1
คุณว่านักการเมืองร้องไห้ได้ไหมครับ?
ถ้าตอบกันตอนนี้ เชื่อว่าคนร้อยละร้อยน่าจะตอบว่าได้สิ ทำไมล่ะ – นักการเมืองก็เป็นคน, ทำไมถึงจะร้องไห้ไม่ได้
แต่ถ้าถามว่า คุณจำได้ไหม – ว่าครั้งแรกที่ได้เห็นน้ำตาของนักการเมืองในระดับผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี คือเมื่อไหร่?
ผมคิดว่าหลายคนคงนึกถึงน้ำตาของนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ,
นั่นคือน้ำตาของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
2
ในโลกยุคหลังสมัยใหม่ นอกจากผู้ชายจะร้องไห้ได้แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ควรร้องไห้ได้เช่นกัน
พูดให้ชัดขึ้นอีกนิดก็คือ ผู้ชายที่เคยถูก ‘กด’ ด้วยลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ให้ต้องวางตัวไม่ข้องเกี่ยวกับความอ่อนแอและสัญลักษณ์ของความอ่อนแออย่างการร้องไห้ บัดนี้ได้รับการ ‘ปลดปล่อย’ ออกจากกรอบกรงของลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ ให้สามารถแสดงความอ่อนแอออกมาได้เท่าเทียมกับผู้หญิงและเพศอื่นๆ แล้ว
คนที่เป็นนักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีก็ไม่แตกต่าง เมื่อคนคนหนึ่งกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นต้องพยายามแปลงร่างตัวเองให้กลายเป็น ‘หุ่นยนต์’ อะไรสักอย่างที่เต็มไปด้วยพิธีการครัดเคร่งดังที่เคยสั่งเคยสอนกันมาในโลกยุคสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น ว่าผู้นำจะต้องมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงความรู้สึก คนอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามจะได้ ‘อ่าน’ ไม่ออก ว่ากำลังคิดอะไรอยู่
อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 คุณยิ่งลักษณ์ก็น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรก ที่ได้ ‘ร้องไห้’ ให้ผู้คนเห็น
จะว่าไป ความเป็นนายกฯ นั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับ ‘ความเป็นชาย’ อย่างแน่นหนา เพราะผู้นำส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกเป็นผู้ชาย และแม้ในยุคที่ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ แต่กว่าจะโดดเด่น ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอต้อง ‘สำแดง’ ตัวให้มีลักษณะแบบผู้ชาย ยกตัวอย่างเช่น มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ จนเฟมินิสต์หลายคนกล่าวว่า ผู้หญิงนั้น พอเป็นผู้นำขึ้นมาแล้ว ก็ต้อง ‘เปลี่ยนเพศ’ ไปเป็นผู้ชายเสียหมด จึงไม่น่าประหลาดใจนักที่หลายฝ่ายจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์คุณยิ่งลักษณ์ในปี 2554 ตาม ‘กรอบกรง’ (หรือ Paradigm) เดิม ว่าเป็นนายกฯ ต้องเข้มแข็ง นั่นเพราะเราเอาความเป็นนายกฯ ไปผูกอยู่กับความเป็นชายและความเป็นผู้นำในยุคสงครามโลกและยุคสงครามเย็นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
แต่ถ้ามองดูกรอบกรงพวกนั้นให้ดี ในที่สุดเราก็จะรู้ว่า มันเป็นแค่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และคนที่สร้างขึ้นมาก็คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้น มันจึงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะนั่นไม่ใช่กฎของธรรมชาติ
