การที่ใครสักคนจะชี้นิ้วด่าทอโจมตีผู้หญิงสักนาง เรื่องเพศกลายเป็นสิ่งแรกๆ ที่มักนำมาใช้เป็นเครื่องมือ คำว่า ‘หญิงชั่ว’ ‘หญิงไม่ดี’ มักเชื่อมโยงกับความสำส่อน แพศยากากี มีผัวมากหน้าหลายตา มีเพศสัมพันธ์ถี่ซ้ำจนแสบหู ไปจนถึงบอกว่าประกอบอาชีพการค้าบริการทางเพศ เป็น ‘กะหรี่’ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นอาชีพอาชีพนึง ที่ศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ต่างไปจากอาชีพอื่นๆ เช่น ครูอาจารย์ พยาบาล หมอ สถาปนิก ทหาร ตำรวจ นักพัฒนาสังคม นักเขียน life coach พิธีกร พนักงานต้อนรับ
และด้วยเหตุนี้กิจกรรมมอบโล่เชิดชูเกียรติสตรีไทยดีเด่น ใน ‘วันสตรีไทย’ (ปักหมุดวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี ที่แยกออกมาจัดกันเองภายในประเทศต่างหากจากวันสตรีสากล 8 มีนาคม ตามโลกสากลนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลงงๆ ว่า เพื่อให้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคมเทียบเท่าผู้หญิงประเทศโลกที่ 1 ที่พัฒนาแล้ว) จำนวนมากมายจึงเต็มไปด้วยนานาอาชีพ ผู้หญิงที่เป็น CEO นักบริหาร นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ นายกรัฐมนตรี สมาคมภริยาสักแห่ง แต่จะต้องไม่ใช่โสเภณี
แต่จากการศึกษาของ Leah Lydia Otis เมื่อนานมากแล้วตั้งแต่ 1985[1] เธอได้ชี้ให้เห็นว่าโสเภณีเป็นสถาบันสำคัญทางสังคม มีตัวตนที่โดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ถึงขั้นเรียกว่าสถาบันหลัก แต่ก็มีบทบาททำให้โครงสร้างสังคมยังดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยต่างๆ และประคับประคองให้สถาบันหลักอื่นๆ ทางสังคมที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นให้เอาตัวรอดได้ และไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นเช่นไร ในยุคสมัยใด มุมโลกใด แม้ว่าจะเกิดสงคราม ทุกขภิกขภัย รัฐจะเคร่งศาสนาแค่ไหน โสเภณีก็จะอยู่ยั้งยืนยง คู่บุญสังคมนั้น
ในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15 ถูกแบ่งช่วงเวลาภายหลังโดยนักประวัติศาสตร์และเรียกอย่างกว้างๆ ว่า ‘ยุคกลาง’ ที่คุณภาพชีวิตผู้คนเสื่อมลงจากสมัยกรีกโรมัน คริสตจักรเริ่มมีอำนาจทั้งทางโลกย์และทางธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปตะวันตกที่เต็มไปด้วยสงคราม นักประวัติศาสตร์อธิบายว่าโสเภณีตกเป็นอาชีพที่ถูกศาสนจักรมองว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีงามและต้องถูกลงโทษ ซึ่งรูปแบบการลงโทษที่มักถูกยกเป็นตัวอย่างก็คือการขังในกรงแล้วจุ่มลงบ่อหรือแม่น้ำครั้งแล้วครั้งเล่า อันที่จริงมาตรการลงโทษนี้เป็นไปตามกฎหมายท้องถิ่นบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สำหรับผู้ที่ดูหมิ่นศาสนาในช่วงยุคกลางตอนปลาย และโสเภณีในปลายศตวรรษที่ 16 – 17 มาแล้วเท่านั้น ไม่ใช่บทลงโทษสำหรับการค้าประเวณี
อันที่จริงทั้งจักรพรรดิโรมันและคริสเตียนไม่ได้มีกฎหมายลงโทษโสเภณี ในจักรวรรดิโรมัน นางกลางเมืองเป็นที่พอยอมรับได้ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต ถูกใช้เป็นเครื่องมือแยกเด็กหนุ่มไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงที่แต่งงานแล้ว โสเภณีเป็นอาชีพที่ต้องจดทะเบียนและถูกรัฐเก็บภาษีตั้งแต่ขวบปีแรกของคริสต์ศักราช และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะถูกตีตราเป็นโสเภณีไปตลอดแม้ว่าจะหันไปประกอบอาชีพอื่นแล้วก็ตาม เจ้าของซ่องเองก็ถูกตัดสิทธิพลเมือง
สังคมเชื่อว่าอาชีพโสเภณีก็ยังดีกว่าการคบชู้ที่เป็นบาปส่วนบุคคล และศาสนจักรก็ไม่แสดงท่าทีที่จะกำจัด นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป (Saint Augustine) เตือนว่า การยกเลิกโสเภณีแม้จะเป็นไปได้แต่จะนำหายนะมาสู่สังคม โสเภณีก็คือความชั่วร้ายอันจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ
สำหรับคริสต์ศาสนาไม่ว่าใครก็มีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด โสเภณีในยุคนั้นก็ไม่ต่างจากคนอื่นที่เป็นคนบาปและต้องสำนึกผิด แม้คริสตจักรจะประณามอาชีพนี้แต่ก็สนับสนุนให้พวกเธอสำนึกผิดต่อบาป และในช่วงต้นคริสตจักรก็มีนักบุญหญิงหลายคนเคยจดทะเบียนเป็นโสเภณีมาก่อน
คำสอนของคริสตจักรมีอิทธิพลและสร้างความชอบธรรมให้จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ออกกฎหมายห้ามค้าประเวณีทาส ห้ามพ่อหรือผู้ปกครองบังคับลูกสาวหรือเด็กหญิงขายตัว บิชอพ โจนัสแห่งเมืองออร์ลีน (Jonas of Orléans) ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในรัชกาลจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธา (Emperor Louis the Pious) ที่ปฏิรูปศีลธรรมเฉพาะกับผู้หญิงในราชสำนักเท่านั้น ก็ได้ให้คำสอนศีลธรรมทางเพศ เตือนเด็กหนุ่มในสังคมชนชั้นสูงทั้งหลายว่า อย่าไปมีสัมพันธภาพกับพวกคณิกาหรือพวกหญิงรับใช้
โสเภณีในยุคกลางไม่เพียงเป็นอาชีพสีเทาที่อยู่ร่วมกันอย่างพออดทนได้ แต่ยังถูกทำให้เป็นสถาบันทางสังคม มีบันทึกว่าในเมือง Beaucaire มีงานเฉลิมฉลองประจำปีที่โด่งดังอุทิศแด่ เซนต์แมรี แม็กดาเลน (Saint Mary Magdalene) ทุกวันที่ 22 กรกฎาคม เป็นจารีตประเพณีท้องถิ่นประจำเทศบาล ที่นายกเทศมนตรีจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆในเทศกาล รวมไปถึงการแข่งขันกรีฑาของนางกลางเมือง
แม้จะเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายและได้รับการปกป้องทางกฎหมายอย่างเต็มที่ ผู้ข่มขืนหญิงงามเมืองต้องถูกลงโทษไม่ต่างไปจากข่มขืนผู้อื่น แต่โสเภณีก็ถูกจัดระเบียบอย่างเคร่งครัดขึ้นเรื่อยๆ มีการจำกัดบริเวณเฉพาะของสถานที่ขายบริการ เพื่อรักษาสภาพชุมชนและความสงบเรียบร้อยทางสังคมที่มีลักษณะทวิมาตรฐาน เข้มงวดเฉพาะเพศวิถีผู้หญิง แต่หย่อนยานกับผู้ชายโดยเฉพาะหนุ่มโสด และป้องกันหญิงสาวชาวเมืองไม่ให้แห่กันไปยึดอาชีพนางกลางเมืองกันหมด
ตอนปลายยุคกลางในแคว้น Languedoc สถิติของโสเภณีเฉพาะที่ลงทะเบียนแล้ว มีประมาณ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน และรัฐเองอุปถัมภ์เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโครงสร้างสังคม เมื่อประชากรลดน้อยลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 14 เนื่องจากเกิดกาฬโรคระบาดและสงคราม รัฐจึงเร่งเพิ่มอัตราการเกิดและโสเภณีก็คือกลไกหนึ่ง เพราะแม้ว่าซ่องจะเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่กว่า ก็คือผู้ชายไปมีเพศสัมพันธ์กันเอง และเชื่อว่าช่วยลดการข่มขืนเด็กและหญิงสาว
และเพื่อไม่ให้เกิดกบฏต่อต้านอำนาจรัฐ ในช่วงวิกฤตการณ์ปลายสมัยกลางที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างออก อัตราภาษีสูงขึ้นขณะที่ราษฎรอดอยาก รัฐจึงต้องใส่ใจงานบริการซ่องเป็นอย่างดี เพื่อควบคุมมิให้ชาวนา กระฎุมพีหัวก้าวหน้าก่อการปฏิวัติ ทั้งนี้เพราะในการปฏิวัติครั้งหนึ่ง พวกที่ก่อการปฏิวัติส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำของซ่องต่างๆ รัฐจึงเกรงว่า ถ้าพวกเขาเหล่านี้ไม่มีที่ปลดปล่อยความต้องการทางเพศมากเพียงพอ อาจจะนำไปสู่การลุกฮือ ประท้วง จนบานปลายไปถึงการต่อต้านขุนนางนักบวชและกษัตริย์ ไม่พอใจและกำเริบทำการปฏิวัติอื่นๆ ต่อไปอีก
ด้วยกำไรและผลประโยชน์มหาศาลไปจนถึงความมั่นคงทางการเมือง ซ่องจึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจน ‘ย่านซ่อง’ ต้องลดลงเหลือเป็นบ้านหลังเดียวประจำท้องที่และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลเทศบาลหรือชนชั้นสูง เมื่อพวกชนชั้นปกครองเข้ามาบริหารธุรกิจ ก็เริ่มกำหนดกฎเกณฑ์การจัดการทางการเงิน ข้อปฏิบัติของผู้ใช้และให้บริการ รัฐเองก็สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้คล่องมือ นำไปสู่การปฏิรูปซ่องและกลายเป็นธุรกิจของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 15 ที่กษัตริย์เท่านั้นที่จะให้สิทธิขุนนางหรือเทศบาลใดๆ ในการประกอบธุรกิจซ่อง หรือสกัดคู่แข่งกิจการในรูปแบบของการปราบปรามซ่องผิดกฎหมาย
