ห้ามไว้ผมยาวเกินกว่าที่กำหนด ถุงเท้าที่ใส่ก็ต้องเป็นพื้นขาวเท่านั้น นอกจากภายนอกจะต้องแต่งตัวเป๊ะตามระเบียบแล้ว แม้แต่เรื่องการศึกษาการเรียนหลายครั้งนักเรียนก็ยังไม่สามารถตั้งคำถามกับครูอาจารย์ได้อีก
แต่ทำไมถึงต้องมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดแบบนี้ด้วยล่ะ? เป็นไปได้ไหม ที่เราจะมีสิทธิในการเลือกเครื่องแต่งกาย สิทธิที่จะตั้งคำถามกับการเรียนรู้ ไปจนถึงสิทธิที่จะออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง?
คำถามนี้ ทำให้เหล่านักเรียนเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อเรียกร้องสิทธิในห้องเรียน เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ที่มีการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ตามอย่างที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
The MATTER ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ ทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูสอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนราชดำริและเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาจากกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิของเด็กในโรงเรียน และร่วมกันหาทางออกของปัญหานี้กัน
ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในโรงเรียนมีอะไรบ้าง
การละเมิดสิทธิในโรงเรียน มันเป็นเพราะบางครั้งทั้งโรงเรียน ครู และนักเรียนเอง ก็ไม่ได้ตระหนักว่า แต่ละคนมีสิทธิอะไรอยู่บ้าง เลยเกิดเหตุขึ้นมาโดยที่แต่ละคนไม่ได้รู้ว่า นี่คือการละเมิดจนเกิดเคสที่รุนแรง กลายเป็นข่าวใหญ่เรื่องโตขึ้นมา ถึงจะรู้ว่านี่คือการละเมิด ซึ่งจริงๆ แล้ว การละเมิดสิทธิมันมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในโรงเรียน แต่เราไม่ได้ตระหนักถึง เพราะมันเป็นความผิดปกติที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติมานานแล้ว
ผมเชื่อว่าโรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการเรียนรู้และเติบโต ก็เหมือนกับต้นไม้ ถ้าไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยหรือเหมาะสม มันก็จะไม่โตหรือเน่าตายไป เด็กก็เหมือนกัน ฉะนั้น เด็กมีสิทธิที่จะไปโรงเรียนแล้วสบายใจ แต่ในโรงเรียนมีอะไรบ้างที่ทำให้เขาไม่สบายใจ ผมขอแบ่งเป็นแบบนี้
อย่างแรกคือเรื่องของ การบูลลี่ หรือการล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตา การกลั่นแกล้งโดยใช้กำลัง ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อน หรือบางครั้งครูเป็นคนเริ่มบูลลี่เด็ก บางทีอาจจะทำไปด้วยความเคยชิน ประกอบกับวัฒนธรรมที่มองว่า ‘ไม่เป็นไร แค่หยอกเล่น ไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆ สักหน่อย’ มันก็เลยทำให้กลายเป็นความเคยชิน คนที่ถูกกระทำบางครั้งก็เคยชินไป หรือเขาอาจไม่ได้สบายใจหรอก แต่ก็ไม่แสดงอะไรออกมา
ยิ่งกว่านั้น บางครั้ง ครูไม่ได้รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล แล้วไปเรียกนักเรียนด้วยรูปลักษณ์หน้าตา เช่น อ้วน แว่น นี่คือการละเมิดสิทธิกันประการแรกๆ เลย
อย่างที่สองคือ การที่ครูต่อว่าเด็ก โดยถือว่า การที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เป็นครู เป็นคนที่กุมอำนาจที่จะกำหนดถูกผิด หรืออะไรถูกต้องไม่ถูกต้อง อะไรดีไม่ดี ก็เหมือนกับมีสิทธิเต็มที่ที่จะด่าเด็กว่าโง่บ้าง หรือใช้คำพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกแย่ รู้สึกล้มเหลว แทนที่จะเป็นการให้ feedback ในเชิงบวก ให้คอมเมนต์ ให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่กลายเป็นครูไปต่อว่า ไปด่าเด็กเสียแทน
อย่างที่สามคือ การใช้อำนาจหน้าที่ของครูในการจัดการเรียนการสอน การให้คุณให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นการให้คะแนน หรือการลงโทษต่างๆ ซึ่งมันผิดเพี้ยนไป เช่น ถ้าครูมีอคติ ซึ่งโดยปกติเราก็มักจะมีอคติอยู่แล้ว แล้วครูไม่รู้เท่าทันตัวเอง ซึ่งพอครูมีอคติกับเด็ก ครูก็จะไม่มีความเที่ยงธรรมในการตัดสิน การประเมินผล ให้คะแนนพฤติกรรม หรือแม้แต่การลงโทษด้วยความรุนแรง และบางครั้งครูเองก็ไม่ได้ตระหนักว่า ตัวเองมีอคติกับเด็กว่า ครูไม่ชอบเด็กที่ทำแบบนี้ ไม่ชอบเด็กที่คิดแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณค่าของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน
สังคมเราไม่ได้ให้คุณค่ากับความแตกต่าง แล้วก็ไม่ยอมรับความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ หรือการแสดงออกของเขา ทำให้เราพร้อมจะไปตัดสินเขาว่า เขาเป็นแบบนี้ แล้วก็เลยใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองในการให้คุณ ให้โทษ ถ้าเด็กคนไหนโชคดี มีนิสัยหรือการแสดงออกที่ถูกจริตกับสิ่งที่ครูชอบ หรือสิ่งที่ครูให้คุณค่าอยู่ ก็โชคดีไป แต่เด็กคนไหนที่ผิดไปจากสิ่งที่ครูให้คุณค่า ก็จะถูกตัดสิน จนเด็กต้องฝืน เพราะเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ต้องแอ๊บให้ครูชอบ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการลงโทษด้วยความรุนแรง แม้ว่ากฎระเบียบกระทรวงจะระบุว่า ให้ลงโทษได้เท่านี้นะ แต่ก็มีคนพยายามจะหาช่องว่าง หรือบอกว่า ‘ก็ทำกันมาตั้งนานแล้ว’ ‘คนได้ดีเพราะไม้เรียว’ พอยังมีคนให้คุณค่ากับเรื่องแบบนี้อยู่ ก็เลยยังเกิดเหตุขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ นอกจากเรื่องที่เราเห็นตามข่าว มันยังมีที่เราไม่เห็นข่าวอีกเยอะด้วยเหมือนกัน
ทำไมถึงเกิดปัญหานี้ขึ้น?
ปัญหาที่เกิดกับครู ไม่ว่าจะประเทศไหนๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ในสังคมไทยของเรา มันต้องมองลึกไปอยู่ 2 อย่าง คือตัวระบบและโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย รวมถึงโครงสร้างทางสังคม กับลึกลงไปกว่าระบบและโครงสร้างคือ ค่านิยม ความเชื่อหรือหลักคิดบางอย่างที่ให้คุณค่ากับการกระทำ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ความพิเศษของสังคมไทย คือ การมีระบบอาวุโส ซึ่งมีลำดับชั้นที่ซับซ้อน เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ไม่ใช่แนวราบ ซึ่งครูได้รับผลข้างเคียงจากสิ่งนี้ เพราะระบบการศึกษาเป็นระบบราชการรวมศูนย์ นโยบายต่างๆ มาจากส่วนกลาง ทำให้ครูไม่กล้าตั้งคำถาม หรือบางทีก็ตั้งคำถาม เป็นการบ่น หรือเมาท์กันอยู่ในห้องพักครู แต่สุดท้ายให้ทำเอกสารอะไร ให้ทำรายงาน ให้ทำโครงการอะไร ครูก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำ เพราะว่าคนข้างบนครูคือ ผอ. แล้วคนข้างบน ผอ.ก็คือเขต ส่วนคนข้างบนเขต ก็คือ สพฐ. และกระทรวง ครอบกันลงมาเป็นชั้นๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
ครูเลยต้องทำไปตามสิ่งที่ครูเชื่อว่าเป็นหน้าที่ หลายคนถูกปลูกฝังว่า นี่คือหน้าที่ คือสิ่งที่ดีงาม คือสิ่งที่ต้องเสียสละเพื่อองค์กร เพื่อการศึกษา แต่ไม่มีใครมาตั้งคำถามย้อนว่า จริงๆ แล้วมันช่วยถึงเด็กจริงๆ หรือเปล่า หรือเราทำสิ่งนี้ไปเพื่อใคร แล้วเราสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้จริงๆ หรือเปล่า นี่คือ สิ่งที่ครูถูกกระทำจากระบบแล้วก็โครงสร้างสังคมแบบนี้
รวมถึง โครงสร้างในระบบการศึกษาที่ทำให้ครูจะต้องทำตามๆ กันไป อย่างเรื่อง กฎระเบียบที่มีปัญหาขัดแย้งอยู่ ก็มีครูบางคนบอกว่า ‘ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะมีปัญหากับเด็กหรอกนะ แต่ผู้บริหารสั่งให้ทำแบบนี้ แล้วเราจะทำยังไงได้’ มันก็เลยเกิดคำถามว่า แล้วเรายืนหยัดเพื่อต่อสู้ไม่ได้เลยเหรอ ซึ่งเราก็ไม่โทษเขานะ เพราะอำนาจภายในของครูแต่ละคนที่จะต่อสู้ได้ มันก็แตกต่างกัน บางครั้งมันก็มีความจำเป็น และบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน
อีกสาเหตุคือ ตั้งแต่โบราณกาลมา วัฒนธรรมไทยประกอบไปด้วยระบบโครงสร้างอำนาจ ทั้งยังถูกปลูกฝังระบบอุปถัมภ์ และวัฒนธรรมอำนาจนิยมอยู่
เราให้ความสำคัญกับคนที่มีอำนาจ แล้วคนที่มีอำนาจก็มักจะใช้อำนาจนั้นในการกดขี่ เอาเปรียบ หรือไปกำหนดคุณค่าในการตัดสิน และทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องโดยไม่ต้องฟังใคร จนกลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นเรื่องปกติ
เราไม่มีการใช้วัฒนธรรมอำนาจร่วม คือ ผู้ที่มีอำนาจเหนือแทนที่จะคอยกำหนดทุกอย่าง หรือว่าคอยกดขี่เอาเปรียบ แต่ใช้อำนาจที่ตัวเองมีเหนือกว่า มาคอยปกป้อง รับฟัง ให้เขาตัดสินใจร่วมกัน
อำนาจเหล่านี้มาจากไหน?