ใน พ.ศ. 2554 (คือเมื่อหกปีที่แล้ว) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ – เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ร้องไห้ ผู้คนรอบตัวต่างพากันออกมา ‘ปฏิเสธ’ ว่า นายกฯ ไม่ได้ร้องไห้ ทั้งที่มีภาพเห็นกันค่อนข้างเด่นชัด
สำหรับผม คำปฏิเสธนั้นไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการยึดอยู่ใน ‘กรอบ’ หรือ Paradigm ของผู้นำแบบเดิม ซึ่งต้องมีลักษณะ ‘เหนือมนุษย์’ ในขณะที่การร้องไห้คือการแสดงออกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่มีเลือดเนื้อและอารมณ์ความรู้สึก
แต่มา พ.ศ. นี้ ถ้าถามคุณว่า วันก่อนโน้นเห็นคุณยิ่งลักษณ์ร้องไห้ตอนไปไหว้พระที่ภูเขาทอง และกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องจำนำข้าวไหม หลายคนก็อาจตอบว่า – เห็น, โดยไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรกับการที่ ‘อดีตนายกฯ’ สามารถหลั่งน้ำตาออกมาได้
เพราะเอาเข้าจริง ในรอบหกปีที่ผ่านมา สังคมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล แม้แต่การร้องไห้ของนักการเมือง ก็ยังมี ‘วิวัฒนาการน้ำตา’ ที่เปลี่ยนผันรุนแรง – อย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงด้วยซ้ำ
3
ไม่ใช่แค่คุณยิ่งลักษณ์เท่านั้นที่ร้องไห้ เพราะในปี 2554 ปีเดียวกัน คุณอภิสิทธิ์ก็ออกมายอมรับว่าตัวเอง ‘ร้องไห้อยู่นานมาก’ ในคืนหนึ่งของเดือนเมษายนปีก่อนหน้า แม้ว่าคุณอภิสิทธิ์จะไม่ได้ร้องไห้ให้เห็นเม็ดน้ำตากันกระจะๆ แต่ก็น่าจะเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองชายระดับอดีตนายกฯ (เหมือนกัน) ออกมายอมรับว่าตัวเองก็ร้องไห้เป็น ดังนั้น ปี 2554 จึงน่าจะเป็นปีหมุดหมายแห่งการร้องไห้ เพราะได้เกิดทั้งการ ‘ร้องไห้อย่างเปิดเผย’ (Public Crying) และการ ‘เปิดเผยว่าร้องไห้’ ขึ้นมาพร้อมๆ กัน
พูดถึงนักการเมืองไทยแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า – เอ๊ะ! แล้ววัฒนธรรมต่อมน้ำตาแตกของนักการเมืองในบ้านอื่นเมืองอื่นเขามีกันด้วยหรือเปล่า หรือว่ามีเฉพาะในสังคมการเมืองไทยเท่านั้นกันแน่
คำตอบก็คือ – มีสิครับ อาจจะมีมากกว่าสังคมไทยด้วยซ้ำ เพราะดูเหมือน ‘เทรนด์ร้องไห้’ ในหมู่นักการเมืองนั้น จะเริ่มระบาด (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ได้รับอนุญาตทางสังคม’ ให้ทำได้) ในช่วงเวลาเดียวกันกับ ‘หมุดหมายการร้องไห้’ ของนักการเมืองไทยพอดีนั่นแหละครับ
คนที่น่าจะโด่งดังที่สุดในเรื่องความเจ้าน้ำตาขณะอยู่ในตำแหน่ง น่าจะหนีไม่พ้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา นะครับ มีคนไปนับการร้องไห้ของโอบามา และบอกว่าขณะอยู่ในตำแหน่ง เขาร้องไห้ให้คนเห็นในแบบ Public Crying ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ซึ่งก็มีการวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ทั้งเห็นอกเห็นใจจนอยากปาดน้ำตาต้อยๆ ตามไปด้วย รวมทั้งเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามที่ค่อนแคะว่าเขายกมือขึ้นป้ายตาผิดทิศ แถมยังปาดก่อนน้ำตาไหลจริงอีกต่างหาก แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักแสดงที่ไม่เก่งเอาเสียเลย, เป็นต้น
