ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ การเติบโตมาในบ้านคนไทยเชื้อสายจีนหมายถึงการก้มหน้าก้มตาทำงาน ขยันเรียน อดทน อดออม และไม่คุยโวโอ้อวดกับใคร เหล่านี้คือสิ่งที่พ่อแม่พร่ำสอน ต่อมาได้เจอเพื่อนที่ภูมิหลังคล้ายกันจึงถึงบางอ้อว่า บ้านเรานับว่าใจดีแล้วที่อยากเรียนอะไรก็ให้เรียน คอยถามเรื่องผลการเรียนแต่ไม่กดดันให้ไปเรียนพิเศษ ไม่มีการชี้นำว่าควรพยายามเรียนเพื่อสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์หรือคณะพาณิชยศาสตร์ สองคณะยอดฮิตที่พ่อแม่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เชื่อมั่นอย่างมีหลักฐานว่า จบมาแล้วจะการันตีชีวิตที่ดี อาชีพการงานราบรื่น มีคนนับหน้าถือตาในสังคม
มารดาของผู้เขียนแทบไม่เคยเอ่ยปากชมลูกตัวเอง ต่อให้เรียนได้เกรด 4.0 เอาสมุดพกไปให้แม่ดูแม่ก็จะชำเลืองแล้วพูดว่า “พอใช้ได้” คำเดียวสั้นๆ ส่งผลให้นึกฉงนฉงายอยู่นานสองนานว่า ขนาดได้เกรดสูงสุดยังได้แค่ “พอใช้ได้” แล้วต้องทำอย่างไรล่ะแม่ถึงจะชมว่า “ดี”
มาถึงบางอ้อตอนโตเมื่อแม่อธิบายว่า คนจีน (หมายถึงอากงอาม่าหรือพ่อกับแม่ของแม่) ไม่ชอบชมลูกตัวเอง ไม่อยากให้เหลิงหรือเคยตัว คำชมควรออกจากปากคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่จึงจะมีความหมาย
พอผู้เขียนโตมาอีกนิดก็รู้มากขึ้นอีกว่า ที่แม่บอกว่าไม่ชอบชมลูกตัวเองนั้นจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แม่เพียงแต่ไม่ชมลูกตัวเอง ต่อหน้าลูก ทว่าการอวดความเก่งของลูกตัวเอง ต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่ก็มีลูกรุ่นราวคราวเดียวกันนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าชมแบบอ้อมๆ หรือ ‘ชง’ ให้คู่สนทนาเป็นคนเอ่ยปากชมลูกเราได้ยิ่งรู้สึกดี!
ชีวิตของผู้เขียนในวัยเยาว์จะว่าโชคดีก็ได้ เทียบกับสมัยนี้ที่เด็กจำนวนมากจ่อมจมอยู่กับความเครียดหรือกระทั่งเป็นโรคซึมเศร้า ข่าวการฆ่าตัวตายปรากฏในหน้าสื่ออยู่เนืองๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในสังคมที่ระบบการศึกษามีการแข่งขันสูงมาก อย่างเกาหลีใต้และจีน ในจีนเด็กหลายล้านคนฝากความหวังไว้กับ ‘เกาเข่า’ (高考) แปลตรงตัวว่า ‘การสอบขั้นสูง’ หมายถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยพร้อมกันทั่วประเทศ กินเวลาสองวัน เกาเข่าจีนนั้นว่ากันว่าโหดหินที่สุดประเทศหนึ่งในโลก พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนต้องเตรียมตัวล่วงหน้านานหลายปี จากคนที่เข้าแข่งขันในปี 2019 กว่า 9.4 ล้านคน จะมีเพียง 3.7 ล้านคนหรือร้อยละ 40 เท่านั้นที่ผ่านเข้ามหาวิทยาลัยได้
