1
คุณจะไปโหวตโนหรือโหวตเยสครับ?
อ๊ะ! นี่ผมไม่ได้ถามถึง ‘ประชามติ’ ของคนในประเทศที่คุณคิดหรอกนะครับ แต่ผมถามเรื่อง Brexit หรือการที่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรเขาจะไปโหวตกันว่าจะอยู่หรือจะไปจากอียูต่างหากเล่า
อ้าว! ลืมไป-คุณไม่มีสิทธิโหวตนี่นา…ก็คุณไม่ได้เป็นชาวบริติชบริเตนอะไรกับเขา แต่เป็นชาวไทยตาดำๆ ที่กระทั่งจะพ่นลมจากปากให้คำพูดมันหล่นออกมาว่าเยสโนโอเคอะไรก็ดูเหมือนจะมีรองเท้าบู้ตติดคออยู่ หลายคนเลยไม่กล้าพูดออกมาว่าจะไปโหวตไม่ไปโหวต ไม่กล้าแม้กระทั่ง ‘วิจารณ์’ ว่าสิ่งที่ตัวเอง ‘ถูกบังคับ’ ให้ต้องไป ‘ทำหน้าที่’ ตามที่อะไรก็ไม่รู้กำหนดเอาไว้นั้น-มันดีงามทรามชั่วอย่างไร ไม่ต้องวิจารณ์กันทั้งหมดก็ได้ แค่วิจารณ์ใน ‘พื้นที่’ ที่ตัวเองเกี่ยวข้อง (เช่นเรื่องการศึกษาอย่างที่เด็กนักเรียนมัธยมบางคนลุกขึ้นมาทำ) ก็ดูเหมือนหลายคนจะไม่ค่อยกล้าสักเท่าไหร่
ก็แหม! ขู่กันจังนี่นา!
ขู่ฟ่อๆ น้ำลายฟ่อดกันแบบนี้ ใครจะไปอยากพูดถึงการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (ที่จริงๆ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้) ของประเทศอะไรก็ไม่รู้กันล่ะครับ
แต่เอ…จะไปพูดถึง Brexit ก็เหมือนจะมีความรู้ไม่พอ แถมยังให้ความรู้สึกไกลตัวอีก รู้แค่เขาบอกกันว่า ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากอียูนี่-ราคาทองคำอาจจะขึ้น แค่นี้หลายคนคงเชียร์ให้ออกๆ ไปเสียทีน่าจะดี เพราะทองคำที่ถูกแถมมาจากดอยสมัยสองสามปีก่อนโน้นยังคาอยู่เลย จะได้ชำระล้างมันเสียให้เกลี้ยงเกลา
สรุปก็คือ ประชามติของประเทศแถวๆ นี้ก็พูดไม่ได้เพราะเขาไม่ให้พูด ส่วนประชามติของอังกฤษก็ไม่อยากจะพูดเพราะโง่จัด-ไม่มีความรู้,
แล้วจะชวนคุณไปชมประชามติแบบไพร่ๆ ที่ไหนกันล่ะนี่!
2
คุณคงเคยได้ยินคำว่า Arab Spring กันนะครับ
หลายปีก่อน ผมเคยแปลหนังสือเรื่อง Revolution 2.0 อันเป็นเรื่องราวของการลุกฮือปฏิวัติของประชาชนชาวอียิปต์ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของจอมเผด็จการฮอสนี มูบารัค
ที่เขาใช้คำว่า Revolotion 2.0 หรือการปฏิวัติแบบ 2.0 นั้น ก็คือการพูดถึงโลกแบบ 2.0 คือโลกออนไลน์ที่ใช้สื่อดิจิตอลในการ ‘ชุมนุม’ นั่นแหละครับ ด้วยการเปิดเพจเฟซบุ๊ก แล้วระดมพลกันในนั้น แต่ต่อให้ระดมกันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านไลค์ ก็ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาเท่าไหร่นัก ที่สุดก็ต้องออกมาบนท้องถนนกันอยู่ดี
ในตอนนั้น ต้องบอกกันนะครับว่า คุณฮอสนี มูบารัค เรียกได้ว่าเป็น ‘จอมเผด็จการทหาร’ เต็มตัวทีเดียว ก็แหม! ท่านผู้นำของเรา เอ๊ย! ของชาวอียิปต์ เล่นอยู่ในตำแหน่งตั้ง 30 ปีนี่ครับ คืออยู่ให้เห็นกันมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 1981 (วันที่ดีเสียด้วย!) จนกระทั่งต้องพ้นจากตำแหน่งไปในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 ถือว่าเป็นผู้นำอียิปต์ที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมากันเลยทีเดียว
ที่จริงปัญหาในอียิปต์ซับซ้อนมากนะครับ เพราะถึงจะบอกว่ามูบารัคเป็นเผด็จการทหาร แต่พอปกครองไปนานๆ ความเป็นทหารก็เจือจางลง ที่ผู้คนไม่พอใจนั้น จึงไม่พอใจการกดขี่ของตำรวจ รวมไปถึงกองกำลังที่เรียว่า Central Security Force ที่จงรักภักดีต่อมูบารัคมากกว่าไม่พอใจกองทัพ
ที่จริงแล้วต้องบอกว่าไม่ง่ายนักหรอกนะครับ ที่ใครคนหนึ่งจะทำให้คนที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันมากมายลุกฮือขึ้นมาประท้วงพร้อมๆ กันได้แบบมูบารัค การปฏิวัติ 2.0 ในปี 2011 นั้น มีทั้งกลุ่มมุสลิม, กลุ่มเสรีนิยม, กลุ่มต่อต้านทุนนิยม, กลุ่มชาตินิยม และแม้กระทั่งกลุ่มเฟมินิสต์ ที่ลุกขึ้นมาพร้อมๆ กัน (ผ่านการจัดตั้งกันเองทางเฟซบุ๊ก) แล้วออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ซึ่งแน่นอนว่า มูบารัคย่อมส่งกองกำลัง Security Force ออกมาปราบ
เรื่องน่าสนใจอยู่ตรงไหนรู้ไหมครับ?
สำหรับผม-เรื่องน่าสนใจ (และในตอนแปลงานชิ้นนี้ก็ตะหงิดใจอยู่ไม่น้อย) ก็คือเหล่าประชาชนชาวอียิปต์ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านจอมเผด็จการมูบารัคนั้น รู้ดีว่าลำพังตัวเองคงสู้รบปรบมืออะไรกับกองกำลังติดอาวุธของประธานาธิบดีไม่ได้หรอก-ก็เลย (จำต้อง) เพรียกหาทหารให้ออกมาช่วย
อย่างไรก็ตาม ต้องกันก่อนบอกว่าการเมืองภายในของอียิปต์ช่วงนั้นสลับซับซ้อนอย่างยิ่งนะครับ เนื่องจากแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์แตกต่างกัน มารวมตัวกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน (คือโค่นมูบารัค) เพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นแต่ละกลุ่มจึงมีฐานวิธีคิดที่แตกต่างกัน วิธีการก็ไม่เหมือนกัน และเอาเข้าจริงก็รวมตัวกันไม่ค่อยจะได้ ดังนั้น ที่สุดพวกเขาจึงเรียกร้องให้ ‘ทหาร’ ออกมาช่วย และในที่สุดก็พูดได้ว่า เมื่อ ‘ทหาร’ (ในนามของ The Supreme Council of the Armed Forces หรือ SCAF ซึ่งพูดง่ายๆ ก็เหมือนกองบัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจจริงๆ นั่นแหละครับ) ยอมออกมา มูบารัคต้องยอมพ้นจากตำแหน่งไปนั่นแหละครับ
ดังนั้น จึงเกิดการทำประชามติในปี 2011 ขึ้นมาเพื่อลดอำนาจของประธานาธิบดี ซึ่งมีผู้มาลงประชามติโหวตเยส 77% ก่อให้เกิดการ ‘ปฏิรูป’ ในทางองค์กรการเมืองขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ทำให้การเลือกตั้งประธานธิบดีเกิดได้ง่ายขึ้น หรือประธานาธิบดีมีวาระสั้นลง อะไรทำนองนี้
แต่กระนั้น สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ประชามติของอียิปต์ปี 2011 หรอกนะครับ แต่เป็นประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2014 ของอียิปต์ต่างหากเล่า-ที่น่าพูดถึง
เพราะมันคือประชามติที่ได้รับเสียง ‘โหวตเยส’ ท่วมท้นถึงร้อยละ 98.13
สุดยอดแห่งความท่วมท้นจริงๆ ครับ!