อำนาจมาจากแหล่งที่มาอำนาจ ได้แก่ อัตลักษณ์ เพศ อายุ การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม สังคมเราให้คุณค่ากับอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ทำให้อำนาจไม่เท่ากัน แล้วคนที่มีอำนาจเหนือกว่า เขาใช้อำนาจนั้นอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราจะชี้ให้เห็นว่า ที่มาของพฤติกรรมมันมาจากสิ่งเหล่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเปรียบเทียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งจริงๆ ครูได้รับการเคารพนับถือ ในทุกๆ ที่อยู่แล้ว แต่สังคมไทย เราคิดว่า มันเป็นสถานะที่พิเศษมากๆ เพราะไม่ว่าครูจะทำอะไรก็ตาม เด็กก็ต้องเชื่อถือ ต้องฟัง ถ้าครูใช้อำนาจแบบถูกทาง ใช้อำนาจเพื่อรับฟังเด็ก ก็ถือว่าโชคดีไป แต่โดยปกติแล้วเรามักจะไม่รู้ตัว แล้วใช้อำนาจนั้น ไปตัดสินถูกผิด ไปผลิตซ้ำสิ่งที่เราเคยได้รับมา หรือเห็นในสังคมอยู่
สังเกตง่ายๆ สังคมไทยเป็นสังคม VIP ลองนึกภาพว่า ถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วเราต่อแถวอยู่ในโรงอาหาร แล้วไม่มีร้านอาหารของครู ครูต้องมาซื้อกับเรา ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะเห็นอะไร? เราจะเห็นว่า ต่อให้ครูไม่ได้ขอ เด็กทุกคนก็จะแหวกให้ครูก่อน หรือแม่ค้าก็จะลัดคิวให้ครูก่อน หรือบางทีครูเนี่ยแหละที่บอกว่า ครูก่อนนะ ครูรีบ แล้วทุกคนก็ยอม ทั้งๆ ที่ เด็กก็ต้องกิน ต้องไปเตรียมทำอย่างอื่นเหมือนกัน แต่ทำไมครูใช้ความเป็นครู มาเอาเปรียบตรงนี้ แล้วเรื่องนี้ก็กลายเป็นความเคยชินที่โยงไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย ทำให้เด็กไม่กล้าถามครู ไม่กล้าตอบครู เพราะกลัวผิด เวลาเกิดปัญหากับครู เด็กก็ไม่กล้าเรียกร้อง เพราะมันมีความเป็นครู-นักเรียนค้ำอยู่
ตอนเรียนก็มีคำที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน อย่างที่บอกว่า ‘คะแนนอยู่ที่ปลายปากกา’
ใช่เลย เกลียดคำนี้จริงๆ แล้วสุดท้าย ครูออกข้อสอบมา มีการวัดประเมินผลต่างๆ แต่มันก็อยู่ที่ปลายปากกาของครูจริงๆ อย่างที่บอกว่า ครูมีอำนาจในการให้คุณและให้โทษเหนือนักเรียน
นอกจากคำนี้แล้ว มันยังมีคำอื่นๆ ด้วย อย่างที่บอกว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักทน’ หรือ ‘แตะต้องไม่ได้’
แล้วทำไมต้องทน? คำว่าทนในที่นี้ ผมว่าเด็กสมัยไหนๆ ก็ตาม ถ้ามันมีความสำคัญ มีความหมายกับเรา เราก็อยู่กับมันได้ ดังนั้น คำว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักทน’ ก็ต้องถามกลับว่า จะให้ทนอะไร? แล้วทำไมต้องทน? มันไม่มีความหมายสำหรับเขาหรือเปล่า มันไม่มีเหตุผลหรือเปล่า เขาเลยไม่คิดว่าต้องทน
ประโยคที่สอง ถ้าบอกว่า เด็กสมัยนี้แตะต้องไม่ได้ แล้วทำไมต้องไปแตะต้อง? ทำไมต้องไปตี ใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลัง ถ้าคุณบอกว่าไปแตะต้องเขาไม่ได้ ไปตีหรือทำโทษเขาไม่ได้ ก็ต้องย้อนกลับมามองว่า คุณจัดการ หรือสอนเด็กอย่างไร แปลว่าคุณไม่สามารถสอนเขาได้ใช่ไหม? แสดงว่าคุณไม่มีเหตุผลมากพอที่จะคุยกับเขารึเปล่า?