ใครที่สอบผ่านเกาเข่า เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก เหมือนได้หลักประกันว่าจะมีงานทำแน่นอนหลังเรียนจบ ยิ่งสอบได้มหาวิทยาลัย top 10 อย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือมหาวิทยาลัยซิงหัว อนาคตยิ่งสดใสไร้กังวล มั่นใจได้เลยว่าอนาคตจะรุ่งเรือง
ในเมื่อการสอบผ่านเกาเข่าเท่ากับเป็นหลักประกันว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน การแข่งขันจึงรุนแรงมาก พ่อแม่ชาวจีนซึ่งวันนี้ก็ร่ำรวยมีฐานะเป็นชนชั้นกลางหลายร้อยล้านคนแล้วสมัยนี้จึงเตรียมตัว วางแผนการสอบเข้าเกาเข่าให้ลูกตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ นักเรียนและพ่อแม่จำนวนไม่น้อยพยายามหาทางลัดรวมถึงวิธีโกงสอบ จนรัฐบาลจีนถึงขั้นออกกฎหมายกำหนดให้การโกงสอบเกาเข่าเป็นคดีอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปีเลยทีเดียว
ไม่มีเกมไหนสื่อถึงแรงกดดันและความท้าทายต่างๆ ในระบบการศึกษาที่เด็กต้องเผชิญได้ดีเท่ากับ Chinese Parents แปลตรงตัวว่า เกม ‘พ่อแม่จีน’ ซึ่งให้เรารับบทเป็นเด็กชาวจีนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันสอบ ‘เกาเข่า’ ในวัย 18 ปี
เกมอินดี้ขนาดเล็กจิ๋วจาก Moyuwan สตูดิโอแผ่นดินใหญ่ใจกลางกรุงปักกิ่งเกมนี้ออกแบบโดยนักพัฒนาเกมสองคน ทั้งคู่เกิดในทศวรรษ 1980 พวกเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อของรัฐว่า “พวกเราอยากให้เด็กกับพ่อแม่ในเมืองจีนได้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น” ผ่านการเล่นเกมนี้ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาก็นับว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่เกมนี้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนกันยายน 2018 แพลตฟอร์ม Steam ก็รายงานว่ามีผู้เล่นเข้าเกมพร้อมกันบางจังหวะมากถึง 32,000 คน มากกว่าเกมดังทะลุฟ้าอย่าง Grand Theft Auto V หรือ Fallout 4 เสียอีก!
เรามีเวลาเติบโตจากวันลืมตาดูโลกจนถึงวันสอบเกาเข่าเพียง 48 ตาทั้งเกม ใช้เวลาจริงราว 3-4 ชั่วโมงก็จะเห็นฉากจบว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ได้มหาวิทยาลัยอะไร และเมื่อจบแล้วได้ทำงานอะไร เป็นอาชีพที่เราใฝ่ฝันว่าอยากเป็นหรือเปล่า จากนั้นเกมจะสรุปอุปนิสัยสำคัญๆ และชีวิตของเพื่อนสนิท นำเสนอคู่ครองคนต่อไป และให้เลือกว่าเราจะอยากอยู่ดูแลเด็กรุ่นต่อไปหรือเปล่า ถ้าเราตอบว่าอยาก (แล้วทำไมจะไม่อยากล่ะ) เกมจะวนลูปกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเมื่อลูกของเราลืมตาดูโลก
แต่คราวนี้เขาหรือเธอจะมี ‘แต้มต่อ’ จากรุ่นเราที่สมัยเราไม่มี—จะได้รับค่าคุณสมบัติบางอย่าง เช่น IQ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) จินตนาการ ฯลฯ เป็นบวกตั้งแต่เกิด นัยว่าได้มรดกดีๆ จากพ่อแม่
