โปรดใช้วิจารณญาณในการรับคำคม
คำเตือน : บทความนี้มีคำคมเต็มไปหมด และส่วนมากมักจะไม่จริง หรือถูกบิดเบือนที่มา อย่าได้นำไปใช้ผิดๆ
“อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณได้อ่านในอินเตอร์เน็ต – อับราฮัม ลินคอห์น (ไม่ได้พูด)”
ชีวิตอาจไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่โปรยบทความด้วยคำคมลินคอห์นก็น่าจะดีนะ เปิดบทความของเราด้วยคำคมคนดังช่วยปูทางสร้างพลังได้ดี คำคมของผู้อื่นเป็นผงชูรสให้กับงานเขียน งานภาพยนตร์ ทำให้บทความของเราพูดคนเดียวน้อยลง ทำให้เกิดมิติ มีมุมมองจากความคิดคนอื่นมาประกอบ บางครั้งเขาพูดได้ดีแล้วก็หยิบมาเลยละกัน ใครๆ ก็หยิบใช้ได้ เข้าใจง่าย นี่คือเหตุผลที่ใครๆ ก็รักคำคม
วันหนึ่ง ดาราสาว Reese Witherspoon โพสต์ภาพคำคมของเชกสเปียร์ลงในอินสตาแกรม แล้วโดนชาวเน็ตมากระหน่ำคอมเมนต์ด่าว่า “เฮ้ยมั่วอะ เชกสเปียร์ไม่ได้พูด” น่าสงสารเหมือนกัน เธอก็เหมือนคนส่วนใหญ่ในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้ตรวจทานที่มาของคำคมสร้างแรงบันดาลใจ รู้สึกว่าโดนใจก็แชร์ออกไป จะคิดอะไรมาก พอโดนถล่มเธอก็ลบโพสต์ไป ดาราหลายคนจึงเลือกใช้ unknown เป็นแหล่งที่มาไปเลย ฉันไม่รู้ไม่ผิด
หลายครั้งคำพูด (Quote) ของคนดังยอดฮิตที่เราพบเห็นบ่อยๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ หรือทำให้โดนใจ ที่เราเรียกว่า ‘คำคม’ หากเช็กดูจะพบว่าเจ้าของคำพูดนั้นไม่ได้พูดเลย
หน่วยสืบสวนสอบสวนที่มาของคำคม
บล็อก Quote Investigator หรือนักสืบสวนคำคม เกิดขึ้นจาก Garson O’Toole ผู้สำเร็จปริญญาเอก จาก Yale University รำคาญเวลาคนแชร์คำพูดคนดังที่เผยแพร่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ตแบบผิดๆ จึงสร้างบล็อกจับผิดคำคมขึ้นมา ให้คนทางบ้านสามารถส่งคำคมมาถามได้ แล้วเขาจะสอบสวนหาคำตอบให้ว่าคำเหล่านั้นมีต้นตอมาจากไหน คนดังที่ถูกกล่าวอ้างได้พูดจริงไหม ถูกนำไปแปลงเยอะแค่ไหน
เครื่องมือสำคัญของเขาคือ Google Book โปรเจ็กต์ที่บริษัทกูเกิ้ลเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน โดยมีภารกิจที่จะแปลงหนังสือในโลกให้เป็นไฟล์ดิจิตัลให้หมด ในปี 2010 กูเกิ้ลประเมินว่าโลกนี้มีหนังสือประมาณ 129,864,880 เล่มที่ต่างกัน ปัจจุบัน ได้สแกนไปแล้วกว่า 25 ล้านเล่มเก็บในคลัง และเสียเงินไปกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้วิศวกรซอฟต์แวร์มากมายสร้างอัลกอริทึ่มที่แปลงภาพเป็นเท็กซ์ที่เสิร์ชหาได้
ผลของคลังหนังสือยักษ์นี้ ทำให้สามารถเสิร์ชหาข้อความที่เคยปรากฏจากในหนังสือทั่วโลกได้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ย้อนเวลากลับไปได้ไกลโพ้น
แล้วก็จะพบความจริงว่าคำคมจำนวนมากนั้นมั่ว ถูกบิดเบือนจากต้นฉบับ ไม่มีที่มาชัดเจน ถูกผลิตซํ้าแบบไม่จริง
