เข้าสู่ช่วงเทศกาลงานบุญประจำปีที่เขาชนไก่ น้องๆ รักษาดินแดน หรือที่ชอบเรียกกันอย่างย่อๆ จนเคยปากมากกว่าว่า ร.ด. ก็ถึงเวลาจะต้องไปเก็บเวล เก็บแต้มบุน บำเพ็ญตบะ กันตามวาระประจำปีกันอีกหน
แต่ไม่ว่าจะเป็นการฝึกที่เหนื่อยยากปานกับการฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษ (เอ่อ ผมหมายถึงในแง่ของความรู้สึกของน้องๆ เขา ไม่ใช่ว่าจะฝึกโหดโฮกกันขนาดนั้นจริงๆ อะนะ) แถมยังต้องทนทรมานกับเปลวแดดแผดร้อน ดินโคลนเหนียวหนืดที่ขนาดแห้งกรังแล้วก็ยังเป็นสะเก็ดเกาะผิวหนังให้เกะกะ บวกเข้ากับน้ำท่าที่ไม่ได้อาบ และอาหารที่ไม่น่าจะถูกปากใครสักคนภายในประเทศนี้ เมืองนี้ นี่ต่างก็มีเหตุผลที่มาสารพัดอย่างนะครับ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ พวกพี่เขาจะลากน้องๆ ไปฝึกโดยไม่มีเหตุผล
และสำหรับเหตุผลในแง่ของรากที่มาทางประวัติศาสตร์นั้น ก็เพราะต้นแบบของอะไรที่ในปัจจุบันเรียกว่า ร.ด. นั้น เขาฝึกกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรบทัพจับศึกจริงๆ นั่นแหละ
เรื่องของเรื่องมันเริ่มขึ้นในช่วงราว พ.ศ. 2478 ซึ่งนอกจากจะเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ของประเทศสยามแล้ว ยังเป็นช่วงระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพิ่งจะจบลงไปไม่ถึง 20 ปีเลยด้วยซ้ำ (สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงเมื่อปี พ.ศ. 2461)
แต่ถึงแม้ว่าสงครามโลกครั้งแรกจะจบลงไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าโลกจะถึงคราวสงบกันได้ง่ายๆ เหตุการณ์ต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งแรก ไปจนถึงกลิ่นตุๆ ที่กำลังเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งเริ่มวอร์กันเมื่อ พ.ศ. 2482) ทำให้รัฐสยามเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม ดังปรากฏข้อความในระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ดังนี้
“ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ของโลกปัจจุบัน (พ.ศ. 2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆ มาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆ มาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง”
ข้อความในระเบียบทหารบกที่ 1/7742 ที่ผมยกมาข้างต้น คือระเบียบว่าด้วยนักเรียนที่เข้ารับการฝึกทหาร ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 โดยความในระเบียบข้อนี้ที่ระบุว่า ‘ชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน’ จึงทำให้ไม่แปลกอะไรที่รัฐจะเห็นว่า การนำใครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาฝึกทหารนั้นเป็นสิ่งอันสมเหตุสมผล เพราะถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ใครทุกคนในชาติก็ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามร่วมกันหมดอยู่แล้ว การฝึกเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไว้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย แถมยังเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า หากว่าโลกเกิดจะวอร์กันขึ้นมาจริงๆ
แน่นอนว่า ‘ทหาร’ ในที่นี้ไม่ใช่นายทหารอาชีพ แต่ก็ยังไม่ได้เรียกว่า ‘ร.ด.’ อย่างในปัจจุบัน เพราะในสมัยโน้นเค้าเรียกอะไรทำนองนี้ว่า ‘ยุวชนทหาร’ ต่างหาก
แต่เอาเข้าจริงแล้ว หลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฝึกทหารเพื่อเป็นยุวชนทหาร ก็ไม่ได้ต่างจาก ร.ด. เท่าไหร่นักหรอกนะครับ เพราะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปี, เป็นลูกเสือเอก และท้ายที่สุดคือต้องเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เรียกได้ว่ามีหลักเกณฑ์และอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันกับ ร.ด. ในปัจจุบันนี่แหละนะครับ
การฝึกยุวชนทหารครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 นั้นเป็นเพียงการฝึกนักเรียนทหารจำนวน 315 นาย ภายใต้ความอำนายการของมณฑลทหารบกที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจึงค่อยขยายกว้างขวางออกไปในต่างจังหวัด และในอีกหนึ่งปีต่อมาตรงกับ พ.ศ. 2479 ค่อยมีการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกฝึกที่ 6 กรมจเรทหารบก และยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมยุวชนทหารบก’ เมื่อ พ.ศ. 2481 หนึ่งปีก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะตรงปรี่เข้ามาทักทายกับชาวโลก
