เมื่อไล่ๆ ดู อะไรคือองค์ประกอบของหนังแนวล้างแค้น? เบื้องต้นเท่าที่นึกออกก็มี ฉากหดหู่อะไรซักอย่างอันเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแก้แค้น, สีสันและโทนภาพอันอันมืดๆ หม่นๆ ที่แสดงถึงสภาวะจิตใจตัวละคร, เลือด, อาวุธ และการที่ให้ตัวละครทำการล้างแค้นด้วยการออกล่าทีละคนอย่างได้เปรียบตั้งแต่ช่วงต้น-กลางเรื่อง อาจมีเพลี่ยงพล้ำบ้าง แต่สุดท้ายบรรลุเป้าหมายในที่สุด
สิ่งเหล่านี้เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของหนังแนวแก้แค้นก็ว่าได้ (เว้นแต่จะเป็นแนวจิตวิทยาวางแผนแล้วรอปั่นหัวกับให้แผนสัมฤทธิ์ผล นั่นก็อีกเรื่อง) ซึ่งถ้าจะให้ยกตัวอย่างถึงหนังเรื่องหนึ่งที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายก็คงไม่พ้นเรื่องที่โด่งดังเป็นอันดับต้นๆ เมื่อพูดถึงหนังแนวนี้อย่าง ‘I Spilt on Your Grave (ค.ศ.2011)’ ที่แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า ตรงกับประโยค “These violent delights have violent ends. (เมื่อเริ่มต้นด้วยความรุนแรง ก็มักจบลงด้วยความรุนแรง)” ในละครโศกนาฏกรรม ‘Romeo and Juliet’ ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)
แต่ ‘Promising Young Woman’ หนังใหญ่เรื่องแรกที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์ สาขาเขียนบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมของผู้กำกับหญิงน่าจับตามองอย่าง เอมเมอรัลด์ เฟนเนลล์ (Emerald Fennell) ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ นี่คือหนังที่เรียกได้ว่าหักสูตรสำเร็จในแทบทุกด้าน เริ่มตั้งแต่สีภาพอันสดใส เพลงอันสนุกรื่นเริงใจ ตัวหนังที่ดูง่ายดูเพลินๆ กับมู้ด & โทนแบบหนังรอมคอมตลอดทั้งเรื่องที่แสดงถึงความย้อนแย้งและจิกกัดอย่างเซอร์เรียล
‘Promising Young Woman’
มีความหมายว่า หญิงสาววัยใสผู้มีอนาคตไกล
หนังว่าด้วยเรื่องราวของ Cassie Tomas นำแสดงโดย แครี่ มัลลิแกน (Carey Mulligan) สาวผมบลอนด์ที่ครั้งอดีตได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างทำให้เธอออกจากการเป็นนักเรียนแพทย์ หลายปีผ่านไป แต่อดีตยังคงฝังลึกและไม่เคยหายไปไหน สิ่งที่เธอทำนอกจากเป็นพนักงานร้านกาแฟราวกับเป็นงานพาร์ทไทม์ คือการเที่ยวกลางคืน แกล้งเมา และล่อลวงผู้ชายเพื่อสั่งสอนบทเรียนเกี่ยวกับ sexual consent ให้กับพวกเขา
ผู้กำกับ เอมเมอรัลด์ เฟนเนลล์ปิ๊งไอเดียตรงนี้มาจากความคิดที่ว่า จะเป็นอย่างไรหากผู้หญิงที่มักดูจะตกเป็นเหยื่อและเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเมื่อพวกเธอมึนเมา และหักมุมลุกขึ้นมาด้วยสภาพที่ไม่ได้ดูเหมือนคนเมา พร้อมกับพูดกับผู้ชายที่กำลังปลดเปลื้องเสื้อผ้าของเธอว่า “นี่คุณกำลังทำอะไรน่ะ?”
