หนึ่งในธีมที่ผมเขียนในงานตัวเองบ่อยเหลือเกิน และท่านผู้อ่านคงได้อ่านวนเวียนไปหลายรอบ แต่ก็ยังมีเรื่องให้เขียนได้เรื่อยๆ ก็คือ การเปลี่ยนเข้าสู่สังคมชราภาพของญี่ปุ่นที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมมาตลอด และแน่นอนว่าหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ก็คือ ‘โรงเรียน’ นั่นเอง เพราะเมื่อเด็กลดลง ความจำเป็นของโรงเรียนก็ลดน้อยลง กลายเป็นว่าเราจะพบโรงเรียนที่ต้องปิดตัวลงได้เรื่อยๆ เพราะไม่มีเด็กเพียงพอในเขตนั้นๆ บางทีก็ยุบไปรวมกับอีกโรงเรียนในเขตเดียวกันเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ แต่ในสภาพสังคมแบบนี้ กลับกลายเป็นว่า มีโรงเรียนประเภทหนึ่งที่สวนกระแส และมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรงเรียนประเภทที่ว่าคือ ‘โรงเรียนสื่อสารทางไกล’
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ระบบการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเองครับ ซึ่งในปัจจุบัน หากดูจากนักเรียนมัธยมปลาย 19 คน จะมีนักเรียนที่เรียนในระบบการศึกษาแบบนี้ 1 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเอาเรื่องเลย ระบบการเรียนแบบนี้คือ สมัครเข้าเรียนกับโรงเรียนที่เราอยากเรียน เลือกวิชาเรียนเท่าที่ตัวเองอยากเรียน ก่อนจะได้รับสื่อการสอน โดยสามารถเรียนผ่านบทเรียนทางออนไลน์ แล้วค่อยสอบวัดผล สอบผ่านก็ได้วุฒิมัธยมปลาย ที่เป็นมัธยมปลายเพราะว่าระบบการศึกษาของเขาบังคับถึงระดับมัธยมต้น หลังจากนั้นจะเรียนแบบไหนก็เรื่องของคุณแล้ว และกลายเป็นว่าระบบการเรียนแบบนี้ไปถูกจริตของเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่กันมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่บางโรงเรียนคลาสเรียนออนไลน์ก็ยังเต็มจนรับนักเรียนไม่ไหวเลยทีเดียว
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ได้รับความนิยมก็เป็นเพราะว่า เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มมองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาไม่ได้มองเรื่องการเรียน เข้ามหาวิทยาลัย แย่งกันทำงานในบริษัทดังๆ แบบที่คนรุ่นก่อนเขาทำกันมาเป็นรูปแบบ แต่เริ่มสนใจในสิ่งใหม่ๆ ที่การศึกษาแบบเดิมตอบโจทย์เขาไม่ได้อีกต่อไป เช่นคนที่ตั้งเป้าอยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ อยากจะเขียนเขียนโค้ด เขาก็ไม่เห็นว่าจะต้องเรียนโรงเรียนมัธยมแบบเดิม แล้วค่อยเข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนต่อ ถ้าเรียนโรงเรียนทางไกลแบบนี้ เขาก็สามารถเลือกเรียนวิชาโปรแกรมมิง แล้วก็สอบเฉพาะวิชาพื้นฐานที่จำเป็น เอาเวลาไปทุ่มให้กับสิ่งที่ตัวเองรักได้ แถมยังมีเวลาไปทำงานพิเศษหาเงินมาใช้ได้อีก แทนที่จะเรียนไปเรื่อยๆ ตามเพื่อนไป พอจบตรงนี้ก็มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมพอที่จะไปเรียนต่อวิชาชีพเฉพาะทางอีกสองปี ก็ออกมาทำงานได้เมื่ออายุ 20 ปีเท่านั้น แทนที่จะเรียนไปตามระบบและจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 22 ปี
ตรงนี้ขอเสริมนิดนึงเรื่องโรงเรียนวิชาชีพของญี่ปุ่น หลักสูตรสองปีเดี๋ยวนี้เขาแยกได้ยิบย่อยมากครับ เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจเรียนวิชาสหศึกษา แต่หลายคนก็ชัดเจนในตัวเองแล้วว่าอยากเรียนอะไร อยากจะทำงานอะไร เลยเลือกเรียนในสถาบันเหล่านี้ เพื่อที่จะได้รีบจบมาทำงานที่ตัวเองชอบเร็วๆ นั่นล่ะครับ ทำให้มาสาขาวิชาชีพสารพัดและแยกย่อยลงลึกมาก ตัวอย่างที่ผมเคยเห็นมาแล้วทึ่งก็อย่างเช่น สาขานักกีฬา eSports ที่แยกกับสาขาบริหารทีม eSports ไปเลย แล้วก็มีสาขาบริหารจัดการธุรกิจการสมรส มีกระทั่ง การบริหารจัดการธุรกิจกอล์ฟ เรียกได้ว่าแยกเซกเมนต์เต็มที่