น่าสังเกตว่า กรมยุวชนทหารบก เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘กรมเตรียมการทหาร’ ด้วยความมุ่งหมายที่จะขยายการให้ความรู้ทางวิชาการทหารแก่ประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2484 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเข้าไปมีเอี่ยวกับส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพา (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2) อย่างเต็มตัว
ใช่ครับใช่ สำหรับใครที่รู้จักประวัติศาสตร์ในสงครามมหาเอเชียบูรพาก็จะทราบว่า ยุวชนทหารเหล่านี้นี่แหละที่มีบทบาทคอยช่วยเหลือนายทหารประจำการ ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาลนายทหารบาดเจ็บ หรือการรับคำสั่งยิงพุ่มไม้ใบหญ้าที่สั่นไหวเพราะเป็นทหารญี่ปุ่นที่พรางตัว จนทำให้ทัพญี่ปุ่นต้องหยุดบุกไปชั่วระยะหนึ่ง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในประเทศไทยทางปากน้ำชุมพร จนเกิดสมรภูมิที่สะพานท่านางสังข์ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนกระทั่งทำให้มีอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ตั้งอยู่ที่สะพานท่านางสังข์มาจนกระทั่งทุกวันนี้
แต่เยาวชนตาดำๆ (เอิ่มม ผมหมายถึงเยาวชนเมื่อครั้งกระโน้นอะนะ) เหล่านี้กลับต้องมาเสี่ยงชีวิต เพียงเพื่อให้รัฐของนายเหนือที่สั่งพวกเขาไปเสี่ยงอันตรายประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับชาติของนายทหารที่หันปลายกระบอกปืนใส่พวกเขา ในอีก 13 วันต่อมา คือวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เท่านั้น (เอาน่า! อย่างน้อยพวกนายก็ยังได้อนุสาวรีย์มาเป็นการปลอบขวัญ #ตบบ่าๆ)
และก็เป็นในช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพานี่แหละครับ ที่การฝึกยุวชนทหารได้เจริญก้าวหน้าไปมาก ได้มีการตราพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2486 เพื่อกำหนดโครงสร้างทางการปกครอง บทบาท หน้าที่และอำนวยการฝึกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้ง 2 จบลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ส่วนประเทศไทยรอดจากการตกเป็นชาติที่แพ้สงครามไปอย่างฉิวเฉียด
พ.ศ. 2490 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 2 ปีพอดีพอดิบ การฝึก ‘ยุวชนทหาร’ ได้ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2490 เพราะต้องการนำงบประมาณไปใช้ในกิจการลูกเสือแทน และลดความซ้ำซ้อนของหน้าที่รับผิดชอบ เพราะกรมเตรียมการทหาร เรียกได้ว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการปกป้องเยาวชนหรอกนะครับ
แต่เพียงแค่หนึ่งปีถัดจากนั้นเอง คือในปี พ.ศ. 2491 ‘ยุวชนทหาร’ ก็ได้กลับมาใหม่ภายใต้ชื่อของ ‘ร.ด.’ อย่างที่เราในปัจจุบันคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
แถมยังมีการจัดตั้ง ‘กรมรักษาดินแดน’ ขึ้นภายในปีเดียวกันนั้นเลยด้วย โดยรัฐท่านได้ให้เหตุผลในการรีบอร์นของยุวชนทหารในชื่อใหม่นี้ เพียงสั้นๆ เอาไว้ว่าเพราะ ‘ความจำเป็นในด้านการเตรียมกำลังสำรองสำหรับประเทศยังคงมีอยู่’
และก็เป็นความจำเป็นที่ว่านี่แหละครับ ที่ทำให้น้องๆ ต้องไปเก็บเวล บำเพ็ญตบะ และเพิ่มแต้มบุนกันที่เขาชนไก่มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ไม่ต้องสนใจหรอกนะครับว่า สงครามในโลก พ.ศ. 2560 จะมีเสื้อผ้าหน้าผมเหมือนกันสงครามที่บรรดาท่านผู้นำในยุคก่อน พ.ศ. 2500 หรือเปล่า? การฝึกเพื่อเตรียมพร้อมจะทำสงครามในรูปแบบเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว จะมีประโยชน์แน่หรือ?
แต่สิ่งที่ชวนให้อนิจจังกว่าก็คือ มีใครในประเทศนี้บ้างที่ไม่รู้ว่า แต้มบุนที่น้องๆ รักษาดินแดนทั้งหลายเค้าพยายามไปเก็บเพิ่มนั่นน่ะ คือแต้มบุนที่จะช่วยให้น้องๆ เขาไม่ต้องเสี่ยงไปเกณฑ์ทหารแล้วซ้วยยซวยจับได้ใบแดง 😛