเอง แต่ถ้าแต่งงานไม่ได้ก็จะเกิดภาวะเครียด โกรธ และไม่พึงพอใจต่อสังคม เขาศึกษาพบว่า ถ้าอัตราส่วนของผู้ชายต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น 6% เขามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันด้วย โดยบอกว่าในช่วงปี 1853-1868 เกิดทั้งน้ำท่วมและขาดแคลนอาหารในแถบลุ่มแม่น้ำเหลือง ผู้คนเลือกที่จะทิ้งทารกหญิงเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นปัญหาให้ต้องมาหาเลี้ยง จนทำให้อัตราส่วนระหว่างเพศอยู่ที่ผู้ชาย 129 คนต่อผู้หญิง 100 คน ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมหลายระดับ ตั้งแต่การปล้น การดื่มเหล้า การใช้ยาเสพติด หรือกระทั่งการลักพาตัวและค้าผู้หญิง เพราะฉะนั้น ถ้าอัตราส่วนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงจีนยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็น่าจับตาดูว่าจะเกิดความรุนแรงอะไรขึ้นในสังคมจีนบ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงจีนจะมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชาย ทว่าถ้าดูอัตราการประสบความสำเร็จแล้ว เราจะพบว่าผู้หญิงจีนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและการศึกษาเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ คนจีนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเพศชายมากเหมือนก่อน แต่มีแนวโน้มจะเห็นว่าคนสองเพศนี้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ผู้หญิงจึงมีโอกาสก้าวหน้าทางการงานมากขึ้น ซึ่งก็มีผลทำให้คนรุ่นเก่ายิ่งเขม้นมองวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ด้วยความขวางหูขวางตามากขึ้นตามไปด้วย
บทความใน ChinaFile บอกว่า คำพูดประโยคหนึ่งที่กำลังฮิตในหมู่คนรุ่นเก่าของจีน (มีนายพลของจีนคนหนึ่งที่พูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง) ก็คือ 阴盛阳衰 หรือ Yinshen Yangshuai พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘หยิน’ กำลังขึ้น ในขณะที่ ‘หยาง’ กำลังลง โดยหยินก็คือความเป็นหญิง และหยางคือความเป็นชาย นั่นแสดงให้เห็นว่า คนจีนรุ่นเก่ามองว่าสังคมจีนกำลังมี ‘ความเป็นหญิง’ มากขึ้น ทั้งที่ปริมาณผู้ชายในคนจีนรุ่นใหม่มีมากกว่าผู้หญิง
ผู้หญิงจีนรุ่นใหม่ไม่ได้ ‘หงอ’ ต่อสังคมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะพวกเธอได้รับอำนาจ (Empowered) จากเทคโนโลยีและการให้คุณค่าแบบใหม่ เคยมีมิวสิควิดีโอที่ฉายทาง Youku (คือ Youtube ของจีน) เป็นเพลงที่ผู้หญิงแต่งขึ้นเพื่อบอกว่าผู้ชายไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะผู้หญิงก็สามารถทำงานมีบ้าน มีรถ และมีเงินอยู่ในธนาคารได้ ผู้หญิงจึงไม่ใช่สมบัติของผู้ชายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว วิธีคิดแบบนี้สวนทางกับคนรุ่นเก่า (โดยเฉพาะรุ่นปู่ย่าตายายของคนรุ่นนี้) ที่ส่วนใหญ่ยังมองว่าเป้าหมายในชีวิตของผู้หญิงก็คือการแต่งงานแล้วให้สามีเป็นผู้เลี้ยงดู จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ยิ่งห่างไกลกันในวิธีคิดขึ้นไปอีก
อีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก ก็คือเรื่อง ‘ความกลัว’ ต่ออำนาจรัฐ บล็อกเกอร์รุ่นใหม่ๆ มักแสดงความเห็นตรงข้ามหรือต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยไม่กลัวเกรง โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่นต่างๆ จนบล็อกเกอร์หลายคนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
เช่น Yang Hengjun ที่เป็นบล็อกเกอร์ด้านการเมือง เขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างรุนแรงหลายเรื่อง จนกระทั่งครั้งหนึ่ง เขาถูกลักพาตัวโดยรัฐบาล พูดง่ายๆ ก็คือถูกจับไปปรับทัศนคตินั่นแหละครับ แม้ต่อมาจะได้รับการปล่อยตัว แต่ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่ ‘ทน’ ต่อการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา สุดท้าย Yang Hengjun ก็ต้องหนีไปอยู่ในออสเตรเลีย แต่กระนั้นก็มีบล็อกเกอร์อีกบางราย (เช่นบล็อกเกอร์ชื่อ HanHan) ที่อยู่ในจีนได้ แม้เขาจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการคอร์รัปชั่น แต่ก็ต้องรักษา ‘สมดุล’ ด้วยการแสดงอาการสนับสนุนต่อบางความก้าวหน้าที่รัฐบาลสร้างขึ้นด้วย