น้ำตาของนักการเมืองอเมริกันอีกคนหนึ่งที่โด่งดังและถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน ก็คือน้ำตาของ จอห์น โบห์เนอร์ (John Boehner) ซึ่งเป็นทั้งโฆษกของสภา และเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอด้วย โบห์เนอร์นั้นร้องไห้บ่อยเสียจนมีคนเขียนบทความต้ังคำถามเอาไว้เยอะมาก อาทิเช่นใน politico.com ก็เคยมีบทความเรื่อง Wy Does John Boehner Cry So Much? กันเลยทีเดียว
การร้องไห้ของโบห์เนอร์เป็นการรร้องแบบ Public Crying จริงๆ นะครับ เขาร้องไห้ตอนให้สัมภาษณ์กับรายการ 60 Minutes, ร้องระหว่างมีงานฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่วินสตัน เชอร์ชิล, ร้องตอนงานเปิดอนุสาวรีย์โรซา พาร์คส์, ร้องแม้กระทั่งตอนมีพิธีเป็นเกียรติให้แก่นักกอล์ฟอย่างอาร์โนลด์ พาล์มเมอร์, ร้องตอนฟังดนตรีที่อ่อนไหวไพเราะในงาน, ร้องตอนมอบเหรียญเป็นเกียรติแก่ นีล อาร์มสตรอง รวมถึงร้องตอนที่เพื่อนร่วมงานลาออก ฯลฯ สิริรวมแล้ว politico ไปนับมา พบว่าโบห์เนอร์ร้องไห้ไป 15 ครั้งด้วยกัน จึงน่าจะนับได้ว่า โบห์เนอร์นั้นเจ้าน้ำตามากกว่าโอบามาเสียอีก
ฮิลลารี คลินตัน ก็ร้องไห้กับเขาด้วยเหมือนกัน ถ้าไม่นับตอนที่เธอแพ้ให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ (อันนั้นก็น่าร้องอยู่หรอก!) ก่อนหน้านั้นเธอก็เคยร้องมาหลายครั้งอยู่นะครับ แต่ครั้งสำคัญมาก และทำให้เธอถูกมองว่าใช้น้ำตาเป็นอาวุธ คือหลังจากที่เธอแพ้บารัค โอบามา (ในการสมัครเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) ในการเลือกตั้งไพรมารี่ที่ไอโอวา แล้วต้องมาหาเสียงต่อที่นิวแฮมพ์เชียร์
ตอนนั้นเธอถูกถามว่า “คุณยังรักษาความคึกคักและแสนวิเศษอยู่ได้อย่างไรกัน”
คลินตันทำเสียงเครือ น้ำตาคลอ แล้วตอบว่า “มันไม่ง่ายเลย ฉันคงทำไม่ได้ถ้าหากฉันไม่ได้เชื่อมั่นเหลือเกินว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องทำ คุณรู้ไหมว่านี่คือเรื่องของฉันเลย มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรือเรื่องสาธารณะเท่านั้น”
ในตอนนั้น การแสดงอารมณ์ของเธอยังถือเป็นของ ‘หายาก’ (Rare Item) กันอยู่ ผลลัพธ์ก็คือ มันทำให้เธอได้ชัยชนะที่นิวแฮมพ์เชียร์ แล้วหลังจากนั้น เราก็เห็นคลินตันร้องไห้อีกไม่รู้จักกี่ครั้ง ถึงขนาดที่มีคนเอามาทำเป็น Compilation ใน YouTube
เราอาจจะแบ่ง ‘น้ำตานักการเมือง’ ที่ร้องไห้ในที่สาธารณะ ออกได้เป็นสองแบบใหญ่ๆ นะครับ แบบหนึ่งก็คือการร้องไห้ที่ ‘น่าเคลือบแคลง’ เหมือนการร้องไห้ของโอบามา, โบห์เนอร์ และคลินตัน ที่ว่ามาข้างต้นนี่แหละครับ หลายคนแอบคิดด้วยซ้ำว่ามันคือ ‘อาวุธ’ อย่างหนึ่งที่นักการเมืองนำมาใช้เพื่อหวังผลบางประการ
แต่กระนั้นก็ยังมีการร้องไห้อีกแบบหนึ่งที่หลายคนคิดว่าเป็น ‘การร้องไห้จริง’ (Genuine Crying) เช่นการร้องไห้ของกอร์ดอน บราวน์ ในปี 2010 ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขาร้องไห้ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เรื่องที่ลูกสาวของเขาคลอดก่อนกำหนดและเสียชีวิตลงเมื่ออายุแค่ 10 วัน แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นนานมากแล้ว แต่หลายคนก็ยังเชื่อว่าเขาร้องไห้จริง ไม่ได้ร้องเพื่อ ‘แสดง’ ให้คนเห็นถึงด้านละเอียดอ่อนของเขาแต่อย่างใด