3
หลังปฏิวัติปี 2011 แล้ว คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ คือมูฮัมหมัด มอร์ซี ซึ่งหลายคนคิดว่า พอปฏิวัติสำเร็จ ปฏิรูปกันเสร็จสรรพแล้ว อียิปต์ก็คงจะสงบ ความสุขจะกลับคืนมาอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน แต่ความที่การเมืองอียิปต์นั้นซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สุดก็เลยเกิด ‘รัฐประหาร’ ขึ้นมาในปี 2013
รัฐประหารครั้งนี้น่าสนใจอย่างยิ่งนะครับ เพราะมันเป็นผลมาจากการที่คนแทบจะทั่วทั้งประเทศลุกขึ้นมาประท้วงกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ ‘ทหาร’ สามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งก็คือรัฐบาลของมอร์ซี) ลงได้
ที่น่าสนใจไปอีกขั้นก็คือ โมฮัมเม็ด เอลบาราได (ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพราะการทำงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์-และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา) ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารด้วย
รัฐประหารครั้งนี้ ประเทศอาหรับหลายประเทศสนับสนุนนะครับ ยกเว้นตูนีเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นไม่ยอมเรียกรัฐประหารครั้งนี้ว่ารัฐประหาร (ก็บอกแล้วว่าอะไรๆ มันซับซ้อน!) ส่วนประเทศอื่นๆ มีทั้งประณามการรัฐประหารนี้ หรือไม่ก็แสวงความกังวลออกมา
อย่างไรก็ตามแต่ พอมีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ต้องมีการ ‘แขวนรัฐธรรมนูญ’ เสมอ (ไม่รู้เป็นอะไรสิน่า!) รัฐธรรมนูญอียิปต์ที่เพิ่งออกมาก่อนหน้าในปี 2012 ก็เช่นกัน พอมีรัฐประหารปี 2013 ก็เลยถูกแขวนเอาไว้ จากนั้นก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ให้เหมาะสม แล้วจึงให้คนมาทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับในวันที่ 14 และ 15 มกราคม 2014
พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศมีส่วนในการร่างหรอกนะครับ แต่ทำได้แค่บอกว่าจะรับหรือไม่รับ-ก็เท่านั้น!
แน่นอน-ย่อมมีทั้งคนสนับสนุนและคัดค้าน โดยคนคัดค้าน (เช่นพรรค Freedom and Justice Party หรือกลุ่ม Islamic Bloc) บอกว่า ไอ้เจ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันคือผลพวงของรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจงอย่าไปโหวตเยสเลย โดยหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ (ใช่ครับใช่-เป็น ‘สื่อต่างประเทศ’ ที่เข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในของเขา) รายงานว่า กลุ่มที่รณรงค์ว่าให้ ‘โหวตโน’ นั้น ถูกจับไปถึง 35 คน (ไม่นับพวกสนับสนุนมอร์ซีหลายพันคนที่ถูกขังอยู่แล้วนะครับ)
องค์กร Transparency International (ใช่ครับใช่-เป็น ‘องค์กรต่างประเทศ’ ที่เข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในของเขาอีกแล้ว!) ที่ส่งคนเข้าไปสังเกตการณ์ออกแถลงการณ์ประมาณว่า-รัฐบาลโปรโมทการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อย่างเป็นทางการและเปิดเผย สื่อต่างๆ เผยแพร่ข่าวสารด้านเดียวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลข่มขู่ จับกุม และตั้งข้อหากับคนที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างสันติ เป็นการ ‘ปิดพื้นที่’ ทางประชาธิปไตยในอันที่จะโปรโมทมุมมองอื่นๆ และถกเถียงกันก่อนจะทำประชามติ
ในวันทำประชามติ กลุ่ม Human Rights Watch ที่ไปจับตาการลงประชามติ รายงานว่ามีการฆ่ากันตายไป 11 ศพ แต่ก็นั่นแหละครับ สื่อต่างชาติองค์กรต่างชาติเหล่านี้จะไปรู้อะไร เพราะผลที่ออกมานั้นแสนน่าทึ่ง คนโหวตเยสรับร่างรัฐธรรมนูญนี้กันเกือบยี่สิบล้านคน คิดเป็น 98.13% เลยทีเดียว
หลังรู้ผล ฝ่ายรัฐบาลชั่วคราว (ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ) ก็ให้โฆษกออกมาแถลงว่า นี่คือวันอันแสนมหัศจรรย์สำหรับอียิปต์ ในอันที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน,
โอย-ซาบซึ้งมากครับ!