ซ่องและโสเภณีไม่เพียงถูกนิยามในฐานะธรรมเนียมประเพณีและเรื่องปรกติวิสัยแต่โบราณแล้ว ยังกลายสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมยุคกลางได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะเป็นกลไกหนึ่งของการรักษาโครงสร้างอำนาจขุนนางและกษัตริย์
และจากงานศึกษาโสเภณีหญิงในไทยของดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ตั้งแต่ 2531[2] เผยให้เห็นว่ามีการจดทะเบียนการค้าประเวณีตามกฎหมาย เสียภาษีตั้งแต่สมัยอยุธยา สร้างรายได้ให้รัฐเป็นกอบเป็นกำ ก่อนจะกลายเป็นอาชีพผิดกฎหมาย มีพรบ.ปราบปรามการค้าประเวณี เมื่อปี 2503 ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
การประกอบอาชีพนางงามเมืองในสังคมอยุธยามาจนรัตนโกสินทร์ควบคู่ไปกับระบบค้าทาส ศักดินา และสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ผู้หญิงจะถูกวางในฐานะทรัพย์สิน สินค้า บริวาร แรงงานของผู้ชายผู้เป็นผัวและพ่อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอาชีพสุจริตที่ผู้หญิงหลายคนมาประกอบด้วยความสมัครใจของผู้ประกอบอาชีพเองก็มี
การค้าประเวณีสยามมีระบบจดทะเบียนและเสียภาษี ในนาม ‘ภาษีบำรุงถนน’ ทั้งในรูปแบบเจ้าภาษีนายอากรเป็นคนกลางเรียกเก็บภาษี และรัฐทำหน้าที่เก็บเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งในรัชกาลที่ 4 อันเป็นอีก ‘ยุคภาษีอาน’ ที่รัฐพยายามแสวงหาเงินเพิ่มพูนรายได้ เรียกเก็บภาษีหยุมหยิม เพิ่มชนิดและอัตราภาษีอากร ตั้งแต่ภาษีฝิ่น ปลากัด พนัน หมู ขี้ผึ้ง ปลาทู ซึ่งสามารถเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโสเภณีได้ 50,000 บาท ขณะเดียวกัน ในยุคนี้ก็เป็นช่วงสร้างชาติให้ทันสมัย เริ่มสร้างถนน เช่น เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร และในปี 2450 รัฐสามารถเก็บภาษีจากอาชีพนี้ได้ถึง 39,540 บาท
เมื่อปี 2451 รัฐหันมาเก็บภาษีเองโดยตรงและออก พรบ. ป้องกันสัญจรโรค ที่ทำให้โสเภณีเป็นสถาบันมากขึ้น มีการตรวจสุขภาพและลงทะเบียน 1 ครั้ง ต่อ 3 เดือน ซ่องเองก็ต้องจดทะเบียน บันทึกรายชื่อประชากรหญิงงามเมืองในสำนัก เจ้าหน้าที่รัฐก็มาตรวจตราสม่ำเสมอ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เจ้าของซ่องก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบมากมายที่เจ้าของผู้ประกอบการซ่องจะต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาวะ อนามัยที่ดี ความปลอดภัย และเอื้อประโยชน์ให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ให้บริการ และนายเงินเจ้าของซ่อง
และจากการสำรวจการค้าประเวณีหญิงในพระนครและหัวเมืองรอบนอกในปี 2451 พบว่า มีสถานประกอบการค้าประเวณี 319 แห่ง มีโสเภณีหญิง 2,500 คน มีทั้งหญิงไทย จีน และชาติอื่นๆ ลำพังค่าจดทะเบียน 3 เดือนครั้งก็ฉบับละ 12 บาท เท่ากับว่าในปีนี้ เฉพาะค่าลงทะเบียนโสเภณีรัฐก็ได้เงินมาแล้ว 120,000 บาท ยังไม่นับภาษีจากเจ้าของกิจการ มีส่วนช่วยสร้างชาติให้ก้าวทันสมัย
แม้หลัง 2503 เป็นต้นมา รัฐจะปราบปรามอาชีพนี้อย่างไร และขณะที่ระบบขุนนาง ศักดินา ค้าการทาสและสักไพร่ต่างทยอยล่มสลาย การค้าประเวณีก็ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Otis, Leah Lydia. (1985). Prostitution in medieval society : the history of an urban institution in Languedoc. Chicago : University of Chicago Press.
[2] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2531). โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาล พ.ศ.2411-2503. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.