การที่เราใช้ไม้เรียวเมื่อก่อน เพราะมันง่าย มันเร็ว และเห็นผล ตีปุ๊ปหยุดปั๊ป แต่ในระยะยาวมันส่งผลเสีย และในระยะยาวก็ค่อยๆ คุณจึงควรกล่อมเกลาเขาด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงเพื่อยับยั้ง หรือให้เห็นผลทันตา
มองเรื่องที่เด็กๆ ออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในระบบการศึกษาว่าอย่างไรบ้าง
ด้วยความที่ผมสอนวิชาสังคมและกฎหมาย ผมชอบที่เด็กๆ ที่ผมสอนเขาจะมีคอนเซปต์แบบนี้อยู่ในหัว แล้วพอครูผู้ใหญ่ หรือ ผอ. ไปพูดหน้าเสาธงว่า ‘พวกเรารู้จักแต่สิทธิ เรียกร้องแต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่’ เด็กที่เรียนกับผมก็ขำเลย เพราะเขารู้ว่าคอนเซปต์ของเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สิทธิมาก่อนหน้าที่ ไม่ใช่ว่าเราต้องทำหน้าที่ก่อน ถึงจะได้สิทธิ ไม่ใช่ว่าต้องทำอันนี้ เพื่อแลกอันนี้
ในระบบสังคมเรา มันสอนให้ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อแลกกับความดีความชอบ ต้องทำอะไรซักอย่าง เพื่อจะได้เป็นที่โปรดปรานของครู ต้องทำอันนี้ก่อนสิ ถึงจะได้คะแนน แต่จริงๆ แล้วสิทธิมันมาก่อนหน้าที่
กฎหมายรับรองสิทธิไว้ให้กับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แล้วสิทธินั้นจึงทำให้เกิดหน้าที่กับบุคคลอื่น เช่น เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดงบประมาณ จัดให้มีโรงเรียน มีการศึกษาต่างๆ เกิดหน้าที่กับผู้ปกครอง ต้องส่งลูกเรียน ถ้าผู้ปกครองไม่ส่งลูกเรียนการศึกษาภาคบังคับก็ผิดกฎหมาย นี่เป็นตัวกฎหมายที่กำหนดไว้ เพื่อรักษาสิทธิเด็ก ให้เกิดหน้าที่กับครู ครูก็ต้องทำตามหน้าที่ของครู ฉะนั้น สิทธิจึงมาก่อนหน้าที่
การที่เด็กต้องออกมาเรียกร้องสิทธิอะไรบางอย่าง นั่นหมายความว่า มีคนทำหน้าที่บกพร่อง แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่ทำหน้าที่บกพร่องนั้น มาพูดว่า คุณเรียกร้องสิทธิ แล้วคุณทำหน้าที่ตัวเองดีหรือยัง
กลายเป็นว่ามากดขี่เด็ก มาปิดปากเด็ก แล้วสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้เด็กไม่กล้าเรียกร้องอะไร หรือไม่กล้าถามหาสิ่งที่เขาควรจะได้ ต่อให้เด็กคนนั้นจะไม่ตั้งใจเรียน เด็กคนนั้นไม่จดงาน หรืออะไรก็ตาม แต่เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ตัวเองอยู่โรงเรียนได้อย่างสบายใจ
แน่นอนว่าเรื่องคะแนนมันก็เป็นไปตามกลไก จะบอกว่าไม่ส่งงาน แล้วมาเรียกร้องคะแนนนี่ก็อีกเรื่อง แต่เด็กเรียนไม่เก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะมาเรียกร้องอะไรไม่ได้ ในเมื่อเขาไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม การที่เขาเป็นบางอย่าง มันไม่ได้ไปลดทอนสิทธิที่เขาควรจะได้
คิดว่าทำไมเด็กรุ่นนี้ ถึงกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง
ผมมองหลายปัจจัยมากเลย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตัวระบบบางอย่างด้วย อย่างแรกก็คือ มันมีช่องที่เปิดและมีอีกด้านหนึ่งที่ยิ่งกดๆ ลงมา จนมันเหมือนจะระเบิดออก ด้านนึงคือ สังคมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วโลกก็เปิดกว้างมาก รวมถึง หนังสือเรียนที่เมื่อก่อนไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่ามันเป็นยังไง แต่ปัจจุบันมันมีสื่อ มีการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายกว่า ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบขึ้น แล้วเด็กเขาก็รู้มากกว่าในหนังสือแล้ว เลยเกิดการตั้งคำถาม ไม่ได้มีแค่หนังสือกับครูที่เป็นสรณะแล้ว แต่มีอย่างที่ สาม สี่ ห้า ที่มาแย้งกับความเชื่อเดิม เลยเกิดวิจารณญาณ และมีการตั้งคำถามขึ้นมา
