คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญและเฉลยฉากจบของเกม Quantum Break ถ้าไม่อยากเล่นแต่สนใจจะเล่น และไม่อยากเสียอรรถรสในการเล่น กรุณาเล่นเกมนี้ให้จบก่อนเริ่มต้นอ่าน!
“เทคโนโลยีอะไรก็ตามที่ก้าวหน้ามากพอ ย่อมแยกไม่ออกจากเวทมนตร์”
อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) ชื่อก้องโลก บัญญัติภาษิตข้างต้นซึ่งกลายเป็นกฎที่โด่งดังที่สุดในบรรดา “กฎสามข้อของคลาร์ก”
ในบรรดาเทคโนโลยีทั้งมวล มีส่วนน้อยที่จะกระตุกต่อมจินตนาการและทำให้เราประสานเสียงด้วยความตื่นเต้นว่า “นี่มันเวทมนตร์ชัดๆ!” เท่ากับ “การเดินทางข้ามเวลา”
วันนี้การเดินทางข้ามเวลาไม่ได้อยู่แต่ในภาพยนตร์ เกม และหนังสือไซไฟอีกต่อไป แต่นักฟิสิกส์หลายคนยืนยันว่า “เป็นไปได้” และบางคนก็บอกว่า “เกิดขึ้นแล้ว” ด้วยซ้ำไป สำหรับนักบินอวกาศบางคนที่ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ติดต่อกันนานที่สุด (แม้จะแค่ 0.02 วินาที มันก็เป็นวินาทีในอนาคตอยู่ดี)
ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ชี้ชัดว่า ยิ่งเราเดินทางเข้าใกล้ความเร็วแสงเพียงใด นาฬิกาโดยเปรียบเทียบของเราจะยิ่งเดินช้ากว่านาฬิกาของคนบนพื้นผิวโลก ฉะนั้นนักฟิสิกส์หลายคนจึงเชื่อมั่นว่า สักวันเราจะเดินทางสู่อนาคตได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีการเดินทางของเราเข้าใกล้ความเร็วแสงมากขึ้นเรื่อยๆ – สักวันหนึ่งเราอาจเดินทางไป 10,000 ปีในอนาคต แต่แก่ลงเพียง 1 ปีระหว่างการเดินทางก็เป็นได้ (ซึ่งก็คงต้องเผาผลาญพลังงานมหาศาลบานตะไท)
ส่วนการเดินทางย้อนศรไปอีกด้าน นั่นคือ การเดินทางกลับสู่อดีตนั้น นับเป็นสิ่งที่ยากเย็นยิ่งกว่าการเดินทางสู่อนาคตมาก ทุกวันนี้เรายังไม่เข้าใจกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องดีพอ และนักฟิสิกส์บางคนก็เชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจมากพอแล้ว เราก็จะถึงบางอ้อว่ามันเป็นไปไม่ได้ – แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ในเมื่อยังไม่มีใครพิสูจน์ทางใดทางหนึ่ง เราก็ควรจะเผื่อใจรับความเป็นไปได้ทุกทาง ใจกว้างตามวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์
ผู้เขียนคิดว่า Quantum Break เกมยิง (FPS) แอคชั่นอุดมพล็อตจาก Remedy Entertainment สตูดิโอเกมจากฟินแลนด์ ผู้อยู่เบื้องหลังเกมแอคชั่นเน้นเรื่องราวเจ๋งๆ อย่าง Max Payne และ Alan Wake เป็นเกมเกี่ยวกับ “การเดินทางข้ามเวลา” ที่เจ๋งที่สุดในประวัติศาสตร์เกม
ที่น่าทึ่งกว่านั้นอีกคือ ทุกมิติของเกมนี้ ไล่ไปตั้งแต่เนื้อเรื่อง ระบบเกม และรูปแบบการนำเสนอ ล้วนแต่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันและสอดรับสนับสนุน “ตรรกะ” ของการเดินทางข้ามเวลาเป็นอย่างยิ่ง!