ฉากแรกในเกมเราจะค่อยๆ ลืมตามามองหน้าพ่อแม่ที่น้ำตาไหลด้วยความปลาบปลื้มใจ จากนั้นหน้าที่ของเราในฐานะ ‘ลูกที่ดี’ ก็จะเริ่มต้นขึ้น งานแรก : เป็นเด็กทารกที่แข็งแรง เติบโตตามวัย เป้าหมายหลักในเกมนี้ก็คือการทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะยากและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราเติบโต การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ในระบบเกมส่วนใหญ่หมายถึงการเพิ่มค่าคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย สติปัญญา (IQ) สุขภาพกาย EQ เสน่ห์ จินตนาการ และความจำ ให้ถึงค่าที่พ่อแม่อยากเห็น หรือไม่ก็เรียนวิชาหรือทักษะที่พ่อแม่อยากให้เรียน เราเพิ่มค่าคุณสมบัติต่างๆ ด้วยการเล่นมินิเกม คุณสมบัติแต่ละชนิดมีสีประจำไม่เหมือนกัน เช่น IQ สีเขียว EQ สีแดง ความจำสีเหลือง ในมินิเกมเราต้องคลิกไอคอน (หน้าตาเหมือนเพชรในเกมเก็บเพชร) สีเดียวกันกับค่าคุณสมบัติที่อยากเพิ่ม แต่ละคลิกจะเปิดทางให้เราคลิกไอคอนอื่นๆ ที่อยู่ติดกันต่อๆ ไปได้
เราจะคลิกไอคอนได้กี่อันขึ้นอยู่กับค่า ‘พลังงาน’ ของเราในตานั้นๆ ซึ่งแทนค่าด้วยตัวเลขและรูปสายฟ้าตรงขอบด้านบนของจอ ปริมาณพลังงานขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของกิจกรรมการเรียน ฝึกทักษะ และกิจกรรมบันเทิงที่เราทำตามแผนไปในตาก่อนหน้า รวมถึงเหตุการณ์ไม่ถึงประสงค์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ระหว่างตา
สิ่งที่ต้องใช้ความคิดที่สุดใน Chinese Parents คือการวางแผนว่าเราจะเพิ่มค่าคุณสมบัติไหนตอนไหนดี และจะแบ่งเวลาให้กับการเรียนหรือฝึกทักษะ และการเล่นอย่างไร ถ้าเรียนควรเรียนอะไรก่อนหลัง ทักษะที่ต้องฝึกมีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของทารก เช่น พลิกตัว คลาน พูด ฯลฯ ไปจนถึงการเรียนทักษะและวิชาที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเราเริ่มโต เช่น เรียนภาษาจีน ฝึกสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ฯลฯ แถมอยู่ๆ ก็ไม่ใช่จะเรียนหรือฝึกอะไรก็ทำได้เลย ต้องจ่ายค่า ‘ความรู้’ (แทนด้วยตัวเลขและรูปหลอดไฟตรงขอบจอด้านบน) ที่สูงพอ ซึ่งตัวเลขนี้ก็ขึ้นอยู่กับค่าคุณสมบัติต่างๆ ด้วย เช่น ถ้าเราอยากเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมซึ่งต้องใช้ IQ เป็นหลัก ยิ่งค่า IQ เราสูง ค่าความรู้ที่ต้องจ่ายก็จะยิ่งลดลง หรือถ้าเราอยากเล่นกีฬา ค่าสุขภาพกาย (constitution) เรายิ่งต่ำ ค่าความรู้ที่ต้องใช้ก็ยิ่งสูง เป็นต้น ทันทีที่เราเรียนหรือฝึกอะไรก็ตาม ค่าคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องของเราจะเพิ่มขึ้น และเราจะสามารถบรรจุการเรียนวิชาหรือฝึกทักษะนั้นได้ใน ‘แผนกิจกรรม’ (schedule) ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราต้องทำก่อนที่จะเข้าสู่ตาถัดไป