4
เอ…แล้วประชามติมันคืออะไรเหรอครับ
ต้องบอกกันก่อนว่า ประชาธิปไตยที่เราใช้ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่องเยอะแยะเต็มไปหมดเลยนะครับ ส่วนใหญ่เป็น ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ คือเราต้องเลือกคนเป็นตัวแทนเข้าไปนั่งในสภา ไปตัดสินโน่นนั่นนี่แทนเรา
แต่นานๆ ครั้ง เวลาเกิดเรื่องใหญ่ๆ ขึ้นมาที แต่ละประเทศ (ที่เป็นประชาธิปไตย) เขาก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ! อันนี้เรื่องใหญ่ไปนะ ใครหน้าไหนมันจะเก่งกล้าสามารถอวดกำแหงจะไปคิด ‘แทน’ ใครในการตัดสินใจได้ละหรือ และเพราะดังนั้น ก็จึงต้องทำ ‘ประชามติ’ กัน
การทำประชามติก็เลยเหมือนกับการ ‘ออกเสียงทางตรง’ (เรียกว่า Direct Vote) ซึ่งก็น่าสนใจนะครับ ว่าในประเทศที่เราถือว่าเขา ‘เจริญ’ ในทางการเมืองแล้วทั้งหลายแหล่ การลงประชามตินั้นมีทั้งเรื่องใหญ่อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (โดยไม่ต้องมีรัฐประหารกรุยทาง) หรือเรื่องใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น ลงประชามติกันว่า สก็อตแลนด์จะแยกประเทศจากสหราชอาณาจักรไหม, สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือเปล่า รวมไปถึงประชามติเรื่องที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็น ‘เรื่องเล็กๆ น้อยๆ’ เช่นเรื่องรายได้ขั้นต่ำหรือบริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น สวิตเซอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศที่ทำประชามติบ่อยมาก นับตั้งแต่เป็นรัฐสมัยใหม่มา ประมาณว่าทำกันไปแล้วหลายร้อยครั้ง แค่ในปี 2016 นี่ ก็ทำกันมาแล้วสองครั้ง และเดี๋ยวจะมีอีกครั้งในเดือนกันยายน
พูดง่ายๆ ก็คือ ประชามตินั้นเป็นเหมือน ‘กาวอุดรอยรั่ว’ ของประชาธิปไตยตัวแทนนั่นแหละครับ คือยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกไม่น่าจะมีใครมีสิทธิอำนาจไปเป็น ‘ตัวแทน’ ใครได้ทุกเรื่อง แต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็จำเป็นอยู่นะครับ เพราะในโลกจริงก็ไม่มีใครอีกนั่นแหละที่จะไปสนใจมันได้ทุกเรื่องหรอก สู้ยกให้คนที่อาสามาศึกษาและตัดสินใจแทนตัวเองดีกว่า แล้วถ้าได้เลือกตั้งบ่อยๆ ก็จะเป็นการตรวจสอบคัดกรองคนที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนทั่วไปได้เอง
คำว่าประชามตินั้น เราคุ้นกับภาษาอังกฤษว่า Referendum ใช่ไหมครับ แต่ยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า Plebiscite ซึ่งในประเทศอย่างออสเตรเลีย เขาบอกว่าคำว่า Referendum นั้น จะสงวนไว้ใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการลงประชามติอื่นๆ (เช่น โหวตกันเรื่องการเกณฑ์ทหาร) เขาจะใช้คำว่า Plebiscite เป็นต้น
คำว่า Plebiscite มาจากคำว่า Pleb หรือ Plebeain ซึ่งคือประชากรชาวโรมันในยุคโรมันโบราณ (ที่เราถือว่าเป็นต้นธารแห่งประชาธิปไตยนี่แหละครับ) โดยพวก Plebs คือคนโรมันที่ไม่ได้เป็นทาสใคร (คนที่เป็นทาสไม่มีสิทธิออกเสียงนะครับ และแน่นอน-ผู้หญิงก็ไม่มีสิทธินั้นเหมือนกัน) แต่ในเวลาเดียวกัน พวก Plebs ก็ไม่ใช่พวก Patricians หรือชนชั้นปกครองด้วย ดังนั้นเราจึงพูดได้ว่า พวก Plebs นั้นก็คือ ‘ไพร่’ เราดีๆ นี่แหละครับ
Plebiscite จึงคือการเปิดโอกาสให้ ‘ไพร่’ ได้มาเผยหน้าเผยตาแสดงตัวลงคะแนนเสียงในเรื่องที่ ‘ผู้ปกครอง’ (หรือ Patricians) อนุญาต (เพื่อความชอบธรรมบางอย่าง) และดังนั้นจึงอาจมี ‘วิธีการ’ บางอย่างที่น่าสนใจแถมพกไปให้ด้วย เช่น พยายามทำให้ไพร่ทั้งหลายออกเสียงเยสหรือโนหรือโอเคไม่โอเค (แบบที่องค์กรต่างชาติชอบครหากันว่าเกิดในอียิปต์ปี 2014 ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าจริงหรือไม่จริง) ด้วยการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนด้านใดด้านหนึ่ง จนก่อให้เกิด ‘คลื่น’ คะแนนบางอย่างขึ้นมา