Quantum Break ให้เรารับบทเป็น แจ็ค จอยซ์ (Jack Joyce) น้องชายของวิลเลียม (William) นักฟิสิกส์อัจฉริยะ ในฉากแรกของเกม เราบินกลับบ้านกะทันหันมาช่วยเพื่อนซี้ตั้งแต่วัยเด็กนาม พอล ซีรีน (Paul Serene) ทำการทดสอบการเดินทางข้ามเวลาครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ไม่กี่นาทีหลังจากที่พอลเดินออกมาทักทายตัวเอง พิสูจน์แล้วว่าเดินทางข้ามเวลาได้ จู่ๆ พี่ชายคือวิลเลียมก็โผล่มาพร้อมปืน สั่งให้หยุดเดินเครื่อง อ้างว่า “เวลาจะสิ้นสุด” ทันใดนั้นเครื่องปฏิกรณ์ก็ระเบิด พอลถูกเหวี่ยงและดูดหายเข้าไปในธารเวลา เราพยายามดึงเขาออกมาแต่ไม่ทัน
ทั้งเรากับพอลได้พลังเหนือมนุษย์ที่ช่วยให้ควบคุมเวลาได้ (เช่น แช่แข็งคนอื่น วิ่งเร็วราวกับวาร์ป ทำสนามพลังกันกระสุน ฯลฯ) แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิด “รอยแยกเวลา” (ในเกมเรียกว่า The Fracture) ซึ่งสร้างความปั่นป่วนมากมาย เช่น บางช่วงเวลาจะหยุดเดินดื้อๆ ตอกตรึงทุกคนและทุกสิ่งให้อยู่กับที่ สถานการณ์จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะเกิด “จุดจบของเวลา” ตามคำเตือนของวิลเลียม – จุดที่เวลาหยุดเดิน โลก มนุษย์ และทุกสิ่งทุกอย่างถูกแช่แข็งชั่วนิจนิรันดร
เมื่อเขาควานหาทางกลับมาสู่ “ปัจจุบัน” ใหม่ (เวลาในเกมคือ ปี 2016) พอลกลับกลายเป็นคนละคน กลายเป็นนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลล้นเหลือ เขาสั่งให้กองกำลังจับตัวสองพี่น้องตระกูลจอยซ์ ต่อมาแจ็คหลบหนีไปได้ แต่ภาพสุดท้ายที่เขาได้เห็นพี่ชาย คือ พอลสั่งให้คนของเขาระเบิดตึก วิลเลียมร่วงลงท่ามกลางซากปรักหักพัง
พอลประกาศว่า “จุดจบของเวลา” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรอดพ้นหรือป้องกันได้ ต่อให้ใช้เครื่องย้อนเวลาก็ไม่มีทาง ทุกเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว รวมถึงจุดจบของเวลาซึ่งเขาได้มองเห็นด้วยความตกใจเมื่อเดินทางออกมาจากเครื่อง ย่อมเกิดขึ้นตามนั้นจริงๆ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้คือ รับมือกับอนาคตให้ดีที่สุด
แผนของพอลคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ซึ่งเวลาเดินได้เป็นปกติ ดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศจากจุดจบของเวลาด้านนอก พอลตั้งใจจะรวบรวมนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ มารวมตัวกันในนี้เพื่อหาทาง “ซ่อม” เวลาข้างนอกให้กลับมาเดินเหมือนเดิม ส่วนแผนของแจ็ค (ซึ่งไม่รู้ในทันที แต่ระหว่างเล่นเราจะค่อยๆ วางแผนนี้ตามข้อมูลที่ได้รับ) คือ การไปหาอุปกรณ์ชื่อ “เครื่องต้านรอยแยก” (the countermeasure) ที่วิลเลียมประดิษฐ์ไว้ ใช้มันซ่อมรอยแยกเวลาเสียเดี๋ยวนี้ วันนี้ ก่อนที่จุดจบของเวลาจะมาถึง
ระหว่างทางแจ็คเรียนรู้ด้วยว่า วิลเลียมประดิษฐ์เครื่องย้อนเวลาสำเร็จตั้งแต่ปี 1999 และเขาก็ไม่พอใจตลอดมาที่พอล ‘ขโมย’ ไอเดียของเขาไปสร้างเครื่องย้อนเวลาของตัวเอง