อย่างที่สองคือ โลกออนไลน์ ซึ่งผมมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อก่อนเราเจอปัญหาอะไร หรือถูกกระทำอะไร เราอาจจะเก็บไว้กับตัว เพราะคิดว่าพูดไปก็มีแต่เสีย มันเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็ชิน แล้วมันไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่ปลอดภัยกับเด็กเลย แต่การเข้ามาของโลกออนไลน์ กลายเป็นพื้นที่ที่เราเป็นนิรนาม เราระบายมันออกไปแล้วคิดว่า ‘เออ ไม่ได้มีเราคนเดียวนี่นา ที่เจอปัญหานี้ ไม่ใช่เราคนเดียวที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้’ เด็กจะรู้สึกว่าเขาได้รับการ empower ไปโดยอัตโนมัติ ทำให้รู้สึกว่า ฉันไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้แบกรับเรื่องนี้อยู่ตัวคนเดียวแล้ว เลยเกิดการรวมกลุ่มกัน รวมถึง มีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะซัพพอร์ทด้วย หลายๆ คนก็กล้าที่จะพูดสิ่งที่เขาเจอกันมาเหมือนกัน ผมว่านี่คือส่วนสำคัญเหมือนกัน
แปลว่าห้องเรียนก็ต้องปรับตัวตามกับยุคสมัยไปด้วยหรือเปล่า แล้วจะปรับอย่างไร?
หลายๆ คนอาจมองว่า ผมเป็นครูสังคมก็ต้องพูดแบบนี้แหละ แต่จริงๆ มันผิดถนัด เพราะเรื่องสิทธิ เรื่องการเมือง หรือเรื่องพหุวัฒนธรรม ไม่ได้แปลว่าต้องมาเรียนรู้จากในวิชาสังคมอย่างเดียว ต้องเข้าใจก่อนว่า มันมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ เรียนเกี่ยวกับสิทธิ คือเรียนเป็นคอนเทนต์เรื่องนั้นเลย อันนี้อาจเป็นวิชาสังคม
แต่อีกรูปแบบคือ เรียนผ่านกระบวนการเรื่องในนั้นๆ เช่น เด็กก็เรียนเรื่องประชาธิปไตยผ่านวิชาศิลปะได้ หรือวิชาคณิตกับอังกฤษก็สอนเรื่องประชาธิปไตยได้ ผ่านการทำงานกลุ่ม ผ่านการอยู่ร่วมกันในห้อง หรือเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็สอนผ่านวิชาอื่นๆ ได้เหมือนกัน ถ้าเราทำให้มันกลายเป็นวัฒนธรรมได้
ตอนที่ผมไปออสเตรเลีย ผมไปเห็นว่า โรงเรียนที่นั่นจัดแคมเปญเรื่องการกลั่นแกล้งในห้องเรียน ซึ่งประเทศไทยก็จัดเหมือนกัน แต่เราจัดแบบบอกเด็กว่า ต้องไม่ทำอย่างนั้น ต้องไม่ทำอย่างนี้ เน้นเป็นข้อห้าม แต่ที่ออสเตรเลีย เขาเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ‘เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะ …’ เช่น เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุข เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่โรงเรียน เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มความสามารถ เราไม่เคยหยิบยกสิทธิขึ้นมาเป็นตัวตั้ง
ตัวอย่างคือ ในโรงเรียนเอง ก็มีตัวระเบียบโรงเรียนที่ระบุแต่ข้อห้ามเอาไว้ โดยกำหนดว่าต้องทำอะไรถึงจะได้คะแนนเพิ่ม ทำอะไรแล้วจะถูกหักคะแนน ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า เด็กนักเรียนมาโรงเรียนแล้วต้องได้อะไรบ้าง เด็กนักเรียนมีสิทธิที่จะทำอะไรบ้าง ถึงแม้ว่าเราจะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ พูดถึงสิทธิเด็ก 4 ข้อ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองปลอดภัย สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะมีส่วนร่วม แต่สิทธิพวกนี้ก็พูดถึงแบบแตะๆ ลอยๆ ไม่ได้ถูกเอามาเป็นหลักในการตั้งต้น ในการทำสิ่งต่างๆ ให้เด็กได้รู้ว่า มีสิทธิ 4 ข้อนี้ หรือให้เขาได้รู้ว่า ถ้าฉันมีอันนี้ หรือไม่ได้รับสิทธินี้ ฉันก็เรียกร้องได้
