ในยุคเก้าศูนย์ เคยมีรายการโทรทัศน์ของอังกฤษชื่อ The People’s Parliament (มีคำว่า The ด้วยนะครับ)
รายการนี้นำคนมานั่งพูดคุยกัน โดยจำลองลักษณะรัฐสภาของอังกฤษ คือมีการออกแบบให้เหมือนคุยกันอยู่ในสภาจริงๆ โดยหลักการสำคัญของรายการนี้ คือการ ‘สุ่ม’ เลือก ‘ประชาชน’ มาราว 90-100 คน แล้วจากนั้นก็ให้มานั่งกันอยู่ในสภา จากนั้นคนเหล่านี้ก็มาถกเถียงแล้วลงคะแนนเสียงกันในประเด็นต่างๆ
ฟังวิธีการแล้ว หลายคนอาจสงสัยก็ได้ว่า ถ้าเรา ‘สุ่ม’ เลือก ‘ประชาชน’ มาคุยเรื่องยากๆ แล้วคนแต่ละคนจะมี ‘ความรู้’ พอที่จะวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้จริงหรือ สมมุติว่าเราจะถกกันในประเด็นว่าด้วยสิทธิของเด็ก แต่สุ่มไปสุ่มมาแล้วได้คนที่ไม่สนใจเรื่องเด็กเลย ไม่รู้เรื่องสิทธิเด็กเลย แล้วจะทำอย่างไรดี
หลายคนอาจคิดว่า-ทำไมถึงต้อง ‘สุ่ม’ ด้วย ทำไมไม่คัดเอาคนที่มีวิชาความรู้มานั่งถกกัน ซึ่งน่าจะทำให้คนดูได้ประโยชน์มากกว่า
ต้องขอเล่าก่อนนะครับว่าการ ‘สุ่ม’ เลือกคนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันไปเรื่อยนะครับ แต่วิธีคิดนี้มีแนวคิดทางปรัชญาเก่าแก่มารองรับ นั่นคือแนวคิดของอริสโตเติลที่เขาเคยบอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ไม่ควรต้อง ‘เลือกตั้ง’ แต่อย่างใด เพราะสังคมที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ อย่างแท้จริงนั้น ผู้คนควรจะมีคุณสมบัติทัดเทียมกัน (แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน) เพราะคนทุกคนมีความเสมอภาคกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้อง ‘เลือก’ (ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลของเงิน ความดีส่วนตัว หรือความโด่งดังของคนคนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง) แต่ควร ‘จับฉลาก’ เลือกคนมาเป็นตัวแทนเลย เพื่อให้เกิดการ ‘คละ’ กันที่สุด
แต่แน่นอน การ ‘จับฉลาก’ ในโลกยุคใหม่นั้นย่อมมีปัญหา เพราะนอกจากคนในโลกจะไม่ได้ ‘เสมอภาค’ อย่างที่อริสโตเติลว่าแล้ว คนแต่ละคนยังมี ‘ความสนใจ’ ที่แตกต่างกันไปอีกมากมาย คนนั้นสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คนนี้สนใจเรื่องสันทนาการ คนนู้นเชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ คนโน้นเป็นคอการเมืองเข้มข้น ฯลฯ
แล้วอย่างนี้ รายการที่ว่าจะยัง ‘สุ่ม’ ไปเพื่ออะไรอีกเล่า?