ไอเดียนี้ก่อให้เกิดเป็นตัวละคร Cassie กับหนังทั้งเรื่อง
Promising Young Woman พูดถึงการออกล้างแค้นอันเกิดจากอดีตที่ยากจะลืมเลือน ที่เป็นทั้งสิ่งที่กำหนดขับเคลื่อนการกระทำและการใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของ Cassie เหมือนเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ ทั้งที่เธอควรจะเป็นหมออนาคตไกลหากไม่มีเรื่องนี้ขึ้น และเรื่องราวจะค่อยๆ เผยว่าอะไรทำให้เธออยู่ในจุดนี้ อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งยอมทิ้งอนาคต และมีงานอดิเรกที่ดูพิลึกกึกกือปนอันตรายเช่นนี้
สิ่งหนึ่งที่รู้สึกผิดธรรมชาติในหนัง นอกจากการสร้างโทนที่สวนทางตระกูลหนังและเป็นหนังแก้แค้นที่ปราศจากเลือดซักหยดแล้ว การที่หนังดูจะจงใจใส่ฉากสนทนาแทะโลมผู้หญิงในหมู่เพื่อนผู้ชาย การวาดภาพว่าผู้ชายชั่วร้ายและในหัวมีแต่เรื่องเซ็กซ์ ใส่ประเด็นอำนาจกดทับทางเพศ กับการเอื้ออำนวยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างง่ายดาย และเนื้อเรื่องดำเนินไปในทางที่ตั้งใจอย่างเหนือจริงไปหน่อย
จนขณะดูเกิดการท้วงติงในใจเป็นพักๆ ทำให้อดคิดไม่ได้ตลอดเวลาครึ่งแรกของหนังว่าทำไมถึงได้ไม่สมจริงเช่นนี้ จนความรู้สึกที่มีต่อหนังเกือบจะเอนไปทางลบแล้ว
แต่พอยิ่งดูยิ่งเข้าใจ ยิ่งร้องอ๋อว่า ด้วยโทนของหนังเรื่องนี้ มันบ่งบอกว่าหนังตั้งใจให้ทุกอย่างดูไม่สมจริงแต่แรกต่างหาก การใส่ตัวละครชายไร้มโนธรรมกับบทสนทนาเหล่านั้นเข้ามา เพื่อที่จะเน้นว่าโลกความจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ มีอยู่จริง และเรื่องนี้จับมากระจุกกัน จับมาโคจรอยู่รอบๆ ตัวละครเอกอย่าง Cassie (จริงๆ ต้องบอกว่าเธอตั้งใจเอาตัวเข้าไปอยู่กลางวงต่างหาก) ทำให้เราเชื่อทั้งที่ไม่อยากเชื่อ และไม่เชื่อทั้งที่อยากจะเชื่อ ซึ่งไปสอดรับกับสาเหตุที่เธอต้องออกล้างแค้นพอดี
ในเรื่องของการถ่ายทอดเรื่องราวที่ดูไม่น่าเชื่อภายใต้โทนภาพนี้ ก็เพื่อจะบอกว่าภายใต้ความสดใสของโลกใบนี้ในเวลาที่แสงอาทิตย์ส่องสว่าง หลอดไฟแสงจ้า กับสถานที่เต็มไปด้วยสีสันสวยงาม เราไม่อาจนึกรู้และจินตนาการไม่ได้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนบางคนทำให้ภายในใจของผู้เป็นเหยื่อนั้นมืดมนได้ขนาดไหน นั่นทำให้ในมุมกล้องของเราผู้เห็นเหตุการณ์ เราเห็นแบบนี้ ในขณะที่ในมุมของคนที่ตกเป็นเหยื่อ การมองในมุม POV สีภาพมันคงไม่ต่างอะไรไปกับโทนหนังหม่นๆ ในหนังล้างแค้นเรื่องอื่นๆ เลย
หนังต้องการจะบอกว่า โลกใบนี้ที่ตัวละครอาศัยอยู่มันอาจไม่สมจริง ไม่น่าเชื่อ แต่สำหรับคนคนหนึ่งที่เผชิญกับความเจ็บปวด สิ่งนั้นสมจริงสำหรับพวกเธอที่สุด เพียงแต่กลับไม่ใช่กับสิ่งแวดล้อม ผู้คน และคนรอบตัว ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกของการที่ผู้หญิงคนนึงต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์จำไม่ลืมได้เลย
อีกสิ่งที่ควรหยิบยกมาพูดถึงคือการพูดถึงการเป็นผู้ล่า (predator) และผู้ถูกล่าหรือเหยื่อ (prey/victim) ที่ทำให้ตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า ทั้งเหยื่อและผู้ล่าต่างก็มีชื่อเรียก แต่เราจะเรียกตัวละครอย่าง Cassie ที่แสร้งทำตัวเป็นเหยื่อก่อนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่า (superior) และปราศจากความเกรงกลัวว่าอะไรดีล่ะ?
