“คำที่บอกว่า ‘เรากำลังจะตาย’ ที่แต่ละร้านเขาพูดกัน ตายมันคือตายจริงๆ นะครับ ตอนนี้ประชาชนทุกคน ผู้ประกอบการร้านต่างๆ เขาทำทุกอย่างเท่าที่เขาจะทำได้แล้ว”
เมื่อคืนวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2564 ใกล้ย่างเข้าวันใหม่เต็มที รัฐบาลได้มีการการประกาศกึ่งล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร–ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างเป็นทางการผ่านราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ 28 มิถุนายน เป็นต้นไป
ประกาศฟ้าผ่าคืนดังกล่าว ตามรายละเอียดระบุว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร–ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา)
หนึ่งในข้อห้าม คือ การสั่งให้ร้านอาหารต่างๆ ในพื้นที่ล็อกดาวน์ งดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ให้สั่งกลับบ้านเท่านั้น
ดูเหมือนจะเป็นการขยับมาตการจากภาครัฐที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารเจ็บปวดใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเพิ่งจะได้กลับมาเปิดให้นั่งกินในร้านรอบใหม่ได้ไม่นานนัก ก็ต้องมาถูกสั่งห้ามนั่งในร้านอีกรอบ ทั้งที่ยอดขายกำลังกลับมาวิ่ง
‘ไก่—สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพันธ์’ หนึ่งในเจ้าของร้าน จิมส์ เบอร์เกอร์แอนด์เบียร์ (JIM’s Burgers & Beers) จึงออกมาส่งเสียงในฐานะผู้ประกอบการ ส่วนตัวเขาไม่คิดว่าการสั่งปิดให้นั่งในร้าน 30 วัน จะช่วยอะไรได้ ซ้ำยังจะซ้ำเติมคนทำธุรกิจเข้าไปอีก เพราะตอนนี้สิ่งเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาคือ ‘วัคซีน’ ที่มีประสิทธิภาพมากพอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
“ผมเห็นข่าวตอนตีหนึ่ง (ของวันที่ 27 มิถุนายน) กำลังนั่งดูบอล คืนนั้นนอนไม่หลับ ทั้งๆ ที่ร้านเรายอดขายแบบสั่งกลับบ้านก็ยังพอสู้ได้อยู่ แต่มากกว่านั้น ผมสงสารผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย หลายคนตั้งสเตตัสเลยว่าไม่ไหวแล้ว บางคนบอกอยากตาย” ไก่เล่าให้เราฟัง
สำหรับเขาแล้ว ประกาศสั่งห้ามกินในร้านฉบับล่าสุด “มันเป็นการการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดอะไรเลย และไม่มีหลักการเหตุผลอะไรเลย จริงๆ ไอ้คำที่บอกว่า ‘เรากำลังจะตาย’ ที่แต่ละร้านเขาพูดกัน ตายมันคือตายจริงๆ นะครับ ตอนนี้ประชาชนทุกคน ผู้ประกอบการร้านต่างๆ เขาทำทุกอย่างเท่าที่เขาจะทำได้แล้ว”
ไก่มองว่าตอนนี้ผู้ประกอบการไทยเหมือนอยู่ในช่วงโคม่า พยายามดิ้นรนชีวิต ที่เขาใช้คำว่า ‘ผู้ประกอบการ’ เพราะว่า การสั่งห้ามนั่งร้านอาหารไม่ได้กระทบแค่ตัวร้านอย่างเดียว แต่มันยังกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบ ร้านอาหารรับสินค้ามาจากซัพพลายเออร์ ซัพพลายเออร์รับสินค้ามาจากเกษตรกร ทำให้ภาคเศรษฐกิจเสียหายต่อกันเป็นโดมิโน
ดังนั้นสำหรับไก่แล้ว เขามองว่าจังหวะนี้การสั่งปิดร้านอาหารไม่ใช่ทางออกเลย และหากดูจากข่าวที่ผ่านมา ร้านอาหารก็ไม่ใช่จุดเกิดเหตุของคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
“ทางออกเดียวคือวัคซีนครับ” เขาบอกเสียงหนักแน่น
“ซึ่งเราเห็นการบริหารจัดการอยู่แล้วว่าวัคซีนเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น เราได้วัคซีนไม่เพียงพอเหมาะสม เทียบกับเพื่อนบ้านเราก็ยังได้ ผมมองว่ารัฐบาลไม่ได้มองประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เขาเลยไม่ได้มีนโยบายที่สะท้อนไปยังความลำบากของประชาชน ถ้าเขามองประชาชนสำคัญ นโยบายแบบที่ออกมาตอนนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย
“เขาบอกว่าสั่งปิดร้านอาหารเพราะถอดแมสก์กันบ่อย แต่มันเป็นแนวคิดที่ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเลย คิดแต่ว่าจะให้ตัวเลขลดลง การเยียวยาไม่มีเลย ถ้าดูคลัสเตอร์ที่ผ่านมา ไม่ใช่ร้านอาหารที่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ […] สั่งห้ามขายแอลกอฮอล์มาตั้งหลายเดือนเราก็ทำ เราไม่ขาย แต่ตัวเลขมันก็ไม่ได้ลดลงเลย”
ตัวเลขล็อกดาวน์ 30 วันที่เกิดขึ้น ไก่เชื่อว่ามันอาจจะเป็นบทสุดท้ายของร้านอาหารหลายร้าน เพราะในขณะที่วัคซีนก็ยังล่าช้า การเยียวยาไม่เคยเกิดขึ้นเช่นกัน
“พวกเขา (คนที่ออกมาตรการ) เป็นข้าราชการมีเงินเดือนประจำ เขาไม่ได้เดือดร้อน ขณะที่พวกเราปรับตัวกันจนไม่รู้จะปรับยังไงแล้ว […] ผมพูดตรงๆ ผมมองไม่เห็นว่าการทำงานของคณะบริหารชุดนี้จะแก้ไขปัญหาได้ […] ประชาชนต้องดูแลตัวเองแล้วเราจะมีรัฐบาลทำไม การมีรัฐบาลก็คือต้องมาคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตประชาชน แต่ตอนนี้เราไม่รู้สึกว่ามีความปลอดภัย มั่นคงในชีวิตเลย”
“อยากให้ลงมาเจอพวกเรา ฟังเสียงพวกเราบ้าง พวกเราคือประชาชนคนหนึ่งที่ให้ความร่วมมือมาตลอด คุณต้องมาฟังว่าเราเจออะไร รับฟังและแก้ไขปัญหา ถ้าทำไม่ได้ก็ยังมีคนอื่นที่เข้ามาช่วยได้ อย่าดันทุรัง ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นชุดผู้บริหารประเทศที่มีคนจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ไก่ทิ้งท้าย
#interview #quote #TheMATTER