แต่เด็กต้องรู้ว่า เขาจะไปเรียกร้องกับใครได้บ้าง นั่นแปลว่า สังคมต้องทำให้ชัดเจนว่า เด็กๆ มีสิทธินี้ แล้วสิทธินี้ไปเกี่ยวกับหน้าที่ของใครบ้าง หรือพฤติกรรมไหนบ้างที่จะมาลิดรอนสิทธินี้ รวมถึง ทำให้ทุกคนรู้ว่า เรามีสิทธิเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะละเมิดไม่ได้ พฤติกรรมที่จะไปลดทอนสิทธิเหล่านี้ ถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้
อยากให้ขยายความอีกหน่อยว่า แล้วสิทธิที่นักเรียนออกมาเรียกร้องคืออะไร
สิ่งที่นักเรียนออกมาเรียกร้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม เรื่อง LGBTQ หรือเรื่องต่างๆ ผมว่ามันก็คือเรื่องเดียวกับสิทธิเด็กนั่นแหละ มันอยู่รวมกันทั้งหมดแล้ว คือเขามามองในมุมใหม่ ให้คุณค่าใหม่ แล้วก็บอกว่า เขาเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้รับการปกป้องเลยนะ เขาถูกกระทำต่างหาก กฎระเบียบนี้ไม่ได้ช่วยปกป้องเขาเลย แถมให้อำนาจครูในการมากระทำกับเขาด้วย
สุดท้ายแล้ว การที่เด็กต้องออกมาเดินขบวน เด็กต้องไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ แปลว่า โรงเรียนไม่ฟังเขาเลยใช่ไหม ทำให้เขาต้องมาอยู่จุดนี้ โรงเรียนไม่ได้คุ้มครองเขา หรือให้พื้นที่เขาในการแสดงความคิดเห็น เพราะถ้าเกิดเด็กได้รับสิทธิที่จะมีส่วนร่วมจริงๆ จะไม่เกิดปัญหาอะไรกับเขาเลย เขาจะกล้าพูด เขาจะได้มีส่วนร่วม และตัดสินใจด้วยตัวเอง และจะบอกได้ด้วยว่า อยากจะให้โรงเรียนเป็นไปในทิศทางไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ครูยังมองว่าเด็กคือเด็ก ไม่เชื่อมั่นในตัวเด็ก แล้วก็ไม่ไว้ใจ นี่คือปัญหา
จริงๆ แล้วสิทธิเด็กก็คือสิทธิมนุษยชน?
ใช่ เมื่อเดือนก่อนกลุ่มครูขอสอนก็เพิ่งออกแถลงการณ์กันไป หลังจากเห็นสมาคมผู้บริหารแถลงการณ์ออกมาโต้ตอบ ส.ส.ที่วิจารณ์ครูที่กระทำต่อเด็ก เพราะเรารู้สึกว่า ทำแบบนั้นไม่ได้นะ สังคมก็ตั้งคำถามกับวิชาชีพเราหนักมาก แล้วเราต้องการเรียกร้องให้โรงเรียนปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน เราก็เลยไปจับหลักสิทธิมนุษยชนทั้ง 30 ข้อ เพื่อดูว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ตรงกับเรื่องของเด็ก และปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
สิ่งที่เราไปหยิบยกมาก็คือ หนึ่งคือนักเรียนจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ สองคือ เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรี ชื่อเสียง และความปลอดภัยในโรงเรียน
อย่างที่สามคือ สิทธิที่จะได้แสดงความคิดเห็น หรือมีเสรีภาพในการแสดงออก เพราะก็มีปัญหาที่ครูคุกคามเด็กในการแสดงออกทั้งเรื่องการเมืองและโรงเรียนหนักมาก เรายืนยันว่าโรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็ก และตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ในเมื่อโรงเรียนมีฝ่ายส่งเสริมประชาธิปไตย ครูทุกคนต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ทำไมครูยึดถือแต่สิ่งหลัง ไม่ได้ยึดถือประชาธิปไตยเลยใช่ไหม ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้คือประชาธิปไตย
ส่วนข้อสุดท้าย คือ โรงเรียนจะต้องเป็นพื้นที่ที่พัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และปฏิบัติกับเขาอย่างเป็นมนุษย์ นี่คือหลักการกว้างๆ ที่โรงเรียนควรยึดถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจะละเมิดไม่ได้
แล้วจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง?