คำคมไม่จริงและที่มาของความผิดพลาด
1. ให้เครดิตผิดคน
“Good Artists Copy; Great Artists Steal” “ศิลปินที่ดีลอกเลียนแบบ ศิลปินที่ดีกว่าขโมยเลย” มักถูกอ้างอิงว่าเป็นคำพูดของปิกัสโซ่ แต่จริงๆ แล้วไม่มีหลักฐานใดบอกว่าเขาเคยพูด คำพูดนี้ถูกเข้าใจผิดบ่อยครั้ง กระทั่งสตีฟ จ็อบส์ยังเคยใช้อ้างถึงในบทสัมภาษณ์หนึ่ง หากโยงไปใกล้เคียงสุดๆ T.S. Eilloit กวีชื่อดังเคยพูดว่า “Immature poets imitate; mature poets steal” ซึ่งในยุค 20s มักขยายความต่อกันว่า กวีห่วยๆ จะทำสิ่งที่เขาเอามาให้เสียคุณค่า แต่กวีเก่งๆ จะทำให้มันดีขึ้น
2. ฮิตมาก ใช้ซํ้าจนไม่แน่ใจว่าใครพูด
“หากรักใคร ให้ปล่อยเขาไป ถ้าเขากลับมา เขาคือของคุณ” (“If you love someone, set them free, if they come back, they’re yours.”) Richard Bach ผู้เขียนโจนาธาน ลิฟวิงสตัน ไม่ได้พูดไว้ อาจเป็นคำทั่วๆ ไปที่หาที่มาไม่พบ Jess Lair ทำให้มันฮิตขึ้นมาในปี 1969 จากนั้น Peter Max นักวาดการ์ตูนใช้อีกเวอร์ชั่น “หากรักใคร ให้ปล่อยเขาไป ถ้าเขากลับมา เขาคือของคุณ ถ้าไม่กลับมา เขาไม่เคยเป็นของคุณแต่แรกแล้ว” ใส่ไว้ในหนังสือการ์ตูนภาพของเขา โดยให้เครดิตว่า Unknown
“มันดีถ้าเราเป็นคนสำคัญ แต่มันสำคัญกว่าถ้าเป็นคนดี” (“It is nice to be important, but more important to be nice.”) กลายเป็นคำคมของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในชีวประวัติเขาปี 2007 เท่าที่หาบันทึกไว้ จริงๆ แล้วมันอยู่มาในโลกตั้งแต่ปี 1937 เมื่อลองเสิร์ชพบว่า คำชุดนี้ฮิตมากจนมีคนอ้างผู้พูดแตกต่างกันถึง 3-4 คน ฮิตขนาดนี้น่าจะกลายเป็นสุภาษิตคำพังเพยได้แล้วแหละ
3. เกิดจากการสรุปความโดยคนอื่น แต่ถูกเข้าใจผิดว่าคนดังพูดเอง
หลายครั้ง นิตยสารหรือหนังสือบางเล่มพยายามจะหยิบประเด็นสาระของบุคคลสำคัญหรือคนดังออกมาเขียนสั้นๆ สรุปแบบกระชับประกอบไว้ในบทความ พอคนอ่านโดนใจ จึงหยิบไปเป็นใช้ต่อๆ กันไปโดยเข้าใจว่าคนดังนั้นได้พูดเอง
บางครั้งคำคมคนดัง อาจมีต้นตอที่แท้จริงจากคนที่ดังน้อยกว่า “ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ฉันจะรักษาสิทธิ์ในการพูดของคุณด้วยชีวิต” เป็นคำคมเกี่ยวกับเสรีภาพทางการแสดงออกถูกอ้างอิงผิดๆว่า Voltaire เป็นผู้พูด จริงๆแล้ว มาจาก Evelyn Beatrice Hall ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Voltaire เฉยๆ
4. ดัดแปลงเปลี่ยนคำพูดเดิมให้คมขึ้น