เพื่อนซี้วัยกระเตาะสองคนกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งที่ห้ำหั่นกันแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงเพราะแจ็คเคียดแค้นพอลที่ฆ่าพี่ของเขาเท่านั้น แต่เหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ปรากฏว่า “เครื่องต้านรอยแยก” ของวิลเลียมคืออุปกรณ์ตัวเดียวกันกับที่พอลต้องใช้เพื่อสร้างสนามพลังสำหรับ “พื้นที่ปลอดภัย” ของเขา ซึ่งพอลตั้งชื่อว่า “โครงการเรือชูชีพ” หรือ Lifeboat Project
แจ็ค (ซึ่งก็คือเรา) จะใช้เวลาเกือบทั้งหมดในเกมนี้กับการจัดการหรือหลบหลีกกองกำลังของ โมนาร์ค โซลูชั่นส์ (Monarch Solutions) บริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ซึ่งพอลสร้างขึ้นมาเป็น “เครื่องมือ” ทำให้แผนของเขาสัมฤทธิ์ผล (แน่นอน พอลสร้างความมั่งคั่งมหาศาลจากการใช้ความรู้ที่ได้จากการเดินทางย้อนกลับไปในอดีต (ครั้งแรกโดยบังเอิญ) เช่น ชาร์ตหุ้นทั้งตลาดก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรม 9/11 ฯลฯ) ในฉากแอคชั่นดุเดือด (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ยากเท่าไร บางช่วงออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำ แต่ฉากจบนั้นโหดหินผิดกับฉากอื่นลิบลับเลยทีเดียว) ผสมการแก้ปริศนาง่ายๆ เล็กน้อย ส่วนใหญ่คือใช้พลังคุมเวลาให้ถูกจังหวะ เช่น ‘เสก’ ให้สะพานที่พังไปแล้วคืนสภาพขึ้นมาใหม่ (ย้ายอดีตมาเป็นปัจจุบันชั่วคราว) แล้ววิ่งข้ามให้ทันเวลาก่อนที่มันจะกลับไปเหมือนเดิม
แผนแรกๆ ของแจ็คคือการเดินทางข้ามเวลากลับไปในอดีต เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้รอยแยกเกิด ณ ห้องแล็บในวันนั้น หรือหาทางหยุดไม่ให้พอลทำการทดลอง หยุดไม่ให้พี่ชายของเขาปรากฏตัว ฯลฯ แต่ไม่นานแจ็คก็พบว่า เขาไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตได้เลย เขาสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปได้เพียงเพราะเกิดซีรีส์เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เขาไปอยู่ตรงนั้น ในเวลานั้นพอดิบพอดี หรือพูดอีกอย่างคือ เหตุและผลเดินเป็นวงกลม (causal loop)
ตัวอย่างของ causal loop ในเกมนี้ที่เจ๋งมาก ถูกเปิดเผยในช่วงท้ายๆ ของเกม แจ็คขโมย “เครื่องต้านรอยแยก” จากโครงการเรือชูชีพของโมนาร์คได้สำเร็จ แต่เขาใช้มันไม่เป็น จึงเดินทางย้อนเวลากลับไปหาวิลเลียม ณ วันที่เขาตาย (ฉากแรกๆ ของเกม) ปรากฏว่าเขาช่วยชีวิตวิลเลียมจากซากตึกได้สำเร็จ
ทีแรกแจ็คดีใจว่าเขาเปลี่ยนแปลงอดีตได้เพราะคราวนี้วิลเลียมไม่ตาย แปลว่าเขาทั้งสองควรจะสามารถเดินทางย้อนอดีต ไปป้องกันรอยแยกเวลาก่อนที่มันจะเกิดได้ แจ็คอยากเลือกวิธีนี้เพราะเขาอยาก ‘ชุบชีวิต’ เบ็ธ ไวล์เดอร์ (Beth Wilder) แนวร่วมที่คอยช่วยเหลือเขา เธอเป็นคนป้องกันไม่ให้พอลฆ่าวิลเลียมในปี 1999 เมื่อพอลเดินทางย้อนเวลากลับไปปีนั้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตเมื่อพอลฆ่าเธอตาย
แต่วิลเลียมบอกให้แจ็คลองคิดดูดีๆ ว่า เขาไม่เคยเห็น “ศพ” ของวิลเลียมจริงๆ เลย เห็นแต่ปูนร่วงลงมา คิดไปเองว่าวิลเลียมตายแล้ว แสดงว่าที่จริงแล้วแจ็คไม่ได้เปลี่ยนแปลงอดีตเลย – วิลเลียมไม่เคยตาย เพราะน้องชายจากอนาคตมาช่วยชีวิต!