ขอแบ่งเป็นสองส่วนละกัน ในแง่ของปัจเจกกับระบบ ตัวปัจเจกหมายถึงตัวครูเอง ที่ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วก็มองนักเรียนใหม่ จริงๆ ผมเชื่อว่าครูส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ๆ มีมุมมองที่เปลี่ยนไปแล้ว หลายคนก็พยายามจะเปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตัวเองอยู่ แต่บางคนอาจจะคุ้นชิน หรือถูกกดดัน ทำให้เขาต้องทำแบบเดิมๆ อยู่
ครูมักจะบอกเด็กอยู่เสมอว่าเด็กต้องกล้าแสดงออก ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น แต่ย้อนกลับมาถามตัวครู ในโรงเรียน ในที่ทำงาน ครูกล้าแสดงความคิดเห็นหรือยัง กล้าคิดต่างออกไปจากเดิมหรือยัง หรือเคยตั้งกับอะไรที่เป็นอยู่ ทั้งนโยบาย หนังสือเรียน หรือสิ่งที่ตัวเองสอนอยู่หรือยัง ผมว่าน่าจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตรงนี้ก่อน แล้วทีนี้ ครูก็มองย้อนกลับไป ตัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับนักเรียน พยายามลดอำนาจในแนวดิ่งลง แล้วลงมาอยู่ในแนวราบกับนักเรียนมากขึ้น
ผมขอใช้คำว่า ลดความเป็นครู ไม่ได้บอกว่าให้ครูไม่เป็นครูนะ แต่หมายถึงความเป็นครูแบบเก่าๆ ที่เราให้คุณค่ากันมาว่าครูมีบุญคุณจะต้องเถิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า ปกติก็จะมีคนมองผมแปลกๆ เหมือนกัน เวลาที่ผมสอนแล้วให้เด็กนั่งกับพื้น แล้วเราก็นั่งกับเด็กด้วย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันต่างกันเลยนะ จากที่เด็กนั่งแถวๆ แล้วครูอยู่หน้าชั้นเรียน มันก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับเด็กเหมือนกัน มันมีระยะความใกล้ชิดที่แสดงถึง ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ครูต้องเรียนรู้ตรงนี้ แล้วพยายามเข้าถึงเด็กให้ได้ แบบที่ไม่ใช่การเข้าไปจู้จี้ จุกจิก หรือวุ่นวายกับเขา แต่เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้รับฟัง เข้าไปแล้วไม่ไปตัดสินเขา แล้วให้พื้นที่ที่ทำให้เขาได้สบายใจ และได้แสดงตัวตนออกมา แล้วให้เขาได้บอกสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กก็จะดีขึ้น
การทำแบบนี้ จะทำให้อำนาจที่เหนือกว่า ที่ทำให้ครูละเมิดนักเรียนได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ลดน้อยลงไป รวมถึงเวลาที่เด็กมีอะไรไม่สบายใจ เขาก็จะเริ่มกล้าพูด แล้วครูก็ต้องกล้าฟังเด็กด้วยเช่นกัน เพราะเราบอกแล้วว่า สาเหตุของการละเมิดสิทธิ มันมาจากความสัมพันธ์แนวดิ่ง อำนาจที่มากกว่า คนเป็นครูมีอำนาจเหนือกว่า ครูต้องคิดว่าจะเอาอำนาจเหล่านั้น มาใช้ปกป้อง รับฟังเด็ก มันก็จะลดปัญหาการละเมิดพวกนี้ไปได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ ระหว่างครูพูดแล้วเด็กไม่ฟัง กับเด็กพูดแล้วครูไม่ฟัง มันไม่เหมือนกัน แล้วครูก็จะบอกว่า ทีครูพูด เธอก็ยังไม่ฟังเลย แบบนี้ไม่ได้ เพราะครูเป็นผู้ใหญ่กว่า มีวุฒิภาวะมากกว่า เราต้องรับฟัง และจัดการตรงนี้ให้ได้ เด็กเขายังต้องเรียนรู้ เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเขาในระนาบเดียวกัน
มันเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบผู้ให้-ผู้รับด้วยหรือเปล่า?
ใช่ เพราะว่าในระบบการศึกษาไทย เรามักจะเห็นว่าครูเป็นผู้ให้ แล้วนักเรียนเป็นผู้รับ ครูคือผู้ถ่ายทอด และครูคือผู้ขัดเกลา แล้วก็จะมีคำพูดว่าเด็กคือผ้าขาว ที่ขึ้นอยู่กับว่าครูจะแต่งแต้มสีอะไรให้กับเขา แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเรามาเรียนรู้กันจริงๆ จะพบว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นสีดำสกปรก แต่เขามีสีสันของตัวเอง มีคุณค่า มีประสบการณ์ มีมุมมองอะไรบางอย่างของตัวเองอยู่แล้ว หรือบางทีก็มองว่าเป็นแก้วเปล่า ที่เราให้เขา แล้วเขารับอย่างเดียว