บางครั้งคำคมที่เราพบ เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแรกของจริงอาจจะต่างกัน เพราะถูกปรับมาหลายรอบ เหลาจนมันคม พูดต่อง่ายแบบที่เราได้ยิน “อัจฉริยภาพเกิดจากแรงบันดาลใจ 1% และหยาดเหงื่อ 99%” คำคมของโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่เรามักเห็นในหนังสือ บทความให้กำลังใจ และโฆษณานับครั้งไม่ถ้วน เวอร์ชั่นแรกคือบทความย่อหน้าหนึ่ง มีคนถามเอดิสันว่า “อัจฉริยภาพคืออะไร” เขาตอบว่าคือการทำงานหนัก “2% is genius and 98% is hard work.” เวลาผ่านไป 40 ปี มีหลากหลายเวอร์ชั่นจากหลายแหล่ง จนกระทั่งในปี 1932 นิตยสาร Harper’s ได้ตีพิมพ์ “Genius is 1% inspiration and 99% percent perspiration” แปลง 2% เป็น 1% แบบที่ฮิตอยู่มาทุกวันนี้
5. อยู่ๆก็โผล่มาในโลกและคงจะอยู่ต่อไป
“มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ก็ไม่ได้พูดคำนี้อย่างที่หลายคนจำได้และอ้างถึง ครั้งแรกที่มันปรากฏขึ้นคือเป็นคำสร้างบันดาลใจจากใบปลิวของสมาคมผู้ติดยาเสพติดนิรนาม ในปี 1981 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไอน์สไตน์เลย
อีกตัวอย่างเช่น “ความจำ 640K ควรเพียงพอสำหรับทุกคน” (“640K Ought to be Enough for Anyone”) โดย บิล เกตส์ ในกรณีนี้บิล เกตส์โชคดีที่ยังมีชีวิต ได้อยู่รับรู้คำพูดที่อ้างอิงผิดถึงตัวเองและออกจะเซ็ง เคยเขียนแก้ข่าวในบทความว่า “ผมอาจจะพูดอะไรผิดไปบ้าง แต่ไม่ใช่อันนั้นแน่นอน ไม่มีใครที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่จะพูดว่าความจำ 640K ควรเพียงพอสำหรับทุกคน”
สั้นและไวคือหัวใจของคำคม
‘คำคม (Quote)’ คือคำพูดสั้นๆ ขนาดกระชับ อาจสรุปสารปริมาณมหาศาลจนเหลือเพียงสาระสำคัญ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง นำไปประกอบบริบทต่างๆ ได้ง่าย ทำให้แนวคิดถูกเผยแพร่ต่อได้อย่างไว จำได้ง่าย ส่งต่อได้ไว ดูดีมีความรู้
อย่างพุทธศาสนสุภาษิตก็เป็นแคมเปญคำคมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเผยแผ่ศาสนาที่ได้ผล เสพง่ายกว่าการอ่านพระไตรปิฎกแน่นอน
ยิ่งมวลมนุษย์รักคอนเทนต์สั้นๆ ไวๆ เท่าไหร่ คำคมก็จะลอยเกลื่อนในกระแสอากาศอินเตอร์เน็ตต่อไป แพร่หลายอยู่ในทุกโซเชียลมีเดีย ทั้งหนังสือ นิตยสาร twitter, pinterest, instagram และ facebook เพราะมันสะดวก บทความยาวๆ อาจไม่มีใครอ่าน แต่ใครๆ ก็สร้างคำคมได้ ภายใต้พื้นที่ 140 อักษรของทวิตเตอร์ คนดังไม่ได้เป็นเจ้าของคำคมอีกเสมอไป คำคมหรือคำเพ้อเจ้อที่โดนใจสามารถมาจากใครก็ได้ ใครก็สร้างคำคมได้เพราะอินเตอร์เน็ตมีที่ให้สำหรับทุกคน
ในงานออกแบบเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นบนหน้ากระดาษหรือบนหน้าเว็บไซต์ คำคมช่วยคั่นบทความที่ยาวยืด ให้ผู้อ่านได้พักสายตา เกิดการเน้น สำหรับคนที่ไม่มีเวลามาอ่านบทความยืดยาวก็จะกวาดตามาเห็นคำคมในหน้า จับสาระสำคัญอย่างไว
“สำหรับคนที่ไม่มีเวลามาอ่านบทความยืดยาว ก็จะกวาดตามาเห็นคำคมในหน้า จับสาระสำคัญอย่างไว”
ใครคือเจ้าของคำคม? คำคมมีลิขสิทธิ์ไหม?