สุดท้าย วิลเลียมจึงสามารถหว่านล้อมให้แจ็คยอมรับว่า เขาเปลี่ยนแปลงได้แต่อนาคต เปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แจ็คจึงยอมเดินทางกลับมายังปัจจุบัน มาใช้ “เครื่องต้านรอยแยก” ในเครื่องย้อนเวลาของวิลเลียม ซ่อมรอยแยกเวลาได้สำเร็จ (หลังจากที่โรมรันห้ำหั่นครั้งสุดท้ายกับพอลและกองกำลัง ซึ่งทำเอาข้อนิ้วผู้เขียนเคล็ดและสบถหน้าจอไปหลายรอบ แถมยังยอมลดระดับความยากจาก Hard มาเป็น Normal เพื่อจะได้เล่นให้จบ)
นอกจาก “ตรรกะ” เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาของ Quantum Break จะแน่นปึ้กและไม่ทิ้งรูโหว่ในพล็อตเรื่องใดๆ (อย่างน้อยผู้เขียนก็ไม่สังเกตเห็น) รูปแบบการนำเสนอของเกมนี้ยังเข้ากันกับธีมข้ามเวลาและหนุนให้เรื่องราวคมชัดกว่าถ้าหากมันเป็นเกมยิงธรรมดาๆ
Quantum Break ไม่ได้เป็นแค่เกม แต่เป็นส่วนผสมใหม่ระหว่าง “เกมยิง” กับ “ซีรีส์โทรทัศน์” ชื่อเดียวกัน หลังจากที่เราควบคุมแจ็คในฉากเกมยิงทุกๆ สามฉาก เราจะได้ควบคุม พอล ซีรีน ไม่ใช่ในฉากยิงแต่เป็นฉากสั้นๆ เรียกว่า “ทางแยก” (junction) ที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ เช่น จะมาแนวโหดสั่งปิดปากประชาชนและแกนนำการประท้วงที่คัดค้านโมนาร์ค หรือจะใช้วิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตะล่อมผู้ประท้วงบางคนให้มาเป็นพวก? จะเลือกไว้ใจใครมากกว่ากันระหว่าง ดร. โซเฟีย อมาราล นักวิทยาศาสตร์หญิงที่อยู่เคียงข้างเรามาตลอด กับ มาร์ติน แฮทช์ ลูกน้องมือขวาที่สร้างอาณาจักรธุรกิจมาด้วยกัน? (ไว้ใจทั้งคู่ไม่ได้เพราะสองคนนี้ไม่กินเส้นกัน) การตัดสินใจเหล่านี้ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อ (และความจริงในเกม) ของพอลที่ว่า “อดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้” เพราะเป็นการสร้างอนาคตที่ยังไม่เกิด (และไม่ใช่จุดจบของเวลา ซึ่งเขามองเห็นตอนที่เดินทางย้อนเวลาไปครั้งแรก)
ผลลัพธ์จากการตัดสินใจของเราหรือพอลในฉาก “ทางแยก” จะกำหนดเรื่องราวบางส่วนในเกม (แต่ไม่เปลี่ยนตอนจบ) และกำหนดเนื้อหาในซีรีส์โทรทัศน์ (แต่ไม่ได้ฉายจริงทางโทรทัศน์) เรื่องเดียวกัน ความยาวตอนละ 40-45 นาที ซึ่งเกมจะโหลดให้เราดูทันทีที่จบฉากทางแยก ซีรีส์นี้เล่าเรื่องจากสายตาของ เลียม เบิร์ค (Liam Burke) อดีตทหารผ่านศึกผู้ผันตัวมาทำงานรักษาความปลอดภัยให้กับโมนาร์ค เรื่องราวของเบิร์คดำเนินคู่ขนานไปกับเรื่องราวของแจ็คในส่วนของเกม และโน้มมาบรรจบกันในตอนสุดท้ายได้อย่างสวยงาม