‘preydator’ หรอ? หากเรียกแบบนั้นแล้ว คำถามต่อมาคืออะไรจะน่ากลัวกว่ากันระหว่างผู้ล่าที่โจ่งแจ้งอย่างสิงโต หรือกวางตัวเมียที่ยืนล่อสิงโตให้ตกหลุมพราง?
อะไรดูจะแสบสันและทำให้เข็ดหลาบกว่ากัน ระหว่างไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองเมาแต่แรกและปฏิเสธผู้ชายเหล่านั้น ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน กับการแสร้งว่าเมา ปล่อยให้ผู้ชายเหล่านั้นคิดว่าพวกเขากำลังควบคุมทุกอย่าง และจู่โจมด้วยคำพูดง่ายๆ พร้อมกับแสดงท่าทีว่าเธอนั้นรู้ทันจนผู้ชายเหล่านั้นรู้สึกถูกเปิดโปง (exposed) นำไปสู่การเสียการควบคุม (out of control), รู้สึกด้อยกว่า (inferior) และความรู้สึกไม่ปลอดภัย (insecure) ในที่สุด
สิ่งที่ตัว Cassie ทำตลอดเรื่องนอกจากที่กล่าวไป คือทำตัวเป็นเครื่องจักรที่ยังไม่ถูกปลดประจำการจนกว่าจะได้คำอนุญาตปลดที่ต้องพูดว่า ‘การแก้แค้นที่สำเร็จแล้วนะ’ และใช้ชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนี้ ตัวเธออยู่ในปัจจุบันกลับอยู่กับอดีตอันขมขื่นมากกว่าที่จะรักอนาคตของตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสำหรับเธอ แต่ในขณะเดียวกันก็น่าคิดว่าในโลกที่อยุติธรรมและเสียงของเหยื่อไม่มีความหมายในหลายๆ กรณีเช่นนี้ ใครล่ะจะเป็นผู้ทำให้มันเป็นเรื่องแฟร์?
นี่จึงเป็นหนังแก้แค้นประเภท avenge ที่แตกต่างกับ revenge ตรงที่แบบแรกจะมีความรู้สึกว่า ทำเพื่อคนอื่น ในนามของคนอื่น หรือใช้ความชอบธรรมล้างแค้นในนามของความยุติธรรม มากกว่าแบบหลังที่เป็นความแค้นโทสะส่วนตัวโดยตรง จนกระทั่งถึงจุดนึง มันได้กลายเป็นทั้ง avenge และ revenge
ที่น่าสนใจที่สุด คือการที่หนังบ่งบอกเราว่าอะไรคือผลลัพธ์ของการล้างแค้นกันแน่? การล้างแค้นที่สำเร็จคืออะไร ต้องแลกมาด้วยอะไร และควรทุ่มเทขนาดไหนเพื่อผลลัพธ์ที่เราต้องการ? สิ่งนั้นอยู่ในบทสรุปของหนังเรื่องนี้ที่ค่อนข้างคุ้มค่าแก่การรอคอยครับ บทสรุปที่ย้อนกลับไปยังจุดเด่นของหนังและวิธีการของตัวละคร Cassie ได้อย่างสมบูรณ์ อยากจะพูดใจจะขาด แต่จะดีที่สุดถ้าให้ผู้อ่านได้มีโอกาสดูด้วยตัวเอง