ทำเท่านี้ก็ยุ่งยากพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ของเราจะปรับความคาดหวังให้สูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเราทำไม่ได้ ระดับความพอใจของพ่อแม่ในตัวเราจะลดลง และเราก็จะเริ่มเครียด ระดับความเครียดยิ่งสูงมากๆ ยิ่งกินพื้นที่ในสมอง (แทนด้วยภาพกราฟวงกลม) ทำให้เรามีพลังงานทำอะไรๆ น้อยลง เท่ากับว่าเรียนรู้ได้ช้าลง (เพราะคลิกเก็บไอคอนเพิ่มค่าคุณสมบัติได้น้อยลง) และยิ่งทำให้พ่อแม่ผิดหวังมากกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงต้องพยายามรับมือกับความเครียดให้ดี ลดความเครียดด้วยการใส่กิจกรรมบันเทิงในแผนกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมบันเทิงที่เราทำได้ก็จะเปลี่ยนไปตามวัยเช่นกัน เช่น เข้าร้านไปซื้อเกมมาเล่น ดูคอนเสิร์ต เดินเล่นในสวนกับอากง หรือแม้แต่เรียนพิเศษ (มันบันเทิงยังไง?!?) ฯลฯ
กิจกรรมบันเทิงเหล่านี้บางชนิดไม่มีขายและไม่มีให้เลือก ต้องรอจนกว่าเราจะทำให้พ่อแม่พอใจ (ดูที่แถบค่าความพอใจตรงขอบบนของจอ) จนเต็มมิเตอร์ พ่อแม่จะตกรางวัลให้ในรูปของเงินค่าขนม และอนุญาตให้เราขออะไรก็ได้หนึ่งอย่าง เป็นโอกาสที่เราจะได้ขอ ‘ไปเที่ยวยุโรป’ หรือ ‘เรียนขี่ม้า’ (จะสังเกตว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมยอดฮิตในสมัยนี้ของพ่อแม่ชนชั้นกลางใหม่ในจีน) ข้อดีของกิจกรรมบันเทิงก็คือหลายอย่างนอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังทำให้ค่าคุณสมบัติบางอย่างของเราเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ‘ไปเที่ยวยุโรป’ ทำให้จินตนาการของเราเพิ่มถึง 60 (นัยว่าเพราะได้ไปเปิดหูเปิดตา)
ความยากขึ้นไปอีกระดับของ Chinese Parents ซึ่งก็ยกระดับความสนุกและความเป็น ‘มากกว่าเกม’ ของมันไปถึงขั้นที่สะท้อนวัฒนธรรมจีน (และไทยเชื้อสายจีน) ได้อย่างถึงแก่น อยู่ที่ระบบ ‘หน้าตา’ (face) ในเกม
ซึ่งเราทุกคนในสังคมตะวันออกต่างรู้ดีว่าสำคัญเพียงใด
ในเกมนี้เราไม่เพียงแต่ต้องเรียนเก่ง มีเสน่ห์ รอบรู้ ทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน ฯลฯ ให้ได้ภายในเวลาและด้วยพลังงานที่มีจำกัดเท่านั้น แต่ยังต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีพอที่พ่อแม่จะเอาไปโม้ให้ญาติๆ เพื่อนๆ และคนอื่นฟังได้ การอวดลูกแข่งกันในเกมนี้สนุกมาก เป็นมินิเกมชื่อ ‘การดวลหน้าตา’ (face duel) แม่เราจะประจันหน้ากับคู่ต่อสู้ แต่ละตาเราต้องเลือกทักษะเด่นของลูก (ได้จากการทำกิจกรรมอะไรสักอย่างซ้ำๆ จนช่ำชอง) มาอวดให้คู่ต่อสู้หน้าหงาย เช่น “นี่เธอ ลูกฉันหมุนตีลังกาหลายตลบได้ตั้งแต่ห้าขวบเลยนะ” ส่วนคู่ต่อสู้ก็จะโต้ตอบด้วยการโม้เรื่องทักษะของลูกของเขาหรือเธอที่คิดว่าเป็นไม้เด็ดเช่นกัน ใครมีพลังชีวิตน้อยกว่า (เสียหน้ามากกว่า) หลังจากที่สลับกันอวดห้าครั้งจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