กลับมาเรื่องการเรียนทางไกล ตามที่บอกไปว่า เด็กหลายคนไม่เห็นความจำเป็นของการไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว บางคนก็ตั้งใจอยากจะเริ่มธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยเลยเสียด้วยซ้ำ ทำให้สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองรักตั้งแต่อายุยังน้อยได้ ในขณะเดียวกัน โรงเรียนทางไกลเอกชนบางเจ้าก็มองเห็นแนวทางใหม่ เด็กไม่จำเป็นต้องเก่งทุกวิชา ไม่ต้องเรียนเพื่อให้คะแนนเฉลี่ยออกมาดี แต่ใครถนัดวิชาไหน อยากจะพัฒนาวิชาไหน ก็ไปมุ่งเน้นตรงนั้นเลย กลายเป็นการตั้งหลักสูตรที่ทำให้ตัวนักเรียนเองสนุกกับการเรียนด้วย
นอกจากกรณีข้างต้น นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกมาเรียนในระบบการศึกษานี้ คือกลุ่มที่เคยมีปัญหาปฏิเสธการไปโรงเรียนมาก่อน บางคนก็พบปัญหากับสังคมโรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้น บางคนก็เรียนมัธยมปลายแล้วเจอสภาพแวดล้อมไม่ดี โดนกลั่นแกล้ง ก็ออกมาพึ่งโรงเรียนประเภทนี้แทน ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะดวกขึ้นเพราะเรียนด้วยตัวเอง แต่บางโรงเรียนก็ต้องการสร้างสังคมในโรงเรียนด้วย จึงมีตัวเลือกว่า จะมาโรงเรียนสัปดาห์ละกี่วัน ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่มาตามความสะดวกและความสมัครใจ กลายเป็นว่าเด็กที่เคยมีปัญหาไม่ยอมไปโรงเรียนกลับเลือกที่จะไปโรงเรียนแบบนี้แทน เพราะส่วนหนึ่งคือไม่รู้สึกถูกบังคับ และอีกอย่างหนึ่งคือ ในโรงเรียนก็มีนักเรียนที่เคยเจอปัญหาแบบเดียวกันก็เข้าใจกันและกันได้ง่ายขึ้น ช่วยกันเยียวยากันไป สร้างความกล้าให้เด็กเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีนักเรียนกลุ่มอื่น เช่นชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่น หรือกระทั่งนักซูโม่ฝึกหัดที่ไม่มีโอกาสได้เรียนมัธยมเหมือนกับเด็กทั่วไปก็มาเรียนสายนี้ครับ
ที่เขียนๆ มาก็ดูเหมือนจะมีแต่เรื่องดีนะครับ แต่จริงๆ ปัญหาของโรงเรียนประเภทนี้ก็มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กบางคนก็ว่างเกินไปจนไม่รู้จะทำอะไร จัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ เพราะการจะเรียนให้จบได้ก็ต้องอาศัยการบริหารจัดการตัวเองและความมุ่งมั่นไม่น้อยเลยล่ะครับ บางคนก็ไม่ชินกับการเข้าสังคม เป้าหมายที่เคยวางไว้สูงว่าจบมาแล้วอยากจะทำงานที่ตัวเองชอบไม่เป็นไปตามฝัน สุดท้ายก็กลายเป็น NEET ไปแทนซะงั้น ส่วนโรงเรียนบางแห่งก็มีเรื่องรับนักเรียนเกินจากจำนวนที่ทางการอนุญาต พอโดนตรวจก็เป็นเรื่องเป็นราวไป
แต่ถึงจะว่าอย่างนั้น แต่เทรนด์การเรียนผ่านระบบสื่อสารทางไกลในญี่ปุ่นก็น่าจะยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโรงเรียนหรือโรงเรียนกวดวิชาเครือใหญ่หันมาจับตลาดตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงระบบสื่อสารต่างๆ ก็ยิ่งพัฒนาขึ้นมาจากเดิมทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกยิ่งขึ้น โรงเรียนแบบที่เราคุ้นเคยก็คงต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวแบบนี้ หากไม่พัฒนาตัวเองมาสู้ในสภาวะที่ปริมาณลูกค้าจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องชวนปวดหัวของผู้บริหารนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.tsuushinsei-navi.com/tsuushinsei/tsuushin.php
www.kousotunintei-jissen.com/tuusinsei-koukou/five-merit-demerit.html