รายการ The People’s Parliament นั้น จะเริ่มต้นด้วย ‘ประเด็นปัญหา’ หนึ่งๆ (ซึ่งมักจะเป็นเรื่องซับซ้อน มีความเห็นได้หลายด้าน อย่างเช่น ‘อังกฤษควรสั่งห้ามการขายอาวุธสงครามให้กับประเทศที่ใช้อาวุธนั้นเพื่อการกดขี่ภายในประเทศไหม’ ‘ยานพาหนะที่ไม่จำเป็นควรถูกสั่งห้ามเข้าดาวน์ทาวน์ไหม’ หรือ ‘อังกฤษควรอนุญาตให้การใช้ยาเสพติดบางอย่างเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่’) โดยคนที่ถูกสุ่มมา 90-100 คน นั้น ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วจะแสดงความเห็นกันเองเลย แต่จะเข้ามาทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น ‘ลูกขุน’ คือจะนั่งฟังเรื่องต่างๆ ก่อน โดยมี ‘ผู้รู้’ ในประเด็นนั้นมานำเสนอให้เห็นปัญหาต่างๆ พวกผู้รู้พวกนี้สามารถนำพยานหลักฐานต่างๆ มาแสดงให้ ‘ลูกขุน’ (ที่เป็นคนทั่วไปและถูกสุ่มมา) ดู โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นตัวกลาง
คนที่ถูกสุ่มมาเรียกว่า MPP (Members of the People’s Parliament) ซึ่งไม่ได้ทำแค่ ‘ฟัง’ เฉยๆ นะครับ แต่ MPP สามารถซักถามได้ ตรวจสอบพยานได้ ลุกขึ้นพูดได้ และยังสามารถตั้ง ‘คณะกรรมาธิการ’ ของตัวเองขึ้นมาได้ (เหมือนในสภาฯ จริงๆ) โดยคณะกรรมาธิการก็คือคนที่ MPP แต่ละคนเห็นว่ามีความรู้ในด้านนั้นๆ แล้วให้คณะกรรมาธิการไป ‘ตรวจสอบ’ ข้อเท็จจริงต่างๆ อีกทีหนึ่งเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ ‘ผู้รู้’ มาเล่าให้ฟังเอาไว้
แต่ความเป็น ‘เกมโชว์’ ของสภาแห่งนี้ก็คือ ก่อนเริ่มถกเถียงหาข้อเท็จจริงต่างๆ MPP จะต้อง ‘ลงคะแนนเสียง’ ก่อน ว่าตนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ต่อประเด็นนั้นๆ (พูดง่ายๆ ก็คือแสดงความเห็นแบบไม่ต้องรู้อะไรเลยก่อน) เสร็จแล้วหลังจากถกเถียงจน ‘พอรู้’ แล้ว ก็ให้ลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง เพื่อดูว่าการโต้เถียงต่างๆ ได้ ‘เปลี่ยน’ มุมมองของ MPP แต่ละคนไปบ้างไหม แล้วจากนั้นทางรายการก็จะมาสัมภาษณ์ว่าทำไม MPP ถึงเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนความคิดเห็นหลังได้ฟังการถกเถียงมาแล้ว
ปรากฏว่า รายการนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี The Economist เคยรายงานไว้ว่า คนดูจำนวนมากเห็นว่าการโต้เถียงที่ปรากฎในรายการนั้น ‘มีคุณภาพดี’ กว่าการถกเถียงในสภาผู้แทนฯ จริงๆ เสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะสมาชิกของ MPP นั้น มีแนวโน้มที่จะ ‘รับฟัง’ ความเห็นของคนอื่นมากกว่าสมาชิกของสภาผู้แทนฯ จริงๆ ปรากฏว่า รายการ The People’s Parliament ออกอากาศอยู่ถึงห้าซีซัน เพราะถึงจะหนัก แต่ก็ได้รับความนิยม และที่ได้รับความนิยมก็เพราะรายการนี้วางอยู่บน ‘ฐาน’ ของการเห็นถึง ‘ปัญหา’ ของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกหลายอย่าง
ผู้ที่คิดค้นรายการนี้ขึ้นมา คือโปรเฟสเซอร์ James S. Fishkin ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาเห็นว่าประชาธิปไตยแบบที่ใช้อยู่ในโลกนี้มีปัญหาบางอย่าง จึงใช้เวลานานถึง 15 ปี ในการวิจัยและคิดค้น ‘รูปแบบ’ ของประชาธิปไตยอย่างหนึ่งขึ้น
ประชาธิปไตยแบบที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า Deliberative Democracy ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยว่า ‘ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’
อันที่จริง ฟิชคินไม่ใช่คนแรกที่คิดประชาธิปไตยแบบนี้ขึ้นมาหรอกนะครับ ว่ากันว่า ศัพท์คำนี้น่าจะปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือ A Theory of Justice ของ John Rawls นักปรัชญาอเมริกันที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก และมี ‘นักคิด’ ที่พูดถึงประชาธิปไตยแบบนี้อีกหลายคน ที่อาจเป็นที่รู้จักดีหน่อยก็คือนักวิชาการเยอรมันอย่าง Jürgen Habermas ซึ่ง อ.สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้ล่วงลับ-เคยพูดถึงอยู่บ่อยๆ
คำถามก็คือ แล้ว ‘ประชาธิปไตย’ ที่เราเข้าใจกัน (ไปคนละทิศละทาง) นั้น มันมีปัญหาอะไรหรือ?