อีกการร้องไห้ ‘จริง’ ก็คือการร้องไห้ของนางสิงห์เหล็กอย่างมาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ ซึ่งถูกถ่ายภาพขณะมีน้ำตาคลอตา (เพราะมีแสงแฟลชกระทบ จึงเห็นได้ชัด) ตอนที่เธอต้องออกจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย หลายคนเชื่อว่าเป็นการแสดงความอาลัยอาวรณ์จริงๆ เพราะเป็นการร้องไห้ในจังหวะเวลาที่ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไรกับตัวเองแล้ว
ยังมีการร้องไห้ของนักการเมืองอีกมากมายนะครับ เช่น การร้องไห้ของนักการเมืองญี่ปุ่นที่ถูกตรวจสอบเพราะเอาเงินสาธารณะไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย การร้องไห้ของบิล คลินตัน ในงานศพของรอน บราวน์ (ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘เฟค’) ฯลฯ แต่คำถามก็คือ แล้ว ‘เกมร้องไห้’ (The Crying Game) เหล่านี้ – มันบอกอะไรกับเราบ้าง?
4
คนสมัยก่อนโน้นมองว่าการร้องไห้ในที่สาธารณะเป็นการสูญเสียการควบคุม (Loss of Control) จึงเป็นการแสดงความอ่อนแอ ดังนั้น ในทางการเมือง – การร้องไห้จึงเป็น ‘ความผิดพลาด’ ร้ายแรงอย่างหนึ่งของนักการเมือง (คือเป็น Serious Political Error)
ในปี 1972 ตัวแทนพรรคเดโมแครตคนหนึ่ง คือ เอ็ด มัสกี้ (Ed Muskie) ได้ร้องไห้ออกมาขณะแก้ต่างให้กับตัวเองและครอบครัวจากการโจมตีของสื่อ ปรากฏว่าเขาหมดอนาคตทางการเมืองไปเลย เพราะถูกมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ ถ้าใครไปเลือกเขา ก็แปลว่าเป็นคนอ่อนแอด้วย
แม้กระทั่ง มาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ เอง เมื่อเธอออกมายอมรับในปี 1978 ว่าบางครั้งเวลาอ่อนแอ เธอก็ร้องไห้อยู่ที่บ้านบ้างเหมือนกัน (โดยไม่ได้ร้องไห้ให้ใครเห็นนะครับ) ปรากฏว่าเธอก็ถูกประณามหยามเหยียด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในปี 1985 มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ ‘ร้องไห้’ (จริงๆ) ออกทีวี เมื่อมีการสัมภาษณ์เรื่องวัยเด็กของเธอ แต่การร้องไห้ครั้งนี้กลับไม่มีใครว่าอะไร มีการวิเคราะห์กันว่า จังหวะการร้องไห้ของเธอไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ และในช่วงนั้นคนก็เริ่มยอมรับการร้องไห้ได้บ้างแล้ว จึงทำให้แธตเชอร์ยังคงรักษาความเป็นนางสิงห์เหล็กเอาไว้ได้
จะเห็นว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การร้องไห้ส่งผลบวกหรือลบ ก็คือ ‘ความเห็นสาธารณะ’ (Public Opinion) ที่มีต่อการร้องไห้นั้น
ในระยะหลัง ความเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้คนเริ่ม ‘ยอมรับ’ กันได้มากขึ้นแล้วว่า การร้องไห้ไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอเสมอไป การร้องไห้ไม่ใช่ ‘ความผิด’ ในฐานะมนุษย์ (Human Error) แต่ที่จริงคือการแสดงออกซึ่ง ‘ความเป็นมนุษย์’ ของผู้นำด้วยซ้ำ และการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์นี้ต่างหาก – ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเป็นผู้นำคน