อีกคำคือคำว่า ขัดเกลา เหมือนเราเปรียบเขาเหมือนวัตถุ เป็นไม้สักแท่งที่มีส่วนหนึ่งที่เราไม่ต้องการ ก็เลยเอาออก แล้วจะทำให้เขาเป็นรูปร่างตามที่เราต้องการ บอกว่าครูคือแม่พิมพ์ เด็กจะต้องเป็นให้ได้เหมือนฉัน ดีเหมือนฉัน อย่างที่ฉันต้องการ มันก็เลยเกิดความสัมพันธ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ได้เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว หรือร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ในปี พ.ศ.นี้ สังคมต้องตั้งคำถามร่วมกันว่า แล้วคุณค่าแบบไหนที่เราควรให้กับการศึกษา
ควรจะเป็นแบบพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา หรือเปล่า ถ้าแบบนี้ เรียกว่า พิพัฒนาการนิยม ก็ต้องดูว่า เราเซ็ตสภาพแวดล้อมให้เด็กเขาพร้อมที่จะเติบโต เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วหรือยัง หรือจะใช้แบบปฏิรูปนิยมไหม ให้เด็กตั้งคำถามกับตัวเอง ตั้งคำถามกับสังคม แล้วให้เด็กออกไปสร้างสังคมใหม่ให้มันดีกว่าเดิม หรือเราเป็นระบบการศึกษาที่บอกว่า โรงเรียนคือการจำลองสังคมภายนอก กฎแค่นี้ทำตามไม่ได้ จะไปอยู่ในสังคมภายนอกได้อย่างไร แต่ไม่เคยสอนให้เขาตั้งคำถามว่า กฎที่เป็นอยู่ สังคมที่เป็นอยู่ มันดีแล้วหรือยัง หรือจะเป็นแบบ อัตถิภาวนิยม ให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง อันนี้ยากเลยกับระบบการศึกษาไทย
สุดท้ายแล้ว ระบบการศึกษาไทย เรายังให้คุณค่ากับสองแบบแรกมากกว่า ด้วยความเชื่อว่า ครูคือผู้ให้ ครูคือผู้ขัดเกลา จริงๆ ครูที่มองการศึกษาในแบบอื่นๆ ก็มีนะ แต่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยเกินไป ดังนั้น สังคมควรจะตั้งคำถามกับครูและระบบการศึกษาว่าจะให้คุณค่ากับมันแบบไหนกันแน่
แล้วหน่วยงานรัฐสามารถเข้ามาแก้ได้อย่างไร?
ตัวกระทรวงศึกษาธิการ ต้องพยายามขจัดเรื่องระบบอุปถัมภ์ เพราะสิ่งที่ยังขวางอยู่คือ เมื่อครูกระทำผิดแล้ว ในวิถีข้าราชการ โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐ มันยากมากในการจัดการ และกระบวนการขั้นตอนในการสอบวินัยครู ก็ยืดเยื้อ รวมถึง ความอึดอัดใจของเด็กที่ต้องอยู่ในกระบวนการนี้ ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งโรงเรียนน่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่า บางครั้งกระบวนการทำให้เด็กไม่สบายใจที่จะมาเป็นพยาน หรือมีส่วนร่วม ส่วนเกี่ยวข้องกับตรงนี้
ดังนั้น กระทรวงควรจะมีมาตรการ หรือส่วนที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ ก็มีแหละ แต่ในทางปฏิบัติมันใช้ไม่ได้ เพราะเรายังเห็นเด็กถูกละเมิด หรือเกิดปัญหาแล้วครูก็ยังอยู่ และยังทำซ้ำๆ ถ้าไม่ได้เป็นข่าวหรือเป็นปัญหาใหญ่ ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ หรือดำเนินการแต่ก็ไม่ยุติธรรม พอผู้ปกครองหรือสื่อจะเข้ามาเรียกถาม ก็จะถูกรุมอีก
ด้วยความที่ครูและเด็กบางส่วนถูกปลูกฝังเรื่องรักสถาบัน ด้วยแนวคิดว่า ทำแบบนี้มันจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำแบบนี้ไม่รักโรงเรียนเหรอ? มันทำให้เด็กบางส่วนไม่กล้าออกมาพูด ขณะที่ เด็กบางส่วนที่ออกมาพูดแล้วก็ถูกกดทับด้วยความคิดและความเชื่อแบบนี้ สุดท้ายก็ เรื่องของเขาก็จะถูกทำให้เงียบหายไป ทั้งๆ ที่กลไกที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ก็คือสื่อและสังคม
คิดว่าการเรียกร้องสิทธิของเด็กจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
ผมหวังว่า ในอนาคตการละเมิดสิทธิจะลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้ เราเข้าถึงสื่อได้ง่าย เมื่อก่อนครูตีเด็กก็ไม่มีใครรู้หรอก อย่างมากก็เป็นรอยเขียวแล้วพ่อแม่ถึงจะรู้ แต่เดี๋ยวนี้มีคลิป มีสื่อโซเชียล สิ่งเหล่านี้จะทำให้พฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิเด็กลดลงได้ รวมถึง เมื่อมีเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น กระแสของสังคมก็จะเริ่มกำหนดคุณค่าใหม่ เริ่มกำหนดค่านิยมใหม่ในสังคม
เมื่อถึงจุดที่เรายึดเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นคุณค่าหลักของสังคม เมื่อนั้นแหละ ปัญหาการละเมิดสิทธิจะลดน้อยลงจนหมดไป ก็เป็นกระบวนการทางสังคมที่สังคมมองเห็น และกำหนดคุณค่าอะไรบางอย่างร่วมกัน