ในโลกนี้ ทุกอย่างที่เราหยิบมาใช้หากมีเจ้าของต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน (โดยเฉพาะถ้าเขายังมีชีวิต) หากนำไปใช้เป็นสโลแกนโฆษณาสินค้า สกรีนบนเสื้อยืด ถุงผ้า สมุด ถ้าชุดคำนั้นโดดเด่นมาก ไม่ใช่คำทั่วไป ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ฟ้องร้องได้คือเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ หากเขายืนยันได้ว่ามันเป็นของเขาจริงๆ
ถ้าไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร แต่ใช้ส่วนตัว ใช้ในการศึกษาหรือวิจัย รายงานความจริงในข่าว อาจจะได้รับการยกเว้นภายใต้ Fair Use หากถูกฟ้องร้อง แต่การให้เครดิตแหล่งที่มาในบางกรณีก็อาจไม่ได้คุ้มครองเสมอไป ถ้าเจ้าของไม่ได้ให้อนุญาตก่อนใช้ก็อาจโดนฟ้องร้องได้
ต้องระวังว่าในงานเรา ไม่ควรจะมีคำพูดมาจากแหล่งเดียวกันมากเกินไป (ไม่งั้นไปอ่านต้นฉบับดีกว่าไหม) โดยทั่วไป ถ้าเป็นคำคมที่มีมานานแล้ว เกิน 100 ปีขึ้นไป จะสามารถใช้ได้ (แล้วแต่กฎหมายแต่ละประเทศ) ดังนั้นถ้าเรายกคำคม ขงจื๊อ เพลโต โสเครติส บีโธเฟ่น ดา วินชี สุนทรภู่ นีทเช่ ฯลฯ มาใช้ ก็จะใช้ได้แบบสบายอกสบายใจ
ย้อนกลับไปที่บริการ Google Book สิ่งที่กูเกิ้ลทำก็อาจนับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เพราะสแกนหนังสือของทุกหัวเก็บไว้โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของโดยตรง แต่ขอผ่านห้องสมุดที่ละมากๆ โดยอ้างการใช้ fair use ว่ากลไกของกูเกิ้ลคือ หากหนังสือมี copyright ก็จะเห็นได้แค่ข้อความที่เสิร์ชเท่านั้น และหนังสือที่เลิกตีพิมพ์ไปแล้วส่วนใหญ่ ไม่มีใครแน่ใจว่าใครคือเจ้าของมันกันแน่
สุดท้ายเราอาจสามารถใช้คำคมได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การนำไปตั้งสเตตัส เป็นแคปชั่นรูปที่ไปเที่ยวมา อยากทำก็เอาเลย แต่ก็ควรให้เครดิตหากเรารู้แก่ใจว่าใครพูด ไปจำใครเขามา เราไม่ได้คิดเอง และพยายามเช็กความถูกต้องสักหน่อย เผื่อใจไว้หน่อยว่าสิ่งที่เราเคยรู้มา ไปจดจำมาอาจไม่จริง
ไม่ต้องหวาดกลัวจนเกินไป ไม่มีใครไม่โดนด่า โดนจับผิด เพราะมีคนบอกไว้ว่า
“หากไม่อยากโดนวิจารณ์ ก็อย่าพูดอะไร ทำอะไร และเป็นอะไรเลยละกัน” – ไม่ใช่ Aristotle พูดไว้ แต่เป็น Elbert Hubbard (1898)
หากสนใจเรื่องที่มาคำคม ชวนอ่านหนังสือเรื่อง ‘Hemingway Didn’t Say That’ เขียนโดย หน่วยสอบสวนคำคม Quote Investigator
คำเตือน: หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่ชอบคำคมทั่วๆ ไปที่สร้างแรงบันดาลใจ “ทำตัวเหมือนเด็กหน้าชั้นที่ชอบยกมือบอกว่าครูพูดผิด” “ไม่เหมาะกับการอ่านเพลินๆ มีแต่ Reference” ตัวอย่างรีวิวของผู้อ่าน จาก Goodreads
อ้างอิงข้อมูลจาก
Reese Witherspoon Misquote Shakespeare
Cover Illustration by Namsai Supavong