ดังนั้น จึงเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นในระยะหลังว่า นักการเมืองซึ่งเป็นมนุษย์ที่ ‘ไว’ ต่อการประเมินอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ได้ ‘ฉวยใช้’ (Exploit) ความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นประโยชน์ เราจึงเริ่มเห็น ‘น้ำตานักการเมือง’ กันมากขึ้นจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นกิจวัตร เพราะแม้เป็นการแสดง ‘ความอ่อนแอ’ แต่ก็เป็นความอ่อนแอที่คนอื่นๆ ต้องการให้ผู้นำของตัวเองมี อย่างเช่นตอนที่โอบามาร้องไห้ให้กับเด็กๆ ที่ถูกฆาตกรรม รวมไปถึงตอนที่ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิซ ดาซิลวา (Luiz da Silva) ร้องไห้ที่รู้ข่าวว่า ริโอเดอจาเนโรได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จูเลีย กิลลาร์ด ร้องไห้ที่บิดาของเธอเสียชีวิต โดยมีข้อแม้ว่า การร้องไห้นั้นๆ ต้องเป็นการร้องไห้ที่เหมาะสม และต้อง ‘ควบคุมได้’ ไม่ใช่ร้องไห้โวยวายตีโพยตีพายเสียงดังลั่น
ที่น่าสนใจก็คือ ผู้นำบางคนที่แลดูเป็น ‘หญิงเหล็ก’ เอามากๆ อย่างเช่นนางแองเกลา เมอร์เคิล กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร้องไห้ไม่เป็น แสดงความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสารไม่เป็น ซึ่งกลับข้างกันกับยุคก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
การร้องไห้อย่างถูกวิธีจึงเริ่มเป็นเรื่องเชิงบวกทางการเมืองมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็นเรื่องเชิงลบเพียงอย่างเดียว
5
พูดได้ว่า การร้องไห้ของนักการเมืองสัมพันธ์กับยุคสมัยอย่างมาก นักการเมืองจะร้องไห้ได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมด้วย
ถ้าเราเขียนเป็นสมการง่ายๆ ว่า [นักการเมือง = เรื่องสาธารณะ] และ [การร้องไห้ = เรื่องส่วนตัว] ก็น่าสนใจอย่างยิ่งนะครับ ว่าในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมานี้ ทั้งสองสมการได้เคลื่อนเข้าใกล้และเหลื่อมซ้อนทาบทับกันมาก – อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์สังคมของมนุษย์ แถมยังส่งผลที่ซับซ้อนใหญ่โตเป็นวงกว้างได้ด้วย
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกว่าการร้องไห้ของคุณยิ่งลักษณ์ คุณอภิสิทธิ์ คุณโอบามา คุณโบห์เนอร์ หรือใครต่อใคร เป็นการร้องไห้ที่มีเป้าหมายแอบแฝงใดๆ นะครับ แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ‘วิวัฒนาการน้ำตา’ ที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมือง – มันซับซ้อนแค่ไหน และสามารถทำให้เรา ‘เห็น’ ถึงอะไรได้บ้าง
เวลาเราเห็นคนร้องไห้ เรามักจะใจอ่อน และลืมไปว่าเขาเคยทำอะไรร้ายกาจไว้กับเราบ้าง การร้องไห้ของคนอื่นไปกระตุ้นพื้นที่ในสมองส่วนที่ทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว
นั่นอาจเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ทั้งนั้น
ชาลส์ ดิกเคนส์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่อาจเคยบอกไว้ว่า เราไม่จำเป็นต้องอับอายต่อน้ำตาของเราเอง
แต่คำถามก็คือ – ในยามที่การร้องไห้ไม่ใช่แค่การร้องไห้, เราจำเป็นต้อง ‘ระวัง’ และ ‘ตรวจสอบ’ น้ำตาของผู้อื่น – โดยเฉพาะน้ำตาของนักการเมือง, มากน้อยแค่ไหน
และความระแวดระวังนั้นจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราลงไปหรือเปล่า?