ถ้าเราย้อนกลับไปดูคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่มีรากอยู่ในกรีกโบราณ เราจะพบว่าประชาธิปไตยแบบที่พึงเป็นมากที่สุด ก็คือประชาธิปไตยทางตรง หรือ Direct Democracy นั่นคือ ‘ทุกคน’ มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน ‘เลือก’ สิ่งต่างๆ ที่พึงเป็นในสังคม แล้วจากนั้นก็ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าสังคมจะ ‘เลือก’ อะไรอีกต่อหนึ่ง แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่าประชาธิปไตยทางตรงนั้นเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ อย่างสิ้นเชิงใน ‘รัฐยุคใหม่’ ทั้งนี้ก็เพราะสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จำนวนผู้คนมากมายมหาศาลขนาดนั้น จะให้ทุกคนลุกขึ้นมาออกเสียงพร้อมกันได้อย่างไร
ประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งจึงเกิดขึ้น เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ Representative Democracy) นั่นก็คือมีการเลือก ‘ตัวแทน’ ของเราเข้าไปนั่งอยู่ในสภาฯ เพื่อทำหน้าที่ ‘โหวต’ แทนเรา
ถ้าดูประเทศต่างๆ ในโลกที่ใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราจะเห็นว่าแต่ละประเทศรับประชาธิปไตยแบบนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศตัวเองทั้งนั้น โดยเฉพาะในมิติการคานอำนาจ เช่นในอังกฤษ ถึงจะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็ยังมีการออกแบบให้มีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง (ของนายกรัฐมนตรี) มาคอยคานอำนาจ โดยสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากเป็นประเภทที่อยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็น ‘ผู้รู้’ ในเรื่องอะไรบางอย่างที่อยู่ ‘เหนือ’ คนทั่วไป (Commoners) ซึ่งเป็นการปรับเอาปรัชญาของเพลโต (ผู้เหยียดหยันประชาธิปไตย-ว่าเป็นการปกครองของคนส่วนใหญ่ที่ ‘โง่’ กว่าปราชญ์) ดังนั้นจึงต้องใช้ ‘ปราชญ์’ มาคานอำนาจ แต่หลักการสำคัญก็คือ เหล่า ‘ปราชญ์’ พวกนี้ ต้องไม่มีอำนาจมากเท่าเสียงของประชาชน เสียงของคนทั่วไปจะต้อง ‘ดัง’ กว่าคำเตือนของปราชญ์เสมอ
ในอเมริกาก็มีระบบคานอำนาจด้วยการเกลี่ยการเลือกตั้งให้มีหลากหลาย เช่น เลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้ง สส., สว. ซึ่ง ‘เหลื่อมเวลา’ กัน (เราจะคุ้นกับคำว่า ‘เลือกตั้งกลางเทอม’) ทำให้อำนาจมักจะเกลี่ยกระจายไป ยิ่งมีการเลือกตั้งบ่อย ก็จะยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถ ‘ครองอำนาจ’ อย่างเบ็ดเสร็จยาวนานได้
แต่กระนั้น ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็ยังมีปัญหาของมัน ซึ่งวิธีแก้ไขไม่ใช่ด้วยการยกเลิกประชาธิปไตย (เช่นผ่านการรัฐประหาร) แต่ต้องแก้ไขอาการป่วยนี้ด้วยการทำให้ประชาธิปไตย ‘เข้มข้น’ มากขึ้น
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลายมิติ ในโลกตะวันตก ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจากข้อถกเถียงของประชาธิปไตยแบบชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งหลายคนเรียกว่าประชาธิปไตยสี่วินาที คือพอ ‘ยกอำนาจ’ ให้กับตัวแทน (คือนักการเมือง) แล้ว ประชาชนก็ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรอีกต่อไป บางคนบอกว่า พอเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองจะปู้ยี่ปู้ยำประเทศอย่างไรก็ได้ จะซื้อเสียงโกงกินอย่างไรก็ได้ เพราะถือว่ามี ‘เสียงข้างมาก’ มาสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้
มีคนคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเอาไว้มากมายครับ แต่ฟิชคิน เป็นคนทำให้ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นมีความเป็น ‘รูปธรรม’ ขึ้นมา (ก็ถึงขั้นผลิตเป็นรายการโทรทัศน์กันเลยละครับ!) โดยการ ‘สุ่ม’ เลือกคน (เป็นแนวคิดแบบอริสโตเติล) ซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ เมื่อได้รับเลือกจากการสุ่มแล้ว ก็เทียบเท่ากับเป็นสมาชิกสภาฯ จากนั้นแทนที่จะให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการออกเสียงอะไรต่อมิอะไรไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยแบบตัวแทน (โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ไม่มีการคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ก็ให้คนเหล่านี้ต้องมา ‘ปรึกษาหารือ’ กันเสียก่อนในประเด็นต่างๆ โดยเชิญ ‘ผู้รู้’ (ซึ่งก็คือ ‘ปราชญ์’ ในแบบของเพลโต แต่เป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) มาถกเถียงกัน แต่จะเห็นได้ว่า ‘ปราชญ์’ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไร
เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จึงอยู่ตรงกลางระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทนกับประชาธิปไตยแบบทางตรง และทำให้การตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่านการ ‘ใคร่ครวญ’ ที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นการใคร่ครวญของคนทั่วๆ ไป (ที่ในรายการทำถึงขั้น ‘สุ่ม’ มาด้วยซ้ำ)
ทั้งนี้ เราจะเห็นว่าการถกเถียงระหว่าง ‘ปราชญ์’ กับ ‘คนทั่วไป’ นั้น ต้องวางอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่ตั้งแง่ชี้หน้าใส่กันบอกว่า เอ็งไม่รู้ ไม่ต้องมาเถียง ฮาเบอร์มาสบอกว่า เวลา ‘ปรึกษาหารือ’ กันนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องไม่เกิดการให้เหตุผลแบบตายตัว (Instrumental Rationality) คือใช้เหตุผลเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการเอาชนะคะคานกัน (อย่างที่เราเห็นในเมืองไทยในระยะหลัง) แต่ต้องเป็นเหตุผลเพื่อการสื่อสาร (Communicative Rationality) มากกว่า ซึ่งก็น่าต้ังคำถามเรื่องนี้กับสังคมไทยนะครับ ว่าเรามี Rationality แค่ไหน เพราะพูดให้ลึกที่สุดแล้ว Rationality นั้นเป็นเรื่องเชิง ‘วัฒนธรรม’ โดยแท้ และเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมการใช้เหตุผลในสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร
ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อน และผู้คนต้องทำมาหากินสายตัวแทบขาด (เพราะถูกครอบงำด้วยระบบตลาด) นั้น จะเรียกร้องให้คนไปแสดงหรือรับฟังความคิดเห็นถือเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ก็มีผู้เสนอว่า กระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นทำได้หลายทาง อาทิเช่น ใช้เวทีเสวนาแบบเปิด (ซึ่งเอาเข้าจริงถ้าใจไม่เปิด-ก็ไม่ค่อยได้ผล) หรือการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในสื่อ (อันนี้ก็เห็นกันแล้วว่าใน ‘สื่อสังคม’ อย่างเฟซบุ๊กนั้นเป็นอย่างไร) หรือวิธีการของฟิชคิน ที่เรียกว่า การทำโพลแบบ Deliberative Polling ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับรายการ The People’s Parliament ที่ว่ามา
อย่างไรก็ตาม คนที่จะ ‘ปรึกษาหารือ’ กันได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีหัวใจเปิดกว้าง ยอมรับความเห็นของคนอื่นๆเป็นฐานหลักเสียก่อนนะครับ แล้วจึงจะใช้ Rationality มาถกเถียงกันอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น การพูดถึงประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในสังคมไทยช่วงนี้จึงอาจไม่มีประโยชน์มากนักก็ได้
แต่กระนั้นก็อยากเล่าให้ฟัง-ว่าสมัยหนึ่ง ก่อนยุค ม.44 Brexit และ Trump โลกของเราเคยก้าวหน้ามากขนาดที่สามารถถกกันถึง ‘ปัญหาของประชาธิปไตย’ ได้ด้วยนะเออ
(ยิ้มอ่อน)
Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ : ปรับปรุงจากสองบทความที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ ‘เธอเขาเราผม’ ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์