เดิมพันใน Chinese Parents จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และอย่างรวดเร็วจนเรารู้สึกหัวหมุนและบางทีก็หดหู่ เช่น ฮะ อะไรนะ พ่อแม่อยากให้ลงเรียนจิตรกรรม มีเวลาอีก 7 ตา ต้องใช้ค่าจินตนาการ 7,500 ตอนนี้ยังไม่ถึง 4,000 เลย จะทำได้ยังไงงงง (กรีดร้อง) ถ้าเราเลือดขึ้นหน้า ก้มหน้าก้มตาเรียนอย่างเดียวโดยไม่เจียดเวลาไปทำกิจกรรมบันเทิงเลย ค่าคุณสมบัติต่างๆ ก็อาจพุ่งพรวดแต่ความเครียดก็จะทะลุจอเช่นกัน ลงท้ายเราอาจเกิดอาการสติแตก เสียผู้เสียคนเข้าไปอีก แต่ในทางกลับกัน การเอาแต่เล่นมากไปในเกมนี้ก็ไม่ดีเช่นกัน ความเครียดน้อยก็จริงแต่เราจะเรียนช้า ได้คะแนนในห้องสอบไม่ดี พ่อแม่ก็จะด่าว่าเป็นคนสันหลังยาว ทำไมทำให้พ่อแม่ผิดหวังอย่างนี้ ทำให้เรากลับมาเครียดเหมือนเดิม แถมพื้นที่สมองหดแคบลงอีก
การต้องพยายามหา ‘สมดุล’ อย่างไม่หยุดยั้งระหว่างการเรียนกับการเล่นในเกมนี้ ราวกับสะท้อนความจริงที่ว่ามีเด็กชาวจีนจำนวนไม่น้อยกระโดดตึกตายทุกปีเพราะทนกับแรงกดดันของการสอบ ‘เกาเข่า’ ไม่ไหว ร้อนถึงรัฐบาลต้องออกโรงเตือนพ่อแม่ว่า ช่วยให้ลูกได้พักผ่อนจากการเรียนบ้าง!
ระบบเกมใน Chinese Parents ไม่มีอะไรแปลกใหม่แต่ทุกระบบถูกออกแบบมาอย่างประณีต และต่างก็สะท้อนมิติต่างๆ ของสังคมจีนสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวโดยไม่ตัดสินว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ ผ่านมินิเกมหลากชนิดที่สะท้อนประสบการณ์สำคัญๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งหัวหน้าชั้น การประกวดพรสวรรค์ การแข่งเขียนเรียงความ หรือการดวลหน้าตาของพ่อแม่ที่อธิบายไปแล้ว มินิเกมอีกเกมที่ผู้เขียนชอบมากคือเทศกาลแจกเงินโดยญาติๆ ในซองแดงหรืออั่งเปา เช่น ในวันตรุษจีน มินิเกมนี้ให้เราคอยคลิกเมาส์ประคองให้ลูกศรอยู่ระหว่างกลางแถบด้านล่างของจอ สะท้อนว่าเราต้องมีมารยาทที่ ‘พอเหมาะพอดี’ ถึงจะได้อั่งเปา คือถ้ากระเหี้ยนกระหือรือมากก็จะดูหน้าเงิน ป้าก็จะไม่ให้ซอง แต่ถ้าปฏิเสธไปห้วนๆ ว่าไม่รับ ป้าก็จะเสียหน้าซึ่งก็แปลว่าพ่อแม่จะเสียหน้าเช่นกัน เป็นอันว่าไม่ได้ซองอยู่ดี ถ้าเราได้ซองมา เงินอั่งเปาก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าขนม ไปร้านซื้อเกมหรือทำกิจกรรมคลายเครียดหรือสร้างความบันเทิงต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้พลังงานที่เหลือในแต่ละตาไปทำงานหารายได้เสริมได้ด้วย