ในภาพใหญ่ มีผู้วิเคราะห์ว่ารัฐบาลจีนมีวิธีคิดแบบเดียวกับคนรุ่นเก่า นั่นคือจะโจมตีหรือตำหนิว่าคนรุ่นใหม่คือกลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้สังคม แต่บล็อกเกอร์อย่าง HanHan ออกมาโต้ว่าไม่จริงเสมอไป เพราะบางเรื่อง คนจีนรุ่นใหม่ก็ ‘พัฒนา’ ขึ้นกว่าคนจีนรุ่นเก่ามาก โดยเฉพาะลักษณะนิสัยบางอย่างที่สุดแสนจะเป็นจีน เช่นการทิ้งขยะ การขากถุยในที่สาธารณะ หรือการแซงคิว ซึ่ง HanHan เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนลึกถึง ‘ราก’ ทางวัฒนธรรมและการให้คุณค่าต่อสาธารณะที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงที่เปลือกผิว
HanHan เห็นคล้ายๆ กับ หลิวเสี่ยวโป (Liu Xiaobo) ปัญญาชนจีนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2010 นั่นคือสังคมจีนต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคีย์เวิร์ดอยู่ตรงคำว่า Gradual หรือค่อยเป็นค่อยไป โดยหลิวเสี่ยวโปเชื่อว่า การที่ระบบเศรษฐกิจของจีนหันมาเป็นระบบตลาดมากขึ้น จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ และเน้นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ จะทำให้จีนก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นกว่าจีนยุคก่อน
แต่นั่นก็คือการ ‘มองโลกในแง่ดี’ อย่างเหลือเกิน ในสายตาของนักวิเคราะห์อีกบางคน
นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง คือ ทอม ด็อกเตอร์ออฟ (Tom Doctoroff) ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ What Chinese Want ออกมาบอกว่าการคิดแบบหลิวเสี่ยวโปอาจจะเร็วไป ตีขลุมมากไป เชื่อมั่นในแง่ดีมากไปก็ได้ เขาบอกว่าคนรุ่นใหม่มี ‘มายาคติ’ ต่อสังคมจีนผิดๆ หลายเรื่อง แต่เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เขาออกมาบอก คือเรื่องที่หยั่งลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดของคนสองรุ่น นั่นคือเรื่อง ‘ความเป็นปัจเจก’ ของคนจีน
เขาบอกว่า ที่คิดกันว่าปัจเจกนิยมแบบคนรุ่นใหม่กำลังหยั่งรากลึกลงไปในสังคมจีนยุคใหม่นั้น บางทีอาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะจากการศึกษาของเขา เขาคิดว่าคนจีนมีลักษณะ ‘ต่อต้านปัจเจก’ ที่ลึกลงไปในสัญชาตญาณของตัวเองเลยทีเดียว (เขาใช้คำว่า Instinctively Anti-Individualistic) ดังนั้น เขาเลยเห็นว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นแบบประชาธิปไตยทั้งหลาย – จะไม่มีวันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในสังคมจีนไปได้ ตัวอย่างเช่นเมื่อรัฐบาลจีนสั่งจับหลิวเสี่ยวโปและอ้ายเว่ยเว่ยนั้น คนจีนรุ่นใหม่อาจรู้สึกเศร้าใจ แต่ไม่ได้แสดงออกถึงความเดือดดาลอะไร เกือบ 30 ปี หลังเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินแล้ว ดูเหมือนคนจีนก็ยัง ‘เชื่อง’ ต่ออำนาจมหาศาลของรัฐบาลอยู่ เขาจึงบอกว่าแม้โดย ‘ภาพ’ เราจะเห็นว่าคนจีนรุ่นใหม่กับคนจีนรุ่นเก่ามีความต่าง เช่น วัตถุนิยมมากขึ้น มีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนกรอบของวิธีคิดเพื่อ ‘เลื่อน’ มาสู่สังคมก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยในความหมายแบบตะวันตกเท่าไหร่
และดังนั้น แม้จีนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไป (บ้าง) แล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมจีนทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐกิจ เช่นมิติทางสังคม วัฒนธรรม เพศ หรือความคิดเรื่องปัจเจกนิยม
2
ตรุษจีนทั้งที เลยอยากชวนคุณมานั่งพินิจพิเคราะห์ดูสังคมจีนจากสายตานักวิเคราะห์หลายๆ แหล่งดูบ้าง แต่ก็ต้องบอกกล่าวกันด้วยนะครับว่า ที่ว่ามาทั้งหมดในพื้นที่ไม่กี่หน้านี้ คงไม่สามารถอธิบายจีนได้ครบถ้วนทุกมิติหรอก แต่กระนั้นก็เป็นความพยายามจะมองจีนในรอยต่อของยุคสมัยในหลายๆ ด้านให้ได้มากที่สุด
เมื่อมองจีนแล้ว ถ้าใครสนใจ – อาจลองหากรอบคิดต่างๆ มามองดูสังคมไทยของเราบ้างก็ได้ เพราะเอาเข้าจริง สังคมไทยก็รับแนวคิดจำนวนมากมาจากสังคมจีนด้วย จึงเชื่อว่าความซับซ้อนของ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ในมิติต่างๆ ของสังคมไทยจึงไม่น่าแพ้จีนสักเท่าไหร่
ไม่แน่ – เผลอๆ อาจซับซ้อนกว่าด้วย
อ่านเพิ่มเติม
New School: What’s Causing China’s Growing Generation Gap?
A SOCIETY IN CRISIS: CHINA’S GROWING GENERATION GAP โดย Kelly Donovan
Value differences between generations in China: a study in Shanghai โดย Jiaming Sun & Xun Wang