ซีรีส์โทรทัศน์ในเกมมีทั้งหมด 4 ตอน สนุกตื่นเต้นไม่แพ้เกม โชคดีที่ได้ดาราโทรทัศน์และดาราภาพยนตร์เจ้าบทบาทหลายคนที่เรารู้จักดีมารับบทในเกม อาทิ โดมินิค มอนาฮัน (ฮอบบิท “Merry”ในซีรีส์ภาพยนตร์ Lord of the Rings), ฌอน แอชมอร์ (Iceman จากซีรีส์ภาพยนตร์ X-Men) ส่วน ไอแดน จิลเลน ผู้รับบท Littlefinger ตัวละครโปรดของใครต่อใครหลายคนจากซีรีส์ฮิต Game of Thrones มารับบทเป็น พอล ซีรีน คู่ปรับของพระเอก
การตัดสินใจของพอลในฉาก “ทางแยก” รวมไปถึงการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของแจ็คในฉากหลักบางอย่าง (เรียกว่า “คลื่นควอนตัม” หรือ quantum ripples) สามารถส่งผลต่อเนื้อหาในซีรีส์โทรทัศน์ในเกม รวมถึงเนื้อหาในฉากหลังๆ ของเกมได้ แต่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเกม รวมถึงฉากจบด้วย ความฉลาดของทีมนักออกแบบคือการทำให้เราดูเหมือนมี “ทางเลือก” ในการตัดสินใจ และจริงๆ ก็สามารถย้อนเวลา – ไม่ใช่ในเกม แต่ในฐานะคนเล่นเกม – กลับไปเล่นฉากไหนก็ได้ที่เล่นผ่านไปแล้ว รวมถึงย้อนกลับไปเลือกทางแยกอีกทางในฐานะพอล แต่สุดท้ายการตัดสินใจเหล่านั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีตได้ เปลี่ยนแปลงได้แต่ส่วนน้อยของอนาคต(ในเกม)เท่านั้น (เช่น การที่พอลจะเลือกแนวโหดหรือแนวประชาสัมพันธ์ จะส่งผลว่าผู้ประท้วงที่ช่วยเราในเกมคือใคร แต่ผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาตามเดิม)
และเมื่ออนาคตเดินทางมาถึงจนกลายเป็นอดีตไปแล้ว (เราเอาชนะเกมนี้แล้ว รู้แล้วว่าจบอย่างไร) เราก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอดีตได้เลย (เกมจบได้แบบเดียวคือแจ็คกับวิลเลียมซ่อมรอยแยกเวลาสำเร็จ ไม่มีแบบอื่น)
ถึงแม้ว่าฉากแอคชั่นบางช่วงจะน่าเบื่อและโหดเกินไปบ้าง Quantum Break โดยรวมก็นับเป็นเกมเจ๋งและแสนฉลาดที่บุกเบิกพรมแดนใหม่ๆ ให้กับวงการเกม ตลอดจนสื่อสารตรรกะของการเดินทางข้ามเวลาได้อย่างแม่นยำและสนุกสนานอย่างยิ่ง