ยิ่งเราเติบโต พ่อแม่ยิ่งทวีความคาดหวัง และสิ่งที่เราต้องรับมือในโรงเรียนก็เพิ่มพูน พอถึงชั้นมัธยม เพื่อนก็จะเริ่มเป็นตัวแปรสำคัญ เราเลือกได้ว่าจะเป็นเพื่อนกับใคร ทำกิจกรรมกับเพื่อนคนไหน ซึ่งก็จะเพิ่มค่าคุณสมบัติตามนิสัยเพื่อน เช่น ถ้านั่งทำการบ้านในห้องสมุดกับเพื่อนที่ IQ สูง IQ ของเราก็จะสูงตาม พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเราก็จะเริ่มเลือกได้ว่าจะเริ่มคบใครเป็นแฟนดีหรือเปล่า (ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ไม่อนุมัติ) น่าเสียดายที่เพื่อนๆ ในเกมนี้ไม่ได้เป็นจุดเน้นมากนัก ไม่มีเรื่องราวหรือปูมหลังน่าค้นหา เป็นเพียงกลไกอีกทางที่จะช่วยเพิ่มค่าคุณสมบัติของเราเท่านั้น
ประเด็นที่ Chinese Parents สื่อได้ดีอีกประเด็น ก็คือบทบาทของโชค หรือ ‘ความบังเอิญ’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตา หลังจากที่เราวางแผนกิจกรรมได้แล้วว่าจะทำอะไรบ้าง เกมจะแสดงผลลัพธ์ของกิจกรรมเหล่านี้ แต่ระหว่างทางก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งบางอย่างก็เป็นผลมาจากอุปนิสัยที่ก่อรูปขึ้นมาจากค่าคุณสมบัติต่างๆ ของเรา แต่เหตุการณ์อีกหลายอย่างก็เป็นเรื่องบังเอิญที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น จู่ๆ เราก็ป่วย วันนี้เครียดเพราะโดนเพื่อนแกล้ง วันนี้นั่งเหม่อเรียนไม่ดีเพราะปิ๊งเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่เคยเหลียวแล หรือวันนี้ครูอารมณ์ไม่ดี เลยสั่งการบ้านโหดกว่าทุกครั้ง ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้มักจะมาพร้อมกับคำถามถึงเราคนเล่นตรงๆ ว่า “เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับคุณหรือเปล่า?” โดยมีตัวเลือกคือ เคย กับ ไม่เคย จากนั้นเกมจะแสดงสถิติว่ามีผู้เล่นอีกกี่ร้อยหรือกี่พันคนที่เคยเจอเหตุการณ์นี้ในชีวิตจริง
เหตุการณ์ต่างๆ ในเกมสะท้อนความจริงที่ว่า ชีวิตล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ต่อให้เป็นชีวิตที่ถูกออกแบบมาแทบจะทุกกระเบียดนิ้วแล้วโดยพ่อแม่ที่ปากอ้างว่ารักลูก แต่แท้จริงเอาความพลาดหวังหรือคาดหวังของตัวเองไปบรรจุในชีวิตลูกโดยที่ไม่เคยเอ่ยปากถามสักคำว่า นั่นคือชีวิตที่เขาหรือเธอต้องการจริงๆ หรือไม่
การศึกษาจึงไม่ได้มีแต่ ‘ราคาทางตรง’ ที่เรามองเห็นและหลายคนหลายฝ่ายร่วมกันจ่าย ในรูปค่าเล่าเรียน งบประมาณของรัฐ หรือแม้แต่ค่าก่อสร้างอาคารและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนเท่านั้น ทว่ามันยังมี ‘ราคาทางอ้อม’ ที่เราอาจมองไม่เห็นหรือมองข้ามอีกมากมาย.